CEDIAงานแสดงสินค้าด้านภาพและเสียง ที่มีทั้งการtraining การออกบูธแสดงสินค้า การโชว์ห้องฟัง โดยงานจะจัดขึ้นประจำทุกปีในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ปีนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14กันยายน 2562 ที่เมืองDenver รัฐColorado ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นอีกปีที่ผมได้ไปร่วมการtraining เดินชมห้องฟังในงานแสดงสินค้า พบว่ามีหลายอย่างที่น่าสนใจก็เลยเอามาเล่าให้ฟังในฉบับนี้กัน
งานCEDIAเริ่มมีการจัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 ถ้าจำได้เมื่อปีที่แล้วผมได้นำเรื่องงานCEDIA EXPO 2018มาเล่าให้ฟังไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนั้นงานจัดอยู่ที่เมื่องSan Diego รัฐCalifornia แต่ในปีนี้ได้เปลี่ยนเป็นเมืองDenverและก็จะจัดอยู่ที่เมืองนี้อีกปีหนึ่งก็แสดงว่างานในปีหน้างานCEDIA EXPO2020ก็ยังจะจัดอยู่ที่เดิมแล้วค่อยย้ายในปีถัดไป ลักษณะของงานCEDIAก็จะคล้ายกันในทุกปีคือจะมีงานทั้งหมด 5วันเริ่มจากวันอังคาร ในสองวันแรกจะมีแต่การเรียนtraining ส่วนอีกสามวันจะมีทั้งงานแสดงสินค้าEXPOและมีtrainingด้วย โดยtrainingก็จะแบ่งเป็น 2แบบคือ CEDIA trainingที่จะเชิญผู้มีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆมาสอนให้ความรู้ ส่วนอีกอันเป็นProduct trainingที่จะเป็นของแต่ละบริษัทพูดให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ในวันแรกหลังจากผมเดินทางถึงเมืองDenverประมาณห้าโมงเย็นก็เข้าไปregisterเอาแผ่นป้ายติดBar codeเพื่อคล้องคอเวลาเข้าห้องเรียนหรือห้องโชว์ต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็จะทำการscanก่อนเพื่อยืนยันว่าเราได้ลงทะเบียนเรียนในclassนั้นจริงๆ เนื่องจากบางclassก็ต้องมีการเสียเงินก่อนถึงจะทำการเข้าไปเรียนได้ แต่เนื่องจากว่าเครื่องบินจากNaritaไปยังDenverของผมDelayไปสองชั่วโมงจากพายุ ทำให้เวลาไปถึงงานล่าช้าไป เจ้าหน้าที่ในการregisterกลับไปหมดละเลยต้องค่อยมาใหม่ในวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันเริ่มtrainingแต่ว่าคนก็อาจจะเยอะบ้าง ก็แนะนำว่าถ้าใครไปถึงงาน มีเวลาก็ควรจะไปลงทะเบียนไว้ก่อนก็ดีจะได้ประหยัดเวลาในการไม่ต้องมาเสียเวลาในตอนเช้าที่คนมากขึ้น หลังจากไม่สามารถลงทะเบียนได้ก็เลยเดินผ่านหน้าสถานที่จัดงาน ก็เริ่มเห็นเจ้าหน้าที่ของแต่ละบูธเริ่มขนของติดตั้ง สร้างห้องฟังในแต่ละห้องกันแล้ว ก็ถือว่าที่นี่ต่างจากงานในบ้านเราเพราะให้เวลาในการติดตั้งนานกว่า โดยให้เวลาติดตั้งsetup กว่าสามวัน เพื่อแสดงในงานสามวัน แต่เมืองไทยเวลาsetup แค่หนึ่งวันเพื่องานแสดงโชว์สี่วัน เรียกได้ว่าคนติดตั้งไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลยสำหรับงานในเมืองไทย
เริ่มงานวันแรกวันที่ 10กันยายน ผมได้เข้าเรียนเรื่อง Advanced Video Calibration and Setup Including HDR โดยGregg Loewenอาจารย์คนเดิมที่เคยสอนปรับภาพTHX แต่ตอนนี้มาตั้งสถาบันเองชื่อ PVA(Professional Video Alliance) ถ้าใครสนใจเรื่องปรับภาพก็สามารถเข้าดูในWebsiteที่จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับภาพและมีcourse เรียนปรับภาพของPVAที่จะเปิดสอนไปทั่วโลก เนื้อหาที่เรียนในวันนี้เป็นหลักสูตรทั้งวันตั้งแต่9โมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ก็จะเน้นไปในเรื่องการปรับภาพตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการปรับHDRแต่เนื่องจากเป็นแค่วันเดียวการฝึกปฏิบัติก็จะเป็นการให้Greggเป็นคนทำให้ดูเป็นส่วนมาก จอภาพที่นำมาไห้ลองดูมีตั้งแต่จอทีวีOLED TV ทั้งของSony LGไปถึงโปรเจคเตอร์ของJVC, EPSON และตัวใหญ่ๆอย่างBarco ก็มีมาให้ลองปรับดูด้วย
วันที่สองผมได้ลงทะเบียนเรียนเรื่องHome Cinema Master Class ซึ่งเป็นclassที่ต้องเสียเงินลงทะเบียนเรียน มีผู้บรรยายสามคนได้แก่Joel Siver, Anthony Grimaniและ Theo Kalomirakis สำหรับJoel Silverไม่ต้องพูดถึงเข้าคือเจ้าพ่อด้านภาพผู้ก่อตั้งสถาบันด้านภาพISF มีคอร์สสอนปรับภาพทั่วโลก ที่เมืองไทยเคยมาเปิดสอนอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนและผมก็ได้เข้าร่วมเรียนด้วย ส่วนAnthony Grimani และTheo Kalomirakisเป็นนักออกแบบห้องhome theaterชื่อดังของอเมริกา คนเข้าฟังนับว่าคับคั่งมาถึงแม้จะเป็นclassที่ต้องเสียเงินเพิ่ม จนทางCEDIAต้องเปิดเป็นสองห้องติดกัน เท่าที่ดูจากจำนวนคนลงทะเบียนน่าจะเกือบๆ90คน เริ่มต้นจากการบรรยายของAnthony Grimaniที่ผมเคยฟังบรรยายแกมาบ้าง ผมว่าแกพูดได้ดี อธิบายได้ชัดเจนเห็นภาพ อาจจะเพราะจบด้านวิศวกรรมโดยตรง เคยทำงานทั้งที่Dolby และ Lucasfilm THX เชี่ยวชาญด้านAcousticsและการออกแบบลำโพง เคยได้รับรางวัลCEDIA Top Instructor award ซึ่งถ้าใครมีโอกาสผมแนะนำให้ลองฟังLectureของGrimaniดูจะได้อะไรอีกมาก เนื้อหาที่แกสอนในวันนั้นเน้นในเรื่องความถี่ต่ำ และการcalibrationลำโพง มีการสอนเทคนิคการใส่delayเพื่อให้ frequency responseมีความราบเรียบมากที่สุด โดยมีการทดลองใส่ในแบบต่างๆแล้วให้ดูผลออกมา แล้วจบลงด้วยการสอนEQ ว่าจะทำแบบไหนถึงจะเหมาะสมในสภาพห้องแต่ละแบบ เดี๋ยวเอาไว้ถ้ามีโอกาสผมค่อยเอาเนื้อหาที่แกอธิบายมาเล่าให้ฟังอีกที ต่อมาก็เป็นการบรรยายของTheo Kalomirakis ที่สำเนียงภาษาของแกจะติดกรีกนิดๆทำให้ฟังลำบากเหมือนกัน ส่วนมากเนื้อหาก็จะเป็นเรื่องการออกแบบห้องhome theater ในแบบต่างๆ การออกแบบ การใช้วัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงข้อควรระวังในการออกแบบ ส่วนในช่วงบ่ายJoel Silverมาบรรยายถึงเรื่องพื้นฐานในการปรับภาพ เนื้อหาส่วนมากผมเคยเรียนมาแล้วในclass isf มีเพิ่มเติมก็ในเรื่องของภาพแบบHDR
หลังจากจบclass Home Cinema Master เนื่องจากในวันรุ่งขึ้นจะเริ่มเปิดงานExpoที่มีการแสดงสินค้าด้านภาพ เสียง รวมถึงห้องฟังจากบริษัทต่างๆ วันนี้จึงเป็นการsetup และcalibrateห้องฟัง โชคดีทางบริษัทTrinnovได้ให้โอกาสผมเข้าไปชมการcalibrationห้องของทางTrinnovที่ร่วมกับ ลำโพงTriad และบริษัทรับทำห้องHTE โดยเป็นห้องsound roomที่จัดแสดงในระบบเสียงDTS:X Pro 11.4.6 เป็นครั้งแรกของฝั่งอเมริกา อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องนี้เรียกได้ว่าคัดมาอย่างดี Pre-processor ใช้ Trinnov รุ่น Altitude32, Power Amplifier เป็น Trinnov Amplitude8 ลำโพงfrontใช้Triad Gold, Surround Gold Mini Monitors, Subwoofer รุ่นPlatinumขนาด 18นิ้ว 2ตัวอยู่ด้านหน้า รุ่นSilver Subs 12นิ้ว อีกสองตัวอยู่ด้านหลัง โดยมีTriad 700เป็นpower amplifierขับSubwoofer โปรเจคเตอร์ที่ใช้เป็นBarco จอภาพของSeamour Screen Excellenc ต้นทางเป็นKaleidescape(Player and Movie Servers) ซึ่งเท่าที่ดูในงานCEDIAครั้งนี้sourceเกือบทั้งหมดใช้จากKaleidescape ห้องนี้ได้Adam Pelzคนปรับเสียงมืออันดับต้นๆของอเมริกามาปรับให้ ขั้นตอนการปรับเริ่มจากการปรับManual ร่วมกับการใช้Room Correction ExpertของTrinnovเพื่อที่จะดูค่าทั้งfrequency domain และ time domainของห้อง หลังจากปรับเสร็จก็มานั่งดูcontentจริงๆอีกหลายเรื่องเช่นtrackที่เป็นDTS X:Proโดยเฉพาะชื่อKoko, Shallowเพลงจากภาพยนตร์ A Star is Born ที่เป็นtrackยอดนิยมที่เปิดในงานCEDIA, เสียงปืนจากหนังเรื่องJohn Wick ในขณะฟังก็ปรับfine tuneในส่วนของcurve ให้เสียงเป็นไปในแนวทางที่ต้องการอีกที และตอนหลังเสร็จงานCEDIAผมก็พึ่งรู้ว่าห้องนี้ได้รับรางวัลBest show award at CEDIA2019 จากทางAVSForum ซึ่งนับว่าเป็นไปตามความคาดหมายเนื่องจากห้องนี้มีคนมาเข้าคิวรอจำนวนมากเพื่อมาฟังเสียงในระบบDTS X:Proจากห้องนี้
วันที่สามเป็นการเริ่มงานแสดงสินค้า และเปิดห้องฟังให้ได้ชมกัน แต่ก็ยังมีในส่วนของtrainingด้วย โดยช่วงเช้าได้เข้าเรียนในclass Home Theater Audio and Acoustics, Part1 ความจริงclassนี้เคยเข้าไปแล้วทั้งpart 1,2,3เมื่อปีที่แล้วแต่ปีนี้เปลี่ยนคนสอนเป็นJeff Gardnerก็เลยลองมาเรียนดูอีกรอบหนึ่ง เนื้อหาก็เป็นพื้นฐานด้านเสียงในห้องขนาดเล็กคล้ายๆกับปีที่แล้วที่สอนโดยTodd Welti และ Sean Olive ศิษย์เอกของ Dr.Floyd Tooleเจ้าพ่อAcousticsในห้องขนาดเล็ก ส่วนในช่วงบ่ายก็ได้เวลาเดินดูสินค้าภายในงานexpo เข้าชมห้องsound roomต่าง ส่วนในวันอื่นผมก็ได้ลงเรียนclassที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องเช่น “Immersive Audio: Unified 3D Speaker Layouts for Multiple Listeners” , “Digital Cinema Initiatives-From the Commercial Movie Theater to Your Customers’ Homes” และที่เป็นproducts trainingอีกได้แก่ “UltraWide 4K anamorphic cinema made simple why and how better than commercial cinema resolution is transforming the home theater landscape” , “Home Projector Solutions:See the Sony Difference” และclassสุดท้ายที่เรียนได้แก่ “Sony High-Performance TV Solutions-See the Difference”
ภายในงานCEDIA EXPO 2019วันแรกช่วงบ่ายมีคนเข้าร่วมงานจำนวนมาก ถึงแม้บริเวณจัดงานColorado Convention Centerในชั้นที่เป็นExhibit Hallจะมีขนาดถึง 90,000ตารางฟุต แต่เมื่อมีบูธต่างๆและห้องฟัง รวมกับคนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากก็ทำให้สถานที่ดูคับแคบไปถนัดตา คนที่มาร่วมงานในสองวันแรกที่เป็นวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ก็จะเป็นคนทำงาน หรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับด้านเสียงและภาพโดยตรง ส่วนในวันเสาร์วันสุดท้ายของงานส่วนมากก็จะเป็นนักเล่น ผู้ชื่นชอบในhome theater ดูหนัง ฟังเพลง สำหรับภายในงานแต่ละบูธก็จะโชว์ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่พึ่งจะออกสู่ตลาด หรือตัวที่เป็นเรือธงในระดับสุดยอด หาฟังยากมาให้ดูกัน ห้องฟังที่เป็นsound roomหรือ home theaterก็มีให้ชมหลายห้อง งานโชว์จะเริ่มตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้าจนถึงประมาณหกโมงเย็น แต่ส่วนมากที่เห็นห้าโมงกว่าๆก็ทยอยกันกลับแล้ว ตรงนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าแตกต่างจากงานแสดงเครื่องเสียงในบ้านเราที่ส่วนมากคนจะมาหลังห้าโมงหกโมงเย็นในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์คนจะเยอะมากขึ้น แต่ที่งานCEDIAนี้ช่วงกลางวันวันพฤหัสบดี วันศุกร์คนจะเยอะมาก ช่วงเย็นคนก็จะน้อยลง ส่วนวันเสาร์คนก็จะน้อยลงอีก น่าจะเพราะคนที่มาเดินในงานนี้ส่วนมากเป็นคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง มาเพื่อธุรกิจหรือหาความรู้กันจริงจัง
Sound Roomที่เปิดให้เข้าไปฟังเสียงจริงๆมีอยู่หลายสิบห้องในงานนี้ เรียกได้ว่าถ้าจะฟังให้แบบละเอียดครบทุกห้องนั้น สามวันไม่น่าจะพอ ผมขอเอาห้องที่น่าสนใจ ห้องที่เด่นๆในงานมาเล่าให้ฟังพอเห็นภาพ ห้องแรกก็ได้เล่าให้ฟังไปแล้วคือห้องแสดงเสียงDTS X:Proที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้ว ห้องต่อมาที่น่าสนใจทุกปีอีกห้องคือห้องแสดงของทางลำโพงWisdom ห้องนี้คนเขาคิวรอก็ไม่น้อยไปกว่าห้องของทางDTS X:Pro ทั้งที่ขนาดห้องใหญ่กว่าจุคนฟังได้รอบละ 24คน คนที่เข้าคิวรอต้องนับกันเลยว่าอีกกี่รอบถึงจะได้เข้าไปชมจะรอไหวไหม เพราะถ้าเสียเวลารอมากเกินไปก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสห้องอื่นๆได้ ห้องนี้ที่มีคนสนใจมากเนื่องจากว่าทางWisdom Audio เห็นว่าจัดหนักกว่าทุกปี(ที่ทุกปีก็จัดหนักอยู่แล้ว) ขนอุปกรณ์ในห้องราคาร่วมยี่สิบกว่าล้านมาโชว์ในระบบเสียง 13.6.8 โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องได้แก่Pre-processorของ Trinnov รุ่น Altitude32 แน่นอนลำโพงทั้งหมดเป็นของWisdom โดยลำโพงLCRและSurroundใช้ตัวWisdom Audio Series LS4i, ลำโพงTop Surroundเป็นWisdom Audio Cinema Point 2V2, Subwooferเป็น Wisdom Audio STS RTK จำนวน6ตัว วางไว้ด้านหน้าสี่ตัว ด้านข้างสองตัว เห็นบอกว่าตอนแรกเตรียมมา 8ตัวแต่วางดูแล้ว 6ตัวเสียงดีกว่า โปรเจคเตอร์เป็นBarco Loki จอภาพSeamour Screen เครื่องเล่นก็ใช้Kaleidescape การโชว์ก็เริ่มจากการแนะนำSystemทั้งหมด แล้วจึงทำการเปิดคลิปทั้งหมด 3Tracks เรื่องแรกจากภาพยนตร์ The Missing Link เพื่อโชว์ความมีclarityของเสียงDialogที่ให้ทั้งความสดใส Trackต่อมาเป็นเรื่องUnbrokenฉากยิงต่อสู้กลางอากาศที่คุ้นตาในคลิปจากหลายแผ่นทดสอบ ฉากนี้แสดงความคมชัด impact เสียงความถี่ต่ำ และTrackสุดท้ายเพลงจากคอนเสิร์ต Hans Zimmer Live in Prague แสดงถึงความใหญ่โต เสียงเบสที่แน่น บรรยากาศโอบล้อมดังเช่นได้เข้าไปอยู่ในคอนเสิร์ตจริงๆ พอจบสามคลิปที่แสดงนี่ผมได้ยินคนปรบมือให้หลายคน ซึ่งนับได้ว่าห้องนี้เป็นห้องที่ผมประทับใจเสียงอีกห้องหนึ่งในงานCEDIA2019ครั้งนี้เลย อีกห้องที่มีคนต่อคิวยาวไม่แพ้สองห้องแรกก็ได้แก่ห้องแสดงของลำโพง Klipsch โดยเปิดตัวลำโพงที่เอาระบบในProfessional เข้ามาสู่ในบ้านในชื่อModular Consumer Cinema System ที่มีการวางลำโพงLCR สลับกับมีSubwooferสองตัวเรียงกันเป็นแผงอยู่ข้างหลังจอภาพ ในโชว์เปิดอยู่สองสามtracks มีtrackเสียงปืนจากJohn Wick เพลงShallow สรุปเท่าที่ฟังโดยรวมแล้วต้องบอกว่าKlipshในseriesนี้เสียงไม่ธรรมดาเลย ถึงแม้จะไม่ให้เสียงเหนือชั้นสุดยอดเหมือนลำโพงราคาแพงมากๆหลายตัว แต่เสียงที่ออกมานั้นสร้างบรรยากาศใหญ่โตของโรงภาพยนตร์ได้ดี เสียงความถี่ต่ำที่มีพลัง เสียงDialogที่สดใสแนวลำโพงKlipshยังอยู่ครบ จุดสำคัญคือราคาของอุปกรณ์ทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ไกลสุดกู่แบบเอื้อมไม่ถึง ผมว่าน่าจับตาสำหรับลำโพงในSystemนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลำโพงในSystemนี้ยังไม่ได้วางจำหน่ายในอเมริกา เห็นว่าจะเริ่มจัดจำหน่ายต้นปีหน้า ก็รอดูกันว่าลำโพงในSeriesนี้จะเข้ามาขายในประเทศไทยหรือไม่ อีกห้องที่ลืมกล่าวถึงไม่ได้คือห้องของลำโพงAlcons®ที่ขนเอาลำโพงAlcons®ตัวดังๆที่มีพื้นฐานมาจากลำโพงในโรงภาพยนตร์มาเต็มที่ โดยลำโพงLCRวางไว้หลังจอใช้รุ่น Cinema Reference Monitor System(CRMS) mkII ,subwoofer CRMSC-LFE 18นิ้ว, Surround SRHV90, SRHV120 ใช้Pre-pro Storm Audio ISP 3D.32, โปรเจคเตอร์ Sony VPL-VW5000ESผ่านanamorphic lensของParamorph ฉายลงบนจอภาพ Screen Acoustics UltraWeave V6 ในห้องนี้เปิดโชว์คลิปแบบยาวๆไม่ตัดเกือบครึ่งชั่วโมง ทั้งจากหนังเรื่องAlita เพลงShallowยอดนิยมที่เปิดกันเกือบทุกห้อง โดยรวมแล้วห้องนี้ต้องยกให้ในเรื่องเนื้อเสียงของคน เสียงร้องมีความสดใสโดดเด่นตามสไตล์ของRibbon tweeter เสียงความถี่ต่ำทำได้ดีมีความกลมกลืนกันของเสียง ที่ชอบอีกอย่างของห้องนี้เลยคือถึงแม้จอภาพใหญ่แต่ภาพก็ยังมีความสว่าง สวยงามดีมาก ไม่มีการdropลงของภาพถึงแม้จะใช้เลนส์ภายนอกอยู่ก็ตาม และในส่วนของบูธแสดงสินค้าต่างๆ ผมคงให้ดูจากรูปภาพเอาเลยเนื่องจากว่ามีบูธสินค้าอยู่เยอะมากเล่าไปคงไม่หมด เลยให้ดูรูปดูบรรยากาศงานเอาเลยละกัน
สำหรับงานแสดงสินค้าและโชว์เครื่องเสียงประจำปี CEDIA EXPO 2019 ได้จบลงแล้วพบกันอีกทีเดือนกันยายนในปีหน้า ที่จะจัดแสดงอยู่ที่เดิมคือเมืองDenver รัฐColorado ซึ่งถ้าใครชื่นชอบในเรื่องของภาพและเสียงโดยเฉพาะในงานHome Theater/Home Cinema งานCEDIAนั้นไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเป็นงานที่มีทั้งการฝึกสอน มีการแสดงสินค้า มีห้องฟังSound roomที่ภาพสวยเสียงดีระดับโลกโชว์อยู่เป็นจำนวนมาก ไปงานเดียวเรียกได้ว่าได้รับทั้งความรู้ประสบการณ์การฟังอย่างมากมาย คอHome Theaterผมขอแนะนำเลยสำหรับงาน CEDIA EXPOครับ