หลังจากสองฉบับที่แล้วได้พูดถึงเรื่องหนักๆของphase ฉบับนี้ก็ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงการปรับเสียงในห้องจริงๆกันบ้างเพราะพื้นฐานที่ต้องใช้ในการปรับเสียงต่างๆผมก็กล่าวถึงพอสมควรในฉบับเก่าๆตั้งแต่ผมเริ่มเขียนบทความมาเกือบๆสองปีแล้ว เพราะหลักในการCalibrateทั่วไปผมก็ใช้หลักการที่เคยพูดถึงมาประยุกต์ ผสมผสาน ในแต่ละห้องhome theater โดยมีวัตถุประสงค์พยายามลดความเพี้ยนของเสียงต่างๆเพื่อให้ห้องนั้นๆมีเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงที่มาจากต้นฉบับตามที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังอยากให้เราได้ยินมากที่สุด ในฉบับนี้ผมได้มีโอกาสไปปรับเสียงที่ห้องคุณธรรมนูญ ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเป็นนักเขียนหลักและกองบรรณาธิการของหนังสือAudiophile/Videophileของเรานี่เอง ผมได้รับการติดต่อจากคุณธรรมนูญมานานจนลืมไปแล้วว่าถ้ามีโอกาสจะมาปรับเสียงให้ที่ห้อง แต่เนื่องจากภาระกิจงานประจำของผมที่ต้องรับผิดชอบ แถมยังมีคนติดต่อเข้ามามากมายเพื่อให้ไปปรับเสียงปรับภาพให้จนบางทีก็ลืมไปว่าเคยพูดกันไว้ ใจจริงผมก็อยากไปปรับให้กับทุกๆท่านที่ติดต่อเข้ามาแต่ติดด้วยเรื่องเวลาและการเดินทางนี่แหละครับ บางครั้งเจ้าของห้องอาจจะรอนานนิดหนึ่งกว่าจะมีโอกาสได้ไปปรับให้ จนตอนนี้บางห้องเริ่มงอนผมไปแล้วครับ ฮ่า ฮ่า
บ้านคุณธรรมนูญอยู่แถบๆชานเมือง ผมลงเครื่องบินที่สุวรรณภูมิช่วงเย็นๆกว่าจะฝ่าดงรถติดไปถึงก็เกือบๆทุ่มแล้ว โดยในวันนั้นมีเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายท่านจากFacebook Page Home Theater Pro Thailand ได้เข้ามาช่วยในการปรับเสียงด้วย ทั้ง พี่ชวิน (HAA calibrator) คุณนัท (ISF calibrator) คุณหมอจเร (HAA calibrator) อาจารย์พิชาติ พี่วินัย ก็ได้มาร่วมด้วยช่วยกันยกข้าวยกของเครื่องอุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งกว่าจะมาถึงครบก็ใช้เวลากันพอสมควรเพราะบางคนก็หลงไปหมู่บ้านข้างๆบ้าง ไปเรียกเจ้าของบ้านแล้วหน้าตาไม่คุ้นเหมือนที่เคยเห็นในหนังสือ เลยต้องโทรถามกันให้วุ่น คุณธรรมนูญก็ได้บอกไว้ก่อนว่าห้องฟังที่บ้านนั้นขนาดไม่ใหญ่นะจะเข้ามาอยู่กันได้หมดหรือ สัดส่วนห้องจะอยู่ที่ราวๆกว้าง 2.9เมตร ยาว 4เมตร สูง 2.75เมตรเท่านั้น แต่วันนั้นในที่สุดก็เข้าไปอยู่ได้ครับแต่ต้องยกเก้าอี้บางตัวออกก่อน มาถึงคุณธรรมนูญได้พูดถึงประวัติห้องนี้ว่าเมื่อก่อนตรงนี้จะเป็นส่วนของที่จอดรถแล้วค่อยมาทำเป็นห้องHome theater โดยให้บริษัทรับจ้างทำห้องมาทำโดยเฉพาะ แต่เมื่อปี พ.ศ.2554ก็ต้องเจอกับน้ำท่วมใหญ่ทำให้ห้องทั้งห้องเสียหาย เลยต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่กันอีกรอบคราวนี้เลยต้องทำเฟอร์นิเจอร์ built inแบบถอดประกอบได้ง่ายๆ เผื่อเจอน้ำท่วมอีกรอบจะได้ถอดออกได้ทัน ห้องนี้เข้าไปแล้วทุกคนก็คงจะคุ้นเคยหน้าตาเป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นห้องที่เห็นอยู่ในหนังสือAudiophile/Videophileอยู่เรื่อยๆเวลาใช้ทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ผมว่าเป็นห้องที่ออกแบบและตกแต่งได้ลงตัวสวยงาม ไม่มีวัสดุปรับAcousticsที่เกะกะรกสายตา แต่อาศัยการออกแบบให้มีผนังเป็นชั้นๆเพื่อทำหน้าที่เป็นacoustic diffuser อย่างมีdesign โดยถึงแม้ขนาดห้องจะเล็กแต่การตกแต่งแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้คนที่เข้ามามีความรู้สึกว่าอึดอัดแต่อย่างใด ผนังทุกด้านรวมทั้งผนัง พื้น และเพดาผมลองเคาะดู ก็มีความแข็งแรงไม่ได้โปร่งๆเหมือนผนังเบาทั่วๆไปที่เวลามีเสียงเบสลงหนักๆจะกระพือ หรือมีเสียงโครงอลูมิเนียมภายในกระทบกันทำให้เกิดrattle soundเป็นที่น่ารำคาญมากเวลาดูหนัง




เดินสำรวจอุปกรณ์ของHome theater ห้องนี้จะเป็นระบบ 7.1ที่ใช้ลำโพงMain LCR และ Surround left, Surround rightเป็นลำโพงManger ทั้งหมด ส่วนลำโพงBack Surround เป็นลำโพง Triangle สำหรับAVRจะใช้ของ Anthem โดยใช้เป็นProcessorและใช้เป็นPowerขับลำโพงCenterและSurround ส่วนลำโพงFront left และ Front right ใช้ สัญญาณRCAจากAnthem ต่อมาที่Vitus Power Amplifierเพราะว่าอุปกรณ์ในห้องนี้ส่วนมากจะใช้เพื่อการทดสอบระบบ 2channel ส่วนSubwooferจะเป็นของ XTZขนาด 12นิ้ว 1ตัววางไว้อยู่มุมห้องด้านหน้าซ้าย Projectorเป็นของInfocus IN8606ส่วนอุปกรณ์ฟังเพลง2Channel รวมถึงเส้นสาย อุปกรณ์เสริมมีอีกเยอะหลายตัวแต่ผมคงไม่เอามาพูดถึงในที่นี้เพราะไม่เกี่ยวกับการcalibrationซักเท่าไร ที่สำคัญผมก็ไม่ชำนาญด้วยว่าตัวไหนชื่ออะไรกันบ้าง555


หลังจากสำรวจอุปกรณ์ต่างๆเป็นที่เรียบร้อยก็ได้เวลาฟังก่อนที่จะCalibrationว่าเสียงเป็นยังไงบ้าง ผมก็ทำการเปิดtrack ทดสอบต่างๆตามที่เคยได้พูดถึงในฉบับก่อนๆ เริ่มจาก “Hi-Lili Hi-Lo” ของ Rickie Lee Jonesเพื่อดูส่วนสำคัญที่สุดของเสียงที่ดีคือ Clarityรวมถึงdialogue intelligibility และFocusของimage stabilityปรากฏว่าเสียงของRickie Lee Jones มีเสียงที่แตกพร่าที่ลำโพงCenterเวลาร้องเสียงดังๆ คล้ายๆกับลำโพงแตกหรือมีปัญหาของDriverประมาณนั้น ผมเลยต้องบอกคุณธรรมนูญไว้ก่อนว่าต้องมีปัญหาอะไรซักอย่างเลยทำให้เสียงผิดปกติไม่มีClarityของเสียง เหตุการณ์นี้เวลาผมไปsetก็มักจะเจออยู่เรื่อยๆ เพราะบางทีเจ้าของห้องอาจจะชินกับเสียงที่ได้ยินทุกวันเลยไม่ได้สนใจมาก และเสียงพวกนี้มันจะเกิดขึ้นบางจังหวะที่เสียงมันpeak บางคลื่นความถี่ ก็อาจจะฟังยากนิดหนึ่งถ้าฟังแบบผ่านๆไป แต่ถ้าเรามีประสบการณ์เคยฟังเสียงจากชุดที่มีclarityที่ดีหรือชุดที่เป็นreferenceและได้ฟังบ่อยจนจำน้ำเสียงจนขึ้นใจแล้วก็ไม่ยากที่จะพบความผิดปกติเหล่านี้ และบางทีความผิดปกติของเสียงเหล่านี้เครื่องมือวัดเสียงก็ดูยากหรือพบยากว่าตรงไหนมันผิดปกติ อย่าลืมว่าเครื่องมือวัดเสียงที่มหัศจรรย์และดีที่สุดคือหูมนุษย์แต่มันก็มีข้อจำกัดก็คือมันวัดได้แค่ในบางจุด ทั้งยังไม่มีความละเอียดและมักจะsensitiveต่อสิ่งต่างหรือได้ค่าที่ไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับเครื่องมือวัดเสียงแบบต่างๆ ผมจำได้ว่าเวลาเรียนกับอาจารย์หลายๆท่านในการสอนการSetup home theater แต่ละท่านก็จะสอนไปในแนวทางเดียวกันก็คือมีการสอนทั้ง Ear training และ Eyes training เพราะเวลาเราtuningห้องhome theaterเราไม่ได้ดูแต่กราฟ และตัวเลขที่แสดงอย่างเดียว หรือให้แต่หูฟังเสียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจกราฟ หรือตัวเลขค่าพื้นฐานต่างๆของเสียงเลย ทั้งสองอย่างมันต้องไปด้วยกันคือต้องรู้ว่าเสียงแบบนี้ กราฟออกมา หรือตัวเลขค่าต่างๆจะเป็นแบบไหน หรือในทางกลับกันเราเห็นกราฟแบบนี้ ค่าต่างๆโชว์ออกมาแบบนี้เสียงจะออกมาแนวไหน แล้วถ้าเสียงมันผิดปกติแบบนี้เราต้องรู้ว่ามันจะสามารถตรวจสอบกลับไปได้ว่าน่าจะเกิดจากอะไรจะวัดได้ยังไงแก้ไขแบบไหน ดังนั้นในการcalibrateห้องhome theaterเราก็คงต้องให้ความสำคัญทั้งสองส่วนเพราะทั้งสองส่วนมันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

ฟังมาถึงในเรื่องตำแหน่งFocusของเสียง ก็ถือว่าพอใช้ได้เพียงแต่ตำแหน่งFocusอาจจะมีคลุมเคลืออยู่บ้าง เสียงลำโพงCenterก็ยังสามารถจับตำแหน่งได้ว่าออกอยู่แถวบริเวณพื้นห้องไม่ยกขึ้นสูงตามจอภาพทั้งนี้ก็อาจจะประเมินคร่าวๆก่อนว่าน่าจะมาจากphaseของLCRที่ไม่ alignกันเต็มที่ หรือมีปัญหาที่phaseของเสียง เพราะถ้าเสียงจากลำโพงLCRมันมีการalignกันหรือphaseและtime compatibleแล้วนั้นเสียงที่ได้จะต้องมีความเข้ากันของลำโพงLCRทั้งสามตัวเวลามีเสียงรถหรือเสียงobjectที่วิ่งจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายก็จะต้องมีความต่อเนื่องกันของเสียงไม่มีจุดไหนโหว่หรือมีlevelเสียงไม่เท่ากัน โดยFocusของเสียงที่ได้ก็ต้องมีความชัดเจนแบบpin pointกันเลย ต่อมาก็ฟัง Limehouse Blues, Jazz at The Pawnshop, Propruus PRCD7778และ Drum Improvisationของ Jim Keltner; Sheffield Drum and Track Record, Sheffield CD 14/20 ตามขั้นตอนของเราเพื่อประเมินSound Quality Metrics ที่เหลืออื่นๆอีกก็คือ Envelopment, Frequency response, Dynamics และConsistency จุดที่น่าสนใจก็คือเสียงEnvelopment ที่ได้จากทางด้านหลังยังโอบล้อมไม่สมบูรณ์นัก ถ้าเราดูจากรูปตำแหน่งลำโพงSurround Backจะเห็นว่าตำแหน่งของมันไม่ได้อยู่ผนังหลังแต่อยู่ด้านข้างถัดจากลำโพงSurroundไปด้านหลัง ซึ่งจะได้ยินชัดเจนเมื่อเล่นtrack Jim Keltner; Sheffield Drum and Track Record ตรงช่วงintro ที่เสียงกระดิ่งจะดังรอบๆตัวเรา แต่บริเวณด้านหลังเสียงกระดิ่งก็จะโหว่ไปหน่อย

ส่วนเสียงDynamicที่ฟังจากเสียงกลองในtrackนี้ก็พบว่าเสียงกลองยังไม่แน่นและไม่กระชับพอ เวลาฟังก็ยังจะมีความรู้สึกว่าคนตีกลองยังตีแบบออมๆแรง ซึ่งผมก็มักจะเจอเสียงเบสในห้องที่ยังไม่ได้calibrationเป็นแบบนี้เสมอก็ไม่ได้แปลกใจอะไร ก็อย่างที่เคยบอกครับว่าเสียงเบสหรือความถี่ต่ำที่ได้รับการcalibrateอย่างถูกวิธีและอยู่ในห้องที่เหมาะสมแล้วเสียงเบสที่ได้จะต้องมีลักษณะ Powerful, Fast, Tight, Deep & Clean……


หลังจากเมื่อได้ฟังเสียงของทั้งระบบก่อนปรับหรือขั้นตอนEvaluationแล้วว่ามีลักษณะเป็นยังไงมีจุดไหนที่ต้องได้รับการแก้ไขแล้ว ก็ทำขั้นตอนต่อๆไปก็คือ Verification, Designและสุดท้ายCalibration ว่าแล้วพวกเราก็ช่วยกันกางกระเป๋า ตั้งไมค์กันได้ครับ แต่เนื่องจากว่าห้องนี้เป็นห้องที่ต้องใช้ทดสอบระบบ2Ch.เป็นหลัก ดังนั้นผมจึงไม่ได้แก้ไขในส่วนของลำโพงFront left และ Front right แต่อย่างใด เพราะรู้ดีว่าในบางห้องเจ้าของห้องจะเน้นกับการฟัง2Ch.มากกว่าการฟังMultichannel ผมก็จะพยายามปรับtuningให้เสียงอุปกรณ์ต่างๆในระบบhome theater ให้ได้เสียงที่ดีที่สุดโดยมีผลกระทบต่อ2Ch.น้อยที่สุด ซึ่งคุณธรรมนูญก็ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ก่อนปรับแล้ว จุดที่ผมได้ทำการเปลี่ยนแปลงจุดใหญ่ๆก็คือตำแหน่งลำโพง Surround Backหรือ Rear Channelที่อยู่ด้านข้างให้ไปอยู่บริเวณด้านหลังตาม CEDIA/CEA22 recommended practice for surround speaker configuration ที่แนะนำให้วางลำโพงSurround Backไว้ที่ระหว่าง135-150องศาเมื่อเทียบกับตำแหน่งนั่งฟังกับลำโพงCenter ว่าแล้วก็ได้เวลาปีนขึ้นไปเจาะรูใหม่วางตำแหน่งลำโพงSurround Backเสียใหม่ให้อยู่ด้านหลัง โชคดีหน่อยวันนั้นมีผู้ช่วยหลายคนเลยไม่ได้เสียเวลามากนัก


ส่วนต่อมาที่น่าสนใจคือตำแหน่งลำโพงSubwoofer โดยเมื่อเราทำการวัดFFT เปรียบเทียบกับสัดส่วนห้อง ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่าเกิดมีปัญหาที่ 43Hz ซึ่งก็คือตำแหน่งของfirst length mode ตามทฤษฎีถ้าเราใช้สัดส่วนห้องมาคำนวณ เมื่อเราเห็นแบบนี้และเข้าใจหลักการเรื่องroom modeแล้ว การแก้ไขก็ไม่ยากละ ตำแหน่งSubwooferที่น่าจะเหมาะสมสำหรับห้องนี้ก็ควรจะเป็นกึ่งกลางผนังด้านยาว ว่าแล้วก็ทำการยกSubwooferไป ขนาดว่าวันนั้นมีคนช่วยยกหลายคนก็ยังต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอุปกรณ์ 2Ch.แต่ละตัวที่อยู่ข้างหน้า เป็นระดับState of the art ทั้งนั้น ถ้าเกิดSubwooferตกใส่ก็งานเข้าละครับ ผมเลยออกตัวกินแรงไม่ขอยกให้พี่ๆช่วยกันไปจะได้มีตัวหารกันหลายคนหน่อยถ้าพลาดฮ่า ฮ่า

เมื่อวางSubwooferได้ตำแหน่งแล้วก็ทำการวัดFFTของความถี่ต่ำอีกรอบ ก็เป็นไปอย่างที่คาดครับbass ringingที่ first length modeก็ถูกPhysics lawจัดการเรียบร้อยรวมทั้ง dipที่บริเวณมากกว่า60Hz ก็ดูดีขึ้นอีกมากดังรูปFFT ของความถี่ต่ำที่เส้นสีน้ำเงินแสดงถึงความถี่ต่ำที่ตำแหน่งเดิม ส่วนเส้นสีฟ้าแสดงถึงความถี่ต่ำที่ตำแหน่งกึ่งกลางผนังห้องด้านข้าง เสร็จแล้วก็ทำการalign phaseของSubwooferให้พ่วงเข้ากับลำโพงMainตามแบบSeriesโดยใช้กราฟของPhase response ดูง่ายๆเส้นสีเขียวจะเป็นphase responseของลำโพงSubwoofer ส่วนสีแสดจะเป็นของลำโพงFront left ตรงตำแหน่งCrossover pointที่ 80Hz จะมีการซ้อนทับกันพอดีก็แสดงถึงการมีphase alignmentของลำโพงทั้งสองตัว


อย่างที่ผมบอกมาเสมอว่าห้อง(Acoustics) การจัดวาง(Set-up) และการcalibrationมีผลอย่างมากต่อเสียงในห้องhome theater โดยเฉพาะความถี่ต่ำ เพราะความถี่ต่ำๆเหล่านี้ล้วนมาจากการสะท้อนของผนังต่างๆภายในห้อง ดังนั้นถ้าเรามีความเข้าใจหลักการPhysicsเรื่องroom modeของห้องเราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ Equalizer หรือการใช้วงจรelectronics filterต่างๆเพื่อแก้ไขความถี่ ซึ่งความจริงการใช้equalizerมักจะเหมาะในแค่บางสถานการณ์และไม่ควรใช้มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดdistortionต่อเสียงถ้าเราควบคุมไม่ดีหรือไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของelectronics filterเหล่านี้ ผมแนะนำว่าใช้นิดหน่อยแค่เล็กน้อยเป็นเพียง icing on the cake ก็พอครับ

มาถึงขั้นตอนcalibration จำได้ไหมครับที่บอกว่าลำโพงCenter มีเสียงClarityที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อผมเข้าไปดูที่AVRปรากฏว่ามีการใส่Equalizer จากการAuto-calibrationเอาไว้อยู่ ผมเลยทำการbypass การตั้งค่าต่างในAuto-calibrationออกทั้งหมดใช้การตั้งค่าแบบManualแทน แล้วลองฟังเสียงดูอีกที ไม่น่าเชื่อว่าเสียงลำโพงCenterที่แตกพร่าเวลาเปิดดังๆหรือช่วงที่มีDynamicแรงๆหายไปหมดสิ้น เสียงของRickie Lee Jones มีความสดใส กังวาน ตามปกติ ไม่มีอาการที่บ่งถึงเสียงแตกพร่าแต่อย่างใด อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าการใช้Auto-calibrationนั้นมันมีข้อจำกัดค่อนข้างมากจริงๆ และใช้ได้ผลดีแค่ในบางสถานการณ์เท่านั้น บางครั้งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเสียงทำให้เสียงผิดปกติไปได้มากดังนั้นถ้าเราจะใช้การauto-calibration เมื่อทำเสร็จแล้วต้องลองเช็คฟังเสียงดูอีกทีว่าเสียงที่ได้ยินนั้นปกติดีหรือเปล่า หรือว่ามีเสียงที่ไม่สมดุลย์ของแต่ละCh.ไหม เสียงเบสบางไป ดังไป เสียงเพี้ยนไหมฯลฯ ซึ่งถ้าเจอก็คงต้องลองทำซ้ำดูหลายๆครั้งว่ายังได้ผลแบบนั้นไหม ถ้ายังได้ผลเหมือนเดิมผมแนะนำว่าใช้การManual Calibrationจะดีกว่าครับ


เมื่อทำการปรับทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลามาลองอีกทีว่าเสียงที่ได้เป็นยังไงบ้าง จากการฟังtrackเดิมก่อนการปรับ ซึ่งเมื่อได้ทำการฟังอีกรอบก็พบว่าเสียงมีClarityดีขึ้นมากเพราะว่าไม่มีเสียงแตกของลำโพงCenterแล้ว ส่วนDynamicเสียงการตีกลองชุดในtrack Jim Keltner; Sheffield Drum and Track Recordก็ดีขึ้น เสียงกลองมีความหนักแน่น เวลามีการเยียบกระเดื่อง(Pedal)ของBass Drumซ้ำๆกันหลายทีต่อเนื่อง ก็สามารถแยกเสียงในการเหยียบแต่ละครั้งได้ชัดเจน ส่วนในเรื่องของเวทีเสียง Focusต่างๆพบว่ามีความแม่นยำ บอกตำแหน่งของObjectได้ถูกต้อง แน่นอน ชัดเจน หลังจากลองtrackเพลงเสร็จแล้วก็ถึงเวลาดูภาพยนต์ โดยได้ลองกับหนังเรื่อง Unbrokenในฉากที่มีการยิงต่อสู้กันกลางอากาศระหว่างเครื่องบิน จากการได้ลองฟังดูจะเห็นได้ว่าเสียงปืนมีความกระชับฉับไว focusตำแหน่งเสียงเครื่องบินที่บินไปมาชัดเจนสมจริงมาก อย่างที่เราทราบว่าแผ่นblu-rayเรื่องUnbrokenเป็นระบบเสียงDolby Atmos แต่เมื่อนำมาดูในspeaker configuration 7.1ที่มีการSetupและมีการวางลำโพงที่ดีแล้วมันก็จะให้เสียงบรรยากาศด้านบนที่ทำได้ดีใกล้เคียงกับมีลำโพงceiling channel ของDolby Atmosอยู่เลยทีเดียว และแน่นอนที่สุดหลังจากได้ลองหนังหลายๆเรื่องแล้ว เจ้าพ่อคอนเสิร์ตอย่างคุณธรรมนูญก็ไม่รอช้านำBlu-ray Roger Waters: The Wall Concert มาเปิดดู หลังจากเพลงขึ้นมาแค่เพียงไม่กี่ประโยค คุณธรรมนูญก็บอกว่าเสียงดีขึ้นจากเดิมมาก เสียงกลองนี่แน่นขึ้นเยอะ ทำให้ดูคอนเสิร์ตมันขึ้น สนุกขึ้น ทุกๆคนที่ได้ไปฟังในวันนั้นก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าห้องคุณธรรมนูญเป็นห้องที่มีขนาดเล็กแต่เวลาปิดไฟแล้วฟังเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง หรือเสียงจากภาพยนต์มันจะไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นห้องเล็ก Scaleเสียงจะยิ่งใหญ่ไม่เหมือนขนาดห้อง นับว่าเป็นห้องขนาดเล็กที่เสียงดีห้องหนึ่งที่เคยได้ฟังกันมาเลยทีเดียว ว่าแล้วลองไปลองมาเวลาก็ล่วงจนขึ้นวันใหม่ จำเป็นต้องหยุดความมันลงไว้แค่นี้ช่วยกันเก็บของพากันไปกินปิดท้ายด้วยร้านข้าวต้มแถวๆนั้นพร้อมกับเมาท์มอยเรื่องราวต่างๆในวงการเครื่องเสียงกันอย่างสนุกสนาน…จำได้ว่ากว่าจะถึงที่พักก็เกือบตีสองเลย อย่างไรก็ตามท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณ คุณธรรมนูญและเพื่อนๆชาว Home Theater Pro Thailand ที่มาร่วมแรงร่วมใจช่วยกันCalibrateกันอย่างสนุกสนานกันในวันนั้นด้วยครับผม

