เรื่องการตั้งลำโพงในเครื่องPre-Processor หรือ AVR ผมเคยเขียนไว้ในนิตยสารAudiophile/Videophileเมื่อสี่ห้าปีก่อน ตอนนี้นักเล่นหน้าใหม่อีกหลายท่านก็ยังมีข้อสงสัยในหัวข้อเรื่องจะตั้งลำโพงที่ใช้ในห้องhome theaterเป็นlargeหรือsmallดี ศึกษามาก็มีหลายแนวคิดหลายหลักการเลยไม่รู้จะเลือกแบบไหน หรือแม้กระทั่งนักเล่นมากประสบการณ์บางท่านก็ยังมีความเข้าใจสับสนในเรื่องนี้อยู่ วันนี้ผมเลยเอาเรื่องนี้มาคุยกันอีกทีว่าจริงๆแล้วการตั้งค่าspeaker configurationในเครื่อง Pre-Processor หรือ AVRนั้นมันเป็นการบอกถึงอะไร แล้วจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อเสียงหรือความถี่ของเสียง โดยผมจะเอาคำถามที่มีคนสงสัยมากที่สุดที่เคยถูกถามมา 5ข้อเกี่ยวกับการตั้งค่าลำโพงมาให้ลองติดตามอ่านกันดูครับ
1.คำว่าSmall หรือLargeของลำโพงที่อยู่ในหัวข้อspeaker configuration หมายถึงอะไรและในการตั้งค่าแบบนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง?
ในเมนูของspeaker configurationที่เขาเขียนว่าลำโพงเป็นSmall หรือLarge นั้นมักจะทำให้คนสับสนและเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะคำว่า”Large” “Small”ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนาดของลำโพงหรือPhysical Sizeในแชลแนลนั้นตรงๆ การที่เราเลือกตั้งลำโพงเป็นSmallไม่ได้หมายความว่าลำโพงในแชลแนลนี้มีขนาดทางกายภาพเล็ก แต่มันหมายถึงAVRมีการจัดการความถี่ในแชลแนลนี้ให้ความถี่ต่ำหรือเสียงเบสที่อยู่ต่ำกว่าจุดcrossover frequencyถูกส่งไปยังลำโพงSubwoofer ซึ่งสัญญาณความถี่ต่ำที่ถูกตัดออกไปตรงนี้จะไปรวมกับสัญญาณจาก LFE channelกลายเป็นสัญญาณSubwoofer channelเพื่อส่งรวมกันไปยังSubwoofer ส่วนLarge หรือบางเครื่องใช้คำว่าFull-Band หมายถึงลำโพงในแชลแนลนั้นจะรับสัญญาณเสียงทั้งหมดFull-rangeที่ส่งมาในแชลแนลนั้นๆซึ่งปกติจะมีสัญญาณเสียงอยู่ตั้งแต่ 20-20,000Hz ส่วนลำโพงSubwooferก็ให้รับข้อมูลจากLFE channelอย่างเดียวเพียวๆไม่มีการตัดความถี่จากช่องสัญญาณchannelเสียงอื่นๆมาเพิ่ม

เพื่อความเข้าใจมากขึ้นลองดูไดอะแกรมประกอบ ในรูปที่1เป็นการปรับspeaker configurationแบบ Large หรือFull-Band จะเห็นได้ว่าสัญญาณที่ถูกบันทึกมาในระบบ7.1 สัญญาณเสียงfull-rangeทั้งหมดของmain speakerจะถูกส่งออกไปยังลำโพงmainทั้งหมดไม่มีการตัดออก รวมถึงแชลแนลของLFEที่เป็น .1 ก็จะถูกส่งต่อตรงๆไปยังSubwooferเลยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับการตั้งลำโพงเป็นsmallในรูปที่2 สัญญาณเสียงแบบfull-rangeของลำโพงmainก็จะถูกตัดไปเป็นสองส่วนตรงตำแหน่งcrossover pointที่ตั้งเอาไว้ โดยสัญญาณเสียงที่สูงกว่าตำแหน่งcrossoverก็จะถูกตัดแบบHigh pass filers(HPF)เพื่อส่งไปยังลำโพงmain ส่วนสัญญาณเสียงที่ต่ำกว่าก็จะถูกตัดโดยLow pass filters(LPF)เข้าไปรวมเข้ากับสัญญาณเสียงLFE กลายเป็นsubwoofer channelเพื่อส่งไปยังSubwoofer ต่อไป ดังนั้นสัญญาณเสียงที่ไปยังsubwooferตอนนี้ก็จะมีทั้งเสียงเบสจากLFEเองรวมกับเสียงความถี่ต่ำจากแชลแนลหลักอื่นๆด้วย ซึ่งการตั้งค่าลำโพงแบบsmallนี้ก็คือการตั้งค่าที่เรียกว่าBass Managementนั่นเอง

2.แล้วการตั้งSubwoofer mode เช่นในเครื่องยี่ห้อDenon, Marantzจะให้เลือกเป็นLFE/LFE+Main หรือในเครื่องOnkyoใช้คำว่าDouble Bass(ยี่ห้ออื่นอาจจะใช้คำต่างจากนี้) หมายถึงอะไรและมีผลต่อสัญญาณเสียงอย่างไรบ้าง?
ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าสมมุติถ้าเราตั้งลำโพงเป็นLarge แล้วเลือกSubwoofer modeเป็นLFE สัญญาณเสียงก็จะเป็นไปตามรูปไดอะแกรมที่1 ดังนั้นก็จะไม่มีการตั้งค่าcrossoverแต่อย่างไรเพราะไม่มีการตัดความถี่ใดๆ แต่เมื่อไรที่ตั้งค่าลำโพงเป็นLargeแล้วเลือกSubwoofer modeเป็นLFE+Main (ในOnkyoจะเป็นเปิดการใช้Double Bass) เมื่อเลือกดังนี้ก็จะทำให้สามารถตั้งค่าcrossover pointสำหรับลำโพงmainได้ ซึ่งความจริงแล้วcrossover pointตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นcrossoverแบบจริงๆเพราะว่าลำโพงmainก็ยังจะได้รับสัญญาณความถี่ต่ำแบบFull-rangeอยู่ แต่การตั้งcrossover pointตรงนี้จะเป็นการใส่LPFเพื่อcopyสัญญาณความถี่ต่ำที่อยู่ต่ำกว่าcrossover pointออกไปรวมกับLFE channelกลายเป็นsubwoofer channel ดังนั้นเมื่อตั้งลำโพงเป็นLargeและSubwoofer modeเป็น LFE+Main ความถี่ต่ำที่อยู่ต่ำกว่าcrossoverก็จะออกทั้งลำโพงmainและsubwooferพร้อมกัน(ถ้าลำโพงmainสามารถแสดงความถี่ต่ำนั้นได้) แต่ถ้าตั้งลำโพงเป็นsmallก็จะทำให้สามารถเลือกค่าcrossover pointได้ตรงไปตรงมาอยู่แล้วซึ่งความถี่ที่ต่ำกว่าcrossover pointก็จะถูกตัดไปรวมกับLFE channelดังไดอะแกรมภาพที่2 โดยถ้าตั้งเป็นLFE+Main เสียงความถี่ต่ำของลำโพงmainก็จะไปรวมกับLFEทุกแชลแนล ส่วนถ้าตั้งเป็นLFEก็จะส่งสัญญาณความถี่ต่ำจากmainไปรวมกับLFEเฉพาะลำโพงที่ตั้งเป็นsmall ส่วนลำโพงที่ตั้งเป็นlargeก็จะไม่ได้ถูกตัดไปรวมกับLFE

3. การตั้งค่าSpeaker Configurationเป็นSmall ทั้งๆที่ลำโพงแชลแนลนั้นใช้ลำโพงTowerตัวใหญ่ แสดงว่าเราใช้งานลำโพงmainตัวนั้นไม่คุ้ม ซื้อลำโพงตัวเล็กๆมาใช้งานแทนก็จะได้ผลเหมือนกันเพราะความถี่ต่ำถูกตัดออกไปทำงานที่Subwooferหมดแล้ว?
อันนี้เป็นคำถามที่เจอบ่อยมาก และทำให้นักเล่นบางท่านเขวได้ง่ายว่าเอ่อ จริงๆลำโพงซื้อลำโพงตัวตั้งใหญ่เพื่อใช้ในห้องhome theaterแล้วให้ไปตั้งทำไมว่าเป็นลำโพงเล็กช่างไม่ให้เกียรติลำโพงเลย555 อันนี้ก็ต้องบอกไว้อย่างที่แจ้งไว้ในตอนแรกว่าการตั้งค่าลำโพงในAVRว่าsmall หรือ largeนั้นไม่ได้หมายถึงPhysical Sizeของลำโพง แต่เป็นการบอกการจัดการความถี่ของสัญญาณเสียงในแชลแนลนั้นๆ ซึ่งถ้าย้อนไปดูในไดอะแกรมรูปที่2ที่มีการตัดความถี่เป็นแบบbass managementอีกที จะเห็นว่าการตัดความถี่ไปที่ลำโพงmainนั้นจะตัดไปที่ความชันระดับ 12dB/octave ส่วนการตัดไปที่ลำโพงsubwooferจะตัดที่ความชัน 24dB/octave การตัดความชัน12หรือ24 dB/octavesหมายถึงจะมีการลดความดังลง12หรือ24dB ในช่วงขั้น1ขั้นความถี่หรือOctave ที่แต่ละOctaveจะแบ่งออกเป็นOctave Bands …31.5Hz, 63Hz, 125Hz, 250Hz, 500Hz, 1KHz, 2KHz, 4KHz … ดังนั้นการตัดความถี่crossoverลำโพงmain12dB/octaveของHPFที่ใช้ในเครื่องAVRทั่วไปหรือเครื่องที่เป็นTHX certified จึงเป็นการตัดที่ชันน้อยกว่าการตัดLPFของsubwooferที่ตัดเป็น24dB/octave ความดังของลำโพงmainที่อยู่ใต้ต่อจุดcrossover pointก็ยังจะได้รับสัญญาณเสียงเบสอยู่เพราะการตัดไม่ได้ตัดแบบหายไปเลยแต่เป็นการตัดที่ค่อยๆน้อยลงไป ดังนั้นใครที่ใช้ลำโพงตัวใหญ่ สามารถลงความถี่ได้ลึกจึงได้ประโยชน์จากตรงนี้ นึกถึงเวลาเปิดเสียงดังระดับpeakที่ความถี่ต่ำระดับ 115dB ยังไงการลดลงของความดัง12dB/octaveในความถี่ต่ำ ลำโพงก็ยังต้องให้ความดังระดับ90-100dBอยู่ ลำโพงที่ตัวใหญ่กว่า สามารถทนloadที่สูงและไม่เกิดความเพี้ยนจึงจัดการความถี่ในช่วงที่มีการเกยกันของสัญญาณจากลำโพงmainและsubwooferได้ดีกว่า ความเพี้ยนก็น้อยการเกิดphase shiftต่างๆก็น้อยกว่าทำให้การทำงานประสานกันระหว่างลำโพงmainและsubwooferได้ดีไร้รอยต่อ ดังนั้นใครที่บอกว่าซื้อลำโพงใหญ่ๆมาใช้ในงานhome theaterแล้วมาตั้งเป็นsmallจะไม่ได้ประโยชน์นั้นก็ต้องกลับไปคิดถึงจุดนี้ด้วย นอกจากจุดแข็งที่ว่าลำโพงใหญ่จะให้เสียงที่ดังกว่า เพิ่มhead room,dynamicของเสียงในห้องได้มากกว่าลำโพงเล็ก โดยเฉพาะในลำโพงFront Left Center Rightที่ส่วนมากจะต้องรับloadสูงมากกว่าลำโพงSurroundอื่นๆ
พูดง่ายๆก็คือเราก็ยังได้ยินเสียงเบสออกจากลำโพงmainอยู่เมื่อตั้งลำโพงmainเป็นSmall ส่วนการตัดความถี่LPF ที่ตั้งไว้ชันกว่าสำหรับsubwooferเป็น 24dB/octaveก็เพื่อให้เสียงความถี่ต่ำที่ออกจากsubwooferที่อยู่สูงกว่าจุดcrossover pointเล็ดลอดออกไปน้อยที่สุด เพราะเป็นเรื่องของPsychoacousticsที่ถ้ามีความถี่สูงกว่า 120Hz หูและสมองของมนุษย์เราก็จะสามารถระบุตำแหน่งที่มาของเสียงได้ง่ายกว่า ทำให้สามารถรับรู้ตำแหน่งที่วางของsubwooferได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการในห้องhome theater

4. ต้องตั้งลำโพงเป็นLargeหรือไม่ใช้Bass Managementเพื่อให้เสียงออกมาตรงตามแผ่นblu-rayที่บันทึกมาเป็นFull rangeทุกแชลแนล และก็จะทำให้เสียงที่ออกมาในห้องhome theaterของเราเหมือนกับในโรงภาพยนตร์ หรือเหมือนกับในห้องPost Production Studio?
ถ้าจะตอบคำถามในเรื่องนี้ก็คงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่มีสำคัญมาเกี่ยวข้อง และต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยเพื่อให้การตั้งค่าspeaker configurationมีความถูกต้องเหมาะสมในห้องhome theater คราวนี้ลองมาเริ่มด้วยปัจจัยเรื่องลำโพงที่ใช้กันก่อน การที่จะตั้งลำโพงเป็นLarge และ subwoofer modeเป็น LFE(ไม่มีการใช้bass management ตรงตามแผ่นที่บันทึกมา) ลำโพงแต่ละแชลแนลที่ใช้ต้องเป็นลำโพงที่ตอบสนองความถี่ลงได้ลึกถึง 20Hz เพราะแต่ละแชลแนลที่ถูกบันทึกมานั้นจะบันทึกมาแบบfull rangeคือ 20-20,000Hz กันเลย ยกเว้น LFE channel หรือ .1 channel ที่จะถูกบันทึกมาในแผ่นโดยทั่วไปอยู่ที่ 20 -120Hz เพราะถ้าลำโพงไม่สามารถตอบสนองความถี่ได้ตามสัญญาณที่ส่งออกมา เสียงความถี่ต่ำที่ออกมาในความถี่ที่ต่ำกว่าที่ลำโพงสามารถรองรับได้ก็จะถูกroll offให้ต่ำลงหรือหายไปเลยถ้าลำโพงไม่สามารถเล่นความถี่ระดับนี้ได้ ถ้าเป็นแบบนี้วิธีการที่ยังอยากให้ความถี่เสียงยังอยู่ครบก็คือเลือกsubwoofer modeเป็นLFE+Main,Double Bassหรือก็คือการใช้bass managementเพื่อcopyสัญญาณความถี่ต่ำที่ต่ำกว่าcrossover pointไปรวมกับLFE channel เพื่อส่งไปยังsubwoofer ทำให้subwooferช่วยเล่นความถี่ที่ต่ำกว่าลำโพงmainหลักจะเล่นได้ แต่การจะเลือกแบบนี้ก็ต้องระวังเรื่องการซ้อนทับของความถี่ต่ำที่ลำโพงmainก็ยังเล่นได้ ที่จะเล่นพร้อมกับsubwooferทำให้เสียงเบสในบางความถี่มีมากเกินไป ซึ่งก็คงต้องอาศัยการใช้Audio Spectrum Analyzerวัดดูความsmooth ของlevelความถี่ต่ำร่วมด้วย ซึ่งถ้าในเคยอ่านคู่มือของAVRหรือPre-Processorที่บางทีเขาจะระบุข้อควรระวังเอาไว้เลยว่า”If Speaker Config – Front and Center are set to Large and Subwoofer Mode is set to LFE, no sound may be output from the subwoofers” แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ถ้าการตั้งลำโพงหน้าและลำโพงเซ็นเตอร์เป็น Large และตั้งsubwoofer modeเป็น LFE ก็อาจจะไม่มีเสียงออกจากsubwooferได้” ทั้งนี้ก็เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าถ้าตั้งค่าแบบนี้ความถี่ที่ลำโพงMainโดยเฉพาะลำโพงหน้าไม่สามารถลงไปถึงได้ก็จะไม่ส่งลงไปยังSubwoofer Channelทำให้ลำโพงsubwooferเหลือแต่ข้อมูลจากLFEซึ่งบางทีมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีในหนังบางเรื่อง เลยทำให้ไม่มีเสียงออกจากsubwooferได้ และอีกอย่างหนึ่งที่เวลาอ่านspecของลำโพงก็อาจจะถูกSpecของลำโพงหลอก การที่แจ้งไว้ในspecว่าลำโพงรุ่นนี้ รุ่นนั้น ลงความถี่ได้ลึกถึงเท่านี้ ซึ่งลำโพงอาจจะลงความลึกได้จริงอย่างที่แจ้งไว้ แต่ความดังหรือพลังงานที่ออกมานั้น เป็นพลังงานที่เพียงพอสำหรับงานhome theaterที่ต้องloadสูงมากในช่วงที่เสียงถูกอัดมาช่วงpeakของreference level(115dB for low frequency)หรือเปล่า และบางทีการใช้Auto-Calibrateที่อยู่ในเครื่อง ปล่อยpink noiseเพื่อวัดความสามารถลำโพง เครื่องก็วัดแต่ความลึกที่ลำโพงทำได้ไม่ได้คำนึงถึง ความดังว่าจริงๆแล้วลำโพงMainสามารถทำความดัง หรือสามารถตอบสนองDynamicของเสียงได้ตามที่บันทึกมาหรือเปล่า นอกจากนี้เราก็ต้องคำนึงถึงPower Amplifierที่จะมาขับลำโพงพวกนี้ด้วยว่าแรงจะพอขับเพื่อใช้ในงานHome theaterที่ต้องการDynamicที่กว้างและความดังซึ่งบางทีอาจจะpeakถึง105dB หรือถ้าเป็นความถี่ต่ำก็อาจจะถึง115dB ได้ เมื่อดูจากตารางที่เคยมีการทดลองวัดทดสอบดูจะพบว่าถ้าเอาความดังระดับ 105dBที่ห่างลำโพงหนึ่งเมตรต้องใช้Amplifierที่มีกำลังไม่ต่ำกว่า 500watt ไม่อยากคิดว่าถ้านั่งห่างลำโพงสักสามสี่เมตรต้องใช้กำลังPower Amplifierขนาดเท่าไหร่ถึงจะทำให้เสียงมันไม่เกิดdistortionที่ความดังระดับนี้ได้ ดังนั้นปล่อยให้subwooferเขาเอาไปจัดการความถี่ต่ำพวกนี้โดยการตั้งลำโพงเป็นsmallหรือตั้งsubwoofer modeเป็น LFE+main จะเหมาะสมกว่าsystemจะได้มีdynamics กับ headroomที่กว้างมากขึ้น


เรื่องต่อมาที่ต้องให้ความสนใจคือเรื่องAcousticsของห้องhome theaterขนาดเล็กจะไม่เหมือนกับห้องขนาดใหญ่เช่นโรงภาพยนตร์ หรือห้องpost production เนื่องจากว่าห้องขนาดเล็กสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความถี่ต่ำคือเรื่องของroom modeหรือstanding wave ที่เกิดจากการสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างผนังต่างๆ ในขณะที่ห้องขนาดใหญ่เรื่องของroom modeจะมีปัญหาน้อย และมีอิทธิพลลดลงเนื่องจากเสียงความถี่ต่ำที่มาถึงตำแหน่งนั่งฟังเป็นdirect soundมากกว่าเสียงสะท้อนจากผนัง ส่วนroom modeที่เกิดจากการสะท้อนก็จะเกิดการramdomize กันจนไม่เกิดroom modeที่ความถี่ใดความถี่หนึ่ง สิ่งที่สังเกตง่ายๆในห้องฟังขนาดเล็กที่มีเรื่องของroom modeเข้ามาก็คือความไม่สม่ำเสมอของเสียงความถี่ต่ำภายในห้อง ที่เวลาเราเปลี่ยนตำแหน่งนั่งฟังไปเพียงเล็กน้อยเสียงความถี่ต่ำก็จะแตกต่างกันมาก บางตำแหน่งเสียงความถี่ต่ำบางความถี่ก็จะเป็นdipหายไปเลย บางตำแหน่งก็จะpeakสูงบูมขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ทำให้หลายคนมโนไปว่ามันคือ”จุดตกของเสียงเบส”ก็ต้องบอกเลยว่าacousticsของห้องขนาดเล็กนั้นมันไม่มีจุดตกเสียงเบส ที่ได้ยินเสียงหายไปบางตำแหน่งและเสียงดังขึ้นในบางตำแหน่งมันเป็นผลจากroom modeที่เกิดจากเสียงความถี่ต่ำสะท้อนกับผนังห้องไปมา อย่าไปสับสนกับacousticsของงานกลางแจ้งหรือในTheater/Arenaขนาดใหญ่ที่เสียงจะมีตำแหน่งเดินทางไปถึงแล้วlevelพอดีและค่อยๆลดลงไปจากการสูญเสียพลังงานไปในอากาศ ดังนั้นตำแหน่งsubwooferในห้องhome theaterจึงมีความสำคัญในการแก้ไข หรือเป็นการทำให้room modeในห้องนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น การวางSubwooferในตำแหน่งที่ดีก็จะช่วยแก้ไขroom modeในห้องให้ลดความรุนแรงของroom modeลง



แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียผมเลยรวบรวมข้อดีข้อเสียของการใช้Bass Managementเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น สามารถเลือกspeaker configurationได้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ และสภาพสิ่งแวดล้อมของห้อง ของอุปกรณ์ได้มากขึ้น
ข้อดีของการตั้งลำโพงเป็นSmall(Bass Management)
- มีอิสระในการวางตำแหน่งลำโพงหน้าซ้าย กลาง ขวา(More freedom in mains placement) เนื่องจากตำแหน่งการวางลำโพงmainจะได้ให้มุ่งเน้นความสนใจไปที่speaker imageหรือตำแหน่งfocusของเสียงที่ดี ไม่ต้องกังวลถึงถึงตำแหน่งที่bass responseดีที่สุดเพราะตำแหน่งดีสำหรับการตั้งsubwooferเพื่อลดความรุนแรงของroom mode อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมของลำโพงmain channelsต่างๆเช่นตำแหน่งsubwooferของห้องนี้อาจจะเหมาะสมวางไว้มุมห้อง หรือกลางผนังจุดใดจุดหนึ่งในห้อง ซึ่งตำแหน่งนี้บางทีก็ไม่ใช่ตำแหน่งที่ถูกต้องในการวางลำโพงmainเพื่อให้ได้sound imageหรือfocusที่ดี แต่บางท่านอาจจะสงสัยว่าอ้าวแล้วทำไมในบางห้องที่เป็นapproved studioหรือโรงภาพยนต์เขาถึงสามารถsetลำโพงแบบFull rangeได้ อันนี้ต้องแยกเป็นสองประเด็น อย่างแรกคือเรื่องของขนาดของห้อง ที่ผมพูดอยู่เสมอว่าAcousticsในห้องขนาดใหญ่ จะไม่เหมือนกับAcousticsในห้องขนาดเล็กดังนั้นการจัดการกับเสียงในห้องที่มีAcousticsต่างกันเลยต้องมีวิธีที่ต่างกันเพื่อให้ได้ผลลัทธ์เหมือนกัน เมื่อขนาดของห้องใหญ่ขึ้นAcousticsของห้องจะเปลี่ยนไปทำให้ความสำคัญของStanding Waveหรือroom modeในความถี่ต่ำจะลดลง ดังนั้นความสำคัญของตำแหน่งการวางSubwooferจึงลดลง อีกเรื่องหนึ่งถึงแม้จะเป็นห้องที่มีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ถ้ามีการวางแผนจัดการกับความถี่ต่ำภายในห้องอย่างดี มีประสิทธิภาพแล้ว การตอบสนองต่อความถี่ต่ำก็จะดีถึงแม้จะConfigurationลำโพงเป็นFull Range อย่างเช่นห้องที่เป็นห้องProfessional Studioต่างๆที่มีต้นทุนในการทำห้องสูงกว่าห้องhome theaterทั่วไปมาก มีการคำนวณขนาดห้อง รูปร่างห้องมาเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันเรื่องของstanding wave ผนังห้องต่างๆมีการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อลดพลังงานของเสียงที่ออกมาจากผนังไม่ว่าจะเป็นการใช้Isolation Clip, การใช้ยางdampที่ผนัง, วัสดุBass treatmentต่างๆที่มีคุณภาพเป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้เสียงที่สะท้อนกลับเข้ามาในห้องที่เป็นต้นกำเนิดstanding waveลดความรุนแรงลงทำให้การตอบสนองต่อเสียงต่ำภายในห้องดีมากขึ้น จึงสามารถใช้ลำโพงที่เป็นfull rangeได้
- ลำโพงทุกตัวในระบบจะมีเสียงความถี่ต่ำที่ใกล้เคียงกัน(All speaker exhibit similar bass response)เนื่องจากเสียงความถี่ต่ำจากลำโพงmainทุกตัวจะมารวมกับLFEออกมาเป็นSubwoofer channelรวมส่งไปยังsubwooferที่เดียว จึงทำให้เสียงความถี่ต่ำของทั้งระบบมาจากSubwooferเหมือนกัน ลำโพงทุกchannelsมี bass responseที่เหมือนกันซึ่งจะทำให้ความต่อเนื่องของเสียงในchannelsต่างๆทำได้ดีกว่า
- ทำให้ลำโพงSurroundมีกำลัง มีhead roomเพิ่มมากขึ้น(Add power for surrounds) จากเดิมที่ลำพังตัวลำโพงSurroundจะมีขนาดไม่ใหญ่เหมือนลำโพงหน้าทั้งสามตัว
- แบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งของความถี่ต่ำจากลำโพงหลัก(Mains experience less woofer fatigue) ไปยังsubwooferที่มักจะมีกำลังในการขับเสียงต่ำดีกว่าลำโพงmain ทำให้wooferของลำโพงmainมีfatigueหรือความล้าจากการทำงานหนักลดลง เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับในห้องpost production facility, dub stage, composer roomฯลฯ ต่างๆที่บางทีต้องใช้งานกันมากกว่า 20ชั่วโมงต่อวันเป็นเดือนๆ อย่างห้องของBob Hodas คนที่ทำการtuning ห้องprofessional studioเหล่านี้เขาก็บอกว่าห้องpost productionขนาดเล็กที่เขาcalibratedมากกว่าร้อยละ 90ใช้configurationแบบBass management
ข้อเสียของการตั้งลำโพงเป็นLarge(ใช้Bass Management)
- มีPhase cancellationที่ตำแหน่งcrossover pointเนื่องจากระยะทางที่แตกต่างกันของSubwooferกับลำโพงMain(Phase cancellation at X over point due to differing speaker distances from subwoofer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในห้องมีsubwooferแค่ตัวเดียว เช่นในระบบไม่ว่าจะเป็น 7.1, 5.1, 7.1.4 หรือmulti channelsแบบไหนๆ arrival timeที่มาถึงของเสียงจากลำโพงต่างๆจะไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อมาเจอกับเสียงความถี่ต่ำก็อาจจะเกิดphase cancellationได้ถ้าลำโพงบางตัวมีphaseไม่เข้ากับsubwooferในตำแหน่งcrossover point
- เกิดphase delayระหว่างการรวมกันของลำโพงsubwooferและลำโพงmain(Additional crossover distortion and phase delay) ทำให้เกิดความเพี้ยนตรงบริเวณcrossover pointซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการใช้bass management
- การแพนเสียงความความถี่ต่ำไม่สมจริง(Low frequency effects panning is ineffective in surrounds) เช่นเราวางsubwooferไว้ด้านหน้า แต่การแพนเสียงของSurroundไปอยู่ด้านหลังถ้ามีการตัดcrossoverที่สูงมากเกินไปก็จะทำให้imageของเสียงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามถ้าทำการตัดcrossoverไม่ไห้สูงเกินไปในการsetแบบbass management และมีการทำphase alignmentระหว่างSubwooferและลำโพงmainให้มีทั้งการin phaseและ in timeในบริเวณcrossover point พบว่าระหว่างการsetแบบFull rangeและBass management จะไม่เห็นความแตกต่างกันในเรื่องของเสียงเบสที่ไม่ไปตามการแพนเสียงของลำโพงหลักแต่อย่างไร

5.การตั้งค่าspeaker configurationของลำโพงที่เหมาะสมในห้องhome theater ควรจะตั้งลำโพงเป็นsmallทุกแชลแนลและตั้งจุดจัดความถี่อยู่ที่ 80Hz ตามที่THXแนะนำเท่านั้นใช่หรือไม่?
อันนี้ต้องตอบว่าไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างทั้งความแตกต่างในอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ไม่เหมือนกัน อีกทั้งความแตกต่างในโครงสร้าง ขนาด รูปร่าง ของห้องต่างๆที่ไม่เท่ากันการตอบสนองต่อเสียงต่างๆก็ไม่เหมือนกัน แต่ต้องถือว่าการตั้งลำโพงเป็นsmall และจุดตัดความถี่เป็น 80Hzเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เรียกได้ว่า 80%-90%ของห้องทั่วๆนั้นใช้ได้เลย เหตุผลว่าทำไมต้องตั้งเป็นsmallก็ได้ตอบไว้แล้วในคำถามข้างต้น แล้วทำไมต้อง80Hzนั้นพื้นฐานก็มาจากความรู้ที่ว่าการรับรู้ของเสียงของหูมนุษย์ที่ศึกษามาแล้วพบว่าความถี่ที่ต่ำกว่า120Hz จะเป็นแบบไม่มีทิศทาง(non-directional) หูของคนเราไม่สามารถจับทิศทางต้นกำเนิดของเสียงได้ ดังนั้นเช่นถ้าเราตัดcrossover pointของลำโพงsurroundไว้ต่ำกว่า120Hz ความรู้สึกว่าเสียงeffectนั้นมันก็ยังให้ความรู้สึกว่าเสียงทั้งหมดมาจากลำโพงsurroundอยู่ดี อันนี้ต้องขอบคุณหลักการของpsycho acousticsที่ช่วยทำให้Home theaterมีความง่ายขึ้น ส่วนการกำหนดว่าทำไมต้องเป็นcrossover point ที่80Hzนั้น อันนี้เป็นเพราะTHX ได้มีการศึกษา และทดลองในหลายๆด้านแล้วพบว่าตำแหน่งที่ความถี่80Hz เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ไม่เสมอไปเช่นในระบบลำโพงsatellite หรือ Home theater in the box ที่มีลำโพงขนาดเล็กมากๆ เส้นผ่าศูนย์กลางdriverแค่ 3-4นิ้ว เราก็อาจจะตัดที่ความถี่ประมาณ100Hz หรือมากกว่าได้เนื่องจากว่าลำโพงขนาดเล็กอาจจะhandleความถี่ต่ำพวกนี้ไม่ไหว แต่ยังไงควรจะต้องน้อยกว่า120Hz เพราะถ้าสูงเกินนี้หูเราก็จะเริ่มจับตำแหน่งsubwooferได้แล้ว ทางที่ดีลำโพงเล็กๆพวกHome theater in the boxเหล่านี้ควรต้องดูคู่มือที่แถมมากับลำโพงว่าเขาแนะนำให้ตัดความที่crossover pointใดถึงจะเหมาะสมกับลำโพงเขามากที่สุด หรือถ้าลำโพงแต่ละchannelมีขนาดต่างกันเราก็อาจจะปรับ crossover pointแยกอิสระให้ต่างกันในแต่ละchannelได้ แต่ไม่ควรให้crossover pointเหล่านี้มีค่าต่างกันเกิน +/-20Hz เพื่อให้แน่ใจว่าsubwooferจัดการรวบรวมความถี่ต่ำเหล่านี้ง่าย จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความsmoothของความถี่ต่ำที่วิ่งไปมาแต่ละแชลแนลต่อเนื่องมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นคำถามที่หลายคนมีความสงสัยบ่อยในเรื่องของการตั้งค่าSpeaker Configurationของเครื่องPre-Processor/AVR ในห้องhome theater ซึ่งในที่สุดแล้วจะตั้งแบบไหนถึงจะเหมาะสม หรือว่าให้ผลที่ดีที่สุดในห้องของเราก็คงต้องพิจารณาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายอย่างดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และถ้าได้เข้าใจในพื้นฐานว่าตั้งอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะมีผลต่อเสียงอย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละSystemได้