Review

Search

Sony VPL-XW7000ES

Bright, immersive entertainment from a native 4K laser projector

onyได้เปิดตัวHome Cinema Projectorรุ่นล่าสุดและผมก็ได้มีโอกาสทดสอบตัวใหญ่ของโปรเจคเตอร์ในซีรีส์นี้ได้แก่รุ่น VPL-XW7000ES มาดูกันเลยครับว่าโปรเจคเตอร์ในระดับราคาเกือบล้านบาทตัวนี้จะสุดยอดขนาดไหน

โปรเจคเตอร์ตัวนี้ผมเคยชมภาพจริงตอนงานCEDIA EXPO2022เมื่อปลายปีที่แล้ว จุดเด่นที่จำได้ในตอนนั้นก็คือเป็นnative 4K laserโปรเจคเตอร์ที่ให้ความสว่างดีมาก สามารถฉายบนจอใหญ่ในสภานการณ์แสงไม่เป็นใจได้ดี ภาพมีความคมชัด สีสันความมีชีวิตชีวาของภาพทำได้อย่างน่าประทับใจทั้งในการชมภาพยนตร์และการเล่นเกมส์

โดยรุ่นล่าสุดของXW Seriesได้นำเข้ามาขายในประเทศไทยมีสองรุ่นได้แก่ XW7000ES และ XW5000ES ในราคา 949,900บาทและ279,900บาท ตามลำดับ โดยความแตกต่างของโปรเจคเตอร์Sonyซีรีย์ใหม่นี้เทียบกันก็จะได้ตามตารางนี้

คุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของSony XW7000ESได้แก่เป็นโปรเจคเตอร์ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ใช้อุปกรณ์ด้านOpticsของระบบเลเซอร์แบบใหม่ทำให้ได้ความสว่างสูงถึง 3,200lumen ให้ภาพnative 4Kที่ความละเอียด 8.3ล้านpixels หรือ 3,840 x 2,160pixelsใช้เทคโนโลยีกำเนิดภาพSXRD panelตัวใหม่ขนาด 0.61นิ้ว ส่งผลให้มีความสว่าง ความดำ ความเข้มของสี ความคมชัดของภาพมากขึ้น การเคลื่อนไหวของภาพก็ดีและsmoothขึ้น ใช้ชิปประมวลผลภาพสำหรับโปรเจคเตอร์ตัวล่าสุด X1™ Ultimate for projectorโดยพัฒนาต่อยอดมาจากชิปของทีวีBraviaที่โด่งดังเพื่อการประมวลผลภาพreal-timeในแต่ละฉากของภาพทำให้ได้ภาพHDRที่ออกมามีcontrastดี มีความสว่างสดใสสวยงามสมจริง

Sony XW7000ES สามารถแสดงความกว้างของเฉดสีหรือcolor gamutได้กว้างในระดับ 95% ของDCI-P3 ใช้ชุดเลนส์ตัวใหม่แบบAdvanced Crisp-Focused Lensหรือที่เรียกย่อๆว่าACF-Lens ทำให้สามารถใช้ตัวเลนส์ไม่ต้องใหญ่มาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง70mm แต่ด้วยการออกแบบชิ้นเลนส์ที่ให้กลุ่มเลนส์สามารถขยับได้สองกลุ่ม ใช้ชิ้นเลนส์แก้วพิเศษแบบextra-low dispersionก็ทำให้ภาพออกมาแบบไร้การบิดเบี้ยว มีความแม่นยำของภาพ ภาพมีความใส มีพื้นที่การโฟกัสกว้างให้ความคมชัดจากมุมภาพถึงมุมภาพทุกฝั่ง สามารถตั้งค่าpresetตำแหน่งภาพตำแหน่งเลนส์ได้ ทำให้สะดวกในการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนภาพเมื่อเปลี่ยนภาพยนตร์ที่มีอัตราส่วนภาพไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นโปรเจคเตอร์ตัวนี้ยังรองรับภาพแบบIMAX Enhanced เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความถูกต้องแม่นยำ สีสันใกล้เคียงกับภาพที่ฉายจากจอIMAXมากขึ้น

ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่กว้าง46cm. สูง21cm. ลึก51.7cm. น้ำหนัก 14kg. ก็ถือได้ว่าเป็นโปรเจคเตอร์ที่อยู่ในขนาดปกติไม่ได้ใหญ่จนเกินไป ถ้าเทียบกับตัวเล็กอย่างXW-5000ก็มีขนาดใหญ่กว่าไม่กี่เซนติเมตร ยิ่งถ้าเทียบกับรุ่นเก่าที่เป็นตัวtopอย่างVW915ESก็จะเห็นว่าเครื่องมีขนาดลดลงถึง20% และน้ำหนักลดลงกว่า 30% ตัวเครื่องเป็นพลาสติกแข็งสีดำด้านที่ทำพื้นผิวให้มีลักษณะขรุขระทำให้ไม่ติดรอยนิ้วมือเวลาจับเครื่อง ด้านหน้าจะออกแบบเป็นครีบระบายความร้อนและมีเลนส์อยู่ตรงกลางของเครื่อง

ฝั่งซ้ายของเครื่องส่วนบนจะมีปุ่มเปิดปิด ปุ่มเลือกINPUT ปุ่มMENU ปุ่มENTERที่สามารถแตะเลือกdirectionทั้งสี่ทิศ และปุ่มLENS เพื่อใช้ในการcontrolตัวเครื่องโดยตรง ส่วนล่างจะมีช่องต่อสายต่างๆ ไล่จากช่องต่อสายLAN, ช่องต่อสายHDMIแบบ2.0สองช่อง, ช่องTrigger, ช่องIR IN, ช่องต่อSerialแบบRS-232C, ช่องต่อUSB 2.0 และช่องต่อ3D sync outเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริม3D sync transmitterเพื่อรับชมภาพแบบสามมิติ

ด้านหลังของเครื่องจะมีครีบระบายอากาศอยู่ส่วนข้าง ส่วนตรงกลางจะออกแบบให้นูนทำให้เมื่อวางเครื่องใกล้ผนังด้านหลังก็ยังสามารถระบายอากาศได้ดีอยู่ และถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีภาพแบบlaser engineที่ให้ความสว่างของภาพสูง แต่ความดังของพัดลมระบายอากาศจะมีความดังอยู่แค่ 26dB ซึ่งถือว่าเบามากสำหรับเครื่องที่ให้ความสว่างระดับนี้ ซึ่งในการใช้งานจริงเสียงพัดลมก็ไม่ได้ยินรบกวนการดูหนังแต่ประการใด

ว่าแต่ดูรูปร่างของเครื่องแล้วคงทำให้หลายคนนึกไปถึงภาพยานอวกาศในหนังเรื่องStar Warsเลย ผมว่าใครชอบแต่งห้องในแนวอวกาศหรือแนวSci-fi ตัวโปรเจคเตอร์นี่เข้ากับthemeของห้องได้ไม่ยากเลย

ผมได้ติดตั้งเครื่องเพื่อทดสอบไว้ที่ด้านหลังห้องเกือบสุดผนังด้านหลัง วางเครื่องห่างจากจอภาพประมาณ 5.5เมตรเพื่อฉายเข้าจอStewart FireHawk G5 ขนาด 150นิ้ว อัตราส่วนภาพ 2.39:1 และทำpresetของภาพไว้ทั้งแบบ16:9 และ21:9 โดยหลังจากเบิร์นเครื่องได้ประมาณ 50ชั่วโมงจึงเริ่มทำการcalibrateภาพ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรับภาพก็เป็นSpectrophotometer Jetiรุ่นspectraval 1511 และColorimeter Klein K-10A ใช้Murideo Seven-G 8Kเป็นPattern Generator โปรแกรมที่ใช้ทดสอบเป็นCalman Ultimate โดยใช้workflowแบบPVAและisf แผ่นทดสอบใช้Spears & Munsil Ultra HD Benchmark2023 และ DVS HDR-10 Video Calibration Disc

กราฟSpectral Power Distributionแสดงถึงแหล่งกำเนิดแสงแบบZ-Phosphor Laser light source เมื่อวัดความสว่างของpicture viewing modeต่างๆก็ได้ความสว่างของภาพดังนี้ Cinema Film1=38.8 , Cinema Film2=34 , Reference=38 , TV=39 , Photo=31.9 , Game=34.3 , Bright Cinema=41.2 , Bright TV=44.5 , User=34.7 Foot-Lambert

ความสามารถในการแสดงความกว้างของเฉดสี เมื่อวัดจริงก็ได้ใกล้เคียงกับSpecที่แจ้งไวคือ 95%ของ DCI-P3 ส่วนinput lagในGame picture mode ภาพแบบ 4K 60Hzจะมีค่าต่ำกว่า 21ms และถ้าเป็น 2K 120Hz จะต่ำกว่า 13ms เรียกได้ว่าถ้าเอาเกมมาเล่นกับจอใหญ่ความหน่วงของภาพถือว่าน้อยมาก

การปรับผมเลือกใช้picture modeแบบreferenceเนื่องจากใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานมากที่สุด โดยค่าตั้งต้นจะพบว่ามีการติดสีฟ้าเล็กน้อยที่ความสว่างสูง ค่าprimaryและsecondary colorถือว่าใกล้เคียงกับจุดสีมาตรฐาน หลังจากมีการcalibrationตามค่าที่แจ้งไว้ในdiagram ค่าGrayscale และcolor gamutมีความผิดเพี้ยนหรือที่เรียกว่าdelta E เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานอยู่ในระดับ2%เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าการดูโดยทั่วไปก็ยากที่จะสายตามนุษย์จะแยกความแตกต่างได้ แต่ถ้าใครยังไม่ได้ทำการcalibrationแบบละเอียด การดูภาพยนตร์แนะนำให้ใช้picture modeแบบCinema Film 1ภาพก็จะให้ความเคลียร์ สว่างที่ดี หรือCinema Film 2ที่จะเน้นสีสันมีโทนสวยงาม ใกล้เคียงกับในโรงภาพยนตร์มากกว่าpicture modeแบบอื่น ยังไงก็ลองเลือกสลับดูได้ว่าชอบmodeไหนหรือmodeไหนมีความเหมาะสมกับหนังที่เรากำลังดูมากกว่า

ทดสอบโดยเริ่มจากการดูcontentต่างๆในYouTubeผ่านทางApple TV พบว่าจุดเด่นที่สุดแบบเปิดมาแล้วWowเลยคือในเรื่องความสว่างของภาพ สีสันที่สด สวยงามแบบดึงดูดสายตาตามสไตล์ของSony ความละเอียดความคมชัดของภาพถือได้ว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม

สังเกตที่แววตาของลิงจะมีความคมชัดแบบเป็นธรรมชาติ คือความคมชัดแบบนี้ไม่ได้เกิดจากdigital sharpnessที่มักจะมีartifactตามมา แต่เป็นความคมชัดที่เกิดจากพื้นฐานของอุปกรณ์opticalต่างๆที่มีคุณภาพและทำงานประสานกันอย่างลงตัว

การrenderในส่วนสว่างของภาพทำได้อย่างไม่มีข้อบกพร่องซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นของโปรเจคเตอร์Sonyอยู่แล้ว

ในส่วนมืดของภาพที่รุ่นก่อนๆหลายคนพบปัญหาในเรื่องการเป็นปื้นของสีดำในบางฉาก แต่ในรุ่นล่าสุดนี้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการที่ผมพยายามเพ่งดูหลายๆฉากในหลายๆcontentsบนplatformต่างๆก็ยังไม่พบความผิดปกติในส่วนนี้แต่อย่างใด

ในส่วนมืดของภาพจะเห็นการเปิดเผยรายละเอียดภาพได้ดี นอกจากนี้ยังมีเมนูCinema Black Pro เพื่อที่จะให้ภาพในส่วนมืดมีความสว่างมากขึ้นหรือลดลงตามต้องการได้โดยปรับในส่วนหัวข้อOutput และก็ยังสามารถปรับแบบDynamic Controlในแต่ละฉากเลยก็ได้โดยมีให้เลือกสามระดับคือ Offที่จะไม่มีการใช้functionนี้, Limited ที่จะปรับเฉพาะในส่วนของความแรงและความสว่างของแสงเลเซอร์ และแบบFull ที่จะปรับทั้งในส่วนแสงเลเซอร์ ร่วมกับการประมวลผลความสว่างที่inputเข้ามาให้มีความเหมาะสมทั้งความสว่างและcontrastของภาพในแต่ละฉากเลย

ความดำของภาพก็ยังเป็นในแนวทางของSonyคือไม่ดำจนจมสนิท แต่เน้นการรักษาความสมดุลในส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพเพื่อให้เกิดcontrastของภาพได้สูงสุดแบบยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่

ลองจากภาพยนตร์เรื่องJohn Wick: Chapter4(2023)แบบ 4K HDRกันบ้าง เรื่องของโทนสี การคุมโทนของภาพทำออกมาได้อย่างเข้มข้นจริงจังออกมาตามลักษณะแนวของภาพยนตร์

การไล่สี การไล่grayscale และtone mappingในภาพแบบHDRทำออกมาได้อย่างเนียนตาไม่แบ่งเป็นชั้นๆ แต่ถ้าใครยังต้องการให้มีความsmoothมากขึ้นไปก็สามารถเข้าไปปรับได้ในเมนูExpert Setting>Smooth Gradationได้อีก สามารถเลือกปรับได้ตั้งแต่Off, Low, Middle ไปจนถึง High แต่ปกติผมปรับไว้ที่Offในcontentทั่วไปก็ให้ความเนียนดีอยู่แล้ว

ภาพที่เคลื่อนไหวมีฟังชั่นMotionflowทำให้ภาพมีความลื่นไหลมากขึ้น สามารถเลือกได้off, Smooth Low, Smooth High และที่ผมชอบมากคือมีให้เลือกเป็นTrue Cinemaด้วย เหมาะมากกับหนังแบบ24fps ทำให้ภาพเคลื่อนที่เนียนมากขึ้นโดยไม่มีอาการลื่นเกินไปจนดูเหมือนภาพวิดีโอมากกว่าภาพจากภาพยนตร์ หรือที่บางคนเรียกว่าSoap Opera effect

มาถึงหนังภาพสวยอย่างAvatar: The Way of Water(2022) ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ภาพHDRมีการไล่โทนที่เนียนตา สวยงาม ทั้งในส่วนมืด ส่วนสว่างของภาพ

สีสันมีความเคลียร์ สดใส ตามสไตล์Sony แต่ถ้าใครต้องการสีสันที่เข้มข้นสะดุดตามากขึ้นทางSonyจะมีfunctionที่ชื่อLive Color Enhancer เพิ่มความมีสีสันให้กับภาพมากขึ้นโดยตัวalgorithmจะเน้นปรับเฉพาะส่วนท้องฟ้า พื้นดิน ต้นไม้ เพื่อให้ภาพมีความpop มีความโดดเด่นสวยงามมากขึ้น

ข้อได้เปรียบของโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างสูงคือเรื่องของSpecular highlightที่จะทำให้ภาพมีความสว่างเฉพาะจุดสูงขึ้นตามที่คนทำภาพออกแบบไว้ จึงทำให้สามารถถ่ายทอดภาพออกมาใกล้เคียงกับที่directorตั้งใจให้ผู้ชมได้รับชมกันมากขึ้น และถ้าใครยังอยากให้ภาพHDRมีความสว่างและความมืดที่มากขึ้น โปรเจคเตอร์ก็มีฟังก์ชั่นDynamic HDR Enhancerเพื่อปรับcontrastตรงนี้ให้มากขึ้น สามารถปรับได้ตั้งแต่ Off,Low,MiddleไปจนถึงHigh เท่าที่ผมลองปรับไปที่middleถึงhighความสว่างบริเวณสีขาวของภาพเพิ่มมากขึ้นจนให้ความรู้สึกเหมือนกับการดูภาพHDRจากทีวีBraviaเลยดีเดียว

จะเอาคมไปถึงไหนพ่อ

ภาพหนังเรื่องExtraction II(2023) ทางNETFLIX ต้องบอกว่าหนังstreamที่มีการบีบอัดค่อนข้างสูงในปัจจุบันให้คุณภาพของภาพที่ออกมาดีมาก ทั้งรายละเอียดความคมชัด มิติภาพ contrast ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ เรียกได้ว่าในหนังทั่วไปไม่ต้องพึ่งphysical mediaอย่างแผ่นBlu-ray UHD 4Kก็ดูหนังได้มัน มีความสนุกเพียงพอแล้ว ยกเว้นหนังที่ต้องการเก็บไว้ดูหลายรอบหรือต้องการความเป็นที่สุดของคุณภาพเสียงและภาพผมว่าเก็บไว้เป็นแผ่นก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่

พูดถึงโปรเจคเตอร์สำหรับห้องHome CinemaตัวTop ณ.ตอนนี้หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อSonyVPL-XW7000ES ซึ่งเป็นเลเซอร์โปรเจคเตอร์แบบnative 4Kที่มีความโดดเด่นมากในเรื่องของความสว่าง สีสันความคมชัดความละเอียดของภาพ ใช้ได้ทั้งในห้องdedicated home theaterจนไปถึงห้องนั่งเล่นที่สภาพแสงไม่สามารถคุมได้100% สามารถใช้งานได้ทั้งดูหนัง เล่นเกมส์ ดูYouTube ดูcontentต่างๆโดยให้คุณภาพของภาพที่ออกมาในระดับสุดยอด เหมาะแล้วกับที่ทางSonyได้พูดไว้สำหรับโปรเจคเตอร์ตัวนี้ว่า “Welcome to the new era for Home Cinema”

ต้องขอขอบคุณทางบริษัทAV-Valueที่ได้ส่งโปรเจคเตอร์SonyVPL-XW7000ESมาให้ทดสอบในครั้งนี้ด้วยนะครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Sony VPL-XW7000ES (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้