Article

Search

Top Ten Home Theater Mistakes

เห็นชื่อหัวข้อบางคนอาจจะตกใจว่ามันถึงขนาดทำผิดกันเลยหรือ ความจริงเนื้อหาที่เอามาเขียนถึงไม่ได้มีความรุนแรงขนาดว่าต้องทำแบบนี้ต้องทำแบบนั้น ถ้าไม่ทำแล้วเสียงจากห้องHome theaterจะเสียไปเลย เพียงแต่ผมเห็นชื่อหัวข้อมันดูปังดี เผื่อคนที่ไม่ได้สนใจอ่านหาความรู้มากนักจะได้มีความรู้สึกอยากที่จะอ่านขึ้นมาบ้างชื่อเรื่องมันตื่นเต้นเร้าใจดี เนื้อหาที่ได้ก็รวบรวมมาจากในinternetบ้าง จากที่อ่านหนังสือ ที่เคยเรียนมา หรือได้จากประสบการณ์ที่เจอจริงๆ ลองมาติดตามกันดูว่าHome theater Mistakesทั้งสิบข้อมีอะไรกันบ้าง

  1. เลือกซื้อเครื่องReceiverไม่เผื่ออนาคต ไม่ว่าจะเลือกเป็นระบบที่แยกamplifierและpre-processor หรือรวมเป็นAVR, receiver อุปกรณ์ตัวนี้นับว่าเป็นอุปกรณ์หลักชิ้นหนึ่งในห้องhome theater เมื่อจะเลือกซื้อซักตัวเพื่อใช้งานสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการรองรับระบบในอนาคตของreceiver ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นเวลาซื้อมาตอนแรก เราคิดว่าช่องต่อHDMI inputs2-3ช่องก็น่าจะเพียงพอสำหรับตอนนั้น แต่พอมาใช้งานจริงๆปรากฏว่าอุปกรณ์ต้นทางเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจากกล่องดาวเทียม, เคเบิลทีวี, เครื่องเล่นblu-rayที่บางทีอาจจะมีสองเครื่องเอาไว้ดูแผ่นblu-rayเครื่องหนึ่งอีกเครื่องเอาไว้ดูจากไฟล์, ไหนจะเล่นเกมส์จากgame console(s), กล้องvideo camera หรือแม้กระทั่งเป็นmonitorของเครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เอาแล้วสิช่องHDMIของเครื่องreceiverที่ซื้อมารองรับได้ไม่พอ

อีกอย่างหนึ่งถ้าดูจากที่ผ่านมาช่วงสองสามปีreceiversมีการพัฒนาทั้งในเรื่องของการรองรับระบบเสียงimmersive sound และระบบภาพ 4K ซึ่งก็ต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าเครื่องreceiversมีคุณสมบัติรองรับ หรือสามารถpass throughสัญญาณหรือเปล่า เพราะreceiverบางตัวก็ยังไม่สามารถผ่านสัญญาณ 4Kไปยังprojectorหรือทีวีได้ ต้องหาอุปกรณ์พวกexternal video processorเช่นscalerเพิ่มเพื่อแยกสัญญาณออกมาทำให้ยุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องซื้อreceiver ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าไม่เพียงแต่รองรับระบบเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างหรือupgradeระบบเราจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนreceiver, AVR หรือpre-processorตัวใหม่ให้เสียเงินเพิ่มเติมอีก

  • เลือกขนาดจอไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมา และก็คงยังถกเถียงกันต่อไปเพราะความละเอียดของภาพก็พัฒนาขึ้นไปทุกวัน นักเล่นhome theaterบางท่านก็ชอบที่จะใช้จอที่มีขนาดใหญ่มากแต่บางท่านก็ไม่ได้ใช้จอใหญ่มากนักเนื่องจากจอใหญ่ขึ้นโอกาสที่ดูแล้วเห็นpixelหรือเห็นข้อบกพร่องในภาพก็จะมากขึ้น คำแนะนำและการคำนวณในการเลือกใช้จอก็มีมากมายไม่รู้จะเลือกสูตรไหนดี ซึ่งผมว่าในเรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง 100%เสียทีเดียว เราในฐานะเจ้าของห้องhome theaterคงต้องตัดสินใจเองแล้วล่ะว่าต้องการแบบไหน สิ่งไหนที่เหมาะสมสำหรับสภาพในห้อง ยกตัวอย่างเช่นถ้าห้องที่ใช้ดูหนังเป็นห้องนั่งเล่น ใช้ทำหลายๆกิจกรรมในห้องเดียวกันที่ฝรั่งเรียกว่าmultipurpose room การใช้เลือกใช้ทีวีจอใหญ่ก็น่าจะเหมาะสม แต่ก็ต้องแน่ใจว่าจอมันใหญ่ เหมาะกับผนังที่ติดอยู่ เวลาเดินเข้าไปในร้านขายทีวีเห็นจอขนาด 50นิ้วแขวนอยู่ที่ผนังก็ดูใหญ่ดีในร้าน แต่ซื้อกลับบ้านมาแขวนกึ่งกลางผนังขนาด 4เมตร อ้าวไหงดูเล็กไม่สมกับขนาดของผนังเลย

ส่วนถ้าห้องทำเพื่อดูหนังโดยเฉพาะหรือที่ฝรั่งชอบเรียกกันว่าDedicated Theater เจ้าพ่อisfอย่าง Joel Silver ได้เคยสอนผมไว้ว่าให้ดูจากอัตราส่วนของจอในโรงภาพยนตร์ตำแหน่งที่เจ้าของห้องชอบที่สุด แล้วนำมาคำนวณโดยใช้หลักคณิตศาสตร์เรื่องอัตราส่วน วิธีการก็ง่ายๆเข้าไปในโรงภาพยนต์หาตำแหน่งนั่งที่เจ้าของห้องhome theaterนั่งดูแล้วชอบขนาดของภาพมากที่สุด ไม่ใหญ่เกินหรือเล็กเกินในความรู้สึก แล้วก็วัดระยะจากตำแหน่งที่นั่งถึงจอว่ามีขนาดเท่าไร เสร็จแล้วก็วัดความกว้างของจอภาพในโรงภาพยนต์นั้นๆว่ามีความกว้างเท่าไร(ถ้าสะดวกหน่อยผมว่าอาจจะพกตลับเมตรเลเซอร์เข้าไปวัดหลังจากหนังเลิกแล้วกำลังดี) นำค่าที่ได้มาหาอัตราส่วน เช่นวัดได้ว่าขนาดจอในโรงภาพยนต์กว้าง12เมตร นั่งห่างจอ 18เมตร ก็แสดงว่านั่งห่าง เป็นอัตราส่วน 1.5เท่าของความกว้างของจอภาพ กลับมาในห้องhome theater ถ้าเรานั่งห่างจากผนังที่แขวนจอภาพ 3.5เมตร เอา3.5หารด้วย1.5จะได้ผลลัพธ์ออกมา 2.33 ดังนั้นจอภาพในห้องhome theaterก็ควรจะมีความกว้างประมาณ2.3เมตร จึงจะทำให้ขนาดของจอครอบคลุมองศาการรับชมใกล้เคียงกับตำแหน่งที่เจ้าของห้องhome theaterชอบในโรงภาพยนต์

  • การออกแบบห้องที่ไม่เหมาะสม เรื่องของห้องฟังมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอเนื่องจากคนยังให้ความสำคัญกับเครื่องเคราต่างๆมากกว่า ความจริงแล้วทั้งรูปร่าง ขนาด การออกแบบของห้องฟังเป็นสิ่งที่มีผลโดยตรงต่อภาพและเสียงที่มีในห้องhome theater อย่างแรกก็คือถ้าจะสร้างห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเป็นกล่องเหมือนลูกเต๋า ที่มีความยาวของด้านกว้าง ด้านยาว ด้านสูงเท่ากัน ห้องแบบนี้มีโอกาสที่จะพบกับปัญหาเรื่องเสียงมากกว่าแบบอื่นๆ ถ้าห้องที่ทำมามีรูปร่างขนาดแบบนี้แล้วก็คงต้องหาวิธีที่จะเปลี่ยนขนาด หรือไม่ก็ต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้จัดการกับเสียงที่เกิดขึ้นภายในห้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป แต่ถ้ากำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างห้องและเลือกได้ก็อย่างที่ผมเคยแนะนำไว้แล้วว่าความยาวของผนังด้านต่างๆ(รวมถึงความสูง) ไม่ควรมีขนาดที่หารกันลงตัวพอดี เช่นห้องขนาดกว้างสามเมตร ยาวหกเมตร สูงสามเมตร โอกาสที่มีปัญหาเรื่องเสียงภายในห้องจะมีมากกว่าห้องขนาดกว้างสี่เมตรยาวห้าเมตรสูงสามเมตร แต่ผมจะใช้คำว่ามีโอกาสนะครับ ไม่ได้หมายถึงว่าทำขนาดเท่านี้แล้วห้องจะเสียงดีเลยเพราะมันยังมีปัจจัยอื่นๆร่วมอีกหลายอย่าง เพียงแต่ว่าถ้าทำขนาดที่เหมาะสมแล้วโอกาสหรือเปอร์เซ็นต์ที่เราจะพบกับปัญหาเรื่องเสียงจะน้อยกว่าโดยเฉพาะปัญหาเรื่องstanding waveหรือ room mode

อีกอย่างที่มักจะลืมนึกถึงไปในการออกแบบห้องก็คือเรื่องของประตูทางเข้าห้องโดยเฉพาะห้องแบบdedicated home theater โดยปกติจะไม่ออกแบบให้ประตูอยู่ใกล้กับจอภาพมากนัก แนะนำให้อยู่ด้านหลังห้องห่างจากจอภาพหน่อย เพราะเวลาคนเดินเข้าเดินออกจะได้ไม่ต้องเดินเข้ามาบริเวณหน้าจอทำให้แสงจากประตูเข้ามารบกวนเวลาเรานั่งดูหนังเพลินๆได้ ส่วนประตูแบบบานเลื่อนslideก็ต้องระวังในเรื่องเสียงเวลาเลื่อนประตูเปิดปิดที่เมื่อใช้ไปนานๆเสียงประตูจะดังกว่าบานพับ(โดยทั่วไป) และประตูแบบบานเลื่อนมักจะเจอกับปัญหาเรื่องrattle soundหรือเสียงกวนน่ารำคาญเนื่องจากอุปกรณ์สั่นเวลาเจอความถี่ต่ำๆหนักๆในห้องhome theater ทั้งประตูแบบนี้การsealเก็บเสียงก็จะสู้ประตูบานพับทั่วๆไปไม่ได้

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ในเรื่องของroom designก็คือเรื่องของการเลือกสีภายในห้องดูหนัง การใช้สีที่อยู่ในโทนสว่าง เช่นสีขาว หรือสีออกโทนขาวๆ มันจะส่งผลถึงภาพที่ฉายอยู่บนจอ ทำให้contrastของภาพลดลง และทำให้ดึงจุดสนใจเราออกไปจากภาพที่ปรากฏอยู่บนจอ ดังนั้นสีที่ใช้ในห้องhome theaterควรจะออกแนวสีเข้มๆหน่อย โดยเฉพาะผนังด้านหน้าที่เป็นบริเวรวางจอภาพถ้าเป็นสีดำ สีน้ำเงิน หรือสีเทาเข้มแบบด้านหน่อยก็จะดีมาก

  • ปัญหาของSubwoofer ซึ่งเรื่องนี้ก็อย่างที่เคยบอกไว้หลายครั้งในฉบับก่อนๆความผิดพลาดที่พบบ่อยก็จะเป็นขนาด จำนวน และตำแหน่งของsubwoofer ในเรื่องขนาดก็เช่นซื้อชุดhome theater in a box มาใช้ในห้องขนาดใหญ่ แน่นอนว่าขนาดของsubwooferที่ให้มาในชุดส่วนมากแล้วจะเป็นตัวเล็กตัวเดียว เมื่อนำมาวางไว้ในห้องฟังที่มีขนาดใหญ่มักจะเอาไม่อยู่อาจจะต้องมีการเพิ่มsubwooferเข้าไปอีกตัว หรือเปลี่ยนไปเป็นตัวที่ใหญ่กว่าก็จะทำให้เสียงความถี่ต่ำภายในห้องดีขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มsubwooferเข้าไปในระบบเป็นสองตัวก็ทำให้มีทางเลือกในการจัดการกับปัญหาstanding waveของห้องได้หลากหลาย การตอบสนองต่อความถี่ต่ำจะมีความราบเรียบกว่าเดิม เช่นเดียวกับตำแหน่งของsubwoofer ถ้าวางไว้ตรงมุมห้องก็จะเป็นการเพิ่มพลังงานของsubwooferขึ้นมาจากการสะท้อนกับผนังทั้งสองด้านและพื้น แต่มันก็อาจจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของstanding waveด้วย ถ้าขยับเลื่อนให้ห่างจากมุมห้องมากขึ้นส่วนมากแล้วจะช่วยให้การตอบสนองต่อความถี่ที่ลึกๆ(deep bass) มีความราบเรียบมากขึ้นแต่พลังงานของsubwooferก็จะลดลง ดังนั้นตำแหน่งของsubwooferจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเสียงความถี่ต่ำในห้องhome theater
  • อุปกรณ์ไม่เหมาะสมกันไม่เข้ากัน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าmismatching components เรื่องนี้ก็ดูเหมือนไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดใหญ่โตอะไร แต่ก็เป็นจุดเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม อย่างเช่นห้องhome theater ก็ควรใช้อุปกรณ์ต่างๆที่มีคุณภาพ ราคาในระดับใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าซื้อโปรเจคเตอร์ลดราคา คุณภาพไม่เท่าไร แต่อุปกรณ์อื่นๆทั้งเครื่องเล่น, video-processorฯลฯกลับใช้แบบHi Endราคาสูงลิบลิ่ว หรือในทางกลับกันใช้โปรเจคเตอร์ขั้นเทพราคาเป็นแสนเป็นล้าน แต่ต้นทางกลับเป็นเครื่องเล่นราคาหลักร้อยหรือพันกว่าบาท แบบนี้เขาเรียกว่าการเลือกอุปกรณ์ที่ไม่เข้ากันmismatching components อีกแบบที่พบก็คือลำโพงไม่เข้ากัน(speaker mismatches) ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าบริษัทลำโพงแต่ละบริษัทก็จะมีการออกแบบ ขั้นตอนการผลิตลำโพงแตกต่างกันไป การเลือกใช้ลำโพงหลักที่มาจากบริษัทเดียวกัน อยู่ในชุดเดียวกันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ยกเว้นลำโพงSubwooferที่อาจจะแตกต่างกันกันได้เพราะเป็นแหล่งกำเนิดเสียงความถี่ต่ำให้เสียงไม่เหมือนตัวอื่นๆ ในขณะที่ลำโพงmainตัวอื่นๆกำเนิดเสียงความถี่กลางและสูงเหมือนๆกัน ที่แนะนำให้ใช้ลำโพงยี่ห้อเดียวกันจากบริษัทเดียวกันก็ลองนึกภาพดู เช่นบริษัท ก. มีปรัชญาการออกแบบลำโพงของเขาเอง เขาก็จะทำลำโพงออกมาแนวเสียง โทนเสียงต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในขณะที่บริษัท ข.มีแนวคิดการออกแบบลำโพงต่างออกไปเสียงที่ออกมาก็จะต่างจากลำโพงของบริษัท ก. ซึ่งทั้งสองบริษัทก็อาจจะทำลำโพงที่คุณภาพเสียงสุดยอดทั้งคู่ แต่เมื่อนำมาเล่นด้วยกันเสียงที่ออกมาในห้องhome theaterของเราอาจจะไม่ได้เสียงสุดยอดอย่างที่ควรเป็น แต่กลายเป็นเสียงตีกันเสียงกวนกันเสียงไม่เข้ากัน ดังนั้นการใช้ลำโพงmainและsurroundต่างๆที่มาจากseriesเดียวกัน บริษัทเดียวกันน่าจะให้เสียงเข้ากันและไปในแนวทางเดียวกันมากกว่าการใช้ลำโพงต่างยี่ห้อกัน
  • สายราคาแพงเกินไป ความจริงเรื่องของสายที่มีราคาแพงเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคลเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็มีข้อแนะนำไว้เพราะคงไม่มีใครเถียงว่าสายที่มีคุณภาพดีมันมีความจำเป็นถ้าต้องการให้ระบบในห้องhome theaterมีคุณภาพเสียงและคุณภาพของภาพที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ไม่จำเป็นว่าต้องใช้สายราคาสูงกว่าราคาเครื่องรวมกันทั้งหมดหลายเท่าตัว แค่ระวังสำหรับสายราคาถูกมากๆที่มักจะมากับส่วนประกอบต่างๆด้อยคุณภาพและการประกอบที่ไม่ดี สายที่ทำมาดีๆนั้นต้องมีshieldingที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันสัญญาณกวนหรือnoiseที่ไม่ต้องการรวมถึงป้องกันการรั่วของสัญญาณออกไปจากสาย ส่วนข้อต่อต่างๆของสายก็ต้องมีความแข็งแรงทนทาน มีการประกอบสายที่เรียบร้อยเมื่อทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆก็ต้องมั่นคงไม่หลวมหรือโยกไปมาได้ ส่วนเนื้อสายที่อยู่ภายในshieldingก็ต้องทำจากวัสดุที่มีคุณภาพและมีความใหญ่เพียงพอเพื่อสามารถนำกำลังไฟฟ้าหรือสัญญาณทางไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่
  • ไม่ได้เอาแผ่นหนังหรือเพลงที่ตัวเองชอบไปลองก่อนเพื่อที่จะตัดสินใจซื้อเครื่องเสียง หัวข้อนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดอะไรใหญ่โต แต่เป็นอะไรพื้นๆที่มักจะลืมนึกถึง เพราะในร้านขายเครื่องเสียงสภาพภายในห้องลองฟังเพลง ลองดูหนัง มักจะถูกcalibrateเฉพาะเพื่อเน้นสินค้าชิ้นนั้นๆให้ขายได้ ดังนั้นเราก็ควรจะนำหนังหรือเพลงที่ชอบและคุ้นเคยที่ปกติได้ฟังได้ดูบ่อยๆไปด้วยเพื่อลองทดสอบดูว่าดูแล้วชอบหรือไม่ อย่างเพลงที่เราชอบก็ลองฟังจากลำโพง(อุปกรณ์)หลายๆตัวดูแนวเสียง แบบนี้ก็พอจะได้ideaว่าเสียงแบบไหนที่เราชอบจากบทเพลงที่เราชอบฟังและเสียงนั้นมาจากลำโพงหรืออุปกรณ์ตัวไหนบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องคำนึงถึงสภาพห้องฟัง อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ทดสอบร่วมกันด้วย
  • ใส่วัสดุเพื่อจัดการacousticsเสียงในห้องไม่ถูกต้อง ในเรื่องของห้องดูหนังนอกจากจะมีเรื่องของขนาดและรูปร่างของห้องแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่มักจะเจอข้อผิดพลาดบ่อยๆก็คือการใส่วัสดุacousticsเพื่อปรับแต่งเสียง(room treatment) เช่นการใช้วัสดุพวกดูดซับเสียง(absorption materials) แผ่นกระจายเสียง(diffuser) วัสดุดักเสียงเบส(bass traps) รวมถึงวัสดุปรับสภาพเสียงอื่นๆ มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะการใส่ไม่ว่าจะมากไปหรือน้อยไปล้วนแต่เป็นสาเหตุของปัญหาเรื่องเสียงภายในห้องhome theater

โดยทั่วไปเราไม่ต้องการให้ห้องดูหนังมีการสะท้อนของเสียงจากผนังต่างๆมากเกินไป แต่ก็ยังให้มีการสะท้อนบ้าง วัสดุที่แข็งๆไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต กระจก กระเบื้องฯลฯ ล้วนแต่มีการสะท้อนของเสียงได้มากกว่าวัสดุที่นุ่ม ดังนั้นถ้าผนังบุด้วยวัสดุแข็งพวกนี้สัดส่วนมากเกินไปภายในห้องก็จะทำให้เสียงมีการสะท้อนก้องมาก ห้องhome theaterต้องการใส่วัสดุที่ดูดซับเสียงเพื่อไม่ให้เสียงมีการสะท้อนจากผนังต่างๆมากเกินไป และก็ต้องมีวัสดุที่กระจายเสียง(diffusion) เพื่อกระจายพลังงานเสียงรอบๆตัวให้เกิดความรู้สึกถึงความโอบล้อมการเคลื่อนที่ของเสียงเหมือนสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ในธรรมชาติ แต่ถ้าใส่วัสดุที่มีการดูดซับเสียงมากเกินไปห้องที่ออกมาจะมีเสียงเป็นลักษณะdead room ไม่มีการสะท้อน echoของเสียงเหมือนในธรรมชาติ ซึ่งห้องhome theaterไม่ต้องการเป็นแบบนี้แต่ในห้องอัดเสียงก็อาจจะต้องการคุณสมบัติแบบนี้ ดังนั้นการออกแบบห้องก็ต้องดูด้วยว่าเป็นการออกแบบห้องเพื่อวัตถุประสงค์ใด

  • ไม่มีการCalibrating อุปกรณ์ต่างๆ เช่นเมื่อซื้อจอภาพใหม่จากร้านส่วนมากแล้วภาพที่ออกมาจะเป็นภาพที่ยังไม่ได้ปรับให้เข้ากับห้องในบ้านของเรา ความสว่างและcontrastจะถูกตั้งให้สูงกว่าปกติ ส่วนอุณภูมิสีก็จะยังไม่ใช่อุณหภูมิสีที่ถูกต้องจะออกไปโทนฟ้าเสียมากกว่า หรือการที่ซื้อreceiverตัวใหม่มา ค่าต่างๆที่ตั้งไว้ในเครื่องก็ยังต้องมีการปรับแต่งให้เข้ากับห้องhome theater ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องมีการcalibrationไม่ว่าจะทำโดยมืออาชีพที่ประกอบอาชีพทางด้านนี้ หรือศึกษาทำเองโดยใช้แผ่นช่วยset upต่างๆที่มีขายอยู่ในตลาด ทั้งนี้เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานร่วมกันได้ ช่วยทำให้ภาพและเสียงออกมาเต็มประสิทธิภาพมากที่สุดตามความสามารถของอุปกรณ์ที่ใช้อยู่

เมื่อต่อAVRหรือpre-processorเข้าระบบ การปรับแต่งพื้นฐานก็ควรจะต้องเริ่มทำก่อนเช่นการใส่ค่าdistanceระยะจากลำโพงหรือตำแหน่งนั่งฟัง จะวัดเองหรือใช้ไมค์ที่มากับเครื่องเพื่อauto-calibrationก็ได้ ระดับเสียงในลำโพงหลักต่างๆเมื่ออยู่ในตำแหน่งนั่งฟังก็ต้องมีระดับเสียงหรือlevelที่เท่ากัน การตั้งspeaker configurationเช่นการเปิดBass managementเพื่อจัดการกับความถี่ต่ำในห้องขนาดเล็กก็ควรจะต้องทำทั้งการตั้งlayoutของลำโพงในห้องของเรา, การตั้งลำโพงเป็นsmallหรือlarge, การกำหนดจุดตัด(crossover point)ฯลฯ การตั้งค่าเหล่านี้ก็เพื่อให้เสียงความถี่ต่ำภายในห้องมีการจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนด้านภาพถ้าไม่ได้จ้างช่างเทคนิคที่ทำการปรับภาพโดยตรงเพื่อปรับภาพในระดับadvanced ก็สามารถปรับเบื้อต้นได้โดยใช้แผ่นtest discsเพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกเหมาะสมถูกต้องกับสภาพแสงในห้องของเราเองไม่ได้สภาพแสงในร้านขาย หรือตามที่เขาตั้งเอาไว้เป็นค่าตั้งต้นของโรงงาน

  1. เอาลำโพงเข้าไปอยู่ในตู้Cabinetเล็กๆ เรื่องนี้ลองคิดถึงว่าเมื่อบริษัทลำโพงผลิตลำโพงขึ้นมา บางทีอาจใช้เวลาเป็นปีๆ ใช้เงินจำนวนมากR&D(research and development) เพื่อพัฒนาเสียงของลำโพงให้ดีขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆเช่น conesลำโพง, crossover รวมถึงตู้ลำโพง(cabinet)ที่เป็นตัวยึดdriversต่างๆของลำโพงเข้าด้วยกัน เชื่อไหมว่าบางบริษัทถึงขนาดค้นคว้าวิจัยหาวัสดุใหม่ๆเพื่อทำตู้ลำโพงกันเลยทีเดียว ตู้ลำโพงเหล่านี้จะถูกออกแบบอย่างดีเพื่อให้เสียงออกจากลำโพงมีประสิทธิภาพดีที่สุด เพราะนักออกแบบลำโพงรู้ดีว่าเมื่อนำdriversเหมือนๆกันใส่ในตู้ลำโพงต่างกันเสียงที่ออกมาในแต่ละตู้ก็จะแตกต่างกันอย่างมาก และเสียงของลำโพงก็จะต่างออกไปอีกถ้าเอาลำโพงตัวนั้นๆไปวางไว้บนชั้นวางหรือวางไว้ในตู้ เหตุผลก็เพราะว่าพลังงานacousticของเสียงในลำโพงตั้งพื้น(floor standing)ปกติจะถูกออกแบบไว้ให้ออกมาจากลำโพงโดยอิสระรอบๆตัวตู้ แต่เมื่อเราเอาลำโพงที่ออกแบบเป็นลำโพงตั้งพื้นใส่เข้าไปในตู้ คราวนี้แหละเสียงที่ออกมารอบๆตู้ก็จะสะท้อนอยู่รอบๆตัวลำโพงภายในตู้ก่อนแล้วค่อยกระจายออกมาทางด้านหน้า เรื่องนี้ดูๆก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไรความจริงแล้วมันมีผลต่อเสียงมาก

อุปกรณ์ต่างๆจะมีคำแนะนำในการใช้งาน ลำโพงfloor standingก็เช่นเดียวกัน คำแนะนำก็คือไม่ควรวางลำโพงเอาไว้ในตู้ แต่ถ้าต้องการซ่อนลำโพงไว้ในเฟอร์นิเจอร์พวกbuilt inหรือซ่อนลำโพงไว้ในbaffle wallเพื่อความสวยงามของห้องไม่ให้เห็นลำโพง เหมือนกับห้องสวยๆที่เราเห็นในMagazineต่างๆ แนะนำให้ใช้ลำโพง in-wall speakersจะดีกว่า ซึ่งลำโพงin-wallเหล่านี้ถูกออกแบบมาสำหรับการซ่อนไว้ในตู้ หรือฝังไว้ในbaffleด้านหลังจอภาพโดยตรงอยู่แล้ว การออกแบบdriver การคำนวณ การใส่EQ, crossoverต่างๆก็ทำไว้สำหรับวัตถุประสงค์เหล่านี้โดยเฉพาะ แถมบางรุ่นยังออกแบบหน้ากาก(grills)เป็นหลายๆสีให้เข้ากับสีของผนัง หรือสามารถทาสีบนหน้ากากได้โดยตรงเพื่อความสวยงามเลยก็ยังมี นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเอาลำโพงfloor standingใส่เข้าไปในตู้cabinetที่ทำให้เสียงของลำโพงไม่ดีเหมือนเสียงของลำโพงfloor standingวางไว้โล่งๆอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถ้าไม่มีทางเลือกจริงๆ(เช่นภรรยาสั่ง…ฮ่า ฮ่า) มีความจำเป็นพร้อมจำใจต้องเอาลำโพงใส่ไว้ในตู้ ภายในcabinetsก็ควรจะต้องมีการtreatmentด้านในตู้ยกตัวอย่างเช่นที่THXแนะนำเอาไว้

นี่คือสิบข้อที่ผมได้รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่างๆและประสบการณ์ที่เคยเจอ เลยเอามาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง แต่ไม่ต้องseriousมากว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้นไม่อย่างนั้นจะผิด เพราะปัญหาในห้องhome theaterหลายอย่างมันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้ารู้ปัญหาเราก็สามารถจะหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากกว่า แม้แต่ห้องของผมเองก็ยังมีหลายอย่างที่อยู่ในHome theater mistakesนี้ และเชื่อหรือไม่ครับขนาดว่าห้องฟังของเจ้าพ่อAcousticsในห้องเล็กอย่าง Dr.Floyd Tooleแกยังออกมาบอกเองเลยว่าทั้งๆที่รู้ว่าห้องรูปร่างแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่เหมาะที่จะทำเป็นห้องฟังขนาดเล็ก แต่ห้องดูหนังฟังเพลงที่บ้านของแกเองยังเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่เลย เพียงแต่แกรู้สาเหตุของปัญหาและสามารถแก้ไขได้ตรงจุด เสียงที่ออกมาจากห้องที่ไม่เหมาะสมแบบนี้ก็ให้เสียงที่ดีได้เหมือนกันครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Top Ten Home Theater Mistakes (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้