Article

Search

4K Ultra HD System review

ช่วงที่ผ่านมาผมก็ได้สั่งเครื่องเล่น 4K ที่เปิดตัวมาใหม่ล่าสุดของOppo รุ่น UDP-203จากทางร้านขอนแก่นไฮไฟ ซึ่งเฮียสมชายเจ้าของร้านเลยได้จัดส่งเครื่องเล่นโปรเจคเตอร์ที่รองรับ 4K ของBenq รุ่น w11000 รวมทั้งสายHDMI Wire World รุ่น Starlight7 มาพร้อมกันเพื่อมั่นใจว่าสัญญาณภาพ 4K มาแบบไม่ขาดตกบกพร่อง ให้ผมได้ทดสอบประสิทธิภาพและลองปรับภาพดู ผมเลยเอาประสบการณ์ที่ได้ลองเล่นภาพ4K แบบเต็มระบบมาเล่าสู่กันฟังว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

ถ้าพูดถึง 4K กับ Ultra HDบางคนอาจจะนึกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ความจริงแล้วทั้งสองสิ่งจะต่างกันที่จำนวนpixelที่ไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะเอาคร่าวๆก็ถือว่าใกล้เคียงกันที่หมายถึงความละเอียดระดับ 4เท่าของFull HD 1080p เอาเป็นว่าในบทความนี้ผมหมายถึงสิ่งเดียวกันจะได้ไม่สับสนนะครับ ซึ่งตอนนี้ก็นับได้ว่าทั้งเครื่องเล่นที่รองรับภาพระบบ 4K ออกมาสู่ตลาดผู้บริโภคให้เลือกมากขึ้น รวมทั้งแผ่นหนังที่เป็น 4K ก็เริ่มทยอยวางตลาด หนังHollywoodใหม่ๆ เวลาออกมาขายเป็นแผ่นBlu-ray ตอนนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเป็นแผ่นComboรวมแผ่น 4K และ Blu-rayปกติ มาในกล่องเดียวกันเลย แถมราคายังไม่ได้สูงต่างจากแผ่นBlu-rayปกติแผ่นเดียวไปเท่าไร จึงเป็นโอกาสดีของหลายคนที่ได้จดจ้องมานานจะอัพระบบขึ้นไปเป็น4K มีโอกาสได้สัมผัสภาพที่มีรายละเอียดระดับ 4Kเสียที

เริ่มจากBenq w11000 ที่ได้ชื่อว่าเป็นprojectorใช้ชิปDMDของDLP ความละเอียดระดับ4K ตัวแรกของโลกที่ได้การรับรองเรื่องภาพจากTHX โดยชิปที่ใช้จะเป็นตัวใหม่ล่าสุดของTexas Instrumentsที่มีกระจกเล็กๆความละเอียด 2,716 x 1,528pixel มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยอ้าวอย่างนี้ก็ไม่ได้แสดงภาพUHDที่มีความละเอียดจริงๆอยู่ที่ 3,840 x 2,160pixel มีการscaleภาพขึ้นมาใช่หรือไม่ ความจริงแล้วตัวprojectorจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า super-fast pixel shiftโดยเมื่อได้รับสัญญาณภาพ3,840 x 2,160pixelเข้ามาprocessorก็จะสั่งให้สร้างภาพoutputแรกในเวลา 1/120วินาที หลังจากนั้น1/120วินาทีต่อมาก็จะแสดงภาพที่สอง แล้วนำทั้งสองภาพมาprocessedรวมกันได้ความละเอียดระดับ3,840 x 2,160pixelเต็มๆที่ 1/60วินาที ดังนั้นภาพที่เข้ามาความละเอียดUHD pixelเมื่อฉายไปบนจอก็จะแสดงออกเต็มpixel 3,840 x 2,160เหมือนเดิมไม่ได้มีการscaleหรือมีการคำนวณเพื่อสร้างภาพขึ้นมาแต่อย่างไร

เมื่อแกะกล่องBenq W11000ผมก็พบว่าตัวเครื่องมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าprojectorที่เห็นอยู่ในท้องตลาดทั่วไปเล็กน้อย แต่เมื่อลงยกลงเพื่อติดตั้ง น้ำหนักตัวก็ไม่ได้มากเหมือนกับขนาดที่ใหญ่ ดูจากspecก็พบว่าน้ำหนักอยู่ที่ 14.8kg แสดงว่าถ้าสามารถแขวนprojector hi endสำหรับhome theaterทั่วๆไปได้ตัวนี้ก็สามารถแขวนได้เช่นเดียวกัน แต่ที่ผมทดสอบนี้ผมวางไว้ข้างล่างไม่ได้แขวน ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการติดตั้ง ขนย้าย ดูในกล่องก็จะมีสายไฟ, รีโมท, ถ่านไฟฉาย คู่มือเล่มบางๆ และก็แผ่น diskที่เป็น User Manual แบบไฟล์Adobe Reader ลักษณะทางกายภาพด้านบนของเครื่องจะมีปุ่มหมุนสองปุ่มเพื่อใช้ขยับภาพไปทางซ้าย ขวาตอนติดตั้ง หน้าเลนส์ก็จะมีฝาปิดมาให้คล้ายๆกับเลนส์กล้องถ่ายรูป โดยเมื่อเปิดออกมาก็จะเป็นคันโยกเพื่อปรับการzoomให้ภาพพอดีกับจอ ส่วนการปรับโฟกัสก็จะใช้ระบบแบบมือหมุนด้านหน้าของเลนส์ ข้างๆเลนส์จะมีครีบระบายความร้อนอยู่ทั้งสองข้างโดยครีบด้านขวามือก็จะดูดอากาศเข้าไปในเครื่องและระบายอากาศที่ร้อนออกมาจากครีบด้านซ้าย ฝั่งด้านขวาของตัวเครื่องจะมีขั้วต่อทั้งหมดอยู่ตรงนี้ โดยจะมีขั้วสายไฟ สายLAN, IR IN, สายสัญญาณภาพคอมพิวเตอร์, ช่องต่อHDMI จะมีสองช่องคือ HDMI1จะรองรับการต่อแบบHDMI Version2.0ที่ให้ภาพที่คุณภาพมากกว่าช่องHDMI2ที่รองรับแค่Version 1.4a นอกจากนั้นก็จะมีช่องต่อ USBแบบ Mini-B, ช่อง12V Trigger 2ช่อง และช่องต่อ RS-232เพื่อใช้เชื่อมกับคอมพิวเตอร์

มาแกะกล่องOppo UDP-203กันบ้าง จะเห็นได้ว่าก่อนที่เครื่องเล่น Ultra HDของOppoจะออกมาก็มีเครื่องเล่นของยี่ห้ออื่นๆออกมากันบ้างสองสามยี่ห้อแต่ก็ดูไม่คึกคักเท่าไร แต่พอมีข่าวว่าOppoจะออกมาบ้าง ข่าวคราวก็เริ่มคึกคักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด มีการสั่งจองล่วงหน้ากันอย่างมากมายทั้งที่ตัวเครื่องจริงๆก็ยังไม่ออกมา อาจจะเพราะOppoมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยทำเครื่องเล่นBlu-rayออกมาที่ทั้งคุณภาพและราคาเป็นที่ถูกใจของเหล่านักเล่นhome theaterทั่วไปมาก ดังเราจะเห็นว่านักเล่นไม่ว่าระบบใหญ่ ระบบเล็ก มักจะใช้เครื่องเล่นBlu-rayของOppo พอมีข่าวจะขายเครื่องเล่น4Kขึ้นมาเท่านั้นแหละนักเล่นเลยมีความมั่นใจมาก แบบไม่ต้องรอเห็นตัวจริงกันล่ะขอจองก่อน เลยต้องมาดูกันว่าจะทำได้เหมือนที่แฟนๆรอคอยกันหรือเปล่า เปิดกล่องออกมา ในกล่องก็จะคล้ายๆกับpackagingรุ่นเดิมคือจอยู่ในถุงผ้าสีดำมีตัวอักษรOppoไว้ที่หน้าถุง ด้านในก็จะมีสายไฟแบบมาตรฐานมาให้พร้อมคู่มือเล่นหนาเท่าๆเดิม เนื้อหาภายในคู่มือก็ดูง่ายไม่ได้มีเนื้อหาแน่นเอี๊ยดเล่มหนาเตอะเหมือนบางยี่ห้อที่พอเห็นคู่มือละไม่อยากเปิดเข้าไปอ่านเลย ส่วนรีโมทเครื่องที่ให้มาก็มีการวางปุ่มต่างๆเหมือนเดิม แต่ที่ผมชอบสำหรับรีโมทรุ่นนี้ก็คือเมื่อมีการขยับก็มีแสงขึ้นมา ทำให้หาปุ่มง่ายเหมาะกับห้องhome theaterที่จะมืดมากๆ มีใครเป็นเหมือนผมบ้างที่เวลาจะกดรีโมททีต้องหาไฟฉายให้เจอก่อนเอามาส่องรีโมตไม่งั้นมองไม่เห็นว่าปุ่มอะไรเป็นปุ่มอะไร แถมมาในกล่องOppoอีกอย่างก็คือสายHDMI ที่มีฉลากสีเหลืองเขียนไว้ว่าHDMI Premium Certified Cableโดยคำว่าPremiumพิมพ์เป็นตัวใหญ่ ผมก็เลยงงๆว่าตกลงเป็นสายยี่ห้อPremium หรือคำว่าPremiumหมายถึงคุณภาพของสายกันแน่555

ตัวเครื่องภายนอกของOppo UDP-203หน้าตาก็คล้ายๆกับรุ่นเดิม ที่ด้านหน้าเครื่องจะมีแค่ปุ่มกดเปิด ปิดเครื่อง ปุ่มเปิดปิดถาดใส่แผ่นdisc ปุ่มplay ปุ่มหยุด ปุ่มเลื่อนไปหน้าถอยหลัง และก็มีport USBversion3.0หนึ่งport ส่วนด้านหลังเครื่องก็จะมีช่องต่อมากมาย ทั้งportระบบlanที่รองรับความเร็วระดับGigabit Ethernet connects ส่วนWi-Fiจะเป็น built-in 802.11ac ช่องระบบเสียงออกทั้งระบบdigital coaxial, optical และ7.1-channel analog outputs USB3.0ด้านหลังมีสองช่อง มีช่องHDMI inหนึ่งช่องเอาไว้ต่อmedia sourceจากภายนอก ส่วนHDMI out จะให้มาสองชุดโดยถ้าต้องการภาพที่ได้มีคุณภาพมากที่สุดแนะนำให้ต่อแบบ Dual HDMI โดยแยกสัญญาณภาพออกจากHDMI OUT(Main) ส่วนสัญญาณเสียงออก HDMI OUT(Audio Only) ทำให้สัญญาณภาพและเสียงไม่กวนกัน ก็ถือว่าเหมาะมากถ้าระบบภาพของเรารองรับUHD แต่av receiver หรือ Pre-Proไม่รองรับUHD ซึ่งผมก็ใช้การต่อแบบDual HDMIนี้เหมือนกัน แต่ระวังนิดหนึ่งนะครับตอนผมต่อตอนแรกเพื่อเล่นแผ่น UHDแท้ปรากฏว่าสัญญาณที่ออกจากpre-proไม่เป็น immersive soundเสียงที่ออกมาเป็นแค่ Dolbyกับdtsธรรมดา ผมไล่ตั้งนาน เปลี่ยนทั้งสาย เปลี่ยนทั้งแผ่น เปลี่ยนเครื่องเล่นต่างๆ กว่าจะหาได้ว่ามันต้องปรับในเมนูของOppo UDP-203เป็นดังนี้ครับ Secondary Audioตั้งเป็นoff, HDMI Audio Formatเป็นBitstream, SACDเป็น PCM(แต่ถ้าเครื่องreceiver รองรับ DSDผ่านHDMIได้ก็ปรับเป็นDSD), S/PDIF Output เลือกตัวไหนก็ได้ เมื่อปรับแบบนี้แล้วต่อโดยวิธี Dual HDMIเมื่อดูแผ่น4K หรือ UHD เสียงimmersive soundก็จะออกได้ไม่ว่าจะเป็นDolby Atmos, dtx:X ผมลองดูแล้ว ใครเจอปัญหาแบบที่ว่าลองปรับแบบที่ผมบอกดูครับจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาเหมือนผมอีก

คุณสมบัติด้านHDR(High Dynamic Range) ของOppoตัวนี้ ก็รองรับHDR10 และ Wide Color Gamut โดยสามารถแปลงHDR ไปเป็นSDR(Standard Dynamic Range) สำหรับเครื่องฉายรุ่นที่ไม่มีระบบHDR รวมทั้งcolor spacesแบบต่างได้ไม่ว่าจะเป็น BT.2020, BT.709, BT.601ก็สามารถแปลงให้เข้ากับเครื่องฉายภาพรุ่นเก่าได้ ที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างก็คือ Oppoได้แจ้งไว้ว่าระบบhardwareของเครื่องได้ออกแบบเตรียมไว้support HDRแบบDolby Visionได้ด้วยโดยจะปล่อยให้upgrade firmwareอีกภายในปีนี้ ทั้งยังมั่นใจว่าจะมีstudioปล่อยหนังUHDที่encodeด้วยระบบdolby vision HDRออกมาจำหน่ายในอนาคตอีกแน่นอน เนื่องจากคุณภาพDolby vision HDRของภาพดีกว่าHDR10มาก พูดถึงตอนนี้ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าHDRน่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของทีวีไปแล้ว อย่างกับงานCES2017ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทีวีตอนนี้รองรับระบบHDR10กันหมดแล้ว ส่วนในรุ่นสูงๆหน่อยก็จะรองรับระบบHDRทั้งHDR10,hybrid log gammaและDolby Vision HDRครอบคลุมหมด ส่วนแผ่นUHDหรือ4K ที่ออกมาตอนนี้ยังมีแค่HDR10อยู่ ซึ่งในขณะนี้ถ้าเป็นHDR ระบบDolby Visionจะให้ภาพที่ดีที่สุดเนื่องจากว่าทำงานแบบ 12bit ในขณะที่HDR 10ใช้ระบบ 10bitอยู่ ที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือHDR10จะใช้metadataหรือข้อมูลที่จะบอกเครื่องแสดงภาพว่า จอภาพจะต้องแสดงผลอย่างไร แบบไหน สว่างมากที่สุดได้เท่าไร สีสันแบบไหนฯลฯ HDR10จะเป็นแบบstatic metadataก็คือใช้ข้อมูลเดียวสำหรับภาพยนตร์ทั้งเรื่องเลย แต่สำหรับDolby visionจะใช้dynamic metadataก็คือค่าparameterต่างๆจะเปลี่ยนไปในแต่ละฉาก แต่ละframeตามที่studioกำหนดมาทำให้ภาพในแต่ละฉากใกล้เคียงกับภาพที่เห็นในstudioมากยิ่งขึ้น เพราะstudioจะใส่ข้อมูลลงแผ่นได้ละเอียด เฉพาะเจาะจงในแต่ละฉากเลย แต่ปัญหาก็คือมันต้องใช้เงินเนื่องจากว่าทางDolbyได้ถือลิขสิทธิ์ตรงนี้อยู่ ในขณะที่HDR 10เป็นแบบopen standardที่ทางสตูดิโอหรือบริษัทแผ่น บริษัทstreamingต่างๆไม่ต้องเสียเงินในการencodeแบบนี้ ล่าสุดได้ยินมาว่าทางHDR10ก็กำลังพัฒนาให้เป็นdynamic metadataอยู่เหมือนกัน ยังไงคงต้องรอดูต่อไปครับสำหรับเรื่องของHDRที่ยังไม่นิ่ง แต่ที่แน่ๆOppoตัวนี้เตรียมfirmwareไว้รองรับรอไว้แล้ว

เมื่อจัดการวางโปรเจคเตอร์บนแท่นเรียบร้อย ทำการต่อสายHDMI ของWire World Starlightรุ่นที่รองรับ4k ความยาว 7เมตรต่อออกจากเครื่องOppo ช่อง HDMI Out Main เข้าไปยังBenq ช่อง HDMI1 ปรับให้ภาพขึ้นจอทำการZoom in , Zoom outจนได้ขนาดที่เหมาะสมจากปุ่มด้านบนเครื่อง focusภาพโดยใช้มือหมุนที่หน้าเลนส์ของเครื่องprojector ก็ได้เวลาดูภาพแล้ว แค่ภาพแรกออกมาก็ตื่นเต้นแล้วครับเป็นภาพหน้าจอเมนูแรกของOppoที่ทำเป็นรูปวิวต่างๆดูแล้วสวยงามกว่ารุ่นเดิมที่เป็นพื้นดำและมีแค่iconต่างๆ ส่วนความคมของBenqนั้นนับว่าทำได้ดีมาก ตัวหนังสือที่เมนูของOppoให้ความคม สว่าง มองไม่เห็นเป็นpixelเล็กๆแต่อย่างไร สมเป็นprojectorความละเอียดระดับ 4K ลองดูหนังเพื่อburnเครื่องอยู่สองสามวัน ภาพที่ออกมาสวยทีเดียว โดยเฉพาะแผ่นที่เป็นUltra HD 4Kแท้

เมื่อคิดว่าเครื่องน่าจะอยู่ตัวในระดับหนึ่ง ก็ได้เวลาFully Calibrationตามวิธีของ isf และ THX โดยโปรแกรมที่ผมใช้จะเป็น ChromaPure3 THX edition versionล่าสุด ความจริงช่างปรับภาพของisfหรือTHXก็จะใช้ได้ทั้งCalmanและ ChromaPure อยู่แล้ว แต่ละโปรแกรมก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ก็แล้วแต่ชอบเพราะไม่ว่าใช้ตัวไหนถ้าคนปรับ ปรับภาพเป็น ภาพที่ออกมาก็สวยถูกต้องเหมือนกัน หลักการปรับภาพก็คือหลักเดียวกัน goalหรือเป้าหมายก็คืออันเดียวกัน ว่าถึงMeterหรือProbeที่ใช้เพื่อวัดภาพต่างๆผมจะใช้Meter2ตัวตาม recommendation ของ THXที่จะใช้ SpectroradiometerหรือSpectrophotometer ตัวหนึ่งทำprofileให้กับ Colorimeterอีกตัวหนึ่ง ซึ่งในเรื่องของการprofile meterพูดง่ายๆก็คือเป็นการทำMeterตัวหนึ่งอ้างอิงกับMeterอีกตัวหนึ่งเพื่อให้ผลจากการวัดแสงหรือวัดสีต่างๆมีความแม่นยำมากขึ้น โดยในการทดสอบนี้Meterที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงผมจะใช้i1Pro2 ที่เป็นSpectrophotometer ทำProfileให้กับ Display3Pro2ที่เป็นColorimeter

เมนูต่างๆของBenq เพื่อใช้ในการปรับภาพ ผมดูแล้วนับว่าดูง่ายและตรงไปตรงมาดี มีภาษาให้เลือกด้วยรวมทั้งภาษาไทย แต่ผมคุ้นกับศัพท์ในการปรับที่เป็นภาษาอังกฤษเลยเลือกเป็นภาษาอังกฤษจะง่ายกว่า แน่นอนว่าProjectorที่ได้รับการรับรองจากสถาบันisfหรือTHXจะมี service menuพิเศษสำหรับช่างของisfหรือTHXเข้าไปปรับและlockไว้ไม่ให้ใครเข้าไปเปลี่ยนค่า เช่นเดียวกันBenqตัวนี้ก็สามารถactivateเมนูพิเศาของisfได้เช่นเดียวกัน ก่อนที่ผมจะปรับภาพผมได้ทดลองวัดค่าต่างๆในเกือบทุกpicture modeของเครื่องได้แก่Bright, Vivid, Cinema, THX, Selent Room, User1, User2 ก็พบว่าBenq W11000มีค่าpresetของTHX modeใกล้เคียงกับมาตรฐาน Rec.709มากที่สุด ค่าDeltaE หรือค่าความผิดพลาดพบว่าเฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ 3-4%เองถือว่าน้อยมากๆ เท่าที่ผมเจอถ้าไม่ใช่รุ่นที่hi endจริงๆนี่errorไปที่ร่วมๆ10% ทั้งนั้น นั่นก็หมายถึงว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ถ้าซื้อไปแล้วยังไม่ได้fully calibrateละปรับไปที่ THXก็นับว่าภาพที่ได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานละ แต่ยังไงก็ตามถ้าจะให้ภาพออกมาดีที่สุดก็คงต้องได้รับการปรับโดยละเอียดอีกที สำหรับผลที่ได้จากการปรับFully calibrateผมได้แสดงออกมาเป็นกราฟกับตารางที่แสดงไว้ สรุปคร่าวๆก็ได้ว่าอุณหภูมิสีก่อนที่จะปรับจะได้ประมาณ6000CCT(Correlated color temperature,degrees Kelvin)เมื่อหลังจากปรับแล้วอุณหภูมิสีก็จะมาอยู่ที่ใกล้ๆกับมาตรฐาน6500CCT ค่าGrayscaleหรือแม่สีแดง เขียว น้ำเงิน(RGB) ที่มารวมกันทำให้เกิดสีขาว สีเทา สีดำในความสว่างระดับต่างๆตั้งแต่0IRE(มืดที่สุด) ถึง 100IRE(สว่างมากที่สุด) มีความผิดพลาดของGrayscaleจากก่อนปรับ 4.1% เป็น 2.3% ในเรื่องของสีค่าความเพี้ยนของสีต่างๆจะลดลงจาก 3.3% เหลือเพียง 0.6% โดยเฉพาะถ้าเอาลงลึกลงไปเฉพาะสีของSkin tonesซึ่งเป็นสีที่สำคัญสำหรับการcalibration พบว่าหลังจากปรับแล้วให้error น้อยมากคือแค่ 0.5% เรียกได้ว่าprojectorตัวนี้ให้สีskin tone หรือ flesh toneได้ดีมาก ค่าGammaหรือความสว่างในแต่ละชั้นIREมีความโค้งที่ราบเรียบมากกว่าเดิมและมีค่าใกล้เคียงกับGamma Targetที่ตั้งไว้ 2.4มากขึ้นโดยก่อนปรับจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.12หลังปรับจะเป็น 2.34 เหล่านี้เป็นค่าโดยคร่าวๆส่วนในรายละเอียดสามารถดูจากกราฟและตารางที่แสดงไว้ได้ครับ

เมื่อทำการFully Calibrateเสร็จลองมาดูคุณภาพของภาพจริงๆดูซิว่าภาพเป็นยังไงบ้าง ภาพยนตร์ระบบ UHD 4Kที่ผมใช้ทดสอบมีอยู่สามเรื่องคือ Lone Survivor, Now you see me2และIce Age Collision course ต้องบอกว่าที่ผมลงทุนซื้อOppo UDP-203ทั้งๆที่projectorที่ผมใช้อยู่ยังเป็นFull HD นี่ก็เพราะหนังเรื่องนี้เลย Lone Survivor แผ่นเก่าที่เป็นBlu-rayมันเป็นแค่ระบบเสียง dts-HD แต่ในแผ่น 4K UltraHDมันเป็นระบบเสียง dts:X และก็ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่ตอนเป็นแผ่นblu-rayธรรมดาเป็นระบบเสียงdts-HDหรือDolby True HDแต่พอมาเป็นแผ่น4Kก็กลายเป็นระบบเสียงimmersive soundซะงั้น หลังจากผมได้ลองฟังเสียงdts:X หนังเรื่องLone Survivorนี้แล้วเรียกได้ว่าไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เสียงดีขึ้นจากdts-HDอย่างเห็นได้ชัด เช่นเสียงechoของปืน มันก็จะมีมิติด้านสูงเพิ่มเข้ามาทำให้เสียงปืนมันก้องเสมือนจริงมาก และพวกฉากที่อยู่ในค่ายทหารก็จะมีเสียงเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ บินวนไปมาอยู่ด้านบนชัดเจนกว่าระบบเสียง dts-HD แบบเดิมมาก ในเรื่องภาพไม่ต้องพูดถึง หนัง Ultra HDทั้งสามแผ่นที่ผมมีเมื่อเปิดดูในระบบ 4K ให้ความคมชัดของภาพดีกว่าfull HDอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องเพ่งดู ความแม่นยำของสีภาพทำได้ดีมากโดยเฉพาะสีflesh toneหรือสีเนื้อนั้นเหมือนจริงมาก การไล่ระดับสีGrayscaleที่ดีทำให้ภาพออกมาดูกลมกลืนsmoothสวยงาม ยิ่งได้เครื่องprojectorที่ให้ความสว่างแบบนี้ทำให้สีที่ได้ออกมาดูมีพลังเข้มข้น ส่วนเรื่องความดำของภาพที่หลายคนกังวลใจว่าเป็นระบบDLPจะทำได้ดีขนาดไหนต้องบอกเลยว่าทำได้เหนือกว่าที่ผมคาดไว้ ถึงแม้อาจจะไม่โดดเด่นเหมือนprojectorตัวTopตัวละสามสี่แสน แต่ก็ถือว่าสมราคา จุดบกพร่องของภาพเท่าที่ผมเจอก็คือrainbow effectsที่ผมพบบ้างในบางฉากแต่น้อยมาก ไม่ได้ทำให้รำคาญสายตาแต่อย่างไรไม่เหมือนกับSingle chip DLPทั่วๆไปที่เคยดูจะมีrainbow effectsมาก ยิ่งผมเป็นคนสายตาไวกับeffectนี้ด้วยบางทีทำให้ผมดูหนังไม่จบเรื่องเลย นับว่าprojector DLPรุ่นใหม่ๆนี่พัฒนาลดeffectตรงนี้ได้มากทีเดียว ถึงแม้ไม่ได้ทำให้หายหมดไปได้แต่ก็ลดไปเยอะ จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของระบบ 4Kคือเรื่องของภาพเคลื่อนไหวเร็วๆที่ถ้าสังเกตดีๆจะมีการกระตุกของภาพบ้าง แต่ตรงนี้ถ้าไม่ได้จอใหญ่มากหรือดูจับผิดจะมองไม่เห็น แต่พอดีผมต้องดูแบบทดสอบเลยต้องมองให้ละเอียดหน่อย ผมว่าอาจจะเป็นเพราะข้อมูลของภาพ 4Kที่ต้องใช้ทรัพยากรของเครื่องมากในการประมวลผลขนาดใหญ่ เมื่อเจอฉากที่ต้องคำนวณข้อมูลมหาศาลก็อาจจะมีการกระตุกบ้าง แต่ยังไงก็ตามเมื่อดูโดยรวมแล้วภาพที่ได้จากเครื่องเล่น Oppo รุ่น UDP-203ร่วมกับprojector Benq รุ่น w11000 นับได้ว่าให้ภาพ 4Kที่ดีมาก ในราคาที่ไม่เกินเอื้อมจนเกินไป

เรื่องการอ่านfileของOppo UDP-203 เท่าที่ผมลองดู ไม่สามารถอ่านfile นามสกุล isoได้ ส่วนfileที่ripมาจากแผ่นblu-rayแบบfull ripก็จะเล่นไม่ได้นอกจากจะเข้าไปในfolder BDMV, STREAMและเลือกไฟล์นามสกุลm2tsแต่ก็จะไม่มีเมนู ไฟล์นามสกุลอื่นๆที่มักจะcopyกันในinternetก็มีบางตัวเล่นได้ บางตัวเล่นไม่ได้ เหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องของการป้องกันลิขสิทธิ์ต่างๆ ดังนั้นใครที่คิดว่าจะซื้อเครื่องเล่นนี้มาเพื่อเล่นfileโดยเฉพาะผมว่าอาจจะไม่เหมาะ นอกจากจะไปทำการjailbreakต่างๆที่ผมไม่แนะนำให้เล่นเพราะนอกจากจะเล่นยากแล้ว คุณภาพของภาพ เสียงจากเครื่องที่มีการjailมักจะไม่สู้ภาพและเสียงของแผ่นแท้ นอกจากนี้ผมได้ลองด้านภาพอีกอย่างคือลองเอาเครื่องเล่นOppo ตัวนี้เล่นแผ่น4K แล้วdownscaleภาพลงมาให้ปล่อยภาพที่ 1080p เพื่อใช้เล่นภาพกับโปรเจคเตอร์ตัวเก่าของผมที่รองรับแค่ Full HDตอนแรกผมก็คิดว่าภาพที่ได้น่าจะคมชัด ดีกว่าภาพจากblu-ray 1080pทั่วไปเพราะต้นฉบับมันสูงถึง 4K แต่เท่าที่ผมลองดูจากหนังทั้งสามเรื่อง ผลลัพธ์เหมือนกันทั้งสามแผ่นเลยคือภาพไม่สู้ภาพจากblu-ray ทั่วไปที่เป็น 1080pแล้วเปิดกับprojector full HD 1080pตรงๆ ทั้งนี้ถ้าจะให้เดาก็อาจจะมาจากการdownscaleลงมาต้องใช้การprocessภาพที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคุณภาพของภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการลองจากแผ่นแค่ไม่กี่แผ่น เพื่อนๆใครมีโอกาสก็ลองแล้วดูว่าเป็นยังไงบ้างครับ

สรุปแล้วจากการได้ลองSystem Ultra HD 4K ที่ประกอบไปด้วยต้นทางคือOppo UDP-230 ผ่านสายสัญญาณ HDMI Wire World รุ่น Starlight7 4Kแล้วไปแสดงภาพที่projector Benq รุ่น W11000 นั้นภาพที่ออกมาในระบบ 4Kได้ให้ความตื่นตาตื่นใจมาก กับความคมของภาพ สีสันที่ถูกต้องสวยงามของภาพ ในราคาที่ไม่สูงจนเกินเอื้อม นับว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของระบบProjectorห้องHome theaterที่อีกหน่อยระบบ Ultra HD 4Kคงต้องเป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตแน่นอน

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ 4K Ultra HD System review (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้