Review

madVR

madVRเป็นExternal Video Processorที่ใช้ในการปรับแต่งภาพ มีจุดเด่นในเรื่องของการทำDynamic Tone Mapping และ LUT3D ให้กับจอภาพทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจอที่มีความสว่างไม่มากพอสำหรับการแสดงภาพHDR มาดูกันว่าเครื่องmadVRตัวนี้จะมีประสิทธิภาพสมกับเป็นvideo processor ที่กำลังมาแรงสุดในตอนนี้หรือเปล่า ใครสนใจติดตามอ่านต่อไปได้เลยครับ

ผมเคยได้ลองmadVRตั้งแต่ยังไม่ได้ออกขายอย่างเป็นทางการ เป็นตัวทดสอบที่ทางบริษัทส่งมาให้ลองก่อนที่จะเปิดขายจริงเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งเท่าที่ลองตอนนั้นก็รู้สึกตื่นเต้นในระดับหนึ่งเมื่อเห็นประสิทธิภาพขั้นต้นของเครื่องแต่การลองในครั้งนั้นยังไม่ได้ลองแบบละเอียดลงลึกมาก จนมาถึงเมื่อหลายอาทิตย์ก่อนทางบริษัทDECO2000 ได้ส่งmadVRตัวจริงที่ใช้ในการจัดจำหน่ายส่งมาให้ผมได้ทดลองใช้แบบเต็มที่เพื่อดูประสิทธิภาพขีดสุดของเครื่องว่าเครื่องvideo processorตัวเก่งที่กำลังมาแรงในตลาดทั่วโลกตัวนี้จะเยี่ยมขนาดไหน สำหรับmadVRที่ส่งมานั้นเป็นmodelที่เรียกว่าEnvy มีอยู่2รุ่นคือ madVR Envy Pro สนนราคาอยู่ที่ 300,000บาท ส่วนรุ่นใหญ่ตัวtopคือรุ่น Extremeราคาจะอยู่ที่ 500,000บาท สำหรับทั้งสองรุ่นสิ่งที่ต่างกันในเรื่องของประสิทธิภาพเครื่องที่เร็วขึ้นสามารถคำนวณข้อมูลมากๆได้ดีกว่า เช่นสามารถUpscalingภาพได้ถึงระดับ 8K60 และรองรับการทำDynamic Tone Mapping(DTM)ได้ถึง4K60HDRอย่างไม่มีปัญหา ในขณะที่ตัวProก็สามารถทำDTM 4K60HDRได้เช่นกันแต่ความรวดเร็วความsmoothอาจจะไม่เท่าตัวExtreme นอกจากนั้นก็ในเรื่องfunctionการใช้งาน Featureต่างๆที่ตัวExtremeจะจัดมาเต็มที่กว่า ซึ่งในรายละเอียดทั้งหมดในเรื่องของHardware คุณสมบัติต่างๆของทั้งสองรุ่น ลองดูในตารางเปรียบเทียบได้

รูปร่างภายนอกก็ต้องว่ามันก็คือcaseคอมพิวเตอร์ดีๆนี่เอง ไม่มีการตกแต่งอะไรมากนัก ด้านหน้าเป็นแผ่นโลหะด้านสีดำ ส่วนด้านข้างและด้านบนจะเน้นไปที่ช่องพัดลมระบายอากาศที่มีอยู่หลายช่อง แสดงถึงในขณะทำงานคงต้องมีการประมวลผลมากทำให้เกิดความร้อนขึ้นจึงต้องทำไว้หลายช่อง เท่าที่ฟังดูเสียงพัดลมถือว่าเบาไม่รบกวนการดูหนัง สงสัยคงรู้ว่าต้องเอาไว้ในห้องhome theaterที่ต้องการความเงียบ เลยเลือกใช้อุปกรณ์และออกแบบให้ระบบระบายอากาศมีความเงียบกว่าคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป

เนื่องจากเป็นเครื่องแบบcomputer base ช่องต่อด้านหลังเครื่องดูก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ดีๆนี่เอง ไม่มีอะไรพิเศษ และถ้ามองเข้าไปผ่านช่องระบายอากาศก็จะเห็นการ์ดจอที่ใช้เป็นNVIDIA GeForce

ในการทดสอบจะทดสอบร่วมกับเครื่องโปรเจคเตอร์ตัวเดิมของผมJVC DLA-X9900BE, BenQ W11000H ที่แต่ละตัวอายุหลอดระดับพันกว่าชั่วโมง และฉายขึ้นจอใหญ่ขนาด 150นิ้ว อัตราส่วน 2.35:1 ของ Stewart FireHawk G5 โดยวัดค่าความสว่างตอนนี้จะได้อยู่ระหว่าง 35-50nits ขึ้นกับอัตราส่วนภาพและโปรเจคเตอร์ คือตอนนี้เท่าที่ดูภาพแบบSDRก็ถือว่าพอดูได้ แต่ถ้าจะดูภาพในระบบ4K HDR wide color gamutนั้นก็นับว่าความสว่างยังห่างกับคำแนะนำของอาจารย์สอนปรับภาพอย่างGregg Loewenที่ว่าถ้าต้องการดูภาพโปรเจคเตอร์แบบ HDR ให้ได้ความสวยงามนั้นความสว่างของภาพต้องเป็นสามเท่าของความสว่างSDRหรือที่ประมาณ130-150nits

พูดถึงFeatureหลักๆของmadVR เผื่อใครยังไม่ทราบว่ามันคือเครื่องอะไร ใช้ทำงานอะไร

  • ใช้ทำDynamic Tone Mapping ของภาพในระดับ 4K HDR เนื่องจากว่าภาพแบบHDRที่มีอยู่ตอนนี้นั้นไม่ได้ออกแบบมาสำหรับจอโปรเจคเตอร์ แต่เหมาะสมกับพวกflat panelมากกว่า ข้อมูลความสว่างที่ใส่เข้ามาในภาพHDRมีระดับความสว่างมากถึง 10,000nits ในขณะที่โปรเจคเตอร์มีความสว่างอยู่แค่ 50-100nit ดังนั้นการใช้Tone Mappingที่เป็นแบบDynamicจึงมีความสำคัญกับความสว่างของภาพเพราะในหนังแต่ละเรื่องมีความสว่างความมืดที่แตกต่างกัน การใส่ข้อมูลในแผ่นHDRก็แตกต่างกัน หรือบางทีใส่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อย่างเช่นหนังบางเรื่องความสว่างสูงสุดที่อยู่ในเนื้อหาจริงๆแค่ 250nits แต่พี่เล่นใส่ข้อมูลในMetadataว่า peak brightnessอยู่ที่ 4000 หรือ 10000 nitsแบบนี้Static Tone Mappingที่อยู่ในเครื่องอาจจะทำภาพออกมาดูมืดเกินจริงเนื่องจากต้องไปชดเชยcontrastในส่วนสูงๆที่ไม่จำเป็น ดังนั้นการใช้Dynamic Tone Mapping แบบที่อยู่ในข้อมูลHDRแบบ Dolby Vision หรือ HDR10+ จึงจะให้ภาพมีความสว่างที่เหมาะสมกว่า
  • ใช้ในการUpscaling 4K และปรับความคมชัด
  • ลดความผิดปกติของภาพ เช่นพวกbanding , noise etc.
  • ทำให้ภาพเคลื่อนไหวsmoothขึ้น และถ้ามีขอบดำเนื่องจากอัตราส่วนภาพก็จะมีระบบจัดการให้เหมาะสมเองโดยอัตโนมัติ
  • สามารถทำ 3D LUT เพื่อปรับโทนสีของภาพให้มีค่าใกล้เคียงมาตรฐานแบบสูงสุดได้

ภาพแบบHDRที่ใส่ความสว่างสูงสุดมาถึง 10000nits เมื่อนำมาใช้กับโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างสูงสุดอยู่แค่ในระดับ 100nits ทำให้ EOTF ST2084(PQ) ที่ใช้อาจจะไม่เหมาะ madVRจึงได้ใช้หลักการเปลี่ยนHDRให้กลายเป็นSDR(นักปรับภาพมักเรียกว่าSDR in HDR container)โดยจะมีการตัดข้อมูลความสว่างของภาพออกไปเหลือแต่ข้อมูลcolor space, ความละเอียดที่ยังคงไว้เหมือนเดิม แล้วสร้างเป็น Dynamic Tone Mapping ใหม่ขึ้นมาเองจากข้อมูลความสว่างสูงสุดและต่ำสุดของโปรเจคเตอร์ตัวนั้นๆเป็นหลัก แล้วใช้การคำนวณให้แต่ละpixelแปดล้านกว่าpixelในหนึ่งเฟรม, 30-60เฟรมต่อวินาทีมีความสว่าง มีสีสันให้สอดคล้องกับความสว่างของโปรเจคเตอร์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องคำนวณข้อมูลที่มหาศาลขนาดนี้เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างที่สุดในหนึ่งฉาก

เมื่อติดตั้งเสร็จก็ทำการcalibrateภาพแบบ 3D LUT โดยใช้โปรแกรม CalMAN ตัวที่เป็นProfessional Calibrate Software ซึ่งโปรแกรมCalmanจะทำได้ง่ายเนื่องจากมีคู่มือการทำแบบละเอียดทุกขั้นตอนพร้อมภาพประกอบช่วยในการใช้งาน แต่ถ้าใครถนัดโปรแกรมอื่นๆในการทำ3D LUTก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน โดยผมก็ได้ลองใช้โปรแกรมColourSpaceด้วยเช่นกัน การใช้โปรแกรมColourSpaceในการทำ3D LUTจะทำยากกว่า แต่มีข้อดีคือสามารถทำได้ละเอียด แก้ไขข้อบกพร่องของข้อมูลprofileที่เก็บมาจากจอภาพได้ละเอียดในแต่ละตำแหน่งจาก 21x21x21 จุดได้เลย

หลังจากทำ3D LUTและมาVerify แน่นอนว่าค่าความสว่างค่าสีต่างๆหลังทำ3D LUTก็จะให้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำ อย่างSaturation Sweeps ก็ได้ค่าDelta Eหรือค่าความผิดปกติเฉลี่ยอยู่แค่ 0.5% ส่วนค่าความผิดปกติมากที่สุดแค่ 1.1% ซึ่งค่าน้อยขนาดนี้สายตาของมนุษย์ไม่สามารถแยกออกได้แล้ว นับว่าการทำ 3D LUTด้วย madVRก็สามารถทำได้ดีไม่มีปัญหาอะไร

            แผ่นที่ผมใช้ทดสอบภาพในครั้งนี้ก็เป็นแผ่นประจำที่ใช้ในการทดสอบภาพได้แก่ HDR-10 UltraHD Video Calibration Discจาก Diversified Video Solution ใช้ในการทดสอบค่าพื้นฐานBlack level, White level, Grayscale ramp, ไฟล์Demoต่างๆ อีกแผ่นที่ใช้ทดสอบค่าพื้นฐานก็คือแผ่นUHD HDR BenchmarkจากSpears and Munsil โดยเฉพาะในส่วนDemo Materialที่มีประโยชน์ในการทดสอบภาพHDRมาก ส่วนภาพยนตร์ก็จะเป็นหนังที่ภาพHDRสวยๆเช่น Lucy, The Greatest Showmanและเรื่อง Gemini Man โดยWill Smithที่ระบบภาพเป็นแบบ 4K UHD HDR 60frame per second

แผ่น UHD HDR Benchmarkของ Spears & Munsilที่สามารถกำหนดได้เลยว่าอยากให้ภาพทดสอบมีค่าความสว่างแบบHDRสูงสุดอยู่ที่เท่าไร อย่างอันนี้ผมกำหนดไว้ให้ค่าความสว่างสูงสุดของภาพอยู่ที่ 4000nits

และเมื่อลองให้เครื่องโปรเจคเตอร์แสดงแท่งสีขาวที่มีความสว่างไล่ระดับกันจนไปถึง 10000nits ก็จะพบว่าเมื่อไม่ได้ใช้ Tone mapping จะทำให้เราไม่เห็นแท่งสีขาวเหล่านี้เนื่องจากความสว่างเลยจุดที่เครื่องจะสามารถแสดงรายละเอียดตรงนี้ได้แล้ว

ไม่น่าเชื่อเมื่อเราเปิดTone Mappingให้เครื่องmadVRทำงาน ปรากฏว่าทำให้สามารถแสดงรายละเอียดของแท่งสีขาวต่างๆจนถึงระดับความสว่างที่ 10000nitsได้เลย ซึ่งโดยปกติทั่วไปที่เคยทดสอบโปรเจคเตอร์มาผมจะพบว่าส่วนมากเกิน 1000nits ภาพก็จะขาวไปหมดไม่สามารถแยกแท่งเหล่านี้ได้แล้ว

การสามารถเห็นรายละเอียดในความสว่างสูงของภาพ ก็จะทำให้เปิดเผยข้อมูลของภาพที่ถูกใส่เข้ามาในความสว่างได้ อย่างเช่นฉากม้าที่อยู่ท่ามกลางหิมะรูปนี้ ถ้าไม่มีการใช้tone mapping หรือมีการใช้tone mappingที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้ฉากหลังตัวม้าเป็นสีขาวโพลนไปหมด

แต่เมื่อให้madVRใส่Tone mappingเข้าไปในภาพ มาเลยครับฉากหลังขาวโพลนที่เราคิดว่าไม่มีอะไร ความจริงแล้วในฉากหลังจะเป็นภูเขาและต้นไม้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หลายคนบอกเลยว่าความมืดความสว่างของภาพแบบHDRจะมีความสำคัญต่อภาพมากกว่าความเพี้ยนของสีบนcolor space

อย่างภาพนี้เช่นกันผมกำหนดค่าความสว่างสูงสุดของภาพอยู่ที่ 10000nits ภาพรายละเอียดทั้งสีขาวและสีอื่นๆที่สว่างมากก็จะหายไป

และเมื่อใส่tone mappingเข้าไป ทั้งรายละเอียดของภาพ สีสันของภาพ มีความสวยงามขึ้นเป็นอย่างมาก

            การปรับแบบSDR in HDR containerไม่ได้ทำให้ความดำของภาพลดลง เนื่องจากว่าไม่ว่าจะเป็นภาพแบบSDRหรือHDR ความดำสุด หรือความมืดสูงสุดของจอนั้นๆก็จะเท่าเดิม ซึ่งmadVRทำความดำ contrastของภาพได้อย่างยอดเยี่ยม รายละเอียดในส่วนมืดและสว่างในฉากที่contrastสูงๆให้ภาพดูเหมือนจริงมาก การไล่ระดับสีก็ทำได้อย่างsmoothไม่พบbandingของสี โทนสีที่อยู่ในความสว่างสูงก็จะเป็นโทนสีที่ถูกต้องไม่ได้กลายเป็นสีขาวโพลน สำหรับความละเอียดของภาพทำได้ดี เห็นผลแตกต่างกันชัดเจนระหว่างต่อผ่านเครื่องmadVR และไม่ผ่านเครื่องmadVR การเปิดปิดtone mappingก็ทำให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนในส่วนของรายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่าง อย่างเช่นภาพของกิ้งก่าในDemo Materialแผ่นUHD HDR Benchmark ที่บริเวณขาหลังถ้าปิดtone mappingก็ไม่เห็นมีอะไร แต่เมื่อเปิดtone mappingจะเห็นว่าความจริงแล้วมีหมอกจางๆคลุมอยู่บริเวณนั้น

ปิดTone Mapping รายละเอียดในส่วนมืดจะหายไป

แต่เมื่อเปิดTone Mapping รายละเอียดในส่วนมืดของภาพมาเต็ม ทำให้ภาพสวยงามมากยิ่งขึ้น

            หรืออย่างฉากมืดในหนังเรื่องGemini Manที่ปกติแทบจะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่หลังจากใช้Dynamic Tone mappingทำให้ดูหนังได้ง่ายและสะอาดตามากขึ้น ทำให้มีประโยชน์มากในหนังที่มีทั้งฉากมืด ฉากสว่าง สลับไปมากอยู่เรื่อยๆ

            การทำ 3D LUTทำให้โทนสีของภาพถูกต้องมากขึ้น อย่างในระบบของห้องผมที่โดยพื้นฐานภาพจะติดแดงนิดหน่อยถ้าไม่ได้มีการปรับ แต่หลังทำ 3D LUTก็ทำให้สีถูกต้องมากขึ้นไม่ติดโทนสีแดง ยกอย่างเช่น Miss Jenny Lind ในภาพยนตร์เรื่องThe Greatest Showman ที่ถ้ายังไม่ได้ปรับหน้าตาก็จะแดงเหมือนโกรธใครมา แต่เมื่อเปิดFunction 3D LUT ก็ทำให้สีเนื้อมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งถ้าปิดFunction Tone Mapping ภาพกลับมืดลงถนัดตาทำให้ภาพดูไม่มีพลัง ไม่สวย

หลังจากการทดสอบเครื่องmadVRเป็นเวลาร่วมเดือนทำให้สรุปได้ว่าเครื่องVideo Processorตัวนี้ มีการใช้งานได้ง่าย เรียกได้ว่าแค่เสียบสายHDMIเข้าและออกก็สามารถทำให้ภาพดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าต้องการให้ภาพมีความสวยงามถูกต้องเหมาะสมขึ้นไปอีก การทำ3D LUTโดยช่างปรับภาพมืออาชีพก็จะทำให้ภาพมีความสวยงามขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จุดเด่นของเครื่องก็คือในเรื่องการทำDynamic Tone Mappingที่ทำให้ภาพ HDRมีความสว่างสดใส แม้กระทั่งบนโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างไม่สูงมากนักก็ยังสามารถดูภาพ4K HDRได้สวยงาม แต่ข้อจำกัดของเครื่องก็มีอยู่บ้างเช่นช่องต่อHDMI IN ที่มีเพียงช่องเดียวและเนื่องจากต้องมีการประมวลข้อมูลของภาพจำนวนมากทำให้มีDelayของเสียง ต้องมีการใส่ค่าlip syncเข้าไปที่เครื่องAVR/Pre-processor อย่างในระบบของผมเมื่อใช้แผ่นUHD HDR Benchmarkของ Spears & Munsilตรวจสอบlip syncพบว่ามีdelayอยู่ที่ 220msec. โดยเมื่อใส่ค่านี้ลงไปใน AVR/Pre-processor ก็ทำให้เสียงกับภาพมาตรงกันพอดี อย่างไรก็ตามหลายคนก็คงมีคำถามในใจว่า กับราคาค่าตัวที่แพงเทียบเท่าหรือแพงกว่าโปรเจคเตอร์ระดับกลางๆเครื่องหนึ่งเลยจะคุ้มหรือไม่กับการซื้อหามาใช้งาน สำหรับผมคิดว่าถ้าเป็นนักเล่นhome theaterที่เน้นเรื่องภาพ ต้องการภาพออกมามีความสว่างสวยงาม หรือผู้ที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์อยากได้สัมผัสรายละเอียดต่างๆในภาพยนตร์เหมือนดั่งที่ผู้กำกับต้องการให้ผู้ชมได้ดูโดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ผมว่าคุ้มค่าครับสำหรับเครื่องmadVRเครื่องนี้ ยังไงก็ตามผมhighly recommendให้หาโอกาสลองดูภาพที่ผ่านการprocessโดยเจ้าตัวmadVRตัวนี้ด้วยตัวเองสักครั้งก่อนดีที่สุดถึงจะบอกกับตัวเองได้ว่าmadVRเครื่องนี้คุ้มราคาค่าตัวหรือเปล่า ส่วนผมเครื่องที่ทดสอบนี้ยังไงคงต้องควักกระเป๋าซื้อเก็บเอาไว้ใช้เองละครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ madVR (PDF)
ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้