Article

Search

Cinematic Look

สืบเนื่องจากผมได้เปลี่ยนStandalone Video Processorมาเป็น madVR Envy MK2เมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือmadVR Labsเขาชูในเรื่องMotionAI ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ภาพมีความลื่นไหล ไม่สะดุดเป็นอย่างมาก ที่แปลกใจก็เพราะfeatureลักษณะคล้ายๆกันนี้ปัจจุบันจะมีในจอภาพเกือบทุกเครื่องอยู่แล้ว และเท่าที่ผมเคยลองในจอภาพหลายตัว ปรับแค่คลิกเดียว หรือปรับไปที่ระดับLowภาพก็ลื่นไหลมาก จนบางทีต้องปิดไปเลยเพราะภาพลื่นมากจนเหมือนกับภาพจากวิดีโอมากกว่าภาพจากภาพยนตร์ แล้วทำไมmadVR Labsได้พูดถึงเรื่องนี้มากมาย ไม่ว่าจะงานเปิดตัวmadVR Envy MK2 ห้องโชว์ในงานแสดงเครื่องเสียง หรือให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงนี้ ก็จะต้องชูเรื่องนี้เป็นสำคัญ ทำให้ผมได้ลองไปศึกษาค้นคว้ามากขึ้น และได้รู้ว่าเอ่อมันมีอะไรที่น่าสนใจจริงๆ วันนี้ผมจึงมาเล่าให้ฟังว่าเรื่องนี้มันมีอะไรซ่อนอยู่ที่เราไม่รู้ หรือเคยรู้แต่มองข้ามไปในเรื่องMotionของจอภาพในปัจจุบัน ติดตามกันครับ

“Cinematic look” เริ่มจากการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ใช้ฟิล์มถ่ายในระบบ 24 fps(frame per second) เมื่อประมาณปี ค.ศ.1930s ในตอนแรกที่ใช้frame rateเท่านี้ก็เนื่องมาจากความเหมาะสมของเรื่องราคาฟิล์มและยังให้ภาพที่ต่อเนื่อง แต่ต่อมาพบว่าการถ่ายทำแบบนี้ยังให้เสน่ห์ของภาพที่ผู้ชม ผู้สร้างหนัง ผู้กำกับหลายคนหลงใหล ที่นอกจากในเรื่องสีสัน ความคมชัดของภาพที่ไม่แข็งเหมือนภาพจากdigital ก็รวมไปถึงการดูภาพยนตร์บนฟิล์ม24fps จะมีการเบลอของภาพเล็กน้อยเมื่อภาพเคลื่อนไหว แต่ยังคงไว้ที่ความต่อเนื่องของภาพอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ได้ลื่นจนเหมือนภาพจากวิดีโอหรือภาพจากการถ่ายทอดสดทางทีวี ภาพจากฟิล์ม24fpsจะให้senseของความเป็นดราม่า ภาพจะออกมาโดดเด่น ไม่เหมือนภาพในโลกความจริง ทำให้ผู้ชมเหมือนหลุดเข้าไปในโลกของภาพยนตร์มากขึ้น จึงทำให้หลายคนหลงเสน่ห์ในภาพCinematic lookแบบนี้

Cinematic lookเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น อย่างแรกก็ต้องเข้าใจการกำเนิดภาพจากเครื่องฉายภาพยนตร์แบบฟิล์ม24fpsกันก่อน ฟิล์มภาพยนตร์จะเกิดจากภาพนิ่งแต่ละภาพเรียงเหตุการณ์ต่อเนื่องกันโดยจะมีการเปลี่ยนภาพนิ่งแต่ละภาพในความเร็วคงที่ ที่24ภาพต่อวินาทีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการเคลื่อนที่ โดยช่วงเวลาที่แต่ละframeภาพเปลี่ยนก็จะมีshutterกั้นไว้ไม่ให้เรามองเห็นการไหลของฟิล์ม และเมื่อshutterเปิดมาเราก็จะเห็นภาพในframeถัดไปแบบนี้ต่อเนื่องกัน โดยการกระพริบของแสงระหว่างส่วนมืดกับสว่างตอนshutterปิดนี้จะถูกเรียกว่าflicker แต่โดยหลักพื้นฐานนั้นflickerต้องกระพริบ60-70ครั้งต่อวินาทีสมองมนุษย์ถึงก็จะแปลผลเป็นความสว่างที่ต่อเนื่องกัน แต่ถ้ามีการใช้flickerที่ต่ำกว่านี้ เช่น24ครั้งต่อวินาทีตามframe rateของฟิล์ม ก็จะทำให้เราสังเกตเห็นการกระพริบของแสงได้ ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้shutterแบ่งเป็นสองหรือสามส่วนเพื่อให้มีการกระพริบของflickerมากกว่า 24ครั้งต่อวินาที เช่นถ้าแบ่งเป็นสามส่วนก็จะมีflicker rate 72ครั้งต่อวินาที ก็ทำให้เราเห็นภาพมีความสว่างต่อเนื่องกัน และถ้าเราลองเอาภาพมาดูเป็นslow motionก็จะเห็นว่าในการเปลี่ยนframeแต่ละครั้ง จะมีframeเดิมกระพริบอยู่3รอบก่อนที่เปลี่ยนเป็นframeใหม่ การกระพริบของแสงจากshutterตรงนี้ทำให้เกิดเป็นภาพในลักษณะที่เรียกว่า non-sample and hold ซึ่งก็คือการเปลี่ยนภาพแบบคงที่สม่ำเสมอ ทำให้สมองสามารถรวมภาพที่กระพริบเป็นภาพการเคลื่อนที่ที่เนียนตา ภาพยังคงความcleanความชัดในภาพเคลื่อนไหว ภาพแบบนี้แหละที่เป็นfilm look มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนกับภาพวิดีโอที่เกิดจากจอภาพลักษณะ sample and hold ที่เราเห็นกันในจอภาพปัจจุบัน

คราวนี้ลองมาดูการกำเนิดภาพในจอภาพแต่ละแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นยังไง เริ่มจากจอทีวีรุ่นเก่าชนิดจอแก้วแบบCRT(Cathode Ray Tube) จอจะสร้างภาพโดยการยิงelectronไปกระตุ้นที่จอ ทำให้สารphosphorsบนจอเปล่งแสงขึ้นเป็นลักษณะ line-by-lineสร้างเป็นเฟรมภาพขึ้นมา โดยการเปล่งแสงของสารphosphorsจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆหลังจากถูกelectronกระตุ้น เสร็จแล้วก็จะดับไปก่อนที่frameใหม่ของภาพจะขึ้นมา การเกิดภาพแบบนี้ทำให้การรับรู้ภาพของตาทำงานได้ดีเนื่องจากไม่มี sample and hold effect ภาพเคลื่อนไหวจึงยังให้ความคมชัดและมีรายละเอียด และก็เช่นเดียวกับจอพลาสม่าที่แสงUVจากการกระตุ้นของก๊าซ จะทำให้สารphosphorsเปล่งแสงขึ้นในช่วงสั้นๆ การกำเนิดภาพเลยไม่ได้เป็นแบบsample and hold ภาพก็จะเกิดmotion blurได้น้อยลง แต่ว่าตัวพลาสม่าก็จะมีmotion artifactsของตัวเองอยู่บ้างในเรื่อง subfield driving method ซึ่งในปัจจุบันจอพลาสม่าได้เลิกผลิตไปแล้วเนื่องจากความไม่คุ้มค่าของการผลิต การใช้พลังงานสูง และความหนาของเครื่อง ทั้งๆที่ภาพของจอพลาสม่าทำได้ดี

หลังจากยุคของจอCRTและจอพลาสม่า ก็ก้าวสู่ยุคของจอภาพdigitalชนิดOLED, LCD, LCoS, DLP ซึ่งจอเหล่านี้มีข้อดีกว่าจอยุคเก่ามากทั้งในเรื่องความละเอียดภาพที่สูงขึ้น color gamutที่กว้าง ความสว่างของภาพมากขึ้น โดยใช้พลังงานน้อยลง แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เกิดmotion artifactsเนื่องจากเป็นการแสดงภาพในลักษณะแบบsample and hold ก็คือภาพจะถูกholdความสว่างแบบต่อเนื่องจนเมื่อมีการเปลี่ยนframeใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนframeแต่ละframeก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแน่นอนตามจังหวะคงที่เหมือนการกำเนิดภาพจากเครื่องฉายภาพยนตร์แบบฟิล์ม ยกเว้นจอภาพแบบDLPที่ใช้การหมุนกระจกเล็กๆไปมาเพื่อกำเนิดภาพ ซึ่งการกำเนิดภาพของจอDLPแบบนี้ก็คล้ายๆกับการกำเนิดภาพของจอพลาสม่าทำให้ไม่เกิดsample and hold artifacts เหมือนเทคโนโลยีภาพแบบอื่นในปัจจุบัน แต่ตัวจอDLPเองก็จะมีmotion artifactsที่เกิดจากการสร้างภาพแบบtemporal ditheringอยู่ ดังนั้นถึงแม้โดยทั่วไปการแสดงภาพเคลื่อนที่ของDLPจะดีกว่าเทคโนโลยีอื่นที่ใช้วิธีsample and hold methods แต่ก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์เท่าภาพเคลื่อนไหวจากfilm projectionอยู่ดี

ในปัจจุบันบริษัทผลิตจอภาพก็ได้พัฒนาวิธีการหลายอย่างเพื่อที่จะทำให้ภาพมีความsmooth ไม่มีการเบลอ หรือกระตุกในขณะเคลื่อนไหว วิธีที่พบบ่อยๆก็คือ DFI (Dark Frame Insertion) และ motion interpolation สำหรับDFIก็จะเลียนแบบภาพเคลื่อนไหวจากฟิล์มโดยสร้างflickerให้กับภาพโดยใส่เฟรมสีดำเข้าไปในภาพเพื่อลดmotion blur แต่วิธีนี้บางทีก็จะส่งผลให้เกิดการกระพริบของภาพที่ผู้ชมบางคนสังเกตเห็นได้ และที่สำคัญวิธีนี้เป็นการลดความสว่างของภาพโดยรวมลง โดยเฉพาะเวลาดูภาพHDRที่เราต้องการความสว่างของภาพสูงเพื่อเพิ่มcontrastและเพิ่มความสดใสของสีให้กับภาพ

ส่วนวิธีMotion interpolationก็เป็นการแทรกเฟรมภาพเข้าไปในเฟรมภาพปกติของวิดีโอ ทำให้ภาพออกมามีความsmoothมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ดูมาวิธีนี้ทำให้ภาพมีความลื่นไหล และไม่กระตุกจริงแต่ปัญหาที่พบก็คือเรื่องของ “soap opera effect” ที่ให้ความsmoothของภาพมากเกินกว่าภาพแบบฟิล์ม จนทำให้การดูภาพยนตร์เหมือนดูภาพจากละครในทีวีมากกว่า และในบางฉากที่มีการเคลื่อนที่ของกล้องเร็วๆก็อาจจะทำให้เกิดartifactsบางอย่างจากการคำนวณalgorithmsที่ผิดพลาดตามมาเช่น ภาพแตก ภาพเบลอ ภาพซ้อน ภาพกระตุกดูไม่เป็นธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของตัวละครก็ดูเหมือนขยับเร็วแบบแปลกๆ เสียบรรยากาศความเป็นภาพยนตร์ไป

madVR Labsได้สร้างfeatureใหม่ที่เรียกว่า MotionAI ใส่เข้าไว้ในเครื่องmadVR Envy นับได้ว่าเป็นฟังก์ชันที่อยู่ในเครื่องstandalone video processorเป็นครั้งแรก โดยตัวMotionAIจะเป็นการใช้AI-based algorithmsคำนวณภาพที่เข้ามาว่าเป็นภาพแบบไหน มีความถี่เท่าไหร่ จอภาพที่กำลังใช้อยู่เป็นจออะไร เพื่อทำการควบคุมการเบลอการกระตุก ลดการเกิดsoap opera effects ดูไปจนถึงการเปลี่ยนเฟรมของภาพแล้วแก้ไขลักษณะการเป็น sample and holdของจอภาพ ให้มีจังหวะการเปลี่ยนเฟรม จังหวะflicker จังหวะกระพริบของภาพเกิดลักษณะใกล้เคียงfilm lookตามความตั้งใจของfilmmakerให้มากที่สุด โดยการคำนวณนี้จะทำในระดับpixel level ไม่เหมือนกับMotion interpolationแบบเดิมที่ทำกันในระดับblock-levelเป็นเฟรมๆไป ซึ่งการคำนวณแบบนี้ต้องใช้ความเร็วของคอมพิวเตอร์ในการคำนวณสูงกว่าเดิมมาก ทำให้ทางmadVR Labsแนะนำมาเลยว่ าจากโมเดลalgorithmของMotion AI 7แบบที่ให้มานั้น ในเครื่องรุ่นเดิมmadVR Envy MK1จะสามารถใช้modelการคำนวณได้แต่เฉพาะแบบAlpha8 และHybrid เนื่องจากพลังความแรงของGPUในเครื่องไม่พอ ส่วนถ้าต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาได้ดีและให้ภาพที่สามารถปรับได้ใกล้เคียงfilm lookมากที่สุดต้องใช้เครื่องรุ่นใหม่madVR Envy MK2แล้วเลือกmodelเป็นแบบ Dragon Mouth V1,V2 หรือ Big V3, V4 ถึงจะสามารถคำนวณข้อมูลตรงนี้ได้สมบูรณ์ แต่ถ้าใช้เครื่องรุ่นเดิมมาคำนวณalgorithm แบบนี้จะทำให้ภาพออกมาเสียมากกว่าดีเนื่องจากความแรงของGPUไม่สามารถคำนวณได้ทัน

นอกจากนี้ในเมนูของMotionAIยังสามารถปรับค่าอย่างละเอียดได้อีกหลายอย่างนอกเหนือจากชนิดของModel algorithmsที่ใช้ เช่นStrengthก็สามารถเลือกได้ตั้งแต่lowไปจนถึงfullว่าจะให้MotionAIมีผลมาน้อยขนาดไหน Screen Change Thresholdที่ปรับการรับรู้การเปลี่ยนฉากซึ่งแนะนำให้ตั้งไว้ที่1หรือถ้าหนังมีฉากเปลี่ยนเร็วมากๆก็ตั้งไว้ที่2ก็พอ สำหรับBlur modeจะเป็นการปรับทั้งstrength และwidthว่าต้องการให้ภาพเบลอขณะเคลื่นไหวใกล้เคียงการเบลอของฟิล์มระดับไหน ตั้งได้ตั้งแต่ 1-10 ถ้าต้องการให้ใกล้เคียงกับฟิล์มมากก็ตั้งไว้ที่ค่าสูง ถ้าตั้งค่าไว้ต่ำภาพจะลื่นมากขึ้น ภาพออกมาจะให้feelภาพจากวิดีโอมากกว่า แต่ก็ขึ้นกับsourceต้นทางอีกทีเพราะบางทีตั้งไว้สูงไปก็มีโอกาสเจอกับการกระตุก การแตกของภาพ หรือวัตถุในภาพเกิดเป็นโมเสก ในบางฉากหรือในหนังบางเรื่อง ซึ่งตรงนี้คงต้องลองเลือกเอาตามสถานการณ์อีกที

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสายตาคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่นบางคนเห็นrainbow effectในจอแบบDLP แต่บางคนก็ไม่เห็น สำหรับเรื่องการเคลื่อนของภาพก็เช่นกันบางคนเห็นการเบลอการกระตุกเล็กน้อยก็ยอมรับได้และรับรู้feelingของฟิล์ม ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกว่ามากเกินไปดูแล้วเวียนหัว หรือบางคนก็ชอบภาพที่smooth มากๆและไม่senseกับsoap opera effect รวมถึงปัจจัยเรื่องขนาดของจอภาพ ตำแหน่งนั่ง สิ่งแวดล้อมในห้อง เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการรับรู้ภาพ ดังนั้นผมแนะนำเลยว่าในเครื่องmadVR Envyควรทำเป็นprofilesตั้งไว้เป็นหัวข้อเลยว่าจะเปิดปิด หรือจะปรับความแรงของMotionAIว่าจะเอาใกล้เคียงกับfilm lookขนาดไหน เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างสะดวก อย่างในห้องผมก็ตั้ง AI Strengthไว้สี่ระดับให้เลือกง่ายๆ

สำหรับคนที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องmadVR Envy ผมขอพูดถึงสั้นๆนิดหนึ่งเนื่องจากเคยรีวิวแบบละเอียดตั้งแต่เป็นเครื่องmadVR Envy MK1ไว้แล้ว ใครสนใจก็สามารถกลับไปอ่านได้ แต่ถ้าพูดถึงคร่าวๆmadVR Envyก็จะเป็นStandalone Video Processorที่ใช้ในการปรับแต่งภาพ สามารถทำDynamic Tone Mapping สามารถปรับภาพแบบLUT3Dได้ แก้ไขและปรับเปลี่ยนaspect ratioแบบอัตโนมัติให้เข้ากับจอภาพในทุกอัตราส่วน, มีระบบจัดการsubtitleสำหรับจอscope นอกจากนั้นก็ยังมีฟังก์ชันในการปรับภาพอื่นๆที่จำเป็นอย่างครบครันที่สุด เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างให้เธอละสำหรับการปรับภาพ แต่เดิมmadVR Labsทำเพียงแค่softwareบนplateform PCเพื่อใช้ในการปรับภาพ จนเมื่อมีknow-howถึงระดับหนึ่งแล้วจึงได้เลิกพัฒนาsoftwareที่เคยทำไว้ แล้วเปิดโปรแกรมให้เป็นopen sourceสำหรับนักเล่นภาพDIYนำไปต่อยอดทำเครื่องปรับภาพเล่นเองได้ ส่วนmadVR Labsก็ได้พัฒนาHardwareร่วมกับSoftwareตัวใหม่ของตัวเองเพื่อทำเป็นเครื่องmadVR Envyขึ้นมา โดยตัวMK1ได้เปิดตัวเมื่อสามสี่ปีก่อน จนมาถึงปีนี้ พ.ศ.2566 ทางmadVR Labsได้เปิดตัวเครื่องรุ่นล่าสุดได้แก่ madVR Envy MK2ออกมา

madVR Envy MK2 ได้ปรับปรุงจากMK1หลายอย่าง ที่เด่นๆได้แก่ เปลี่ยนcaseเป็นaluminumหนาขึ้นเป็น 3mmโดยรอบ ส่วนด้านหน้าหนาเป็น 20mm แต่ผมดูละผมว่ารูปร่างหน้าตาก็ยังเป็นcase CPUคอมพิวเตอร์แบบdesktopอยู่ดี555 ที่ต่างจากตัวเดิมก็คือระบบระบายความร้อน ตอนนี้จะเห็นว่ามีช่องระบายอากาศรอบด้าน บริษัทแจ้งด้วยว่าเปลี่ยนcooling systemใหม่หมดทั้งเครื่องเพื่อรองรับGPUที่แรงขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้เครื่องเย็นลง และเสียงเครื่องเบาลงอีกมาก ซึ่งน่าจะจริงเพราะเมื่อตอนผมใช้ตัวเดิมขนาดวางเครื่องไว้ด้านนอกอุณภูมิเครื่องจะขึ้นไปกว่า 60-70องศา และก็มีเพื่อนหลายคนเอาไปวางไว้ในRackที่ปิด พบว่าเครื่องร้อนจี๋เลย แต่ตัวใหม่นี้ผมดูอุณหภูมิเครื่องจะเหลืออยู่แค่30-40องศาเท่านั้น เย็นเลยทีนี้ ในเรื่องประสิทธิภาพโดยรวมผมว่ามีความเสถียรขึ้นกว่าตัวเดิม อาจจะเพราะตัวsoftwareที่พัฒนามากขึ้น หรืออาจจะเพราะเครื่องร้อนน้อยลงด้วยก็อาจเป็นไปได้

ส่วนfeatureในด้านต่างๆก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับmadVR Envy MK1 การSetup การCalibrationทำได้อย่างง่ายดาย มีคู่มืออย่างละเอียดพร้อมภาพประกอบอยู่ในofficial website สามารถทำตามได้อย่างตรงไปตรงมา

แต่ที่ผมสังเกตเห็นชัดอย่างหนึ่งก็คือถึงแม้ทำ3D LUTใช้ทั้งโปรแกรมColour SpaceและCalman Ultimateได้ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ภาพจริงที่ออกมาปรากฏว่าภาพของMK2 ให้ความสว่าง สดใสของภาพมากกว่าตัวMK1

การเปรียบเทียบภาพที่ออกมาระหว่าการใช้MotionAI กับไม่ใช้ สำหรับเครื่องmadVR MK2ทำได้ง่ายมาก สามารถเลือกได้ทั้งเฟรมเดียวแบ่งครึ่งจอด้านซ้ายเป็นที่เปิดMotionAIด้านขวาปิดฟังก์ชันนี้ หรือจะทำเป็นสองเฟรมในจอเดียวก็ได้ ผลที่ออกมานี่เห็นได้ชัดเจนมาก อย่างในฉากหนังเรื่อง”Baby Driver” นาทีที่ 00:06:30-00:09:30 เริ่มจากฉากแพนกล้องลงมาจากยอดตึก ถ้าปิดMotionAIไว้จะมีการกระตุกของภาพหรือที่เรียกว่าJudderเป็นระยะ แต่ถ้าเปิดภาพจะไม่สะดุด แต่ไม่ได้ลื่นมากจนเกินไป ยังคงความเบลอเล็กๆไว้ให้ใกล้เคียงกับfilm lookอยู่

ฉากที่กล้องแพนตามถนนสังเกตตรงตู้จดหมายที่เขียนคำว่าSCRATCHติดไว้ ถ้าปิดMotionAIแทบจะอ่านไม่ได้ แต่เมื่อเปิดจะสามารถอ่านได้ชัดเจน หรือฉากในร้านกาแฟยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อแพนกล้องไปรอบๆร้าน backgroundที่เป็นเสาจะดูกระตุกแปลกๆ แต่เมื่อเปิดMotionAIภาพจะดูเนียนสบายตากว่ามาก

จากภาพยนตร์เรื่อง 1917 ที่เวลา 00:41:16-00:43:00 ตรงบริเวณซี่ไม้ของโรงนาเมื่อแพนกล้องไปมา ภาพซี่ไม้จะเบลอๆซ้อนๆกันดูแล้วลายตามาก แต่เมื่อเปิดMotionAIจะเห็นส่วนของวิวหลังซี่ไม้ได้ชัดเจน เมื่อภาพเลื่อนไปด้านข้างซี่ไม้ก็ไม่มีอาการภาพค้างเบลอแต่อย่างไร

หรืออย่างที่01:00:00-01:00:20 ฉากช่วงทหารนั่งหลังรถ เมื่อแบ่งหน้าจอออกเป็นสองส่วนเปรียบเทียบกันโดยด้านซ้ายเป็นส่วนที่เปิดMotionAI ด้านขวาเป็นส่วนปิดMotionAI จะเห็นได้ชัดเลยว่าด้านขวาภาพจะเบลอ สั่น มองไม่เห็นรายละเอียดของก้อนหิน ต้นหญ้าที่อยู่ข้างทาง

หรืออย่างที่เวลา 01:02:17-01:02:27 ให้สังเกตต้นไม้ในส่วนบนของภาพที่เวลาแพนกล้องไปหาซากตึก ต้นไม้จะเกิดjuddersขึ้นอย่างชัดเจน

หนังการ์ตูนเรื่อง Coco : 00:04:11-00:04:47 ภาพในที่มีการซูมกล้องออกมาจากโต๊ะทำรองเท้าทำได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงฉากMiguelวิ่งออกมาจากร้านทำรองเท้าไปตามถนน ตามผนังบ้านต่างๆก็มองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน ไม่มีการเหลื่อมๆกันของภาพเหมือนกับตอนปิดMotionAI

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายฉากจากภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ทางmadVR Labsแนะนำให้ใช้ทดสอบMotionAI โดยฉากเหล่านี้มักจะเจอการเกิดJudder หรือมีการเบลอของภาพขณะที่มีการแพนกล้อง เมื่อมีการเคลื่อนที่ของวัตถุในแนวต่างๆ เช่น “Ready Player One”: 00:11:55-00:16:56(ฉากแข่งรถ), “Aquaman”: 01:21:38-01:33:38(ฉากในตลาดและต่อสู้บนหลังคา), “Deadpool”: 00:00:40-00:09:10(ฉากเปิดเรื่อง) , “Lucy”: 01:15:32-01:15:47(ฉากหมุนเก้าอี้), “Sonic 2”: 00:54:10-00:56:25(ฉากไล่ล่าบนSnowboard) , “The Greatest Showman”: 00:00:00-00:02:55(ฉากเต้นตอนเริ่ม) ยังไงลองไปหาฉากเหล่านี้ดูเพิ่มเติมได้

สรุปแล้ว MotionAIเป็นเทคโนโลยีที่ทางmadVR Labsได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ภายในบ้านให้ได้ใกล้เคียงกับการรับชมภาพจากโรงภาพยนตร์ที่ภาพเคลื่อนไหวมีความชัดเจน มีรายละเอียด แม่นยำ คงตัว ไม่เกิดปัญหาsoap opera effect ดูแล้วสบายตา ทำให้ผู้รับชมรับรู้อารมณ์จากหนังได้อินมากขึ้น ลดการวอกแวกจากเนื้อหาในหนังเนื่องจากภาพที่สะดุดหรือภาพกระตุก สามารถรับชมภาพยนตร์อย่างสนุกสนานได้ยาวนานมากขึ้นโดยไม่ล้าสายตา ยังไงใครอยากสัมผัสประสบการณ์”Cinematic Look”แบบนี้ลองหาชมภาพจากเครื่องmadVR Envy MK2 ได้เลยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Cinematic Look (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้