Article

Search

Reference Level in Home Theater

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าReference Level หรือภาษาไทยบางทีก็เรียกว่าความดังระดับอ้างอิง คนเล่นhome theaterจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่าการฟังเสียงในห้องhome theaterต้องเปิดดังระดับReference Levelเท่านั้นถึงจะทำให้ดูหนังสนุก เช่นเดียวกับได้ฟังในโรงภาพยนตร์ หรือในห้องPost productionที่ทำการmix เสียงจริงๆ วันนี้ลองมาดูกันว่าReference Level มันมีความหมายถึงอะไร และบ่งบอกถึงอะไรบ้าง แล้วมีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องฟังความดังระดับนี้ในห้องhome theaterในบ้านของเรา

ก่อนหน้าที่จะเข้าไปถึงเรื่องReference Levelมาพูดถึงความรู้พื้นฐานเรื่องการได้ยินของมนุษย์กันก่อน โดยทั่วไปมนุษย์สามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่อยู่ระหว่าง 20Hz -20,000Hz และสามารถรับรู้ความดังของเสียงที่มีdynamic rangeอยู่ที่ 120dB จากความดังของเสียงต่ำสุดที่ได้ยินจนถึงความดังสูงสุด(ทั้งสองอย่างนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับอายุ และประสิทธิภาพของอวัยวะที่รับรู้เสียงด้วยแต่จะไม่พูดถึงในที่นี้) ซึ่งระดับความดังและdynamic rangeของเสียงที่มนุษย์ได้ยินนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับระดับความถี่เสียงด้วย มนุษย์เราไม่ได้สามารถรับรู้ความดังที่เป็นdynamic range 120dB ตลอดย่านความถี่20Hz -20,000Hz แต่จะมีdynamic rangeกว้างที่สุดอยู่ที่ความถี่ระดับกลาง ทำให้มนุษย์สามารถแยกแยะระดับความดังว่าเสียงนี้ดังมากกว่าเสียงนี้ได้ดีที่สุดในช่วงความถี่ระดับกลางประมาณ1,000-2,000Hz และจะลดความสามารถลงในความถี่ที่สูงขึ้นและความถี่ต่ำลงกว่านี้

รูปที่1 Dynamic Rangeที่มนุษย์ได้ยินในช่วงความถี่20Hz -20,000Hz

ลองดูจากกราฟรูปที่1จากwww.cochlea.orgจะเข้าใจมากขึ้น ในแกนxของกราฟเป็นความถี่Hz แกนyเป็นระดับความดังdB กราฟแสดงภาพโดยรวมของความถี่ที่มนุษย์ได้ยิน โดยมีระดับเส้นต่ำสุด สูงสุดของพื้นที่สีเขียวที่แสดงถึงระดับความดังหรือvolumesที่มนุษย์สามารตอบสนองถึงความแตกต่างของเสียง ดังนั้นเส้นล่างจะหมายถึงระดับความดังต่ำสุดที่มนุษย์สามาถรับรู้ได้ว่าเสียงมีความค่อยความดังของเสียงที่ต่างกันถ้าต่ำกว่าเส้นนี้หมายถึงว่าจะแยกไม่ออกละว่าเสียงนี้เบาหรือดังกว่าอีกเสียง ส่วนcurveเส้นบนหมายถึงระดับเสียงสูงสุดที่สามารถแยกแยะได้ คือถ้ามีระดับเสียงที่สูงกว่านี้แม้ว่าเราจะเพิ่มvolumeของเสียงเข้าไปอีกก็จะไม่สามารถบอกได้ว่าเสียงมีความดังมากขึ้น จากกราฟก็สามารถบอกได้เลยว่ามนุษย์มีความไวต่อความดังของเสียงในช่วงความถี่กลางถึงสูงมากกว่าความถี่ต่ำ

ถึงแม้ว่าเสียงมีระดับความดังหรือsound pressure level(SPL)ระดับเดียวกันทุกย่านความถี่ แต่สมองของมนุษย์ก็อาจจะรับรู้ว่าเสียงมีระดับความดังไม่เท่ากันในแต่ละความถี่ โดยเฉพาะในความถี่ต่ำ ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์สองท่าน Fletcher และ Munson ได้ทดลองเปรียบเทียบระหว่างระดับความดังของลำโพงเป็นdB ในความถี่ต่างๆ เทียบกับการรับรู้การได้ยิน จากผลการทดลองเกิดเป็นFletcher-Munson curveที่แสดงถึงdBในแต่ละความถี่ที่จะทำให้คนฟังแล้วเสียงมีความดังเท่ากันทุกความถี่

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, แผนที่

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่2 Fletcher-Munson curveแสดงถึงdBในแต่ละความถี่ที่จะทำให้ฟังแล้วเสียงมีความดังเท่ากันทุกความถี่

ลองมาดูในเส้นสีฟ้าแต่ละเส้น จะเห็นว่าcurveของเส้นสีฟ้าจะสูงในความถี่ต่ำ แสดงถึงว่าถ้าอยากให้คนรับรู้ความดังเท่ากับในความถี่สูง ระดับความถี่ต่ำจะต้องมีSPLที่สูงขึ้น มาลองดูตัวอย่างที่เส้นสีแดงที่มีความดัง 80dBตรงความถี่ 1,000Hz ลองไล่มาดูตรง 30Hzจะเห็นได้ว่าต้องใช้SPLสูงขึ้นมาเป็น 90dBถึงจะมีความรู้สึกถึงความดังเท่ากับตรง 1,000Hz ดังนั้นเราจึงเห็นคนปรับเสียงหรือคนฟังชอบที่จะปรับให้Volumeของเบสมีค่าสูงกว่าความถี่กลางหรือความถี่สูง รวมถึงการทำEQ curveแบบต่างๆก็มักจะยึดหลักที่มีcurveด้านความถี่ต่ำยกขึ้นสูงกว่าความถี่อื่นๆ และด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมreference levelของ Low Frequency channelถึงมีความดังมากกว่าmain channelsอยู่ 10dB

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, แผนที่

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่3 Reference Levelของ LFE Channelมีความดังมากกว่าmain channelsอยู่ 10dB

พูดถึงคำว่าReference levelในที่นี้มันก็คือการปรับความดังของเสียงที่ใช้สำหรับงานmovie productionตั้งแต่ในห้อง dubbing stages หรือในpost production housesต่างๆ เพราะการกำหนดมาตรฐานระดับความดังให้เหมือนกันจะมีความจำเป็นมากถ้าต้องมีการส่งต่อการmixเสียงในหลายproduction house เพื่อให้ในแต่ละที่มีความดังที่มีระดับเหมือนกัน มีความสมดุลของเสียงเบส เสียงกลาง เสียงสูงในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงeffects เสียงที่สร้างบรรยากาศล้อมรอบตัวผู้ฟังตามที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังต้องการให้ได้ยิน ดังนั้นในแต่ละproduction houseจึงต้องทำให้เสียงออกมามีระดับเสียงต่างๆเหมือน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด การmixเสียงจึงจะมีประสิทธิภาพเกิดความผิดพลาดได้น้อย โดยในบทความนี้จะใช้มาตรฐานของDolbyและTHX Reference Level เป็นแนวทางเพราะว่ามีหลักการคล้ายๆกันและเป็นอะไรที่คนเล่นhome theaterมักจะคุ้นเคย เป็นมาตรฐานที่พบได้ทั่วไปทั้งอยู่ภายในบ้าน(Consumer Electronics Certification) ในโรงภาพยนตร์(Cinema Certification) และ มาตรฐานในสตูดิโอทำภาพยนตร์ต่างๆ(Studio Certification)

THX ได้กำหนดreference levelโดยปรับให้อุปกรณ์เครื่องเสียงเมื่อมีสัญญาณpink noiseที่เข้ามา -20dB จากเสียงดังสุดที่บันทึกไว้ เมื่อเล่นก็จะได้เสียงที่มีความดังSPLอยู่ที่ 85dBออกมาในตำแหน่งนั่งฟัง เหตุผลที่THXเลือก 85dBเป็นreference levelของความดังเฉลี่ยของภาพยนตร์ ก็เพราะว่าจะได้มีเนื้อที่ความดังเหลืออีก 20dB จนถึงระดับความดังสูงสุดที่บันทึกมาที่ 105dB เพื่อเป็นเนื้อที่สำหรับใส่พวกspecial effects, เสียงระเบิด หรือเสียงdynamic soundsอื่นๆที่จำเป็นสำหรับเล่าเรื่องราวในภาพยนตร์

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่4 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างinput signal กับระดับความดังของลำโพงMainที่ออกมา

สำหรับช่องเสียงของlow frequency effects(LFE) ก็จะมีSPLเพิ่มขึ้นอีก 10dB ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วว่าหูของมนุษย์รับรู้ความถี่ต่ำได้ไม่เหมือนความถี่ในช่วงอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเวลาcalibrate-20dB input signalก็จะเป็น 95dB SPLที่ตำแหน่งนั่งฟัง ความดังสูงสุดของระบบสำหรับความถี่ต่ำก็จะเป็น 115dB ตรงตำแหน่งinput signal 0dB

รูปที่5 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างinput signal กับระดับความดังของLFE Channelที่ออกมา

แต่ในห้องhome theaterจะต่างออกไปบ้างเล็กน้อยเพราะการรับรู้ความดังในโรงภาพยนตร์กับในห้องhome theaterจะต่างกัน ถึงตรงนี้ผมขอเหล่าหน่อยเนื่องจากจำได้ว่าเคยสงสัยเหมือนกันโรงภาพยนตร์ที่ดูๆอยู่เขาเปิดดังกันขนาดไหน เราจะได้เอาความดังเท่ากันไปเปิดในห้องhome theaterที่บ้านเผื่อจะได้ดูหนังสนุกเหมือนกัน ผมก็เลยเอาเครื่องSPL meterไปวัดความดังเป็นdBที่โรงภาพยนตร์แล้วเอาความดังนี้มาปรับระดับvolumeให้ในห้องhome theaterมีความดังเท่ากันในฉากเดียวกัน ผลที่ได้คือในห้องhome theaterรับรู้ได้ว่าดังกว่าในโรงภาพยนตร์ ทำให้ตอนนั้นงงมากเนื่องจากความดังก็ระดับเดียวกันแต่ทำไมความรู้สึกถึงเหมือนกับว่าเสียงดังกว่า ทั้งที่ระดับfrequency responseในห้องhome theaterมีค่าRTAและFFTก็ถือได้ว่าsmoothไม่ได้ผิดปกติ ผมได้เก็บความสงสัยนี้และได้พยายามหาสาเหตุต่างๆ จนได้มาอ่านเจอบทความของMark Seatonนักออกแบบลำโพงชื่อดังชาวอเมริกาที่ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนไว้ว่าเครื่องวัดSPL meterโดยทั่วไปจะอ่านค่าการตอบสนองของความดังSPLในห้องหนึ่งๆไม่เท่ากับอีกห้องถ้าห้องมีขนาดต่างกัน เนื่องจากว่าระบบการได้ยินระดับความดังเสียงของหูคนเราโดยทั่วไปจะถูกกำหนดจากระดับเสียงที่เทียบกับช่วงระยะเวลา พูดง่ายๆก็คือถ้าช่วงระยะเวลาของเสียงที่สัมผัสหูนานขึ้นโดยที่ความดังหรือintensityของเสียงเท่ากันคนรับจะรับรู้ว่าเสียงที่สัมผัสหูนานกว่า5-10เท่ามีความดังมากกว่าในขณะที่เครื่องวัดSPL meterจะfixเวลาคงที่ตามที่ตั้ง ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อเวลาของเสียงไม่ว่าจะเป็นroom acoustics, distortionของเสียง, การบีบอัดของเสียง, ระบบเครื่องเสียง, แหล่งกำเนิดฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อการรับรู้ความดังของมนุษย์โดยเฉพาะในส่วนของroom acousticsจะมีผลเด่นสุด ดังนั้นจึงทำให้ค่าSPLที่วัดโดยSound level meterถึงแม้มีค่าเท่ากันในโรงภาพยนตร์กับห้องhome theater แต่การรับรู้ความดังของเสียงจึงไม่เท่ากัน จึงทำให้THXกำหนดความดังของreference levelห้องhome theaterต่ำกว่าในโรงภาพยนตร์ และpink noiseที่ฝังอยู่ในเครื่องpre-processor,AVRในห้องฟังภายในบ้านหรือห้องhome theaterที่เป็นTHX certifiedจะอัดมาอยู่ที่ระดับความดัง -30dB(เทียบกับfull scale) ความดังของลำโพงแต่ละchannels เมื่อวัดด้วยSPL meterจึงจะต้องมีความดังอยู่ที่ 75dBCในตำแหน่งนั่งฟัง ส่วนLFE ตัวpink noiseจะถูกอัดมาในเครื่องให้มีความดังมากกว่าลำโพงในchannelอื่นๆ 10dBอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องชดเชยเพิ่มให้เป็น 85dBC ปรับให้เป็น 75dB เหมือนchannelอื่นๆได้เลย ที่ทำมาแบบนี้ก็เพราะจะได้ไม่สับสนว่าอันหนึ่งต้อง 75dB อีกอันต้อง 85dB เอาให้เหมือนกันหมดทุกchannelเลยที่75dBก็สะดวกดี และการที่ไม่ใช้การปรับความดังของpink noiseในระดับpeak level 105dBเพราะเวลาcalibrateจะมีเสียงที่ดังเกินไปเป็นอันตรายต่อหู ทั้งsystemในบางห้องอาจจะไม่สามารถทำเสียงดังถึงระดับ105dBได้ หรือทำได้แต่มีความเพี้ยนมาก THXจึงแนะนำให้ปรับที่ 75dB โดยเครื่องAVRหรือProcessorที่ได้THX certifiedเหล่านี้ได้ทำการตรวจสอบแล้วว่าถ้าปรับให้แต่ละchannelsมีความดังเท่ากันที่ 75dBแล้ว เมื่อเร่งความดังจนถึงระดับความดังสูงสุด 105dB บนเครื่องTHX certified AVR เสียงแต่ละchannelsก็ยังมีความดังที่เท่ากัน และเมื่อลดความดังลงมาความสัมพันธ์ของเสียงแต่ละเสียงก็ยังให้เป็นไปตามที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังต้องการอยู่

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, แผนที่

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่6 กราฟแสดงความดังของเสียงต่างๆในธรรมชาติ

สำหรับความดังของเสียงต่างๆในธรรมชาติก็เช่นความดังที่85dB ประมาณความดังของเสียงบนท้องถนน หรือในภัตตาคารที่มีคนพูดคุยกันอยู่เต็มไปหมด เสียงพูดคุยกันปกติก็อยู่ที่ 60dB เสียงกระซิบก็ประมาณ 30dB หรือเสียงที่มีคนตะโกนใส่หูก็อยู่ที่ประมาณ 110dB สำหรับการฟังในห้องhome theaterบางคนอาจจะอยากได้ความดังโดยเฉลี่ยทั้งเรื่องอยู่ที่ 85 dB SPLเหมือนในmixing studioที่เขาแนะนำเป็นมาตรฐานไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบางทีคนmixเสียงก็ไม่ได้ฟังอยู่ที่ระดับนั้นจริงๆ เพราะเขาต้องทำงานแบบนี้ทั้งวันทั้งคืน การฟังในระดับนี้จะทำให้หูเกิดการล้ามากเกินไป ผมเคยคุยกับSound Engineerหลายท่านและบางทีก็เคยถามว่าจริงๆแล้วในห้องmixเสียงตัวเขาเองฟังที่ความดังเท่าไร ส่วนมากก็จะพบคำตอบว่าเขาไม่ได้mixดังเต็มที่แบบ 85dBขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คล้ายๆกับที่ผมเจอคำให้สัมภาษณ์ของ Tim Hoogenakkerที่ทำงานเป็นRe-recording mixer ชื่อดังของFormosa Groupบริษัททำงานด้านเสียงทั้งงานด้านRecording, re-recording, Editing, re-editing, Mixing, remix, Mastering, remastering รวมทั้งเป็นSound Supervisionให้กับภาพยนตร์ชื่อดังๆ หรือภาพยนตร์รางวัลดีเด่นด้านเสียงมาหลายเรื่อง ผลงานที่คุ้นๆกันก็เช่น Star Trek Beyond, The Conjuring2, Batman V. Superman dawn of justice, The Revenant, JohnWick,Game of Thrones หรือแม้กระทั่งหนัง6รางวัลOscarที่เป็นรางวัลด้านSound Editing, Sound Mixingอย่างMad Max: Fury Road เหล่านี้ล้วนก็มีชื่อของFormsa Groupเข้ามาเกี่ยวข้อง Tim Hoogenakkerได้ให้สัมภาษณ์ว่าปกติเวลาเขาmixเสียงเพื่อใช้ในห้องhome theaterหรือห้องในบ้านที่มีขนาดต่างจากโรงภาพยนตร์มาก เขาจะชอบmixที่ระดับ 80-81 dB SPL ที่เขาลดลงมาก็เพราะในการดูหนังจริงๆในบ้านคนส่วนมากไม่มีใครฟังดังขนาดนั้น แถมเมื่อดูนานๆในห้องที่มีขนาดเล็กจะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบาย ยิ่งถ้าต้องนั่งฟังนานๆต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง โดยเฉพาะตอนดึกๆคงไม่อยากให้เสียงไปรบกวนคนอื่น และด้วยสภาพAcousticsในโรงภาพยนตร์กับในบ้านต่างมาก ปริมาณอากาศในห้องดูหนังมีมากกว่าทำให้ลำโพงที่ออกแบบมาสำหรับในโรงภาพยนตร์เกิดการผลักอากาศได้ความดันเยอะ เกิดimpactได้สูงกว่าในห้องhome theater ดังนั้นการRe-recording mixingเพื่อใช้ฟังภายในห้องhome theaterที่ดีก็ต้องพยายามให้รายละเอียดต่างๆหรือ เสียงimpact, dynamicที่สร้างบรรยากาศ อารมณ์ของหนังต่างๆยังครบดูแล้วได้อารมณ์เช่นเดียวกับดูในโรงหนังอยู่ แม้จะเปิดเบากว่าความดังที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ปกติก็ตาม ได้ฟังแบบนี้ก็ทำให้สบายใจได้ว่าถึงแม้ไม่ได้ฟังดังระดับ Reference Levelเท่าในโรงภาพยนตร์ ความสนุก ความตื่นเต้นต่างๆในหนังก็ไม่ได้ลดลงไปอย่างมากมายนักอย่างที่เรากลัว

รูปภาพประกอบด้วย บุคคล, ในอาคาร, ผู้ชาย, ผนัง

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่7 Tim Hoogenakkerเมื่อRe-recording mixingภาพยนตร์ลงแผ่นBlu-ray เขาจะชอบmixที่ระดับ 80-81 dB SPL

นักเล่นบางท่านก็ให้ความสำคัญกับReference Levelจนเกินไปจนลืมนึกถึงปัจจัยอื่นรอบข้าง เอะอะอะไรก็ต้องให้ดังถึงReference Levelหรือต้องดังกว่านั้นเพื่อความมันและสนุกของภาพยนตร์ โดยจนลืมนึกไปถึงเรื่องของDynamic Rangeของเสียงว่าการที่จะดูหนังให้สนุกตื่นเต้นนั้นการมีDynamic Rangeของเสียงกว้างก็จะทำให้ดูหนังสนุกขึ้น แต่การที่มีDynamic Rangeของเสียงกว้างไม่ได้หมายถึงความดังสูงสุดของเสียงอย่างเดียว มันยังรวมถึงความดังน้อยที่สุดที่เราสามารถได้ยินในห้องด้วยซึ่งก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเงียบของห้อง(Noise Criteria,NC) การที่เราเปิดดังจนถึงReference LevelหรือเลยจากReference Levelในห้องhome theaterถ้าอุปกรณ์เครื่องเสียง Acousticsในห้องไม่เอื้ออำนวย ยิ่งเปิดดังมากขึ้นสิ่งที่จะได้ยินคือความเพี้ยน ความหนวกหู และหูของมนุษย์ก็จะไม่ได้รับรู้ด้วยว่าเสียงได้ดังขึ้น Dynamic Rangeของเสียงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ถ้าเป็นแบบนี้การเพิ่มDynamic Rangeของเสียงอีกทางหนึ่งก็คือต้องไปเพิ่มในส่วนที่เบาที่สุดของเสียงที่ได้ยินโดยให้เสียงในห้องฟังมีความเงียบมากขึ้นหรือลดnoise floorของเสียงในห้องฟังลง เมื่อเสียงในห้องมีความเงียบมากขึ้นDynamic ของเสียงก็จะกว้างขึ้น รายละเอียดเสียงแผ่วเบาต่างๆที่ถูกอัดมาก็จะได้ยินมากขึ้น ก็จะทำให้ได้บรรยากาศของเสียงรายล้อมมีความสมจริงใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับต้องการให้เราได้ยิน และเป็นการเพิ่มDynamicของเสียงด้วย การลดnoise floorก็ทำได้หลายวิธีตั้งแต่วิธีง่ายๆเช่น การจัดการกับเสียงกวนที่หลุดเข้ามาในห้องตามช่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปิดช่องที่เชื่อมต่อระหว่างห้องฟังกับข้างนอก การSealขอบช่องประตูหน้าต่าง การอุดช่องตามปลั๊กไฟฟ้าที่จะทำให้คลื่นเสียงเข้ามาในตัวห้อง การติดผ้าม่านเพื่อกั้นเสียงที่จะเข้ามา จนไปถึงวิธีที่ยุ่งยากมากขึ้นเช่นการตัดตอนเสียง(decoupling) เพื่อให้ห้องhome theater ของเราลอยแยก(isolate) จากโครงสร้างอื่นๆในบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ก็จะเป็นการเพิ่มDynamic Rangeของเสียงให้มากขึ้นทำให้ดูภาพยนตร์ได้สนุกมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปเร่งvolumeให้เสียงภายในห้องดังจนเกินไป ทั้งยังเป็นการถนอมหูของเราให้ใช้งานได้นานขึ้นด้วย

รูปที่8 การเร่งVolumeของเสียงให้มากเกินไปในการชมภาพยนตร์แทนที่จะทำให้ดูหนังสนุกขึ้นอาจจะกลายเป็นความทรมานแทน
รูปภาพประกอบด้วย ในอาคาร, อาคาร, ห้อง

คำอธิบายที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ
รูปที่9 ห้องที่ออกแบบมาดี มีnoise floorต่ำ ไม่ต้องเปิดVolumeให้เสียงดังมากก็ให้ความสนุกสนานตื่นเต้นร่วมไปกับภาพยนตร์แล้ว

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของReference Levelในห้องhome theater ที่บางคนมองแต่ด้านเพิ่มความดังของเสียงให้ได้ตามReference Levelอย่างเดียวเพื่อที่จะให้ดูหนังได้มันมากขึ้น ทั้งที่ความจริงยังมีเรื่องของDynamic Rangeและ noise floorของเสียงภายในห้องฟังที่ลืมนึกถึงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อเสียงที่ออกมา และเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงต่อความสนุกสนาน ความตื่นเต้นในการชมภาพยนตร์ทั้งนั้น

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Reference Level in Home Theater (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้