Review

Search

Pioneer UDP-LX800

หลังจากห่างหายไปนานพอสมควรตอนนี้ทางPioneer ได้ออกเครื่องเล่นแผ่นBlu-ray 4K ระดับflagshipตัวใหม่ออกมาในชื่อรุ่นUDP-LX800 รุ่นนี้มีอะไรน่าสนใจแล้วคุณภาพที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้างติดตามกันได้เลยครับ

รูปที่1 UDP-LX800 เครื่องเล่นUniversal Disc ระดับเรือธงรุ่นล่าสุดจากPioneer

เครื่องที่ผมได้รับมาเป็นเครื่องนำเข้าอย่างถูกต้องจากบริษัทเพาเวอร์บาย ภายนอกกล่องก็จะมีสัญญาลักษณ์ มอก. เพื่อเป็นการรับรองว่าผ่านการตรวจสอบจาก สมอ.อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งใบรับประกันจากบริษัท เปิดกล่องขึ้นมาก็จะมีอุปกรณ์มาตรฐานมาในกล่องคือremote control สายไฟAC ถ่านไฟฉาย และคู่มือที่เป็นแบบแผ่นDisc เมื่อแกะตัวเครื่องยกออกมาก็สัมผัสได้ถึงความแข็งแรง ความหนักแน่นของเครื่อง เนื้องานโดยรอบเครื่องเรียกได้ว่าเป็นงานดีมีรายละเอียด นอตแต่ละตัวก็ดูออกว่าใช้โลหะดีมีการประกอบจุดเชื่อต่ออย่างประณีต อ่านในspecพบว่าน้ำหนักของเครื่องอยู่ที่13.8กิโลกรัม ที่มีน้ำหนักมากกว่าเครื่องเล่น 4Kโดยทั่วไปนั้นนอกจากด้านในที่อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆแล้ว ตัวโครงสร้างของเครื่องก็ใช้โครงยึดเหล็ก(Chassis)หนา 1.6มิลลิเมตรสองชั้น เสริมด้วยแผ่นเหล็กหนา 3มิลลิเมตร การออกแบบโครงสร้างแบบนี้ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของเครื่องต่ำ เพิ่มความแข็งแรง ป้องกันการสั่นจากภายนอกเข้าไปสู่ภายในเครื่องทำให้การอ่านแผ่นมีประสิทธิภาพและมีความเสถียรมากขึ้น ตัวเครื่องภายนอกจะไม่เห็นช่องระบายอากาศหรือช่องพัดลมแต่อย่างไร การออกแบบแบบนี้ทำให้ลดเสียงรบกวน และเพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างเวลาเล่นแผ่น

รูปที่2 สภาพด้านนอกกล่องมีใบรับประกันอย่างถูกต้องจากบริษัทเพาเวอร์บาย และมีตรารับรองว่าผ่านการตรวจสอบ มอก.เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้วย
รูปที่3 สภาพเครื่องภายนอกที่ดูตัวถัง ความหนา นอตต่างๆที่ใช้มีความแข็งแรง งานการประกอบถือว่าประณีตดีมาก
รูปที่4 โครงสร้างที่ออกแบบมาอย่างแน่นหนาแข็งแรงของเครื่อง

ด้านในของเครื่องได้แบ่งส่วนโดยใช้คานเหล็กแยกเอาไว้ชัดเจนเป็นสามส่วนคือ ส่วนของPower supply, ส่วนของตัวdriveที่เล่นรวมถึงdigital processing และส่วนที่สามเป็นAnalogue audio การแบ่งแบบนี้ทำให้กำจัดการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า กระแสแม่เหล็กที่จะเข้าไปกวนกัน ในส่วนของPower supplyเองก็ได้แยกเป็นสองตัวคือPower transformerสำหรับวงจรanalogโดยเฉพาะ และPower supplyสำหรับตัวdriveและdigital blocksอีกตัวหนึ่งต่างหาก โดยถ้าเมื่อไรใช้การต่อแบบHDMIตัวPower transformerก็จะปิดวงจรanalog audioทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้คลื่นรบกวนต่างๆลดลง(Signal to Noise ratio) คุณภาพของเสียงและคุณภาพของภาพที่ออกมาจึงดีและสะอาดมากขึ้น

รูปที่5 การออกแบบจัดสัดส่วนภายในเครื่องอย่างเป็นระเบียบ
รูปที่6 การแบ่งระบบจ่ายไฟฟ้าภายในเครื่อง

ช่องต่อด้านหลังจะมีช่องAnalog audio outที่เป็นแบบBalanceและRCAอยู่2 Channels ช่องHDMI outที่รองรับการส่งสัญญาณที่ความเร็ว 18Gbps มีสองช่องสามารถแยกสัญญาณภาพกับเสียงออกจากกันได้ นอกจากนั้นก็จะมีช่องต่อมาตรฐานเหมือนเครื่อง 4Kทั่วไปคือช่อง RS-232C, ช่องNetwork ที่ใช้ต่อสายLAN, ช่อง USB, Coaxial, Optical และช่องต่อสายไฟAC Inส่วนช่องต่อที่น่าสนใจอีกช่องหนึ่งคือช่องต่อ Zero Signal ช่องนี้ทางPioneerได้อธิบายว่าเป็นช่องที่ใช้ต่อเข้ากับช่องrca audio หรือ video inputที่ว่างช่องไหนก็ได้ของเครื่องAV receiverหรือPre-Processor เพื่อช่วยในเรื่องของGroundของระบบไฟฟ้าในเครื่องทั้งสองที่ต่อกันทำให้การส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเครื่องทั้งสองดีขึ้น ซึ่งเท่าที่ผมลองดูในระบบเครื่องเสียงชุดของผมเองก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน อาจจะเพราะเครื่องได้ต่อผ่านเครื่องกรองไฟทั้งสองเครื่อง แต่เห็นในforumต่างประเทศบางที่ก็บอกว่าทำให้เสียงดีขึ้น ยังไงใครใช้รุ่นนี้อยู่ลองดูก็ได้ครับไม่เสียหายอะไร ผมว่ามันคงขึ้นอยู่กับระบบไฟในแต่ละชุดSystemมากกว่าว่าจะมีผลมากน้อยขนาดไหน

รูปที่7 ช่องต่อด้านหลังเครื่อง

เครื่องเล่นPioneer UDP-LX800ตัวนี้นอกจากจะรองรับแผ่นBlu-ray, 4K, 3D, DVD,DVD-Audio, CD, SACDก็ยังรองรับไฟล์แบบ MP3, WMA, ALAC, AIFF, WAV,FLAC ,ไฟล์MQAนั้นเห็นว่าต้องรอfirmware มาupdateอีกทีเช่นเดียวกับระบบภาพHDR10+ ส่วนไฟล์mkvเท่าที่ผมลองดูนี่เล่นได้แค่บางไฟล์เท่านั้น

รูปที่8 ระบบต่างๆที่เครื่องรองรับ
รูปที่9 รีโมตของเครื่อง

ในส่วนของremote control ก็ดูธรรมดาเหมือนremoteเครื่องเล่นPioneerทั่วไป แอบไม่ชอบนิดหนึ่งก็คือมีปุ่มstop อยู่ใต้ปุ่มplay/pause แถมมีขนาดใหญ่เท่าปุ่มplay/pauseด้วย ทำให้กดผิดกดถูกได้ง่าย บางทีอยากจะpauseก็ไปกดเป็นปุ่มstopแทน แต่เห็นธรรมดาอย่างนี้ปุ่มremoteนี้ได้ซ่อนความสามารถพิเศษไว้หลายอย่าง เช่นการกดปุ่มSubtitleค้างไว้ซักสองสามวินาที แล้วไปกดปุ่มทิศทางขึ้นลงก็ทำให้สามารถเลื่อนตำแหน่งSubtitleของหนังขึ้นลงได้ ปุ่มAUDIO Pก็จะเป็นการเลือกรูปแบบของเสียงที่แปลงจากDigitalเป็นAnalogหรือDAC(Digital Analog Converter)ว่าต้องการให้filterทำงานแบบไหนระหว่าง Sharpที่จะให้เสียงเร็วและหนัก ,Shortเสียงsmoothตอนเริ่มเสียง หรือแบบSlowที่ให้เสียงแบบนุ่มนวล นอกจากนี้ยังสามารถตั้งAudio Delayเป็นmilli-secondเพื่อเป็นการSyncสัญญาณเสียงกับภาพที่ปรากฏบนจอให้ตรงกัน อีกปุ่มที่อยู่ติดกันคือVIDEO Pจะเป็นค่าตั้งไว้สำหรับจอแสดงภาพแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น LCD TV, OLED TV, Projector หรือReferenced(ค่าที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยน) นอกจากนี้ก็ยังสามารถตั้งค่า Brightness, Contrast, Hue, Chroma Level, Sharpness, DNRเพื่อลดnoise, HDR-SDR Adj เพื่อเปลี่ยนความสว่างสูงสุดเวลาแปลงภาพจากHDRเป็นSDRได้อีกด้วย

รูปที่10 Audio Parameter มีให้เลือกทั้งSharp , Short และSmooth
รูปที่11 Video Parameter มีให้เลือกทั้งแบบ LCD TV, OLED TV, Projector และReferenced

อีกปุ่มก็คือปุ่มDISPLAYเมื่อเวลากดค้างไว้สักสองสามวินาที เครื่องก็จะแสดงรายละเอียดของข้อมูลแผ่น4Kที่กำลังเล่นอยู่อย่างละเอียด ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งที่ทำให้ผู้ใช้ได้ทราบว่าแผ่นที่กำลังเล่นอยู่บันทึกมาในความสว่างขนาดไหน และจะได้พอคาดคะเนได้ว่าต้องปรับTone Mappingหรือความสว่างของเครื่องโปรเจคเตอร์หรือทีวีไว้ที่เท่าไรจึงจะเหมาะสมกับภาพยนต์เรื่องนั้นๆ โดยเมื่อกดเสร็จหน้าจอแรกก็จะบอกถึงรายละเอียดของแผ่นนี้ว่าบันทึกมาแบบไหนบ้าง ซึ่งได้แก่ Resolution=รายละเอียดของภาพว่าหนังบันทึกมาที่ความละเอียดเท่าไร, Frame Rate=ความถี่ของจำนวนframeต่อวินาที, HDR Format=แผ่นนี้บันทึกมารูปแบบHDRแบบไหน, Color Space=ความกว้างของเฉดสีระดับไหน, Deep Color=รายละเอียดของการไล่สีว่าละเอียดขนาดไหนถ้าเป็นภาพธรรดาแบบSDRส่วนมากก็จะเป็น8bit /HDR10ก็จะเป็น10bit /แต่ถ้าเป็นDolby Visionก็จะเป็น12bit, Video Format=การเข้ารหัสของวิดีโอ, Video/Audio Bitrate=อัตราความเร็วการส่งข้อมูลของภาพและเสียง, Audio Format=รูปแบบของเสียง, Audio Channel=จำนวนแชลแนลของเสียง

รูปที่12 ปุ่มDISPLAYหน้าแรกแสดงรายละเอียดของข้อมูลแผ่น4Kที่กำลังเล่นอยู่

เมื่อกดลูกศรทิศทางลงก็จะเป็นข้อมูลของหน้าที่สองที่จะบอกถึงว่าเครื่องเล่นได้ส่งข้อมูลออกไปสู่จอภาพเป็นแบบไหน Resolution=เครื่องเล่นส่งรายละเอียดภาพออกไปจริงๆที่เท่าไร, Frame Rate=ความถี่ของภาพ, HDR Format=รูปแบบHDR, Color Space=ความกว้างของเฉดสี/Color Subsampling(4:4:4, 4:2:2ฯลฯ อย่างที่เคยอธิบายไว้แล้วสามารถหาอ่านได้จากบทความเดิมๆได้ครับ), Deep Color=รายละเอียดการไล่สี,Aspect Ratio=อัตราส่วนภาพ และAudio Format=รูปแบบเสียง

รูปที่13 ปุ่มDISPLAYหน้าที่สองแสดงรายละเอียดข้อมูลที่เครื่องเล่นส่งไปยังจอภาพ

และเมื่อกดลูกศรลงอีกครั้งก็จะเป็นหน้าสุดท้ายที่บอกข้อมูลสำคัญของHDRทำให้เรามีแนวทางการปรับtone mappingหรือความสว่างของภาพ ได้แก่ Mastering Display=บอกว่าแผ่นนี้ตอนทำMasterในpost productionนั้นใช้จุดสีขาว/แดง/เขียว/น้ำเงินที่ตำแหน่งในDiagram CIE xyที่เท่าไรเพื่อประโยชน์ในการCalibrateภาพ(โดยปกติก็จะใช้จุดสีขาวอยู่ที่D65หรือx=0.313/y0.329), Max./Min Light Level=บอกว่าในpost productionใช้จอที่ให้ความสว่างเท่าไรในการทำMastering, Max. Content Light Level(Max CLL)=ค่าความสว่างสูงสุดในหน่วยnits ของแต่ละpixel , Max.Frame-average Light Level(Max FALL)=เป็นค่าความสว่างสูงสุดในหน่วยnits เฉลี่ยทุกpixelของแต่ละframe, Electro-Optical Transfer Function=ในpost productionใช้gammaกราฟแบบไหนในการแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นระดับความสว่าง

รูปที่14 ปุ่มDISPLAYหน้าที่สามแสดงข้อมูลรายละเอียดของHDR

ได้เวลาทดสอบกับแผ่นจริงกันแล้ว เริ่มจากการกดปุ่มEjectเปิดแผ่นขึ้นมา ก็จะพบกับการเปิดปิดถาดที่มีความนุ่มนวลไม่กระโชกเสียงดัง ความเร็วในการเล่นแผ่นที่หลายคนยังติดภาพการเล่นแผ่นที่ช้าของเครื่องเล่นBlu-ray Pioneerในรุ่นก่อนๆนั้นดีขึ้นมาก เท่าที่ผมได้ลองทดสอบกับแผ่น4K และBlu-rayธรรมดาเทียบกับเครื่องเล่นOppo UDP203เครื่องเล่นที่ได้ชื่อว่าเล่นแผ่นได้เร็วมาก ผลที่ได้ตั้งแต่จับเวลากดปุ่มEjectจนถึงภาพเมนูปรากฏขึ้นบนจอ เป็นวินาทีระหว่างPioneer LX800:Oppo-UDP203ได้ดังนี้ครับ แผ่นภาพยนตร์ 4K Billy Lynn’s long halftime walk 50:33, Car3 39:26, Incredibles2 40:26 และคอนเสิร์ตCarole King(Blu-ray) 35:21 ซึ่งจากเวลาจะเห็นว่าถึงแม้จะต่างจากแชมป์เล่นแผ่นเร็วอย่างOppo แต่ก็ถือว่าไม่มากเกินไปจนรอไม่ได้เหมือนเครื่องรุ่นก่อน

รูปที่15 แผ่นที่ใช้ทดสอบ

มาถึงคุณภาพของภาพที่ออกมากันบ้าง เท่าที่ได้ลองจากหลายๆSource พบว่าพอเปิดภาพขึ้นมาดูแบบปกติไม่ได้เพ่งจับผิด ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาพที่ได้จากเครื่องเล่น4Kตัวนี้ให้สีสันสว่างสดใส(Brilliant Bright) มีความเนียนของสีดูเป็นธรรมชาติ ที่เด่นคือความคมชัดของภาพที่ให้ความคมชัดแม้กระทั่งในส่วนที่มืดของภาพ(IREต่ำๆ) การไล่เฉดสีทำได้ดี สีเนื้อมีความสมจริงเหมือนธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของภาพมีความSmoothไม่พบการกระตุก ส่วนเรื่องเสียงต้องบอกว่าจุดเด่นของเครื่องเล่นPioneer UDP-LX800นี้คือเรื่องของเสียง เสียงที่ออกมาจากเครื่องเล่นนี้ให้เนื้อเสียงของเสียงร้อง เสียงพูด ได้ดีสมจริง เสียงแหลมเช่นเสียงพูด เสียงsibilant soundไม่มีความคมกัดหู ความหนักเบาของเสียงให้ความเสมือนจริงเป็นธรรมชาติ รายละเอียดเสียงดีมากไม่ใช่ดีเฉพาะchannelsหน้านะครับ เสียงSurround เสียงImmersiveยังให้รายละเอียดได้ดีเลย สังเกตุเวลามีเสียงตบมือหลังเพลงจบนี้เสียงจะมีน้ำหนักและFocusที่ชัดเจนมาก

รูปที่16 ภาพที่ได้มีสีสันที่สว่างสดใส ดูเป็นธรรมชาติ ความคมชัดดี
รูปที่17 รายละเอียดของภาพทั้งในส่วนมืดและส่วนที่สว่างทำได้ดีมาก
รูปที่18 การไล่ระดับสีGrayscaleต่างๆทำได้อย่างยอดเยี่ยม
รูปที่19 ภาพจากแผ่นที่เป็น 4K HDR 60Hz การเคลื่อนไหวต่างๆทำได้smoothสมจริง
ภาพที่20 เสียงที่ออกมาให้เนื้อเสียงของเสียงร้อง เสียงพูด ได้ดีน่าฟัง

            สรุปเรียกได้ว่าเครื่องเล่นUniversal Disc Player Pioneer UDP-LX800ตัวนี้เป็นเครื่องเล่นที่อยู่ในระดับreferenceสำหรับการเล่นภาพและเสียงแบบ 4K HDR & Immersive Soundได้เลย และในขณะนี้ยังยากที่จะหาเครื่องเล่นแผ่น4K HDRในท้องตลาดมาเทียบเคียงคุณภาพของภาพและเสียงที่ออกมาจากเครื่องนี้ สำหรับใครที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณผมขอแนะนำเลยครับ

ภาพที่21 เครื่องเล่นUniversal Disc Player Pioneer UDP-LX800 ให้ภาพและเสียงที่ออกมาในระดับอ้างอิง
Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Pioneer UDP-LX800 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้