Review

Search

Marantz AV-10

พูดถึงชื่อMarantz สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือเสียงดีในระดับHi End น้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์ ไพเราะน่าฟัง ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้ก็ยังคงอยู่กับแบรนด์เครื่องเสียงนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน คนส่วนมากคิดว่าเครื่องเสียงMarantzนั้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วMarantzได้กำเนิดขึ้นที่New York, USA ในช่วงปี ค.ศ.1950 โดย Saul Marantz(โซล มาแรนทซ์) ภายใต้แนวคิดที่ว่า “For us, the realistic reproduction of sound is the essential premise.” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกแบบเครื่องเสียงของMarantzนั้นได้ให้ความสำคัญกับความเสมือนจริงตามธรรมชาติของเสียงเป็นหลัก โดยในปีนี้Marantzได้เปิดตัวเครื่องเสียง Cinema Series หลายรุ่น และตัวที่โดดเด่นเป็นflagshipสำหรับAV Preamplifier ได้แก่รุ่น AV-10 ทางMarantzบอกว่าได้มีการupgradeครั้งใหญ่สำหรับรุ่นนี้ มาติดตามกันดูว่าAV Preamplifierหรือที่บางคนเรียกว่าPre-Processor ในรุ่น AV-10นี้เป็นอย่างไรบ้าง

รูปร่างภายนอกก็รู้ว่าถูกสร้างและออกแบบมาอย่างดี ในแนวminimalist มีรายละเอียด มีความพิถีพิถัน พื้นผิวทำแบบมีTexture สีเทาเข้ม หน้าตาออกมาดูมีดีไซด์แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นMarantzอยู่ แค่ยก แค่จับดูก็รู้สึกถึงวัสดุที่ใช้ทำตัวถังว่ามีความแข็งแรง ทนทานต่อการขูดขีด

ด้านหน้าเมื่อเปิดหน้ากากพับออกมาก็จะเจอกับปุ่มและช่องเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจากตรงนี้ได้

ตัวเครื่องมีขนาด กว้าง 44.2cm. สูง 18.9cm. ลึก50.3cm.น้ำหนัก 16.8Kg ซึ่งหนักกว่ารุ่นที่ผ่านมาถึงสามกิโลกว่า AV Preamplifierที่หนักขนาดนี้แสดงว่าข้างในต้องใส่อุปกรณ์มาแบบแน่นเอียดแน่นอน สำหรับราคาตั้งของMarantz AV-10อยู่ที่ 269,000บาท

แผงด้านหลังให้ช่องเชื่อมต่อมาแบบครบครัน ที่เด่นๆก็จะเป็นช่องต่อHDMI 2.1input 7ช่องที่รองรับภาพ 8K 60Hzและ 4K 120Hz ส่วนoutput HDMIทั้งหมดจะมีสามช่อง โดยมีสองช่องที่เป็นHDMI 2.1 ส่วนOutputอีกช่องที่เขียนว่า4Kจะเหมาะสำหรับบางทีใช้สายสัญญาณไม่รองรับHDMI2.1 หรือใช้สายสัญญาณที่เขียนไว้เป็น”High Speed with Ethernet” ไม่ได้ใช้สาย”Ultra high-speed HDMI”ก็แนะนำให้ใช้ช่องต่อช่องนี้

ช่องต่อUnbalanced pre-out(RCA) และ Balanced XLR pre-outใช้วัสดุระดับHi-Fi grade จะมีมาให้ทั้งSubwoofer 4ช่องที่แต่ละช่องแยกอิสระต่อกัน สามารถตั้งค่าparameterต่างๆของSubwooferแต่ละตัวได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องขึ้นต่อกันทำให้คนที่ใช้multi subwooferได้ประโยชน์จากตรงนี้มาก สำหรับmain channelsอื่นก็มีช่องต่อRCAและXLRมาให้ 17ช่อง ตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นAV Preamplifier 15.4แชนแนล แต่ทำไมมีช่องต่อmainถึง17ช่อง ที่เป็นแบบนี้ก็เนื่องจากว่าตัวเครื่องสามารถdecodeสัญญาณได้หลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นDolby Atmos, DTS X, Imax Enhanced และ Auro 3D ซึ่งแต่ละระบบจะมีconfigurationของการวางลำโพงต่างกัน โดยตัวAV-10สามารถเชื่อมต่อไปยังลำโพงได้ 17ตัวพร้อมกันและสามารถเลือกได้ว่า15แชนแนลที่decodeออกมานั้นจะให้ออกลำโพงในconfigurationแบบไหน และให้ออกลำโพงตัวไหนบ้างทำให้สะดวกเวลาเปลี่ยนconfigurationที่มีรูปแบบการวางลำโพงต่างกัน เสียงที่ออกมาก็จะถูกต้องตามตำแหน่งของลำโพง

ผมชอบปรัชญาการออกแบบของเครื่องเสียงMarantz ที่ไม่ได้เป็นการเน้นcomputer baseหรือchip baseอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นที่ใส่เข้ามาในเครื่อง ซึ่งทางMarantzบอกว่าขั้นตอนการคัดเกรดอุปกรณ์ต่างๆนั้นเป็นขั้นตอนที่เสียเวลามากเนื่องจากจะต้องนำอุปกรณ์แต่ละตัวมาลองถอด มาลองใส่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจวัด ฟังเสียงจริงที่ออกมาว่าอุปกรณ์นั้นๆใส่เข้ามาแล้วทำให้เสียงดีจริงหรือเปล่า ด้วยวิธีนี้จึงทำให้เสียงที่ออกมาจากเครื่องเสียงMarantzมีคุณภาพสูง มีความแม่นยำ ให้เสียงมีความเป็นดนตรี หรือที่บางคนเรียกว่าเสียงแบบwarm tone อันนี้ไม่ได้มีความหมายตรงๆว่าเสียงแบบอุ่นนะครับ มันหมายถึงเสียงที่ออกมามีเนื้อมีหนัง มีความสมจริง ฟังแล้วไพเราะ ไม่ได้เสียงแห้งๆเหมือนกับบางทีเราได้ยินจากเครื่องเสียงคุณภาพไม่ดี

Marantz AV-10จะรองรับจำนวนแชนแนลที่มากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับรุ่นผ่านๆมา เช่นในรุ่น AV7706 รองรับ13แชนแนล,ในรุ่นAV8805Aรองรับ15แชนแนล จนตอนนี้ AV-10สามารถรองรับเพิ่มเป็น19แชนแนล นอกจากนี้ก็ได้มีการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆจากรุ่นเดิมครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงในหลายจุดเพื่อให้คุณภาพของเสียงออกมาดีกว่าเดิม

DSPใช้Griffin Lite XPที่มีความแม่นยำ มีพลังงานและความเร็วสูงเพื่อให้สามารถdecodeข้อมูลระดับ 15.4แชนแนล ในรูปแบบเสียงทุกฟอร์แมททั้ง Dolby Atmos, DTS:X Pro, IMAX Enhaned, Auro3D, MPEG-H Audio, 360 Reality Audio รวมถึงการคำนวณRoom Correctionsอย่าง Audyssey MultEQ และ Dirac Liveด้วย

การแปลงข้อมูลจากdigitalเป็นanalogueใช้ชิประดับHi-Fi grade ร่วมกับบอร์ดเฉพาะเพื่อให้ความบริสุทธิของสัญญาณสูงสุด Copperหรือทองแดงก็ใช้ถึง4ชั้นเพื่อใช้ในการส่งสัญญาณ การsupply line และgrounding ทำให้ระดับnoiseลดลง และเพื่อเป็นการลดการกวนกันของสัญญาณ(crosstalk)จึงได้มีการออกแบบให้ใช้ชิป D/A Converter 2แชนแนลต่อตัว โดยเลือกเอา2แชนแนลที่มีความเกี่ยวข้องกันของสัญญาณน้อยที่สุดใส่ไว้ในชิปตัวเดียวกัน ทำให้ต้องใช้ชิปทั้งหมดถึง 10ตัวในการแปลง D/A Converter

ส่วนClockที่ใช้ในการควบคุมชิป D/A converters ทั้งสิบตัวให้ทำงานพร้อมเพรียงกันก็จะเลือกใช้Clockที่มี jitterน้อยที่สุด มีnoise และ phase noise bufferที่ต่ำ เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงสุดของClockในวงจร

การขยายสัญญาณใช้วงจรที่ชื่อว่าHDAM(Hyper Dynamic Amplifier Module)ที่พัฒนาขึ้นมาโดยMarantzเอง เพื่อควบคุมกระแสไฟให้คงที่แน่นอน ให้เสียงhigh resolution ที่มีรายละเอียด มีbandwidthของเสียงที่กว้างทำให้รองรับทั้งเสียงที่มีความถี่สูงมากหรือต่ำมากได้ดี

โดยวงจรHDAMของ AV-10ก็จะใช้รุ่นใหม่เป็นรุ่น HDAM-SA3 จากเดิมAV8805Aใช้เป็นรุ่นHDAM SA2 นอกจากนั้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นTransistor, Resistorต่างๆ ก็เปลี่ยนไปใช้ตัวใหม่หมดเพื่อลดnoiseในวงจรให้เกิดน้อยที่สุด

รวมถึงแผงวงจร PCB(printed circuit board)ที่ใช้เป็น 4แผ่น จากเดิมในรุ่นAV8805Aที่ใช้แค่สองแผ่น เพื่อให้มีการกระจายพลังงานไฟฟ้าได้ดี มีระบบกราวด์ที่แข็งแรงขึ้น และลดระยะการเดินทางของสัญญาณให้สั้นลง

โดยแผงPCB ของวงจรAnalogue และDigital ก็จะแยกกันทั้งในส่วนอิเล็กทรอนิกส์และตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อไม่ให้มีการกวนกันของสัญญาณ

การเลือกใช้อุปกรณ์อย่างพิถีพิถันของAV-10ทำให้ค่าความเพี้ยนของสัญญาณ THD(Total harmonic distortion)มีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับpre amplifierรุ่นก่อนหน้า

ในส่วนของdigital domainก็แสดงถึงค่าnoise floorที่ต่ำกว่าเดิม jitter spectrumที่มีความสะอาดมากขึ้นทำให้ได้สัญญาณที่ออกมาจากช่องเชื่อมต่อ มีการกวนของสัญญาณต่ำ สัญญาณมีความบริสุทธิ์มากขึ้น

ในเรื่องเสียงนั้น Max Richter(แม็กซ์ ริคเตอร์) คนทำดนตรี ทำscoreเพลงระดับหนังHollywoodมากมายหลายเรื่อง เคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับเรื่องเสียงกว่า13รางวัล เข้าชิงรางวัลกว่า20ครั้ง ได้พูดไว้ว่าครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงMarantzจากเครื่องเสียงของพ่อแม่ที่ซื้อมา ทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่าที่ผ่านมาเขาไม่เคยได้ยินเสียงดนตรีมาก่อน เหมือนกับเขาได้เปิดประตูก้าวเข้าไปสู่โลกที่ต่างออกไป

และเมื่อต้องมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องเสียง แม็กซ์ ริคเตอร์บอกว่าเสียงจากเครื่องเสียงMarantzเมื่อเล่นภาพยนตร์นั้นจะให้รายละเอียดล้อมรอบประสานกันจนค่อยๆดึงตัวคุณเข้าไปสู่ในโลกภาพยนตร์ เนื่องจากเสียงที่idealสำหรับภาพยนตร์ควรจะมีความโอบล้อม มีdynamicของเสียงรอบตัว และถ้าได้อุปกรณ์ที่ดีก็จะทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงเสียงแบบ360องศา ยิ่งเมื่อมีการSetupอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ฟังจะได้รับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่มีความยิ่งใหญ่ล้อมรอบมากกว่าในโรงภาพยนตร์เสียอีก ซึ่งในMarantz Cinema Seriesนี้ก็จะให้เสียงที่คนทำหนังทำออกมาในลักษณะที่สวยงามและสมบูรณ์แบบ

คราวนี้มาฟังเสียงจริงในห้องทดสอบผมละครับว่าเป็นไงบ้าง โดยระบบเดิมที่ผมใช้อยู่นั้นจะเป็นAV Preamplifier ของMarantz รุ่น AV8805อยู่แล้ว งานนี้เลยทำการแค่ยกตัวเดิมออกเปลี่ยนเป็นAV-10ได้เลย เนื่องจากอย่างอื่นทำการปรับไว้ลงตัวในเกือบทุกส่วนแล้ว ทำแบบนี้จะได้ฟังออกกันชัดเจนไปเลยว่าเสียงที่ออกมานั้นต่างจากเครื่องเดิมตรงจุดไหนบ้างเมื่อใช้อุปกรณ์อื่นเหมือนเดิมหมด

เข้ามาปรับconfigurationพื้นฐานต่างๆในเครื่อง หน้าจอ functionต่างๆของAV-10มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ มีความสวยงาม ออกแบบทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะปรับได้ง่ายขึ้น และจุดเด่นที่สำคัญอีกเรื่องของMarantz AV-10นี้คือเรื่องของBug หรืออาการแฮงค์ของเครื่องที่แทบจะไม่พบเลยในการทดสอบของผม เครื่องทำงานได้เสถียรมาก ปรับกลับไปกลับมา เสียบสายเข้าออกบ่อยๆ เครื่องก็ไม่มีอาการรวนให้เห็น การhandshakeที่ความละเอียด ที่frame rateต่างๆของภาพ เมื่อใช้เครื่องMurideo SevenG 8K ปล่อยสัญญาณแบบต่างๆก็ไม่พบจอมืด หรือจอฟ้า แต่ประการใด

Marantz AV-10มีโปรแกรมRoom correctionของAudyssey MultEQ XT32มาพร้อมกับเครื่อง แต่ก็มีOptionที่สามารถซื้อโปรแกรมroom correctionของ Dirac Liveเพิ่มเข้าไปได้ ทั้งแบบFull Bandwidthที่สามารถปรับเสียงได้ตั้งแต่ 20Hz-20kHzในราคา 349USD หรือใครที่ลำโพงภายในห้องมีเสียงความถี่กลางความถี่สูงที่ดีแล้วและไม่อยากไปแตะต้องความเป็นธรรมชาติของเสียง ก็สามารถเลือกซื้อแบบLimited Bandwidthใช้ปรับความถี่ที่ 20Hz-500Hzได้ในราคา 259USD หรือถ้าใครซื้อแบบLimited แล้วและอยากเพิ่มเป็นFullก็เพิ่มเงินอีก99USDเพื่อUpgradeได้ ใครชอบแบบManual Calibrationก็ทำได้สะดวกเนื่องจากตัวเครื่องรองรับการปรับทุกแชนแนลได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะSubwooferที่สามารถปรับค่าparameterต่างๆได้ถึงสี่ตัว จัดวางทุกอย่างลงตัว ปรับค่าconfigurationพื้นฐานแล้ว ผมก็ทำการRecheckอีกทีหนึ่งว่าเสียงที่ออกมาจากSystemตอนนี้frequency domainและtime domain มีความsmoothหรือถูกต้องตามที่ต้องการหรือไม่

อีกfunctionหนึ่งที่AV-10ให้มาแบบละเอียดมากก็คือ LFE Distribution โดยทั่วไปข้อมูลความถี่ต่ำLFE(low frequency effects)จะถูกส่งไปให้ลำโพงSubwooferอย่างเดียว แต่AV-10สามารถตั้งให้LFEส่งย้อนขึ้นไปรวมกับสัญญาณความถี่full rangeของลำโพงที่ตั้งไว้เป็นlargeได้ ดังนั้นถ้าใครมีลำโพงmainตัวใหญ่มากระดับwooferเกิน10-12นิ้วขึ้นไป หรือมีลำโพงsubwooferรวมอยู่ในลำโพงmainแชนแนลนั้น ก็สามารถส่งสัญญาณLFEให้ลำโพงเล่นความถี่ต่ำตรงนี้เพิ่มได้อีก ทั้งยังสามารถตั้งด้วยว่าจะให้LFEเข้าไปรวมที่อีกกี่ dB ตั้งแต่0ถึง-20dB แต่ต้องระวังหน่อยถ้าตั้งไว้ที่0หรือค่ามากๆเพราะจะทำให้ลำโพงแชนแนลนั้นทำงานความถี่ต่ำหนักเกินไปถ้าลำโพงไม่ใหญ่พอ ซึ่งปกติfunctionละเอียดแบบนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่อยู่ในpre-processorระดับแพงกว่าAV-10สองสามเท่าตัวเท่านั้น แต่นี่ถือว่าจัดให้มาแบบเต็มๆ

มาทดสอบกับหนัง Top Gun: Maverickก่อนเลย สัมผัสแรกที่รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมคือเสียงความถี่ต่ำที่แน่น คม มีความใหญ่และชัดเจนมากขึ้น โดยพื้นฐานเสียงยังคงเอกลักษณ์แนวเสียง เนื้อเสียงของMarantzไว้อย่างดี อย่างในฉากงานศพของIcemanที่Maverickทุบเข็มลงบนโรงศพนั้น เสียงเบสมาเต็มๆแบบยิ่งใหญ่สั่นสะเทือนทั้งห้อง พอถึงฉากเครื่องบินที่บินโชว์ข้ามหัวเสียงdolby atmosทำงานได้อย่างดี รู้สึกถึงความแตกต่างของตำแหน่งเสียงเครื่องบินแต่ละลำที่บินจากด้านหน้าจอข้ามหัวไปทางด้านหลัง ฉากการบิน การต่อสู้กันของเครื่องบินรบที่บินไปมาทั่วห้องทำได้อย่างแนบเนียน ความหนักแน่นของเสียงเครื่องยนต์ การเร่งเครื่องยนต์เจ็ท เสียงระเบิด เสียงปืน ทำได้อย่างรุนแรง หนักแน่น ดูแล้วเร้าอารมณ์ดีมาก

ฉากจากเรื่อง”Guardians of the Galaxy(2014)” chapter2 เริ่มต้นเน้นเสียงบรรยากาศโดยรอบของระบบเสียงDolby Atmos พร้อมๆกับเสียงระเบิดความถี่ต่ำที่มาเป็นระยะ ตามมาด้วยเสียงหยดน้ำ เสียงเม็ดฝนที่ตกลงมา โดยMarantzสามารถrenderเสียงออกมาได้ละเอียด สมจริง มีเสียงระเบิดออกมาทางนั้นทีทางนี้ทีรอบๆตัว Dynamicจากเสียงเบามาดังสุดทำได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด มากระชากฟิลก็ตอนพระเอกPeter Quillใส่หูฟัง และเพลง“Come and Get You Love”ของRedboneดังขึ้นมา เพลงฟังสนุก ดึงอารมณ์คล้อยตามบรรยากาศการเต้นท่าตลกๆของพระเอก ถึงตรงนี้ขาก็ไม่อยู่นิ่งละครับขยับสนุกไปตามบทเพลงเลย

มาทดสอบเพลงดูบ้าง กับแผ่นบลูเรย์คอนเสิร์ต “A John Williams Celebration” แผ่นนี้เป็นแผ่นโปรดของผมอีกแผ่นหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นแผ่นที่ให้เสียงมาแค่ DTS-HD Master Audio 5.1 แต่ถือว่าเป็นแผ่นที่ให้เสียงที่ดีแผ่นหนึ่ง เหมาะกับทดสอบการUp-mixingเสียงขึ้นไปในรูปแบบsurroundต่างๆ Trackที่ทดสอบเป็น “Throne Room & Finale from Star Wars” เสียงที่ออกมามีความเป็นดนตรีสูง เสียงออกแนวwarm toneอย่างที่บอกไว้ เครื่องเป่าแต่ละตัวให้เนื้อเสียงสมจริง รายละเอียดsound stageแยกได้ชัดเจนว่าเครื่องดนตรีนั้นอยู่ตรงส่วนไหนของวง มีมิติความลึกของเสียง เสียงความถี่สูงไม่บาดหู ความถี่ต่ำลงได้ลึก แน่น แบบมีทิศทาง ต้องบอกว่าถ้าเป็นเรื่องของเสียงเพลง เสียงดนตรี Marantz AV-10ทำได้สมบูรณ์แบบมาก

โดยสรุปแล้วผมว่า Marantz AV-10เป็น AV Preamplifierที่เน้นเรื่องอุปกรณ์คัดเกรดในเครื่อง เสียงมีความเป็นHi End ฟังแล้วให้ความรู้สึกถึงความเป็นดนตรี เสียงเป็นธรรมชาติสมจริง รองรับระบบเสียง Immersive 3D sound สูงสุด 15.4แชนแนลทั้ง Dolby Atmos, DTS:X, IMAX Enhanced, Auro3D ระบบAuto Room correctionที่ให้มาเป็นAudyssey MultEQ XT32 และยังสามารถUpgradeซื้อโปรแกรมปรับเสียงDirac Liveเพิ่มเติมได้ มีmusic streamingของ HEOS ทำให้สามารถฟังเพลงในหลายหลายstreaming servicesส่งไปหลายห้อง มีHDMI 2.1 Inputมาให้ถึง 7ช่อง ที่สำคัญการใช้งานทำได้ง่ายดาย เครื่องมีความเสถียร เชื่อใจได้ กับราคา 269,000บาท ผมว่าMarantz AV-10 เป็นAV Preamplifierที่มีคุณภาพสูงให้Featureต่างๆมาแบบคับแก้วจริงๆ

ต้องขอขอบคุณทางบริษัทMI Engineeringที่ส่ง Marantz AV-10 มาให้ผมทดสอบในครั้งนี้ด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Marantz AV-10 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้