Article

Search

อย่าปรับ Sharpness มากเกินไป

ผมเคยเห็นหลายคนเวลาปรับโปรเจคเตอร์จะปรับค่าSharpnessไว้สูงมาก บางทีปรับไปถึง 80-90%กันเลย บางคนก็อาจจะมีคำถามว่า…อ้าวเวลาดูภาพก็อยากให้ภาพออกมาชัดๆ ยิ่งเป็นโปรเจคเตอร์ที่ดูไม่คมชัดเหมือนจอFlat panelอยู่แล้วการปรับค่าSharpnessไว้มากๆก็น่าจะเหมาะสมนะ ยังไงเดี๋ยววันนี้ลองมาดูกันว่าเวลาปรับsharpnessในโปรเจคเตอร์มีวิธีปรับยังไง แล้วควรปรับไว้ที่เท่าไหร่ ติดตามอ่านได้เลยครับ

การปรับSharpness และEdge Enhancement บางคนเห็นค่าในเมนูแล้วปรับให้สูงๆไว้เลย เพราะคิดว่าการปรับมากๆยิ่งทำให้ภาพชัดขึ้นสวยขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วการปรับการปรับค่าความชัดต่างๆไม่ว่าจะเป็น Sharpness, edge enhancement, detail enhancementหลักการก็คือการไปเปลี่ยนแปลงภาพในบริเวณที่เป็นจุดเปลี่ยนระหว่างส่วนมืดไปเป็นส่วนสว่าง ให้มีการเพิ่มขอบหรือเพิ่มhighlightเพื่อทำให้ภาพโดยรวมดูชัดขึ้นหรือบางทีก็เรียกว่าขึ้นขอบ แน่นอนการการปรับทางelectronicเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อภาพตามมาถ้าปรับมากเกินไปคือการเพิ่มnoiseขึ้นในภาพ ซึ่งภาพต้นฉบับจริงๆจะไม่มีnoiseตัวนี้อยู่ในภาพและถ้ามีมากเกินไปก็ทำให้ไปบัง บิดเบือนรายละเอียดของภาพบางส่วน และnoiseตัวนี้มักจะทำให้เห็นเป็นเงาขาวๆรอบเส้นสีดำหรือที่มักเรียกว่า”Halos”ดูแล้วขัดตา ดังนั้นการปรับค่าพวกนี้ก็ควรจะปรับเพียงเล็กน้อยทำให้เรารู้สึกได้ว่าภาพชัดขึ้นโดยไม่ส่งผลเสียหรือรบกวนต่อภาพต้นฉบับ หรือบางทีถ้าภาพต้นฉบับก็มีความคมชัดอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับเลยก็ยังได้

วิธีการปรับค่าsharpnessก็เลือกหาpatternหรือภาพที่เป็นตัวอักษรบนพื้นสีเทาอย่างภาพในตัวอย่างนี้เป็นpatternที่สามารถใช้ปรับsharpnessในแผ่นปรับภาพโดยทั่วไป การปรับก็ดูตรงตัวหนังสือหรือเส้นในภาพ ปรับค่าsharpnessเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเมื่อเห็นเป็นขอบสีขาวรอบๆเส้นสีดำ(Halos)ก็หยุดแล้วค่อยๆลดจนมองไม่เห็นขอบสีขาวนี้ ซึ่งโดยปกติการปรับsharpnessตรงนี้ปรับแค่10-20%ของscaleที่มีก็เพียงพอ หรือตั้งไว้ที่0ถ้าภาพมีความชัดอยู่แล้ว

อย่างที่ผมเคยพูดเสมอว่าวัตถุประสงค์ของการcalibrateภาพและเสียงในห้องhome theaterก็คือพยายามให้ภาพและเสียงออกมาใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังเขาต้องการสื่อให้มากที่สุดหรือก็คือทำให้ได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานที่ใช้อยู่ในห้องผลิตภาพยนตร์ เพื่อให้เราได้สัมผัสกับศิลปะที่คนทำหนังเขาบรรจงสร้างสรรค์มากที่สุด อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่องDune(2021) หนังที่ได้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้(2022)ถึง10สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสาขาด้านภาพBest Achievement in Cinematography โดยGreig Fraser(เกรก เฟรเชอร์)

หนังเรื่องนี้ได้ทดลองถ่ายด้วยฟิล์มหลายรูปแบบทั้ง 65mm, IMAX, 35mmแต่พอดูภาพ ผู้กำกับDenis Villeneuve(เดนิส วิลเนิบ)รู้สึกว่าภาพที่ออกมาดูไม่ค่อยทันสมัยดูแล้วเหมือนกำลังมองภาพที่อยู่ในอดีตเกินไป ไม่ได้อารมณ์หนังSci-Fi อย่างไรก็ตามเมื่อลองถ่ายทำด้วยกล้องแบบdigitalก็พบว่าถึงแม้ภาพจะออกมาดูร่วมสมัยมากขึ้นแต่ก็ดูแข็งและคมชัดเกินไป ความต้องการของเขาคือต้องการถ่ายทอดออกมาเหมือนเป็นภาพที่ยังดูทันสมัยแบบdigitalแต่ก็ยังมีความนุ่มนวลของภาพอยู่

และแล้วเพื่อให้ภาพออกมาตามที่ผู้กำกับต้องการ ภาพยนตร์เรื่องDune(2021)จึงได้ทำในสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นไม่เคยทำมาก่อนก็คือทำการถ่ายทำแบบdigitalแล้วtransferredไปยังฟิล์ม35mm เสร็จแล้วก็ทำการscanภาพจากฟิล์มกลับไปเป็นdigitalอีกที

โดยขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากซับซ้อนต่างๆเกี่ยวกับฟิล์มเหล่านี้ต้องส่งไปทำที่ CPC London แลปฟิล์มเพียงที่เดียวในโลกที่สามารถทำขั้นตอนเหล่านี้ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เพียงเพื่อให้ภาพในหนังเรื่องDuneออกมามีจุดเด่นของภาพในส่วนของdigitalและanalogรวมอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ตามความต้องการของผู้กำกับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความคมชัดที่มากเกินไปจากการไปปรับค่าsharpnessของภาพนอกจากจะส่งผลทำให้เกิดartifactต่างๆขึ้นในภาพแล้ว ก็ยังส่งผลทำให้ภาพต้นฉบับไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ของภาพตามที่ผู้กำกับต้องการได้อีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการปรับsharpnessเพียงเล็กน้อยหรือไม่ปรับเลยจะให้ผลลัทธ์ที่ดีที่สุด

(ข้อมูลและรูปภาพประกอบบางส่วนได้มาจากบทความ https://ymcinema.com/2021/12/03/dune-was-shot-on-alexa-lf-transferred-to-35mm-film-then-scanned-back-to-digital/)

P.S. ภาพยนตร์เรื่องDuneอาจจะเป็นหนังที่ดูยาก แนะนำว่าควรรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังบ้างก็จะทำให้ดูหนังได้สนุกยิ่งขึ้นเนื่องจากว่ามีตัวละครเยอะ รายละเอียดปลีกย่อยในส่วนของเนื้อหาก็เยอะมาก ถ้าไม่ได้เตรียมตัวเจอข้อมูลแบบนี้ก็จะทำให้หนังดูน่าเบื่อและไม่น่าติดตาม แต่ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้ผู้แต่ง แต่งไว้ดีและคลาสสิคมาก บางคนถึงกับบอกไว้เลยว่ามันคือ The Lord of the Ringsของหนังsci-fiเลยทีเดียว ใครไม่เคยดูลองหามาดู หรือใครเคยดูแล้วลองหามาดูอีกรอบครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ อย่าปรับ Sharpness มากเกินไป (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้