Review

Search

Emotiva RMC-1

EMOTIVA RMC-1 Sixteen Channel Dolby Atmos & DTS:X Cinema Processor ที่ผ่านการวิจัยและออกแบบมาแรมปีจากทางEMOTIVAเพื่อเป็นSurround sound processorsในระดับ state-of-the-art

ถ้าพูดถึงSurround Sound Processorsหรือที่เรียกย่อๆกันว่าPre-Proนั้น ในระดับมากกว่า 16channelsขึ้นไปในท้องตลาดตอนนี้ก็จะมีตัวเลือกไม่มากนัก Emotiva RMC-1ก็เป็นหนึ่งในนั้นและถือได้ว่าเป็นตัวFlagshipของทางEmotiva ซึ่งหลังจากผมได้รับเครื่องมาทดสอบก็ได้พบว่าเครื่องนี้มีจุดน่าสนใจอยู่หลายอย่างที่จะเอามาเล่าให้ฟังกันใครสนใจติดตามอ่านกันได้เลยครับ

แกะกล่องที่packแน่นหนาเป็นกล่องสองชั้นออกมา อุปกรณ์ที่อยู่ภายในนอกจากตัวเครื่องก็จะมีไมค์โครโฟนที่ดูแข็งแรงมีมาตรฐานเพื่อใช้ในการsetเสียงพร้อมขาตั้ง, สายอากาศFM, สายTrigger, เสาอากาศAM, สายไฟ และUSB Memory Stick

ส่วนกล่องแยกอีกกล่องจะเป็นกล่องที่บรรจุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการAuto-calibrationแบบ DIRAC LIVE ภายในกล่องจะมีอะแดปเตอร์ที่มีหัวแบบต่างๆให้เลือก, กล่องEthernet Switchที่เป็นสีขาว, Emotiva Dirac Network Interfaceกล่องสีดำ

สิ่งแรกที่ขอพูดถึงและไม่เหมือนที่เคยเห็นมาก็คือรีโมทที่มีขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะน้ำหนักมากแค่ดูก็รู้ว่ามีความแข็งแรงทนทานขนาดไหน การออกแบบปุ่มต่างๆก็ดูสะดวกเข้าใจง่ายทำให้ปรับค่าควบคุมการทำงานของเครื่องได้เกือบทั้งหมด ที่ผมชอบมากก็คือปุ่มที่สามารถแยกปรับความดังของลำโพงแยกแต่ละแชนแนลได้เลยในขณะดูหนังไม่ว่าจะเป็นCenter Subwoofer Surround Height เพราะในบางสถานการณ์เช่นตอนกลางคืนที่ต้องลดเสียงSubwooferลงแต่เพิ่มเสียงลำโพงcenterขึ้นเนื่องจากว่าเสียงไปรบกวนห้องอื่น หรือบางทีฟังคอนเสิร์ตมีอารมณ์อยากได้เบสหนักๆแบบตื้ด ตื้ด…ก็สามารถกดปรับได้ที่รีโมทเลย และเมื่อออกจากการดูหนังแล้วค่าต่างๆที่ได้กดเปลี่ยนไปก็จะหายไปกลับไปเป็นค่าตั้งต้นเหมือนเดิมไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ความสมดุลย์ของเสียงที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนcalibrateเสียไป เสียแต่ว่าตัวรีโมทไม่ได้มีแสงช่วยดูในที่มืด ถ้าดูหนังในห้องที่แสงน้อยการกดปุ่มต่างๆก็จะทำได้ยาก

รูปร่างหน้าตาของเครื่องภายนอกบางคนก็ชอบ บางคนก็บอกดูแข็งไป แต่สำหรับผมคิดว่าก็เรียบง่ายดูแข็งแรงโดยจะเป็นแผ่นโลหะขนาดใหญ่สีmetalic มีปุ่มปรับVolumeใหญ่ๆอยู่ตรงกลางอันเดียวที่สามารถหมุนปรับระดับความดังหรือกดเลื่อนเป็นเหมือนลูกศรเพื่อเลือกเมนูก็ได้ ด้านบนก็จะมีจอOLEDแสดงผลขนาดใหญ่ที่ข้อมูลบนจอก็สามารถตั้งได้ตามความต้องการ ด้านล่างก็จะมีแค่ปุ่มStandby กับช่องต่อหูฟัง ช่องUSB input และช่องAnalog Inputเพื่อเสียบสายสัญญาณStereo line levelได้

ด้านหลังเครื่องมีช่องต่อต่างๆมากมายแบ่งเป็นส่วนๆพูดหมดคงไม่ไหวขอเอาแต่ที่สำคัญได้แก่ 8ช่องHDMI INPUTS, 2 OUTPUT ที่ทั้งหมดเป็นHDMI 2.0/HDCP 2.2 สำหรับOutputนั้นรองรับ ARCและ CECทั้งสองช่อง, digital audio inputมีแบบoptical 4ช่อง coaxial 4ช่อง, digital audio outputเลือกได้ว่าจะเอาเป็นopticalหรือcoaxial, มีช่องdigital audio inputแบบ AES/EBUหนึ่งช่องสำหรับต่อสัญญาณเสียงแบบdigitalโดยตรงเข้าเครื่องได้, สำหรับAnalog Audio Inputs มีทั้งที่เป็นแบบBalance 3คู่ และ Unbalance1คู่, มีzone-2 preamp outputแบบRCA 1คู่, USB Type B digital audio inputที่รองรับsampling rates 384kHz/ word lengths 32bit, ช่องtriggerแบบ 12voltให้มาถึง 4ช่อง, IR output/inputแบบ 3.5mmอย่างละช่อง ที่เจ๋งอีกอย่างก็คือเครื่องสามารถรองรับระบบเสียงแบบDSDได้ด้วยโดยการdecoding Native DSDจะใช้กับช่องต่อแบบ HDMI และ แบบPCMจะผ่านช่องต่อแบบ USB input

สำหรับช่องต่อXLR outputด้านหลังจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นmain-channel 13ช่องสำหรับลำโพงfront left/right, center, left/right surround, left/right back surround, left/right front height, left/right rear height และคู่สุดท้ายเป็นleft/right front wide channels อีกกลุ่ม3ช่องจะเป็นXLRเขียนไว้ว่า R Sub/Height, Center Sub, L Sub/Height ที่สามารถตั้งให้สัญญาณความถี่ต่ำออกได้ทั้งสามช่องหรือตั้งให้ช่อง R Sub/Height, L Sub/Heightเป็นสัญญาณข้อมูลของลำโพงLeft/Right center heightในระบบDolby Atmosใช้ลำโพงceiling6ตัว แล้วให้สัญญาณความถี่ต่ำออกเฉพาะที่Center Subก็ได้ และถ้าตั้งให้ความถี่ต่ำออกทั้งสามช่องก็ยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะให้ออกเฉพาะLFEหรือให้สัญญาณความถี่ต่ำที่รวบรวมมาจากลำโพงอื่นต่ำกว่าcrossoverที่ตั้งไว้(Bass Management)ให้ออกช่องไหนบ้างก็ได้ เผื่อไว้สำหรับปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละSystemที่ต่างกัน นอกจากนี้Emotivaก็ยังมีการจัดการความถี่ต่ำที่เรียกว่าEnhanced Bassเอาไว้สำหรับใครที่ต้องการให้เสียงความถี่ต่ำในระบบเยอะมากขึ้นโดยถ้าตั้งไว้เป็นdisabled ความถี่ต่ำจากLFEและจากbass managementของลำโพงที่ตั้งเป็นsmallก็จะส่งไปยังsubwooferตามปกติ แต่ถ้าตั้งเป็นenabled ความถี่ต่ำจากลำโพงmainที่ตั้งเป็นlargeจะแชร์ส่งไปที่subwoofer ส่วนความถี่ที่ต่ำกว่า 80Hzของ LFEก็จะถูกแชร์ส่งไปยังลำโพงที่ถูกตั้งเป็นlargeทั้งหมดด้วย(ยกเว้นลำโพงCenter) อย่างไรก็ตามEnhanced Bassก็ไม่แนะนำให้ใช้ในการฟังเพลง แต่ก็คงต้องลองดูในแต่ละsystemด้วยเนื่องจากความแตกต่างของลำโพง ของอุปกรณ์ในชุดต่างๆไม่เหมือนกัน

Emotiva RMC-1 ณ.ขณะนี้จะรองรับระบบเสียง Dolby Atmosที่ 9.1.6 channel / DTS:X ที่ 7.1.4channel

ส่วนในอนาคตทางEmotiva ได้ทำExpansion Module ไว้สามช่องเพื่อเพิ่มในส่วนของHardwareที่อาจจะมีการUpgradeทั้งทางด้านภาพและด้านเสียงขึ้นมา ซึ่งทางEmotivaยังแจ้งไว้ว่าช่องเหล่านี้ยังสามารถขยายช่องสัญญาณลำโพงเพิ่มขึ้นไปได้อีกถึง 28แชนแนล

สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องของchipsetที่RMC-1เลือกใช้ของดีคุณภาพระดับaudiophile เพื่อให้เสียงที่ออกมาสมบูรณ์ที่สุดทั้งการดูหนังแบบmulti-channel และฟังเพลงstereo music โดยในส่วนของการแปลงสัญญาณdigitalเป็นanalogจะใช้ชิพAKM4490ที่ปกติชิพตัวนี้จะพบในเครื่องเล่นระดับHi-Endอยู่หลายตัว การถอดรหัสก็ใช้ชิปตัวเก่งของAnalog Devicesรุ่นADSP-SC573 SHARC DSP ส่วนชิพประมวลเสียงจะใช้ของTexas Instrumentsตัว AM1808 Sitara ARM9 ซึ่งชิพเหล่านี้ถูกยอมรับกันว่าให้เสียงที่สมบูรณ์แบบในระดับHi End เนื้อเสียงดี ให้เสียงที่มีรายละเอียด มีDynamicเสียงที่ดี

ได้เวลานำเครื่องมาวางที่ชั้นวางเพื่อทดสอบแล้ว สังเกตดูด้านหน้าเครื่องจะแบ่งจอออกเป็นสองส่วนคั่นตรงกลางด้วยปุ่มVolumeขนาดใหญ่ โดยฝั่งซ้ายจะบอกสถานะรายละเอียดsource, สัญญาณขาเข้า ขาออก, สัญญาณภาพ ส่วนด้านขวาจะบอกระดับVolume ด้วยการออกแบบที่ดีทำให้การsetค่าต่างๆสามารถทำโดยไม่ต้องต่อภาพออกจอหรือใช้remoteเลย เพียงแค่ใช้ปุ่มVolumeกับดูจากเมนูหน้าเครื่อง เพราะว่าปุ่มVolumeเป็นลักษณะแบบjoystickที่สามารถหมุนได้ กดเลือก และดันขึ้นลงซ้ายขวาเพื่อเลือกฟังก์ชันต่างๆในเมนูได้

อุปกรณ์บางส่วนที่ผมร่วมใช้ในการทดสอบในครั้งนี้ โดยสำหรับชุดลำโพงเป็นMeyer Sound ระบบ 7.1.4 ลำโพงหน้าเป็นAcheron Designer ลำโพงSurround HMS10 และSubwoofer X-400C จำนวน 4ตัว

เปิดเครื่องขึ้นมาก็ทำfactory resetและUp Firmwareก่อนเพื่อให้เครื่องมีความพร้อมในการทดสอบมากที่สุด สำหรับการUpdate Firmwareก็ไม่ยากใช้USB stickที่formatเป็นFAT32 ไปdownloadไฟล์ที่website เมื่อเสร็จนำUSB stickมาเสียบไว้ที่ช่องUSBด้านหน้าก็ได้ เลือกSetup-Advance-FW update แต่ถ้าเครื่องมองไม่เห็นUSBก็ให้ถอดและเสียบเข้าอีกที ทั้งหมดใช้เวลาประมาณสิบนาทีเศษๆก็เสร็จ

การใช้งานครั้งแรกอาจจะงงหน่อยเนื่องจากว่าเมนูจะมีแต่ตัวหนังสือไม่มีรูปภาพประกอบ สำหรับหน้าจอที่ตัวเครื่องก็จะขึ้นเหมือนกับหน้าจอภาพ แต่เมื่อใช้ไปซักพักผมก็เริ่มคุ้นเคยและรู้สึกสะดวกดีที่บางทีไม่จำเป็นต้องไปเปิดหน้าจอภาพแสดงเมนูเพื่อsetup สามารถsetupจากหน้าจอที่เครื่องได้เลย

สำหรับการตั้งค่าพื้นฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นSpeaker configuration,bass management, Level, Distance, EQ etc. ก็ใช้หลักการเหมือนกับเครื่องทั่วไปไม่ยุ่งยากอะไร

ที่เจ๋งอีกอย่างก็คือในส่วนของparametric EQที่สามารถปรับได้ละเอียดถึง 11bandต่อแชลแนล

เท่าที่ลองเล่นดู การปรับEQในแต่ละแชลแนลมีความแยกอิสระกันดี ไม่มีการกวนกันของการปรับในแต่ละแบนด์แต่ละแชลแนล ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ชิปประมวลผลที่แยกอิสระต่อกันในแต่ละแชลแนล จึงทำให้เสียงที่ออกมามีfocusชัด รายละเอียดเสียงแต่ละแชลแนลดี ส่งผลให้เสียงในส่วนของobject base มีความโดดเด่นมาก

เมื่อตั้งค่าต่างๆเรียบร้อยจึงเริ่มทำManual Calibration ตามแนวทางของTHX,HAA

จากการปรับแบบmanual ร่วมกับการใช้EQเพียงเล็กน้อย ก็ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก โดยเฉพาะความถี่ต่ำ

เสร็จจากการปรับmanual calibrationแล้ว ก็มาทำการปรับโดยใช้Automatic Room Correctionที่มาพร้อมกับเครื่องก็คือDirac Live ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นระบบการปรับเสียงในห้องแบบอัตโนมัติที่มีความทันสมัย และสะดวกมากที่สุดแบบหนึ่งของโลก โดยการปรับจะเป็นการปรับทั้งในส่วนของtime domainและ frequency domain สำหรับตัวDirac Liveที่ใส่อยู่ในเครื่อง RMC-1จะเป็นแบบfull versionสามารถปรับค่าตั้งแต่ความถี่ 20Hz-20,000Hzได้เลย

การเชื่อมต่อDirac Interface Kitที่ให้มาจะต่อได้หลายวิธีสามารถศึกษาได้จากwebsiteของทางemotivaเองซึ่งจะมีทั้งเป็นแบบเอกสารหรือวิดีโอบนYouTube โดยที่ผมใช้ต่อทดสอบก็จะเป็นการเชื่อต่อสายLANจากModemที่บ้านเข้าที่Ethernet Switch(กล่องสีขาว) จากEthernet Switchก็ต่อสายLANไปยังเครื่องRMC-1 และEmotiva Dirac Network Interface(กล่องสีเทา)

สำหรับไมค์โครโฟนก็ต่อตรงเข้าไปยังช่องUSBของnotebookที่เชื่อต่อnetworkในวงLANเดียวกัน

เปิดโปรแกรมDirac Liveในnotebook ถ้าเชื่อมต่อทุกอย่างถูกต้องเครื่องก็จะหาเจออุปกรณ์ต่างๆเองโดยอัตโนมัติ เสร็จแล้วก็ทำการdownload calibration fileของไมค์ที่ใช้ในการวัดเพื่อให้ผลออกมามีความเที่ยงตรงที่สุด

การทำDirac Liveคงไม่ได้พูดถึงมากเพราะเคยพูดมาบ้างในบทความก่อน ขั้นตอนต่างๆก็เหมือนปกติที่ผู้ใช้งานสามารถอ่านตามคำแนะนำที่ให้มาบนหน้าโปรแกรมในแต่ละขั้นได้

เมื่อทำDirac Liveเสร็จสิ้นข้อมูลก็จะถูกเก็บอยู่ในเครื่อง โดยสำหรับEmotiva RMC-1จะสามารถตั้งลำโพงไว้เป็นPresetได้ 2 Preset ซึ่งในแต่ละpresetสามารถเก็บค่าEqualizationไว้ได้ 4ค่า เป็นDirac 3ค่า และ User 1ค่า ก็สามารถเลือกใช้กันได้อย่างเต็มที่ หรืออย่างใครมีลำโพงหลายแบบต้องการเก็บค่าการSetupในรูปแบบเสียงที่ต่างกันก็ทำได้ เช่นเก็บแบบDolby Atmosไว้Presetหนึ่ง DTS-Xไว้อีกPresetหนึ่ง

และที่ผมชอบมากก็คือมีSurround ModeแบบDirect สามารถbypassค่าการsetupต่างๆไม่ว่าจะเป็นDirac Live, manual Parametric EQ presets etc.(ยกเว้นBass Management ที่ยังจะคงอยู่) โดยสัญญาณที่ถูกdecodeจะถูกส่งโดยตรงไปยังprocessorแบบไม่มีการแต่งแต้มใดๆ เสียงที่ออกมาจึงเป็นเสียงที่เที่ยงตรงที่สุด ซึ่งmodeนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับใครที่ใช้systemใหญ่ ใช้external DSP ต่างหาก และต้องการการปรับแต่งที่ตัวexternal DSPอย่างเดียว จะได้ไม่ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนกันของfilterที่อยู่ในเครื่องและอยู่ในDSP เท่าที่ผมทดสอบดูจากหลายcontentsและภาพยนตร์หลายๆเรื่อง เสียงแบบDirect modeจะมีน้ำหนักเสียง น้ำเสียง ความแม่นยำ dynamicของเสียง ที่น่าฟังกว่าการใช้การปรับด้วยDirac Liveแล้วมาใช้DSPซ้อนอีกทีหนึ่ง

เมื่อปรับทุกอย่างเรียบร้อยก็มาฟังเสียงจริงจากตัวEmotiva RMC-1ว่าเสียงออกมาเป็นยังไงกันบ้าง โดยสิ่งแรกที่ผมขอฟังเลยคือเสียงจากไฟล์ทดสอบAmazeของ Dolby Atmosที่คุ้นเคย เมื่อได้ฟังที่จับได้เลยก็คือรายละเอียดเสียงSurroundมีความชัดเจน Dynamicดี ระบุตำแหน่งได้แน่นอน อย่างเช่นเสียงนกในฉากที่บินรอบตัว เสียงObject BaseของImmersive Soundเด่นมาก จะจับได้ถึงตำแหน่ง รายละเอียด ความแน่นของการกระพือปีกของนกเป็นอย่างดี เมื่อถึงฉากเมฆฝนที่มีเสียงฟ้าร้องก็รับรู้ได้ถึงความถี่ต่ำที่ลงลึก แผ่กระจายให้feelingเหมือนมีเสียงฟ้าร้องจริงๆอยู่ในห้อง

ยังไม่พอใจขอลองเรื่องObject Baseอีกซักคลิปเพื่อความแน่ใจ เลยลองคลิปLeaf จากแผ่นทดสอบDolby Atmos เช่นเดียวกัน คราวนี้ชัดเลยครับ เสียงใบไม้ที่หลุดออกจากกิ่งไม้แล้ววิ่งวนรอบตัว มีความแจ่มชัดมาก ความต่อเนื่องของเสียงที่วิ่งผ่านลำโพงแต่ละตัวทำได้แนบเนียนไม่มีช่องโหว่ อย่างในบางช่วงแม้ไม่ได้เห็นตัวใบไม้แต่ก็รับรู้ถึงตำแหน่งที่วิ่งอยู่ด้านหลังแบบไร้รอยต่อ แล้วเสียงก็อ้อมออกมาทางด้านขวามาสู่จอทางด้านหน้าอย่างต่อเนื่อง

ทดสอบเสียงเบส ความหนักแน่น ความกระชับ ต้องเรื่องนี้เลย John Wick 3 เสียงปืนที่ออกมามีความหนัก มีความคม ชัด ตำแหน่งแม่น สมกับที่ทางEmotivaใช้ชิปตัวดัง ตัวเก่งแยกแต่ละแชนแนล เสียงจึงมีความisolateในแต่ละแชนแนล ไม่มีการกวนกัน และเมื่อมีการเคลื่อนตัวของเสียงเช่นคนยิงปืนแล้ววิ่งผ่านไป เสียงปืนก็ยังดังต่อเนื่องเคลื่อนไปตามตำแหน่งคนยิงไม่วูบหายไป

มาลองดูจากภาพยนตร์เรื่องAladdin(2019)กันบ้าง ฉากที่อยู่ในถ้ำเสียงของยักษ์Genie(Will Smith)จะมีความยิ่งใหญ่ร่วมกับมีเสียงก้องหน่อยๆก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในถ้ำจริง พอถึงฉากที่ระเบิดในถ้ำวัตถุที่แตกออกมากระจายก็มีเสียงวัตถุเป็นชิ้นที่ชัดเจนพุ่งกระจายออกไป ฉากที่เป็นเสียงร้องเพลงของNaomi ScottในเพลงSpeechless เสียงเครื่องดนตรีต่างๆมีความเด่นชัดให้รายละเอียดสมจริง น้ำเสียงของเสียงร้องมีน้ำหนักน่าฟัง และถ้าสังเกตดีๆเพลงนี้ตรงท่อนฮุคจะมีความถี่ต่ำแทรกอยู่ด้วยซึ่งEmotiva RMC-1ก็แสดงเสียงความถี่ต่ำลึกตรงนี้ออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ฟังเน้นที่เสียงร้องชัดๆจากLady Gagaในเพลง“Always Remember Us This Way” ที่ประกอบภาพยนตร์A Star Is Born เสียงจากเพลงเรื่องนี้ผมมักจะใช้ทดสอบน้ำเสียงของเสียงร้องนำอยู่เสมอซึ่งEmotiva RMC-1ทำออกมาได้ดีเยี่ยม ให้รายละเอียดเสียงออกมาได้หมดไม่ว่าจะเป็นจังหวะเอื้อนเสียงที่มีเสียงลมหายใจเข้าออก การผ่อนเสียงหนักเสียงเบา เสียงร้องที่โดดเด่นกว่าเสียงดนตรีที่เล่นคลอตาม นอกจากนั้นAmbient soundโดยรอบเช่นเสียงปรบมือ เสียงคนดูตะโกนก็แทรกเข้ามาเป็นระยะให้ความรู้สึกเหมือนเราอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตจริงๆด้วย

ต้องบอกว่าSurround sound processorsของEmotiva RMC-1รุ่นนี้เป็นpre-processor เด่นในเรื่องเสียงImmersive Sound มีการถอดรหัสที่ดีเยี่ยมจากชิปคุณภาพสูง เสียงมีความโอบล้อมให้บรรยากาศของเสียงสมจริง น้ำเสียงออกมาน่าฟังโดดเด่น ความถี่ต่ำทำได้หนักแน่นแบบมีรายละเอียดมีทิศทาง Dynamicสูง สามารถรองรับระบบเสียงทั้งDolby Atmos และ DTS-Xได้ถึง 16แชนแนล ทั้งยังมีExpansion SlotสามารถUpgradeอุปกรณ์Hardwareเพิ่มเติมทีหลังได้ ทำให้เครื่องทันสมัยอยู่เสมอ ร่วมกับให้ Dirac Live เครื่องมือAutomatic Room CorrectionระดับโลกแบบFull Versionมาด้วย มีการออกแบบมาให้เหมาะสมทั้งคนชอบดูหนังและคนรักเสียงเพลง กับราคาค่าตัว 220,000บาท สินค้าระดับMade in USA ถือว่าคุ้มค่าสุด ใครกำลังมองหาPre-processorราคาไม่แพงมากแต่ประสิทธิภาพสูงขอแนะนำEmotiva RMC-1ตัวนี้เลยครับ ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัท INVENTIVE AVที่ได้ส่งpre-processorคุณภาพสูงมาให้ทดสอบในครั้งนี้ด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Emotiva RMC-1 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้