Review

Search

Epson EH-LS12000B

เลเซอร์โปรเจคเตอร์ในบ้านตัวล่าสุดจากEpsonที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มผู้ชอบดูหนังภายในบ้าน วันนี้มาดูกันว่าทำไมโปรเจคเตอร์ตัวนี้ถึงได้รับความนิยมอย่างมากในห้องHome Theater

ข้อมูลทั่วไปของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ เป็นโปรเจคเตอร์เลเซอร์4K แบบใช้ชิปLCD3ตัวเป็นแหล่งกำเนิดภาพสามารถแสดงภาพได้เต็ม3820*2160พิกเซล ตัวเครื่องเครมว่าให้ความสว่างสูงถึง2,700ลูเมน ให้Dynamic Contrastมากกว่า 2,500,000:1 รองรับระบบภาพHDRได้ทั้งแบบ HDR10, HDR10+, HLG ตัวเครื่องมีขนาด 520x169x447mm น้ำหนัก12.7kg รองรับการเชื่อมต่อแบบHDMI2ช่อง รับรองการปรับภาพด้วยสถาบันisf และสามารถใช้โปรแกรมCalmanโดยportrait displaysปรับภาพแบบAuto calibrationได้ ทั้งหมดนี้มาในราคาเพียงแค่ 159,000บาทเท่านั้น

Epson LS12000B ใช้แหล่งกำเนิดภาพแบบ 3Chip LCDมีจุดเด่นในเรื่องสีสันภาพที่สดใส เสมือนจริง Dynamic contrastของภาพดีมาก ให้ขอบเขตความกว้างของสีที่สูง ปราศจากปัญหาRainbow effect และที่สำคัญใช้แหล่งกำเนิดแสงจากเลเซอร์ทำให้แสงที่ออกมามีความสว่างสูง ใช้งานได้ยาวนานถึง 20,000ชั่วโมงโดยแทบไม่ต้องมีการบำรุงรักษา ประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากใช้งานได้ยาวนานจึงยืดระยะเวลาการบำรุงรักษาออกไป รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารปรอท ไม่ต้องเปลี่ยนหลอดไฟบ่อยๆด้วย

Epson LS12000Bใช้เลนส์15ชิ้น ทั้งหมดเป็นเลนส์แก้วคุณภาพสูง สามารถควบคุมการZoom , Focus และlens shiftโดยมอเตอร์ เมื่อปิดเครื่องก็จะมีฝาปิดเลื่อนเข้ามาปิดให้เองอัตโนมัติ ทำให้สะดวกในการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีlens memoriesหลายค่า สามารถตั้งpresetsของเลนส์ในตำแหน่งต่างๆได้ ถ้าใครดูcontentหลากหลายอัตราส่วนภาพก็สามารถเรียกใช้lens memoriesได้อย่างง่ายดายบนรีโมท

รองรับระบบ HDR10 , HLG รวมถึง HDR10+ ที่สามารถรับข้อมูลMetadataจากsourceทำให้แสดงภาพตามข้อมูลความสว่างที่ใส่เข้ามาในแต่ละเฟรมภาพ ภาพจะได้รายละเอียดครบถ้วนทั้งในส่วนที่มืดหรือส่วนสว่างตามความตั้งใจของผู้สร้าง

รูปร่างของตัวเครื่องมีลักษณะโค้งมน ด้านหน้ามีเลนส์ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางพร้อมทั้งครีบระบายความร้อนทั้งสองข้าง ตัวเครื่องสีดำด้านและมีtextureของพื้นผิวทำให้ตัวเครื่องดูสวยงามแบบมีdesign

เนื่องจากแหล่งกำเนิดแสงเป็นแบบlaserที่ทำให้เกิดความร้อนของเครื่องสูง จึงมีการทำตะแกรงระบายอากาศทั้งสองข้างของตัวเครื่อง ร่วมกับพัดลมระบายความร้อน ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานดูต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็ไม่พบอาการผิดปกติในเรื่องความร้อนของเครื่องแต่อย่างไร สำหรับพัดลมระบายอากาศก็เงียบมาก ในmodeปกติ(light output 75%)ก็จะมีความดังของพัดลมอยู่ที่ 20-23dbเท่านั้น

ช่องต่อซ้ายมือสุดช่องแรกจะเป็นช่องUSB-A(5V 2.0A) ใช้ต่อกับmemoryเพื่อบันทึกข้อผิดพลาด,batch settings,operation log filesหรือใช้firmware updateก็ได้เช่นเดียวกับportต่อมาที่เป็นService port ถัดไปเป็นช่องTrigger Out port, ช่องLAN port, ถัดจากช่องLANก็จะเป็นช่องต่อpower supply 300mA เพื่อใช้ต่อกับสายHDMIที่บางทีต้องใช้ไฟต่อเข้าไปที่หัวของสายHDMI, สำหรับHDMI portของเครื่องจะมี 2ช่อง รองรับการเชื่อมต่อHDMI2.1 HDCP2.3ทั้งสองช่องโดยช่องที่สองจะสามารถใช้เป็นeARC/ARCได้อีกด้วย ช่องขวามือสุดเป็นช่องRS-232C portเพื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมตัวเครื่องและใช้เป็นช่องต่อเพื่อทำการAuto Calibrationโดยโปรแกรม Calman

รีโมทของเครื่องมีขนาดพอดีมือ มีปุ่มที่จำเป็นใช้งานครบถ้วน แต่เวลาใช้งานในที่มืดต้องกดปุ่มแสงสว่างที่ด้านบนขวาก่อนซึ่งอาจทำให้ไม่สะดวกบ้างในการใช้งานในห้องที่มืด

การติดตั้งในห้องhome theaterก็ทำได้อย่างง่ายดายเนื่องจากตัวเครื่องมีความยืดหยุ่นในการติดตั้งสูง ถึงแม้เครื่องไม่ได้อยู่ตรงกลางจอมากก็สามารถขยับตัวเครื่องออกจากศูนย์กลางในแนวตั้งได้± 96.3 %, แนวนอน ± 47.1 % และระยะซูมครอบคลุม x2.1 อย่างในห้องผมวางเครื่องห่างจากจอภาพอัตราส่วน 2.35:1 ขนาด 150นิ้ว ระยะประมาณห้าเมตรก็สามารถฉายเต็มจอได้สบาย

สำหรับการตั้งค่าเบื้องต้นหรือเรียกว่า Out of the Box setting ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ Gregg Loewen ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับภาพ อาจารย์สอนปรับภาพหลายสถาบันและเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสอนปรับภาพPVA(Professional Video Alliance) ได้ให้คำแนะนำในการปรับภาพของโปรเจคเตอร์EpsonLS12000Bไว้ว่า ในภาพSDR(Standard Dynamic Range) ใช้Color Mode: Cinema, Contrast อยู่ระหว่าง45-50, ค่าWhite Balanceยังไม่ต้องตั้งค่าใดๆเพราะต้องใช้เครื่องมือในการวัด, Dynamic Contrastตั้งไว้ที่High Speed, Gamma: -2, Scene Adaptive Gamma: 4, Light Output ต้องดูที่ขนาดของจอ/ชนิดของจอภาพด้วย อย่างในห้องผมใช้จอภาพขนาด 150นิ้ว จอStewart FireHawk G5ซึ่งเป็นจอที่ต้องใช้แสงสว่างพอสมควรเพื่อให้contrastของภาพออกมาดีจึงแนะนำตั้งไว้ที่ 100%แต่ถ้าจอมีขนาดเล็กกว่านี้แล้วเป็นจอpositive gainก็อาจจะลดความสว่างลงมาได้บางทีลดได้ถึง 50% ก็ขึ้นอยู่กับความชอบด้วยว่าชอบภาพแบบสว่างหรืออยากได้แบบcinema darker

สำหรับHDR(High Dynamic Range)แนะนำให้ใช้Color Mode Bright Cinemaค่าพื้นฐานใช้ค่าเดิม, Frame Interpolation: Off, Light Output: 100%, Dynamic Contrast: High Speed, Gamma: -1, Scene Adaptive Gamma: 4, HDR10/HDR10+: 4

แต่ถ้าใครต้องการภาพที่สว่างมากขึ้นและฉากดำที่ให้ความดำสุดก็ให้ใช้Color Mode: Dynamic โดยค่าต่างๆก็ตั้งเหมือนBright Cinema ภาพที่ออกมาจะต่างไปจากBright Cinemaโดยถ้าเป็นฉากที่มืดมาก ตัวโปรเจคเตอร์จะปิดlight outputเลยทำให้ได้black levelที่ดี แต่ก็จะสูญเสียรายละเอียดในส่วนที่มืดไป ยังไงก็ต้องลองดูภาพแล้วเลือกเอาในแต่ละColor Mode เพราะก็จะได้อย่างเสียอย่าง

เครื่องมือในการทดสอบภาพก็ใช้Spectrophotometer Jetiรุ่นspectraval และColorimeter Klein K-10A ใช้Murideo Seven-G 8Kเป็นPattern Generator โปรแกรมที่ใช้ทดสอบเป็นPVA,isf CalMAN Video Pro

ที่พิเศษสำหรับโปรเจคเตอร์Epson LS12000Bตัวนี้ก็คือใครมีเครื่องมือวัดภาพและโปรแกรมCalman ก็สามารถใช้การปรับภาพแบบAuto calibration โดยเชื่อมต่อเข้ากับโปรแกรมCalmanแล้วสามารถเลือกDisplay Controlเป็นEpson Projector ก็สามารถทำการปรับภาพแบบอัตโนมัติ(1D LUT) ตามขั้นตอนของโปรแกรมได้เลย โดยแนะนำให้เลือกGrayscale Pointsเป็นแบบ 11จุด ส่วนDeltaE targetของ Grayscaleตั้ง 0.5ตามที่โปรแกรมsetไว้ ซึ่งก็พบว่าGrayscaleให้ผลออกมาดี ส่วนCMS Gamutถ้าตั้งค่าDeltaE ไว้ต่ำเกินไปผลออกมาสีจะเพี้ยนแนะนำให้ตั้ง DeltaE Targetไว้ที่ 2-3จะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า

แต่สำหรับใครที่ต้องการปรับภาพแบบละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ได้ภาพกับสีที่ออกมาใกล้เคียงกับมาตรฐานที่สุดก็ต้องใช้การปรับแบบmanual calibration โดยรายละเอียดการsettingและผลที่ออกมาจากการcalibrationสามารถดูได้จากตาราง ซึ่งผลหลังจากการปรับแล้วพบว่าตัวโปรเจคเตอร์ให้ความแม่นยำของแสงและสีได้ยอดเยี่ยมมาก ค่าDeltaEโดยเฉลี่ยน้อยกว่า2 เรียกได้ว่าสายตาปกติของมนุษย์แทบจะแยกไม่ออกกับค่าสีมาตรฐาน แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าค่าที่ตั้งไว้นี้เป็นค่าที่เหมาะสมสำหรับในห้องที่ผมใช้ทดสอบดังนั้นค่านี้อาจจะไม่เหมาะในห้องที่ต่างไป ก็ดูเอาไว้เป็นแนวทางว่าควรจะปรับค่าอะไรตรงไหนบ้างเพื่อให้ความเพี้ยนของภาพออกมาน้อยที่สุด

ค่าSpectral Power Distributionแสดงให้เห็นการแสดงสีในรูปแบบของเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ความสว่างของภาพในColor Modeต่างๆวัดได้ดังนี้ Dynamic=53.7 fL, Vivid=29.1fL, Bright Cinema=37.2fL, Cinema=18.2fL, Natural=24.3fL เท่าที่ดูค่าความสว่างต้องบอกว่าขนาดฉายลงบนจอใหญ่กว่า150นิ้วก็ยังให้ความสว่างของภาพแบบเหลือๆสมกับเป็นเลเซอร์โปรเจคเตอร์ที่ให้แสงสว่างเจิดจ้ามากกว่าแหล่งกำเนิดแสงแบบอื่นๆ นอกจากความสว่างที่โดดเด่นแล้วผมลองวัดค่าinput lagหรือความหน่วงภาพ ได้ค่าอยู่ที่ประมาณ 20ms ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าที่น้อยมากสำหรับโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในบ้านทั่วไป ใครเอาโปรเจคเตอร์ตัวนี้ไปเล่นเกมส์ก็สามารถเล่นได้สบาย ภาพไม่หน่วงทำให้เล่นเกมแบบไหลลื่น

การครอบคลุมพื้นที่สีของDCI-P3 วัดจริงได้ 92.36% สูงกว่าค่าที่specแจ้งไว้ 85%

หลังจากทำการตั้งค่าและcalibrateภาพเป็นที่เรียบร้อยก็มาถึงการดูภาพจริงจากโปรเจคเตอร์Epson LS12000B จุดเด่นอย่างแรกที่เห็นก็คือเรื่องของความสว่างของภาพที่สูงทำให้ภาพออกมาดูเจิดจรัส สว่างสดใส ให้ความโดดเด่นของภาพ และในบริเวณที่สว่างมากก็ยังให้รายละเอียดไม่มีความเพี้ยนของสีขาวในบริเวณที่เกิดclippingแต่อย่างไร

รายละเอียดของภาพถึงแม้เป็น 4K e-shiftแต่ก็ให้ความคมชัดในระดับ4Kที่ยอดเยี่ยม สวยงาม เสมือนจริง รายละเอียดมาครบไม่มีอาการขึ้นขอบหรือมีความแข็งกระด้างของภาพเนื่องจากการเร่งความคมชัดทางด้านdigitalมากเกินไป

การไล่ระดับความดำของภาพทำได้เนียนตา ตั้งแต่ระดับความดำมากๆจนถึงส่วนที่สว่างที่สุด ภาพดูมีมิติ ไม่พบอาการbandingในส่วนที่มีแสงน้อยในภาพ ยกเว้นถ้าใช้ Dynamic color modeรายละเอียดในส่วนมืดมากๆของภาพก็อาจสูญเสียไปบ้างแต่สิ่งที่ได้มามากขึ้นในDynamic modeก็คือความสว่างและความมืดของภาพ ยังไงก็ต้องลองดูภาพเปรียบเทียบกันดูว่าสภาพสิ่งแวดล้อมที่โปรเจคเตอร์อยู่นั้นใช้color modeไหนจะเหมาะสมกว่ากัน

เนื่องจากเป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้ความสว่างสูง จึงทำให้ภาพHDRมีความสวยงาม ภาพมีDynamicสูง รายละเอียดมาครบทั้งส่วนมืดส่วนสว่างในภาพ ส่วนของภาพที่สว่างสูงมากๆพวกSpecular Highlightก็ให้การไล่สีที่สมจริง ไม่ขัดตา ร่วมกับการมีScene Adaptive Gammaก็ทำให้ความสว่างเหมาะสมกับหนังHDRมากขึ้น

ภาพยนตร์ที่บันทึกมาในระบบHDR10+ ก็จะให้ความมืดความสว่างของภาพออกมาตามข้อมูลที่คนสร้างเขาใส่ไว้ในmetadataแต่ละฉาก ภาพที่ออกมาจึงใกล้เคียงกับภาพที่คนทำหนังเขาต้องการสื่อให้ผู้ชมได้รับชม

หลังจากที่ได้ทำการทดสอบโปรเจคเตอร์Epson LS12000Bในทุกด้านแล้วนั้นต้องบอกว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้เป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้ภาพที่สว่าง สีสันที่ออกมามีความงดงาม โดดเด่น เพิ่มความสนุกสนานเพลิดเพลินในการดูหนัง ดูทีวี ดูcontentต่างๆ การใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์นอกจากได้เปรียบในเรื่องสีสันแล้วก็ยังสามารถใช้งานโปรเจคเตอร์ได้อย่างยาวนาน ไม่จุกจิก และที่สำคัญที่สุดคือในเรื่องราคาที่Epsonทำราคาออกมาได้ดีมาก ซึ่งผมว่าหาโปรเจคเตอร์ราคาใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบคุณภาพในด้านต่างๆกับโปรเจคเตอร์Epson LS12000Bตัวนี้ยาก ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัท Epson ที่ได้ส่งโปรเจคเตอร์ตัวนี้มาให้ทดสอบด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Epson EH-LS12000B (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้