Article

Search

The Dedicated Home Theater

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆห้องDedicated Home Theaterก็หมายถึงห้องดูหนังภายในบ้านที่ถูกทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อเป็นห้องสำหรับดูหนังจริงๆ สำหรับใครก็ตามที่มีความชื่นชอบ หลงไหลในการดูภาพยนตร์ภายในบ้าน ห้องแบบนี้ไม่ได้หมายถึงห้องนั่งเล่นหรือห้องอรรถประโยชน์ขนาดใหญ่ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่างในห้องเดียวกันที่บางทีจะใช้ทั้งนั่งเล่น ดูละคร ดูหนัง เล่นเกมส์หรือแม้กระทั่งกินข้าวในห้องนี้ แบบที่ฝรั่งเขาเรียกห้องแบบนี้กันว่าMultipurpose Room แต่ห้องDedicated Home Theaterจะมีการวางแผนและออกแบบอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างห้องเพื่อให้สมาชิกภายในบ้านได้รับประสบการณ์การดูหนังที่สุดยอดทั้งภาพและเสียง ซึ่งในปัจจุบันถ้าจะพูดถึงห้องdedicated home theater ก็มักจะบรรจุเทคโนโลยีด้านภาพและเสียงอย่างทันสมัยเอาไว้ด้วยอย่างเช่น

  • จอภาพที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี หรือจอโปรเจคเตอร์แบบ 4K ที่มีความละเอียดมากกว่าระบบภาพแบบ 1080P มากกว่าสองเท่า รวมถึงบางห้องอาจจะรองรับการstreaming ภาพยนตร์แบบ4K HDRจากผู้ให้บริการหนังออนไลน์ที่มีอยู่อย่างมากมาย การที่ภาพมีรายละเอียดมากขนาดนี้จึงทำให้ห้องdedicated home theaterสามารถใช้จอขนาดใหญ่แบบเต็มฝาผนังได้สบายถูกใจคอหนังจอยักษ์แบบIMAXมาก แน่นอนว่าการจะทำห้องแบบนี้ได้ต้องมีการคำนวณขนาดจออย่างถูกต้องเหมาะสมเข้ากับเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ใช้ ตำแหน่งของจอสูงขนาดไหน ระยะนั่งดูต้องห่างเท่าไร เครื่องโปรเจคเตอร์ต้องแขวนห่างจากจอเท่าไร รวมถึงเก้าอี้ที่ใช้ในห้องไม่ว่าจะทำที่นั่งดูแบบเป็นแถวเดียวหรือหลายแถว ก็ต้องหาเก้าอี้ดูหนังแบบที่นั่งแล้วให้ความสบายไม่ส่งผลเสียต่อacousticของเสียงในห้อง
  • ระบบเสียงต้องทำให้ดูหนังแล้วรู้สึกว่าอินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหนัง โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุคของระบบเสียงแบบImmersive Soundไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงแบบ Dolby Atmos, DTS-X หรือ Auro3D ถ้ามีการออกแบบ จัดวางลำโพงได้อย่างถูกต้องเหมาะสมก็จะเอื้อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์เสียงแบบสมจริงได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนที่เป็นแค่ระบบ2.1หรือ 5.1แชลเนลเท่านั้น
  • มีการออกแบบสิ่งแวดล้อมในห้องไว้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นระบบแสงไฟภายในห้องที่นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ความสะดวกในการเปิดปิด การหรี่ไฟ เนื่องจากห้องhome theaterในขณะที่ดูหนังห้องจะต้องมืดที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ภาพจากจอภาพมีความสมบูรณ์ ระบบระบายอากาศระบบทำความเย็นก็ต้องคำนึงถึงเสียงที่อาจจะดังมากเกินไปจนรบกวนเสียงของห้องโดยรวมหรือที่เรียกกันว่าnoise floor รวมถึงระบบไฟฟ้าของระบบเหล่านี้ก็ต้องระวังในเรื่องเข้าไปกวนกันกับระบบไฟฟ้าของระบบเครื่องเสียงที่ใช้อยู่
  • มีการจัดการกับระบบเสียงรบกวนทั้งจากภายนอกห้องเข้าไปภายในห้อง หรือเสียงจากภายในห้องออกไปกวนส่วนอื่นๆภายในบ้าน ซึ่งจะต้องมีการวางแผนกันตั้งแต่ก่อนจะสร้างห้องขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเป็นผนังหลายๆชั้น มีการบุด้วยวัสดุกันเสียงแบบต่างๆภายในผนัง การตัดตอนเสียงความถี่ต่ำที่จะออกไปตามโครงสร้างแข็งที่ต่อกันโดยการใช้วัสดุพวกยางหรือisolation clipเพื่อแยกโครงสร้างภายในห้องออกจากโครงสร้างอื่นๆของบ้าน เหล่านี้ก็จะทำให้เสียงที่อยู่ในห้องมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและเสียงภายในห้องhome theaterก็จะไม่ออกไปกวนข้างนอก
  • อาจจะออกแบบให้ห้องdedicated home theaterมีความสวยงาม มีการสร้างเป็นThemeของห้องขึ้นมาว่าเจ้าของห้องอยากจะสื่อแนวคิดอะไรออกไป เช่นบางห้องเจ้าของห้องมีความชื่นชอบในภาพยนตร์บางเรื่อง หรือชอบตัวละครบางตัวในภาพยนตร์ ก็จะแต่งห้องให้เป็นthemeของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ที่พบได้บ่อยๆก็คือแนวSuperheroที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นBatman, Superman, Captain Ameria เป็นต้น ในเมืองไทยผมก็เริ่มเห็นทำห้องในลักษณะแบบนี้มากขึ้น คิดว่าอีกหน่อยคงได้รับความนิยมเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ที่ถึงกับมีการประกวดห้องในลักษณะแบบนี้อยู่เป็นประจำ

พูดถึงห้องแบบDedicated home theater ที่ผ่านมาผมก็ได้ไปเยี่ยมชมห้องดูหนังของพี่หมออิ๊ดพี่ชายใจดี ซึ่งพี่หมออิ๊ดนับว่าเป็นนักเล่นเครื่องเสียงมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นระบบ 2ch. ระบบmulti channelก็เล่นมาอย่างยาวนานเป็นสิบๆปีมาแล้ว ตอนนี้ก็ได้ปรับปรุงห้องฟังใหม่ เปลี่ยนระบบต่างๆ บุผนัง เสริมBaffle ในห้องใหม่หมด ผมเลยจะเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าเยี่ยมชมห้องที่เรียกได้ว่าเป็นห้องhome theaterระดับสุดยอดอีกห้องหนึ่งในประเทศไทย มาให้เพื่อนๆพี่น้องสมาชิกนิตยสารAudiophile/Videophileให้ได้อ่านกันครับ

รูปที่1 พรมห้องนี้ถูกสั่งทอเป็นพิเศษสำหรับห้องนี้โดยเฉพาะ

ห้องนี้ผมเคยมาเยี่ยมเมื่อหลายปีมาแล้วตอนนั้นพี่อิ๊ดยังใช้ห้องนี้เป็นห้องฟังทั้ง2ch. และเป็นห้องhome theaterไปด้วยกันในห้องเดียว ตัวห้องเองถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรงมากเพราะออกแบบมาให้เป็นห้องดูหนังฟังเพลงมาตั้งแต่แรก แค่ประตูเข้าห้องก็หนาเกือบๆ 20cm.ไปแล้ว เป็นประตูที่กันเสียงเมื่อเปิดประตูเข้ามาในห้องแล้ว จะรู้สึกถึงความเงียบสงัดดีมาก ผนังโดยรอบของห้องหนาเป็นฟุต พี่อิ๊ดบอกว่าห้องนี้สามารถทำความเงียบได้ถึงระดับเฉลี่ย NC 25(Noise Criteria)เลยทีเดียวซึ่งถือว่าเป็นnoise floorที่ต่ำ มีเสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามาน้อยมากเหมาะอย่างยิ่งสำหรับทำเป็นห้องดูหนังเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเสียงเบาๆที่เขาบันทึกมา รูปร่างของห้องเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่มีด้านต่างๆไม่เท่ากันเพื่อเหตุผลในเรื่องroom modeในห้อง โดยถ้าไม่นับรวมส่วนแยกของห้องที่ออกไปเป็นmini barและห้องเก็บอุปกรณ์ ส่วนแคบที่สุดกว้าง 4.78เมตร ที่กว้างที่สุดกว้าง 5.02เมตร ด้านยาวของห้องส่วนที่ยาวที่สุดยาว 7.05เมตร เพดานทำเป็นslopeมีความสูงอยู่ระหว่าง 3.05-3.42เมตรฟังดูจากขนาดคร่าวๆแล้วก็นับได้ว่าห้องนี้มีขนาดที่ใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว เมื่อเดินเข้ามาสิ่งแรกที่ทุกคนจะสะดุดตาก็คือพรมสีแดงมีลายเป็นรูปฟิล์มหนัง พรมผืนนี้เห็นว่าสั่งทอเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากันกับthemeของห้องที่แสดงถึงความชอบ ความหลงไหลในการชมภาพยนตร์ของเจ้าของห้องนั่นเอง ในด้านหลังและด้านข้างของห้องจะทำเป็นห้องต่อยื่นออกไปอีกโดยทำเป็นประตูซ่อนไว้ที่ผนังมองผ่านๆไปก็จะดูไม่ออกว่าเป็นประตูไปยังห้องเล็กๆอีกห้องหนึ่ง โดยด้านหลังจะต่อออกไปเป็นห้องเล็กๆที่มีmini barตั้งอยู่ ทำจำลองเหมือนร้านขายขนมในโรงภาพยนตร์มีตู้ไฟแขวนอยู่ดูแล้วทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในโรงภาพยนตร์จริงๆ ส่วนด้านข้างก็จะต่อออกไปเป็นห้องเก็บแผ่นบลูเรย์ เก็บเครื่องมือช่างเล็กๆน้อยๆ เก็บพวกสายไฟสายสัญญาณบ้างรวมถึงเป็นด้านหลังของRackที่ใช้วางอุปกรณ์เครื่องเสียง ทำให้เวลาต่อสาย เปลี่ยนสายสามารถทำได้อย่างง่ายดายไม่ต้องมุดเข้าไปหลังเครื่องเหมือนบ้างห้องที่เวลาจะเปลี่ยนสายทีต้องมุดเข้าไปอย่างยากลำบาก บางทีก็ต่อสายผิด บ้างถูกบ้าง เสียบสายไม่ตรงทำให้ขั้วต่อหลังอุปกรณ์เครื่องหรือหัวของสายต่างๆบุบไป เสียไปก็เห็นมาเยอะแล้ว

รูปที่2 ด้านหลังห้องทำเป็นห้องนั่งเล่นเล็กๆต่อออกไป
รูปที่3 ด้านข้างห้องดูหนังก็ทำเป็นห้องเก็บของเล็กๆต่อออกไป
รูปที่4 ภายในห้องเก็บของด้านข้าง
รูปที่5 การต่อสายภายหลังเครื่องทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย
รูปที่6 ผนังด้านข้างห้องทำเป็นRackซ่อนไว้อยู่ภายใน

อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ในห้องนี้ แต่ละตัวเรียกได้ว่ามีแต่ตัวท๊อป หรือไม่ก็เป็นรุ่นเรือธงของแต่ละยี่ห้อกันเลย เริ่มจากลำโพงกันก่อน ลำโพงในห้องนี้ใช้ระบบลำโพงของMeyer Soundทุกตัว เริ่มจากลำโพงหน้าซ้าย กลาง และหน้าขวาจะเป็นรุ่นAcheron Designer เป็นลำโพงที่อยู่ในสายการผลิต CINE-STUDIO SeriesของMeyer Sound ลำโพงตระกูลนี้จะเป็นลำโพงActiveทั้งหมด เนื่องจากว่าMeyerเชื่อว่าการที่มีPower Amplifierข้างในทำให้ลำโพงมีความเป็นlinearityสูง ไม่ต้องกังวลเรื่องPower Ampไม่matchหรือแรงขับไม่พอไม่เข้ากันกับตัวลำโพง โดยAmpที่ใช้ของลำโพงตัวนี้จะใช้2ตัวต่อลำโพง1ตู้ แยกกันระหว่างAmpของTweeterและ Woofer ทำให้ได้กำลังเต็มที่ ซึ่งลำโพงตัวนี้สามารถทำความดังได้ถึง130dBโดยแทบไม่มีความเพี้ยน ทำให้ถ้าเราเปิดความดังในระดับreference levelจะมีhead roomเหลือเฟือ โดยลำโพงตัวนี้ถูกออกแบบมาใช้สำหรับห้อง Sound design suites, Small theatres, private theatres, Re-recording stages, Postproduction facility ที่มีระยะนั่งฟังอยู่ที่ 2 – 5เมตร

รูปที่7 ตำแหน่งนั่งฟังตามคำแนะนำของผู้ผลิตลำโพง

ลำโพงSurroundทั้งหมดในห้องนี้มีอยู่ถึง 18แชนแนล วางลำโพงเพื่อให้สามารถใช้ได้กับระบบเสียงDolby Atmos, DTS-X, Auro 3D โดยEar-level layerจะเป็นลำโพงหลัก 7.1แชนแนล เพิ่มเติมในส่วนFront wideทั้งด้านซ้ายและขวา ลำโพงSurrondด้านข้างมีอยู่ 4แชนแนล ส่วนด้านหลังก็จะเป็นลำโพงSurround Backตามปกติ ส่วนในระดับUpper level จะเป็นลำโพงเพดานสำหรับDolby Atmos 8แชนแนล และก็จะเป็นลำโพงVoice of God สำหรับAuro 3D อีก 2แชนแนล โดยลำโพงSurroundทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นUpper levelหรือ Ear-level layerจะเป็นลำโพงMeyer Soundรุ่น HMS-5 ยกเว้นลำโพงSurround Backที่เป็นลำโพงmonitor ตัวใหม่ล่าสุดของMeyer Soundคือรุ่นAmie ที่ทำไว้แบบนี้เจ้าของห้องให้เหตุผลว่าบางทีอยากฟังแค่ลำโพงAmie เป็น 2แชนแนลก็สามารถทำได้โดยหันหลังกลับมาก็สามารถเลือกฟังเฉพาะลำโพงAmie 2ตัวด้านหลังได้เลย ส่วนตำแหน่งการวางลำโพงต่างๆก็วางตำแหน่งตามแผนผังดังรูป ซึ่งแปลนตำแหน่งลำโพงห้องนี้ได้ให้Arnaud Laborieเจ้าพ่อ 3D soundที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและCEOของ Trinnov Soundเป็นคนapproved ตำแหน่งลำโพงต่างๆให้เลยทีเดียว

รูปที่8 ตำแหน่งลำโพงที่ระดับ Ear-level
รูปที่9 ตำแหน่งลำโพงในระดับUpper Layer
รูปที่10 ตำแหน่งของลำโพงเพดาน และโปรเจคเตอร์
รูปที่11 ลำโพงMeyer Sound Amie

มาถึงลำโพงที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบhome theaterอีกอย่างก็คือลำโพงSubwoofer ซึ่งห้องนี้ใช้ลำโพงSubwooferทั้งหมด 4แชนแนลจำนวน4ตู้ติดตั้งในConfigurationรูปแบบBass Management มี2ตู้หน้าวางอยู่ระหว่างลำโพงหน้าซ้ายกับลำโพงcenterและอีกตัววางระหว่างลำโพงหน้าขวากับลำโพงcenterอยู่ด้านหลังจอรู(Acoustically Transparent Screen) โดยเป็นMeyer Sound รุ่น X-800Cที่แต่ละตู้จะมีdriverขนาด18นิ้วอยู่สองตัว น้ำหนักตัวตู้นี่ร้อยกว่ากิโลกรัมต่อตู้ ตอบสนองความถี่ที่ 20Hz – 200Hz สามารถทำความดังได้สูงสุด 136dBกันเลย และที่น่าสนใจอีกสองตู้ที่เหลือคือเป็นSubwooferใหม่ล่าสุดรุ่นAmie-Sub ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเหมือนรุ่นX-800C แต่ละตู้มีdriverแบบlong-excursion cone ขนาด15นิ้วอยู่1ตัว น้ำหนักตัวตู้อยู่ที่ 33.5กิโลกรัม เห็นตัวเล็กๆเบาๆแบบนี้สามารถ ทำความถี่ลงลึกได้ถึง 22Hz -160Hzเลยนะครับ และที่สำคัญคือห้องนี้เอาSubwoofer Amie2ตัวนี้แขวนไว้บนเพดานด้านหลังใกล้ๆกับลำโพงCeilingแชนแนล หลังจากถามเหตุผลว่าทำไมถึงต้องแขวนSubwooferไว้บนเพดานแบบนี้ด้วย ปกติไม่ค่อยเห็นมีใครทำกันเลย พี่อิ๊ดได้ตอบว่าเคยทำห้องที่แขวนSubwooferแบบนี้มาสองสามห้องแล้ว ที่ห้องนี้ต้องใช้การแขวนก็เพราะหลังจากวัดfrequency responseของความถี่ต่ำแล้วพบว่าห้องนี้มีdipหรือมีหลุมอยู่ ซึ่งน่าจะเกิดจากตำแหน่งที่เป็นroom modeของห้อง ทำให้เกิดการcancellationกันของความถี่ต่ำบางย่าน แต่เมื่อลองยกsubwooferขึ้นไว้บนเพดานแบบนี้แล้วปรากฏว่าหลุมที่ว่านี้ได้หายไป ทำให้frequency responseที่เกิดขึ้นมีความราบเรียบขึ้นเป็นอย่างมาก แต่กว่าจะได้ตำแหน่งตรงนี้นั้นก็หาตำแหน่งยกขึ้นยกลงอยู่หลายรอบเหมือนกัน ซึ่งเจ้าของห้องเองก็ไม่ได้แจ้งว่าหมดคนงานยกขึ้นยกลงกันไปกี่คน อิ อิ…

รูปที่12 ลำโพงAmie และAmie-Subwoofer ที่ถูกแขวนไว้
รูปที่13 ลำโพงFront Wide

แน่นอนว่าห้องนี้ตำแหน่งลำโพงถูกวางไว้โดยเจ้าของบริษัท Trinnov ตัวPre-Processorที่ใช้คงเป็นตัวอื่นไปไม่ได้นอกจากTrinnov Audioรุ่น Altitude32 ที่รองรับจำนวนแชนแนลแยกอิสระหรือที่เรียกกันว่าdiscrete channelsได้ถึง 32แชนแนล โดยPre-Proตัวนี้จะทำหน้าที่จัดการระบบเสียงทั้งหมดในห้องนี้ไม่ว่าจะเป็นการconfigurationลำโพง การปรับแต่งเสียงต่างๆ โดยใช้โปรแกรม loundspeaker/room optimizadtion อันชาญฉลาดของtrinnovร่วมกับไมค์วัดเสียงของเขาเองที่ออกแบบมาเฉพาะ เพื่อแก้ไปปัญหาacousticsต่างๆของห้อง โดยพี่หมออิ๊ดได้โชว์ให้เห็นความสามารถต่างๆของpre-proตัวนี้ว่าสามารถปรับแต่งทุกอย่างได้ตามที่เราต้องการ การวัดเสียงและปรับเสียงก็ทำได้ออกมาแม่นยำแน่นอนมาก พอหลังจากทำการปรับแล้วก็ทำการวัดค่าต่างๆเพื่อเปรียบเทียบให้เป็นชัดๆว่าหลังจากทำการปรับแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งพอเห็นกราฟก่อนปรับและหลังปรับแล้วนั้นเรียกได้ว่าความเรียบ ความsmoothของfrequency response รวมถึงกราฟimpulse response,กราฟphase responseทำได้น่าทึ่งมาก นอกจากนี้ก็ยังสามารถทำpresetได้หลายค่าว่าต้องการเก็บค่าแบบไหนไว้บ้าง เวลาเลือกก็แค่กดปุ่มบนiPadเลือกได้ทันที เรียกได้ว่าpre-proในสมัยนี้ก้าวหน้ากว่าpre-proในยุคไม่กี่ปีก่อนอย่างมากมาย ต่อจากpre-processor สัญญาณเสียงจากTrinnov Altitude32 ก็จะส่งต่อไปยัง Galileo GALAXY 408Network Processorโดยตัวนี้จะเป็นตัวDSPควบคุมลำโพงMeyer Soundผ่านiPadทางnetwork แต่สำหรับลำโพงSuround HMS-5ทุกตัวยกเว้นAmieจะใช้ MPS-488HP Power Supplyเป็นตัวจัดการเรื่องสัญญาณเสียงและระบบไฟทั้งหมด

รูปที่14 อุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆที่ใช้อยู่ในห้องนี้
รูปที่15 กราฟimpulse response ก่อนและหลังการปรับเสียง
รูปที่16 กราฟfrequency responseก่อนและหลังการปรับเสียง
รูปที่17 กราฟfrequency responseของความถี่ต่ำ ก่อนและหลังการปรับเสียง

ระบบภาพในห้องนี้ใช้โปรเจคเตอร์ของ JVCรุ่น DLA-X7900 ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ล่าสุดจากทางJVC รับข้อมูลจาก Oppo UDP-205 Ultra HD Blu-ray Player โดยผ่านLumagen Radiance Pro UltraHD Seriesก่อน ถ้าใครสงสัยว่าLumagen Radiance Proคืออะไร นึกถึงง่ายๆมันก็เปรียบเสมือ EQในระบบเสียงที่ใช้ในการจัดการ ปรับแต่งค่าต่างๆของเสียง แต่ตัวนี้ใช้สำหรับภาพ ก็คือสามารถทำได้หมดไม่ว่าจะเป็นการปรับGrayscale, การปรับสี Color Gamut, ปรับค่า EOTFหรือค่าGammaของภาพฯลฯ เรียกได้ว่าปรับได้ละเอียดกว่าการปรับที่ในทีวีหรือเครื่องโปรเจคเตอร์แต่ปัญหาคือการปรับจะค่อนข้างยุ่งยากเหมาะสำหรับนักเล่นภาพประเภทhard coreที่ชอบปรับได้เยอะๆหรือมืออาชีพเสียมากกว่า แต่ถ้าปรับได้ลงตัวแล้วภาพที่ได้ออกมาถือว่าเป็นภาพที่ดี มีความถูกต้องของสี มีความสวยงามเป็นธรรมชาติมากอย่างเช่นภาพที่ผมได้เห็นในห้องนี้

คราวนี้ถึงเวลาที่จะมานั่งทดสอบเสียงที่ได้จากห้องนี้กันบ้าง เริ่มจากแผ่นมาตรฐานที่ใช้ทดสอบเสียงImmersive SoundแบบDolby Atmos แผ่นDolby Atmos Demonstration disc โดยtrackแรกที่ลองเป็น Amaze คลิปนี้เน้นไปที่บรรยากาศโดยรอบในช่วงแรกที่มีแมลงอยู่ซึ่งระบบในห้องนี้ให้focusของเสียงแมลง ให้ความโอบล้อมของบรรยากาศได้ดี ส่วนในตอนที่เป็นเสียงฟ้าร้องพลังงานจากsubwooferทั้งหมดที่อยู่ในห้องเรียกได้ว่ามากันแบบเต็มๆ สั่นสะเทือนไปทั้งเก้าอี้แต่ตัวห้องกลับนิ่งไม่มีการกระพือของผนังหรือฝ้าเพดานแต่อย่างไร แบบนี้เรียกได้ว่าห้องนี้เอาอยู่ เสียงเม็ดฝนที่ตกลงมาจากเพดานให้ความรู้สึกเสมือนอยู่กลางสายฝนจริง รายละเอียดเม็ดฝนนี่มีมาให้เป็นเม็ดๆ ที่ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนเม็ดฝนมันจะใหญ่กว่าห้องhome theaterทั่วไปที่เคยไปฟังมา ต่อมาก็ได้ลองtrack Leafที่อยู่ในแผ่นเดียวกัน คลิปนี้จะเป็นการโชว์ความต่อเนื่องของเสียงเมื่อใบไม้ปลิวผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ เรียกได้ว่าห้องนี้ให้ความต่อเนื่องของเสียงแบบเนียนๆเลย อาจจะเพราะใช้ลำโพงsurroundต่างๆกว่า 20แชนแนลที่วางตำแหน่งอย่างเหมาะสมร่วมกับการประมวลผลของPre-processorที่สามารถdecodeเสียงออกมาแบบdiscreteได้ทุกแชนแนล ความต่อเนื่องของเสียงจึงsmoothมาก ทีเด็ดตอนท้ายของคลิปนี้อยู่ที่ตอนใบไม้แตะลงบนพื้นน้ำนั้นจะได้ยินเสียงน้ำกระเพื่อมอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของผู้ฟังอย่างชัดเจนใครที่มีคลิปตัวนี้ลองไปฟังดูได้ครับตอนท้ายของคลิป เช่นเดียวกับการได้ลองtrack Helicopter Demo ที่แสดงศักยภาพของลำโพงเพดานทั้ง 8ตัวได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนมีHelicopterลำใหญ่มาบินเวียนเป็นวงกลมอยู่บนหัวจริงๆ หลังจากนั้นก็ได้ลองคลิปตัวอย่างจากระบบเสียงต่างๆทั้งจาก DTS-X, Auro 3Dอีกหลายคลิปซึ่งแต่ละตัวให้ความรู้สึกโอบล้อมตัวของเสียงได้ดีมากทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเป็น3มิติของเสียง มีการเคลื่อนตัวของเสียงได้อย่างชัดเจนจนเหมือนแทบจะจับต้องวัตถุได้

รูปที่18 กำลังทดสอบเสียงจากคลิปและภาพยนตร์เรื่องต่างๆ
รูปที่19 กำลังทดสอบเสียงจากคอนเสิร์ต

การลองภาพยนตร์ได้คัดเอาแต่ฉากเด็ดๆ ที่แสดงศักยภาพของความถี่ต่ำ และเสียงแบบImmersive Soundทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นฉากการต่อสู้ของคนเหล็กในTerminator Genisysที่เวลาปล่อยหมัดใส่กันแต่ละทีเสียงเบสนี่หนักแน่น รุนแรง แต่ด้วยความโดดเด่นในเรื่องphase coherenceของลำโพงMeyer Soundจึงทำให้เสียงความถี่ต่ำที่ออกมามีความแน่น กระชับ ฉับไว นับได้ว่าsystemนี้ให้เสียงเบสที่มีคุณภาพดีมาก หลังจากได้ทดลองภาพยนตร์หลายเรื่องก็มาทดสอบclarityของเสียงในคอนเสิร์ตและเพลงอีกหลายtrackเช่น เสียงของMicheal Blubleในคอนเสิร์ตของDavid FosterในชุดHit Man เสียงของLady Gaga และศิลปินอีกหลายท่านในอีกหลายคอนเสิร์ตสรุปได้ว่าเสียงคนร้องที่ร้องออกมา เสียงจะมีความสดใส ชัดเจน สมจริง ไม่มีอาการแตกพร่าหรือเพี้ยนในขณะที่นักร้องเปล่งเสียงออกมาเต็มที่แบบดังๆแต่อย่างไร หลังจากนั้นก็ได้ฟังการจำลองเสียงimmersive soundจากแหล่งเสียงที่เป็นแค่ 2แชนแนลโดยใช้ระบบเสียงAuro 3D Upmixingขึ้นไปซึ่งนับได้ว่าทำได้ดีกว่าที่คิดไว้มาก ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเสียงที่ก้องๆฟังดูหลอก ทำให้คิดว่าน่าเสียดายถ้าในอนาคตระบบนี้ไม่ได้รับความนิยมและหายไป เพราะผมว่าแนวคิดในการจำลองเสียงImmersive Soundของเขาก็ถือว่าดีเลยเพียงแต่ระบบกลไกการตลาดกับธุรกิจ บางทีก็ไม่เอื้อกับของดีๆเหมือนกัน

รูปที่20 กลุ่มHome Theater Pro Thailandที่ได้เข้าร่วมทดสอบในวันนั้น

แต่สำหรับห้องdedicated home theaterห้องนี้ของพี่หมออิ๊ดนี่ขอแนะนำเลยว่าถ้าใครอยากได้ประสบการณ์เกี่ยวกับเสียงimmersive soundที่ดี ระบบเสียงที่สุดยอด ห้องฟังที่สามารถทำให้ภาพและเสียงแสดงศักยภาพได้เต็มที่ทั้งยังมีความสวยงาม ยังไงต้องลองมาสัมผัสประสบการณ์อันสุดยอดนี้ด้วยตัวเองดูครับ ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่หมออิ๊ดอีกทีที่อนุญาตให้ผมและกลุ่มเพื่อนๆได้เข้าเยี่ยมชมห้องhome theaterในวันนั้นด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ The Dedicated Home Theater (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้