Article

Search

Adjustments in Video Calibration

หลังจากในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปรับภาพว่าทำไมเราถึงต้องมีการปรับภาพ และภาพที่ดีควรเป็นอย่างไร ฉบับนี้ผมจะมาพูดต่อในเรื่องว่าแล้วอะไรบ้างที่เป็นส่วนสำคัญและเป็นวัตถุประสงค์ในการปรับภาพของเราบ้าง

1.อย่างแรกที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ การประเมินสภาพสิ่งแวดล้อมของจอทีวี หรือจอโปรเจคเตอร์ที่เราจะต้องปรับว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่เคยบอกไว้ในฉบับที่แล้วว่าแสงของสิ่งแวดล้อมจะมีผลอย่างมากต่อคุณภาพของภาพ และความสบายตาเวลาดู ถ้าแสงของสิ่งแวดล้อมควบคุมไม่ได้เช่นมีแสงส่องเข้าตาตรงๆหรือมีการสะท้อนของแสงอย่างมากจากผนัง เพดานและพื้น ก็จะทำให้การรับรู้แสงผิดไปโดยเฉพาะระดับสีดำหรือที่ได้ยินเรียกบ่อยๆว่าblack level ดังนั้นถ้าเราเจอสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยดีแบบนี้เราก็คงต้องปรับภาพแล้วบันทึกการปรับไว้เป็น2mode ทั้งสำหรับกลางวันที่มีแสงจ้าค่าหนึ่ง ส่วนในตอนกลางคืนที่แสงค่อนข้างควบคุมได้ดีก็ปรับไว้อีกค่าหนึ่ง

2.ต้องเช็คการปรับค่าจากแหล่งกำเนิดต้นทางจนมาถึงปลายทางคือทีวีหรือโปรเจคเตอร์ ว่ามีการปรับได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกัน สายที่ต่อภาพไม่ว่าจะเป็นสาย component video, สายRGB สาย DVI หรือสาย HDMIมีการต่อไว้อย่างถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันนี้การส่งภาพจากต้นทางที่เป็นhigh-bandwidth เพื่อแสดงผลปลายทางที่เป็นHigh Definition Videoไม่ว่าจะเป็น2K, 4K ก็คงต้องใช้สายdigital HDMI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากมันจะส่งข้อมูลภาพจากแหล่งต้นทางแล้ว บางทีมันยังต้องขนส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพยนต์,หนังseries,รายการทีวีต่างๆ โดยที่เราต้องให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในปัจจุบันก็คือ HDCP หรือชื่อเต็มๆคือ High-bandwidth Digital Content Protection มันเป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสสัญญาณสำหรับสายHDMIที่พัฒนาโดยIntelซึ่งจะมีการใส่รหัสเข้าไปในสัญญาณด้วย เมื่อมีการส่งสัญญาณภาพจากเครื่องเล่นภาพแบบต่างๆเขาไปยังAVR หรือPre-Processor ออกไปยังจอภาพ มันก็จะมีสัญญาณส่วนหนึ่งส่งย้อนกลับมาเพื่อre-check กับแหล่งต้นทางว่ามีการเข้ารหัสและถอดรหัสอย่างถูกต้อง ลองนึกภาพง่ายๆก็เหมือนกับการshack hand เมื่อมีคนยื่นมือมาเราก็จะจับมือเพื่อshack handกันนะว่าเราเข้าใจกัน แต่ถ้าไม่เข้าใจกันหรือสื่อสารไม่ตรงกันก็ไม่มีการจับมือกัน สัญญาณภาพก็จะขาดหายไป ในปัจจุบันHDCPหรือการshack handกัน อาจจะถี่ถึง 2วินาทีต่อครั้งกันเลยทีเดียว แป๊ปเดียวก็จับมือกันอีกละ อีกสองวินาทีก็จับมือกันอีก เพื่อให้แน่ใจว่าการเข้ารหัสและถอดรหัสถูกต้องตามลิขสิทธ์…..(แต่ไม่ต้องกลัวไม่ว่าจะเข้าแบบไหน ยากแค่ไหนHackerก็ยังตามกันไปแก้กันได้อยู่เสมอ)

3. การปรับ Contrast Ratioให้เหมาะสม อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าค่าcontrastที่เหมาะสมกับcontrastที่มากที่สุดจะไม่เหมือนกัน จอแสดงภาพส่วนมากจะแสดงแต่ค่าcontrast ratioที่มากที่สุดเพื่อประโยชน์ในแง่การโฆษณา โดยไม่คำนึงถึงContrast Ratioที่เหมาะสมของเครื่องนั้นๆ โดยcontrastที่ดีมันจะต้องมีความสม่ำเสมอมีความsmoothของgrayscale ดังนั้นการปรับภาพก็ต้องพยายามหาตำแหน่งที่เหมาะสมของblack level และ peak light levelหรือจุดที่ภาพสว่างที่สุด โดยเมื่อปรับแล้วจุดที่ดำที่สุดของภาพต้องเป็นสีดำสนิท ส่วนบริเวณภาพที่เป็นตำแหน่งสีเกือบดำ หรือรายละเอียดในเงายังต้องสังเกตุเห็นได้อยู่ ส่วนตำแหน่งที่ขาวสว่างที่สุดในภาพก็ต้องมีความสว่างโดยที่ไม่สูญเสียรายละเอียดในส่วนสว่าง ไม่มีความเพี้ยนของสีขาวไปเป็นสีอื่นๆในขณะที่เร่งความสว่างมากที่สุด มีการไล่ความเข้มสีเทาหรือgrayscaleที่ต่อเนื่องและsmooth การปรับให้ภาพสว่างหรือมืดมากจนเกินไปโดยที่ไม่คำนึงถึงความสามารถในการไล่grayscaleของจอแสดงภาพจะทำให้ภาพสูญเสียรายละเอียดไปมากทั้งส่วนที่เป็นเงามืด และส่วนสว่างของภาพ

พูดถึงเรื่องContrast , black level และ light levelแล้วก็ต้องพูดถึงเรื่อง High Dynamic Range(HDR)ด้วยเพราะกำลังเป็นเรื่องที่เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้นว่ามีผลต่อคุณภาพของภาพ การที่ภาพมีHigh Dynamic Rangeก็หมาถึงภาพจะมีช่วงระหว่างจุดที่เป็นจุดดำสุดในภาพ กับจุดที่เป็นจุดสว่างสุดของภาพมีความกว้างขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสื่อสามารถใส่เนื้อหารายละเอียดในภาพเพิ่มมากขึ้น เช่นในบริเวณที่เป็นเงา กับบริเวณท้องฟ้าที่สว่าง ก็สามารถใส่รายละเอียดได้มากขึ้นให้สามารถแยกจากพื้นหลังได้ชัดเจน เราจะเห็นได้ว่าบริษัทผลิตทีวีหรือโปรเจคเตอร์ก็เริ่มโฆษณาว่าจอของตัวเองเป็นHDRกันมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในวงการภาพยนต์ทางDolby ก็มีเทคโนโลยีHDRของตัวเองที่เรียกว่าDolby Vision ซึ่งก็เริ่มนำมาใช้ในงานpost-production เพื่อเอามาใช้ในโรงภาพยนต์ของตัวเองที่เรียกว่าDolby Cinema

มาถึงตรงนี้ต้องอธิบายนิดหนึ่งว่าโรงDolby Cinemaก็คือโรงภาพยนต์ที่ทางDolbyได้Certifiedว่ามีภาพและเสียงดีกว่าโรงหนังทั่วๆไป อารมณ์ประมาณโรงภาพยนต์ที่ได้THXหรือโรงIMAXที่มีระบบภาพกับเสียงไม่เหมือนโรงอื่นๆ แน่นอนระบบเสียงในโรงDolby Cinemaต้องเป็นDolby Atmosส่วนระบบภาพทางDolby ได้โฆษณาว่าในโรงของเขาจะใช้เป็นแบบHigh Dynamic Range(HDR) เพราะอย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าภาพที่ดีที่สวยนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือDynamic Rangeของภาพ ทางDolby ก็คงรู้จุดนี้ดีเลยเอามาเป็นจุดขายเลยโดยโฆษณาไว้ว่าภาพของDolby CinemaจะมีContrast ratio ถึง1,000,000:1 ส่วนเวลาสว่างที่สุดสามารถทำความสว่างได้ถึง 31.5fL(Foot-Lamberts) ซึ่งในโรงมาตรฐานทั่วไปจะอยู่ที่14fL แสดงว่ามันสว่างกว่าโรงหนังที่เราดูทั่วๆไปถึงสองเท่า ส่วนถ้าในโรงIMAXก็ประมาณ28fL ซึ่งการที่มีHDRมันทำให้ผู้กำกับสามารถสร้างสรรค์ภาพที่มีรายละเอียดในเงามืดมากขึ้น ท้องฟ้ากลางคืนก็จะเป็นสีดำสนิทไม่ใช่สีน้ำเงินเข้ม ในส่วนที่สว่างก็สามารถใส่วัตถุเข้าไปให้ไล่ระดับความสว่างได้ทำให้วัตถุเด่นหรือแยกจากฉากหลังได้ชัดเจนกว่า เรื่องของสีColor Spaceก็จะใช้DCI P3ที่มีระดับสีที่กว้างมากกว่า Rec709ที่เราใช้อยู่โดยทั่วไปมาก Joel Silverเคยให้ผมดูภาพที่เป็นP3(พีทรี) เทียบกับRec709(เร็คเซเวนโอไนน์)ในภาพเดียวกันกับจอที่รองรับP3ต้องบอกว่าสีสันกับความสวยของภาพคนละเรื่องเลย ดูแล้วRec709นี่กลายเป็นเด็กไปเลยครับ แน่นอนเครื่องฉายที่จะทำได้ระดับนี้ต้องเป็นพวกLaser Projectorเท่านั้น โดยในโรงDolby Cinemaเขาได้ใช้เครื่องฉายคุณภาพระดับโลกก็คือChristie RGB laser projector ที่จะมีตู้ขนาดใหญ่(เนื่องจากบรรจุcoolantระดับเทพไว้เพราะเครื่องร้อนมาก)เพื่อสร้างแสงlaserสีแดง สีเขียว สีน้ำเงินแยกกัน แล้วก็จะส่งแสงlaserสีต่างๆเข้าหาprojectorโดยใช้สายfiber optics ภาพที่ออกมานั้นไม่ต้องพูดถึง คนที่เคยไปดูโรงDolby Cinemaต่างออกมาชมว่าคุณภาพของภาพทั้งความดำ ความสว่าง รายละเอียด สีต่างๆสวยกว่าโรงภาพยนต์ธรรมดามาก บางคนถึงขนาดบอกเลยว่า “The best picture I’ve seen in a theater”กันเลยทีเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันChristies(คริสตี้) เป็นโปรเจคเตอร์ที่ดีที่สุดอีกยี่ห้อหนึ่งของโลกจริงๆ

4. เมื่อเราได้ตำแหน่งที่เหมาะสมของblack levelและwhite levelแล้ว ส่วนที่สำคัญมากและมีผลต่อความสวยถูกต้องของภาพก็คือการไล่Grayscale เพื่อให้ตรงกับสีขาวสีเทาสีดำที่เป็นมาตรฐาน(สีขาวมาตรฐานคือD6500หรือจะเรียกสั้นๆว่าD65)

บางคนก็ยังสงสัยอยู่ว่าแล้วgrayscaleมันยังจะมีผลกับภาพมากอยู่หรือถ้าเราดูหนังที่เป็นภาพสีเป็นส่วนมาก ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนผมเคยจ้างมืออาชีพเขามาปรับภาพให้ที่ห้องHome theater เห็นช่างนั่งปรับเจ้าตัวGrayscaleอยู่นานสองนาน จนผมอยากเข้าไปกระซิบบอกว่า “พี่ครับ เอ่อ….ผมดูหนังเป็นภาพสีครับ หนังขาวดำผมเคยดูอยู่เรื่องเดียวคือSchindler’s Listเอง ยังไงพี่ไม่ต้องเน้นก็ได้มั้งครับ พี่ไปเน้นปรับตรงเป็นสีดีกว่าไหม”…..มาถึงตอนนี้ผมรู้สึกดีใจที่ไม่ได้ถามคำถามที่ฉลาดเช่นนั้นออกไป ฮ่า ฮ่า เพราะอะไรนั่นหรือ ก็เพราะว่าGrayscaleมันสำคัญกับภาพมากกว่าที่เราคิดไงครับ ลองมาดูว่าGrayscaleแล้วมันคืออะไรกันแน่

การปรับGrayscaleก็คือการปรับระดับของสีปฐมภูมิ(Primary Color)คือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน เพื่อให้ผสมกันแล้วมันกลายเป็นระดับความเข้มของสีเทาตั้งแต่จุดที่เป็นสีดำหรือมืดสนิทจนถึงจุดที่เป็นสีขาวที่สว่างที่สุด บางทีคำว่าGrayscaleก็อาจจะถูกอ้างไปถึงคำว่า อุณหภูมิสี(Color Temperature) หรือ ความสมดุลย์ของสีขาว(White Balance) ความจริงคำทั้งสามคำนี้(Grayscale, Color Temperature, White Balance)มีความหมายใกล้เคียงกันและมีความสัมพันธ์กันแต่ในบางสถานการณ์ไม่สามารถใช้แทนกันได้ Grayscaleมีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของภาพก็เพราะรายละเอียดต่างๆ(resolution,detail)ในภาพสีล้วนมีพื้นฐานมาจากข้อมูลของgrayscaleตั้งแต่ภาพที่เป็นสีดำหรือไม่มีแสงไล่ไปเป็นค่อยๆสว่างขึ้นในระดับสีเทาเข้มเทาอ่อนจนเป็นสีขาวสุดที่เป็นreference white level ทดลองง่ายๆโดยลองลดระดับสีของจอภาพลงมาเรื่อยๆจนทีวีเรากลายเป็นภาพขาวดำ เราจะสังเกตุเห็นว่าภาพที่ปรากฏบนจอก็ยังเป็นภาพขาวดำและมีสีเทาตามเงาต่างซึ่งเราก็ยังดูเห็นภาพเดิมมีรายละเอียดต่างๆที่ดูรู้เรื่องอยู่เพียงแต่ไม่เป็นสีเท่านั้น

และภาพได้หายไปเลยจากจอเนื่องจากเราไปปิดสีต่างๆใช่หรือไม่คำตอบคือภาพก็ยังอยู่เพราะเฉดสีเทาต่างๆที่เราเห็นก็คือการรวมกันของเม็ดสีหรือpixelของสีแดง สีเขียว สีน้ำเงินในอัตราส่วนที่พอดีเพื่อทำให้เกิดเฉดสีเทาต่างๆหรือgrayscaleขึ้นมา แต่เท่าไร่มันถึงจะเป็นอัตราส่วนที่พอดีนั้นเพราะมันสามารถผสมกันได้เป็นล้านๆแบบ ต้องตอบว่ามันมีมาตรฐานของมันอยู่คือได้มีการกำหนดมาตรฐานของเฉดสีขาวให้เป็นสากลเหมือนกันทั่วโลกโดยSociety of Motion Picture and Television Engineers(SMPTE) กำหนดไว้ให้เฉดสีขาวที่ได้มาตรฐานจะเรียกว่าD6500(D65) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ รายการทีวีที่ได้มาตรฐานทั่วโลกจะต้องมีการเทียบเฉดสีขาวให้เป็นสีขาวเดียวกันในกระบวนการpost production ดังนั้นจอแสดงภาพก็ควรจะต้องมีการปรับภาพให้ได้มาตรฐานสีขาวเดียวกันกับD65เพื่อให้เราได้ดูภาพที่ได้มาตรฐานเที่ยงตรงตามภาพสีควรจะเป็น แต่ถ้าสีแดง สีเขียว สีน้ำเงินผสมกันไม่ถูกสัดส่วน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ สีที่จะเอามาใส่บนgrayscaleที่เป็นพื้นฐานของภาพก็จะถูกสีแดง เขียว สีน้ำเงิน ที่ผสมผิดทำให้เกิดgrayscaleเสียความสมดุลย์ จึงทำให้สีต้นฉบับเพี้ยนไป และการเพี้ยนนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการไปแก้ที่เฉดของสี(color or tint) ในเมนูของทีวีหรือเครื่องฉายภาพได้โดยตรง ต้องไปแก้ไขที่grayscaleก่อนเพราะความเพี้ยนของสีเกิดจากสีที่ประกอบขึ้นเป็นgrayscale เห็นไหมครับว่าgrayscaleนั้นมีผลต่อภาพมากแค่ไหนไม่เฉพาะภาพขาวดำเท่านั้นภาพสีที่เราดูอยู่เป็นประจำก็ได้รับผลจากgrayscaleทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเราปรับgrayscaleได้ถูกตามมาตฐาน ภาพสีของเราก็จะไม่เพี้ยนจากสีต้นฉบับ

5.หลังจากที่เราได้ปรับgrayscaleได้แล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องปรับก็คือการปรับเฉดสี ความเข้มสี ความสว่างของสีให้ได้เที่ยงตรง แน่นอนตามมาตรฐาน โดยสีหลักที่จะทำการปรับก็จะเป็น สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ส่วนสีที่ได้จากการผสมของสีหลักที่สำคัญรองลงมาก็จะเป็นสีsecondary colorsคือสีฟ้า สีม่วง และสีเหลือง ในปัจจุบันการพัฒนาทีวีก้าวหน้าไปมาก เฉดสีที่ออกมาจากทีวีแต่ละสีมักจะไม่เพี้ยนมากเหมือนตอนแรกๆที่เริ่มมีทีวีสี ในอดีตถ้าจะทำให้สีในทีวีมีความถูกต้อง ต้องมีการปรับเฉดสีหรือtintค่อนข้างมาก แต่ลองสังเกตดูในปัจจุบันการปรับในส่วนของtintนั้นจะปรับน้อยมากหรืออาจจะไม่จำเป็นต้องปรับเลย แต่เราจะไปปรับรายละเอียดอื่นๆของสีแทนเพื่อให้ได้สีเที่ยงตรงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสังเกตุดูจอแสดงภาพต่างๆเริ่มมีการปรับสีได้ละเอียดขึ้นหรือที่เราอาจจะเคยได้ยินว่าColor Gamut Calibrationนั่นแหละครับ เพื่อให้มั่นใจว่าสีที่เราเห็นมีความเที่ยงตรงใกล้เคียงกับมาตรฐานมากขึ้น

โดยสำหรับในเรื่องของสีนั้นทาง International Commission on Illumiantion ในปี1931ได้แสดงDiagramให้เราเห็นถึงเฉดสีทั้งหมดที่สายตามนุษย์จะมองเห็นได้ ที่เรียกกันเป็นสากลว่าCIE Chromaticity Diagram

ถ้าดูจากdiagramจะเห็นเส้นcolor temperature ที่มีหน่วยเป็นเคลวิน(Kelvin) วิ่งไปตามเส้นสีดำที่เรียกว่าblack body curve โดยมีเลขบอกcolor temperatureอยู่ด้านล่าง ตำแหน่งที่เป็น6500K หรือที่อุณหภูมิสี 6500องศาเคลวินจะเป็นตำแหน่งที่เป็นจุดสมดุลย์ของสีแดงและสีน้ำเงิน ส่วนบริเวณที่เป็นD65จะเป็นจุดที่อยู่ใกล้เคียงเหนือเส้นblack body curveที่6500K เล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่ได้คิดอะไรมากเอาคร่าวๆก็ถือได้ว่า D65กับ6500Kelvinไม่ต่างกัน แต่ถ้าจะเอาให้ละเอียดแล้วการกำหนดค่าD65จะต้องกำหนดเป็นจุดที่มีค่าในแกนx=0.313 แกน y=0.329 เพราะถ้าเอาตามเส้นblack body curveก็ยังไม่ละเอียดพอเนื่องจากเส้นก็ยังมีความหนาที่ไม่สามารถบอกได้ละเอียดเท่ากับจุด

นอกจากนี้ก็ยังจะมีค่าY(เรียกว่าbig y)ที่เกี่ยวกับLuminaceหรือความสว่างของสีเข้ามาอีกด้วยแต่ผมคงไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้เพราะเนื้อหาจะค่อนข้างจะลึกเกินไป แค่CIE Chromaticity Diagramก็น่าจะบอกอะไรได้เยอะแล้ว สำหรับCIE Diagramนี้ISF certified calibratorถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ในการปรับภาพเลย ภาพของDiagramต้องอยู่ในหัว(ความจริงของผมมันอยู่ในกระเป๋า ผมก็ต้องเปิดดูทุกครั้งเวลาปรับ555) เพราะมันทำให้รู้ว่าสีหรือgrayscaleตอนนี้อยู่ตรงจุดไหน แล้วมีความเพี้ยนเท่าไร่(Delta E) แล้วเราจะปรับสีอะไร ปรับยังไงปรับแกนxกี่คลิ๊ก ปรับแกนyกี่คลิ๊กเพื่อให้เข้าไปใกล้จุดx313(three-one-three) และ y329(three-two-nine)ได้มากที่สุด และถ้าเข้าไปใกล้ไม่ได้ ก็ต้องรู้ว่าจะสามารถcompromiseค่าตรงไหนได้บ้าง และสามารถcompromiseได้กี่จุด ดังนั้นก็อย่าแปลกใจถ้าเห็นช่างปรับภาพของISFมักอยู่กับตัวเลข พูดเป็นตัวเลขมากกว่าที่จะบอกว่าเป็นสีอะไรแล้วสีมันอ่อนหรือสีมันแก่อย่างไร สีมันเพี้ยนไปทางไหนแต่จะได้ยินพูดแค่ว่า x- three-one-two,y- three-two-eight, deltaE six-point-four…..อะไรประมาณนี้เสียมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็น่าจะพูดได้ว่า “If language of sound is Physics, so language of light is Mathematics.” ครับ

6.การปรับSharpness และEdge Enhancement บางคนเห็นค่าในเมนูทีวีแล้วปรับให้สูงๆไว้เลย เพราะคิดว่าการปรับมากๆยิ่งทำให้ภาพชัดขึ้นสวยขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วการปรับการปรับค่าความชัดต่างๆไม่ว่าจะเป็น Sharpness, edge enhancement, detail enhancementหลักการก็คือการไปเปลี่ยนแปลงภาพในบริเวณที่เป็นจุดเปลี่ยนระหว่างส่วนมืดไปเป็นส่วนสว่าง dark-to-bright มีการเพิ่มขอบหรือเพิ่มhighlightเพื่อทำให้ภาพโดยรวมดูชัดขึ้น แน่นอนการการปรับทางelectronicเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อภาพตามมาถ้าปรับมากเกินไป คือการเพิ่มnoiseขึ้นในภาพ ซึ่งภาพต้นฉบับจริงๆจะไม่มีnoiseตัวนี้อยู่ในภาพและถ้ามีมากเกินไปก็ทำให้ไปบังรายละเอียดของภาพบางส่วน และnoiseตัวนี้มักจะทำให้เห็นเป็นเงาขาวๆรอบเส้นสีดำหรือที่มักเรียกว่าHaloดูแล้วเคืองตา ดังนั้นการปรับค่าพวกนี้ก็ควรจะปรับเพียงเล็กน้อยทำให้เรารู้สึกได้ว่าภาพชัดขึ้นโดยไม่ส่งผลเสียหรือรบกวนต่อภาพต้นฉบับ หรือบางทีถ้าภาพต้นฉบับก็มีความคมชัดอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับ

นอกจากนี้ก็จะมีการปรับที่เรียกว่าoverscanหรือการปรับเพื่อให้ภาพที่ออกมาปรากฏเต็มหน้าจอ ซึ่งมันก็ใช้หลักการDigital Zoomภาพ เพื่อทำให้ขอบบางส่วนของภาพหายไปแล้วให้ได้ภาพเต็มจอ แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือความคมชัดของภาพก็จะลดลงไปเพราะเป็นการทำให้เกิดการZoomภาพขึ้นมา ดังนั้นเพื่อให้ภาพได้ความคมชัด และถูกต้องตามสัดส่วนจริงๆของภาพต้นฉบับเราต้องปรับภาพที่ปรากฏออกมาตรงตามต้นฉบับจริงๆเป็น1:1 pixel mapping หรืออาจจะมีชื่อเรียกหลายแบบตามแต่ยี่ห้อเครื่องฉายภาพเช่น dot by dot, Full pixel, just scan เป็นต้น

เช่นเดียวกับการปรับkeystoneเพื่อแก้ไขการเกิดสี่เหลี่ยมคางหมูขึ้นในการติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ ที่เครื่องไม่อยู่ตรงกลางจอ โดยอาจจะอยู่สูงหรือต่ำกว่าจุดกึ่งกลางจอ ผลที่ได้คือทำให้ภาพที่ได้เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ค่าkeystoneนี้ไม่แนะนำให้ปรับใดๆเพราะมันจะไปทำการZoomภาพในบางจุดทำให้ภาพออกมาสูญเสียความเป็น1:1 pixel mappingไปภาพจะไม่คมชัดและเกิดความเพี้ยนขึ้นได้ วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือพยายามติดตั้งให้projectorอยู่ตรงกลางจอให้มากที่สุด สูงหรือต่ำกว่าจอภาพเล็กน้อยที่จะทำให้เกิดkeystoneไม่มากนักก็ไม่เป็นไรยอมรับได้ เพราะการเข้าไปปรับค่าkeystone correctionของเครื่องมักจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของภาพเป็นอย่างมาก เลี่ยงได้เป็นเลี่ยงครับ

คราวนี้คงพอจะพอเห็นภาพกันบ้างแล้วนะครับว่าทำไมเราถึงต้องมีการcalibrateภาพ หลักการในการปรับภาพมีอะไรบ้าง ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นการcalibrateภาพ หรือการcalibrateเสียง เปรียบเทียบมันก็ใกล้เคียงกับการตั้งสายกีตาร์ คือเมื่อเราดีดสายกีตาร์เส้นใดเส้นหนึ่ง เราก็จะใช้เครื่องวัดเสียงที่จะบอกว่าเสียงของสายเส้นนี้ควรจะเป็นยังไง เสียงสูงไป ต่ำไปยังไงเมื่อเทียบกับเสียงที่เป็นมาตรฐานสากล และเราก็ทำการหมุนสายปรับสายให้เสียงมันถูกต้องไม่เพี้ยน

เช่นเดียวกับทีวี หรือจอภาพที่เราซื้อมา เมื่อเรามาเปิดดูส่วนมากแล้วมันจะถูกตั้งมาให้ทีวีมีความสว่างมากเกินไปเพื่อให้โดดเด่นเหมือนในห้องshowroom สีที่ปรับมาก็จะออกโทนฟ้าไว้ก่อนเพราะเป็นโทนสีที่คนดูแล้วสบายตาที่สุดเห็นความเพี้ยนของสีน้อยที่สุด(ลองถ้าเป็นสีเขียวนะ ปรับเกินนิดเดียวตาคนเราก็เห็นความเพี้ยนเลย รับรองขายทีวีไม่ออกแน่ แฮ่ แฮ่) ความเข้มของสีก็จะปรับให้มีสีออกมาเข้มกว่าปกติ ถ้าเราสังเกตุดีๆแล้วการปรับแบบนี้จะทำให้เราสูญเสียรายละเอียดไปมาก

การปรับภาพหรือเสียง(System Tuning)ก็คือการทำให้เราได้เห็นภาพจริงๆเสียงจริงๆตามมาตรฐานที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ทำขึ้น ก็ดังเช่นที่ผมบอกไปเรามีกีตาร์ กีตาร์ของเราก็สามารถปรับเพื่อให้เสียงตัวโน้ตมันถูกต้องตามมาตรฐานได้ สื่อแสดงภาพ หรือเสียงก็สามารถปรับให้มันถูกต้องตามมาตรฐานได้เช่นเดียวกันครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Adjustments in Video Calibration (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้