Review

Search

BenQ V6000 4K Laser TV โปรเจคเตอร์

บริษัทBenQ ได้ออกผลิตภัณฑ์ Laser TV Projector ตัวใหม่ล่าสุด และได้ส่งมาให้ผมทดสอบ ใครที่ยังไม่คุ้นว่าเลเซอร์ทีวีคืออะไร เป็นเหมือนทีวีทั่วไปไหม เหมาะกับการดูภาพแบบไหนห้องต้องเป็นยังไง ตามเข้าไปอ่านได้เลยครับ

อย่างแรกที่ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนคือเรื่องของlaser TVที่ทุกคนคิดว่าเป็นเหมือนทีวีจอแก้วทั่วไป ความจริงแล้วเลเซอร์ทีวีก็คือเลเซอร์โปรเจคเตอร์แบบUltra Short Throwที่ฉายไปยังจอพิเศษแบบตัดแสงสะท้อนจากรอบข้างออกนี่แหละ หรือพูดง่ายๆก็เป็นโปรเจคเตอร์แบบหนึ่งที่สามารถวางเครื่องไว้ใกล้ผนังได้และมีแหล่งกำเนิดแสงเป็นเลเซอร์

แล้วทำไปต้องเป็นเลเซอร์ ทำไมไม่ใช้หลอดไส้เหมือนโปรเจคเตอร์ทั่วไป ก็เนื่องจากว่าแสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีCoherentสูง มีความเป็นระเบียบphaseตรงกัน มีความถี่และทิศทางแน่นอน ไม่เหมือนกับแสงจากหลอดทั่วไปที่กระจัดกระจายเป็นแสงแบบIncoherent ดังนั้นจึงทำให้ลำแสงเลเซอร์มีความเข้มของแสงที่สูงแสงของสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบหรือกวนได้น้อยกว่า ปัจจุบันจึงมีการนำมาใช้เป็นแหล่งกำเนิดในโปรเจคเตอร์มากขึ้นเนื่องจากข้อดีข้างต้น ซึ่งสำหรับโปรเจคเตอร์BenQ V6000ตัวนี้ก็ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ ที่สามารถทำความสว่างถึง 3000ANSI Lumen และแน่นอนหลอดเลเซอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 20,000ชั่วโมง

เนื่องจากเป็นเครื่องแบบUltra Short Throwโปรเจคเตอร์ จึงสามารถฉายภาพได้ขนาดใหญ่ถึงแม้ตัวเครื่องจะอยู่ใกล้กับผนังด้านหน้า

ได้รับเครื่องมาก็แกะกล่องดู อุปกรณ์ภายในก็เหมือนกันโปรเจคเตอร์ทั่วไป มีรีโมทที่เป็นDesignเดียวกันกับโปรเจคเตอร์BenQรุ่นใหญ่ นอกนั้นก็มีสายไฟ คู่มือ ถ่านรีโมทตามปกติ

ยกตัวเครื่องออกมาเพื่อถ่ายภาพทำให้รับรู้ถึงความหนักของเครื่องได้เลย จากสเปกตัวเครื่องจะมีน้ำหนัก 10กิโลกรัม ขนาดตัวเครื่อง กว้างxยาวxสูงอยู่ที่ 500x388x157 มม ด้านบนจะมีฝาปิดเลนส์ที่เวลาเปิดเครื่อง ฝานี้ก็จะเลื่อนออกอัตโนมัติเพื่อให้ฉายแสงผ่านเลนส์ที่อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง จะว่าไปรูปร่างหน้าตาถือได้ว่าออกแบบได้สวยงามมีดีไซน์ วางไว้ในห้องดูเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ดูดี สมแล้วที่เครื่องได้รับรางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์จาก ไอเอฟดีไซน์อวอร์ด(iF Product Design Award)

ลำโพงจะฝังอยู่ด้านหน้าเครื่องสองตัวขนาด 10วัตต์ เป็นลำโพงTreVoloแบรนด์ลำโพงระดับมืออาชีพจากBenQ

ภาพด้านหน้าของเครื่องโปรเจคเตอร์มีลำโพงฝังอยู่ด้านในยิงเสียงเข้ามาหาตัวผู้ชมที่อยู่ด้านหน้าของเครื่องพอดี เรียกได้ว่าทำหน้าที่เป็นSoundbarได้เลย

ด้านข้างจะมีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่จากความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าระบบระบายความร้อนในเครื่องทำได้ดีทีเดียว เสียงของพัดลมในเครื่องไม่ได้มีเสียงดังจนรบกวนการดูหนังมากเกินไปเพราะบางทีผมก็เคยเห็นโปรเจคเตอร์ตัวเล็กแต่ฉายภาพที่สว่างมากๆมีเสียงพัดลมในเครื่องดังมาก เรียกได้ว่าวางไว้ในห้องดูหนังไม่ได้เลย แต่โปรเจคเตอร์ตัวนี้เมื่อวางไว้เกือบชิดผนังด้านหน้าเสียงพัดลมที่ออกมาถือว่ายอมรับได้ ส่วนด้านข้างก็จะมีพอร์ต USB Type-A 2ช่องเพื่อเชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลไฟล์วิดีโอ เสียง ภาพจากภายนอก อีกช่องหนึ่งสามารถต่อกับดองเกิลควบคุม(ซื้อเพิ่มเติม) และเมื่อโปรเจคเตอร์เชื่อต่อกับAndroid Stickนี้โปรเจคเตอร์ก็กลายเป็นAndroid TV เปิดดูรายการต่างๆเหมือนSmart TVได้เลย แต่ตรงนี้เคยเขียนวิธีการใช้งานอย่างละเอียดไว้ในบทความทดสอบBenQ W2700i และ BenQ TK700STi ใครสนใจเรื่องของSmart Projectorก็ย้อนไปอ่านได้ครับ

ด้านหลังจะมีแจ็คเสียบปลักไฟ, พอร์ตอินพุท HDMI 2.0a สองช่อง, พอร์ต USB Type-Aหนึ่งช่อง, พอร์ตควบคุม RS-232 และพอร์ตสัญญาณเสียงออกOptical Toslink SPDIF เพื่อส่งสัญญาณเสียงSurroundออกไปสู่เครื่องเสียงภายนอกอีกหนึ่งช่อง

ที่ชอบของโปรเจคเตอร์นี้ก็คือมีเครื่องมือวัดขนาดหน้าจอในตัว ทำให้สามารถวัดความห่างจากผนังของเครื่องเพื่อให้ตั้งค่าขนาดหน้าจอที่ต้องการโดยดูจากตัวเลขบนไม้บรรทัดวัดได้ ทำให้สะดวกในการติดตั้งและบางทีตัวโปรเจคเตอร์เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมก็สามารถใช้เครื่องวัดนี้เช็คได้ว่าตำแหน่งเครื่องยังอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเช่นเดิมหรือไม่

เมื่อหาตำแหน่งที่จัดวาง วัดความห่างจากผนังเรียบร้อยก็เริ่มทำการทดสอบได้ โดยจอที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ไม่ได้ใช้จอเฉพาะที่เป็นจอตัดแสงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมของBenQ แต่ใช้จอที่ผมใช้อยู่ในห้องได้แก่จอStewart FireHawk G5ที่สามารถตัดแสงรบกวนจากรอบข้างได้ดีเช่นเดียวกันแทน

เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาก็จะขึ้นหน้าจอการติดตั้งอัตโนมัติ สามารถทำการติดตั้งตามคำแนะนำหน้าจอได้เลยไม่ยุ่งยากอะไร

สำหรับเรื่องของKeystoneหรือสี่เหลี่ยมคางหมูที่เกิดจากมุมการฉาย และมักจะเป็นปัญหาของเครื่องโปรเจคเตอร์ที่อยู่ใกล้จอ เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเนื่องจากจะมีฟังก์ชั่นปรับภาพเพี้ยนอัตโนมัติในเมนูการติดตั้งมาให้แล้ว เพียงแต่พยามขยับโปรเจคเตอร์ให้อยู่กลางจอและให้อยู่ห่างจอเท่ากันทั้งด้านซ้ายและด้านขวาโดยอาจจะใช้แท่งเครื่องมือวัดขนาดหน้าจอวัดให้ขอบโปรเจคเตอร์ห่างจอเท่ากันทั้งสองข้างก็จะง่ายขึ้น แค่นี้เครื่องโปรเจคเตอร์ก็จะจัดการแก้ไขเรื่องของKeystoneให้โดยอัตโนมัติ

เมื่อดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยเปิดดูภาพ First Impressionสำหรับโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือเรื่องของความสว่างและความสดใจของสีสัน ขนาดว่าในห้องทดสอบผมลองเปิดไปดาวน์ไลท์ที่อยู่บนจอภาพสาดลงไปบนหน้าจอและตัวเครื่องโปรเจคเตอร์ ภาพออกมาก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรียกได้ว่าถ้าในห้องhome theaterที่คุมแสงได้โดยทั่วไป เปิดไฟดูหนังดูคอนเสิร์ตได้สบาย

เมื่อทำการทดลองเครื่องไปซักระยะหนึ่งก็ได้ทำการCalibrationเพื่อจะดูเนื้อสีแท้ๆของเครื่องว่าให้การถ่ายทอดภาพและสีเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบได้แก่ Murideo Six-G เป็นpattern generator เครื่องวัดภาพcolorimeterเป็นKlein K10-A ส่วนspectroradiometerจะเป็นJeti Spectraval1511 การใช้งานผ่านโปรแกรม Calman Video Pro

จากการวัดค่าพบว่าPicture Modeที่ให้สีใกล้เคียงกับมาตรฐานที่สุดได้แก่Cinema(Rec.709) และให้ความสว่างของภาพอยู่ที่ประมาณ14fL(foot-Lambert) ในขณะที่Living Room Modeถึงแม้ค่าเริ่มต้นไม่ได้ใกล้เคียงเท่ากับCinema Mode แต่กลับให้ความสว่างของภาพถึง 18fL ผมจึงเลือกปรับในLiving Roomเพื่อต้องการให้มีความสว่างของภาพมากไว้ก่อน แต่สำหรับModeภาพBrightนั้นถึงแม้ให้ความสว่างมากถึง 23.5fLแต่ค่าสีต่างๆนั้นห่างไกลจากมาตรฐานค่อนข้างมากคิดว่าการปรับค่าให้ใกล้เคียงมาตรฐานนั้นมีโอกาสที่ภาพจะเกิดความเพี้ยนสูง

โดยสำหรับLiving Room Modeในสิ่งแวดล้อมในห้องทดสอบของผมจากกราฟจะเห็นได้ว่าภาพติดฟ้าทั้งในส่วนมืดจนไปถึงส่วนสว่าง เลยต้องมีการลดระดับสีน้ำเงินลงและเพิ่มสีแดงขึ้นไปนิดหน่อย โดยปรับRed Gain/Green Gain/Blue Gainไปที่ 102/99/88 ส่วนRed Offset/Green Offset/Blue Offsetอยู่ที่ 256/256/254 สำหรับGammaตั้งไว้ที่ 2.2 , Color Management ของHue/Saturation/Gain สีแดง 189/199/257 ,สีเขียว 238/207/307, สีน้ำเงิน 134/188/204, สีฟ้าอมเขียว(Cyan) 77/218/316, สีม่วง 323/161/236, สีเหลือง 158/192/210 ในส่วนของCinemaMaster ค่าColor Enhancer=0 Flesh Tone=0 Pixel Enhancer 4K=5 ส่วนค่าอื่นๆตั้งไว้ที่ค่าเริ่มต้น หลังจากปรับค่าต่างๆดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากราฟดีขึ้นมาก

วัดค่าความกว้างของเฉดสีพบว่า P3ครอบคลุมที่ 95.09เปอร์เซ็นต์ , Rec 2020 76.22เปอร์เซ็นต์

สำหรับสิ่งที่สำคัญอีกอย่างของแหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ก็คือเรื่องของSpectral Power Distribution(SPD) ที่แสงบางสีเข้มและแคบกว่าสีอื่นไม่เหมือนกับภาพจากหลอดไฟแบบไส้ ซึ่งถ้าใช้เครื่องมือวัดสีหรือmeterที่ไม่ละเอียดพอก็จะทำให้ไม่สามารถจับSpectrumที่แคบของเลเซอร์ได้ ทำให้ค่าสีออกมาเพี้ยน เมื่อปรับภาพเสร็จสีที่ออกมาก็จะไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นทั้งๆที่ค่าจากกราฟออกมาดี ดังนั้นmeterที่จะใช้สำหรับวัดแหล่งกำเนิดแบบเลเซอร์ต้องมีความละเอียดเพียงพอและต้องมีการทำmeter profileระหว่างcolorimeter และ spectroradiometerด้วย โดยเนื้อหาเรื่องนี้ผมเคยอธิบายไว้ละเอียดในบทความเก่าๆใครสนใจก็สามารถหาอ่านได้ที่ www.moraekhometheater.com

ปรับภาพเสร็จมาดูภาพจริงๆก็พบว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ให้ความสว่างและคอนทราสต์ของภาพที่ดีโดยเฉพาะในภาพแบบSDR ความดำของภาพถึงแม้จะไม่ถึงกับดำแบบสุดๆแต่ก็ยังให้ความดำที่รับได้ สำหรับรายละเอียดในส่วนมืดถือว่าทำได้ดี สีสันต่างๆก็ให้ความสดใสถึงแม้มีแสงรบกวนจากรอบข้างอยู่บ้างซึ่งต้องยกความดีให้กับการควบคุมแสงเลเซอร์ที่ตัวเครื่องทำออกมาได้ดี ข้อดีอีกอย่างของการใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ก็คือการเปิดปิดเครื่องทำได้อย่างรวดเร็วกว่าโปรเจคเตอร์ทั่วไป อย่างกับตอนปิดเครื่องใช้เวลาแค่ประมาณสิบวินาทีก็เรียบร้อยไม่ต้องรอเป็นนาทีเหมือนโปรเจคเตอร์ที่ใช้หลอดไส้ทั่วไป

คราวนี้ลองยกเอาเครื่องโปรเจคเตอร์มาฉายในห้องที่มีแสงธรรมชาติจากหน้าต่างส่องอยู่ดูบ้างว่าความสว่างของเลเซอร์โปรเจคเตอร์ตัวนี้จะไหวไหม โดยทดสอบฉายลงบนผนังห้องดื้อๆเลย ไม่ได้ใช้จอภาพพิเศษอะไร ผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจถึงแม้ไม่ได้ใช้จอตัดแสงจากรอบข้าง ภาพยังมีความสว่าง ยังคงcontrastของภาพได้ดีอยู่ แต่ถ้าเจอแสงแดดตรงๆลงบนภาพพบว่าก็ยังมีการwash outของภาพ เรียกได้ว่าสามารถใช้ในสถานการณ์ห้องทั่วๆไปได้ถ้ามีการคุมพวกแสงdirect lightต่างๆซักหน่อย

โดยสรุปแล้วเลเซอร์ทีวีBenQ V6000ถือได้ว่าเป็นเลเซอร์โปรเจคเตอร์ที่มีจุดเด่นในเรื่องของดีไซน์รูปร่างสวยงาม ดูทันสมัย มีการติดตั้งสะดวกง่ายดาย ให้ภาพที่สว่าง มีคอนคราสต์และรายละเอียดของภาพที่ดี และแน่นอนที่สุดเนื่องจากใช้แหล่งกำเนิดแสงจากเลเซอร์ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องยาวนานกว่า 20,000ชั่วโมงทั้งยังทำให้การเปิดปิดเครื่องก็สะดวกรวดเร็ว สำหรับใครที่มีเนื้อที่ในบ้านจำกัดแต่ต้องการภาพที่มีขนาดใหญ่และสู้แสงได้ในระดับหนึ่งผมว่าเลเซอร์ทีวีก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้คุณภาพของภาพที่ดีในราคาที่เหมาะสม ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัทBenQประเทศไทยที่ได้ส่งโปรเจคเตอร์ตัวนี้มาให้ทดสอบด้วยครับ ส่วนใครที่สนใจเข้าไปเช็คสเปกกันได้ที่ https://benqurl.biz/3vsf2Bv

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ BenQ V6000 4K Laser TV โปรเจคเตอร์ (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้