Article

Search

การวางลำโพงหน้ากับจอทีวีขนาดใหญ่

ห้องmixเสียงของNetflixใช้ลำโพงMeyer Soundกับจอทีวี Sony Crystal LEDขนาด200กว่านิ้วทำให้ไม่สามารถวางลำโพงไว้หลังจอภาพเพื่อให้เสียงออกมาอยู่ตรงกลางจอเหมือนในห้องที่ใช้โปรเจคเตอร์โดยทั่วไปได้ โดยSound DesignของSystemนี้จะวางลำโพงด้านบนแล้วสะท้อนเสียงกับจอภาพเข้ามาสู่ผู้ฟัง ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่าทำไมMeyer Soundถึงไม่วางลำโพงไว้ด้านบนหนึ่งชุดล่างหนึ่งชุดให้เสียงphantom imageอยู่กลางจอ ลองมาดูเหตุผลในการทำSound Designกันว่า เขามีเหตุผลอะไรในการติดตั้งแบบนี้

หลายท่านคงผ่านตากันมาบ้างแล้วสำหรับห้องmixเสียงใหม่ของNetflixที่Los Angeles Campus ห้องนี้ใช้จอทีวีขนาดใหญ่ของ Sony Crystal LED ที่มีความสูงถึง 9ฟุต ยาว17ฟุต และใช้ระบบลำโพงUltraReflexของทางMeyer Sound บุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับด้านmixเสียงระดับโลกหลายคนได้เข้าไปฟังแล้วต่างตะลึงกับคุณภาพ และการระบุตำแหน่งของเสียงที่ออกมา ซึ่งSound Designของระบบเสียงนี้ใช้การสะท้อนของเสียงจากจอภาพทีวีแทนที่จะใช้Direct Sound

จากเดิมการดูหนังโดยทั่วไปถ้าต้องการให้เสียงออกมาจากจอก็ใช้ลำโพงวางไว้หลังจอภาพแบบAcoustic Transparent screen แล้วยิงเสียงผ่านจอภาพเข้าไปสู่ผู้ชม

แต่Sound Designแบบใหม่นี้จะใช้การสะท้อนเสียงจากจอทีวี เนื่องจากว่าเสียงไม่สามารถผ่านตัวจอทีวีที่เป็นวัตถุแข็งได้

บางคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่ออกแบบใช้ลำโพงชุดหนึ่งอยู่ด้านบนจอ ลำโพงอีกชุดอยู่ใต้จอให้เกิดphantom หรือ stereo imageเสียงอยู่กลางจอ เหมือนเราฟังเสียงจากลำโพงซ้ายขวาเกิดเป็นphantom imageอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้งสองข้าง? เรื่องนี้ผมเคยพูดถึงเมื่อหลายปีก่อนยังไงต้องขอพูดถึงอีกครั้งหนึ่งว่าการรับรู้Stereo Perceptionตำแหน่งวัตถุของสมองมนุษย์ตามหลักของ Psychoacoustics การรับรู้ตำแหน่งในแนวระนาบหรือ Horizontal Localization เกิดจากสองสิ่งคือ เวลา(TimeหรือPhase) และระดับเสียงdB(Level) อธิบายง่ายๆสมมุติว่าถ้าเสียงจากลำโพงทั้งสองข้างมาถึงหูเราในเวลาพร้อมกัน หรือมีPhaseเท่ากัน และมีความดังเท่ากันสมองก็จะทำให้เราเกิดภาพเสมือนว่าเสียงอยู่ตรงกลางลำโพงทั้งสอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เสียงจากลำโพงตัวหนึ่งมาถึงก่อนลำโพงอีกตัวหนึ่งตำแหน่งphantom image ก็จะขยับออกจากจุดกึ่งกลางออกไป ถ้ายังต้องการให้เสียงเสมือนออกอยู่ตรงกลางเราสามารถชดเชยlevelได้ เช่นถ้าเสียงมาถึงก่อน 1ms เราก็สามารถชดเชยโดยเพิ่มlevel ลำโพงอีกข้างขึ้น 3dB เสียงก็จะกลับมาอยู่ตรงกลาง และถ้ามาถึงก่อน 5ms เราก็ต้องชดเชยLevelไป7dB แต่สมองของคนเรายินยอมให้เกิด stereo Imageนี้ถึงแค่ 5ms เท่านั้น ถ้าเสียงทั้งสองข้างมาถึงห่างกันเกิน 5ms การเห็นภาพstereo ก็จะค่อยๆหายไป แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะในแนวระนาบเท่านั้นเนื่องจากว่ามนุษย์เรามีหูด้านซ้ายและขวาที่สามารถรับรู้เวลามาถึงที่ต่างกันของเสียงนั้น แต่จะไม่เกิดขึ้นในแนวดิ่ง(vertical) เนื่องจากว่าคนเราไม่มีหูด้านบนและหูด้านล่างรับเวลาที่มาถึงต่างกัน การวางลำโพงไว้ด้านบนหนึ่งชุดด้านล่างหนึ่งชุดก็จะไม่ทำให้เกิดphantom imageอยู่ตรงกลางจอ

ดังนั้นการวางลำโพงไว้สองชุดด้านบนและล่างของจอภาพจะไม่ได้ทำให้เกิดphantom imageกลางจออย่างที่ต้องการ(นอกจากคนดูจะนอนตะแคงดูให้ลำโพงบนและล่างอยู่ด้านข้างของหูทั้งสอง) แต่ยิ่งกลับทำให้เสียงที่รับรู้ได้นั้นปนกันระบุตำแหน่งไม่ได้ การครอบคลุมของเสียงก็ไม่เท่ากันในแต่ละที่นั่ง ทำให้วิธีนี้จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขที่ดีสำหรับสถานการณ์แบบนี้

Sound Designที่ทางMeyerใช้ในสถานการณ์แบบนี้คือวางลำโพงScreen Channelsไว้ด้านบนฝ้า หันหน้าลำโพงเข้าหาจอภาพ ใช้DSPตัวGALAXY816ทำBass Managementจัดการความถี่สูงที่เกี่ยวข้องกับการระบุตำแหน่งวัตถุแยกออกมาแล้วยิงเสียงความถี่ดังกล่าวสะท้อนจอภาพเข้ามาหาตำแหน่งนั่งฟัง แล้วตัดความถี่ต่ำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบุตำแหน่งไว้Subwooferด้านล่างให้ครอบคลุมตำแหน่งนั่งฟัง เพียงเท่านี้ก็ทำให้ตำแหน่งนั่งฟังได้รับฟังเสียงFull bandwidth screen channel ตามตำแหน่งLCR และมีเสียงเหมือนกับออกมาจากกลางจอภาพตามที่ต้องการ

ผมว่าSound Designแบบนี้ในอนาคตน่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นไม่ว่าทั้งในห้องMixเสียง โรงภาพยนตร์ชั้นนำ ห้องDedicate home theaterแบบhi-end หรือแม้กระทั่งห้องประชุมหรูๆเนื่องจากความนิยมในการใช้งานจอทีวีขนาดใหญ่แบบนี้มีเพิ่มมากขึ้น สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดมากกว่านี้สามารถเข้าไปอ่านในเรื่องของระบบUltraReflexของทางMeyer soundได้ที่ https://meyersound.com/product/ultra-reflex/ และต้องขอขอบคุณภาพสวยๆจากทางMeyer Soundด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ การวางลำโพงหน้ากับจอทีวีขนาดใหญ่ (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้