Review

Search

Storm Audio ISP Elite MK3

Immersive sound processor ตัวใหม่ของทางStorm Audio ที่มาพร้อมโมดูลใหม่ล่าสุดทันสมัยที่สุดของทางDiracได้แก่ Dirac Live Active Room Treatmentหรือเรียกง่ายๆว่าDirac ART มาติดตามดูกันว่าpre/proตัวนี้จะให้เสียงออกมาสุดยอดขนาดไหนครับ

คุณสมบัติทั่วไปของStorm Audio ISP Elite MK3ก็เป็นsound processorรองรับสัญญาณเสียงทั้งAuro-3D, Dolby Atmos, DTS:X Proและ IMAX Enhanced สามารถส่งออกสัญญาณเสียงได้สูงสุด32แชนแนล ใช้งานaudio over IPในการเชื่อต่อแบบAES67/Ravenna, Dante ส่วนoutputแบบAES/EBUก็สามารถส่งออกได้32แชนแนลเช่นกัน โดยตัวเครื่องที่ผมทดสอบจะเป็นรุ่นที่มีanalog XLR outputs 16แชนแนล อย่างไรก็ตามตัวhardwareของตัวเครื่องสามารถเพิ่มลดให้เหมาะสมกับห้องhome theaterในแต่ละห้องได้อย่างสะดวก HDMIมี7IN/2OUT แบบHDMI2.0b/HDCP2.2 รองรับภาพ 4K UHD HDR10, Dolby Vision, HLG แบบ18Gbps ในทุกports สำหรับราคาตั้งของStorm Audio ISP16 Elite MK3อยู่ที่ 670,000บาท, ISP24 MK3อยู่ที่ 790,000 และ ISP32 MK3อยู่ที่ 890,000บาท

อุปกรณ์ที่บรรจุมาในกล่องก็ในแนวminimalเอาแค่ที่จำเป็น มีสายไฟ รีโมท Quick start guide และแผ่นเหล็กเพื่อใช้ยึดกับRack

รีโมทก็ตัวเล็กๆเอาเท่าที่จำเป็นจริงๆ แต่พอใช้งานผมเลือกควบคุมบนมือถือผ่านStormAudio app ทั้งสะดวก และปรับได้ละเอียดกว่ามากครับ

ส่วนที่ Wow! ที่สุดสำหรับผมของISP Elite MK3ตัวนี้คือ สามารถใช้งานโปรแกรมRoom Correctionแบบ Dirac Live Active Room Treatment(Dirac ART)ได้ ซึ่งตอนนี้มีแต่เครื่องpre/proของStorm Audioเพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่รองรับโมดูลนี้ และตัว ISP Elite MK3ที่ซื้อตั้งแต่ปีนี้(2023)เป็นต้นไปก็จะให้licenseนี้ติดมากับเครื่องเลยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเพิ่มอีก

ถ้าถามว่าDirac Live Active Room Treatmentน่าตื่นเต้นตรงไหน? ผมต้องตอบเลยว่ามันเป็นสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแนวคิดการทำAcoustics treatmentภายในห้องไปอย่างสิ้นเชิง จนบางคนถึงกับบอกว่านี่คือgame-changerในโลกของspeaker calibrationอย่างแท้จริง เนื่องจากเดิมถ้าต้องการแก้ไขในเรื่องการสั่นค้างของเสียงเบสเนื่องจากการสะท้อนกลับไปกลับมาของความถี่ต่ำภายในห้องที่บางคนก็เรียกว่าsmeared bassหรือ boomy bassนั้น เราต้องใช้วัสดุปรับสภาพacousticsภายในห้องที่มีอยู่หลายชนิดหลายแบบเช่น bass traps, wall absorption หรือวัสดุacoustics treatmentที่มีขนาดใหญ่ ราคาแพง รูปร่างหน้าตาก็ไม่ค่อยจะสวยเท่าไหร่ใส่เข้าไปในห้อง หรือบางทีก็ต้องมีการใช้หลักการของmultiple subwooferที่ใช้subwooferจำนวนมากวางในตำแหน่งเฉพาะเพื่อแก้ไขroom modeภายในห้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อต้องการลดค่าroom decay timeของเสียงความถี่ต่ำภายในห้องลง แต่สำหรับDirac Live ARTนั้นจะใช้หลักการคล้ายกับactive noise cancelation โดยจะใช้ลำโพงของเราที่มีอยู่ภายในห้องปล่อยสัญญาณความถี่ต่ำกว่า150Hzที่มีphaseตรงข้าม(anti-signals)cancel outกับเสียงที่สะท้อนออกมาจากผนัง หรือเสียงสะท้อนอื่นที่ทำให้เกิดdistortionของเสียงจริงจากลำโพง เพื่อควบคุมการresonanceและdecay timeของห้องฟังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การทำเช่นนี้ก็จะทำให้เสียงความถี่ต่ำภายในห้องมีความแน่น ไม่เพี้ยน ไม่มีการringing เพิ่มsweet spotของการนั่งฟังให้กว้าง ตำแหน่งนั่งฟังแต่ละที่ก็จะมีความแตกต่างกันน้อย ได้ฟังเสียงที่ถูกต้องใกล้เคียงกับเสียงภาพยนตร์ที่directorหรือคนทำหนังเขาได้ยินในห้องpost production studio ซึ่งหลังจากทางStorm Audioได้เปิดตัวDirac ARTและมีการสาธิตในห้องแสดงเครื่องเสียงในต่างประเทศ คนที่ได้ฟังต่างก็ชื่นชม และamazingกับเสียงที่ออกมา ได้ฟังได้อ่านมาแค่นี้ต่อมความตื่นเต้นผมก็ทำงานหนัก….ว้าวุ่นเลยทีนี้

การทดสอบผมทำในระบบวางลำโพงแบบ 7.1.4 ใช้ชุดลำโพงของMeyer Soundทั้งชุดที่เป็นลำโพงแบบActiveมีPower Amplifierในตัว โดยลำโพงLCRจะเป็นรุ่นAcheron Designer, ลำโพงSurroundทั้งหมด8ตัวเป็นรุ่นHMS-10 ส่วนลำโพงSubwooferใช้4ตัวเป็นรุ่นX-400Cวางกลางผนังห้องทั้งสี่ด้าน โดยสัญญาณต่อตรงผ่านช่องBalance XLRจากpre/proเข้าลำโพงโดยไม่ผ่านexternal DSPแต่อย่างใด เนื่องจากการทำDirac ARTตัวโปรแกรมจะทำการวัดลำโพงทุกตัวว่าสามารถตอบสนองความถี่ต่ำได้ลึกถึงเท่าไหร่ เพื่อให้ลำโพงทุกตัว(ที่เลือกไว้)ช่วยกันปล่อย anti-signals ลดการสะท้อนของเสียงจากผนังตามความสามารถของลำโพงแต่ละตัว สำหรับขั้นตอนการsetupแบบ Dirac ARTผมจะทำเป็นคลิปแยกเพื่อแนะนำขั้นตอนการทำ และเทคนิคเล็กๆน้อยที่จะช่วยให้ผู้ที่setupได้เข้าใจและสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ใครสนใจก็ติดตามในช่องYouTube MorAek Home theaterได้ครับ

เมื่อทำการcalibratedโดยใช้Dirac Live ARTเรียบร้อย สิ่งแรกที่ผมต้องการรู้ก็คือ มันสามารถลดDecay timeได้จริงอย่างที่แจ้งไว้หรือเปล่า เพราะดูจากconceptและวิธีการนั้นมันดูเหมือนsimplyเกิน ไม่ต้องเพิ่มลำโพงที่มีอยู่ในระบบ ใช้เท่าที่มี ไม่ได้สนใจว่าลำโพงอยู่ที่ตำแหน่งไหนบ้าง แค่วางให้ไม่ผิดมาตรฐานมากนักก็ใช้ได้ สัดส่วนสภาพacousticsห้องก็ไม่ได้สนใจ อารมณ์ประมาณเดี๋ยวตัวโปรแกรมจะจัดการทุกอย่างเองขอให้ทำการcalibrateให้ถูกต้องวัดค่าลำโพงออกมาvalidตามวิธีการของDiracก็พอ ทำให้ตอนแรกในความคิดผมก็คือมันก็คงทำได้ดีในระดับหนึ่งประมาณว่าลดค่าพอเห็นเล็กๆน้อยๆเสียงเบสก็คงแน่นกว่าการcalibratedด้วยDirac Live Bass Controlนิดหน่อย กราฟที่ทางบริษัทวัดมาแบบWaterfall time decayก็มีโชว์แต่ผมก็ไม่เชื่อเท่าไหร่อยากวัดเองมากกว่า ซึ่งเมื่อผมลองวัดค่าSpectrogram Graphเองเพื่อดูdecay time เทียบระหว่างใช้กับไม่ใช้ Dirac ARTผลที่ได้ออกมาตามกราฟที่เห็นเลยครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ดีถึงขนาดนี้ ringingต่ำกว่า 150Hzในห้องผมถูกจัดการเรียบ อย่างเนียน งานนี้ต้องยอมรับเลยว่ามันทำได้จริงไม่จกตา….ทำได้ไงเนี่ย

ดูค่าจากกราฟดีมากคราวนี้มาฟังเสียงจริงดูบ้างว่าดีขึ้นจริงเหมือนอย่างที่กราฟแสดงไว้ไหม ทดสอบความถี่ต่ำแน่นอนต้องจากหนังเรื่อง John Wick: Chapter 4(2023) ฉากแรกเลยที่John Wickชกเสาสั่นสะท้านสะเทือน ฉากนี้ผมลองบ่อยมากจนจำลักษณะเสียงได้ แต่พอทำDirac ARTแล้วเปิดดู เสียงไม่เหมือนที่เคยฟังมาเลย เสียงแน่นขึ้น ชัดขึ้น ขอบเสียงต่ำชัดเจน ไม่มีอาการsmearของเสียง แค่ฟังแบบcasual listeningไม่ต้องฟังแบบนั่งจับผิดก็เห็นความต่างเยอะ รายละเอียดของเสียงตรงนี้เยอะกว่าที่เคยฟัง คงเป็นเพราะที่เคยฟังมาเสียงบางส่วนถูกกลบด้วยเสียงความถี่ต่ำเดิมที่เก็บตัวไม่ทันเนื่องจากdecay timeของห้องสูงเกิดringingมาทับ ทำให้เสียงตอนนี้ได้รายละเอียดครบๆแบบไม่เบลอ ไม่มีเพี้ยน แบบนี้แหละมั้งที่ฝรั่งมักเรียกว่า”clean bass” ฟังแล้วgetเลยกับความหมายของคำ ๆนี้

ลองฟังStar Wars: Episode VII-The Force Awakens หนังเรื่องนี้ผมเคยไปฟังจริงๆในระบบDolby Atmosจากสตูดิโอที่ทำเสียงของหนังเรื่องนี้มา ทำให้พอรู้ว่าเสียงจะออกมาประมาณไหน ต้องบอกว่าเสียงที่ออกมาจากเครื่องStorm Audio ISP Elite MK3นั้นทำเสียงออกมาได้ใกล้เคียงเสียงที่เคยได้ยินในสตูดิโอมาก ทั้งความหนักหน่วงของเสียง, tonal balanceทั้งเสียงความถี่ต่ำ ความถี่สูง ยิ่งหนังเรื่องนี้มีหลายฉากที่ยานวิ่งไล่ ยิงต่อสู้กันรอบทิศ ความชัดของเสียงimmersiveนั้นก็ทำได้เนียนไม่มีช่องโหว่ รู้ตำแหน่งยานที่วิ่งรอบตัวเลย เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงความถี่ต่ำ น้ำหนักเสียง เนื้อเสียงไม่ต้องพูดถึง Dirac ARTจัดการได้อย่างยอดเยี่ยมมาก และด้วยdecay timeของเสียงที่ต่ำ ก็ทำให้ดูหนังได้นานขึ้นโดยไม่เหนื่อย ไม่อึดอัดอีกด้วย

Bohemian Rhapsody (2018) เป็นหนังที่เสียงคอนเสิร์ตmixออกมาได้เยี่ยมมาก เป็นความโชคดีว่าในยุคสมัยที่คอนเสิร์ตนี้แสดงอยู่จริง ส่วนมากการออกอากาศจะเป็นการใช้ไมค์บันทึกเสียงของเครื่องดนตรีที่เล่นทุกตัวรวมกัน แต่ด้วยความเก่งของBBC sound engineerสมัยนั้น ก็ได้ทำการบันทึกเสียงเป็นmulti trackแยกเครื่องดนตรีแต่ละตัวแล้วค่อยนำมาmixรวมกันก่อนออกอากาศในระบบstereo ทำให้มีไฟล์เสียงที่มีคุณภาพของเครื่องดนตรีแต่ละตัวที่เล่นจริงในวันนั้นเก็บไว้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้นำtrackเสียงเหล่านี้กลับมาmixใหม่ แล้วค่อยเพิ่มเสียงของบรรยากาศอื่นเข้าไปทีหลัง ทำให้เสียงดนตรีที่ได้ยินจากหนังเรื่องนี้เป็นเสียงของวงQueenเล่นจริงที่ชัดเจน มีnoiseกวนเสียงน้อยมาก เสียงดีแบบมีมิติ ดีจนในปี2019 เป็นหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ เรื่องเสียงทั้งBest sound editing, Best sound mixing และเมื่อได้ฟังจากStorm Audio ISP MK3 ที่ได้ทำDirac ARTแล้วนั้น ฟินจริงๆครับ เป็นเสียงคอนเสิร์ตที่ดีมาก ความถี่ต่ำของเสียงกลองมาเป็นลูกๆทุกครั้งที่เหยียบกระเดื่อง ความสดใสของHi-Hat ความแรงของกลองSnare ความพลิ้วของเสียงกีตาร์ รวมกับเสียงร้องทรงพลังอันมีเสน่ห์ของFreddie Mercury ช่างทำออกมาได้อย่างลงตัว ไพเราะน่าประทับใจ ใครที่เคยดูเรื่องนี้แบบผ่านๆลองกลับไปดูอีกรอบเพื่อเก็บความประทับใจเหล่านี้ไว้ เพราะผมคิดว่า Bohemian Rhapsodyเป็นภาพยนตร์ที่ทำเสียงคอนเสิร์ตออกมาได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันครับ

Storm Audio ISP Elite MK3เป็นsound processorที่สุดยอดตัวหนึ่งในวงการhome theaterที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้คุณภาพเสียงออกมาดีเยี่ยม มีความflexibleของเครื่องสูงupgradeอุปกรณ์ได้ง่าย รองรับinterfaceของเสียงที่จะมีในอนาคตได้หลายแบบ ทำการติดตั้งและcalibrationsได้ง่าย ความบกพร่องของโปรแกรมน้อย ที่สำคัญรองรับระบบDirac Live Active Room Treatment ทำให้ห้องที่เคยเจอปัญหาเรื่องacousticsของเสียงต่ำมีเสียงที่ดีออกมาได้อย่างสะดวกง่ายดาย เหมาะสมแล้วกับคำที่บอกว่า “Simply the best home cinema sound processor” ต้องขอขอบคุณทางบริษัท Inventive AVที่ส่งเครื่องStorm Audio ISP Elite MK3มาเปิดโลกทัศน์ของผมในครั้งนี้ด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Storm Audio ISP Elite MK3 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้