Article

Search

VIDEO TECHNOLYGIES 2

ฉบับที่แล้วได้พูดถึงหลักการ การแสดงภาพของสื่อแสดงภาพแบบต่างๆ ได้แก่

  • CRT
  • LCD
  • PDP
  • Quantum-Dot

ใครยังไม่ได้ได้อ่าน ลองหาอ่านได้ตามนิตยสารฉบับเดือนที่แล้ว เผื่อจะได้พอทราบแนวคิดพื้นฐานการออกแบบจอภาพตั้งแต่แรกๆ ส่วนฉบับนี้ก็จะมาต่อในเรื่องเทคโนโลยีของการแสดงภาพในแบบอื่นๆที่เหลือซึ่งได้แก่

  • OLED
  • LCoS
  • DLP
  • Laser

มาเริ่มกันจากเทคโนโลยีใหม่อีกตัวที่เริ่มคุ้นเคยชื่อกันแล้วตามโฆษณาขายจอทีวีว่าOLED ซึ่งชื่อเต็มๆของมันคือ Organic Light-Emitting Diode หรือชื่ออย่างเป็นทางการของมันจะเรียกสั้นๆว่าOEL(organic electro-luminescent)แต่ในชีวิตจริงเรามักจะคุ้นกับO-L-E-Dเสียมากกว่า

หลักการคร่าวๆก็คือจะใช้เทคโนโลยีที่สารอินทรีย์จะเปล่งแสงได้เองเมื่อรับพลังงานไฟฟ้าเข้าไป(organic light-emitting diode technology) ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงไม่ต้องการพึ่งพาไฟด้านหลัง(backlighting)เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งก็จะคล้ายๆกับจอพลาสมาที่ไม่ต้องการแสงจากทางด้านหลังเหมือนกันเพราะแต่ละpexelสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวของมันเอง มันจึงทำให้จอOLEDนี้มีความดำที่ดีเนื่องจากเมื่อไม่ต้องใช้pixelไหนก็สามารถปิดกระแสไฟตรงนั้นได้เลยทำให้ไม่มีแสงออกมา เพราะบางทีการใช้ไฟที่ส่องมาจากด้านหลังอาจมีแสงเล็ดลอดออกมาได้ถึงแม้จะทำการปิดpixelนั้นๆแล้ว ดังนั้นจอOLEDมันจึงมีcontrast ratiosที่สูงมากทำให้ภาพมีความสวยงาม

นอกจากนี้แล้วมันยังทำให้การตอบสนอง(response rate)ของจอประเภทนี้ทำได้รวดเร็ว สีสันมีความแม่นยำสูง ข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำจอOLEDได้บางมากๆเนื่องจากตัวโครงสร้างของวัสดุอินทรีย์ที่ใช้มีโมเลกุลขนาดเล็กมาก(OLEDs,AMOLEDs) มีความหนาแค่ประมาณ 100-500นาโนเมตร คิดง่ายๆก็บางกว่าเส้นผมมนุษย์หลายร้อยเท่า มันจึงพัฒนาเพื่อทำเป็นจอที่มีความบางระดับแผ่นฟิล์ม สามารถดัดโคงงอได้ หรือทำเป็นจอบางๆใสๆเหมือนในหนังที่เราเห็นบ่อยๆว่าเวลาจะแสดงความทันสมัยเขาจะใช้จอแบบใสๆกัน ในปัจจุบันเทคโนโลยีOLEDนี้ได้เริ่มนำมาใช้มากขึ้นในการทำจอที่มีสีสันในขนาดเล็กๆเช่นในหน้าจอวิทยุติดรถยนต์ หน้าจอกล้องดิจิตอล หน้าจอโทรศํพท์มือถือเป็นต้น เพราะนอกเหนือจากข้อดีข้างต้นแล้วมันยังกินไฟน้อย สามารถให้มุมของการมองที่กว้าง(wide viewing angle)อีกด้วย

แต่ไม่ใช่ว่าOLEDจะดีไปเสียหมด มันก็ยังมีปัญหาสำหรับโทคโนโลยีนี้อยู่โดยเฉพาะในเรื่องของ OLEDสีน้ำเงินที่มีอายุการใช้งานน้อยแค่ประมาณพันกว่าชั่วโมงเท่านั้นในขณะที่ OLEDสีแดงและสีเขียวมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10,000-40,000ชั่วโมงกันเลยทีเดียว มันจึงส่งผลให้อายุการใช้งานของจอประเภทนี้สั้น และจะมีปัญหาเรื่องความสมดุลย์ของสีเมื่อเริ่มใช้งานยาวนานมากขึ้น ส่วนตัวสารอินทรีย์ของOLEDก็สามารถถูกทำลายได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความชื้น นอกเหนือจากนี้ก็อาจจะเจอปัญหาเรื่องภาพค้างเนื่องจากเปิดภาพเดิมทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ(screen burn in)เช่นเดียวกับจอพลาสมาอย่างที่กล่าวไว้แล้วเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องตามดูต่อไปว่าปัญหาเหล่านี้จะสามารถแก้ไขได้ในระดับไหนในอนาคตเมื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้นและมีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และที่สำคัญอีกนานแค่ไหน…..

ต่อมาคือเทคโนโลยีDLP หรือชื่อเต็มๆDigial Light Processing เชื่อว่าแทบทุกคนที่คลุกคลีอยู่กับHome theaterต้องคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ไม่มากก็น้อยเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในจอโปรเจคเตอร์และทีวีมาร่วมสิบปีแล้ว เป็นการพัฒนาของบริษัทTexas Instruments(TI) ภายใต้การผลิตของDr.Larry Hornbeckตั้งแต่ปี1987 โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นdigitalทั้งหมด และน่าจะเป็นnanotechnologyตัวแรกที่ใช้ในอุตสาหกรรมการแสดงภาพ หัวใจของมันก็คือตัวchipที่เรียกว่าDMD ที่มีขนาดใหญ่เท่ากับนิ้วหัวแม่มือแต่เชื่อไหมครับว่าเจ้าตัวchipนี้บรรจุกระจกขนาดเล็กๆที่บิดไปมาได้มากกว่า2ล้านชิ้นอยู่ในนั้น(ที่ความละเอียดระดับ1080p) โดยขนาดของกระจกแต่ละชิ้นจะเท่ากับ16×16ไมครอน

นึกภาพง่ายๆก็ประมาณหนึ่งในห้าของความหนาของเส้นผมเราลองดูภาพที่เทียบกับขามดดูสิครับ โอ้แม่เจ้านึกไม่ออกเลยว่าผลิตกันมาได้อย่างไรเรียกได้ว่าใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงมากในการผลิตเลย และนับตั้งแต่ปี1996เป็นต้นมาทาง TI ได้ขายเจ้าchipนี้ที่อยู่ในเครื่องฉายภาพแบบต่างๆไปมากกว่าแปดล้านเครื่องแล้ว

หลักการทำงานของมันก็คือเมื่อสัญญาณdigital videoส่งมาที่chipว่าจะให้เปิดหรือปิดแสงตรงpixelนั้นๆ ตัวกระจกชิ้นเล็กๆที่อยู่บนchipก็จะถูกสั่งให้เปิดแสงโดยการหมุนให้กระจกสะท้อนแสงออกไปยังเลนส์ แต่ถ้าถูกสั่งให้ปิดแสงตัวกระจกก็หันหมุนให้แสงไปกระทบที่ตัวดูดซับแสงแทน(light absorber) โดยการหมุนของกระจกนี้จะหมุนกลับไปมาหลายหมื่นครั้งต่อวินาทีทีเดียว ส่วนแสงที่จะมากระทบกับกระจกจะมาจากหลอดไฟแล้วผ่านวงล้อสี ที่มีสีแดง เขียว น้ำเงินและขาว หรือบางทีอาจจะมีถึงเจ็ดสีเลย เพื่อเลือกเอาสีใดสีหนึ่งตกลงไปบนกระจกสะท้อนแสง เมื่อDMDชิปมีการบิดของกระจกสัมพันธ์กับการหมุนของวงล้อที่มีความเร็วระดับหลายพันรอบต่อนาทีก็จะทำให้เกิดแสงที่ต้องการในpixelนั้นๆซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการของSingle Chip DLP

แต่มีอีกแบบหนึ่งที่เราเรียกกันว่า Three Chip DLPที่หลักการจะต่างกับSingle Chip DLPโดย ตัวThree Chipจะไม่มีการใช้วงล้อสีเลย แต่จะใช้prismเพื่อแยกแสงออกเป็นสีพื้นฐานสามสีคือแดง เขียวและน้ำเงิน และแสงในแต่ละสีจะถูกส่งไปยังDLP Chipของตัวเอง แล้วแต่ละchipก็จะทำการประมวลผลของแสงแต่ละสีแยกกันเลย แล้วนำเอาแสงแต่ละสีมารวมกันเพื่อส่งผ่านตัวเลนส์สู่จอภาพต่อไป

จากหลักการของThree Chip DLPจะเห็นได้ว่าไม่ต้องการในส่วนของวงล้อสีที่หมุน ทำให้ภาพที่ออกมามีความแน่นอนและคุณภาพมากกว่าSingle Chip DLP ที่การใช้วงล้อสีหมุนจะทำให้เกิดRainbow effectหรือแสงสีต่างๆหลุดออกมาได้ถ้าวงล้อสีกับการหมุนของกระจกในDMDชิปไม่สัมพันธ์กัน แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาแบบต่างๆเพื่อลดRainbow effectลง ทั้งปรับความเร็วการหมุน เพิ่มจำนวนสีบนวงล้อ ก็แทบจะเห็นRainbow effectน้อยลงมาก หรือจะเห็นได้แค่ในคนบางคนเท่านั้น แต่ที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือการที่เราจ้องภาพที่เกิดจากการหมุนของวงล้อมากๆจะทำให้เกิดอาการล้าที่สายตาหรือปวดตาได้ง่าย ส่วนข้อเสียอื่นๆเล็กน้อยก็คืออาจจะเห็นScreen door effectหรือเห็นเป็นตารางของpixelได้บ้างในรุ่นที่ออกแบบมาไม่ดี แต่ข้อดีของSingle Chip DLPก็คือจะให้ภาพที่คม สดใสเพราะอาศัยการสะท้อนของกระจกเลย แถมราคาในปัจจุบันไม่แพงมากเนื่องจากมีความนิยมใช้กันมากขึ้น ซึ่งจะต่างจากThree chip DLPที่จะมีราคาแพงมากอย่างในปัจจุบันถ้าที่ความละเอียดระดับ1080p ราคาของThree chip DLPนี่ราคาว่ากันเป็นหลักล้านบาทเลยทีเดียว แต่เท่าที่ผมเคยดูภาพมาต้องบอกว่าภาพที่ได้จากThree chip DLPนี่ถือว่าเทพมาก เนื่องจากเป็นการสะท้อนแสงของกระจกโดยแสงจะผ่านchipในแต่ละสีของใครของมันเลย ภาพจึงมีความแน่นอนมาก มีความสวยงาม คุณภาพดี มีความคมชัดสูง และ ที่สำคัญไม่มีrainbow effectเพราะไม่มีส่วนใดของเครื่องที่เคลื่อนไหว ทำให้เวลาดูภาพไม่เกิดอาการล้าสายตาเหมือนกับSingle chip DLP

มาถึงอีกตัวที่มาใหม่ก็คือ DLP Laser Technology ได้ถูกเปิดตัวใช้เพื่อเป็นจอแสดงภาพเมื่อปี2006 ลักษณะการใช้งานก็เหมือนกับthree chip DLP โดยที่แสงแม่สีแต่ละสีจะมาจากแสงlaserผ่านDMD chipแต่ละตัว ไม่ต้องมีการใช้วงล้อสีแต่อย่างใด

แต่ปัญหาใหญ่ของการใช้แสงlaserเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดแสงสำหรับDLP ก็คือลำแสงlaser สีน้ำเงินและเขียวแท้ๆ ยังไม่สามารถผลิตออกมาได้ตรงๆเนื่องจากความยากในการผลิตที่ต้องหาแหล่งpowerมหาศาลในอุณหภูมิห้องปกติ และปัญหาเรื่องอายุการใช้งาน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเริ่มต้นจากแสงlaserสีแดงแล้วทำการเปลี่ยนคลื่นความถี่ของมันเพื่อแปลงให้มันกลายเป็นแสงสีเขียวและน้ำเงิน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าแสงจากlaserให้ความกว้างของเฉดสีที่ดี และเที่ยงตรง และถ้าไม่นับว่าเครื่องจะมีอุณหภูมิสูงแล้ว laserถือว่าเป็นการใช้พลังงานที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับแสงที่ออกมากับพลังงานที่ใช้ไป อายุการใช้งานของLight sourceก็ยาวนาน

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีDLPในปัจจุบันเราก็อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นเท่าไร่เพราะก็เห็นได้โดยทั่วไปในเครื่องprojector หรือทีวีในระดับราคาที่ไม่แพงมากนัก แต่รู้ไหมครับว่าเทคโนโลยีDLPนี้เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนการชมภาพยนต์ในโรงภาพยนต์ครั้งใหญ่ของโลกและการผลิตภาพยนต์ของอุตสาหกรรมภาพยนต์ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ลองมาฟังความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีนี้กันดู อย่างที่ผมกล่าวไว้เมื่อย่อหน้าก่อนนี้ว่าผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีนี้คือ Dr.Larry Hornbeck วิศวกรที่ทำงานให้กับTexas Instruments(TI) ซึ่งในงานประกาศผลรางวัลOscarล่าสุดครั้งที่87 ในปี2015 เขาได้รับรางวัลออสการ์ในด้านวิทยาศาสต์และเทคโนโลยี(Academy Awards of Merit®, Scientific and Technical Achievement)

Dr. Larry Hornbeck during the Academy of Motion Picture Arts and Sciences’ Scientific and Technical Achievement Awards on February 7, 2015, in Beverly Hills, California.

Dr.Hornbeckได้เดินขึ้นpodiumบนเวทีออสการ์พร้อมชู DMD chipขนาดเท่าแสตมป์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นและก็พูดว่า”ไม่น่าเชื่อเลยว่ามันมีกระจกแบบดิจิตอลเล็กๆอยู่ถึง8ล้านชิ้นอยู่บนตัวนี้ แล้วใครจะคิดอีกว่าสิ่งประดิษฐ์นี้จะเปลี่ยนโลกของการชมภาพยนต์ไป” ที่เขากล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการผลิต การจำหน่าย และการรับชมของอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่เปลี่ยนจากการใช้ฟิล์ม35-mm มาเป็นระบบdigital cinemaและใช้DMDchip ในปัจจุบันนี้นับได้ว่าเกือบทั่วโลกแล้วที่เปลี่ยนจากระบบฟิล์มเป็นระบบdigital ซึ่งในโรงdigital cinemaมากกว่าแปดในสิบโรงจะพบว่าใช้ระบบDLP Cinema technology ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะDLP Cinema technology ให้ภาพที่สว่าง สีสันสดใสเมื่อเทียบกับฟิล์ม 35-mmแบบเดิม ทั้งยังง่ายต่อสตูดิโอในการจัดเก็บ จัดจำหน่ายจ่ายแจกไปยังโรงภาพยนต์ต่างๆ ส่วนผู้ชมก็จะได้รับประสบการณ์การรับชมที่ใกล้เคียงกับที่ผู้สร้างได้ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น

Dr.Larry Hornbeckเล่าให้ฟังว่าเขาได้ความคิดนี้ตอนเขากำลังขับรถปิ๊กอัพ Chevyไปตามถนนช่วงปี ค.ศ.1977 เขาได้สังเกตุเห็นแสงสะท้อนจากกระจกที่ประตูมันเปิด-ปิด ทำให้เกิดแสงสะท้อนที่เปิดปิดไปมา และเมื่อเขานั่งชมฟุตบอลอยู่บนสเตเดียมเขาก็ได้สังเกตุเห็นแฟนฟุตบอลหมุนflash cardsไปมาทำให้เกิดแสงสะท้อนที่เปิดๆปิดๆ Dr.Hornbeckบอกว่าเวลาที่เขาค้นพบนั้นความรู้สึกของเขามันช่าง”EUREKA”มาก จนเขาได้นำความคิดนี้ไปปรึกษากับทีมวิศวกรของTexas Instruments และจึงเริ่มมีการพัฒนาDMD chipตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งการพัฒนาในช่วงแรกๆนั้นมันท้าทายและยากลำบากมากเนื่องจากเทคโนโลยีในด้านการผลิตยังไม่สามารถทำงานชิ้นเล็กๆ และต้องการความแม่นยำสูงระดับนี้ได้ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1987 Texas Instrumentsจึงสามารถพัฒนา DMDออกมาเป็น DLP chipที่เรารู้จักได้ในที่สุด หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาปรับปรุงมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน และล่าสุดที่งานCEDIA 2015ที่ Dallas ทางTexas Instrumentได้นำ 4K DMD chipที่ยังเป็นตัวต้นแบบเอาใส่ไว้ในกล่องอลูมิเนียมธรรมดามาแสดง โดยที่ยังเป็นsingle-chip projectorsอยู่ส่วนตัว 3-chip designกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเนื่องจากติดที่ความยุ่งยากในเรื่องการเรียงsubpixel แต่แค่เป็นตัวsingle-chip คนที่ไปชมงานแล้วได้ดู chipตัวใหม่ของTI ล้วนแต่บอกว่าให้ภาพที่สว่าง คมชัด สีสันสวยงาม ตามแบบฉบับของDLPเลยทีเดียว

เทคโนโลยีสุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือ LCoS หรือ Liquid Crystal on Silicon โดยเทคโนโลยีนี้เกิดจากการประยุกต์เอาเทคโนโลยีของLCDและDLP เพื่อเอาข้อดีของทั้งLCD และ DLPมาใช้ ซึ่งหลายๆบริษัทได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์แสดงภาพของตัวเองและเรียกชื่อแบบต่างๆกันไปเช่นD-ILAหรือHD-ILA

หลักการคร่าวๆก็คือLCoSประกอบไปด้วยชั้นของliquid crystal(เทคโนโลยีของLCD) ที่วางไว้บนวัสดุที่มีการสะท้อนแสงสูง(เทคโนโลยีreflectiveของDLP) ส่วนด้านล่างจะเป็นวงจรอิเล็คโทรนิคที่ใช้เพื่อกระตุ้นPixel โดยทั่วไปLCoS chipจะใช้3chipแยกจากกันในแต่ละแม่สีหลัก แล้วค่อยเอาแสงมารวมกันผ่านเลนส์ไปยังจอภาพ ข้อดีของจอภาพแบบLCoSก็คือให้สีที่สวยงาม, มีcontrast ratiosสูง, มีช่องว่างระหว่างpixelsน้อยทำให้ไม่มีscreen door effect และมีความเร็วของpixelในการแสดงภาพสูง(response times)ทำให้ได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้smoothใกล้เคียงจากฟิล์มภาพยนต์ อย่างไรก็ตามอาจจะมีบ้างในจอLCoSที่คุณไม่ดีเท่าไหร่ที่พบว่ามีการค้างของภาพ(image lag)เมื่อเจอกับฉากที่มีวัตถุเคลื่อนไหวเร็วๆเช่นในฉากระเบิดหรือเล่นกีฬา ส่วนปัญหาเรื่องburn inที่เป็นภาพค้างติดหน้าจอก็ไม่ค่อยเจอซักเท่าไร่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าข้อดีเหล่านี้ของจอภาพLCoSได้มาจากการเอาข้อดีของDLPและLCDมารวมกัน ส่วนข้อเสียของจอLCoSก็มีเหมือนกันคือ Contrast ratioที่โฆษณาไว้ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท และบางทีบางบริษัทก็จะเอาค่าContrast ratioที่เป็นDynamic contrast ratioซึ่งได้มีการลดขนาดรูรับแสงของเครื่องตามความสว่างของภาพปรากฏ ทำให้แสงที่ออกมาน้อยในฉากมืดแต่ไม่ได้เป็นค่าnative contrast ratioจริงๆ ค่าจะมากเกินค่าContrast ratioจริงๆของเครื่อง ดังนั้นเราก็ควรดูภาพด้วยตาตัวเองจะดีที่สุด อย่าดูแต่Specของเครื่องอย่างเดียว และปัญหาอีกอย่างหนึ่งของจอLCoSก็คือสีและแสงทั่วทั้งจอไม่สม่ำเสมอกัน เช่นจุดสีขาวมาตรฐาน(D65)ที่จุดหนึ่งอาจจะสว่างหรือมืดกว่าอีกจุดที่อยู่บริเวณอื่นๆของจอภาพ ดังนั้นcalibratorก็ควรต้องระวังในจุดนี้ด้วยเมื่อต้องทำการปรับภาพของจอประเภทLCoSนี้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคโนโลยีของจอภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าเทคโนโลยีแต่ละแบบก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยของตัวมันเองอยู่ เราในฐานะผู้บริโภคก็ควรจะมีความรู้บ้างเพื่อให้เราสามารถเลือกใช้จอได้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานของเรา เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ VIDEO TECHNOLYGIES 2 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้