Review

Search

Formovie Theater

ผมเคยทดสอบultra short throwโปรเจคเตอร์หรือที่บางคนเรียกว่าlaser TVมาหลายตัว ต้องบอกว่าในปัจจุบันultra short throwโปรเจคเตอร์มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก จากเดิมใช้เฉพาะในบ้านที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จึงจำเป็นต้องใช้โปรเจคเตอร์แบบนี้ แต่ในปัจจุบันหลายคนมีพื้นที่แต่ก็ใช้ เนื่องจากคุณภาพของภาพที่ออกมานั้นไม่ได้ด้อยกว่าโปรเจคเตอร์แบบstandard throwแต่อย่างใด วันนี้เราลองมาดูโปรเจคเตอร์ultra short throwตัวที่กำลังร้อนแรงในตลาดที่ใครๆต่างก็พูดถึง ซึ่งได้แก่Formovie Theaterอย่างในต่างประเทศก็เอาโปรเจคเตอร์Formovieไปทำshoot-outกับโปรเจคเตอร์ตัวอื่นปรากฏว่ามีคนvoteให้ชนะในหลายเรื่อง หรือในบ้านเราห้องhome theaterหลายห้องเมื่อลองเอาโปรเจคเตอร์ตัวนี้ไปเทียบกับตัวเดิมที่ใช้อยู่แบบside by side ปรากฏว่าโปรเจคเตอร์ตัวเดิมจำเป็นต้องขายออกไปก็หลายห้อง จนผมได้รับคำถามมาเยอะมากจากนักเล่นว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ดีจริงอย่างคำล่ำลือไหม หรือว่าเป็นเพราะเน้นการโฆษณา ว่าแล้ว…มาติดตามหาความจริงกัน

คุณลักษณะทั่วไปของFormovie Theaterตามspecที่แจ้งมา ก็เป็นโปรเจคเตอร์ความละเอียดระดับ 4K UHD ใช้เทคโนโลยีกำเนิดภาพDLPจากชิป DMD ขนาด0.47นิ้ว แหล่งกำเนิดใช้แสงเลเซอร์แบบ Triple color laser light source ให้แสงสว่างสูง 2,800ANSI lumens สามารถสร้างขอบเขตสีของภาพได้สูงถึง 107%ของ BT.2020 รองรับระบบภาพและสียงได้ทั้งDolby Vision, Dolby Atmos มีลำโพงbuilt inของBowers & Wilkins 2ตัวและtweetersอีก2ตัว ให้พลังงานรวม 30watts ระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็นแบบAndroidTV 11.0 ราคาตั้งอยู่ที่ 109,900บาท

ถ้าพูดถึงรูปร่างเมื่อเทียบกับultra short throwตัวอื่นจะดูเล็กกว่า ขนาดของเครื่องอยู่ที่ 55×34.9เซนติเมตร สูง10.8เซนติเมตร น้ำหนัก 9.8กิโลกรัม

ด้านข้างของเครื่องจะเป็นช่องระบายอากาศพัดลม และลำโพงtweetersทั้งสองข้าง ส่วนด้านล่างจะเป็นปุ่มหมุนเพื่อเพิ่มความสูงของขาตั้งด้านหน้า

ช่องเชื่อมต่อทางด้านหลังเครื่องจะมีช่องHDMI 2.1สามช่อง โดยช่องที่สามรองรับeARC ถัดไปจะเป็นช่องUSB 2.0 สองช่อง, ช่องเสียงออกAudio outแบบแจ็ค 0.35mm หนึ่งช่อง, ช่องเสียงOptical และช่องต่อLAN ด้านล่างก็จะเป็นช่องต่อสายไฟ

รีโมทก็จะเป็นลักษณะเหมือนรีโมทควบคุมAndroid TVทั่วไป ที่ไม่ชอบอย่างหนึ่งสำหรับผมก็คือปุ่มSetup ที่เป็นรูปเกียร์จะอยู่ใต้ปุ่มPowerพอดี ทำให้เวลาที่ต้องsetupเครื่องในห้องมืด กดผิดไปปิดเครื่องประจำ ถ้าเป็นการดูปกติก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะเครื่องเปิดปิดได้รวดเร็วมาก แต่ว่าเวลาsetupเพื่อวัดค่าต่างๆนั้นการเปิดปิดเครื่องแต่ละทีนั้นต้องรอให้เครื่องและหลอดภาพอยู่ตัวก่อนถึงจะวัดค่าได้ ทำให้เสียเวลาตรงนี้เป็นประจำ

โปรเจคเตอร์Formovie Theaterสามารถฉายบนจอภาพได้ใหญ่ 150นิ้ว การติดตั้งก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่วางโปรเจคเตอร์ไว้ด้านหน้าจอภาพให้ห่างตามที่แนะนำไว้ ปรับความสูงของจอภาพให้ขนาดภาพพอดีกับจอ แล้วก็ทำการปรับkeystoneหรือการแก้สี่เหลี่ยมคางหมูของภาพให้ออกมาเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก เสร็จแล้วก็ทำการปรับfocusของภาพ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

อย่างในห้องของผมจะฉายบนจอตั้งพื้นที่เลื่อนขึ้นอัตโนมัติขนาด120นิ้ว ก็วางโปรเจคเตอร์ห่างจอภาพ 33เซนติเมตร เมื่อปรับจอภาพขึ้นจนสุดแล้วภาพยังไม่เต็มจอก็หาขาตั้งรองจอภาพให้สูงขึ้นมาอีกประมาณห้าเซ็นติเมตรภาพก็ออกมาเต็มจอพอดี เสร็จแล้วก็ทำการปรับkeystoneและfocus สำหรับการปรับfocus ตอนแรกที่ลองปรับfocusนั้นดูยากมากว่าภาพมันfocusหรือยัง เนื่องจากตัวเครื่องจะทำการปรับauto focusมาแล้วระดับหนึ่ง การปรับตรงนี้จะเหมือนเป็นการปรับเพื่อfine tuneมากกว่า จึงทำให้เห็นความแตกต่างน้อย ผมแนะนำให้ใช้การดูใกล้ๆบริเวณอักษรคำว่าfocus ด้านบนทั้งซ้ายและขวาของจอเป็นจุดสังเกต จะทำให้ง่ายกว่า และควรจะทำการปรับfocusหลังจากrunเครื่องไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมงจะทำให้เห็นความแตกต่างของการปรับได้ง่ายมากขึ้นเพราะภาพของโปรเจคเตอร์ตัวนี้จะมีความคมชัดมากขึ้นหลังจากเปิดเครื่องไปแล้วประมาณ20-30นาที

ขอพูดถึงเรื่องของจอภาพที่ใช้สำหรับโปรเจคเตอร์ultra short throwซักหน่อยเนื่องจากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลต่อความสว่างและคุณภาพของภาพที่ออกมามากทีเดียว อย่างในตอนแรกที่ผมได้รับการติดต่อเพื่อทดสอบโปรเจคเตอร์ตัวนี้ คุณเอกซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายได้สอบถามถึงจอภาพที่ผมใช้อยู่ พอได้รู้ว่าเป็นจอสีเทาที่ใช้ในการดูภาพจากstandard throwโปรเจคเตอร์ คุณเอกก็ได้ส่งจอภาพมาให้ทดสอบร่วมกับโปรเจคเตอร์Formovie Theaterมาด้วยอีกสองแบบ เนื่องจากจอภาพที่ผมใช้อยู่เหมาะกับภาพจากstandard throwไม่เหมาะกับโปรเจคเตอร์แบบultra short throw โดยจอที่ส่งมาจะเป็นจอแบบwhiteธรรมดา และจอภาพตัดแสงรอบข้างที่เรียกว่าALR(ambient light rejection screen)ของแบรนด์Vividstorm

โดยตอนแรกผมก็คิดว่าโปรเจคเตอร์สว่างขนาด 2800ANSI lumens ความสว่างก็คงเหลือๆมั้งไม่น่ามีปัญหาอะไร ผมก็เลยลองเอาFormovie ฉายไปยังจอที่ใช้อยู่ที่ห้อง แล้ววัดแสงโดยใช้อุปกรณ์ชุดที่ใช้ทดสอบประจำได้แก่Spectrophotometer ของJetiรุ่นspectraval 1511, Colorimeter ของKlein รุ่นK-10A ใช้Murideo Seven-G 8Kเป็นPattern Generator โปรแกรมที่ใช้ทดสอบเป็น CalMAN Ultimateจากportrait displays ผลที่ได้ออกมาตกใจเลยครับ เพราะวัดความสว่างออกมาได้แค่5fL ในUser mode

คราวนี้ลองมาดูกับจอภาพแบบwhiteของVividstormดูบ้าง ความจริงแค่เปิดออกมาก็เห็นถึงความสว่าง ความสดใสของสีสันในภาพที่ดีมากขึ้นแล้ว โดยเมื่อวัดความสว่างออกมาในuser modeเดิมพบว่าความสว่างวัดได้ถึง 24.7fL แต่เดี๋ยวก่อน โปรเจคเตอร์ตัวนี้ภาพที่สว่างที่สุดจะอยู่ในHDR modeไม่ได้อยู่ในSDR mode โดยเมื่อวัดค่าในHDRในmodeต่างๆก็จะได้ค่าความสว่างสูงขึ้นไปอีก โดยUser ในHDR modeวัดได้29.6fL, Standard=22.8fL, Vivid=23.2fL, Sport=23.2fL, Movie=16.8, Game=20.6fL และChild modeวัดได้20fL

คราวนี้มาถึงจอALRของทางVividstormกันบ้าง โดยปกติก็จะรู้กันอยู่แล้วว่าจอALRนั้นจะลดเกนของจอภาพลงทำให้ภาพลดความสว่างลงบ้าง แล้วแต่ประเภทหรือชนิดของจอแบบนั้นๆ อย่างจอALRบางแบบนั้นลดเกนลงไปถึงครึ่งหนึ่งเลยก็มี แต่เมื่อลองวัดจอALRของVividstormก็พบว่าความสว่างเมื่อเทียบกับจอwhiteธรรมดาจะลดลงไปนิดหน่อยอย่างUser HDR modeก็วัดได้ประมาณ 20.8fL, Standard HDR modeก็จะวัดได้ประมาณ 16fL ส่วนmodeอื่นๆก็ลดลงในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จอALRจะได้เปรียบกับจอwhiteก็คือเรื่องของการตัดแสงรอบข้างทำให้ภาพยังมีcontrastและภาพยังดีอยู่แม้จะมีแสงรอบข้างรบกวน อย่างภาพที่เห็น ด้านหน้าจะเป็นจอALR ด้านหลังจะเป็นจอwhite จะเห็นได้ว่าเมื่อเปิดไฟดาวน์ไลท์ถึงแม้จอwhiteจะสว่างกว่าแต่contrastหรือความดำของภาพนั้น จอALRยังคงcontrastที่ดี ไม่ถูกแสงจากไฟมารบกวน ส่วนจอwhiteที่อยู่ข้างหลังนั้นภาพออกเหลืองตามไฟดาวน์ไลท์และcontrastของภาพก็ถูกwash outไป

หรืออย่างในภาพนี้ผมได้เปิดทั้งไฟดาวน์ไลท์และเปิดประตูห้องให้แสงธรรมชาติเข้ามาด้วย จะเห็นได้ว่าภาพของจอwhiteมีสีที่เพี้ยนไปและความดำ contrastของภาพก็จะสู้จอแบบALRไม่ได้ ดังนั้นในเรื่องของจอภาพที่จะใช้กับโปรเจคเตอร์Formovie theaterนั้น ถ้าใครที่มีจอภาพwhiteแบบธรรมดาที่ไม่ได้เป็นจอALRและแสงในห้องสามารถควบคุมได้ก็ยังสามารถใช้จอwhiteแบบเดิมได้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจอ แต่ถ้าใครต้องเอาไปใช้ในสถานการณ์ที่คุมแสงได้ยากก็ควรจะต้องใช้จอแบบALRที่ออกแบบสำหรับUltra short throwโปรเจคเตอร์จะดีกว่า สำหรับราคาจอALRแบบmotorized ของVividstorm ขนาด120นิ้วจะอยู่ที่ 72,900บาท แต่ถ้าเป็นจอwhiteแบบmotorized ของVividstorm ขนาด120นิ้วตัวเดียวกับที่ผมทดสอบนี้ราคาจะอยู่ที่ 30,900บาท

ติดตั้งวัดค่าเบื้องต้นต่างๆเรียบร้อย สิ่งแรกที่ผมอยากรู้ก็คือSPD(Spectral Power Distribution) ของโปรเจคเตอร์ตัวนี้จะเป็นอย่างไรเพราะในspecบอกว่าเป็นtriple laser light sourceที่มีการใช้เทคโนโลยีALDP(Advanced Laser Phosphor Display)4.0 RGB+ซึ่งเป็นfluorescent laser technologyตัวที่ล้ำสมัยสุดในตอนนี้ และเมื่อวัดค่าออกมาก็พบว่าSPDต่างจากเครื่องเลเซอร์โปรเจคเตอร์แบบเทคโนโลยีอื่นจริง โดยมีความเข้มของแม่สี RGB สูงขึ้นอย่างชัดเจน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโปรเจคเตอร์Formovie Theaterตัวนี้สามารถทำความกว้างของเฉดสีได้ในระดับ Rec.2020 และสร้างสีสันต่างๆได้มากถึง 1.07พันล้านสี ทั้งยังให้contrastของภาพสูงเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีlaser DLPทั่วไป

สำหรับในเรื่องของBT.2020 Gamut Coverageที่specบอกว่าครอบคลุมสีได้ถึง 107% แต่ผมวัดจากหน้าจอจริงหลังจากcalibrateแล้วพบว่าได้ 87.85% ทั้งนี้คงเพราะบางสีอาจจะเกินBT.2020ไปเยอะเช่นสีน้ำเงิน แต่บางสีอาจจะไม่ถึงเช่นสีเขียว สีฟ้าอ่อน และเมื่อทำการcalibrateเพื่อเอาสีที่ใช้อยู่ในขอบเขตสีBT.2020จริงค่าก็จะลดลงไปเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ค่าสูงระดับ88% ของRec.2020นี้ก็ถือได้ว่าสูงสุดในโปรเจคเตอร์classนี้แล้ว ส่วนInput Lagผมใช้4K HDMI Video Signal Lag TesterของLeo Bodnarวัดที่ 3840x2160pixelที่60p ในโหมดทั่วไปจะวัดได้ 145ms แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นGame Modeค่าInput Lagจะลดลงเหลือประมาณ 40ms

เมนูในการปรับภาพทั้งgrayscaleและcolor gamutมีมาให้ละเอียดดี อย่างgrayscaleนอกจากจะสามารถปรับทั้งในส่วนเมนูColor TemperatureและColor Tunerแล้ว ก็ยังสามารถปรับละเอียดแบบ11 Point White Balance Correctionได้อีกด้วย ซึ่งรายละเอียดการปรับค่าต่างๆในการcalibrate และผลลัทธ์ที่ได้จากการcalibrateเมื่อเทียบกับค่าตั้งต้นของเครื่องสามารถดูได้จากกราฟในรูปได้เลย โดยในรูปนี้จะเป็นผลจากการปรับค่าภาพแบบ SDR Rec.709 ในUser mode ที่เลือกใช้การปรับในUserโหมดนี้ก็เนื่องจากสามารถปรับค่าได้หลากหลายและโหมดนี้ให้ค่าความสว่างสูงสุดเมื่อเทียบกับโหมดอื่นๆ

ส่วนภาพนี้ก็จะเป็นผลการปรับภาพแบบHDR Rec.2020 ในUser(HDR10)modeเทียบกับภาพตั้งต้นของเครื่อง จะเห็นว่าโปรเจคเตอร์ถ้ายังไม่ได้มีการcalibrate ภาพจะออกสีฟ้ามากกว่าสีอื่นๆ ทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาเนื่องจากสีฟ้าเป็นสีที่สู้แสงและให้ความสว่างของภาพมากกว่าสีอื่น การดูก็ทำให้คนชอบได้มากกว่าเนื่องจากดูแล้วรู้สึกเย็นสบายตาดี แต่ความจริงแล้วสีขาวที่ถูกต้องและใช้เป็นมาตรฐานในห้องmasteringจะใช้สีขาวที่จุดD65ซึ่งจะมีความสมดุลของสีRGBเท่ากันตั้งแต่ความสว่าง 0-100% ซึ่งบางคนถ้าไม่ค่อยได้ดูภาพจากจอที่calibrateภาพบ่อยๆก็อาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าใครใช้จอที่ได้ปรับภาพอย่างถูกต้องตลอดแล้ว ก็จะรู้ได้เลยว่าภาพที่ปรับแล้วจะให้ความสวยงามและดูหนังได้อารมณ์ตรงตามที่คนทำหนังสร้างมาได้ดีกว่าภาพที่ยังไม่ได้calibrateอย่างมากมาย

ปรับภาพเสร็จได้เวลามานั่งดูของจริงกัน เริ่มจากเสียงต้องถือว่าลำโพงBowers & Wilkinsที่ให้มา30 wattsนั้นให้เสียงที่ดี และมีความดังที่ไม่ได้น้อยหน้าsoundbarแต่อย่างไรเลย อย่างลำโพงในโปรเจคเตอร์ตัวอื่นที่ผมเคยเจอมา บางทีถ้าต้องการความดังให้พอดูหนังฟังเพลงได้นี่ต้องเปิดvolumeไปถึง70-80% แต่Formovie ผมเปิดประมาณ20-30% เสียงก็ดังเต็มห้อง แถมยังให้รายละเอียด ความโอบล้อมเสียงDolby Atmosที่กว้างขวาง ถึงแม้อาจจะไม่สู้แบบที่มีลำโพงอยู่ล้อมรอบตัวจริง แต่ผมว่าการดูในระดับทั่วไปไม่ได้seriousมาก แค่นี้ก็ทำให้ฟังเพลงได้ไพเราะ ดูหนังก็สนุกตื่นเต้นแล้ว

สำหรับในเรื่องของภาพก็ตามค่าที่วัดได้ ภาพของโปรเจคเตอร์Formovie Theaterจะให้ความสว่างและสีสันของภาพภาพดีที่สุดในUser(HDR10) mode เด่นสุดคงเป็นเรื่องของความสว่างกับสีสันที่ทำออกมาได้สุดมาก ความคมชัดของภาพถึงแม้จะเป็น4-way e-Shift แต่หลายคนที่เคยเทียบside by sideกับโปรเจคเตอร์ที่เป็นnative 4Kคงจะเห็นแล้วว่าe-Shift ในปัจจุบันไม่ได้ด้อยกว่าเลย เหล่านี้ล้วนมาจากประสิทธิภาพของTri-color laser light engineและชิป DMDที่ให้ทั้งความเข้มข้นของสี ความสว่าง และความคมชัดเนื่องจากใช้หลักการสะท้อนแสงของกระจก แถมชิปแบบนี้ค่าสีต่างๆจะไม่เสื่อมลงเร็วเหมือนกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ทำให้ใช้ดูได้อย่างยาวนานโดยยังคงคุณภาพของสี คุณภาพของภาพที่ดีอยู่

ต้องบอกว่าภาพของFormovie theaterให้ภาพที่สวยสมคำล่ำลือจริงๆ อย่างเรื่องความดำหรือcontrastของภาพที่มักจะเป็นข้อด้วยของเทคโนโลยีDLPเสมอมา แต่พักหลังมานี้ผมเห็นโปรเจคเตอร์DLPตัวใหม่ๆออกมา contrastของภาพนั้นพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากเดิมไปมาก ภาพให้ความดำที่ดีขึ้นไม่เป็นลักษณะแบบฝ้าขาวๆเหมือนเดิมแล้ว ดำเป็นดำจริง มิติของภาพทำได้อย่างเนียนตาและมีการไล่grayscaleอย่างsmoothและเที่ยงตรง ถึงแม้Specของบริษัทจะบอกมาว่าcontrastเครื่องจะอยู่ที่ 3,000:1 Full on/Full offเท่านั้น ยังไงอย่าเชื่อspecมากครับสำหรับcontrastเพราะวิธีการหาค่าcontrastนั้นแต่ละแบบแต่ละวิธีของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันมาก ค่าที่ออกมาก็ออกมาต่างกันมาก เพราะผมเคยเห็นภาพของโปรเจคเตอร์ระดับตัวTopของวงการแต่เขาบอกค่าcontrastจากโรงงานแค่1,500:1 ปรากฏภาพออกมาcontrastดีมาก ผมว่าcontrastยังไงคงต้องลองดูภาพจริงประกอบด้วยครับอย่าตัดสินแต่ค่าตัวเลขspecอย่างเดียว

ความคมชัดของภาพไม่เสียชื่อชิปDMDที่เด่นในเรื่องรายละเอียด ความคมของภาพที่ดูเป็นธรรมชาติ

ภาพจากภาพยนตร์ก็ยังให้ความสวยงามของภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโหมดUser(HDR10)ที่ปรับแล้ว โปรเจคเตอร์สว่างแบบมีcontrastจะได้เปรียบตรงนี้นี่เอง ภาพดูมีพลัง สีสันดุดันไม่เกรงใจใคร เหมือนกับรถที่มีแรงสูงเอามาขับแบบปกติพลังงานเลยเหลือๆ ทำให้นึกถึงคำพูดของMichael Bayผู้กำกับชื่อดังที่บอกไว้เลยว่าสำหรับโปรเจคเตอร์แล้ว “Brightness is key”

ภาพเคลื่อนไหวก็จะมีฟังก์ชันMEMC(Motion estimate and motion compensation) มีให้เลือกได้หลายระดับ เพื่อเพิ่มความลื่นไหลและความคมชัดของภาพขณะวัตถุเคลื่อนไหว ผมใช้แค่ที่ระดับLowก็เห็นผลแล้วว่าภาพมีความชัดเจน มีความsmoothมากขึ้น ส่วนถ้าตั้งไว้ที่mediumหรือhighก็อาจจะเหมาะสำหรับการดูกีฬาหรือcontentในทีวี เพราะถ้าเลือกไว้สูงการดูหนังจะลื่นเกินไป เหมือนเป็นวิดีโอมากกว่าดูภาพยนตร์ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “Soap Opera Effect”

แต่กับภาพDolby Visionที่โปรเจคเตอร์ตัวนี้รองรับเป็นตัวแรกของโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในบ้าน ปรากฏว่าภาพที่ออกมากลับดูทึมมืดไม่สวยเหมือนภาพจากHDR10 เมื่อลองเอาmeterมาวัดความสว่างสูงสุดในโหมดDolby Vision ก็วัดได้แค่ 10.7fLเท่านั้น

แนะนำว่าถ้าใครจะดูหนังที่เป็นDolby Visionกับโปรเจคเตอร์ตัวนี้ควรจะไปปรับเครื่องเล่นให้ปล่อยภาพออกมาเป็นHDR10ก็พอไม่ต้องปล่อยภาพDolby Vision เพื่อจะให้Formovieไปใช้โหมดHDR10ของเครื่องแทน ภาพจะได้มีความสว่างสดใสของภาพมากกว่า หรือว่าถ้าใครยังอยากจะดูภาพDolby Visionอยู่ ก็สามารถใช้เครื่อง HD FURYส่งภาพLow Latency Dolby Vision(LLDV)ไปที่Formovieก็ได้เช่นกัน ใครสนใจในรายละเอียดก็สามารถกลับไปอ่านเรื่องนี้ที่ผมเคยเขียนไว้ได้ครับ https://moraekhometheater.com/home/review/2021/low-latency-dolby-vision/

พอเปลี่ยนมาเป็นLLDVแล้วใช้เป็นโหมดUser(HDR10)ของเครื่องFormovie ภาพที่ออกมามีความสว่าง มีสีสันเข้มข้นสวยงามมากกว่าโหมดDolby Visionมาก อย่างในหนังTop Gun Maverickฉากที่เครื่องบินกำลังทำMach 10แล้ววิ่งบนท้องฟ้านั้น ลำแสงของเครื่องบินที่บินผ่านเมฆดูมีความสว่างโดดเด่น สวยงามน่าติดตาม ดูแล้วเร้าอารมณ์ดีมาก

ลองเอาเครื่องมาเปิดในห้องที่มีแสงสว่างมากกับจอALRของVividstormดูบ้าง ภาพก็ยังทำความสว่างสู้แสงได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบริเวณที่เจอแสงตรงๆโดยเฉพาะแสงด้านข้าง ภาพบริเวณนี้contrastก็จะถูกwash outลดลงไป แต่สำหรับแสงจากด้านบนเช่นแสงจากหลอดไฟจอตัดแสงจะตัดแสงแบบนี้ได้ดีกว่าด้านข้างอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าใครมีแสงตรงๆจากหน้าต่างแบบนี้ผมว่าเพียงแค่หาม่านมาติด ภาพที่ออกมาก็จะดีขึ้นมาก

แต่เนื่องจากFormovie Theaterเป็นโปรเจคเตอร์แบบultra short throwยังไงก็ยังมีข้อจำกัดที่เป็นพื้นฐานของโปรเจคเตอร์แบบนี้อยู่ ทั้งในเรื่องของความคมชัด ความสว่างที่ไม่เท่ากันทั่วทั้งจอ สีตามขอบๆของจอที่ยังเกลี่ยไม่เท่ากันบ้าง การไล่สีในระดับBt.2020ก็ยังไม่ถึงขนาดlinearแบบเป๊ะทุกตำแหน่ง แต่อาการเหล่านี้ถ้าการดูในระดับปกติทั่วไปจะสังเกตแทบไม่เห็น ต้องเอาmeterเข้าไปจับหรือต้องเข้าไปเพ่งดูใกล้ๆจอถึงจะเห็นความผิดปกติเหล่านี้

สรุปแล้วสำหรับโปรเจคเตอร์Formovie Theater ผมว่าเป็นultra short throwโปรเจคเตอร์ที่มีคุณสมบัติในด้านต่างๆเกินค่าตัวไปเยอะทั้งในเรื่องของ Triple color laser light source ที่ทำให้ภาพออกมาสว่าง สีสันเข้มข้น ครอบคลุมพื้นที่สีได้กว้าง ให้contrastของภาพที่ดีมีความดำของภาพลึกกว่าโปรเจคเตอร์DLPโดยทั่วไป มีลำโพงจากBowers & Wilkinsที่ให้ทั้งคุณภาพและพลังเสียง สามารถรองรับทั้งระบบDolby VisionและDolby Atmos ภาพในระบบHDR10มีความโดดเด่นมาก ซึ่งถ้าได้ติดตั้งกับสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้จอที่มีความเหมาะสม รับรองว่าใครได้เห็นภาพจริงแล้วจะต้องamazingกับภาพที่ออกมาแน่นอน ใครสนใจอยากดูภาพของFormovie Theater ทางตัวแทนจำหน่ายยินดีและพร้อมที่จะไปDemoภาพให้ดูได้ แต่ขอเตือนนิดหนึ่งนะครับว่าต้องใจแข็งหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วโปรเจคเตอร์ตัวเก่าที่ใช้อยู่อาจจะมีอาการสั่นได้ครับ ต้องขอขอบคุณทางบริษัท AR Technology ที่ส่งโปรเจคเตอร์Formovie Theaterมาให้ทดสอบในที่นี้ด้วยนะครับ

อย่าลืม! Subscript ช่อง MorAek Hometheater บน Youtube ด้วยนะครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Formovie Theater (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้