หายหน้าหายตาไปหลายเดือนเนื่องจากว่าผมได้ไปเรียน เทคนิคการปรับภาพกับ ISF หรือชื่อบริษัทเต็มๆ Imaging Science Foundation Inc. ที่มาเปิดคอร์สสอนในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยครั้งนี้ Joel Silver ผู้ก่อตั้งและเป็นPresident ได้นำทีม พร้อมทั้งอุปกรณ์ครบครันมาเอง งานนี้ต้องมอบเครดิตให้กับบริษัทAVProStoreและDECO2000 ผู้จัด ทั้งนี้ยังมีบริษัทจอDNPเป็นผู้ให้การสนับสนุนที่ได้นำคอร์สดีๆเข้ามาสอนในบ้านเราบ้าง เห็นว่าปลายปีนี้ก็จะมีหลักสูตรHAA(Home Acoustics Alliance Training)เข้ามาเปิดสอนด้วย ใครสนใจลองเข้าไปหาข้อมูลใน WebsiteของAVProStoreได้แต่อาจจะต้องรีบกันหน่อยเพราะรับจำนวนจำกัดครับ

ถ้าศึกษาเรื่องภาพในห้อง Home theaterมาบ้าง ก็คงคุ้นเคยกับชื่อISF ซึ่งเขาจะทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานด้านภาพในอุตสาหกรรม สื่อแสดงภาพต่างๆไม่ว่าจะเป็น ทีวี, Projector, Video Processors, กล่องดาวเทียม(ในต่างประเทศ), Video cards, รวมถึงจอแสดงภาพด้วย บางทีเราก็จะเห็นสัญญาลักษณ์เครื่องหมายการค้าของISF ตามเครื่องเล่นต่างๆไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อดังๆที่คุ้นเคยต่างๆ หรือบางยี่ห้อที่บ้านเราไม่มีขายก็มักจะมีชื่อ ISF เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการปรับภาพให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น AMD, Anthem, BenQ, DNP, DVDO, Epson, InFocus, Herma Novares, Integra, JVC, LG, Lissau A/S, Lumagen, Microsoft, Mitsubishi, Panasonic, Pioneer Elite, NEC, Onkyo, Optoma, Panasonic, Philips, SpectraCal, Stewart Filmscreen, Monster Cable, ATI, NVIDIA, Screen Research, Key Digital, Runco International, Microsoft Windows

บางทีในเครื่องเหล่านั้นจะมีPicture Mode พิเศษซ่อนอยู่ในเครื่องเพื่อให้ช่างของทางISF เข้าไปปรับภาพในmodeนี้ได้เท่านั้น เมื่อปรับภาพเสร็จผู้ใช้ทั่วๆไปก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขค่าที่ปรับไว้ได้ อย่างเช่นในเครื่องProjectorJVC DLA-RS56ของผม โดยปกติในPicture Modeปกติจะมีแค่ Film, Cinema, Animation, Natural, Stage, 3D, THX, User1-5 แต่เมื่อช่างของISFปรับให้เขาก็จะทำการactivate Picture Modeที่ซ่อนไว้ให้เพิ่มเป็น isf-DAY, isf-NIGHTขึ้นมาทำให้เครื่องสามารถแสดงภาพได้ตามมาตรฐานของ ISF และผู้ใช้ทั่วๆไปไม่สามารถเข้าไปแก้ไขค่าต่างๆในmodeนี้ได้

ในห้องเรียนISF ก็จะมีทั้งส่วนของเนื้อหาที่Joel Silverได้มาบรรยายในเชิงลึกเรื่องของภาพในแง่มุมของISF มีทั้งส่วนที่ให้นักเรียนได้ปรับเองจากเครื่องมือจริงๆที่เตรียมให้ บนจอประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็นจอ Projector จอ LCD, LED, Plasma รวมถึงจอแบบใหม่ OLED ก็มาให้ฝึกปรับกันด้วย ส่วนในวันสุดท้ายเป็นวันที่สนุกมากเพราะJoel ได้ทำการสาธิตการปรับภาพโปรเจคเตอร์มูลค่าหลักล้านในห้องโชว์รูมHome theaterของDECOให้นักเรียนชมเป็นขวัญตา เรียกว่าได้เห็นภาพที่ปรับโดยสุดยอดฝีมือระดับโลกแล้วคุ้มเลยครับงานนี้

ส่วนความรู้เกี่ยวกับภาพในห้องเรียนผมจะทะยอยเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อจะได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องดูหนังของผู้อ่านได้บ้าง เพราอย่างที่เรารู้กันว่าทั้งภาพและเสียงต่างก็เป็นส่วนที่สำคัญในห้องHome theaterไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย อย่างแรกเลยที่บางคนก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับภาพอยู่ว่าทำไมถึงต้องมีการปรับภาพด้วย เวลาเราซื้อทีวี หรือโปรเจคเตอร์มาก็เห็นmodeภาพแบบต่างๆที่เขาปรับมาให้เรียบร้อยแล้ว และsalesmanก็ยังบอกด้วยว่าเขาปรับมาจากโรงงานอย่างดีแล้วไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรเพิ่มภาพก็สวยสุดละ..เอ่อ……แล้วทำไมเราต้องมีการปรับภาพเพิ่ม แถมต้องเสียเงินอีกถ้าต้องจ้างมืออาชีพมาปรับให้ ปรับแล้วจะได้อะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ภาพจะดีขึ้นสวยขึ้นจากmodeที่เขาทำมาให้หรือเปล่า หลายคนเริ่มสงสัยกัน คราวนี้ลองมาฟังในแง่มุมของช่างปรับภาพกันบ้างว่าเขาว่ายังไง
พื้นฐานสิ่งแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าการปรับภาพวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความเที่ยงตรงที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นสากลว่าภาพที่ได้มาตรฐานจะต้องวัดแล้วได้ค่าต่างๆเท่านี้ มีความผิดพลาดได้เท่านี้เป็นต้น แต่ในโรงงานที่ประกอบทีวีหรือสื่อแสดงภาพส่วนใหญ่แล้วความเที่ยงตรงของภาพเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการผลิต แต่เขาต้องการผลิตให้ได้ปริมาณมากโดยมีต้นทุนน้อยที่สุดและให้ภาพที่น่าพอใจสมเหตุสมผล ลองคิดดูนะครับว่าในโรงงานการผลิตจริงๆ การประกอบทีวีเครื่องหนึ่งๆอาจใช้เวลาน้อยกว่าชั่วโมงเพราะเขาต้องคำนึงถึงค่าแรงในการจ้างพนักงานด้วย ยิ่งต้องจ้างเวลามากขึ้นต้นทุนการผลิตก็จะมากขึ้นตาม ราคาสินค้าก็จะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ แต่ในการปรับภาพหรือCalibration เป็นงานที่ต้องอาศัยเวลา อาศัยทักษะและต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีราคาแพง ทั้งนี้การปรับภาพในจอแต่ละจอต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกันเลยทีเดียวคิดดูครับว่าบริษัททั่วไปจะยอมลงทุนไหมถ้าไม่ใช่เป็นจอProfessionจริงๆที่ราคาแพงกว่าจอเราใช้ทั่วไปหลายเท่าตัว
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือคุณภาพของภาพจากจอแสดงภาพที่เราใช้ต่างๆจะขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะระดับแสงของสิ่งแวดล้อมที่เราดูอยู่ แต่บริษัททำจอต่างๆเขาไม่มีทางรู้เลยว่าจอของเขาจะเอาไปใช้ในบ้านเราที่มีแสงเป็นยังไงกันบ้าง เขาก็เหมาะรวมเอาว่าเอาไปใช้ในแสงตอนกลางวัน หรือในห้องนั่งเล่นที่เปิดไปสว่างมากที่มีการสะท้อนของแสงโดยรอบมากๆ ดังนั้นเขาก็จะตั้งmodeต่างๆให้ทีวีของเขายังดูดีอยู่ในสภาพแสงที่เขาคิดไว้ไม่อย่างนั้นบริษัทถูกลูกค้าโจมตีแน่นอนถ้าบางคนซื้อไปแล้วบอกว่าภาพไม่เห็นเหมือนที่โชว์รูมเลย คราวนี้เราลองมาคิดดูว่าเรายังจะต้องดูภาพที่ถูกเขาset upมาเพื่อสภาพแวดล้อมที่แย่ๆเหล่านั้นไหม เพราะการปรับภาพในสิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวยมันก็ต้องมีการCompromiseในบางอย่างเพื่อทำให้บางอย่างดูไม่แย่เกินไป ซึ่งบางทีสภาพแวดล้อมในห้องHome theaterของเราที่ควบคุมแสงเป็นอย่างดีการดูภาพที่ปรับมาเพียงคร่าวๆเพื่อใช้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเราก็จะสูญเสียรายละเอียดภาพ หรือสูญเสียความต่อเนื่องหรือความsmoothของภาพบางอย่างไป ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแทนที่จะได้ภาพที่ดีกว่า ที่ทีวีหรือโปรเจคเตอร์เราสามารถทำได้ นอกจากนี้แล้วการที่คนทำรายการ หรือทำภาพยนต์ต่างๆ เมื่อเวลาที่Producerต้องตัดสินใจว่าภาพจะให้ออกมาเป็นเช่นไร ที่เราเห็นมาจะพบว่าstudioที่เขาใช้ผลิตงานต่างๆส่วนมากจะค่อนข้างมืด เพื่อหลีกเลี่ยงแสงรบกวนรอบข้างต่างๆที่จะสะท้อนเข้าตา หรือสะท้อนเข้าจอและทำให้ภาพและเฉดสีต่างๆเพี้ยนไป ทั้งยังถ้าเขาเหล่านี้ต้องทำงานในสภาพแสงเยอะๆและต้องเพ่งใช้สายตาทั้งวันก็จะทำให้สายตาหล้าได้ง่าย ดังนั้นการปรับภาพหรือCalibrationนี้ก็เพื่อให้ภาพ สี แสง เงาต่างๆในภาพยนต์ที่เราดูมีความใกล้เคียงกับสิ่งที่Producerเขาเห็น ในสภาพแสงที่ต่างๆกัน อันนี้ก็เหมือนเช่นเดียวกันกับเรื่องของเสียงที่ผมมักจะบอกเสมอว่าเป้าหมายของการปรับเสียงก็เพื่อให้ได้ใกล้เคียงกับที่คนทำหนังเขาได้ยิน และต้องการให้เราได้ยิน เพราะเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปที่คนทำเขาบรรจงสร้างมาเพื่อให้คนดูหรือผู้เสพอย่างเราได้อารมณ์ ได้ความรู้สึกเหมือนกับที่เขาต้องการสื่อออกมา ยกตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง The Matrix เราจะสังเกตเห็นได้ว่าภาพที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นในโลกmatrix หรือ โลกจริงๆ ภาพจะออกโทนสี(tint)เขียวทั้งเรื่อง หรือเช่นหนังเรื่อง The Terminator ที่ผู้กำกับ James Cameronได้ใช้แสงสีฟ้า(blue lighting)เพื่อที่จะทำให้อารมณ์หนังดูเป็นเครื่องจักรกล ซึ่งเวลาที่เป็นสีเนื้อ(flesh tones) ช่างแต่งหน้า(makeup artists) ก็จะต้องแต่งสีหน้าสีผิวให้เข้ากับแสงนั้นๆเพื่อให้ได้ตามโทนสีที่ต้องการ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะที่คนทำหนังหรือProducerต้องการสื่อออกมาให้เราได้เห็นได้เห็น และมีอารมณ์ร่วมกับหนังเรื่องนั้นๆ ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เราปรับภาพเพื่อให้ภาพได้ตามมาตรฐาน ก็จะทำให้เราได้สัมผัสถึงอารมณ์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น


ยิ่งถ้าเราได้ปรับภาพกับช่างปรับภาพที่ได้Certified จากสถาบันที่มีชื่อเสียงต่างๆไม่ว่าจะเป็น ISF, THX ฯลฯ แล้วภาพก็จะใกล้เคียงกับที่Proเขาเห็นมากขึ้นเพราะช่างที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ส่วนมากเขาจะใช้ภาพรูปแบบอ้างอิงจากเครื่องกำเนิดภาพ(Pattern Generator) ที่เป็นPatternอันเดียวกันกับที่ใช้ในห้องPost Productionจริงๆนี่เอง




เมื่อเรารู้ว่าแสงของสิ่งแวดล้อมมีผลต่อภาพที่เราเห็นเป็นอย่างมาก ดังนั้นในการปรับภาพเราก็จะสามารถทำไว้หลายmodeเพื่อให้ทีวีของเราสามารถแสดงผลได้ดีในแสงที่ต่างกันได้ เช่นตอนกลางคืนเราอาจจะดูทีวีใสสภาพที่คุมแสงได้ดี ปิดผ้าม่าน แสงรบกวนต่างๆมีน้อย แต่ตอนกลางวันทีวีเครื่องเดียวกันแต่เราต้องเปิดม่านขึ้นมาเพื่อดูทีวีด้วย ต้องดูสิ่งแวดล้อมอื่นๆร่วมด้วยเช่นมีเด็กเล็กๆเราก็ต้องคอยดูเด็กที่กำลังเล่นอยู่นอกบ้านว่าจะเดินออกไปถนนไหม หรือถ้าเป็นร้านค้าเราก็ต้องคอยดูด้วยว่ามีลูกค้าเดินเข้ามาไหมซึ่งในสภาพเช่นนี้การใช้modeภาพแบบเดิมที่ปรับไว้ตอนกลางคืนอาจจะไม่เหมาะสมแล้ว เราก็คงต้องปรับภาพให้มีหลายmode โดยอาจเป็นDay modeอันหนึ่ง Night modeอันหนึ่ง เพื่อให้กลางวันสามารถดูแสงสว่างนอกบ้านได้พร้อมๆกับดูทีวีได้โดยที่ไม่ทำให้ภาพเสียคุณภาพลงไปมากนัก
คราวนี้เราลองมาดูกันว่าแล้วที่บอกว่าภาพที่ดี ที่ถูกต้อง มีความสวยงามนั้นเป็นยังไง มาถึงตรงนี้Joel Silver ได้เปิดภาพสองภาพจากหน้าปกหนังสือให้ดูในเวลาไม่กี่วินาที แล้วถามว่าสองภาพนี้คิดว่าภาพไหนที่คิดว่าดี มีคุณภาพ สวยกว่ากัน


ซึ่งนักเรียนทั้งหมดต่างก็ตอบว่าภาพจากหน้าปกหนังสือNational Geographicดูดีสวยกว่า(ทั้งๆที่อีกอีกฉบับเป็นAngelina Jolieเชียวนะ) ที่เป็นเช่นนี้Joel อธิบายไว้ว่าเวลาคนเราดูรูป มักจะชอบดูรายละเอียดในสีดำ และดูว่าสีดำ มีความดำกว่าไหม ซึ่งอาจจะเรียกเป็นศัพท์ทางเทคนิคว่าContrast และถ้ามีการไล่ระดับตั้งแต่สีขาวจนถึงสีดำละเอียดถูกต้องกว่าเราก็จะเรียกว่ามีGrayscaleที่ดีกว่า อย่างกับภาพจากหนังสือNational Geographicถ้าเราดูจากหนังสือจริงๆแล้ว เนื้อภาพเนื้อกระดาษจะดีกว่าทำให้มีความหนาแน่นของสีดำมีมากกว่าภาพที่ออกมาจึงดูสวยมีคุณภาพดีกว่า เช่นเดียวกันกับภาพจากจอทีวีหรือโปรเจคเตอร์ถ้าจอไหนทำสีดำได้ดีกว่า มีการไล่ระดับสีดำได้ดีกว่า จึงมักจะทำให้ได้ภาพที่ดีกว่า ดังนั้นเราจึงจะเห็นว่าพวกทีวีหรือโปรเจคเตอร์นอกจากเขาจะแข่งขันกันเรื่องรายละเอียดแล้ว เขาก็จะแข่งขันกันที่contrast ratioหรือความดำของจอกันด้วย เปรียบเทียบกับเรื่องของเสียง เครื่องเสียงกับห้องที่ดีต้องทำให้ได้ยินเสียงที่เบาที่สุดที่เขาบันทึกมาได้ ส่วนภาพที่ดีก็ต้องดูกันที่สีดำว่าภาพอันไหนให้สีดำได้ดีที่สุดเหมือนกัน คราวนี้ถ้าเราไปดูภาพตามบูทขายจอทีวีและเจอเซลแมนบอกว่าพี่ดูภาพจอนี่สิครับภาพใสปิ๊ง สีสดสวยมาก เราก็จะได้ดูเป็นว่าจริงๆแล้วเราต้องดูตรงไหนบ้าง จุดไหนเป็นจุดที่สำคัญที่เราควรจะคำนึงถึงเป็นสิ่งแรก โดยทางISF ได้บอกไว้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดสี่อย่างที่ทำให้ได้ภาพมีคุณภาพดีที่สุดเรียงตามลำดับความสำคัญคือ
1.Dynamic Range หรือช่วงความกว้างและการไล่ของสีเทาจากขาวสุดถึงดำสุด ถ้าจอภาพมีHigh Dynamic Range และมีการไล่Grayscaleที่ดีสังเกตบริเวณที่เป็นเงา จะทำให้เรารู้สึกถึงความลึกของภาพ เหมือนกับดูภาพสามมิติเลย
2.Color Saturation คือความอิ่มตัวของสี เช่นถ้าให้เราเลือกระหว่างหนังที่มีรายละเอียดระดับHigh Definitionแต่มีมีสี กับหนังรายละเอียดระดับStandard Definitionแต่เป็นภาพสี แน่นอนว่าเราอยากดูภาพที่มีสีสันมากกว่า
3.Colorimetry ความถูกต้องของสี แน่นอนว่าเราคงไม่อยากดูภาพที่มีสีที่เพี้ยนไม่ถูกต้อง เราอยากดูภาพเดียวกับที่ProducerหรือBroadcastเขาเห็นตอนเขาสร้างมันขึ้นมา
4.Resolution รายละเอียดของภาพ ซึ่งในปัจจุบันพัฒนากันไปเรื่อยๆทั้ง4K, 8K เสียแต่ว่าหนัง หรือรายการที่มีรายละเอียดสูงขนาดนี้ยังมีน้อยอยู่คงต้องรอให้พัฒนาเรื่องการเก็บข้อมูล การส่งข้อมูลขนาดใหญ่พัฒนาไปอีกซักพัก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าISFให้ความสำคัญกับDynamic Rangeมากที่สุด ซึ่งก็คือความดำความขาวและการไล่grayscaleของภาพ ทั้งยังให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องของความเข้มของสี ความถูกต้องของสี ส่วนความละเอียดของภาพยังถือว่ามีความสำคัญน้อยกว่าสามอย่างข้างบน เราลองนึกถึงภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น แต่มีช่วงห่างระหว่างสีดำขาวไม่มาก การไล่สีเทาทำได้ไม่สมดุลย์ สีดูจางๆดูเพี้ยนๆ ยังไงภาพที่ได้ก็ยังไม่สู้ภาพที่ละเอียดน้อยกว่าแต่ให้Dynamic Rangeสีดำขาวได้ดี มีสีสันที่เข้มและถูกต้อง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าความละเอียดไม่สำคัญเลย สำคัญอยู่ครับแต่น้อยกว่าอีกสองอย่างที่กล่าวมา ซึ่งในตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่านอกจากจอทีวีจะโฆษณาว่าจอมีความละเอียดระดับ 4Kแล้วบริษัทก็จะบอกว่าเป็นจอ HDR หรือ High Dynamic Rangeด้วย เพราะเขารู้ว่าภาพที่มีHigh Dynamic Range ที่ดีกว่าจะให้ภาพที่ดีกว่านั่นเอง

ในช่วงปลายปีนี้การแข่งขันในเรื่องจอแสดงภาพเริ่มมีสีสันขึ้นมาก หลังจากเงียบๆและรอกันอยู่กับความคมชัดระดับ4K เช่นเริ่มมีจอที่เป็น OLEDมากขึ้นที่แต่เดิมมีแต่บริษัทLGบริษัทเดียวที่ทำจอOLED ล่าสุดในงานIFA2015ที่Berlin เยอรมัน Panasonicได้เปิดตัวจอOLEDความคมชัดระดับ4Kแถมพวงท้ายเป็น THX certifiedด้วย ทำให้Surpriseกันทั้งงานอย่างนี้แม้ยังไม่เห็นภาพก็คงพอจะเดาได้ว่าเอามาดูหนังคงดีทีเดียว Sonyก็ไม่น้อยหน้าได้เปิดตัวProjectorความละเอียด4Kที่เป็นHDR ออกมาเอาใจคอHome theaterที่ชอบภาพสวยๆโดยเฉพาะ ส่วนJVC D-ILA Projectorsประกาศว่าตัวที่เป็น real 4Kกำลังจะมาในไม่ช้า โดยเขาโฆษณาว่าจะเป็นจอUltimate High Dynamic Range มี HDMI2.0 และHDCP2.2 เตรียมไว้สำหรับเล่นแผ่น Blu-ray UHD ที่กำลังจะออกมาในไม่ช้านี้ด้วยเช่นกัน แสดงว่าปลายปีนี้วงการภาพคงจะคึกคักเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยหลังจากปล่อยให้เรื่องเสียงสนุกสนานกับimmersive sound ไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งAuro3D, Dolby Atmos และล่าสุด dts:X ยังไงเทคโนโลยีมันไม่มีการหยุดนิ่งอยู่แล้วเราก็คอยติดตามไปด้วยกันครับ


