เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางบริษัท THX Ltd. ได้มาเปิดการอบรมในเรื่องTHX Professional Video Systems Calibration ที่บริษัทDeco2000โดยมีอาจารย์ในการสอนครั้งนี้คือ Gregg Loewen อาจารย์สอนการปรับภาพTHX คนเดียวที่ยังสอนอยู่ในตอนนี้ ในคอร์สนี้การเรียนการสอนจะมีด้วยกันทั้งสิ้น 4วัน สามวันแรกเป็นเนื้อหาในเรื่องการปรับภาพทั่วๆไปเหมือนกับที่ผมเคยเรียนและนำเสนอลงในนิตยสารเมื่อปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้จะพิเศษเนื่องจากในวันที่สี่วันสุดท้ายจะเป็นเนื้อหาเจาะลึกเกี่ยวกับ Advanced Video Calibration & Setup : 4K/UHD and HDR considerations หรือพูดง่ายๆก็คือสอนการปรับภาพจอแบบ 4K HDR สำหรับฉบับนี้ผมก็ขอกล่าวถึงเรื่องนี้เลยแล้วกันเพราะเรื่องการปรับภาพTHXนั้นผมเคยเขียนอย่างละเอียดไว้แล้ว






ขอปูพื้นเกี่ยวกับ 4K HDRกันก่อน เผื่อบางท่านไม่คุ้นกับคำนี้จะได้พอรู้ว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเขียนต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร พูดถึง4Kก็คงพอนึกออกว่าเป็นความละเอียดของจอแสดงภาพ แต่บางท่านก็ยังสับสนกับคำว่าUHD (Ultra High Definition)ว่า มันคือสิ่งเดียวกันเพราะเห็นบางทีก็ใช้สลับไปมาในความหมายเดียวกัน ความจริงโดยพื้นฐานแล้ว4K และ UHD นั้นไม่เหมือนกัน 4Kเกิดจาก Digital Cinema Initiatives(DCI) เป็นมาตรฐานที่ใช้ในวงการProfessional production และ Cinema ที่หมายถึงความละเอียดระดับ 4,096X2,160 หรือก็คือความละเอียดเป็นสี่เท่าของ 2Kหรือ2,048X1,080 นอกจากนี้มาตรฐานDCI 4Kไม่ได้บอกถึงรายละเอียดหรือresolutionอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการเข้ารหัสของภาพที่ใช้การบีบอัด JPEG2000 ส่งbitrateสูงสุด 250Mbps เข้ารหัสสีแบบ 12bit 4:4:4 ส่วนUHDนั้นหมายถึงความละเอียดของจอภาพที่ 3,840×2,160ที่ไม่ได้เท่ากับความละเอียด4K UHDเป็นความละเอียดระดับสูงขึ้น2เท่าของfull HD1920x1080หรือที่มักเรียกกันง่ายๆว่า1080p ส่วนมากใช้ในจอภาพตามบ้านทั่วไป(consumer display)และงานออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ แต่เนื่องจากมันมีความละเอียดที่ใกล้เคียงกันระหว่าง4K และ UHD บางบริษัทก็ใช้ทดแทนกันไปเลยเพื่อสะดวกในการสื่อความหมายกับผู้บริโภค ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเห็นคำโฆษณาจอภาพ 4Kทั้งๆที่จอนั้นมีความละเอียดเป็น UHD

ส่วนคำว่าHDR(High Dynamic Range) หมายถึงการทำให้จอแสดงผลมีcontrastที่ดีขึ้นโดยการเพิ่มระดับความสว่างให้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มระดับความดำของจอให้ดำมากขึ้น ส่งผลถึงความกว้างของการแสดงสีจะมากขึ้นตาม ทำให้ภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ หรือทีวีมีความเสมือนภาพในชีวิตจริงมากขึ้น ระบบของHDRที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่ 3รูปแบบ คือ HDR10, Dolby Vision HDR(DV), Hybrid log Gamma(HLG)

เริ่มจากHDR10 นับว่าเป็นHDRที่คนรู้จักและพบได้มากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมันเป็นopen-source formatที่ใครก็เอาไปใช้ได้ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ บริษัททีวีก็ไม่ต้องจ่ายเงินถ้าจะให้ทีวีของตนสามารถแสดงภาพแบบHDR10ได้ หนังแผ่นBlu-ray ค่ายหนังก็ไม่ต้องจ่ายเงินถ้าแผ่นนั้นเข้ารหัสHDR10 ดังนั้นแผ่นเกือบทั้งหมดในท้องตลาดตอนนี้จึงเป็นHDR10 รวมถึงบริการถ่ายทอดภาพยนต์ทางinternetไม่ว่าจะเป็นNetflix และAmazon ก็สนับสนุนformatนี้ แต่ข้อมูลทางเทคนิคก็จะด้อยกว่าทางDVเพราะจะสนับสนุนความสว่างของจอแค่ 1,000nits ส่วนการแสดงผลของสีต่างๆจะสนับสนุนแค่ 10bit การที่bitมากขึ้นก็จะทำให้จอภาพแสดงสีได้มากขึ้น

ในขณะที่DVตามทฤษฎีสามารถสนับสนุนความสว่างได้ถึง 10,000nits ความละเอียดของสีถึง 12bit และอีกส่วนคือเรื่องของMetadataหรือข้อมูลที่ส่งให้เพื่อทำการควบคุมเรื่องของความสว่างและสี HDR10จะเป็นStatic metadataก็คือใช้ข้อมูลเดียวควบคุมภาพยนตร์หรือcontentทั้งเรื่อง ส่วนDV HDRจะเป็นแบบdynamic metadataคือมีการควบคุมความสว่างและสีของภาพให้เหมาะสมในแต่ละฉากเลย ทำให้DVเป็นระบบที่มีคุณภาพเหนือกว่าHDR10แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากจอแสดงผลก็ยังหาที่สามารถแสดงผลDVได้ยากที่เห็นก็จะมีแค่บางรุ่นของLG OLED และVizio แผ่นBlu-rayที่ออกมาก็ยังไม่มีDVในตอนนี้แต่ทางDolbyก็ได้ออกมาแจ้งว่าคงจะออกมาในไม่ช้า ปัญหาอีกอย่างก็คือลิขสิทธ์ที่ใครจะเอาDolby Vision HDRไปใช้ก็ต้องจ่ายให้ทางDolbyด้วย ส่วนHybrid-Log Gammaนั้นเริ่มพัฒนาโดยการร่วมมือกันของBBC และNHK เพื่อให้HDRสามารถถ่ายทอดออกอากาศได้พร้อมกันทั้งstandard dynamic rangeหรือHDR ผู้รับสัญญาณที่อยู่ทางบ้านก็สามารถดูภาพได้ไม่มีปัญหาไม่ว่าจอภาพที่ใช้อยู่จะเป็นstandard dynamic rangeหรือ HDR สำหรับข้อมูลทางเทคนิคของHLGนั้นจะสนับสนุนความละเอียดของสีที่ 10bit เหมือนกับHDR10 ส่วนMetadataนั้นทางHLGไม่ได้ใช้เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลภาพผ่านทางการออกอากาศได้รวดเร็วสะดวกมากขึ้น

การcalibration HDR ผมขอพูดเริ่มต้นจากเรื่องของBlack levelก่อน ถ้าจำกันได้ถึงการปรับstandard dynamic rangeที่มีความละเอียดของสีอยู่ที่ 8bit ระดับจากจุดที่ดำที่สุดไปเป็นสีเทาจนถึงสีขาวสว่างมากที่สุดจะแบ่งdynamic rangeได้เป็น 0-255ระดับ ตามมาตรฐานทั่วไปเราก็ปรับให้ระดับ 0-16เป็นระดับความดำที่แยกกันไม่ได้หรือbelow black ต่อมาตั้งแต่ระดับ17จนถึงระดับ 235 เราจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างสีได้ ส่วนที่สูงกว่า 235ขึ้นไปถ้าจอภาพที่ดีก็จะสามารถแยกความแตกต่างได้จนถึง 254 แต่ถ้าแยกไม่ได้ก็ไม่เป็นไรขออย่าให้เกิดการclippingหรือการที่สีขาวมีสีอื่นๆปนเข้ามา เช่นสีขาวออกเป็นสีชมพูเนื่องจากมีสีแดงปนเข้ามาจากการแสดงสีที่ความสว่างสูงๆของสีเขียวและน้ำเงินหมดแรงก่อนทำให้การผสมสีขาวของRGB ผิดไป แต่สำหรับภาพแบบHDRที่มีความสว่างและความมืดของแสงมากกว่าปกติ การปรับblack levelก็จะต่างออกไปจากStandard HDR โดยHDR10หรือ HLGที่มีการส่งข้อมูลรายละเอียดของสีเป็น 10bit ก็จะทำให้ระดับสีดำมืดสุดจนไปถึงขาวมากที่สุดมีรายละเอียดเป็น 0-1024ไม่ได้เป็น 0-255เช่นStandard HDRทั่วไป ดังนั้นถ้าจะปรับจอภาพแบบHDR10 ที่มีระดับความละเอียดของสีเข้ารหัสที่10bit การปรับblack levelก็ต้องปรับที่เมนูBrightness(black level)ให้ระดับความดำ0-64เป็นbelow black ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีดำได้ ส่วนwhite levelก็ไปปรับในเมนูcontrastให้สามารถแยกความแตกต่างของสีเทาจนถึงอย่างน้อยที่ระดับ 940 ถัดจากนี้ไปจะแยกความแตกต่างได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไรแต่ต้องระวังในเรื่องของclippingที่สีขาวอาจจะเพี้ยนมีสีอื่นๆปนเข้ามาถ้ามีก็ต้องลดwhite levelหรือเมนูในทีวีมักจะเขียนเป็นcontrastลง เช่นเดียวกับการปรับBlack levelของ DV HDR ที่มีความละเอียดถึง 12bit ความละเอียดของระดับสีก็จะเป็น 0-4096 ส่วนของbelow blackก็จะอยู่ที่ระดับประมาณ 257 จนถึงระดับสีขาวที่ 3770

มาถึงการปรับค่าGamma คำว่าGammaที่ได้ยินกันบ่อยๆในการปรับภาพStandard Dynamic Range เช่น Gamma 2.2, 2.4ค่าเหล่านี้หมายถึงการที่จอภาพแสดงความสว่างตอบสนองต่อสัญญาณที่เข้ามา การที่ค่าgammaมากขึ้นจะเหมาะสมกับห้องที่ควบคุมความสว่างได้หรือห้องที่มืดมากๆเช่นในห้องdedicated home theater แต่ถ้าค่าน้อยลงเช่นgamma 1.8, 2.0ก็จะเหมาะสมกับจอภาพที่อยู่ในสภาพแสงที่มากเช่นในห้องนั่งเล่นเป็นต้น โดยค่าเหล่านี้ก็อ้างอิงจากการตอบสนองต่อสัญญาณvoltageที่เข้ามาของจอCRTแบบโบราณที่เป็นTubeอยู่ ดังนั้นการใช้ค่าGammaแบบเดิมจึงไม่เหมาะสมกับจอภาพHDRในปัจจุบันที่ไม่ได้ตอบสนองเป็นกราฟแบบเส้นโค้งเหมือนtube ของCRT ทั้งจอภาพแบบHDRในปัจจุบันมีความดำที่ดำมากขึ้น ความสว่างที่สูงขึ้นกว่าจอCRTมาก จึงได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นค่าที่เรียกว่าEOTF(Electro-Optical Transfer Function) ความจริงแล้วค่าgammaเดิมที่เคยใช้อยู่ก็เป็นsubsetของ EOTF แต่EOTFสามารถใช้ในความดำที่มากๆความสว่างที่สูงขึ้นเป็น10,000nitsได้ โดยEOTFใหม่ที่ใช้ในHDRเรียกว่าST2084 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ PQ EOTF(Perceptual Quantizer) ที่มีการเลียนแบบระบบการมองเห็นของมนุษย์ได้ดีกว่าค่าgammaแบบเดิม
มาพูดถึงในเรื่องของสี มาตรฐานจอภาพแบบ 4K,UHD HDR จะอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐาน ITU-R BT.2020 ที่มีความกว้างของการแสดงสีสูงถึงระดับ rec.2020(ครอบคลุมถึง 67%ที่ตามนุษย์สามารถมองเห็น) ซึ่งจอในท้องตลาดปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้นการปรับภาพตอนนี้ตัวHDR10ก็แนะนำให้ใช้ความกว้างที่DCI-P3(ครอบคลุม46%ที่ตามนุษย์สามารถมองเห็น)

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้การcalibrate 4K HDR ก็จะมีโปรแกรม CalMan ที่สามารถใช้ได้ทั้งการปรับ HDR10, DV, HLG ส่วน ChromaPure ยังสนับสนุนแค่ HDR10อยู่ ตัวGeneratorที่นิยมตอนนี้ก็จะเป็น Murideo 6G, Quantum Data 780,804, Accupel 6000ที่ใช้ได้กับHDR10เท่านั้น



หลังจากอุปกรณ์ทุกอย่างต่อให้ใช้งานได้แล้วก็เปิดโปรแกรมCalMan เลือกwork flowที่เป็น HDR-10 หรือ DV HDR ขึ้นอยู่กับจอภาพของเรา เลือกใช้patternขนาด 10%ของจอภาพ ทำการcalibrateสีขาวมาตรฐานD65 ตามworkflowโดยใช้ 2point ก่อนเหมือนกับการcalibrationจอโดยทั่วไป แต่สิ่งที่จะต่างจากจออื่นๆก็คือเรื่องของ 2084EOTF อย่างที่บอกไว้ว่าเป้าหมายของความสว่างบนจอHDRนั้นสูงกว่าความสว่างที่จอทั่วไปในท้องตลาดปัจจุบันทำได้มาก อย่างเช่นDV HDRตั้งไว้สูงถึง 10,000nits หรือ HDR10 ตั้งไว้ที่ 4,000nits แต่ในปัจจุบันมีแต่จอที่เป็นGolden reference monitorที่มีชื่อว่าPulsarของDolby เท่านั้นที่สามารถให้ความสว่างได้ 4,000nitsและยังให้ความถูกต้องของสีที่สมบูรณ์อยู่ แต่จอนี้ไม่มีขายในท้องตลาด ต้องยืมมาจากdolby ส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในส่วนpost productionเท่านั้น

ส่วนจอทีวีในท้องตลาดก็ยังทำได้อยู่แค่ในช่วงร้อยถึงพันnitsอยู่เลย ซึ่งก็จะส่งผลต่อการcalibrateค่าEOTF เพราะเมื่อเราวัดEOTFกราฟในช่วงแรกก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆเหมือนกับกราฟของgammaที่เราคุ้นเคยกัน แต่พอวัดค่าความสว่างของสีขาวhighlight ประมาณ 70% กราฟก็จะมีการroll offลงมาและกลายเป็นเส้นตรงหลังจากนั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากจอภาพมันไม่สามารถแสดงความสว่างได้มากไปจนถึงระดับreferenceของHDR การปรับภาพของเราในส่วนhighlightนี้ก็คือต้องปรับเพื่อป้องกันการclippingหรือสีเพี้ยนที่สีขาวสว่างมากๆเหล่านี้

เช่นเดียวกับการปรับความถูกต้องของสี จอภาพในปัจจุบันยังห่างจากมาตรฐานสี BT2020 การเลือกใช้มาตรฐานที่ลดลงมาเช่นDCI P3 ก็เป็นทางเลือกที่ดีถ้าจอภาพสามารถแสดงสีได้ถึงDCI P3 เพราะถ้าจอภาพเราไปไม่ถึงมาตรฐานสูงๆแต่เราตั้งให้มันแสดงภาพที่มาตรฐานนั้นๆสิ่งที่ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเพี้ยนของสี เนื่องจากเครื่องมันก็จะmappingสีที่ไม่สามารถแสดงได้เป็นสีอื่นที่ผิดปกติไป ดังนั้นณ.ตอนนี้ขั้นตอนที่สำคัญหลังจากปรับภาพแล้วคือต้องมีการมาดูหนังHDRจริงๆเช็คความถูกต้องของความสว่างและสีสันของภาพว่ามีความเพี้ยน ความผิดปกติของภาพหรือไม่อีกที

โดยหนัง4K HDRที่ Gregg Loewenแนะนำไว้เพื่อทดสอบภาพ HDRมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ X-Men:Apocalypse ความจริงผมซื้อเรื่องนี้ไว้นานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้ดูจนลืมไป แต่พอGreggแนะนำเลยมีโอกาสได้หยิบขึ้นมาดูแบบจริงๆจังๆ ซึ่งก็พบว่าเรื่องนี้ถ่ายทำในระบบ 6Kแท้ ดังนั้นเมื่อนำมาลงในแผ่นBlu-rayที่เป็น 4K มันจึงให้ความคมชัดของภาพที่สูง ฉากที่สว่าง ฉากถ่ายใบหน้าเต็มๆหรือเครื่องแต่งกายล้วนแต่ให้ภาพที่มีรายละเอียด คมชัด สีสันดี โดยเฉพาะผิวสีน้ำเงินของMystiqe, Beast และ Nightcrawler ที่จะเป็นสีน้ำเงิน สดใส มีชีวิตชีวา เนื้อสีแน่น และสวยงาม


ส่วนอีกเรื่องก็คือเรื่องPacific Rim สำหรับเรื่องนี้Greggแนะนำให้ดูในchapter4 นาทีที่23 จะมีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่ ให้สังเกตท้องฟ้าจะสามารถเห็นรายละเอียดของเมฆ แต่ถ้าปรับcontrastให้มากเกินรายละเอียดเมฆตรงนี้จะหายไป ต่อมาฉากที่ตัวเอกของเรื่องMako Mori(Rinko Kikuchi)เดินถือร่มออกมาจากฐานให้สังเกตเม็ดฝนที่หยดลงบนร่มต้องสามารถเห็นเม็ดฝนเป็นเม็ดๆ และเมื่อเธอยกร่มขึ้นมาจังหวะนี้ก็สามารถเห็นสีเนื้อเป็นธรรมชาติของใบหน้าสาวเอเชียลอยเด่นบนพื้นสีดำของร่ม และต้องเห็นรายละเอียดซี่ภายในของร่มได้ ซึ่งถ้าปรับblack levelน้อยเกินไปรายละเอียดซี่ของร่มก็จะมองไม่เห็น เห็นแต่ภายในของร่มมีสีดำๆอย่างเดียว ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคหลักๆที่ใช้สำหรับการปรับภาพ 4K HDR แต่เนื่องจากเป็นระบบภาพที่ใหม่ รายละเอียดบางอย่างก็ยังไม่มีมาตรฐานที่ใช้เหมือนกันทั้งหมด เช่นpattern มาตรฐานของ 4K HDRที่จอภาพแต่ละบริษัทก็จะใช้แต่มาตรฐานpatternของตัวเองอยู่ เราในฐานะผู้บริโภคก็คงต้องคอยติดตามข่าวสารกันไปเรื่อยๆครับว่าจะมีอะไรใหม่ๆออกมาอีกบ้าง



ตอนเย็นหลังจากเลิกเรียนTHXวันหนึ่งมีโอกาสดีได้ชวนGreggและเพื่อนๆที่เรียนด้วยกันไปเยี่ยมชมห้องHome theaterของคุณแก๊ป ที่อยู่แถวๆตลาดโบ้เบ้ไม่ไกลจากที่เรียนเท่าไร แถมยังได้พาGreggตะลุยตุ๊ก ตุ๊ก ฝ่ารถติดในกรุงเทพฯ ตอนขึ้นไปGreggชอบมากแกบอกได้บรรยากาศ ตื่นเต้นดี แถมได้ถ่ายวิดีโอไปฝากเพื่อนๆต่างประเทศด้วย ส่วนผมถึงแม้จะขึ้นมาหลายครั้งก็ยังรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งอยู่ ยิ่งตอนเข้าโค้ง หนีไฟเหลืองนี่เรียกว่าเกาะขอบรถกันมือเปียกเลย แถมครั้งนี้เพิ่มความมันเข้าไปอีกขั้นที่ต้องจับมือเดียว อีกมือหนึ่งต้องถือกล้องถ่ายบรรยากาศGreggกับเมืองไทยไปด้วยสนุกดีครับ

ห้องคุณแก๊ปเป็นห้องที่อยู่ในตึกแถวชั้นบน โดยชั้นล่างๆเป็นร้านค้าและทำเป็นพื้นที่เก็บของพอขึ้นลิฟท์มาถึงชั้นที่เป็นห้องhome theaterพูดได้ว่าไม่น่าเชื่อเลยว่ามีห้องสวยๆแบบนี้อยู่ข้างบนตึกแถว ห้องนี้ได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างสวยงามจากฝีมือของร้านTheater Solutionของพี่หมออิ๊ดของเรานี่เอง ลักษณะของห้องเป็นห้องแบบที่ฝรั่งเขามักเรียกว่าdedicated home theaterหรือก็คือห้องที่ทำมาดูหนังโดยเฉพาะ มีการตกแต่งอย่างสวยงามเหมือนยกเอาโรงภาพยนตร์มาอยู่ในบ้าน Layoutของห้องก็เป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านซ้ายก่อนเข้าประตูทำเป็นห้องควบคุมแยกต่างหาก ภายในห้องควบคุมก็จะมีบรรดาหนังแผ่นต่างๆที่คุณแก๊ปสะสมวางไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีอุปกรณ์เครื่องเสียงวางไว้ในrack แล้วรวบยึดสายต่างๆอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ระบบในห้องนี้จะวางไว้แบบ 11.4.9 ใช่ครับไม่ต้องตกใจใช้ลำโพงในระนาบปกติถึง 11ตัว Subwooferอีกสี่ตัว และลำโพงในระบาบด้านบนอีก 9ตัว ทั้งหมดนี้อยู่ในห้องขนาด5x4x2.5เมตร วางลำโพงทั้งหมดให้สามารถรองรับระบบได้ทั้ง Dolby Atmos, DTS:X และ Auro3D เห็นแค่นี้ก็น่าตื่นตาตื่นใจแล้วครับสำหรับห้องนี้ เมื่อผมได้สอบถามถึงที่มาที่ไปของห้องนี้คุณแก๊ปได้บอกกับผมว่า”ก็เริ่มจากเป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่มีใจรักในการดูหนังเหมือนกับทุกๆท่าน จากชุดแรกเป็นชุดแถมที่ได้มาจากทีวีSony นั่นแหละที่เป็นครั้งแรกที่รู้จักกับคำว่าHome Theaterเลย ก่อนจะมาเป็นชุดที่เห็นในปัจจุบันนี้ก็ใช้มาหลายชุดอยู่เหมือนกัน จนมีความรู้สึกว่าอยากจะสร้างห้องดูหนังให้ได้อารมณ์แบบโรงหนังมากที่สุดจึงเป็นที่มาของห้องสวยห้องนี้” ส่วนพี่หมออิ๊ดผู้ทำห้องนี้ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ว่าทางคุณแก๊ปเจ้าของห้องต้องการทำห้องดูหนังที่มีconceptเป็น”Private theater” ซ่อนอุปกรณ์ทุกอย่างให้หมดเท่าที่จะทำได้ เช่นประตูทางเข้า, ประตูออกไประเบียง, ลำโพงขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในห้องถึง 24ตัวซ่อนอยู่ในผนัง เหลือเห็นแค่6 ตัว แต่ก็ไม่มารบกวนสายตาขณะดูหนังเพราะลำโพงที่ไม่ได้ซ่อน6ตัว คือ subwoofer 2 ตัวที่อยู่หลังที่นั่ง และอีก 4ตัวอยู่บนฝ้า บริเวณทางเข้าด้านหน้าออกแบบให้เหมือนโรงภาพยนตร์ ประตูใหญ่ สีแดง2บานที่ดูอลังการทำให้มีลูกเล่นเหมือนเป็นทางเข้าห้องแต่จริงๆเป็นทางเข้าห้องเก็บRackที่วางเครื่องเสียงอยู่ ตู้ขายตั๋วที่อยู่ด้านหน้าห้องออกแบบให้สวยงามและเป็นประตูทางเข้าห้องดูหนังของห้องนี้ที่ดูภายนอกจะไม่รู่ว่าเป็นประตู ป้ายต่างๆถูกออกแบบมาสำหรับห้องนี้โดยเฉพาะให้รับกับเสาและคานที่มีอยู่หลายต้น ประตูทางเข้าออกของห้องนี้มี2ด้านคือด้านทางเข้าหลักและประตูที่เปิดสู่ระเบียงเป็นประตูกันเสียงหนาประมาณ10ซม.แบบ2ชั้นทุกด้านยกเว้นประตูที่ระเบียงของเดิม1บานที่คงของเดิมไว้เพื่อให้เหมือนกันส่วนอื่นๆของบ้านเมื่อมองเข้ามาจากนอกบ้าน แต่ด้านในห้องเราทำประตูกันเสียงขึ้นมาอีก1บาน ระบบไฟในห้องนี้ ออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งาน มีไฟส่องทางเดินที่เท้า ไฟLEDที่ฝ้าที่เปลี่ยนสีได้ ไฟที่อยู่ในfilmที่อยู่รอบผนังห้อง และไฟดาวน์ไลท์สามารถโปรแกรมไฟต่างๆให้เปิด-ปิดเป็นเหมือนฉาก ได้หลายแบบหลายบรรยากาศและสามารถควบคุมได้ด้วยรีโมทไร้สาย



ขนาดห้องยังมีรายละเอียดขนาดนี้แล้ว คราวนี้ลองมาดูอุปกรณ์กันบ้างว่าจะขนาดไหน ลำโพง24channelsใช้ของQuestedทั้งหมด โดยลำโพงหลักด้านหน้าสามตัวเป็นรุ่น LT-10(AMT Ribbon) ลำโพงที่ติดตั้งส่วนบนสามตัว Height Left, Height Center, Height Rightใช้รุ่น Z8 ส่วนลำโพง Front wide, Side Surround, Surround Backเป็นรุ่น Z8R ลำโพง Side Surround ในแถวที่สองและ Height Surround Backเป็นรุ่นZ2.4 รุ่นZeiling(Coaxial) จำนวน 4ตัวใช้เป็นLeft & Right Top front, Left & Right Top rear ส่วนความถี่ต่ำใช้Subwooferขนาด 18″จำนวน4ตัวรุ่น QSB1วางไว้ที่มุมทั้งสี่ของห้อง Pre Processorที่ใช้ควบคุมระบบเสียงทั้งหมดได้แก่Trinnov Altitude32 (24 channels version) ส่งสัญญาณไปยัง Power Amplifiersทั้งสี่ตัวได้แก่ THETA Dreadnaught D 225w x8, THETA Dreadnaught D 500w x4, ATI 6007 300w x 7 และATI 6007 300w x 7 โดยผ่านสายสัญญาณและสายลำโพงของMIT เครื่องเล่นBlu-ray discเป็นรุ่นยอดนิยมOPPO 203 ส่งข้อมูลภาพไปยัง Scaler ของLumagenรุ่นRadiance Pro 4444 เพื่อทำการปรับแต่งภาพส่งไปยัง Projector Benq X12000พร้อมเลนส์Isco III เพื่อฉายผ่านจอภาพขนาด 152นิ้วของScreen research โดยสัญญาณภาพทั้งหมดใช้สายHDMIของWireworld Platinum, Audioquest Diamond, Goldensound Master Zii ระบบไฟฟ้าใช้สายShunyata, Furutech, Oyaide, Wireworld ผ่านตัวAC power conditionerของAUDYN valor three พอเห็นรายชื่ออุปกรณ์ทั้งหมดของห้องนี้แล้วต้องบอกว่าอุปกรณ์แต่อย่างล้วนเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของวงการHome Theaterทั้งนั้น



หลังจากเดินเยี่ยมชมความสวยงามของห้องและอุปกรณ์ต่างๆแล้วได้เวลาเอนหลังลงบนโซฟาเพื่อสัมผัสภาพและเสียงจากอุปกรณ์ระดับflagshipของแต่ละยี่ห้อเหล่านี้แล้ว เมื่ออุปกรณ์ต่างๆพร้อมและเริ่มเปิดดูตัวอย่างหนัง สิ่งแรกที่รู้สึกได้คือมันเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในโรงภาพยนต์จริงๆ ไม่มีอุปกรณ์อยู่ด้านหน้าห้องให้ดึงดูดสายตาละออกไปจากเนื้อหาที่กำลังโลดแล่นอยู่บนจอภาพแต่อย่างไร ยิ่งเมื่อได้เห็นภาพปรากฏบนจอขนาดใหญ่เต็มตา ที่มีความสว่าง คมชัด สวยงาม ทำให้รู้สึกอารมณ์ประมาณดูหนังจากจอIMAXยังไงอย่างงั้น จุดเด่นที่ผมชอบมากอีกอย่างหนึ่งของห้องนี้เลยคือระบบเสียงแบบImmersive Soundจากลำโพงกว่า 20ตัวที่ซ่อนไว้ มันทำให้เราเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง การโยนเสียงแต่ละChannelsเห็นไปอย่างต่อเนื่องและsmooth ซึ่งมันบ่งว่านอกจากได้อุปกรณ์ต่างๆที่ดีแล้ว การวางตำแหน่งลำโพง การset up การcalibrationต้องทำอย่างถูกต้องตามมาตรฐานแน่นอน เช่นเปิดดูจากคลิป Locked Up ที่อยู่ในแผ่นทดสอบของ DTS:X มันให้ความรู้สึกเหมือนมีแมลงบินไปบินมาในห้องจริงๆ พอมาถึงฉากที่กบเข้าไปอยู่ในขวดแก้วแล้วตกลงน้ำทางด้านหลังของเรานั้นเสียงน้ำที่แตกกระจายอยู่ด้านหลังนั้นมันเหมือนมีขวดตกลงน้ำอยู่จริงๆ ว่าถึงความถี่ต่ำของห้องนี้นั้น แม้ใช้Subwooferขนาด 18นิ้วถึง 4ตัวในห้องขนาด 5x4x2.5 เสียงเบสที่ออกมากลับไม่มีอาการอื้ออึงแต่อย่างไร กลับเป็นเสียงความถี่ต่ำที่หนักแน่น กระชับฉับไว แบบนี้ต้องยกความดีให้กับAcousticsของห้องที่สามารถจัดการคลื่นความถี่ต่ำระดับนี้ได้อย่างสบาย และเมื่อมาลองดูหนังอีกหลายเรื่องก็ยิ่งรู้สึกประทับใจเพราะมันทำให้ความตื่นเต้นสนุกสนานในภาพยนต์มีมากขึ้น นับว่าห้องHome theaterห้องนี้เป็นห้องที่ครบเครื่อง สุดยอด อีกห้องหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่น้อยหน้าห้องDedicated Home theaterในต่างประเทศเลย ส่วนใครสนใจอยากสัมผัสประสบการณ์สุดยอดแบบที่ผมและเพื่อนๆได้สัมผัสมา ลองติดต่อขออนุญาตเข้าไปชมได้โดยตรงที่คุณแก๊ป Line ID Gap99 เห็นคุณแก๊ปบอกว่ายินดีต้อนรับนักเล่นคอhome theaterเหมือนกันเสมอครับ ท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณคุณแก๊ปเจ้าของห้องที่อนุญาตให้ผม Gregg และเพื่อนๆได้ร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ในห้องhome theaterระดับสุดยอดครับ



