เห็นแล้วทุกคนก็คงคิดว่า หมอเอกบ้าหรือเปล่าจะมีใครซื้อเครื่องExternal Video Processorในระดับราคาห้าแสนเพื่อมาต่อกับโปรเจคเตอร์ที่มีราคาหกหมื่นบาท มันจะคุ้มเหรอ เอาเงินค่าprocessorลงทุนไปกับเครื่องโปรเจคเตอร์ในระดับHigh Endทีเดียวน่าจะดีกว่าไหม?
นั่นแหละครับผมก็คิดเหมือนกันว่ามันจะมีใครเขาทำอย่างนี้กัน แต่ปรากฏว่าผมพบหลายคนที่inboxเข้ามาถามผมว่าเครื่องVideo Processorใหม่ๆเหล่านี้เอามาต่อกับโปรเจคเตอร์ตัวเก่าที่ใช้อยู่จะได้ไหม พอดีตอนนี้ยังไม่อยากเปลี่ยนโปรเจคเตอร์ใหม่ อาจจะด้วยกำลังรอรุ่นใหม่ที่กำลังจะออก หรือก็ยังชอบภาพของโปรเจคเตอร์ตัวเดิมอยู่ หรือภรรยายังไม่อนุมัติ555 แต่ก็ยังอยากจะซื้อเจ้าตัวvideo processorมาลองเล่นก่อนเพื่อรอโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ และอีกหลายๆเหตุผลก็ว่ากันไป ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผมได้รับคำถามทำนองนี้มาเยอะเลย และด้วยตัวผมเองก็อยากรู้ด้วยว่าการทำแบบนี้จะทำให้ภาพที่ออกมาดีขึ้นมากไหม หรือภาพที่ออกมาก็จะถูกจำกัดด้วยประสิทธิภาพของเครื่องทำให้ภาพที่ได้ไม่ต่างจากเดิมเท่าไร ไม่คุ้มที่จะทำการเพิ่มตัวVideo Processorเข้าไป ใครสงสัยเหมือนผม วันนี้ลองติดตามอ่านผลการทดสอบได้เลย
โปรเจคเตอร์ที่จะร่วมใช้ทดสอบในครั้งนี้เป็นของBenQ รุ่นW5700 ราคาอยู่ที่ประมาณ 69,000บาทซึ่งถือว่าเป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้ประสิทธิภาพคุ้มค่ามาก และผมเคยได้ทดสอบละเอียดไว้แล้วเมื่อตอนต้นปี ใครสนใจรายละเอียดต่างๆของโปรเจคเตอร์ตัวนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความตามlinkนี้ได้เลยครับhttps://moraekhometheater.com/home/review/2020/benq-w5700-review/ โดยตัวที่ใช้ทดสอบนี้ไม่ใช่โปรเจคเตอร์ตัวใหม่ แต่เป็นตัวที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 600ชั่วโมง การใช้งานต่างๆก็เป็นปกติดี
แน่นอนExternal Video Processor ตัวที่เอามาทดสอบก็เป็น MadVR Envy Extreme ตัวใหม่กำลังร้อนแรง ที่มีประสิทธิภาพการทำงานด้านประมวลผลภาพแบบสุดจัด(ปลัดเคยบอก) ใครสนใจข้อมูลรายละเอียดต่างๆของVideo Processorตัวนี้ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความReviewตามนี้ครับhttps://moraekhometheater.com/home/review/2020/madvr/
อุปกรณ์ใช้ในการวัดก็ใช้ชุดเดิมได้แก่ MeterทดสอบมีสองตัวKlein K10(Colorimeter) และ JETI Spectraval1511(Spectroradiometer) ,Pattern GeneratorของMurideo Six-G, จอภาพใช้จอของStewart รุ่นFireHawk G5
เมื่อทำการต่อสายต่างๆก็ทำการFull Calibrationโดยทำการปรับค่าพื้นฐานต่างๆที่BenQ W5700ก่อน แล้วค่อยทำ 3D LUTในMadVRอีกที จากกราฟแสดงการปรับค่าพื้นฐานต่างๆก่อนการทำ 3D LUT จะเห็นว่าค่าต่างๆก็มีความใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานดีอยู่แล้ว ทำให้ตอนแรกก็คิดในใจอยู่ว่าการทำ 3D LUTก็อาจจะไม่ส่งผลมากเท่าไหร่แต่เดี๋ยวลองตามดูผลอีกที
ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าค่าGamma ที่ใช้ตอนนี้จะเป็น 2.2ซึ่งทางMadVRแนะนำว่าค่าเริ่มต้นของการทำLUTสำหรับเครื่องMadVRต้องตั้งค่าเริ่มต้นไว้ที่ 2.2 เพราะค่าที่ใช้ในการคิดคำนวณของMadVRนั้นจะใช้ค่าGamma 2.2เป็นตัวคำนวณ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่ตั้งค่าGammaไว้ที่ 2.4, 2.6 หรือ BT.1886อย่างที่นิยมกัน ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วไม่ต้องเป็นห่วงเพราะค่าความสว่างของภาพที่ออกมาก็จะพอดีตามที่MadVRคำนวณไว้และสามารถปรับเปลี่ยนความสว่างความมืดเพิ่มเติมได้อีก ส่วนข้อแนะนำอีกเรื่องก็คือการตั้งค่าcolorspaceเพื่อทำการทำLUT 3Dนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้กว้างที่สุด ให้ทำเฉพาะที่แน่ใจจริงๆว่าจอภาพไปถึง จากประสบการณ์ที่เคยทำมาถ้าcolorspaceของจอไปไม่ถึง DCI P-3หรือได้แค่ใกล้เคียง แล้วเราไปSetให้โปรแกรมCalmanทำไปกว้างถึงระดับDCI-P3สิ่งที่จะเจอก็คือการเกิดposterizationหรือการคั่งของสีบริเวณขอบของgamut ทำให้เราเห็นสีเป็นปื้นๆหรือเป็นbandingของสีใดสีหนึ่งในส่วนที่เข้มที่สุดของสีนั้นๆ โดยในเครื่องของBenQ W5700ผมก็ทำLUTไว้ที่ Rec.709 โดยเลือกเมนูภาพเป็นCinema(Rec.709) แต่ไม่ใช่เพราะว่าเครื่องไม่สามารถทำ DCI-P3ได้นะครับ ตามที่เคยวัดได้ในโหมดภาพD. Cinemaนั้นเครื่องBenQ W5700สามารถทำDCI-P3ได้ แต่เวลาทำให้เครื่องสามารถรองรับสีที่DCI-P3นั้นเครื่องต้องมีการใส่filterทำให้ความสว่างของเครื่องลดลงจากเดิม ซึ่งอย่างที่ผมเคยพูดอยู่ประจำว่าการทำTone Mappingของภาพ 4K HDRนั้น ความมืดความสว่างของภาพมีความสำคัญกว่าค่าความถูกต้องและความกว้างของสี ดังนั้นในการCalibrationครั้งนี้ผมจึงให้เครื่องMadVRทำ 3D LUTไว้ที่ Rec.709เพื่อคงค่าความสว่างของโปรเจคเตอร์ไว้ ส่วนสีที่เกินค่าRec.709ตัวเครื่องMadVRก็จำทำการคำนวณและนำไปไว้ในส่วนที่เหมาะสมตามColorspaceของโปรเจคเตอร์เองอัตโนมัติ หรือถ้าใครอยากทำแล้วลองเปรียบเทียบผลของColorspaceแบบต่างๆก็ทำได้ไม่ยากเพราะMadVRสามารถSaveการตั้งค่าของเครื่องได้มากมายหลายสิบค่า แถมเจ๋งกว่าโดยการsaveข้อมูลการตั้งค่าไว้ที่cloudไม่ได้เก็บอยู่ในเครื่องจึงไม่ต้องกังวลว่าถ้าเครื่องเสียแล้วค่าต่างๆที่ตั้งไว้จะหายไปกับเครื่อง
ทำการCalibrate 3D LUTโดยใช้โปรแกรม Calman Video Pro
เมื่อทำการCalibrationเสร็จเรียบร้อยสิ่งแรกที่ผมขอเปิดดูคือในเรื่องของTone Mappingเนื่องจากว่าเครื่องที่ใช้การTone MappingแบบStatic Tone Mappingจะมีการตั้งค่าความสว่างของภาพไว้ตั้งแต่ต้นและจะใช้ค่านี้ไปตลอดทุกฉากในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆหรือไฟล์วิดีโอนั้นๆ ทำให้ไม่ว่าสถานการณ์ความมืดความสว่างของภาพเป็นอย่างไรTone Mappingก็ยังจะเป็นอันเดิมเป็นcurveเดิมอยู่ เช่นภาพตัวอย่างที่ผมนำมาให้ดูจะเห็นได้ว่าเมื่อพยายามปรับให้ภาพที่ออกมาในฉากใดฉากหนึ่งแสดงในส่วนมืดได้พอดีก็จะทำให้บริเวณของของสีที่ตัดกันมีสีเพี้ยนแต่ถ้าพยายามปรับให้มืดมากขึ้นเพื่อลดความเพี้ยนก็จะทำให้ฉากที่อื่นๆของเรื่องมีความมืดมากเกินไป อย่างไรก็ตามเมื่อใช้Dynamic Tone MappingของMadVRคำนวณภาพHDRในโปรเจคเตอร์BenQที่ตั้งค่าไว้เป็นSDR Gamma 2.2ก็จะพบว่ามีการคำนวณความมืดความสว่าง และความกว้างของcolorspaceภาพในทุกฉากแบบframe by frame ทำให้artifactที่มักจะพบในเครื่องที่ใช้Static tone mappingมีความถูกต้อง ภาพที่ออกมาจึงไม่พบartifactแบบนี้ และในฉากอื่นของวิดีโอก็มีความสว่างที่ดีอยู่ทั้งเรื่อง
ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือความสว่างโดยรวมของภาพ เพราะเมื่อผมได้ลองเปรียบเทียบภาพที่ได้จากโปรเจคเตอร์BenQ W5700ที่มีความสว่างของSpecแจ้งไว้ที่ 1800Lumens กับเครื่องโปรเจคเตอร์รุ่นเก่ากว่าคือ BenQ 11000Hที่มีความสว่างของSpecที่ 2200Lumens พบว่าโทนของภาพHDRจากเครื่องBenQ W5700+MadVR มีความสว่างสดใสของภาพมากกว่าBenQ 11000Hอย่างเดียว
สำหรับในฉากที่มีความต่างของแสงมากการใช้Dynamic Tone Mapping(DTM)ทำให้ส่วนที่สว่างมากๆหรือnitsของภาพสูงๆถูกดึงลงมาให้สามารถแสดงรายละเอียดในส่วนนั้นได้ในขณะที่รายละเอียดในส่วนมืดของภาพก็ถูกแสดงออกมาโดยที่ยังมีความดำของภาพอยู่ ลักษณะคล้ายๆเพิ่มcontrastของภาพทั้งๆที่ความสว่างสูงสุดกับความมืดต่ำสุดของภาพยังอยู่เท่าเดิม อันนี้เป็นข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนอีกข้อหนึ่งของการใช้DTM
รายละเอียดของภาพที่ออกมาทำได้ดีทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง โดยที่ไม่พบArtifactของภาพเช่นพวกHalo Effectsเมื่อเร่งsharpnessของภาพสูงเกินไป
Toneสีของภาพก็ทำได้ดีเนื่องจากว่าในตัวของโปรเจคเตอร์BenQ W5700ทำได้ดีอยู่แล้ว การทำ3D LUTไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้มากนัก แต่จะไปปรับปรุงในส่วนของมิติของภาพ ความตื้นลึกของภาพ เนื่องจากมีการปรับปรุงในส่วนของEOTFหรือGAMMA CurveจากHDRเป็น SDR in HDR containerมากกว่า
สรุปสำหรับผมถ้ามีคนถามว่าการใช้External Video Processorจะทำให้ภาพดีขึ้นไหมถ้าโปรเจคเตอร์ไม่ได้เป็นรุ่นที่อยู่ในระดับHi End ผมตอบตรงนี้ได้เลยว่าทำให้ภาพดีขึ้นแน่นอนถ้ามีการCalibrationที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาพHDRที่จะทำให้ความมืดความสว่างของภาพมีความเหมาะสมกับความมืดความสว่างของโปรเจคเตอร์ตัวที่ใช้อยู่ ทำให้โปรเจคเตอร์ตัวเก่าหรือรุ่นเดิมที่มีความสว่างไม่มากให้ภาพ4K HDRที่ดูสว่างสดใสสวยงามมากขึ้น(รีวิวในต่างประเทศถึงกับบอกว่าเหมือนได้โปรเจคเตอร์ใหม่) รวมถึงจะได้ประโยชน์ในแง่ปรับค่าสี ปรับความคมชัดของภาพ ความลื่นไหลของภาพได้มากขึ้นโดยลดartifactsหรือความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นnoise, banding ฯลฯ ของภาพลง แต่การการเพิ่มExternal Video Processorไม่ได้ถึงขนาดทำให้โปรเจคเตอร์ตัวนั้นมีภาพที่ดีกว่าสวยกว่าภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์Hi End เนื่องจากพื้นฐานต่างๆของโปรเจคเตอร์ในระดับHi Endไม่ว่าจะเป็นเลนส์ อุปกรณ์ในระดับคัดเกรดต่างๆก็ยังมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าโปรเจคเตอร์ในระดับเริ่มต้นอยู่แล้ว แต่การเพิ่มVideo Processorเหมือนกับการรีดประสิทธิภาพของโปรเจคเตอร์เครื่องนั้นๆให้ได้ภาพออกมาในระดับขีดสุดของเครื่องที่จะทำได้มากกว่า สำหรับความคุ้มค่าหรือความสมเหตุสมผลนั้นพูดได้ยากก็คงแล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละคน บางคนอาจจะมีรสนิยมที่ได้โมเครื่องแล้วมีความสนุก เพราะอยากรู้ว่าเครื่องเสียงหรือแม้แต่อุปกรณ์ต่างๆว่าประสิทธิภาพจะไปได้ไกลขนาดไหนโดยไม่คำนึงถึงราคาของสิ่งที่ใส่เข้าไปว่าแพงกว่าตัวเครื่องหลักหลายเท่าก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นความมันอีกอย่างที่เราจะพบได้บ่อยในวงการรถยนต์ครับ