Article

Search

Calibrated 4K HDR Projector

ถ้าพูดถึงภาพ UHD HDRหรือเรียกง่ายๆว่า4K HDR สำหรับทีวีก็ถือว่าเป็นระบบภาพที่ให้ความสวยงาม คมชัด สมจริงกว่าระบบ Full HD หรือ 1080p แต่สำหรับโปรเจคเตอร์แล้วระบบภาพ 4K HDRในช่วงก่อนหน้านี้ยังถือว่าไม่ค่อยน่าพอใจกับภาพที่ออกมานัก จนบางคนถึงกับบอกเลยว่าถ้าเป็นโปรเจคเตอร์แล้วจะดูแผ่นแบบ4K HDRให้ปิดระบบHDRไปเลยดีกว่าเนื่องจากภาพที่ออกมาดูไม่ธรรมชาติการไล่เฉดสีก็ไม่เนียนขาวเกินไปในบางที่ บางที่ก็สีดำเป็นปื้นๆ สีสันก็เข้มเกินจริงหน้าดาราประหนึ่งจะแสดงลิเก หน้าผู้ชายออกมาปากทาลิปติกแดงเชียว แต่ในปัจจุบันโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ที่ออกมาสนับสนุนภาพแบบHDRให้ภาพได้ดีกว่าเดิมมาก วันนี้เลยจะมาพูดถึงระบบนี้ในโปรเจคเตอร์กันว่ามีการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ได้เวลาซื้อเครื่องเล่นโปรเจคเตอร์HDRมาเล่นหรือยัง หรือจะรอให้พัฒนาอีกหน่อย รวมไปถึงถ้าซื้อมาแล้วจะปรับภาพแบบง่ายๆยังไงให้ภาพ 4K HDRมีภาพออกมาได้สวยงามเป็นธรรมชาติ

ก็สืบเนื่องมาจากผมได้โปรเจคเตอร์ตัวใหม่ JVC DLA-X9900BE ซึ่งเป็นโปรเจคเตอร์ที่รองรับระบบภาพแบบ 4K HDRมาประจำการแทนตัวเดิม JVC DLA-RS56ที่ใช้มานานหลายปีแล้วและความละเอียดสูงสุดยังได้แค่ระดับ 1080pอยู่ ทำให้เกิดปัญหาเวลาจะดูหนังใหม่ๆในระบบเสียง Immersive Soundพวก Dolby Atmosหรือ DTS-X ที่บางเรื่องระบบเสียงเหล่านี้จะใส่ลงมาเฉพาะในแผ่น4K ถ้าเป็นแผ่นBlu-ray 1080pก็จะมีแต่ระบบเสียงTrue HDหรือ DTS HDเท่านั้น ครั้นจะดูแผ่น4Kแล้วdownscaleให้มาเป็น1080pภาพที่ออกมาก็ดูมืดทึมๆดูแทบไม่ได้ เลยคิดว่าควรจะถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงระบบภาพให้เป็น4K HDRแล้ว แต่ก็คิดหนักอยู่เหมือนกันเพราะผ่านมาถ้าเป็นโปรเจคเตอร์ที่รองรับระบบHDRนั้นภาพถือว่ายังไม่ผ่าน แต่พอเห็นJVCออกโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ออกมาเลยว่าจะลองมาดูภาพHDRของโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ๆบ้างว่าภาพที่ออกมาจะเป็นยังไงบ้าง

ภาพที่1 โปรเจคเตอร์JVC DLA-X9900BEรุ่นใหม่เทียบกับ JVD DLA-RS56

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องของภาพHDR รวมถึงการปรับภาพ ขอพูดถึงโปรเจคเตอร์JVC DLA-X9900BEตัวนี้คร่าวๆก่อนว่ามีจุดเด่นอะไรบ้าง โปรเจคเตอร์ตัวนี้เป็นรุ่นใหญ่สุดในSeriesนี้ใช้ชิป D-ILAของJVCโดยเป็นเทคโนโลยี e-shift5เพื่อให้สามารถแสดงภาพที่รายละเอีย 3840X2160pixels รองรับระบบHDR ทั้ง HDR-10และ HLG(Hybrid Log-Gamma) แต่ยังไม่รองรับDolby Vision HDR(ในขณะเขียนต้นฉบับนี้ยังไม่มีโปรเจคเตอร์Home Theaterตัวใดที่รองรับ Dolby Vision HDRในท้องตลาด) รูปร่างภายนอกทั่วไปก็คล้ายๆรุ่นเดิมๆของJVCทำให้การติดตั้งเข้าไปแทนโปรเจคเตอร์JVCตัวเดิมทำได้ง่ายเพราะขนาด ตำแหน่งของนอตยึดต่างๆก็ยังเหมือนเดิม ในส่วนช่องต่อเชื่อมด้านหลังจุดเด่นจะอยู่ที่มีช่องต่อ HDMI2ช่องแบบHDMI 2.0b ที่รองรับBandwidthความเร็วระดับ 18Gbpsทำให้โปรเจคเตอร์เครื่องนี้สามารถจัดการกับระบบภาพแบบ4Kที่60เฟรมต่อวินาที บนbit depthหรือchroma subsamplingที่สูงๆได้ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไรเพราะที่ผ่านมามีภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวคือBilly Lynn’s Long Halftime WalkของAng Leeที่บันทึกภาพแบบ 4K HDR 60Frame per secondส่วนภาพยนตร์เรื่องอื่นๆล้วนเป็น24Frame per secondกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นApple TV, Android 4K box, Game Consoleฯลฯ เหล่านี้สามารถส่งสัญญาณแบบ 50-60 Frame per second เพื่อรองรับรายการต่างๆที่บางทีถ่ายเป็น 50Hz-60Hz เพื่อให้ภาพออกมามีการเคลื่อนไหวที่smoothสมจริงเหมือนในธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะพวกรายการกีฬา ดังนั้นในตอนนี้ถ้าจะซื้อโปรเจคเตอร์ต้องลองศึกษาดูให้ดีก่อนว่าภาพที่ได้มาจะสามารถส่งผ่านBandwidth 18Gbpsได้ไหมเพราะถ้าส่งไม่ถึงก็ทำให้ต้องลดค่าChroma Subsamplingหรือลดความถี่ลงจากnative frame rate ทำให้คุณภาพของภาพลดลงตามไปด้วย

ภาพที่2 ช่องต่อHDMI2.0bทำให้รองรับBandwidthความเร็วระดับ 18Gbpsได้

มาดูเรื่องคุณภาพของภาพบ้าง สิ่งที่เป็นSignatureของโปรเจคเตอร์JVCก็คือเรื่องของความดำจนถึงกับมีผู้ชำนาญด้านภาพบางคนเปรียบไว้ว่าJVCนี่เป็นOLEDของโลกโปรเจคเตอร์เลยทีเดียว ซึ่งโปรเจคเตอร์ตัวนี้สามารถทำ contrastได้ดีกว่ารุ่นก่อนอย่างมากเพื่อที่จะทำให้สามารถรองรับระบบภาพแบบ 4K HDR ส่วนที่มีชื่อเสียงอีกอย่างของโปรเจคเตอร์JVCก็คือเรื่องของชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพและการจัดวางเลนส์อย่างเหมาะสมทำให้สามารถถ่ายทอดความตื้น ความลึกของภาพได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด สีสันเป็นธรรมชาติ ให้อารมณ์ความรู้สึกถึงความเป็นภาพจากฟิล์มภาพยนตร์ เวลาดูทำให้มีอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้เป็นอย่างดี

ภาพที่3 ชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพและการจัดวางเลนส์อย่างเหมาะสมทำให้สามารถถ่ายทอดความลึกของภาพได้ดี

ก่อนที่จะพูดต่อไปถึงเรื่องการCalibration 4K HDRขอพูดถึงศัพท์และคำย่อต่างๆที่จะต้องเจอในเรื่องของ 4K HDR เผื่อเวลาอ่านต่อไปในเรื่องนี้จะได้ไม่งง(หรือว่าจะงงมากขึ้นหว่า555)

APL = Average Picture Level หมายถึง ระดับความสว่างโดยเฉลี่ยของภาพ

HDR = High Dynamic Range

SDR = Standard Dynamic Range

4K, DCI 4K, Full 4K= ความละเอียดของภาพที่ 4096×2160 ซึ่งเป็นความละเอียดของภาพในวงการภาพยนตร์

UHD  = Ultra High Definition ความละเอียดของภาพที่ 3840×2160

HD,1080p, Full HD = High Definition ความละเอียดของภาพที่ 1920×1080ใช้ในวงการทีวี หรือวิดีโอภายในบ้าน

Dolby Vision = ระบบHDRของบริษัทDolby

HDR10 = ระบบHDRที่ใช้กันโดยทั่วไปเนื่องจากไม่ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์เหมือนระบบDolby Vision HDR

HDR10+ = ระบบHDRที่พัฒนาขึ้นมาจากHDR10โดยเฉพาะเพิ่มในเรื่องของdynamic metadata

DeltaE = ค่าเปอร์เซนต์ความเพี้ยนของgreyscaleหรือสีจากค่ามาตรฐาน

DeltaICtCp = ค่าเปอร์เซนต์ความเพี้ยนของgreyscaleหรือสีจากค่ามาตรฐาน ที่แนะนำให้ใช้สำหรับHDR

D65 = ค่าสีขาวมาตรฐาน ถ้าเทียบจากกราฟแกน x และ y จะอยู่ที่ x 0.3127 , y 0.329

EOTF = Electro Optical Transfer Function เป็นการแปลงค่าทางไฟฟ้ามาเป็นความสว่างของภาพบนจอ

OETF = Opto-electrical Transfer Function การแปลงภาพจริงให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าในกล้อง

Gamma = เป็นค่า EOTFที่ใช้สำหรับ SDR

BT.1886 = ค่าgammaที่อยู่ที่ประมาณ 2.4 ใช้ในSDR

CD/M2 = ความสว่างแรงเทียนต่อตารางเมตร

Nit = ความสว่างของแสงที่มีค่าเท่ากับ 1 cd/m2

fL = foot-lambert ความสว่างที่มีค่าเท่ากับ 3.426 cd/m2

IRE = ค่าความสว่างที่คำนวณจากค่าVoltageที่ใส่เข้าไปเช่น100IREหมายถึง0IREดำที่สุด 100IREสว่างที่สุด ส่วนคำว่าIREย่อมาจากคำว่า Institute of Radio Engineers

P3, DCI-P3 = ความกว้างของเฉดสีที่จอภาพสามารถแสดงได้ ส่วนมากใช้ในวงการภาพยนตร์

ST.2084 = มาตรฐาน EOTF สำหรับ HDR ของ SMPTE ที่พัฒนาขึ้นโดยDolby

PQ = Perceptual Quantizer เป็นชื่อเล่นของ ST.2084

BT.2390 = มาตรฐาน EOTF สำหรับ HDR ที่แนะนำโดย ITU(International Telecommunication Union)

Color Gamut = ความกว้างของเฉดสีที่ทำได้เทียบกับความกว้างของเฉดสีทั้งหมดที่ตามนุษย์สามารถมองเห็นได้

CMS = Color Management System ระบบการจัดการ และปรับแต่งสีของภาพ

BT.709 = ความกว้างของเฉดสีที่จอภาพสามารถแสดงได้สำหรับ HD SDR และ UHD SDR

BT.2020,rec2020 = ความกว้างของเฉดสีที่จอภาพสามารถแสดงได้สำหรับ UHD SDR และ UHD HDR

Max CLL= Maximum Content Light Level ค่าความสว่างสูงสุดในหน่วยnits ของแต่ละpixel

Max FALL = Maximum Frame Average Light Level เป็นค่าความสว่างสูงสุดในหน่วยnits เฉลี่ยทุกpixelของแต่ละframe

Highlight roll off = ในการcalibrateภาพ4K HDR จะหมายถึงการตกลงของความสว่างที่มากเกินความสว่างสูงสุดของจอภาพที่จอภาพจะสามารถทำได้ ทำให้แทนที่จะสว่างมากขึ้นกลับเป็นเส้นตรงหรือสว่างเท่าเดิมหลังจากจุดนี้

ภาพ HDRที่เห็นกันในตอนนี้นั้นส่วนมากมากจากการgrading HDR บนmonitorอยู่สองตัวคือ Sony’s Broadcast Video Monitor X300(BVM-X300) ที่เป็น 4K(4096×2160) OLED ความสว่างสูงสุดที่ 1000nits และ Dolby’s Pulsar ที่เป็น 1080p LCD สามารถปรับdimming zoneได้2000ตำแหน่งทำให้ได้ความสว่างถึง 4000nits จุดสำคัญก็คือไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ cinematographerหรือ coloristที่ปรับภาพเขาไม่ได้มาสนใจหรอกว่าคนดูทีวีหรือโปรเจคเตอร์อยู่ที่บ้านจะใช้จออะไร คุณสมบัติเป็นอย่างไรบ้าง เขาสนใจแต่ว่าเขาปรับให้ภาพออกมาดีที่สุดตามความต้องการของเขาหรือของผู้กำกับบนจอreference monitorที่ใช้อยู่เท่านั้น แล้วแบบนี้เราจะทำอย่างไรให้ภาพHDRที่ดูอยู่ในบ้านออกมาได้ดี ถูกต้องเหมือนreference monitorเหล่านี้ เชื่อไหมครับว่าเรื่องนี้ทางDolby ได้ศึกษาและวิจัยมาก่อนตั้งแต่ใครๆยังไม่รู้จักHDR ก็ราวๆประมาณปี พ.ศ.2546โน้นที่ได้เริ่มพัฒนาจอ HDR LED ที่สามารถทำlocal dimmingได้ จนกลายมาเป็นระบบของDolby Visionในปัจจุบัน โดยระบบDolby Visionจะเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่เครื่องมือและมาตรฐานของจอภาพที่ใช้ในการgradingภาพ การเข้ารหัสเพื่อการส่งต่อข้อมูลหรือที่เรียกกันว่าmetadataต่างๆ จนไปถึงจอของผู้บริโภคทั่วไปเพื่อให้สามารถแสดงภาพอย่างถูกต้องเที่ยงตรงภายในบ้าน ยกตัวอย่างเช่นที่บ้านมีจอDolby Visionสามารถแสดงความสว่างได้สูงสุด 500nits รองรับเฉดสีแค่50%ของRec.2020 แต่ภาพยนตร์ได้ถูกgradingและmasteringบนจอที่เป็น4000nits ดังนั้นความสว่างจาก 500nits จนถึง 4000nits ตัวDolby Vision processor chipในจอทีวีที่บ้านก็จะนำเอาmetadata เหล่านี้ไป remapping(tone mapping)หรือไปกำหนดใหม่ในแต่ละเฟรมภาพให้ความสว่างรวมถึงความกว้างของเฉดสีให้เข้ากันกับจอทีวีที่อยู่ในบ้านได้ ซึ่งทางDolby Visionก็ได้สร้างค่าEOTF ใหม่มาใช้แทนค่าgammaเดิมที่ใช้ต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานสำหรับจอCRT โดยตัวEOTFตัวใหม่นี้มีชื่อว่า Perceptual Quantizer(PQ) EOTF ทำให้สามารถรองรับจอภาพHDRสมัยใหม่ที่มีDynamic Rangeกว้างมาก ซึ่งรองรับจากความดำtrue 0blackจนถึงความสว่าง 10000nits หลังจากนั้นPQได้พัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับจอประเภทต่างๆจนสถาบัน SMPTE(Society of Motion Picture and Television Engineers)รับรองและตั้งชื่อมาตรฐานตัวนี้ว่าเป็น ST2084

รูปที่4 จอภาพ Sony Broadcast Video Monitor X300
รูปที่5 จอภาพ Dolby Pulsar

แล้วถ้าDolbyทำได้ดีแล้วทำไมถึงยังมีHDRแบบอื่นเกิดขึ้นมาอีก ปัญหามันอยู่ที่Dolby Visionไม่ใช่ของฟรี ใครที่จะใช้ระบบนี้ได้ต้องมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จึงได้มีการพัฒนาHDRแบบอื่นๆที่ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ขึ้นมา ซึ่งก็คือ HDR10 และก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน สำหรับHDR10นี้โดยโครงสร้างหลักๆก็คือการย่อส่วนหรือเป็นSubsetของDolby Vision HDR ที่เรียกเป็นHDR10ก็เพราะใช้การเข้ารหัสข้อมูลเป็น10bit ไม่เหมือนDolby Visionใช้การเข้ารหัสแบบ12bitที่ให้ความละเอียดได้มากกว่าHDR10 จุดสำคัญที่แตกต่างกันอีกอย่างก็คือHDR10 ไม่ได้มีการทำมาตรฐานเดียวกันตั้งแต่เริ่มต้นในห้องpost productionมาจนถึงที่บ้าน มาตรฐานในการสร้างtone mapping และ gamut mapping ยังไม่เป็นอันเดียวกันเหมือนเช่นDolby Vision HDRที่สร้างมาตั้งแต่ต้นทาง ค่าPQ/ST2084ก็ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากHDR10 การนำไปใช้ก็นับว่ายังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะใช้ในโปรเจคเตอร์ที่มีความสว่างแค่ร้อยกว่าnits ดังนั้นในHDR10จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความสว่างที่metadataใส่มาเกินความสว่างที่จอภาพสามารถทำได้ เช่นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใส่metadataมา1000nitsแต่จอสามารถให้ความสว่างสูงสุดแค่150nits ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าจอภาพนี้จะแสดงผลอย่างไรเพราะทีวีแต่ละยี่ห้อ โปรเจคเตอร์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นก็จะมีการจัดการที่ต่างกันหรืออาจจะบอกว่าจอภาพแต่ละยี่ห้อมีtone mapping curveที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่นtone mapping curveก็ไม่เหมือนกัน และอีกอย่างHDR10ไม่ได้เป็นdynamic metadataเหมือนDolby Visionแต่เป็นstatic metadataทำให้ต้องใช้tone mappingเดิมตลอด ฉากบางฉากที่สว่างมากๆต้องใช้tone mappingเดียวกันกับฉากสว่างธรรมดาซึ่งบางทีtone mappingอันนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับฉากที่สว่างมากๆ ไม่เหมือนกับDolby Visionที่tone mapping curveจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ละเฟรมภาพเลยทำให้สามารถใช้tone mappingได้เหมาะสมกับฉากนั้นๆมากกว่า แต่ในตอนนี้ทางวิศวกรด้านภาพก็ได้พยายามปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆให้ดีขึ้นเช่นมีการพัฒนาเป็นHDR10+ ที่พยายามเพิ่มในส่วนของdynamic metadata ถึงแม้ว่าจะยากหน่อยที่จะทำให้สมบูรณ์เหมือนDolby Vision ส่วนEOTF ST2048ทางITUก็ได้พัฒนามาตรฐานBT.2309เพื่อให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับจอที่ให้ความสว่างน้อยๆเช่นจอโปรเจคเตอร์ขึ้นมา ค่าDeltaEที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ก็แนะนำให้ใช้เป็นDelta ICtCpที่เหมาะสมกับการcalibrationจอพวกHDRมากกว่าเดิม เราผู้บริโภคก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าจะมีอะไรพัฒนาออกมาอีกสำหรับHDRเพราะเทคโนโลยีก้าวไปทุกวัน

รูปที่6 Dolby Vision และ HDR10 เป็นระบบHDRที่มีที่มาและคุณลักษณะต่างกันทำให้การปรับภาพมีความแตกต่างกัน

ที่พูดมากันอย่างยืดยาวเกี่ยวกับระบบของจอภาพก็เพราะว่าจะได้มีพื้นฐานในเรื่องcalibrationจอภาพแบบHDR ซึ่งในที่นี้ผมจะเน้นไปที่การcalibrateจอโปรเจคเตอร์แบบHDRเท่านั้น ดังนั้นจึงขอข้ามเรื่องการcalibrateภาพแบบDolby Vision HDRไปเนื่องจากในตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ก็ยังไม่มีโปรเจคเตอร์ที่จำหน่ายในท้องตลาดตัวไหนรองรับระบบDolby Vision HDR จอโปรเจคเตอร์ที่ออกมาเพื่อใช้ในห้องhome theaterใช้แต่ระบบHDR10อยู่ ก็อย่างที่ได้บอกไปว่าความแตกต่างหลักระหว่างการcalibrate HDR10กับDolby Vision HDRก็คือ HDR10ไม่ได้มีมาตรฐานกลางหรือGolden ReferenceเหมือนDolby Visionดังนั้นการวัด,การcalibrationของHDR10มันจึงเป็นการทำเพื่อให้จอภาพที่กำลังcalibrateเข้าใกล้ST.2048หรือBT.2309 ตามกำลังของจอภาพนั้นๆ ส่วนความกว้างของเฉดสีก็อ้างอิงตามBT.2020 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีจอภาพใดสามารถทำได้ ดังนั้นเราจึงไม่รู้เลยว่าจอภาพแต่ละตัวที่calibrate HDR10 จะremapping gamutที่อยู่นอกเหนือความสามารถของจอภาพไปในทางไหนอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับโปรเจคเตอร์แต่ละตัว อ่อ…อีกอย่างหนึ่งความกว้างเฉดสีแบบP3นั้นเน้นใช้ในงานภาพยนตร์ แต่สำหรับแหล่งข้อมูลแบบแผ่นUHD 4K HDRใช้การอ้างอิงจากมาตรฐานBT.2020เท่านั้น P3อาจจะใช้แค่บอกว่าจอภาพของเราแสดงได้กี่เปอร์เซนต์ของP3 แต่ในการปรับภาพค่าcolor gamutให้อ้างจากBT.2020เท่านั้น แต่จอภาพจะรองรับได้เท่าไรนั้นก็ต้องดูแต่ละจอภาพไป เบื้องต้นก็อาจจะตั้งค่าให้calibrateที่ความสว่าง 50% , 50%ความเข้มสี

รูปที่7 แผ่น4K HDRของ R.Masciola’s UHD HDR10 Test Patterns Suite
รูปที่8 เมนูหน้าแรกของแผ่นR.Masciola’s UHD HDR10 Test Patterns Suite

คราวนี้มาถึงการปรับภาพ4K HDRแบบจริงๆกันแล้ว เริ่มต้นแบบพื้นฐานใช้แค่แผ่นในการปรับก่อน โดยผมจะใช้แผ่น4K HDR ของ R.Masciola’s UHD HDR10 Test Patterns Suite ช่วยในการปรับและทดสอบ หน้าตาแผ่นก็อย่างในรูป มีขายในรูปแบบไฟล์ให้downloadด้วยใครสนใจก็ลองไปซื้อหามาใช้งานได้ครับราคาแค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ความจริงแผ่นที่ใช้ปรับ4K HDRก็มีอยู่หลายค่ายยังไงลองเลือกเอาที่ชอบ ที่ถนัดละกันเพราะแต่ละแบบก็มาจากพื้นฐานเหมือนกัน มาถึงแผ่นR.Masciolaเปิดแผ่นขึ้นมาก็จะมีเมนูให้เราเลือกหลายหัวข้อ เริ่มต้นไปที่Basic Setup Patterns เลือกหัวข้อBlack Clippingก่อน ซึ่งหัวข้อนี้ก็คือการตั้งค่าBrightnessของจอภาพ เข้าไปก็จะเป็นภาพแท่งสีดำกระพริบสิ่งที่ต้องทำก็คือตั้งค่าBrightnessให้แท่งตรงReferenc Black(0% หรือ IRE64)และน้อยกว่ากลายเป็นcompletely blackกลืนไปกับพื้นสีดำไม่เห็นการกระพริบ ส่วนแท่งที่เหลือที่มีค่ามากกว่าreference blackก็ให้เห็นการกระพริบเหมือนปกติ ในหัวข้อBlack Clippingจะมีอยู่2แบบ อีกแบบจะขยายเข้าไปในส่วนที่ใกล้กับReference Blackก็ให้ทำคลิปแรกก่อนแล้วค่อยขยายเข้าไปยืนยันในคลิปที่สองก็ได้

รูปที่9 หน้าจอBlack Clipping ใช้ปรับค่าBrightness

ต่อมาก็มาดูในส่วนของWhite Clipping คลิปนี้ก็จะช่วยในการตั้งค่าContrastของภาพHDR จะมีอยู่ทั้งหมดสามคลิปแต่ละคลิปจะเป็นภาพแท่งสีขาวที่ไล่ความสว่างตั้งแต่ 50%หรือ92nitsขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 100%หรือ10000nitsกันเลยทีเดียว ซึ่งค่านี้จะเป็นการตั้งให้ว่าเราต้องการแยกแยะรายละเอียดในภาพสีขาวมากๆได้สูงสุดกี่nits เช่นตั้งให้แท่งสีขาวกระพริบตั้งแต่ 1000nitsลงมาก็แสดงว่าmetadataที่ใส่ลงมาในภาพถ้าน้อยกว่า 1000nitsเราก็สามารถแยกรายละเอียดของสีขาวได้ แต่ถ้ามากกว่า1000nits ก็จะไม่รายละเอียดในสีขาวนั้นๆหรือที่เรียกกันว่าwhite clipping และถ้าลดค่าcontrastในจอภาพลงเราก็จะเห็นแท่งที่กระพริบมากขึ้นไปเรื่อยๆแสดงว่าสามารถแยกแยะรายละเอียดบนmetadataที่ความสว่างสูงๆได้ แต่จอภาพก็จะดูมืดลงเรื่อยๆ หรือถ้าปรับไม่ถูกต้องเมื่อลดค่าcontrastลงมาจนแยกรายละเอียดบนความสว่างสูงๆได้ภาพแท่งสีขาวที่สว่างมากๆก็จะกลายเป็นสีอื่นเช่นสีฟ้า สีแดงเป็นต้น แบบนี้เรียกว่าเกิดdiscolorationที่IREสูงๆ ก็ต้องกลับไปcalibrateใหม่ให้แท่งกลายเป็นสีเทากลางไม่เจอสีอื่นใดๆ ซึ่งที่ผมได้ลองปรับดูการตั้งไว้ให้เห็นการกระพริบของ1000nitsก็เหมาะสมกับจอภาพที่ผมใช้อยู่ เพราะถ้าตั้งน้อยกว่านี้ไปถึงแม้จะแยกรายละเอียดในภาพที่มีmetadataสูงเกิน1000nitsได้ แต่ภาพที่ออกมาจะดูทึมไม่สวย และถ้าตั้งให้ค่ามากขึ้นก็ทำให้ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดความสว่างประมาณ 1000nitsหรือต่ำกว่าได้ ยกตัวอย่างเช่นฉากใบหน้าคนเวลาโดนแดดส่อง ตรงที่เป็นspecular highlightก็จะใหญ่เกินและดูไม่มีรายละเอียดข้างใน ซึ่งก็ต้องดูคุณสมบัติของจอภาพเป็นตัวๆไปว่าจะตั้งค่าcontrastไว้ที่ไรแล้วภาพที่ออกมายังสว่างสดใส ให้รายละเอียดที่ความสว่างสูงได้ ไม่เกิดclippingมากเกินไป และไม่มีdiscolorationของสีที่metadataสูงๆ

รูปที่10 หน้าจอWhite Clipping ใช้ปรับค่าcontrast
รูปที่11 หน้าจอWhite Clipingที่ใส่ค่าmetadataไปจนถึง 10000nits
รูปที่12 หน้าจอWhite Clippingที่ปรับผิดทำให้เกิดDiscolorationที่IREสูงๆ
รูปที่13 แผ่นหนัง4K HDRในปัจจุบัน บางเรื่องใส่metadataในระดับ 10000nitsกันแล้ว

ต่อมาก็มาsetสีของภาพต่อในหัวข้อcolor bar ก็จะทำในลักษณะเดียวกันกับยุคก่อนที่มองผ่านfilterสีน้ำเงิน หรือถ้าจอภาพมีระบบRGB Only modeใช้เลือกใช้เป็น blue mode โดยเลือกเมนูของแผ่นเป็นColor Bars BT2020 50% Blue Filter เสร็จแล้วก็ปรับค่าColor และค่า Tintบนโปรเจคเตอร์ ให้สีน้ำเงินที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมกระพริบอยู่กลืนเข้ากับพื้นโดยรอบให้ไม่เห็นการกระพริบก็เป็นอันเสร็จ แล้วมาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการปรับก็คือการได้ลองดูภาพจริงๆ เพราะอย่างที่ได้บอกไว้ว่าจอที่เราใช้กันอยู่ไม่เหมือนกับจอที่เขาใช้ในการgradingภาพ ความดำก็อาจจะไม่ดำเท่าจอreference ความสว่างก็ทำได้น้อยกว่า ความกว้างของเฉดสีก็น้อยกว่า ก็ต้องมาลองดูcontentต่างๆดูว่าความสว่างความมือ สีต่างๆมีการผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็นไหม ถ้ามีก็อาจจะต้องทำการปรับใหม่หรือใช้วิธีการปรับที่ทันสมัย เที่ยงตรง และละเอียดกว่านี้ซึ่งก็คือการใช้meterหรือprobeและโปรแกรมปรับภาพช่วยในการวัดแสง วัดสีของภาพ ร่วมกับใช้เครื่องที่เป็น 4K HDR Pattern generatorโดยเฉพาะ

รูปที่14 หน้าจอColor Bar ใช้ปรับColorและTint
รูปที่15 หน้าจอGrayscale Bar ใช้ตรวจสอบการไล่ระดับความขาวความดำของภาพ
รูปที่16 หน้าจอเทียบสีผิดคนแบบต่างๆ(Flesh tone)
รูปที่17 ภาพที่มีแสงเป็นSpecular Highlightใช้ตรวจสอบDiscolorationในบริเวณที่มีความสว่างของแสงสูงๆ

การปรับภาพ4K HDR10โดยใช้เครื่องมือวัดนั้นก็จะใช้อุปกรณ์ และโปรแกรมต่างๆใกล้เคียงกับการปรับFull HD แต่คำถามที่ถูกถามบ่อยๆก็คือเรื่องของmeterว่าจำเป็นไหมต้องใช้meterตัวที่เป็นHDRโดยเฉพาะ เคยมีที่เป็นแบบธรรมดาแล้วจะใช้ได้หรือเปล่า ความจริงแล้ว4K meterที่ออกมาขายอยู่ในท้องตลาดส่วนมากก็คือcolorimeterตัวธรรมดานี่แหละครับแล้วเอาไปวัดที่ความสว่างและความมืดในระดับHDRเทียบกับreference meterถ้าค่าที่อ่านได้ไม่ต่างกันมากเขาก็ตีตราให้เป็น4K meter เพิ่มราคาอีกหลายเท่าตัว ดังนั้นถ้าเรามีmeterอยู่แล้วก็อาจจะลองหายืมmeterตัวที่เป็นSpectrophotometerหรือSpectroradiometerเพื่อมาเป็นตัวreferenceทำเป็นprofileให้กับmeterตัวเดิมก็ได้ ถ้าค่าที่อ่านได้ไม่ต่างจากตัวreferenceก็สามารถเอามาวัดและปรับภาพHDRได้ สำหรับโปรแกรมในการใช้ปรับภาพผมแนะนำเป็นCalMANของSpectraCal แต่ถ้าใครถนัดโปรแกรมChromaPure หรือ LightSpaceก็สามารถใช้ปรับภาพ 4K HDRได้เหมือนกันหมด เพียงแต่ที่แนะนำCalMANก็เนื่องจากว่าน่าจะเป็นโปรแกรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด หน้าตาโปรแกรมดูเข้าใจง่ายดีครับ ส่วนpattern generatorก็แนะนำเป็นของMurideo Six-G, VideoForgePro หรือถ้าใครมีLumagen Pro Seriesก็สามารถเอามาใช้เป็นpattern generatorได้เช่นกัน ในการอธิบายผมขอพูดเอาเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติมจากการปรับFullHDทั่วไปที่ผมเคยพูดถึงมาแล้ว และผมก็เชื่อว่าคนที่ปรับแบบนี้ส่วนมากก็จะมีพื้นฐานความรู้ด้านการปรับภาพมาแล้วในระดับหนึ่งก็จะไปแบบเร็วๆหน่อย

รูปที่18 การปรับภาพแบบ 4K HDR โดยใช้meterวัด

เริ่มจากWorkflowที่ใช้ก็จะเป็นCalMAN HDR10 Calibration ในหน้าของSource Settingให้เลือกเป็น HDR 10 mode เลือกใช้ 10% window pattern ในส่วนของworkflow basic optionsเลือก colorspace targetเป็นBT.2020HDR, Gamma Formulaเป็น ITU BT2390EETF แล้วใส่ค่าความสว่างสูงสุดกับต่ำที่สุดของจอภาพที่วัดได้จริงตรงMastering Min, Mastering Max ต่อมาเป็นส่วนของApplication Measurement Options ให้เลือกAutoCal Targets เลือกเป็นdE_ICICp ทั้งสองส่วนในDeltaE Formula เพราะมีความเหมาะสมกับจอHDRที่มีความสว่างและมืดมากๆมากกว่าการใช้dE_2000รวมถึง กราฟDeltaE2000ในแต่ละหน้าของการวัดก็สามารถคลิกขวาที่กราฟเลือกPropertiesแล้วเปลี่ยนเป็นDEICTCPได้เลย ซึ่งหลังจากเปลี่ยนแล้วก็จะเห็นเลยว่าค่าความเพี้ยนในการวัดลดลงเนื่องจากว่ามันวัดในส่วนจอHDRได้ถูกต้องกว่าแบบเดิม เมื่อทำการตั้งค่าต่างๆเสร็จก็เริ่มทำตามWorkflowได้เลย

รูปที่19 CalMAN HDR10 workflowที่ใช้ในการปรับภาพ 4K HDR
รูปที่20การตั้งค่าเบื้องต้นก่อนทำการCalibration
รูปที่21 ในโปรเจคเตอร์แนะนำให้เลือกEOTF เป็น ITU BT2390

หน้าจอแรกของHDR10 workflowก็จะเจอหน้าPre Calibration View เป็นการวัดค่าก่อนการปรับซึ่งคนที่เคยใช้CalMANมาก่อนก็คงจะคุ้นเคยดีเพียงแต่กราฟบางตัวก็สเกลต่างออกไป หรือlabelไม่เหมือนเดิม ก็เริ่มทำการวัดตามปกติได้เลย หน้าต่อไปเป็นการปรับWhite Balanceก็จะเป็นการปรับ2point white balanceเช่นเดียวกับในขั้นตอนทั่วไปของโปรเจคเตอร์ ซึ่งแต่ละตัวก็ใช้การปรับไม่เหมือนกันแต่ผลที่ต้องการก็คือปรับColor Temperatureให้ได้ใกล้เคียง6500K เสร็จแล้วก็จะเป็นหน้าMultipoint Grayscale โดยในส่วนของHDR10จะมีจุดที่ต่างจากการปรับFullHDเดิมคือเป็นกราฟของEOTFเพิ่มขึ้นมาแทนกราฟGammaแบบเดิมและLuminanceที่จะบอกถึงว่าจอภาพที่กำลังวัดอยู่นั้นมีความสว่างอยู่เท่าไร โดยการปรับเราก็จะปรับค่าGrayscaleในเครื่องโปรเจคเตอร์ให้ค่าEOTFไปตามBT2309ที่ตั้งเป็นTargetไว้ แต่ที่HDR10ต่างจากจอทั่วไปก็ตรงที่ในส่วนล่างของกราฟEOTFความชันของกราฟก็จะไปตามBT2309แต่ว่าส่วนบนของกราฟจะมีhighlight roll offขึ้นเนื่องจากจอภาพในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถทำความสว่างได้ถึงหลายพันnitsตามreference monitorซึ่งในส่วนของroll offนี้ในจอภาพแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นก็ยังจะมีลักษณะการroll offที่ไม่เหมือนกัน มีการตอบสนองของภาพที่ยังแตกต่างกันอยู่ โดยที่ผ่านมาทางITUก็กำลังหามาตรฐานสำหรับการroll offนี้ว่าจะให้roll offอยู่ตรงตรงไหนในจอแต่ละแบบ อัตราการroll offเป็นอย่างไรบ้างถึงจะไม่ให้เกิดhard clipกับภาพ อย่างกับในจอของ JVC DLA-X9900BE หลังจากปรับแล้วก็จะมีhighlight roll offที่50% luminance จะเห็นว่าตรงจุดนี้RGB Balanceจะมีการตกลงไปของกราฟเป็นหลุมและหลังจากจุดนี้ค่าEOTF และluminanceจะเป็นเส้นตรงตลอดเพราะว่าจอภาพจะไม่สามารถแสดงความสว่างที่มากไปกว่าจุดนี้ได้

รูปที่22 Grayscale ก่อนปรับ
รูปที่23 Grayscale หลังปรับ(ใช้ค่าDeltaE2000จะทำให้errorดูสูงกว่า DeltaICtCp)

ต่อมาก็จะเป็นหน้าจอColor Management ถ้าจำได้ในSDRจะตั้งค่าไว้เป็น 100% Saturation แต่ในจอภาพHDR10 workflowจะตั้งไว้ที่ 50%Saturation 50%Luminanceเนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีจอในท้องตลาดตัวไหนที่สามารถทำความกว้างเฉดสีได้ถึง BT.2020 และความสว่าง 100%Luminaceเนื่องจากว่า100%ในที่นี้หมายถึงความสว่างระดับ 10000nitsกันเลย ในตอนนี้ก็คงลองปรับดูก่อนตรงระดับ50%นี้แต่ถ้าปรับไม่ได้เพราะจอภาพของเรายังห่างจากระดับBT.2020ทำให้ค่าdE_ICICpมีค่ามากเกินก็อาจจะเปลี่ยนเป็นไปปรับบน 20% DCI P3ในBT.2020container หรือ BT.709 20%ในBT.2020containerก็ได้เนื่องจากในตอนนี้จอแต่ละตัวยังให้ความกว้างของเฉดสีไม่เท่ากัน หลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าจอของColor Checkerในความกว้างของเฉดสีต่างๆว่าหน้าจอจะตอบสนองต่อสีอย่างไรทั้งในความกว้างเฉดสีที่จอสามารถทำได้และ สีที่อยู่นอกเหนือความกว้างของเฉดสีที่จอสามารถทำได้ว่าจอจะทำtone mappingแบบไหนให้กับจอภาพบ้าง แล้วก็ถึงหน้าจอสุดท้ายก็คือPost Calibration Viewเพื่อดูผลของการปรับทั้งหมดว่าหลังจากปรับแล้วจอภาพให้ความถูกต้องของค่าต่างๆเทียบกับก่อนปรับขนาดไหน

รูปที่24 การปรับค่าสีถ้า50%Saturation50%Luminanceไม่ได้ก็อาจจะต้องลงไปที่ 25%แทน

ส่วนถ้าใครชอบการปรับภาพผ่านVideo Processors เช่นLumagen เพราะว่าสามารถปรับภาพได้ละเอียดและผลลัพธ์ทำได้ดีมากในระบบภาพแบบFull HD อย่างเช่นจุดเด่นเลยคือสามารถปรับCMS แบบ 3D LUTได้ถึง 4913จุด(17x17x17) หมายความว่าปรับให้ค่าสีต่างๆให้ตรงตามจุดอ้างอิงได้ถึงเกือบห้าพันจุด เรียกได้ว่าปรับเสร็จนี่น้องๆreference monitorได้เลย ซึ่งในการลองปรับภาพ 4K HDRผมก็ได้ทดสอบปรับผ่านLumagen RadiancePro Series UltraHD 4444ที่มีรองรับHDMI 18GHzอยู่4ports โดยการปรับ3D LUTในระบบภาพแบบFullHDผ่านแบบไม่มีปัญหาภาพออกมาถูกต้องและสวยงามดีมาก แต่ในการปรับภาพแบบ4K HDRนั้น ถึงแม้จะสามารถทำ 3D LUTบนโปรแกรมCalMANและChromapureผ่านได้ทั้งGrayscaleและcolor gamut แต่ผลที่ออกมายังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่โดยเฉพาะในส่วนที่สว่างมากๆหลายพันnitsยังพบDiscoloration ดังนั้นถ้าใครจะใช้พวกVideo ProcessorsในการปรับภาพHDR10ผมแนะนำว่าในตอนนี้ให้ปรับแบบmanualดีกว่าการใช้3D LUT เนื่องจากจะสามารถเช็คได้ในแต่ละIREว่ามีความเพี้ยนตรงจุดไหนบ้าง และในIREสูงๆที่เกินจุดHighlight roll offของจอภาพให้bypassการปรับไปเลยเพราะจะเป็นการไปยุ่งกับtone mappingของเครื่องโปรเจคเตอร์ตัวนั้น อย่างที่บอกว่าเรื่องtone mappingของHDR10ในเครื่องแต่ละเครื่องยังไม่มีมาตรฐานและแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นซึ่งEngineersที่ออกแบบโปรเจคเตอร์มาก็ทำไว้ไม่เหมือนกันดังนั้นปล่อยให้เป็นไปตามtone mappingของเครื่องจะดีที่สุดการเข้าไปปรับในส่วนนี้มักจะเกิดความเพี้ยนของภาพมากกว่าจะทำให้ภาพดีขึ้น และอีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังการใช้Video Processorในการปรับภาพก็คือค่าตั้งต้นของโปรเจคเตอร์ที่ตั้งไว้ ถ้าเราตั้งค่าEOTF,CMSในเครื่องโปรเจคเตอร์ให้กดค่าความสว่าง,ความกว้างเฉดสีไว้มากๆเมื่อมาปรับภาพบนVideo Processorจะทำให้มันไม่สามารถเพิ่มความสว่างหรือขยายเฉดสีไปยังตำแหน่งtarget pointได้ ดังนั้นถ้าจะใช้เครื่องพวกนี้ในการprocessภาพก็ต้องตั้งค่าEOTFหรือcolor spaceให้เกินๆหน่อย หรือถ้าทำได้ก็bypassค่าเหล่านี้ไปปรับแต่ในเครื่องVideo Processorที่เดียวพอ แต่ในห้องของผมตอนนี้ถ้าเป็นสัญญาณ1080p Full HDผมจะใช้การปรับ3D LUTผ่านLumagenตามปกติ แต่ถ้าเป็น4K HDRผมจะbypassการปรับในตัวLumagenใช้การปรับGrayscale และColor Gamutบนเครื่องโปรเจคเตอร์เลย ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่า

รูปที่25 Lumagen RadiancePro Series UltraHD 4444+4port HDMI 18GHzที่ใช้อยู่

เมื่อปรับเสร็จแล้วอย่างที่บอกครับว่ายังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นขบวนการปรับภาพ เพราะขั้นตอนสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือการทดสอบภาพจริงจากแหล่งกำเนิดในระบบต่างๆว่าภาพที่ออกมานั้นมีความถูกต้องหรือให้ภาพที่ผิดเพี้ยนขนาดไหน ถ้าดูภาพจริงแล้วมีการผิดเพี้ยนไม่ว่ากราฟที่วัดได้หลังจากcalibrateจะดีขนาดไหนก็ต้องกลับไปcalibrateใหม่เพื่อหาต้นตอของความเพี้ยนและแก้ไขในขั้นตอนการcalibrationให้เรียบร้อย

หลังจากปรับภาพเรียบร้อย ผมได้ลองสัมผัสภาพแบบ4K HDRจากโปรเจคเตอร์ ต้องบอกว่าภาพแบบ4K HDRจากจอโปรเจคเตอร์ในปัจจุบันได้พัฒนาจากเดิมมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ออกมาแรกๆ ตอนนี้ภาพที่ได้นับว่ามีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ โดยเฉพาะฉากที่ต้องใช้ความสว่างมากเพื่อให้ภาพออกมาสมจริงที่เขาเรียกว่าSpecular highlight เช่นภาพแสงสะท้อนจากพระอาทิตย์ หรือแสงลอดออกมาจากกิ่งต้นไม้ ภาพเหล่านี้เวลาดูจากจอHDRนั้นให้ความสวยงามเสมือนจริงมาก รายละเอียดทั้งในส่วนที่มืดกว่าปกติหรือสว่างกว่าปกตินั้นจอภาพHDRก็แสดงออกมาได้ดีอย่างน่าทึ่ง สำหรับผมการเพิ่มขึ้นมาของHDRบนจอโปรเจคเตอร์นั้นมีความน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าการเพิ่มขึ้นมาของรายละเอียดภาพจาก Full HD ไปเป็น 4K UHDเสียอีก ตอนนี้มองดูแผ่นBluray Full HDแบบเดิมแล้วมีความคิดเหมือนตอนสมัยความละเอียดภาพจากDVDไปเป็นBlu-rayที่ตอนนั้นคิดแต่ว่าซื้อแผ่นDVDทำไมมาตั้งเยอะแยะบางแผ่นยังไม่ได้ดูเลยก็ซื้อเก็บไว้ก่อน ในที่สุดก็ได้โละแผ่นDVDและเก็บแผ่นBlu-rayแทน ซึ่งตอนนี้ความรู้สึกนั้นกลับมาอีก แต่เป็นระหว่างแผ่น4K HDRกับแผ่นBlu-rayเดิมแทน เฮ้อ….เทคโนโลยีนี่ตามกันไม่ทันจริงๆเลย

รูปที่26 ภาพแบบ4K HDRจะทำให้ภาพมีแสงสว่างเจิดจรัสสวยงาม
รูปที่27 การแสดงเฉดสีของโปรเจคเตอร์มีความกว้างมากขึ้น สีของMystiqueในหนังX-Men จึงมีความสว่าง สดใสมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับภาพ 4K HDRจากโปรเจคเตอร์ว่าตอนนี้ภาพจากเครื่องเหล่านี้พัฒนาไปถึงระดับไหนแล้ว รวมถึงเทคนิคการปรับภาพด้วยว่าจะปรับภาพยังไงให้ภาพ 4K HDR10ออกมาได้ดีมากที่สุด แต่อย่างที่บอกตอนนี้จอภาพโปรเจคเตอร์คุณสมบัติยังห่างจากจอภาพแบบDirect Flat panel และเครื่องโปรเจคเตอร์ก็ยังให้การตอบสนองต่อภาพไม่เหมือนกันในเครื่องแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นซึ่งเมื่อเจอกับสัญญาณภาพที่มีความสว่างหรือมีเฉดสีสูงกว่าความสามารถของเครื่องที่ทำได้ สิ่งที่สำคัญในตอนนี้ก็คือเรื่องของtone mappingที่จะกระทำต่อสัญญาณภาพเหล่านั้น ดังนั้นจุดประสงค์ของการปรับภาพโปรเจคเตอร์ในขณะนี้ก็คือปรับภาพให้ภาพที่ออกมาตามมาตรฐานจนถึงระดับความสว่าง,สีที่เครื่องโปรเจคเตอร์ที่จะทำได้ ส่วนสัญญาณที่มีความสว่างและเฉดสีเกินความสามารถของโปรเจคเตอร์ก็ต้องปรับให้tone mappingได้ตามที่ออกแบบมาในจอภาพแต่ละตัว ไม่ได้เน้นไปที่ปรับภาพให้ออกมาตรงกับมาตรฐานgolden reference แต่ในอนาคตเมื่อเครื่องโปรเจคเตอร์พัฒนาต่อไปจนถึงระดับDolby Visionหรือเกินกว่านั้นแน่นอนว่าเทคนิคการปรับภาพก็ต้องพัฒนาไปตามภาพเหล่านั้น ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Calibrated 4K HDR Projector (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้