Article

Search

Projection Screens

เมื่อห้องhome theaterหรือบางคนก็เรียกว่าห้องhome cinemaใช้โปรเจคเตอร์และจอเป็นแหล่งกำเนิดภาพ ทั้งจอภาพและเครื่องโปรเจคเตอร์ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง เราจึงต้องมีความเข้าใจอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้จะได้เลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับห้องที่มีอยู่ ทั้งมีการติดตั้งที่ดี รวมถึงมีprofessional calibrationเพื่อให้แน่ใจว่าภาพที่ออกมาบนจอมีความถูกต้องตามที่ผู้กำกับ หรือคนทำหนังต้องการให้เราดู เมื่อดูหนังก็จะได้เสพอรรถรสตามที่เขาต้องการสื่อให้เราได้รับรู้ เข้าถึงอารมณ์ของภาพยนตร์นั้นๆได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องของจอภาพโปรเจคเตอร์ที่บางคนอาจจะยังสับสนอยู่บ้าง โดยเบื้องต้นขอแบ่งจอเหล่านี้ตามลักษณะการใช้งานก่อน ซึ่งสามารถแบ่งโดยทั่วไปได้สองแบบคือ จอแบบติดถาวร(fixed screen) และจอแบบเก็บได้(retractable) จอแบบติดถาวรจะเป็นจอที่ติดตั้งบนผนังโดยมีกรอบแข็งที่อาจจะทำจากโลหะ ไม้ วัสดุสังเคราะห์ต่างๆเพื่อเป็นโครงทำให้จอถูกขึงตึง หรือยึดติดไว้ตรงกลาง ส่วนจอแบบเก็บได้ที่เห็นทั่วไปจะเป็นแบบม้วนเก็บโดยใช้มือดึงขึ้นดึงลงเหมือนกับที่เราเห็นเป็นประจำในห้องเรียนที่ครูวิทยาศาสตร์จะยกมาไว้กลางห้องแล้วดึงลงมา แล้วพูดว่า เอ้า มาดูการทดลองนี้กัน เอ่อ…ดูไปจอแบบนี้ก็ให้อารมณ์เชิงวิชาการดีนะครับ ส่วนในห้องhome theaterบางทีก็จะเป็นแบบดูดีขึ้นมาคือเป็นมอเตอร์สามารถใช้รีโมทกดสั่งขึ้นลงได้และเนื้อจอสำหรับใช้ในห้องhome theaterก็มักจะเน้นคุณภาพของภาพในสิ่งแวดล้อมที่มืดมากกว่าจอที่ใช้ในห้องเรียน ห้องประชุมโดยทั่วๆไปที่มุ่งเน้นไปในเรื่องความสว่างเป็นหลัก

โดยส่วนตัวถ้าเป็นจอในห้องดูหนังผมชอบจอแบบติดแน่นมากกว่าแบบเก็บได้เนื่องจากเหตุผลสองสามประการ อย่างแรกถ้าเป็นเนื้อจอแบบเดียวกันราคาของจอแบบติดถาวรจะถูกกว่าแบบเก็บได้เนื่องจากแบบเก็บได้ต้องเพิ่มราคาค่ากลไก ค่ามอเตอร์ ค่าวัสดุต่างๆที่ต้องใช้เพิ่มเพื่อทำให้จอสามารถเก็บได้ ส่วนจอติดแน่นก็จะมีแต่ค่าโครงอย่างเดียว อย่างที่สองเพราะจอแบบติดถาวรไม่ต้องมีการม้วนขึ้นม้วนลงหรือดึงขึ้นดึงลง ทำให้ความตึงของจอจะเรียบสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ และอย่างที่สามการติดตั้งจอแบบติดถาวรจะง่ายกว่าเนื่องจากไม่จำเป็นต้องเตรียมไฟฟ้าสำหรับมอเตอร์เพื่อดึงจอขึ้นลงตามรีโมทสั่ง ดังนั้นถ้ามีคนให้แนะนำจอในห้องDedicated home theaterเพื่อดูหนังตัวเลือกแรกของผมก็คือจอแบบติดถาวร เพราะในเมื่อห้องใช้เพื่อดูหนังอย่างเดียวแล้วทำไมต้องซ่อนจอหนังเอาไว้ด้วย คิดว่าก็คงไม่มีความลับอะไรพิเศษซ่อนอยู่บนจอหรอกมั้งครับ อิ อิ อีกอย่างหนึ่งสำหรับจอแบบติดถาวรที่สำคัญก็คือเรื่องของขอบเฟรมที่จะให้ดีควรมีความหนาประมาณ 3-4นิ้ว พื้นผิวเป็นสีดำด้าน ดูดแสงได้ดีเพราะจะมีความสำคัญต่อภาพที่ปรากฏบนจอทำให้ภาพออกมาดูเด่น มีcontrastของภาพเพิ่มมากขึ้น และอีกอย่างหนึ่งการที่ขอบจอดูดแสงได้ดีจะช่วยเก็บภาพตามขอบๆที่บางทีเกินไปบ้าง เช่นการที่เราหลีกเลี่ยงการปรับแก้ภาพสี่เหลี่ยมคางหมู(keystone)ภายในเครื่องโปรเจคเตอร์เพื่อความชัดเจน ไม่มีการzoomภาพบางส่วน คงความเป็นpixel by pixelภายในภาพ เนื่องจากตัวโปรเจคเตอร์เองไม่ได้ถูกติดตั้งอยู่ตำแหน่งตรงกลางของจอ ก็อาจจะทำให้มีขอบของภาพเกินบ้าง ดังนั้นการที่ขอบของจอภาพสามารถดูดแสงพวกนี้ได้ก็ทำให้ภาพออกมาดูดีมากขึ้น แต่ถ้าเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงได้แต่เพียงเล็กน้อย แสงสะท้อนตรงขอบเฟรมก็มักจะเข้ามากวนทำให้คุณภาพของภาพที่ปรากฏอยู่ในจอภาพลดลง และเป็นจุดสะดุดตาตลอดเวลามองไปบริเวณนั้น

ในบางสถานการณ์ที่จอแบบติดถาวรไม่เหมาะสมก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้จอแบบเก็บได้ เช่นในห้องนั่งเล่นที่ต้องใช้งานหลายแบบ ถ้ามีจอขนาดใหญ่อยู่ก็อาจดูเกะกะ สมาชิกภายในบ้านก็คงไม่ค่อยชอบใจ บางบ้านก็อาจจะแก้ไขโดยมีทีวีจอเล็กๆวางอยู่เพื่อดูข่าวสาร ดูทีวี ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในบ้านตอนกลางวัน แล้วพอจะดูหนังตอนกลางคืนก็ค่อยใช้มอเตอร์เลื่อนจอโปรเจคเตอร์ลงมาแทนจอทีวี หรือบางท่านที่ให้ความสำคัญกับระบบฟังเพลง 2แชลแนล และต้องการจูนเสียงโดยให้วัสดุอคูสติกต่างๆอยู่ระหว่างลำโพงทั้งสอง โดยไม่ต้องการให้มีจอภาพมาขวางอยู่ตรงกลาง การใช้จอแบบเก็บได้ก็นับว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ดีทีเดียว ซึ่งถ้าจะใช้จอแบบนี้ก็ต้องศึกษาระบบจอของแต่ละยี่ห้อให้ดีเพราะรูปร่างลักษณะของจอและอุปกรณ์เพื่อใช้เก็บจออาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว บางตัวต้องเผื่อเนื้อที่สำหรับตัวมอเตอร์ หรือมีเนื้อที่ให้เพียงพอสำหรับกล่องของจอเมื่อม้วนขึ้นไปแล้วรวมถึงการเตรียมสายไฟ ปลั๊กต่างๆเผื่อไว้สำหรับระบบมอเตอร์ ปัญหาใหญ่อีกอย่างที่ต้องระวังสำหรับจอประเภทม้วนเก็บได้ก็คือเรื่องของความตึงของจอภาพเมื่อปล่อยจอลงมาเต็มที่แล้ว เพราะจอประเภทนี้ถ้าออกแบบไม่ดีในการเก็บจอ กางจอ เนื้อของจอจะไม่เรียบเป็นคลื่นได้ง่ายกว่าจอประเภทติดถาวรทำให้เห็นความผิดปกติของภาพได้ชัดเจนมากเวลาฉายภาพโปรเจคเตอร์ลงไป ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะใช้วิธีต่างกันในการทำให้จอมีความตึงและเรียบมากที่สุดทั่วทั้งจอเวลาฉาย ก็คงต้องดูกันเป็นแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นไปว่าแบบไหนถึงจะทำให้จอไม่มีรอยพับหรือรอยย่นหลังจากกางจอเต็มที่แล้ว พูดถึงจอแบบเก็บได้ก็สามารถแยกย่อยลงไปได้อีกตามระบบที่ใช้ดังนี้

  • แบบใช้มือดึง(Manual) แบบนี้จะประหยัดหน่อย ใช้กลไกในการล็อคจอ แต่ต้องระวังเรื่องการติดตั้ง กลไกและการดึงให้ดี ผมเคยได้ยินมาว่าบางทีติดตั้งบนเพดานหรือผนังที่ไม่แข็งแรง วัสดุผนังหรือเพดานร่วงหลุดออกมาเลยเวลาดึงแรงๆ
  • แบบใช้สวิตช์ติดข้างฝา(Wall Swith) จะดูดีขึ้นมาจากแบบมือดึงหน่อยแต่ก็ไม่ค่อยสะดวกสบายเวลาต้องคอยเทียวลุกเทียวนั่งในการเปิดปิดจอแต่ละครั้ง
  • ใช้รีโมทแบบคลื่นวิทยุ แบบนี้ผมว่าเจ๋งนะ ที่บ้านuniversal remoteของผมเองก็สั่งการแบบใช้คลื่นวิทยุ(Logitech Harmony Elite remote) เวลากดคำสั่งต่างๆก็ไม่จำเป็นต้องเล็งยิงรีโมทไปยังเครื่องตรงๆ ไม่ว่าอยู่จุดอับยังไงก็ยังสามารถกดรีโมทสั่งงานได้เพราะมันอาศัยคลื่นวิทยุไม่ใช่คลื่นInfra-redเหมือนรีโมททั่วไปที่คลื่นจะต้องถูกยิงตรงๆไปยังเซนเซอร์รับInfra-redบนเครื่อง
  • ใช้ต่อสายTriggerจากเครื่องโปรเจคเตอร์(Low-Voltage Trigger) วิธีนี้ดูเป็นวิธีที่ดูสะดวกสบายที่สุดเพราะเวลาเปิดเครื่องโปรเจคเตอร์จอก็จะได้รับสัญญาณไฟฟ้าจากโปรเจคเตอร์ให้จอเลื่อนลงมาเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อปิดเครื่องจอก็จะม้วนขึ้นไปเองอีกเช่นกัน แถมยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับรีโมทอีก แต่ข้อด้อยก็คือต้องมีการต่อสายไฟtrigger outputจากเครื่องโปรเจคเตอร์ไปยังจอ(หรือบางทีอาจจะต่อสายจากเครื่องเล่นอื่นๆที่สามารถส่งTriggerได้ในระบบ Automation system)
  • สายRS-232 มักจะพบในระบบจอที่ซับซ้อนเช่นมีระบบMasking หรือบังหน้าจอเพื่อให้ได้อัตราส่วนของจอตามที่ต้องการ เนื่องจากต้องมีคำสั่งหลายคำสั่งในการใช้งานเลยต้องใช้สายแบบRS-232ที่สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่า และมีความเสถียรกว่ารีโมทแบบอื่นๆ
  • Infra-red แบบนี้ก็คือใช้สัญญาณคลื่นแบบรีโมททั่วไป ซึ่งนับว่าถูก ง่าย สะดวกในการจัดหา เวลาเสียก็หารีโมทแทนได้ง่าย ใช้ร่วมกับuniversal remoteแบบต่างๆได้เลย

ความจริงถ้าจะแบ่งแบบนี้ยังมีอีกประเภทหนึ่ง หรืออาจจะไม่เรียกอีกประเภทหนึ่งก็ได้ ก็คือใช้การทาสีขาวที่ผนังเอาเลย ผมเห็นหลายคนก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะใช้จอไปทำไม ผนังของเขาก็สีขาว จอภาพก็สีขาวแล้วจะเสียเงินซื้อจอแพงๆอีกทำไม แบบนี้ต้องตอบว่าใช่เราสามารถฉายภาพของโปรเจคเตอร์ลงไปบนผนังสีขาวได้และมีภาพด้วย แต่ภาพที่ได้มันไม่ใช่ภาพที่ดีนัก เนื่องจากผนังมันมีเนื้อผนังที่หยายละเอียดต่างกัน และส่วนมากก็ไม่เรียบ มีความบกพร่องของพื้นผิวฯลฯ เหล่านี้ล้วนจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อถูกแสงจากโปรเจคเตอร์ฉายเข้าไป บางคนก็อาจจะใช้การทาสีขาว ซ้ำไปมาหลายๆรอบเพื่อให้ผิวเรียบที่สุด แต่อีกปัญหาก็คือแล้วจะใช้สีขาวตัวไหนเพราะแค่สีขาวที่มีขายในท้องตลาดก็แบ่งได้หลายขาวมาก ไม่ว่าจะขาวไข่มุก ขาวหิมะ ขาวงาช้าง ขาวเปลือกไข่ ขาวแป้ง ขาวดอกแดซี่ และอีกหลายขาว ซึ่งแต่ละแบบก็ให้สี การสะท้อนที่แตกต่างกัน โดยจุดประสงค์หลักของจอภาพกับสีที่ทาก็ต่างกัน จอรับภาพโปรเจคเตอร์จะถูกออกแบบมาเพื่อให้แสงที่เข้าไปกระทบสะท้อนออกมายังผู้ชมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแต่สีที่ใช้ทาทั่วไปถูกออกแบบมาเน้นให้มีการกระจายและเกลี่ยแสงให้สะท้อนออกมา ซึ่งส่วนมากจะทำให้ภาพสูญเสียความสวยงาม contrastของภาพ แล้วเวลาทาสีมันก็เลือกไม่ได้ด้วยว่าจะทาสียังไงให้แสงออกมาดีตรงเฉพาะตำแหน่งนังฟัง หรือนั่งหลุดไปเล็กน้อยก็ยังให้ภาพที่ดีเหมือนตรงกลาง หรือจะทายังไงให้ได้อุณหภูมิสี 6500ตามมาตรฐานทุกตำแหน่งนั่ง สรุปคือยากครับถ้าจะเอากันจริงๆ แต่ถ้าเป็นแบบHard core DIYอันนี้ไม่ว่ากันเพราะส่วนหนึ่งก็เป็นความสนุกที่ได้ทำ และเป็นความภูมิใจถ้าภาพที่ได้ออกมาดีใกล้เคียงกับจอรับภาพแท้ๆ อย่างในต่างประเทศก็มีสีใช้ทาโดยเฉพาะที่ถูกออกแบบมาพิเศษสำหรับทาสีผนังเพื่อใช้เป็นพื้นที่ฉายเช่นของScreen Goo System, Paint on Screenเป็นต้น แต่ราคาก็ถือว่าไม่ถูกเลย บางทีแพงกว่าค่าจอจริงๆเสียอีก ใครสนใจก็ลองหามาใช้ดูได้ครับ

คราวนี้ผมขอแยกจอแต่ละประเภทตามที่ได้ยินกันบ่อยๆจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า หมายถึงจอแบบไหนและแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสีย คำแนะนำในการใช้งานยังไงกันบ้าง

  • Matte White screensลักษณะจอเป็นสีขาวด้านที่เราเห็นบ่อยๆในท้องตลาด จอประเภทนี้จะมีการสะท้อนแสงจากโปรเจคเตอร์เป็นบริเวณกว้าง จึงเหมาะสำหรับห้องที่มีตำแหน่งนั่งดูหนังหลายๆตำแหน่งจากด้านข้างหนึ่งของจอจนถึงอีกข้างหนึ่งของจอ ซึ่งส่วนมากจอพวกนี้จะมีเกรนของจออยู่ที่ประมาณ 1.0 ซึ่งความหมายคร่าวๆก็คือมีแสงเข้าไปหนึ่งส่วนก็สะท้อนออกมาหนึ่งส่วนตลอดบริเวณนั่งชมตามองศาความครอบคลุมที่จอระบุเอาไว้ ไม่มีการดูดแสงหรือรวมแสงไปยังจุดกึ่งกลางcenter axisแต่อย่างไร
  • High Gain screens เป็นจอที่ออกแบบมาให้มีการสะท้อนแสงออกนอกแนวกึ่งกลางจอให้น้อยที่สุด ทำให้แสงบริเวณตำแหน่งนั่งกลางจอมีความเข้มมากจึงทำให้เป็นจอที่มีgainของจอสูงกว่า1.0 เหมาะสมกับห้องดูหนังที่มีตำแหน่งนั่งดูตรงกลางไม่กี่ตำแหน่ง(narrower viewing angle)เพราะแสงจากจอภาพจะกระจายออกด้านข้างไม่มากเท่าไร และข้อดีอีกอย่างของจอประเภทนี้ที่นอกเหนือจากจะทำให้brightnessบริเวณนั่งดูมากขึ้นก็คือเมื่อมีการfocusของแสงเน้นไปอยู่ตรงกลางจอ มันก็จึงทำให้แสงสะท้อนจากผนังน้อยลงด้วยทำให้แสงที่สะท้อนจากสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบๆจอภาพมีผลต่อภาพบนจอลดลง
  • Gray screens เป็นจอสีเทาที่ทำให้ภาพออกมาจากจอมีcontrastของภาพมากขึ้น เหมาะกับโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างสูงแต่ให้ความดำของภาพไม่ดีนัก เพราะgainของจอประเภทนี้ส่วนมากจะมีค่าต่ำ ต้องใช้แสงมาก แต่ที่ได้มาคือภาพมีความดำมากขึ้น ความสวยงามของภาพก็จะมากกว่าภาพที่มีcontrastของภาพต่ำๆ ดังนั้นจอประเภทนี้จึงเหมาะสมกับเครื่องโปรเจคเตอร์ประเภทDLP ที่ส่วนมากจะมีความสว่างสูงแต่มีcontrastหรือความดำของภาพไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์ประเภทอื่น
  • Acoustically Transparent Front Projection screens ที่เรียกกันบ่อยๆว่าจอรู จอพวกนี้จะมีรูเล็กๆทำให้เสียงลอดผ่านออกมาได้ทำให้สามารถวางลำโพงโดยเฉพาะลำโพงcenterไว้หลังจอได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งในอุดมคติของลำโพงcenterที่จะทำให้มีเสียงออกมาจากกลางจอ เสียงพูด เสียงเหตุการณ์ต่างๆก็จะออกจากจอภาพ มองไม่เห็นลำโพงด้านหน้าที่จะดึงดูดความสนใจไป ทำให้เพิ่มความสมจริงของภาพยนต์ที่กำลังดูมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจอประเภทนี้จะทำให้เสียงผ่านได้แต่บางทีก็อาจจะต้องมีการEQ เพิ่มเติมเพื่อทำให้ความถี่full spectrumของเสียงสามารถออกมาได้เท่าๆกันเมื่อเสียงผ่านออกมาจากจอภาพแล้ว นอกจากนี้แล้วข้อเสียหลักๆของจอรูพวกนี้คือถ้ารูมีขนาดใหญ่ก็สามารถมองเห็นรูได้ง่ายเวลาดูหนัง หน้าของดาราก็อาจจะมีสิวเกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งส่วนมากแล้วรูพวกนี้จะเห็นได้ง่ายมากในฉากที่สว่างๆหน่อย วิธีแก้ก็อาจจะต้องนั่งห่างจอภาพให้มากขึ้น หรือใช้จอที่มีรูมีขนาดเล็กลงพวกจอถักต่างๆแต่อย่าลืมว่ายิ่งรูเล็กลงเสียงก็ผ่านออกมาได้ยากมากขึ้นก็ต้องวัดspectrumของเสียงและทำการEQเสียงเพื่อให้แน่ใจว่าเสียงที่ออกมาจากจอไม่มีความถี่บางย่างความถี่หายไป อีกอย่างหนึ่งจอรูจะมีแสงหลุดลอดออกไปด้านหลังได้มากกว่าจอปกติจึงเหมาะกับโปรเจคเตอร์ที่สว่างซักหน่อย อีกทั้งแสงที่หลุดออกไปหลังจออาจจะสะท้อนออกมาได้ง่ายถ้าด้านหลังของจอมีสีขาว ดังนั้นด้านหลังของจอควรเป็นสีดำด้านที่ไม่สะท้อนแสง รวมถึงลำโพงหรือวัสดุacousticsต่างๆก็ไม่ควรจะเป็นอะไรที่สะท้อนแสงจะดีกว่า อีกข้อหนึ่งที่ควรระวังไว้สำหรับจอรูก็คือเรื่องของmoiré(มอเร่) effect โดยเกิดจากรูของจอโปรเจคเตอร์ไปซ้อนทับกับรูปแบบpixelของโปรเจคเตอร์ที่ฉายลงไป โครงสร้างทั้งสองส่วนจะทำให้เรามองเห็นเป็นเส้นขวางอยู่บนจอภาพ นึกภาพง่ายๆเหมือนเรามองผ่านตะแกรงหรือมุ้งลวดซ้อนกันสองอัน สายตาก็จะมองเห็นเป็นเหมือนเส้นพาดอยู่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นบนจอแบบรูหรือแบบถักที่มีรูขนาดใหญ่หรือมีรูปแบบของรูกระจายไม่สม่ำเสมอ ร่วมกับการฉายภาพที่มีความละเอียดสูง โดยปกติความละเอียดภาพระดับ 720pจะไม่พบ moiré effect แต่เมื่อความละเอียดของโปรเจคเตอร์มากขึ้นเป็น 1080p หรือ UHD ปรากฏการณ์นี้ก็มีโอกาสพบได้มากขึ้น การป้องกันก็ต้องเลือกเนื้อจอที่มีความเรียบมากขึ้นถ้าต้องใช้กับโปรเจคเตอร์ที่มีความละเอียดมากขึ้น บางยี่ห้อก็จะใช้วัสดุของเนื้อจอที่พิเศษหรือใช้เทคโนโลยีบางอย่างทำให้ลดการเกิดปรากฏการณ์นี้(moiré-free, moiré resistant designs)
  • Rear Projection screens ที่มีขายอยู่ในตลาดจะมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดเป็นการออกแบบเพื่อวางโปรเจคเตอร์เอาไว้ด้านหลังจอคนละฝั่งกับคนดู ดังนั้นด้านหลังจอต้องมีพื้นที่พอสมควรหรือถ้าเนื้อที่ไม่พออาจจะต้องหาระบบโปรเจคเตอร์แบบที่สะท้อนกระจกเพื่อลดระยะฉาย และนอกจากนั้นด้านหลังจอต้องมืดสนิทภาพถึงจะออกมาดี ส่วนมากจะเห็นใช้ในงานโฆษณา เพราะแสงจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตำแหน่งนั่งชมมีผลต่อภาพน้อยกว่าโปรเจคเตอร์แบบฉายด้านหน้า
  • Curved screens ส่วนมากใช้สำหรับฉายภาพอัตราส่วน 2.35 หรือ 2.40:1 เพราะภาพที่มีความกว้างมากๆจะเกิดการบิดเบี้ยว(distort)ทั้งรูปร่างและสีสันที่บริเวณส่วนขอบของจอ การใช้จอแบบโค้งก็เพื่อลดปัญหาเรื่องภาพบิดเบี้ยวและทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพมีสีที่ถูกต้อง ไม่เพี้ยน มีความสว่างของภาพเท่ากันจากขอบด้านหนึ่งจนไปยังขอบอีกด้านหนึ่ง
  • Screen Masking เป็นการปิดส่วนไม่ได้ใช้ของจอภาพที่มีอัตราส่วนของภาพต่างๆกัน โดยใช้วัสดุสีดำที่ไม่มีการสะท้อนแสงเพื่อทำให้ภาพดูมีcontrastเพิ่มมากขึ้น มีความโดดเด่นสวยงาม ซึ่งในท้องตลาดส่วนมากจะทำการปิดเพื่อเปลี่ยนแปลงในความกว้างของภาพ โดยยังคงความสูงของจอภาพเท่าเดิม

ส่วนจอรับภาพโปรเจคเตอร์ที่บอกว่าเป็นวัสดุจอภาพแบบ 4K Ready, 4K Approveหรือ 8K Ready ความจริงแล้วน่าจะสื่อถึงว่าจอเหล่านี้มีความเรียบเพียงพอเมื่อฉายภาพความละเอียดระดับ4Kไม่ทำให้รู้สึกถึงความผิดปกติของภาพ เพราะในความเป็นจริงแล้วจอภาพจะไม่ทำให้ความละเอียดของภาพเปลี่ยนไป ดังนั้นเมื่อฉายภาพระดับ4Kเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นผนังไหน จอไหนก็ตามภาพที่ออกมาก็ยังเป็น4Kอยู่ หรือฉายลงบนเสื้อสีขาวภาพที่ออกมาก็ยังเป็นภาพที่ความละเอียด4Kอยู่ดี เพียงแต่ความเนียนความsmoothของภาพก็ตามวัสดุที่ถูกฉายลงไป ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดว่าจอนี้เป็นจอ1080p ถ้าฉายภาพ4Kเข้าไปภาพจะกลายเป็น1080p ความจริงแล้วภาพที่ออกมาก็เป็นภาพ4K หรือแม้กระทั่งฉายภาพ8K เข้าไปภาพที่ออกมาก็มีความละเอียดของpixelเป็น8Kอยู่ดี

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือว่าจอโปรเจคเตอร์ เป็นหนึ่งในสามส่วนที่มีอิทธิพลต่อภาพของห้องhome theater อีกสองส่วนที่สำคัญคือเครื่องโปรเจคเตอร์เอง และส่วนที่สามคือสิ่งแวดล้อมของห้องที่เปิดภาพอยู่ professional calibrationจะทำการcalibrationทั้งสามส่วนให้สอดคล้องกันเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ของภาพที่ถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน องค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งดีอย่างเดียวแต่ส่วนอื่นๆไม่ดีก็จะทำให้คุณภาพของภาพที่ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นprofessional calibrationจึงมีความจำเป็นถ้าเราต้องการให้ภาพออกมาดีที่สุด เพื่อทำให้ทั้งสามส่วนหลักที่มีผลต่อภาพทำงานเข้ากัน เพราะบางทีถึงแม้ว่าบริษัททำโปรเจคเตอร์จะมีค่าpresetต่างๆมากมายอยู่ในเครื่อง ตัวโปรเจคเตอร์เองไม่มีทางรู้ว่าถูกเอาไปใช้ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน จอชนิดไหนบ้าง เขาก็จะตั้งค่าเฉลี่ยกลางๆเอาไว้แต่ยังไงก็ตามก็ไม่ใช่ค่าที่เหมาะสมที่สุดในสิ่งแวดล้อมเฉพาะหนึ่งๆ ดังนั้นถ้าเรามีจอภาพดี เครื่องโปรเจคเตอร์คุณภาพสูง ห้องที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมสำหรับโปรเจคเตอร์และต้องการให้ได้ภาพออกมามีคุณภาพดีที่สุด อย่าลืมทำการปรับภาพแบบprofessional calibrationด้วย แต่ถ้าไม่มีความรู้ในด้านนี้ก็สามารถเรียกช่างปรับภาพที่ได้มาตรฐานมาปรับภาพให้ ก็จะช่วยทำให้ภาพในห้องhome theaterของเรามีความสวยงามถูกต้องเหมาะสม ดูหนังสนุก และดูได้นานอย่างไม่ล้าสายตา นานวันเข้าก็จะทำให้รู้ว่ามันดีกว่าภาพที่เขาpresetจากโรงงานเป็นไหนๆครับ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าจอภาพนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่มีส่วนสำคัญทำให้ภาพจากโปรเจคเตอร์ออกมาสมบูรณ์ ถูกต้อง สวยงามระดับไหน ดังนั้นการเข้าใจพื้นฐาน หลักการ จอภาพแต่ละแบบ แต่ละประเภท ก็จะทำให้สามารถเลือกใช้จอภาพได้ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมและตัวโปรเจคเตอร์ที่ใช้อยู่

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Projection Screens (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้