Article

Search

Professional Room Tuning Process:

เคยมีหลายคนสงสัย และถามผมเข้ามาว่าแล้วการCalibration หรือ Room Tuning ในห้องHome theater, ห้องฟัง2channels หรือแม้กระทั่งในห้องpost productionจริงๆ ระดับมืออาชีพของต่างประเทศเขาทำอย่างไรบ้าง ฉบับนี้ผมเลยนำเอาบทสัมภาษณ์ของBob Hodas ที่เป็นAcousticianชื่อดังของอเมริกามาให้ได้อ่านกันว่าเขามีขั้นตอนหรือสิ่งไหนที่น่าสนใจบ้างในส่วนของการtuning system แล้วทำไมถึงต้องเป็นBob Hodas? เอ่อนั่นน่ะสิเขาเป็นใครมาจากไหนเก่งยังไง…. คำตอบก็คือก็เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างมากมาย เคยtuning ห้องRecording & Mastering Studios, Post Production/Multimedia, Home Theater/Audiophile Stereo, ห้องของComposers/Songwriters, Studio Designers, Project/Private Studios, Remote Trucksมากกว่า1,000ห้องทั่วโลก เช่นห้องของDavid Pensado Mixer, Trick Stewart producer, Danny Elfman นักแต่งเพลง, ศิลปินอย่างStevie Wonder ,ห้องดังๆที่ผลิตผลงานมากมายไม่ว่าเป็น Sony Music Entertainment, Abbey Road Mastering, Record Plant, Blackbird, แม้กระทั่งLucasfilm ที่ใช้ในการผลิตหนังดังๆก็ใช่ ส่วนห้องHome theater/Audiophile Stereo ก็มีห้องของCelibrity Hollywoodหลายคนก็ใช้บริการเขาในการTuning ไม่ว่าจะเป็นGeorge Clooney, Francis Ford Coppola, George Lucas และอีกเยอะมากลองเข้าไปดูใน http://www.bobhodas.com/clients.php ก็จะพบรายชื่อยาวเป็นหางว่าวเลยครับ

เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมครับแค่ได้เห็นประสบการณ์ของBob Hodas ว่าแล้วมาดูซิว่าวิธีการของเขาเหมือนหรือแตกต่างจากที่เราได้เคยรู้เคยเห็นยังไงบ้าง โดยเนื้อหาที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นเนื้อหาที่Bobได้ให้สัมภาษณ์กับทางรายการ Home Theater Geeks โดย Scott Wilkinson ใครสนใจอยากจะฟังฉบับเต็มก็searchเข้าไปดูได้ทางinternet โดยที่ผมนำมาจะเอามาแต่ตรงที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับHome theaterครับ

อย่างแรกที่จะพูดถึงก็คงเป็นพื้นฐานเรื่องห้องกันก่อน Bob Hodasบอกว่าสัดส่วน ขนาด รูปร่าง ของห้องhome theater ล้วนมีผลโดยตรงต่อRoom mode(Standing Wave)ที่เกิดขึ้นในห้องและจะส่งผลให้เกิดความไม่สม่ำเสอมกันของคลื่นความถี่ต่ำภายในห้อง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีสัดส่วน หรือขนาดgolden ratioที่รับประกันว่าทำขนาด รูปร่างแบบนี้แล้วจะทำให้ห้องนี้เสียงดีมากกว่าขนาดหรืออัตราส่วนอื่นๆ มีแต่ว่าเป็นขนาด สัดส่วนที่ยอมรับได้ วิธีการหาขนาด สัดส่วนห้องที่เหมาะสมสามารถคำนวณหาจากแหล่งข้อมูลต่างๆในInternetได้ไม่ยาก เราก็จะได้ขนาดสัดส่วนห้องที่เหมาะสมเพราะการคำนวณเหล่านี้ก็จะมาจากพื้นฐานเรื่องการresonance กับของความถี่ที่สะท้อนกลับไปกลับมาบนผนังต่างๆ ส่วนที่บางคนก็สงสัยว่าแล้วถ้าเราทำห้องให้มีผนังเอียงเข้ามาหากัน หรือทำเป็นเพดานที่เอียงลงมาให้ด้านหน้ามีความสูงของเพดานเตี้ยกว่าเพดานด้านหลังจะทำให้Acoustics เสียงของห้องนั้นดีกว่าการทำเป็นรูปร่างเป็นBoxกล่องสี่เหลี่ยมไหม Bobนั่งอึ้ง สตั้นไปสิบวิ…..แล้วตอบว่าใช่ ในบางห้องการทำให้เพดานเอียงลงเช่นด้านหน้าเพดานสูง9ฟุตส่วนด้านหลังเพดานสูงมากขึ้นเป็น12ฟุต หรือผนังด้านข้างทั้งสองข้างของห้องเอียงเข้าหากันจะทำให้เสียงมีAcousticsที่ดีกว่า แต่มีข้อแนะนำว่าผนังที่เอียงนั้นควรจะเอียงอย่างน้อย 7องศา เพราะมันถึงจะส่งผลต่อความถี่ที่น้อยกว่า 2KHz ซึ่งเป็นความถี่ที่เราต้องการผลจากการเอียงของผนังนี้ หรืออย่างในStudioการเอียงของเพดาน 7-10องศานี่ก็กำลังดีเลยเนื่องจากมันจะทำให้เสียงจากลำโพงด้านหน้าวิ่งผ่านตำแหน่งนั่งฟังแล้วไปเกิดการสะท้อนเป็นสนามเสียงทางด้านหลังต่อคนฟังได้ดี แต่ข้อเสียหลักของการเอียงแบบนี้ก็คือเราไม่สามารถทำนายการเกิดroom modeได้เหมือนกับในห้องที่มีรูปร่างเป็นกล่องที่ผนังด้านตรงข้ามขนานกัน การจะหาmode distributionของห้องต้องอาศัยการวัดอย่างเดียว เหตุผลนี้เลยแนะนำให้ทำห้องเป็นรูปกล่องเพื่อเราจะสามารถทำนายได้เลยว่าห้องสัดส่วนเท่านี้ มีความกว้างความยาวความสูงเท่านี้จะมีmodeของห้องออกมาเป็นรูปแบบไหนซึ่งถึงจะส่งผลถึงการหาตำแหน่งการวางลำโพงต่างๆโดยเฉพาะSubwooferหรือการหาตำแหน่งนั่งฟังได้ง่ายขึ้น ส่วนในห้องProfessional Studioก็ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องต้องทำนายmodeในห้องเพราะห้องระดับนี้ต้นทุนในการทำสูงอยู่แล้ว การวัดค่าต่างๆส่วนมากจะเป็นEngineerที่ใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดแม่นยำสูงอยู่แล้วเลยไม่ค่อยมีปัญหา

แต่สำหรับBob Hodasแล้วสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากกว่าroom modeก็คือSpeaker to Room Interface หรือพูดง่ายๆก็คือผลของผนังด้านต่างๆภายในห้องที่มีผลต่อเสียงของลำโพง, ตำแหน่งลำโพงต้องวางตรงไหน, ตำแหน่งนั่งฟังตรงไหนในห้องเมื่อมีการสะท้อนของเสียงต่างๆภายในห้องแล้วเสียงถึงจะดีที่สุดในห้องนี้, รวมถึงผนังของห้องเป็นแบบไหน, การวางตำแหน่งวัสดุAcoustics Treatmentที่ผนังเพื่อให้มีการสะท้อนของเสียงได้เหมาะสมไม่กวนกับเสียงDirect soundหรือไม่ สิ่งต่างๆเหล่านี้Bobจะให้ความสำคัญมากกว่าModal Distribution อย่างกับผนังของห้องที่จะทำให้เกิดเสียงสะท้อนก็ไม่แนะนำให้ใช้พวกกระเบื้องหรือกระจกเพราะพวกนี้จะทำให้เกิดการสะท้อนของเสียงมากเกินไป แต่เขาชอบวัสดุที่เป็นพวกไม้มากกว่าเนื่องจากให้การสะท้อนของเสียงที่ดี ให้ความสวยงามได้feelingในความเป็นไม้อีกด้วย

มาถึงในเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการปรับเสียง Bob Hodasบอกว่าเขาใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Sim3ของ Meyer Sound เพราะว่าเป็นเครื่องมือวัดที่สามารถวัดละเอียดได้ถึง 1/48Octave และนอกจากจะสามารถวัดFrequency Domainได้ละเอียดแล้ว ที่สำคัญมันยังสามารถใช้วัดในส่วนของPhase Domainร่วมกับค่าCoherent ได้แบบReal time

สำหรับเรื่องเครื่องมือSim3 ของMeyer Sound ต้องขอขยายความนิดหนึ่งเพราะว่าผมเคยไปอบรมการใช้Sim3 อยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ลองสัมผัสดู ก็พบว่าเป็นโปรแกรมที่มีความละเอียดแม่นยำ และความเสถียรที่สูงมาก เหมาะอย่างยิ่งในการใช้งานแบบมืออาชีพสามารถใช้ได้ตั้งแต่ในงานtuningห้องขนาดเล็กๆ โรงภาพยนต์ ห้องแสดงขนาดใหญ่ Arena หรือStadiumใหญ่ๆสามารถใช้ได้หมด แต่ข้อเสียคือรูปร่างหน้าตาของตัวโปรแกรม(Graphic User Interface)ใช้ไม่ง่ายเลย ไม่มีประเภทรูปสวยงามให้เข้าใจง่าย แต่หน้าตาจะเน้นในส่วนที่ได้ใช้งานจริงๆ สำหรับคนที่มีพื้นฐานในเรื่องSound Calibrationเป็นอย่างดี(ก็จะมีคนแซวเป็นประจำว่าสินค้าของMeyer Soundนั้น Design by Engineer For Engineerจริงๆ) ส่วนราคานั้นไม่ต้องพูดถึงรถเก๋งคันหนึ่งเลย แต่ไม่ต้องตกใจเพราะยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวที่สามารถใช้วัดได้ใกล้เคียงกับของMeyer Sim3 อย่างเช่น Smaart , REW Room EQ Wizard, AudioTools by Studio Six Digital ฯลฯ ซึ่งแต่ละตัวก็มีรายละเอียดในการใช้งาน จุดดี จุดด้อยต่างกันออกไปต้องลองไปศึกษาดู อย่างที่ผมใช้ก็จะเป็นโปรแกรมSmaart7ที่ราคาย่อมเยาลง ขอเพียงมีความเข้าใจหลักการของโปรแกรมแต่ละตัวที่จะใช้ และเข้าใจในphysicsเรื่องphaseของเสียง แค่นี้ก็สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับงานของเราได้ครับ

หลายคนคงคิดว่าBob Hodasใช้แต่การวัดอย่างเดียว โดยไม่สนใจการฟังหรือSubjective listening แต่ในความเป็นจริงBobบอกว่าตัวเขาเองเริ่มต้นroom tuningที่การวัดหรือmeasureก่อน ตอนท้ายสุดค่อยมานั่งฟังเสียงที่ออกมาจริงๆอีกที เนื่องจากว่าในอดีตBobเคยทำงานเป็นทั้งนักดนตรี, recording engineer เขาเลยรู้ว่าproducerหรือrecording engineer ต้องการเสียงเป็นยังไง เพราะบางอย่างการวัดก็ไม่สามารถบอกได้หมดต้องมานั่งฟังอีกที แต่ก็มีบางอย่างBob เน้นว่าต้องมีการวัดให้ถูกต้องแม่นยำนั่นก็คือPhase เพราะตัวphaseเองฟังยากมากถ้ามีความผิดปกติหรือmismatchกัน โดยมันจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนในFrequency Domainเป็นpeak และdipซะมากกว่า การที่จะฟังออกได้ว่าphaseไม่alignกันหรือmismatchกันค่อนข้างยาก ต้องอาศัยการวัดอย่างเดียว Bobบอกติดตลกด้วยว่าเขาก็ได้พยายามฟังมานานก็ไม่เคยฟังออก ในที่สุดคิดว่าใช้เครื่องมือวัดดีกว่า โดยวิธีการวัดphase เขาก็จะใช้วิธีalign phaseเหมือนกับที่ผมเคยพูดถึงในหนังสือVideophile/Audiophileฉบับก่อนๆ คือระหว่างลำโพงsubwooferแต่ละตัวเขาก็จะดูกราฟphase responseให้phaseของลำโพงทั้งสองตัวมีการalignกันให้มากที่สุด ส่วนในการalign กันระหว่าง Subwoofer กับ ลำโพงmainเช่น ตั้งCrossoverไว้ที่ 80Hz เขาก็จะทำให้PhaseของลำโพงLCRตัวใดตัวหนึ่งมีการalignกับSubwooferให้มากที่สุดเพื่อที่จะเป็นการทำให้ลำโพงmainและsubwooferทำงานตรงกันที่บริเวณcrossover point โดยBobบอกว่าเพียงเท่านี้ก็จะไม่เกิดcancellationบริเวณcrossover point 80Hz เสียงที่ออกมาจะมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง subwooferก็จะทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำโพงทั้งระบบ การฟ้องตำแหน่งลำโพงsubwooferก็จะหายไปซึ่งตรงนี้คือเคล็ดลับสำคัญเขาพูดไว้

ส่วนการใช้การปรับแบบอัตโนมัติ หรือAuto-calibration ในปัจจุบันมีหลายแบบจากหลายๆบริษัทไม่ว่าจะเป็น Dirac, Audyssey, ARC, YPAO ฯลฯ เขาได้บอกว่าบางแบบก็ดีกว่าแบบอื่น โดยการใช้งานก็อาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีก็ได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่จุดสำคัญที่เขาไม่ได้ใช้วิธีAuto-calibrationเนื่องจากโปรแกรมเหล่านี้ไม่สามารถทำแบบที่เขาทำได้ นั่นก็คือการวางตำแหน่งลำโพงให้อยู่ตำแหน่งที่ดีที่สุดภายในห้อง การทำAuto-calibration มันก็คือการใส่EQเข้าไปในระบบเพื่อทำให้ลำโพงทำในสิ่งที่ผิดไปจากที่ลำโพงมันทำตามปกติของมัน ซึ่งถ้าใส่มากเกินไปเนื่องจากว่าลำโพงอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดีแล้วมันจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่นการใส่EQเข้าไปในส่วนของfirst reflectionที่ปกติการใช้วัสดุabsorberจะให้ผลดีกว่า เพราะการใส่EQเข้าไปในตำแหน่งที่ไมค์วัดเสียงตั้งไว้มันก็จะworkอยู่แค่ตำแหน่งแคบๆ เมื่อเราเพียงแค่ขยับหัวออกจากตำแหน่งนี้เพียงเล็กน้อยอัตราส่วนระยะทางของdirect sound และreflected signalก็จะเปลี่ยนไป EQที่เราเคยใส่ไว้จุดเดิมก็จะใช้ไม่ได้ในตำแหน่งใหม่นี้แล้ว ดังนั้นBob จึงเน้นว่าการใช้EQ ใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะลำพังถ้าเราทำการปรับให้speaker to room interfaceดีแล้วตำแหน่งลำโพงดี ตำแหน่งนั่งฟังดี การใส่วัสดุtreatmentต่างๆเหมาะสมแค่นี้เสียงก็จะดีขึ้นกว่า 70%ไปแล้ว ใช้EQแต่งเติมอีก 5-10%เพื่อความสมบูรณ์แบบก็เพียงพอแล้ว

การcalibrationในห้องHome theater ของBob Hodasไม่ว่าจะเป็นระบบ 5.1 , 7.1 หรือแม้กระทั่งimmersive soundแบบต่างๆ เขาจะให้ความสำคัญstereo setupลำโพงMain ซ้ายและขวาโดยเน้นที่phase responseให้เข้ากันก่อน หลังจากนั้นค่อยทำลำโพงที่เหลือให้เข้ากับลำโพงคู่หน้านี้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญของลำโพงคู่หน้านี้คือเรื่องSymmetry ของลำโพงทั้งสองอย่างที่ได้กล่าวไว้ แต่ถ้าลักษณะห้องไม่เอื้ออำนวยก็ต้องมีการใส่acoustics treatment เพื่อให้ลำโพงทั้งสองตอบสนองทั้งในเรื่องphase & frequency responseได้ใกล้เคียงกันที่สุด เช่นเดียวกับวิธีการsetในห้องฟังเพลง2channelsของเขา ส่วนImmersive sound ลำโพงตัวอื่นๆก็ค่อยtuningตามลำโพงคู่หน้าไป เพราะยังไงเสียงจากimmersive soundก็ไม่ได้ออกตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับลำโพงสามตัวหน้าที่เป็นหลักของHome theater systemที่เขาจะใช้เป็นหลักก่อนsetupลำโพงตัวอื่นๆ

จะเห็นได้ว่าBob Hodasได้ให้ความสำคัญกับstereo setupของลำโพงfront left & right มากไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งการจัดวางลำโพงภายในห้อง ตำแหน่งนั่งฟัง ตำแหน่งของAcoustics treatmentต่างๆ เขาเลยได้ยกตัวอย่างห้องจริงๆที่ได้ไปtuning ระบบเสียง2channelsโดยเฉพาะห้องไม่มีความสมมาตรกันว่ามันมีความยากมากกว่าห้องที่ออกแบบมาเฉพาะเป็นห้องฟังเพลงอย่างไร และมีวิธีอย่างไร ห้องแรกจากรูปจะเห็นได้ว่าพื้นที่นั่งฟังไม่ได้อยู่กลางห้อง ด้านขวามีพื้นที่เปิดกว้างเป็นห้องรับประทานอาหารซึ่งความไม่สมมาตรแบบนี้จะมีผลอย่างมากต่อเสียงความถี่ต่ำ เมื่อBobได้ทำการวัดFrequency Responseและ Phase responseของทั้งสองลำโพงจะเห็นได้ว่าเส้นกราฟphaseของลำโพงทั้งสองmismatch กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต่ำกว่า 60Hz ไปคนละทางเลย

วัตถุประสงค์ในการtuningตรงนี้ก็คือต้องพยายามให้กราฟphaseของลำโพงทั้งสอง alignกันให้มากที่สุดหรือให้อยู่ใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะเมื่อphaseของลำโพงทั้งสองmatchกันแล้วเสียงที่ได้จะมีimagingของเสียงชัดเจน spectrumของเสียงจากลำโพงซ้ายและขวามีความsmooth ต่อเนื่อง แต่อย่างตอนนี้เสียงจากลำโพงทั้งสองจะเกิดการcancellationกันโดยเฉพาะในความถี่ต่ำเนื่องจากพื้นที่เปิดด้านขวามือทำให้phaseของเสียงจากลำโพงทั้งสองต่างกัน imagingของเสียงจึงหายไป แถมตรงกลางระหว่างลำโพงซ้ายขวายังมีเตาผิงไฟอยู่ตรงกลางยิ่งเพิ่มความยากขึ้นในการtuningเข้าไปอีก หลังจากนั้นเมื่อmeasureพบปัญหาต่างๆแล้วก็เป็นงานการเลื่อนลำโพงหาตำแหน่งที่เหมาะสมในพื้นที่ฟังเพลงตรงนี้ จะสังเกตเห็นว่าลำโพงยังติดล้ออยู่เพื่อความง่ายในการเคลื่อนลำโพง เมื่อได้ตำแหน่งที่ดีของลำโพงก็ทำการติดตั้งแผ่นacoustics treatmentต่างๆต่อไป จากในรูปจะเห็นว่าBobใช้แผ่น fiberอัดแน่นขนาดหนา 4นิ้วที่มีผ้าอยู่ด้านนอกเพื่อความสวยงาม วางตำแหน่งด้านหลังและด้านข้างลำโพงที่ไม่ได้เหมือนกัน ด้านซ้ายก็ยังจะมีbass trapที่มีความหนาและใหญ่กว่าปกติสีเทาเพื่อปรับสภาพความถี่ต่ำมากๆภายในห้องวางอยู่ด้วย การวางวัสดุtreatmentเหล่านี้ต้องมีการวัดทุกครั้งที่มีการขยับเพื่อจะหาตำแหน่งที่วางแล้วphase และ frequency responseออกมาดีที่สุด ซึ่งในห้องนี้หลังจากการวัดที่มากมายและยาวนาน ตำแหน่งของacoustics boardsจะอยู่อย่างที่เห็นโดยตัวabsorberจะไม่วางชิดติดผนังเลย แต่จะมีair gapเล็กน้อย เพราะว่าต้องการให้การabsorbนี้ส่งผลในfrequencyที่ต่ำมากขึ้น คราวนี้ลองมาดูกราฟ frequency response และ phase response โดยจะเห็นได้ว่ากราฟphaseในความถี่ต่ำๆแนบกันมากขึ้น และเมื่อฟังเสียงจริงๆก็พบว่าเสียงที่ได้มีimagingที่ดีขึ้นมากอย่างน่าอัศจรรย์ ความต่อเนื่องหรือความsmooth ของเสียงดีขึ้นมาก เสียงความถี่ต่ำมีความเป็นtight bass ส่วนการใส่EQเข้าไปในระบบนั้นก็อย่างที่Bobบอกไว้ว่า ถ้าเราหาตำแหน่งของลำโพงและตำแหน่งนั่งฟังให้มันอยู่ในจุดที่เข้ากันกับผนังห้องได้ มีการวางacoustics treatmentต่างๆในตำแหน่งที่ถูกต้องแค่นี้ก็ถือว่างานประสบความสำเร็จไปกว่า 70%แล้ว การใส่EQก็ใช้แค่5-10%ก็พอแล้ว เพราะการใส่EQคือการไปบังคับให้ลำโพงทำบางอย่างที่ปกติตามธรรมชาติของมันไม่ได้ทำ หรือกำลังบอกให้มันfight the room(ซึ่งไม่มีวันชนะ) ควรคิดเสมอว่าต้องทำให้ห้องคือเพื่อนที่จะช่วยส่งเสริมเสียงของระบบดีขึ้น อย่าไปทำให้ห้องกลายเป็นศัตรูกับเครื่องเสียงเด็ดขาด….

มาถึงตัวอย่างที่สอง จะเป็นห้องที่มุมทั้งสองข้างของด้านหน้าห้องไม่เหมือนกัน โดยมุมด้านซ้ายของห้องจะเป็นมุมฉากปกติ แต่ด้านขวาของห้องจะถูกตัดมุมออกไป นอกจากนั้นยังเพิ่มความสนุกเข้าไปอีกโดยด้านหลังของลำโพงทั้งสองเป็นกระจก เมื่อได้ดูสภาพแล้วBob ก็เริ่มทำการวัดทั้งในส่วนของphase domainและfrequency domainตามปกติ ซึ่งสำหรับBob Hodasแล้วโดยส่วนมากเขาให้ความสำคัญจากphaseมากกว่า เช่นในห้องนี้ และเมื่อดูจากกราฟphaseจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าที่ต่ำกว่า 60Hzลำโพงทั้งสองตัวมีphase ที่mismatchกันอย่างมาก

หลังจากนั้นเขาก็ได้เริ่มtuningจากหาตำแหน่งลำโพงกับตำแหน่งนั่งฟังก่อน อย่างที่เห็นชัดๆก็คือด้านหลังลำโพงมีหน้าต่างที่เป็นกระจกบานใหญ่ๆอยู่สองบาน ความจริงแล้วกระจกที่สะท้อนเสียงออกมาคงไม่มีผลกับความถี่ที่ต่ำกว่า200Hzซักเท่าไร แต่สิ่งที่จะมีผลก็คือมันจะไปเพิ่มการสะท้อนของเสียงหรือความก้องของเสียงภายในห้องที่มักจะเรียกกันบ่อยว่าค่า RT(Reverberation Time, RT60) และผลเสียที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่กระจกทำให้เกิดการสะท้อนของความถี่ได้ดี ส่งผลให้เสียงสะท้อนจากด้านหลังลำโพงกลับมาout of phaseกับเสียงdirect soundได้ง่ายมากขึ้น(มันก็คือเรื่องของSBIRที่ผมเคยอธิบายในบทความเมื่อสองปีที่แล้ว)

Bobก็บอกว่าบางทีการมีหน้าต่างด้านหลังลำโพงก็ไม่เป็นข้อเสียทั้งหมดเสียเลยทีเดียว บางห้องการมีหน้าต่างที่เปิดไว้ก็อาจจะส่งผลดีได้เพราะว่าความถี่ต่ำก็จะออกไปนอกหน้าต่างเลยไม่สะท้อนกลับเข้ามาout of phaseกับdirect sound แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำการวัดเสียงดูอีกทีเพื่อยืนยัน ส่วนสำหรับห้องนี้เขาก็ได้ทำการวัดและขยับลำโพงไปยังตำแหน่งต่างๆ จนในที่สุดขยับยังไงผลก็ยังไม่ดีขึ้น เขาเลยย้ายลำโพงทั้งสองตัวมาอยู่ที่ผนังด้านซ้ายมือแทน แล้วหาตำแหน่งลำโพงที่มีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับผนัง หาตำแหน่งนั่งฟังใหม่อีกที และเมื่อทำการวัดอีกครั้งก็พบว่าphaseของความถี่ต่ำมีการalignกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุดเพราะยังไม่ได้ใส่วัสดุacoustics treatmentต่างๆลงไป แต่นี่ก็แค่เอามาแสดงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าตำแหน่งของลำโพงในห้องที่มีความสัมพันธ์กับผนังต่างๆที่ดี ร่วมกับตำแหน่งนั่งฟังนั้นมีความสำคัญต่อเสียงมากขนาดไหน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นภาพคร่าวๆของการtuningในห้องhome theaterหรือห้องฟังเพลง2channels โดยมือปรับที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกว่าเขาใช้วิธีแบบไหน ถ้าได้ติดตามอ่านบทความผมมาตลอดก็จะพอคุ้นๆว่ามันก็คือวิธีเดียวกับที่ผมได้เคยพูดถึงไว้ในหนังสือเล่มก่อนๆ เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับphase responseมากกว่าfrequency responseเพียงอย่างเดียว ซึ่งในเมืองไทยการเอาphase มาใช้ในงานhome theater หรือในงานset up 2channelsก็ยังไม่แพร่หลายสักเท่าไร ยังไงถ้าใครสนใจรายละเอียดก็ลองศึกษาเพิ่มเติมจากบทความที่ผมเคยเขียนไว้ก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการปรับเสียงแบบอื่นไม่ดีนะครับความจริงroom tuningมันก็มีการทำได้หลายรูปแบบ แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสีย มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างๆกันไป เมื่อรู้มากขึ้นเราก็มีทางเลือกมากขึ้นสามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุดได้ครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Professional Room Tuning Process: (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้