Review

Search

Low Latency Dolby Vision(LLDV)

มีหลายคนinboxเข้ามาถามผมถึงเรื่องอุปกรณ์ที่ชื่อว่า HD FURYคืออะไร ใช้ส่งภาพDolby Visionได้จริงหรือไม่ แล้วควรจะซื้ออุปกรณ์ตัวนี้ไหม ซึ่งผมก็ได้ตอบไปบ้างแต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดเนื่องจากคิดว่าจะเขียนตอบในสื่อonlineให้ละเอียดเลยทีเดียว เผื่อใครที่สงสัยจะได้get ideaได้ว่ามันคืออะไร หลักการทำงานเป็นอย่างไร ทำให้ภาพสวยขึ้นจริงหรือเปล่า และคำถามสุดฮิตคือซื้อตัวนี้มาแทน External Video Processor ตัวอื่นที่ราคาสูงอย่างเช่น Lumagen, MadVR ได้เลยหรือไม่เพราะราคาค่าตัวห่างกันมาก ใครสงสัยในประเด็นเหล่านี้ติดตามอ่านกันได้เลยครับ

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องHD Furyว่าคืออะไร ต้องมาทำความรู้จักLow Latency Dolby Visionก่อน สำหรับคำว่าDolby Visionทุกท่านก็น่าจะพอคุ้นเคยและรู้จักว่าเป็นระบบภาพแบบHigh Dynamic Range(HDR)ที่ดีกว่าHDR10, HDR10+ เนื่องจากมีการส่งข้อมูลรายละเอียดสูงถึง 12bit แบบDynamic Metadata และมีการควบคุมคุณภาพของภาพตั้งแต่ในห้องPost Production จนถึงผู้บริโภคเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมที่ใช้อุปกรณ์รองรับDolby Visionจะได้รับชมภาพใกล้เคียงกับผู้ทำหนังหรือDirectorได้ชมจากจอMastering Monitorมากที่สุด

โดยการส่งข้อมูลDolby Visionแบบเดิมหรือแบบมาตรฐานนั้นเครื่องเล่นที่รองรับDolby Visionก็จะเอาข้อมูลจากแผ่นภาพยนตร์Dolby Visionแล้วส่งไปกับสายHDMI 2.0 เมื่อทีวีได้รับข้อมูล ก็จะถอดรหัสข้อมูลนี้ออกมา ทำvideo processingในเครื่องทีวีเพื่อให้ได้ภาพตามมาตรฐานDolby Vision แต่เนื่องจากเป็นการprocessingที่ต้องทำในตัวเครื่องทีวีซึ่งทีวีเองก็มีมากมายหลายแบบ หลายรุ่น หลายยี่ห้อการprocessภาพก็จะใช้เวลาไม่เท่ากันบางเครื่องเร็วบางเครื่องช้า จึงทำให้การส่งข้อมูลเพื่อsynchronizationมีปัญหาจากการdelayทีวีแต่ละตัวจะใช้เวลาไม่เท่ากัน หรือเรียกอีกอย่างว่ามีlatencyที่ไม่เท่ากัน

เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ทางDolby Laboratoriesเลยได้แก้ปัญหาโดยการพัฒนาDolby Visionรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Low Latency Dolby Vision(LLDV) โดยจะเปลี่ยนจากการprocessภาพที่ทีวี ให้ทำการprocessภาพรวมไปถึงการทำtone mappingที่เครื่องเล่นแทนเพื่อลดปัญหาhigh latenciesดังที่กล่าวไว้แล้ว และลดปัญหาการส่งข้อมูลdynamic หรือ static metadataจำนวนมากไปยังทีวีให้process ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ลดlatencyจากเครื่องเล่นถึงทีวีได้เยอะมาก จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า Low Latency Dolby Vision แต่การที่เครื่องเล่นจะส่งข้อมูลtone mapping ไปยังทีวีหรือจอแสดงภาพได้นั้น จอทีวีต้องบอกเครื่องเล่นทางEDIDก่อนว่าตัวเองสามารถจัดการกับข้อมูลLLDVนั้นได้ และข้อมูลของจอเป็นอย่างไรจอภาพมีความสว่างความมืดเท่าไหร่ รองรับข้อมูลสูงขนาดไหน เพื่อที่ตัวเครื่องเล่นจึงจะยอมส่งสัญญาณไปให้จอทีวีผ่านทางสายHDMI

“EDID”หรือชื่อเต็มๆก็คือExtended Display Identification Data พูดง่ายๆก็คือข้อมูลที่จอทีวี หรือจอภาพ ส่งไปแนะนำตัวให้กับเครื่องเล่นว่า ตัวเองเป็นจอภาพชื่ออะไร รองรับรายละเอียดเท่าไหร่ฯลฯ เมื่อเครื่องเล่นได้รับข้อมูลEDIDนี้มาเครื่องเล่นก็จะสามารถส่งสัญญาณภาพกลับไปให้จอภาพได้ถูกต้องตามEDID เกิดเป็นการเชื่อมต่อที่เข้ากัน มีภาพออกที่จอ หรือบางทีก็เรียกว่าเกิดการshake hand กันเรียบร้อย

แล้วเจ้าHD Furyเกี่ยวข้องยังไง? ความจริงแล้วผมเคยได้รู้จักHD Furyเมื่อหลายปีก่อนในclassเรียนปรับภาพโดยGregg Loewen ที่ได้เอาHD Furyมาสอนเรื่องการจัดการEDID เพราะความสามารถหลักของเจ้าตัวนี้คือการจัดการเรื่องของEDID การsplitสัญญาณภาพและเสียง รวมถึงการscaleภาพไปที่ความละเอียดต่างๆ ซึ่งความสามารถในการสร้างEDIDได้นี่เอง จึงถูกนำมาวางไว้คั่นกลางระหว่างต้นทางกับจอภาพเพื่อสร้างEDIDบอกกับเครื่องเล่นDolby visionต้นทางแทนจอภาพจริงว่าสามารถรองรับข้อมูลLLDVได้ ทำให้ต้นทางทำการprocess ภาพLLDVแล้วส่งไปยังHD Furyเพื่อส่งไปยังจอภาพอีกทีถึงแม้จอภาพจริงนั้นจะไม่รองรับDolby Vision เนื่องจากข้อมูลdolby visionที่ส่งมาจะถูกพับส่งมาในซองแบบHDR RGB containerที่จอภาพHDRทั่วไปรู้จัก ทำให้จอแสดงภาพLLDVในmode HDRปกติของจอนั้นได้

ดังนั้นถ้าจะต้องการชมภาพที่อยู่ในชั้นข้อมูล Dolby Visionก็ต้องมีสามอย่างที่ต้องตั้งให้เข้ากัน เริ่มจากเครื่องเล่นหรือsource ที่ในปัจจุบันมีเครื่องเล่นแผ่น,เล่นไฟล์ หรือsourceของstreaming หลายตัวรองรับการส่งภาพแบบLLDV ที่นิยมเล่นกันได้แก่

  • Sony Players (UBP-X700, UBP-X800/M2, UBP-X1100ES)
  • Apple TV 4K
  • Shield Pro
  • Xbox One X/S
  • Panasonic UB820/UB9000
  • Oppo 203/205
  • Fire Stick/Fire Cube (Netflix/ATV App)
  • Chromecast (Netflix)
  • Oppo203/205
  • Apple TV 4K
  • Sony UBP-X700, UBP-X800/M2
  • Zidoo
  • Pioneer LX800, LX500

โดยขั้นแรกก็ต้องมีการปรับค่าในส่วนHDR ของDisplay settingให้sourceเหล่านี้รองรับการปล่อยข้อมูลLLDVอย่างรูปนี้จะเป็นในหน้าเมนูของเครื่องเล่นPioneer LX800ที่ผมใช้อยู่ก็ให้ไปปรับในหน้าเมนูDolby Visionเป็นAuto

Zidoo UHD ในเมนูHDR ก็ไปปรับเป็น Auto หรือไม่ก็เป็น Dolby Vision Low Latency(LLDV,YUV422,12Bit)

Apple TV 4K ให้ปรับรูปแบบภาพเป็น 4K SDR (Video and Audio Format)ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องภาพHDR ในขั้นตอนถัดไปค่อยไปปรับเมนูให้ตรงกับเนื้อหา(Match content) เพราะถ้าปรับเป็นHDRตั้งแต่ตรงนี้ เนื้อหาที่เป็นSDRก็จะถูกForceให้เป็นHDRทั้งหมด ทำให้ภาพที่ออกมาผิดปกติในบางcontentได้

เมนูให้ตรงกับเนื้อหา(Match content) ปรับทั้งช่วงแสง(Match Dynamic Range) และอัตราเฟรม(Match Frame Rate)ให้เปิดตรงกับเนื้อหา

ตัวHD Fury สามารถใช้ได้ทั้งในรุ่น Vertex2, Diva, Maestro โดยต่อสัญญาณHDMIจากตัวSourceเข้าช่องHDMI 0,1,2,3ตามต้องการ ส่วนสัญญาณภาพขาออกไปเข้าโปรเจคเตอร์ใช้HDMI TX0 ARC/CEC/UP ,สัญญาณเสียงถ้าต้องการsplitก็เสียบออกจากช่อง Audio Out 720/1080p แล้วทำการเชื่อต่อLANอยู่วงเดียวกับคอมพิวเตอร์ เข้าweb browser พิมพ์ http://DIVA-XX/ โดย XXคือตัวเลขสองหลักสุดท้ายที่อยู่บนสติ๊กเกอร์ serial numberบนตัวเครื่อง หรือจะพิมพ์ IP addressของเครื่องตรงๆไปเลยก็ได้ เมื่อเข้ามาหน้าเมนูควบคุมHD Fury ในแถบEDIDก็ไปตั้งค่าตามภาพได้เลย

ในแถบHDR/AVI ก็ตั้งไว้ตามภาพ ยกเว้น ความสว่างสูงสุดด้านล่างที่อาจจะต้องลองตั้งดูก่อนแล้วค่อยไปดูภาพจริงว่าภาพออกมามืดไป สว่างไป ค่อยมาปรับตรงนี้เอาอีกที สำหรับโปรเจคเตอร์ที่ผมใช้ทดสอบเป็นตัวเก่าความสว่าง60-70nits ตั้งค่าไว้ที่ 100nitsภาพออกมาพอดี ยังไงก็ลองตั้งไว้ที่ 100ก่อนก็ได้ ทั้งค่าMax Luminance, MaxCLL, MaxFALL แล้วค่อยมาปรับละเอียดอีกทีตามต้องการ เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้วมากด Create IFเพื่อให้เครื่องตั้งค่าEDIDใหม่จากdefaultเดิม ซึ่งถ้าดูให้ดีบรรทัดที่มีรหัสตัวเลขยาวๆจะเปลี่ยนไป เสร็จแล้วก็กด Send HDR แค่นี้ข้อมูลEDIDที่ทำขึ้นใหม่ก็จะถูกใส่เข้าไปในตัว HD Furyเรียบร้อย

หน้าเมนูแถบDVตามนี้ ส่วนค่าอื่นๆก็ลองเปลี่ยนกันได้ให้พอดีกับโปรเจคเตอร์ที่ใช้กันอยู่ เสร็จแล้วก็กด Createเพื่อเปลี่ยนค่า EDID แล้วทำการกดSend DVไปที่ HD Fury

เมื่อทำสำเร็จเครื่องเล่นสามารถปล่อยสัญญาณ LLDV ที่จอแสดงภาพบนเครื่อง HD Furyก็จะแสดงคำว่าLLDVที่ฝั่งขาเข้าIN0 ส่วนขาออก TX0ก็จะเป็นสัญญาณHDR ตามปกติที่โปรเจคเตอร์4K HDRทั่วไปสามารถเล่นได้

สามารถเช็คได้จากหน้าจอโปรเจคเตอร์ได้เช่นเดียวกัน อย่างในภาพหน้าจอเมนูDisplayของเครื่องPioneer LX-800 ถ้าเครื่องเล่นSourceปล่อยสัญญาณ Dolby Visionในส่วน HDMI Output Information ก็จะเป็น Dolby Visionที่ HDR Format แต่ถ้าเครื่องเล่นปล่อยเป็น HDR10ธรรมดา ก็จะขึ้นเป็น HDR10ตามปกติ โปรดสังเกตแค่เห็นสีหลังเสื้อทหารจากภาพยนตร์เรื่อง 1917 ก็น่าจะเห็นความแตกต่างของสีสันของภาพบ้างแล้ว

ตัวอย่างภาพScreen Shots ถ่ายจากหน้าจอภาพ BenQ11000H และ JVC DLA-X9900BE ที่ต่อผ่าน MadVR Envy Extreme ส่วนที่ว่าทำไมต้องต่อผ่านExternal Video Processor เดี๋ยวมีอธิบายไว้ตอนท้ายครับ

มาลองภาพDolby Visionจาก NetflixเทียบกับHDR10 ผ่านเครื่อง Apple TV 4K กันบ้าง

ผมว่าสีสันของภาพที่มาจากNetflixแบบ Dolby Vision ให้สีสันที่เข้ม สดใส ดูมีชีวิตชีวากว่าภาพHDR10 ปกตินะ

นอกจากนี้HD Fury Diva ก็ยังมีความสามารถอีกหลายอย่าง ทั้งใช้เป็นตัว LAG Tester และที่น่าสนุกอีกอย่างก็คือสามารถเอาไปใช้ต่อเข้ากับไฟLEDเพื่อสร้างบรรยากาศรอบๆจอทีวี ให้มีสีตามภาพที่ปรากฏบนหน้าจอทีวีได้อีกด้วย ใครสนใจลองเข้าไปดูได้ https://www.youtube.com/watch?v=r-nQM3dJJaI นี่ผมว่ากำลังจะลองเอาไปปรับใช้กับจอโปรเจคเตอร์ดู จำได้ว่าเคยเข้าไปดูงานCEDIA ครั้งล่าสุด ในห้องแสดงภาพของBarco Projector ผนังของห้องโชว์ สีจะเปลี่ยนไปตามเนื้อหาของภาพยนตร์ ทำให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบ เดี๋ยวยังไงถ้าว่างได้ลองแล้วจะมารายงานผลอีกทีนะครับ

ถึงตรงนี้หลายคนก็สรุปได้ว่าภาพจากLow Latency Dolby Visionต้องดีกว่าภาพจาก HDR10 แน่นอนเสมอเพราะว่าพื้นฐานที่ให้สีสันในความละเอียดถึง 12bit รวมถึงมีการประมวลผลภาพแบบDynamic tone mapping แต่เท่าที่ผมลองทดสอบดูจากหนังหลายเรื่อง และจากหลายๆcontent พบว่า มีทั้งภาพที่ดีกว่า เหมือนเดิม หรือแย่กว่าก็มี ที่ดีกว่าก็คงจะพบเป็นส่วนมากเนื่องจากพื้นฐานของการส่งสัญญาณที่มีรายละเอียดต่างๆมากกว่าHDR10ดังที่กล่าวไป แต่ก็พบว่าภาพยนตร์บางเรื่องภาพจากHDR10 และจากDolby Visionก็ไม่ต่างกัน ได้มีนักเล่นต่างประเทศเคยเอาชั้นของข้อมูลDolby Visionที่อยู่ในแผ่นไปตรวจสอบพบว่าในภาพยนตร์บางเรื่องไม่มีข้อมูลใดๆอยู่เลย…..อ้าว คุณหลอกดาว555 อย่างนี้ก็เรียกได้ว่ามีแต่ชื่อDolby Visionแต่ภายในก็ยังใช้ข้อมูลเดิมของHDR10อยู่ภาพที่ออกมาจึงเหมือนเดิม ส่วนที่บอกว่าภาพแย่ลงก็อาจจะพบได้บ้างแต่น้อย เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าการประมวลผลเรื่องtone mappingที่เครื่องเล่น ไม่ได้ประมวลผลที่จอภาพเอง การทำtone mappingบางทีก็อาจจะทำให้เกิดความไม่เข้ากันระหว่างtone mappingที่ทำอยู่ที่sourceและtone mappingที่อยู่ในจอภาพHDR แน่นอนว่าการนำเอาข้อมูลDVไปทำtone mappingเองในตัวเครื่องทีวีเลยย่อมให้ผลที่ดีกว่า มีความmatchกันมากกว่า เนื่องจากว่านำเอาข้อมูลความสามารถจริงๆของเครื่องเข้าไปประมวลผลด้วย แต่การทำLLDVที่ตัวSourceไม่ได้นำข้อมูลจอภาพทั้งหมดไปประมวลผล จึงทำให้เกิดartifactต่างๆได้ ผลที่ตามมาก็คืออาจจะเห็นเป็นปื้นสีดำ หรือปื้นของสีบางสีที่เรียกว่าเกิด posterization หรืออาจจะเกิดclippingของสีบางสีได้ หรือมีnoiseขึ้น ใครอยากเห็นตัวอย่างสามารถดูได้จากคลิปHDTVTestคลิปนี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=e_a77zJTrO4

ส่วนคำถามที่ว่าHD Furyสามารถใช้แทนExternal Video Processที่ปรับภาพเช่นLumagen หรือ MadVRได้เลยหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าไม่ เพราะถ้าเข้าใจหลักการทำงานของHD Furyตามที่อธิบายตอนแรกก็จะรู้ว่าหน้าที่ของHD Furyไม่ได้ใช้ในการปรับภาพแต่เป็นตัวจัดการEDIDให้สามารถนำเอาข้อมูลที่อยู่ในชั้นDolby Visionออกมาได้ ดังนั้นเราจึงไม่พบfunctionการทำงานด้านปรับภาพต่างๆอยู่ในHD Fury ไม่ว่าจะเป็นGrayscale , CMS หรือการปรับภาพขั้นadvance แบบ 3DLUT ซึ่งถ้าใครต้องการปรับภาพให้ภาพดีขึ้นไปก็ต้องใช้ตัวexternal video processorเหล่านี้ช่วยอยู่ดี อย่างที่ผมลองดู ใช้เฉพาะHD Furyอย่างเดียวก็จะพบว่าในบางฉากก็มืดไป บางฉากก็สว่างเกินไป หรือเกิดartifactของภาพบางอย่าง แต่เมื่อเอาตัวExternal Video Processorช่วยก็ทำให้ความสว่างของภาพเหมาะสม ความถูกต้องของgrayscale และสีสันต่างๆถูกต้องใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากขึ้น

ส่วนที่ถามว่าHD Fury คุ้มกับราคาค่าตัวไหม อันนี้ผมว่าคุ้มนะเนื่องจากว่าความสามารถในรอบด้านของตัวเครื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดการEDIDแบบต่างๆ การใช้เป็นตัวแยกสัญญาณภาพกับเสียงออกจากกันเช่นใช้apple TVมีช่องHDMIออกช่องเดียวทั้งภาพทั้งเสียงแต่ต้องการแยกภาพไปที่ทีวี ส่วนเสียงเอาไปเข้าAVRตัวHD Furyก็สามารถจัดการได้ หรือบางคนไม่ต้องการใช้ระบบARC(Audio Return Channel)จากทีวีก็สามารถแยกภาพกับเสียงกันตั้งแต่แรกได้โดยใช้HD Fury รวมไปถึงความสามารถอีกหลายอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในเนื้อหาข้างต้น ก็นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่คุ้มค่ากับราคาค่าตัวประมาณหมื่นกว่าบาท(บางรุ่นไม่กี่พันบาท) ใครสนใจก็ลองหาสั่งซื้อมาเล่นกันได้ในเมืองไทยน่าจะมีคนนำมาขายบ้างแล้ว หรือสั่งกับทางwebsiteได้โดยตรง เขามีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ที่ไต้หวันทำให้ส่งมาเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว ผมลองสั่งดูแล้วต้องบอกว่าส่งเร็วมาก สั่งไปสองวันของถึงที่บ้านแล้วแต่แนะนำนิดหนึ่งครับว่าเวลาสั่งเขาจะให้เลือกว่าเอากล่องหรือไม่ แนะนำให้สั่งเป็นแบบไม่เอากล่องเนื่องจากว่าจะมีความสะดวกในการส่งและภาษีถูกกว่าครับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของLow Latency Dolby Vision ระบบภาพที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในปัจจุบันมากขึ้น อย่างภาพยนตร์ที่นำมาstreaming พบว่ามีระบบภาพDolby Visionเพิ่มขึ้นเยอะกว่าเดิมมาก จากเดิมที่เมื่อก่อนมีอยู่ไม่กี่เรื่อง และเท่าที่ลองดูผมว่าStreaming Servicesต่างๆก็ได้ให้คุณภาพของภาพDolby Visionดีกว่าHDRปกติ ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบัน Streaming Servicesมีแนวโน้มอนาคตที่ดีและน่าจะยังอยู่ควบคู่กับการใช้งานชีวิตประจำวันไปอีกยาวครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Low Latency Dolby Vision(LLDV) (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้