Review

Search

BenQ LK990 Laser Projector with 6000 Lumens

ถ้าพูดถึงโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในห้องhome theaterโดยทั่วไปความสว่างก็มักจะอยู่ที่ราวๆ 2-3000Lumens แต่สำหรับโปรเจคเตอร์รุ่นใหญ่ของBenQรุ่น LK990ตัวนี้สามารถทำความสว่างได้ถึง 6000Lumens โดยทางBenQได้ส่งโปรเจคเตอร์พลังสว่างสูงตัวนี้ตัวแรกๆมาให้ทดสอบ ซึ่งทำให้ผมได้พบจุดเด่น และข้อบ่งใช้ของโปรเจคเตอร์ตัวนี้อยู่หลายอย่าง วันนี้เลยจะนำสิ่งน่าสนใจเหล่านี้มาเล่าให้ได้ทราบกัน

รูปที่1 รูปร่างหน้าตาของโปรเจคเตอร์BenQ LK990
รูปที่2 รูปด้านหน้า
รูปที่3 รูปด้านท้าย
รูปที่4 รูปด้านบน

จากรูปร่าง หน้าตาและขนาดโดยทั่วไปพบว่าเหมือนกับBenQ 11000Hที่ผมเคยทดสอบไป โดยมีมิติของขนาดอยู่ที่ 470x225x565เซนติเมตร แต่ว่าน้ำหนักของเครื่องนั้นหนักกว่ารุ่น11000Hอยู่พอสมควร น้ำหนักที่แจ้งไว้คือ 20.2กิโลกรัม ส่วนเลนส์ก็มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เรียกได้ว่าถ้าเอามาวางคู่กับBenQ 11000Hดูผ่านๆนี่แทบจะแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน

รูปที่5 เมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์รุ่น BenQ 11000H
รูปที่6 รีโมทจะมีขนาดเล็กและเบากว่ารุ่นอื่นๆ

โปรเจคเตอร์ตัวนี้ใช้ชิป4Kเดี่ยวแบบDLPขนาด 0.67นิ้ว รุ่น DC3 DMD Chip โดยในชิปจะมีกระจกขนาดเล็กๆถึง 4.15ล้านชิ้น ที่เคลื่อนที่แบบfast switchingเพื่อให้สามารถแสดงภาพระดับ 3840×2160หรือ 8.3ล้านพิกเซลในภาพแต่ละเฟรมได้

รูปที่7 การขยับกระจกแบบfast switchningทำให้สามารถแสดงความละเอียดในระดับ 8.3ล้านพิกเซลได้

จุดเด่นที่สุดของโปรเจคเตอร์ตัวนี้สำหรับผมแล้วก็คือเรื่องความสว่างของภาพ โดยโปรเจคเตอร์ตัวนี้ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบBlueCore laser ที่ในSpecบอกไว้ว่าให้ความสว่างถึง6000Lumen และจากการวัดจริงถ้าเลือกcolor modeแบบBrightนั้นในห้องผมที่ใช้จอStewart FireHawkขนาด120นิ้ว เกรน1.25สามารถวัดความสว่างได้ถึง 376nits(ดูไม่ผิดครับสามร้อยเจ็ดสิบหกnits แปลงเป็นfoot-lambertได้110fL นี่ก็ระดับน้องๆจอทีวีสมัยนี้เลย) .และถ้าทำการCalibrateแล้วในmode Cinemaวัดได้ 260nits ซึ่งถือได้ว่าเป็นโปรเจคเตอร์สำหรับใช้ในห้องhome theaterตัวสว่างที่สุดที่ผมเคยวัดมาเลยทีเดียว เจอมาส่วนมากใช้ในห้องhome theaterความสว่างสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ100-150nitsเท่านั้น และแน่นอนการใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบlaserข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของความคงทนของหลอดภาพ ซึ่งสำหรับตัวนี้Specแจ้งไว้ว่าสามารถใช้งานได้ถึง 20,000ชั่วโมงโดยที่ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยน การบำรุงรักษาเรื่องของหลอดภาพ

รูปที่8 BenQ LK990 ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบBlueCore Laser
รูปที่9 แหล่งกำเนิดแสงแบบLaser Engineสามารถให้ความสว่างได้ยาวนานกว่าแบบLamp Based

ส่วนในเรื่องความร้อนของเครื่องที่เป็นแบบLaserนั้น โปรเจคเตอร์BenQ LK990ใช้ระบบระบายความร้อนถึงสองระบบเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ทำให้อุณหภูมิสูงเกินไปในขณะเครื่องกำลังใช้งาน ระบบแรกเป็นการใช้Liquid Coolingป้องกันใสส่วนของlaser light sourceและระบบDLP engine อีกระบบเป็นการใช้พัดลมร่วมกับท่อระบายความร้อนในส่วนชิปDMD นอกจากนี้ก็ใช้ระบบตรวจจับอุณหภูมิแบบreal-timeเพื่อควบคุมระบบจัดการความร้อนให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์อีกด้วย ที่ดีอีกอย่างสำหรับการระบายความร้อนของเครื่องโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือระยะเวลาในการปิดเครื่องที่เร็วมาก พัดลมระบายความร้อนทำงานหลังจากเครื่องปิดไม่เกิน5วินาทีก็ดับแล้ว ไม่เหมือนโปรเจคเตอร์บางตัวที่กว่าจะปิดเครื่องได้ต้องรอให้พัดลมทำงานก่อนหลายนาทีทำให้ไม่สะดวกในการใช้ที่ต้องเปิดปิดเครื่องเป็นประจำ แต่เสียงของพัดลมเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นผมว่าเสียงยังดังอยู่ยิ่งเวลาเปิดโหมดที่เป็นNormalนั้นเสียงจะดังถึง 37dBAเลย ถ้าเปลี่ยนเป็นโหมดEconomicก็จะมีเสียงดังลดลงหน่อยอยู่ที่ประมาณ 34dBAซึ่งผมก็ว่ายังดังอยู่ ดังนั้นถ้าจะติดตั้งโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็ควรจะต้องให้โปรเจคเตอร์อยู่ห่างตำแหน่งนั่งฟังอยู่ซักหน่อย หรือไม่ก็ออกแบบให้ติดตั้งภายนอกห้องจะดีกว่า

รูปที่10 ระบบระบายความร้อนภายในเครื่อง

และถ้าสังเกตให้ดีบนตัวเครื่องจะเห็นโลโก DUST GUARDpro ซึ่งหมายถึงเครื่องนี้ได้รับการรับรองว่าได้ถูกออกแบบsealระบบกำเนิดภาพlaserทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น DMD chip, วงล้อสี, Laser light source รวมถึงอุปกรณ์เลนส์เพื่อป้องกันผุ่นละอองเข้าไปทำให้ยืดอายุการทำงานของเครื่องและป้องกันการเกิดภาพที่ผิดปกติจากฝุ่นที่เข้าไปในเครื่องด้วย

รูปที่11 โลโกบนเครื่องแสดงDUST GUARDpro
รูปที่12 ระบบป้องกันฝุ่นภายในเครื่อง

คราวนี้มาถึงผลการทดสอบกันบ้าง หลังจากได้รับเครื่องและได้ยกขึ้นแท่นวาง เปิดดูแนวภาพคร่าวๆก่อนที่จะมีการcalibrate พบว่านอกจากความสว่างที่เปิดออกมาแล้วต้องร้องโอ้โหแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือเรื่องของความคมชัดของภาพ ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีsingle DMD DLP ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความคมชัดแบบธรรมชาติและไม่ต้องมีการปรับตำแหน่งpanelsของหลายชิปให้อยู่ตรงกัน อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของเลนส์ซึ่งโปรเจคเตอร์BenQ LK990ได้ใช้เลนส์แก้วที่ออกแบบสำหรับภาพ 4K HDRโดยเฉพาะ ตัวเลนส์เท่าที่ผมมองเทียบกับโปรเจคเตอร์ BenQ 11000Hพบว่าตัวเลนส์มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย จากคุณภาพของเลนส์ส่งผลให้ภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีความคมชัด สีสันสดใส ไม่พบปัญหาในเรื่องเบลอ ภาพเป็นเงา และความผิดปกติบิดเบี้ยวของภาพ

รูปที่13 เลนส์ที่มีคุณภาพขนาดใหญ่จะส่งผลต่อคุณภาพของภาพโดยตรง

มีอีกอย่างหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในโปรเจคเตอร์ตัวนี้ และในจอภาพของBenQอีกหลายรุ่นคือสามารถแสดงภาพในโหมดDICOM(Digital Imaging and Communication in Medicine)ได้ ซึ่งบางท่านที่คุ้นเคยกับสินค้าของBenQอาจจะพอทราบว่าBenQมีสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในกลุ่มการแพทย์อยู่มากมายหลายแขนง DICOMก็เป็นมาตรฐานหนึ่งที่ใช้ในการจัดการ จัดเก็บ จัดพิมพ์ และจัดส่งข้อมูลรูปภาพทางด้านการแพทย์ โดยสำหรับDICOMโหมดที่อยู่ในจอภาพก็จะเป็นโหมดภาพที่ใช้สำหรับดูภาพgrayscaleทางการแพทย์เช่นภาพX-rays รวมถึงมีการจัดการเรื่องของgrayscale levelในระดับสูงเพื่อใช้ในการtrainingและการศึกษาโดยเฉพาะ

รูปที่14 การแสดงภาพแบบ DICOM X-ray Imaging

เครื่องที่ส่งมาเป็นเครื่องใหม่เอี่ยมยังไม่มีการใช้งาน จึงต้องทำการburnเครื่องหลายสิบชั่วโมงก่อนทำการCalibration อุปกรณ์ที่ใช้การในวัดและปรับภาพก็จะมี เครื่องMurideo Six-G pattern generatorเพื่อสร้างpatternในการวัดค่า ส่วนตัววัดภาพใช้meterทั้งแบบcolorimeter และspectroradiometerได้แก่ Klein K10-A colorimeter และ Jeti Spectraval 1511ตามลำดับ โปรแกรมที่ใช้วัดภาพใช้อยู่ 3โปรแกรมได้แก่ LightSpace HTP, CalMAN for BusinessและChromaPure Professional เริ่มสิ่งแรกที่ผมทำการวัดก็คือค่าSpectral Power Distribution(SPD)เพราะว่าแหล่งกำเนิดภาพเป็นแบบLaser Engineที่บางทีการกระจายของแสงในความถี่ต่างๆอาจจะไม่สม่ำเสมอ แต่สำหรับสีม่วงสีน้ำเงินความถี่ประมาณ440-460นาโนเมตรที่สูงโด่งขึ้นนั้นก็เป็นลักษณะSPDเฉพาะของlaser engineอยู่แล้วที่จะต่างจากlamp base ซึ่งสำหรับSPDของBenQ LK990ตัวนี้ก็ถือว่าปกติดีไม่มีช่วงสีไหนที่ขาดหายไปมาก

รูปที่15 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบโปรเจคเตอร์ BenQ LK990
รูปที่16 กราฟแสดงSpectral Power Distribution(SPD)

หลังจากนั้นก็ทำการวัดค่าการครอบคลุมเฉดสี พบว่าในระดับ Rec.709จะอยู่ที่ประมาณ90% ส่วนระดับDCI-P3อยูที่ 80% ซึ่งถ้าเทียบกับโปรเจคเตอร์สำหรับHome TheaterของBenQเช่นในรุ่นW11000Hก็ถือว่าการครอบคลุมน้อยกว่า คงเนื่องจากว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้เน้นในเรื่องของความสว่างเป็นหลัก เช่นเดียวกับค่าRGB BalanceของGrayscaleที่ความสว่างหรือIREต่างๆพบว่าค่าตั้งต้นก็ยังมีความเพี้ยนอยู่ และเท่าที่ผมวัดดูในทุกโหมดพบว่าโหมดภาพแบบCinemaให้สีใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานมากกว่าโหมดภาพแบบอื่นๆ ส่วนในการปรับถ้าต้องการให้ค่าRGB Balanceมีค่าดีที่สุดแนะนำให้ลดความสว่างของโปรเจคเตอร์ลงก็จะทำให้ค่าค่าRGB BalanceของGrayscaleมีความถูกต้องใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้น โดยโปรเจคเตอร์จะสามารถปรับความสว่างไว้หลายระดับมากตั้งแต่ระดับ Normalที่ให้แสงสว่างของภาพสูงที่สุด, Economicให้ความสว่างของแสงลดลงมาเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสงและลดความดังของพัดลมในเครื่อง, SmartEcoก็จะเป็นการลดความสว่างของแหล่งกำเนิดแสงโดยอัตโนมัติตามระดับความสว่างของcontentที่กำลังดูอยู่, Dimmingเป็นการลดความสว่างแหล่งกำเนิดแสงมากกว่าEconomicลงอีกระดับหนึ่ง ส่วนCustomจะเป็นการลดความสว่างตามความต้องการของผู้ใช้ได้เลย ส่วนสำหรับค่าinput lagของเครื่องวัดได้ประมาณ 50millisecondก็ถือว่าสามารถใช้เล่นเกมส์ได้ไม่มีความหน่วงของภาพมากนัก

รูปที่17 แสดงการครอบคลุมสีระดับDCI-P3
รูปที่18 แสดงค่าRGB BalanceของGrayscaleก่อนและหลังการปรับ
รูปที่19 ภาพจริงจากหน้าจอที่ให้ภาพเคลื่อนไหวที่ดี
รูปที่20 ถึงแม้จะไม่ได้ให้ความดำที่ดำที่สุด แต่การไล่ระดับในจุดที่มืดก็ทำได้ดี
รูปที่21 ภาพHDRก็สามารถแสดงรายละเอียดในส่วนสว่างได้ดี
รูปที่22 ภาพยังคงรักษาสีสันและความเป็นธรรมชาติของชิปDLPไว้ได้

หลังจากที่ได้Fully Calibrationโปรเจคเตอร์BenQ LK990และได้ทดลองดูภาพจากภาพยนตร์ สารคดี รายการทีวี รายการกีฬาต่างๆแล้ว ต้องบอกว่าเป็นโปรเจคเตอร์ให้ความประทับใจในเรื่องความสว่างมากผมสามารถเปิดไฟในห้องhome theaterได้ทุกดวงโดยที่แสงสว่างจากหลอดดาวน์ไลท์กว่า8ดวงในห้องแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของภาพที่ปรากฏบนจอเลย ผมจึงแนะนำอย่างยิ่งสำหรับใครที่ต้องการโปรเจคเตอร์เอาไปใช้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมแสงภายนอกได้หมด อยากเปิดไฟดูหนังดูทีวี หรือต้องการใช้ในจอภาพขนาดใหญ่ จอภาพแบบAcoustic Transparent Screen(TA)ที่กินแสงมาก จอภาพเกรนน้อย สถานการณ์ต่างๆที่ใช้โปรเจคเตอร์แบบธรรมดาแล้วให้แสงไม่พอ แม้กระทั่งในสิ่งแวดล้อมแบบoutdoor ดูกีฬาดูหนังในห้องนั่งเล่นห้องกินข้าว จนไปถึงเอาไว้เป็นโปรเจคเตอร์แสดงในงานevent งานจัดนิทรรศการต่างๆ ผมว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีความเหมาะสมมาก สำหรับในเรื่องว่าแสงสว่างมากขนาดนี้จะปวดตาเวลาดูนานๆในห้องhome theaeterหรือไม่ตอนแรกผมก็สงสัยในประเด็นนี้อยู่เหมือนกันแต่พอดูของจริงพบว่าความรู้สึกเรื่องปวดเมื่อยสายตานี่น้อยกว่าจอทีวีเวลาปิดไฟดูนะผมว่า ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่าภาพจากโปรเจคเตอร์เป็นการดูแสงสะท้อนจากจอรับภาพแต่ทีวีเป็นการดูจากแหล่งกำเนิดแสงตรงๆจึงมีผลต่อตามากกว่า แต่ถ้าคิดว่าดูแล้วสว่างมากไปเราก็สามารถลดความสว่างของโปรเจคเตอร์ได้ไม่ยากครับรุ่นนี้ สำหรับเรื่องคุณภาพของภาพโดยทั่วไปทั้งจากภาพSDR และHDRภาพก็ยังคงคุณสมบัติของชิปDMD DLPคือให้ภาพที่สวยใสดูเป็นธรรมชาติ สีไม่เข้มจนเกินไปแต่ความดำของภาพก็อาจจะไม่เท่าเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีแบบอื่น การเคลื่อนไหวของภาพอยู่ในระดับดีไม่มีสะดุด สรุปได้ว่าโปรเจคเตอร์BenQ LK990ตัวนี้เป็นโปรเจคเตอร์ที่มีจุดเด่นเรื่องพลังความสว่างและยังคงให้คุณภาพของภาพที่ใช้สำหรับดูภาพยนตร์ ดูทีวีได้อย่างดีตัวหนึ่งในท้องตลาดขณะนี้ ก็ต้องขอขอบคุณทางบริษัทBenQที่ส่งโปรเจคเตอร์พลังแสงสูงตัวนี้มาให้ผมทดสอบด้วยครับ

รูปที่23 โปรเจคเตอร์BenQ LK990ที่มีความสว่างมากจนสามารถเปิดไฟดูหนังได้เลย
Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ BenQ LK990 Laser Projector with 6000 Lumens (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้