ในปัจจุบันเทคโนโลยีจอแสดงภาพได้ก้าวหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย การที่เรารู้ทันเทคโนโลยี เข้าใจพื้นฐานของจอแสดงภาพแต่ละแบบนั่นเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจในการเลือกใช้ เลือกซื้อจอภาพแบบต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่เราต้องการ ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงลักษณะของการแสดงภาพแบบต่างๆก่อน โดยถ้าจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆสำหรับชนิดของการแสดงภาพที่ใช้ในงานhome theaterหรือใช้ในบ้านจะได้เป็นสามประเภทใหญ่ๆคือ
- Front Direct View
- Front Projection
- Rear Projection
Front Direct View หมายถึงการแสดงภาพจากจอแสดงภาพที่มีแหล่งกำเนิดแสงและภาพออกมาเข้าสู่ตาเราโดยตรง หรือมันก็คือจอทีวีต่างๆที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นจอLCD, จอพลาสมา(PDP direct view), จอทีวีรุ่นเก่าที่บางทีเรียกว่าจอแก้ว(CRT direct view) หรือไม่ว่าจะเป็นจอรุ่นใหม่ๆอย่างจอOLED เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะการแสดงภาพที่เราเรียกว่าFront Direct View ส่วนFront Projectiontจะเป็นการแสดงภาพที่แหล่งกำเนิดภาพจะอยู่ด้านหน้าของจอ การแสดงภาพแบบนี้ก็ได้แก่พวกProjectorsต่างๆที่เรานิยมใช้ในห้องHometheater และอันสุดท้ายคือRear Projection การแสดงภาพแบบนี้แหล่งกำเนิดภาพจะอยู่ด้านหลังของจอภาพซึ่งการแสดงภาพแบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบันแล้ว
มาดูถึงข้อดีข้อเสียของการแสดงภาพแบบต่างๆ Front Direct Viewหรือจอทีวีต่างๆข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือติดตั้งง่าย แค่เอาทีวีมาวางตรงชั้นหรือแขวนก็เรียบร้อยแล้ว สามารถดูภาพได้เลยส่วนภาพที่ได้ก็จะมีความสว่างชัดเจน จึงทำให้แสงรอบๆข้างในห้องมีผลต่อจอประเภทนี้น้อยไม่ว่าจะเป็นห้องที่ควบคุมแสงได้ดีอย่างในห้องDedicated home theaterหรือในห้องนั่งเล่นที่มีแสงสว่างค่อนข้างมาก นอกจากนี้ถ้าติดตั้งทีวีจอแบนไว้บนผนังโดยไม่เห็นสายรกรุงรังก็จะทำให้ดูสวยงามเหมือนมีภาพถ่ายอยู่บนผนังเลยทีเดียว แต่ข้อเสียก็คือจอประเภทนี้ถ้ามีขนาดเป็นร้อยๆนิ้วจะหาได้ยากและราคาสูงมาก อาจจะสูงหลายล้านบาทอย่างกับจอภาพของVizioตัวล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ถึง120นิ้ว และมีราคาสูงถึงหลายล้านบาททีเดียว จุดอ่อนอีกอย่างของจอประเภทนี้คือทำให้มีความรู้สึกเหมือนดูทีวีมากกว่าดูหนังในโรงภาพยนต์เมื่อเทียบกับจอพวกFront Projection นอกจากนี้ก็อาจมีปัญหาเล็กๆน้อยอย่างเช่นปัญหาด้านมุมมองที่ไม่กว้างพอทำให้เวลาเรามองดูจอทีวีจากทางด้านข้างๆจะทำให้คุณภาพของภาพลดลงไปอย่างมาก ทั้งแสง ทั้งสีและรายละเอียดของจอผิดเพี้ยนเมื่อเทียบกับการดูตรงๆจากหน้าจอ หรือปัญหาการที่จอเป็นรอยไหม้Burn-inค้างไม่หายเมื่อภาพเปลี่ยนไปเนื่องจากเปิดภาพเดิมทิ้งไว้นานๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตจอภาพก็ได้พัฒนาเพื่อแก้ไขได้ดีขึ้นมากแล้ว

Front Projection Viewหรือพวกเครื่องฉายprojectorsต่างๆข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือทำให้ความรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในโรงภาพยนต์จริงๆมากกว่าจอภาพแบบต่างๆซึ่งส่วนมากจอแบบนี้เรามักจะชอบนำมาใช้ดูหนังมากกว่าดูพวกรายการทีวีหรือดูกีฬาต่างๆ และเมื่อติดตั้งเข้าไปในห้องhome theaterมันก็จะทำให้เราได้ภาพในขนาดใหญ่โดยที่อยู่ในราคาที่เหมาะสม ส่วนคุณภาพของภาพนั้นถ้าได้รับการติดตั้งและcalibrationที่เหมาะสมแล้ว รับรองว่าได้ภาพที่ได้สวยจนลืมภาพจากในโรงภาพยนต์(บางโรง)…ไปเลย

แต่ข้อเสียใหญ่ๆสำหรับจอแบบนี้ก็คือเนื่องจากปริมาณแสงที่สะท้อนออกมาจากจอภาพจะน้อยจึงต้องทำการควบคุมแสงสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดยิ่งลดแสงจากสิ่งแวดล้อมได้มากเท่าไรคุณภาพของภาพก็จะดีขึ้นตาม และเนื่องจากการแสดงภาพแบบนี้ต้องการแสงมากดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือเสียงของเครื่องprojectors ที่ส่วนมากจะต้องมีพัดลมเพื่อระบายความร้อนขณะเปิดเครื่อง ยกเว้นรุ่นใหม่ๆที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ซึ่งจะมีความร้อนสูงมากจนบางยี่ห้อกลัวว่าเสียงพัดลมจะดังเกินไปก็จะออกแบบให้ใช้ระบบน้ำระบายความร้อนแทน นอกจากนี้หลอดกำเนิดแสงในเครื่องprojectorsบางชนิดอาจจะมีอายุสั้นบางทีต้องเปลี่ยนหลอดบ่อยๆเพื่อไม่ให้ภาพมืดเกินไป ส่วนการติดตั้งและcalibrationของจอประเภทFront Projectionก็จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและมีความรู้ในการติดตั้งเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลครับ
Rear Projectionก็มักจะใช้ในงานพวกProfessional projectsเสียมากกว่า เพราะว่ายังสามารถใช้จอใหญ่ๆในห้องที่มีแสงอยู่ได้บ้างโดยไม่ทำให้คุณภาพของภาพเสียไปมากนัก ตัวโปรเจคเตอร์ก็ไม่ได้วางไว้ข้างหน้าจอให้เกะกะสายตา มีviewing angleที่กว้างทำให้การมองจากทางด้านข้างก็ยังสามารถทำได้ แต่การใช้การแสดงภาพประเภทนี้ถ้าจะทำให้ได้คุณภาพที่ดีมักจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าfront projection แถมยังต้องยอมเสียเนื้อที่ด้านหลังจอไปอีกเพื่อให้เป็นที่อยู่ของเครื่องprojector ดังนั้นถ้าห้องแคบอยู่แล้วก็จะทำให้ห้องดูแคบลงไปอีก ส่วนการบำรุงรักษาก็ต้องทำเป็นระยะ เนื่องจากตัวเครื่องอยู่ด้านหลังจอบางทีเราก็อาจจะลืมเช็คว่าเครื่องมีการทำงานอะไรผิดปกติบ้างไม่เหมือนกับfront projectionหรือfront direct viewที่เราจะเห็นตัวเครื่องอยู่ตลอด ถ้ามีการทำงานผิดปกติอะไรก็จะเห็นได้ชัดเจน และแก้ไขได้ง่ายกว่า

คราวนี้เราลองมาเทียบดูว่าระหว่างการสร้างภาพแบบที่เป็นแบบฉายเข้าจอ(projection)กับทีวีจอแบน(flat panel)ว่ามันมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันตรงไหนบ้าง เริ่มจากflat panelข้อได้เปรียบอย่างแรกก็คือเรื่องของการกระจายแสงทั่วทั้งจอที่ทีวีจอแบนโดยทั่วไปมักจะให้ความสว่างทั่วทั้งจอได้ใกล้เคียงกัน แต่โปรเจคเตอร์ถ้าไม่ใช่แบบHi Endจริงๆในส่วนตรงกลางมักจะให้ความสว่างกว่าด้านขอบๆจอซึ่งบางทีเรามองด้วยตาอาจจะบอกได้ยากแต่ถ้าเราใช้meterเข้าไปวัดก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน ข้อดีต่อมาของจอflat panelก็คือมีแบบให้เลือกใช้ได้หลายแบบทั้งจอเล็กๆแบบมือถือ จนไปถึงเป็นร้อยๆนิ้ว แถมอายุการใช้งานก็นับว่ายาวนาน บางบริษัทโฆษณาว่ามีอายุยาวนานตั้งแต่ 60,000-100,000ชั่วโมงกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าถ้าดูกันแบบวันละ8ชั่วโมงนี่ต้องดูกันยาวนานถึงยี่สิบปี (แต่ผมสงสัยว่าทำไมจอทีวีของผมซึ่งเป็นรุ่นใหม่พึ่งซื้อมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็เสียละ เทียบกับจอทีวีเครื่องเก่าใช้กันมาเป็นสิบปีไม่เคยเสียเลย…) อย่างไรก็ตามจุดด้อยที่flat panelจะสู้projectorsไม่ได้ที่สำคัญมีอยู่จุดเดียวคือเวลาดูหนัง การที่บรรยากาศกับความรู้สึกเข้าร่วมแบบในโรงภาพยนต์จะสู้โปรเจคเตอร์ไม่ได้เลย

ข้อดีอีกอย่างของprojectorsก็คือเมื่อเทียบกับขนาดของภาพที่ออกมาเทียบกันเป็นนิ้วต่อนิ้วแล้วราคาของโปรเจคเตอร์ยังถูกกว่าจอflat panel และในขนาดภาพที่เท่ากันโปรเจคเตอร์จะใช้ไฟ(โดยเฉลี่ย)น้อยกว่าflat panel และสามารถเปลี่ยนหลอดภาพได้ง่ายกว่าflat panelเมื่อเริ่มรู้สึกว่าภาพมืดลง แต่ยังไงก็ตามปัญหาใหญ่ของprojectorsก็ยังเป็นเรื่องของความสว่างที่ทำได้ยังไม่มากพอ ในอดีตเราอาจจะเคยได้ยินว่าภาพจากProjectionควรจะมีความสว่างมาตรฐานอยู่ที่ 14fL(foot-lambert) หรือประมาณ48nits(cd/m2 )(วิธีคำนวณคร่าวๆจากfLไปเป็นnitsคือเอา 4xfL = nits) แต่ในปัจจุบันพบว่ายิ่งภาพมีความสว่างสูงเท่าไร่ ยิ่งทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับที่สายตาเรามองเห็นจริงๆในธรรมชาติเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับเราเปิดหน้าต่างออกไปดูข้างนอกห้องในตอนกลางวันที่มีแสงแดดที่เราจะพบกับความสว่างสดใส รู้ไหมครับว่าแสงจากธรรมชาติโดยทั่วไปถ้าเราอยู่กลางแจ้งความสว่างของแสงอาจจะได้เป็นล้านnitsเลย หรือถ้าอยู่ในที่ร่มก็อาจจะสว่างได้เป็นหมื่นเป็นแสนnits แล้วเราลองสังเกตดูจากในตารางเราจะพบว่าจอทีวีที่เราดูกันทุกวันนี้อาจจะสว่างแค่เป็นหลักร้อยnits และยิ่งโปรเจคเตอร์ของเราไม่ต้องพูดถึงได้แค่ประมาณ 48nitsเท่านั้น นับว่ายังห่างไกลจากแสงที่เราเห็นได้ในธรรมชาติ เชื่อไหมผมเคยเข้าไปดูร้านค้าที่เขาแสดงprojectorsแล้วถามคนขายว่า ถ้าจะทำให้เครื่องที่เขากำลังโชว์สว่างกว่านี้ได้ไหมเพราะภาพที่ผมเห็นผมว่าไม่ค่อยสว่าง คำตอบที่ได้คือน้องsalemanเขาบอกผมว่า”โหพี่ ถ้าสว่างกว่านี้มันจะสว่างจ้าเกินไปตาเสียล่ะครับพี่” อึ่มผมได้แต่คิดอยู่ในใจว่าตอนกลางวันพี่ก็มองภาพที่ความสว่างอยู่เป็นแสนเป็นล้านnits ตามันคงไม่เสียมั้งถ้าความสว่างprojectorsน้องอยู่ที่ไม่ถึงร้อยnitsน่ะ555 ….

ดังนั้นในปัจจุบันบริษัทผลิตprojectorต่างๆเลยพยายามทำให้ความสว่างของเครื่องเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับภาพได้ใกล้เคียงความสว่างในธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าตอนนี้ทั้งทาง CEA, CEDIA, CEB2003, DCI Specเลยพยายามเพิ่มค่ามาตรฐานความสว่างของภาพแบบprojectionว่าอย่างน้อยต้องมากกว่า28fL ซึ่งก็ประมาณอย่างน้อยเท่ากับความสว่างที่เราดูในจอIMAX หรืออย่างเช่นในโรงหนังมาตรฐานของDolby Cinemaนั้นก็ได้กำหนดความสว่างไว้ว่าภาพในโรงหนังของเขาต้องให้ความสว่างได้ถึง 31.5fLกันเลยทีเดียว ทั้งนี้การเพิ่มความสว่างสุดและมืดที่สุดของภาพนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ได้แค่ภาพมีความสว่างขึ้นอย่างเดียว มันยังเป็นการเพิ่มDynamic rangeของภาพให้เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าDynamic Rangeของจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นflat panel หรือ projectionนั้น ยังห่างไกลกับDynamic Range ที่สายตามนุษย์รับได้ ดังนั้นภาพที่มีDynamic Range ที่กว้างมากขึ้น ภาพที่ได้ก็จะใกล้เคียงกับภาพจากธรรมชาติได้เท่านั้น ตรงนี้แหละเลยเป็นที่มาของจอภาพต่างๆที่เป็น High Dynamic Range(HDR)

รูปแบบการแสดงภาพทั้งสามแบบที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็น front direct view, front projectionและrear projectionนั้นเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการกำเนิดภาพที่มีอยู่หลากหลายแบบ การที่เราเลือกจอภาพที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของห้องเรา ก็จะทำให้เราได้ภาพได้อย่างสวยงามเหมาะสม เพราะถ้าเราเลือกไม่เหมาะสมแล้วไม่ว่าจะใช้วิธีการปรับภาพขั้นเทพแค่ไหน เครื่องมือดียังไง มือcalibrateจอภาพระดับไหนก็ไม่สามารถแก้ไขตรงนี้ได้ทั้งนั้นถ้าเลือกจอภาพผิด ดังนั้นกุญแจก็คือเราต้องมีความเข้าใจในรูปแบบการแสดงภาพแต่ละแบบว่าใช้เทคโนโลยีอะไรแบบไหนเพื่อให้เราทราบข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของจอภาพประเภทนั้น และเราจะได้เลือจอได้เหมาะสมกับเรามากขึ้น เทคโนโลยีเกี่ยวกับการสร้างภาพในปัจจุบันที่พบได้บ่อยๆในท้องตลาดคือ
- CRT
- LCD
- PDP
- OLED
- LCoS
- DLP
- Laser

คราวนี้มาลองดูแต่ละตัวกันว่ามีหลักการอย่างไรกันบ้างเริ่มจาก CRTหรือชื่อเต็มๆคือ Cathode Ray Tubes มันก็คือจอแก้วที่เราเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ หลักการทำงานก็คืออาศัย high-voltage electron beamไปกระตุ้นแต่ละpixelที่บนจอfluorescent screen เชื่อไหมครับว่าเทคโนโลยีนี้มีใช้มากว่า90ปีแล้ว และเนื่องจากว่าเทคโนโลยีนี้ให้ภาพที่มีความดำดีมาก ในบางครั้งก็ยังคงใช้เป็นจอreferenceสำหรับจอแสดงภาพแบบอื่นๆ แต่ก็นับได้ว่าเริ่มล้าสมัยลงไปเรื่อยๆแล้วในปัจจุบัน

ต่อมาก็คือจอLCD ซึ่งย่อมาจากคำว่าLiquid Crystal Displaysจอแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วก็เพราะใช้เป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ในบ้าน เนื่องจากว่าสามารถทำขนาดได้ตั้งแต่เล็กๆเท่าฝ่ามือจนถึงหลายร้อยนิ้วเพื่อใช้ในงานโชว์ แต่ราคาของจอขนาดใหญ่ๆมักจะสูงมากตามขนาดความใหญ่ของจอ จุดแข็งของจอภาพLCDก็คือสามารถให้ภาพที่เป็นhigh definitionได้เป็นเวลานานๆ แม้ใช้ในสภาพแสงที่สว่างก็ยังให้ภาพที่ดีอยู่ โดยในปัจจุบันLCD ทำออกมาทั้งสามแบบของการแสดงภาพเลยคือมีทั้งที่เป็น Rear projection, Front projection และทีวีจอแบน หลักการแสดงภาพของLCDจะเป็นแบบpassive คร่าวๆก็คือแสงจากแหล่งกำเนิดแสงที่อาจจะเป็น flurescent, electroluminescent หรือแสงจากLEDก็จะส่องผ่านตัว liquid crystalที่ในแต่ละpixelจะมีliquid crystalอยู่สามสี เมื่อpixel ปิดliquid crystalจะไม่บิดงอแสงก็จะผ่านออกไปไม่ได้ แต่เมื่อpixelเปิด crystal ก็จะบิดตัวทำให้แสงสามารถผ่านออกไปสู่filterได้

ตั้งแต่ประมาณปีค.ศ.1990 แสงที่เป็นแสงส่องด้านหลังของLCD TVจะเป็น CCFL ที่จะเป็นเส้นๆของหลอดไฟcold cathode fluorescent ที่จะอยู่ทั่วทั้งจอ ดังนั้นเมื่อเราปรับความสว่างหรือbrihtnessที่จุดใดจุดหนึ่งของจอก็จะส่งผลถึงแผงหลอดไฟทั่วทั้งจอ มันเลยทำให้black levelหรือcontrastของจอประเภทนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แสงมักจะลอดออกมาได้แม้กระทั่งเราสั่งoff ตัวpixelแล้ว ต่อมาจึงมีการพัฒนาแสงBacklightด้านหลังที่เป็นLEDออกมา ทำให้สามารถปรับความสว่างความมืดแยกจุดกันได้ ทำให้จอมีความดำและมีcontrast ratiosที่ดีขึ้น นอกจากนี้เจ้าตัวLEDยังทำให้ความกว้างของสีที่แสดงได้บนจอแสดงได้กว้างมาก และถูกต้องมากกว่าจอLCDทั่วไป และยังสามาถทำเป็นedge lightingให้ตัวกำเนิดแสงซ่อนอยู่ตามขอบของจอแทนที่จะอยู่หลังจอโดยตรง จึงทำให้สามารถทำจอให้บางและทำน้ำหนักเบามากๆได้ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่บ้างตามลักษณะของจอLCDคือถึงแม้black levelจะดีกว่าจอLCDทั่วไปมาก แต่ก็ยังไม่ถือว่าดีที่สุด การมองด้านข้างก็อาจทำให้คุณภาพของภาพลดลงบ้าง และเมื่อต้องใช้การเปิดปิดของpixelโดยการบิดตัวของcrystal ดังนั้นการคืนตัวก็ยังไม่เร็วเท่าไรเมื่อเทียบกับจอพลาสมาทำให้เป็นปัญหาในตอนภาพเคลื่อนไหวได้บ้าง(motion artifacts) ปัญหาที่พบอีกอย่างคือถ้าเป็นจอLCDที่designไม่ค่อยดีบางทีก็จะเห็นตารางของpixel(screen-door)ได้ถ้าระยะดูใกล้เกินไป นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีของLCDก็ยังเอาไปใช้ในการผลิตจอที่ฉายภาพจากทางด้านหลัง(rear projection LCD)ได้ด้วย แต่ในปัจจุบันเห็นน้อยมาก ผมว่าคงจะหยุดการผลิตลงไปแล้ว
ส่วนLCD Front Projection ที่ใช้ในโปรเจคเตอร์ส่วนมากจะเป็นแบบ3LCD System หรือบางคนก็อาจจะเรียกว่าเป็น3chip LCD หลักการทำงานก็จะใช้แหล่งกำเนิดแสงแรงสูงเช่นพวกUltrahigh Pressure Mercury Lamp ยิงเข้าใส่กระจกสะท้อนกรองแสงแบบพิเศษ(Dichroic Mirror) เพื่อกรองแยกแสงออกตามความยาวคลื่นของแสงเพื่อให้เป็นแสงสีแดง แสงสีเขียว และแสงสีน้ำเงิน หลังจากนั้นลำแสงแต่ละสีก็จะถูกปรับโดยแผงLCDแยกกันแต่ละสี แล้วนำแสงมารวมกันโดยปริซึมอีกทีก่อนที่จะฉายผ่านเลนส์ของโปรเจคเตอร์เพื่อไปยังจอภาพอีกที จากหลักการทำงานจะเห็นได้ว่าแสงแต่ละสีจะผ่านตัวLCD chipแต่ละตัวเลยคล้ายๆกับการรับภาพในตาของมนุษย์(trichromatic design) ดังนั้นจอประเภทนี้เลยทำให้ดูแล้วมีความสบายตา หรือเวลามีภาพที่เคลื่อนไหวก็จะมีความต่อเนื่องในระดับที่ดีใช้ได้ เรามักใช้โปรเจคเตอร์ประเภทนี้ในงานpresent แสดงผลพวกข้อมูล รูปกราฟ ที่บางทีอาจต้องดูเป็นเวลานานๆ แต่ข้อเสียก็คือเทคโนโลยีแบบนี้จะพัฒนาเร็วซื้อวันนี้อีกไม่กี่เดือนก็อาจจะออกตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเดิมออกมาอีกแล้ว ปัญหาที่พบได้ประจำสำหรับโปรเจคเตอร์ประเภทนี้คือจะมองเป็นเป็นตาราง(screen-door effect) ถ้าระยะการดูใกล้เกินไป หรือฉายลงไปบนจอที่ใหญ่มากๆ นอกจากนี้แหล่งกำเนิดแสงที่เป็นหลอดไฟมักจะเสื่อมได้ง่ายทำให้ภาพมัวลงอย่างรวดเร็วต้องมีการเปลี่ยนตัวหลอดอย่างสม่ำเสอมเพื่อให้คงคุณภาพของภาพที่ออกมา แต่ก่อนซื้ออย่าลืมถามราคาเจ้าตัวหลอดไฟตัวนี้ด้วย เพราะมีหลายครั้งเมื่อซื้อไปแล้วใช้ไปซักพักภาพเริ่มมัว เราเลยจะไปซื้อหลอดมาเปลี่ยนใหม่แต่ที่ไหนได้ราคาหลอดเกือบเท่าราคาโปรเจคเตอร์กันเลย หรือไม่ก็ไม่มีหลอดรุ่นที่เราใช้อยู่จำหน่ายแล้วต้องระวังให้ดีครับ

คราวนี้มาถึงPlasma Display Panelsหรือจอทีวีพลาสมา โดยตัวจอจะประกอบไปด้วยแผ่นกระจกสองแผ่นประกบตัวpixel cellsแบบsandwich โดยในแต่ละpixelจะประกอบไปด้วยก๊าซมีตระกูล(noble gases), electrodes และphosphor เมื่อมีการผ่านกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปในก๊าซก็จะทำให้ตัวก๊าซกลายเป็นplasmaและปล่อยพลังงานแสงUVออกมา ซึ่งแสงUVตัวนี้จะไปกระตุ้นphosphorทำให้เกิดเป็นแสงที่เห็นได้และเกิดภาพขึ้นมา เทคโนโลยีจอพลาสมานี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยDonald Bitzer และH. Gene Slottow ในขณะที่เรียนอยู่ที่Illinois ในปีค.ศ.1964 ซึ่งดูแล้วหลักการก็จะใกล้เคียงกับจอCRTหรือจอแก้วที่เราคุ้นเคยเพียงแต่แทนที่จะใช้electron beamเพื่อกระตุ้นจอที่เคลือบผิวด้วยphosphor ก็ใช้แก๊ซXenon และ Neon ที่มีคุณสมบัติทางไฟฟ้าเป็นhighly ionizedเพื่อไปกระตุ้นphosphorแทน ซึ่งนับได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีพลาสมาได้พัฒนามายาวนานจนเรียกว่าได้ผ่านจุดที่รุ่งเรืองที่สุดมาแล้ว ในปัจจุบันจึงค่อยๆหายไปจากตลาดเพราะมีเทคโนโลยีอื่นๆมาทดแทน แต่ส่วนที่ดีมากของจอพลาสมาที่ต้องกล่าวถึงก็คือความดำหรือblack levelsของจอที่ทำได้ดีมากๆ มันจึงทำให้ภาพที่ออกมาจอแบบนี้มีความอิ่มตัวของสีสูง มุมมองของภาพก็ทำได้กว้างกว่าจอLCD(ในระยะแรก) response timeของภาพในแต่ละpixelก็ทำได้เร็วมากโดยในแต่ละpixelโดยอาจทำได้สูงถึง600Hzกันเลย แต่ถ้าเปิดภาพเดิมทิ้งไว้นานๆอาจทำให้เกิดรอยค้างที่จอเนื่องจากมีความร้อนทำให้เกิดการไหม้ของจอเป็นรอยได้(Burn-in)

ส่วนข้อเสียอื่นๆก็คือภาพที่ได้อาจทำความสว่างได้ไม่มากเทียบเท่าจอในปัจจุบัน น้ำหนักมาก กินไฟสูง จอมีความร้อนออกมาสูง จึงทำให้จอประเภทนี้มีอายุการใช้งานสั้นกว่าพวกLCD และได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆในปัจจุบัน

ถึงตรงนี้ผมอยากจะแทรกเทคโนโลยีการแสดงภาพอีกแบบที่กำลังเข้ามาในจอทีวีนั่นคือ เทคโนโลยีQuantum-Dot หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างเพราะทีวีหลายๆยี่ห้อเริ่มนำมาใช้ในจอภาพของตัวเองบ้างแล้ว ความจริงแล้วเรื่องของQuantum Dotพัฒนามาเป็นสิบปีแล้ว แต่พึ่งได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมทีวีไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีนี้เรียกได้ว่าเป็นNano Technologyเพราะอาศัยหลักการตัวquantum dotsที่มีรูปร่างทรงกลมมีขนาดเล็กน้อยกว่า 20นาโนเมตร โดยเจ้าตัวquantum dotsจะมีคุณสมบัติเป็นsemiconductor ที่สามารถปล่อยแสงออกมาเนื่องจากผลของquantum-mechanical เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงUVหรือแสงสีฟ้า

โดยความยาวคลื่นของแสงที่เป็นสีต่างๆที่ออกมาจากquantum dotsจะขึ้นอยู่กับขนาดของdots ยิ่งขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไร่ก็จะทำให้ความยาวคลื่นของแสงที่ออกมาใหญ่ตามไปด้วย จึงทำให้ตัวdotsปล่อยแสงออกมาได้หลากหลายและมีสีที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้นเพราะเราสามารถปรับขนาดของdotsให้ได้ตามความต้องการ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยแค่การผสมสีRGBเพื่อให้ได้สีต่างๆไม่ต้องใช้filter ดังนั้นมันจึงทำให้สีที่ออกมามีความเป็นสีเดี่ยวมากๆ(monochromatic)เช่นเดียวกับlaserเลย

เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คล้ายๆกับระฆัง ถ้าระฆังมีขนาดใหญ่ย่อมให้เสียงที่มีความยาวคลื่น(wavelength)ขนาดใหญ่กว่าระฆังขนาดเล็ก ตัวquantum dotก็เช่นเดียวกันเมื่อใส่พลังงานเข้าไปในdotที่มีขนาดใหญ่ คลื่นแสงที่ออกมาก็จะเป็นคลื่นแสงที่มีwavelengthขนาดใหญ่ทำให้เกิดเป็นสีขึ้นตามwavelengthของคลื่นนั้นๆที่แต่ละเฉดสีก็จะมีwavelengthขนาดเฉพาะของตัวมันเอง


ดังนั้นจุดเด่นของเทคโนโลยีแบบนี้คือสามารถทำให้จอภาพเกิดสีได้กว้างมากขึ้น(color gamut) โดยสามารถทำให้ความกว้างของสีที่แสดงออกมาใกล้เคียงกับความกว้างของสีที่ BT.2020ถึง94%:ซึ่งนับว่ากว้างมากกว่าRec709ที่ใช้ในทีวีHDทั่วไปในปัจจุบัน หรือ DCI P3ที่ใช้ในโรงภาพยนต์Digital Cinema มันจึงทำให้สีต่างๆมีความหลากหลายและอิ่มตัวมากขึ้นเมื่อความกว้างของเฉดสีมีมากขึ้น แน่นอนว่าถ้ามีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องเทคโนโลยีQuantum dotนี้น่าจะเป็นความหวังใหม่ของจอภาพระดับความละเอียด4K/UHDกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะทำได้อย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า หรือว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆตัวอื่นที่จะดีกว่านี้อีกหรือเปล่าต้องคอยติดตามกันไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีมันไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แล้วครับ

ฉบับนี้ก็ได้พูดถึงหลักการคร่าวๆกับข้อดีข้อเสียของสื่อแสดงภาพแบบ
- CRT
- LCD
- PDP
- Quantum-Dot
ในฉบับหน้าจะมาต่อกันในเทคโนโลยีที่เหลือซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในห้องDedicated Hometheater หรือแม้กระทั้งการใช้ในห้องMulti-purpose family room ในปัจจุบันได้แก่
- OLED
- LCoS
- DLP
- Laser
โปรดติดตามต่อได้ในตอนหน้าครับ…