หลังจากฉบับที่แล้วผมได้พูดถึงBlack Level และ Contrast Ratio ในการปรับภาพแบบTHXไปแล้ว มาถึงฉบับนี้ขอมาต่อในอีกสามหัวข้อที่เหลือคือเรื่องของสี การปรับสีต่างๆ รายละเอียดที่แสดงอยู่ในภาพ และเรื่องของแหล่งข้อมูลต่างๆ แต่คงจะเน้นเรื่องของสีและการcalibrateในส่วนของสีเป็นหลักส่วนอีกสองหัวข้อที่เหลืออาจจะมีเสริมเล็กน้อยเนื่องจากเคยพูดถึงบ้างแล้วในบทความฉบับก่อนๆ

ก่อนหน้าที่จะเข้าไปถึงเนื้อหาในเรื่องการปรับสีก็คงต้อง พูดถึงพื้นฐานของCIE 1931 Diagramกันก่อน พูดถึงชื่อก็อาจจะไม่คุ้นหู แต่พอเห็นภาพก็คงคุ้นตาขึ้นมาเพราะจะเห็นได้ทั่วๆไปในแผ่นโฆษณาหรือBrochure เครื่องแสดงภาพต่างๆไม่ว่าจะเป็นTV, Projector ถ้าดูคร่าวๆCIE Diagramก็จะเป็นรูปคล้ายๆครีบปลาฉลามหรือshark-fin ซึ่งเจ้าครีบปลาฉลามตัวนี้แหละจะหมายถึงสีสันต่างๆที่สายตามนุษย์โดยทั่วไปสามารถเห็นได้ทั้งหมด ครีบปลาฉลามจะแสดงอยู่บนแกนที่เป็นแกนxและy ด้านบนจะเป็นสีเขียวมีเนื้อที่เยอะหน่อย ด้านขวาจะเป็นสีแดงพื้นที่รองลงมา ส่วนด้านล่างค่อนมาด้านซ้ายจะเป็นสีน้ำเงินกินเนื้อที่น้อยที่สุดในบรรดาสีหลักหรือprimary colorทั้งสามสีคือสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน แต่ความจริงแล้วCIE Diagramมันไม่ได้มีแค่สองมิติมันมีส่วนของแกนZอยู่ด้วยเพียงแต่ส่วนมากเขาไม่แสดงให้เห็นกัน ถ้ามองเข้าในในครีบปลาฉลามนี้บางทีก็จะมีรูปสามเหลี่ยมซ้อนอยู่ด้านใน ตัวนี้แหละที่เรียกว่าColor Gamut(กามุท) มันก็จะแสดงถึงช่วงความกว้างของสีทั้งหมดที่จอภาพนั้นๆสามารถแสดงออกมาได้ หรือสามารถแสดงถึงช่วงของสีมาตรฐานที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงในการปรับภาพ เช่นในปัจจุบันเราใช้ Rec. 709 Color Gamut มันก็จะหมายถึงตามมาตรฐานสีขาวหรือD65ค่ามันก็จะอยู่ที่ตำแหน่งx.313y.329 ตำแหน่งของสีหลัก(Primary Color)ทั้งสามคือแดง เขียว น้ำเงิน ก็จะอยู่บนกราฟที่ตำแหน่งต่างๆเช่น สีแดงตำแหน่งของสีแดงที่ถูกต้องก็จะอยู่ที่ x.640 y.330, สีเขียวx.300 y.600, สีน้ำเงิน x.150 y.060 ส่วนที่เป็นสีรอง(Secondary Color)สีเหลืองอยู่ที่ x.419 y.505, สีฟ้าอ่อนx.225 y.329, ส่วนสีม่วง x.313 y.154 ค่าตัวเลขพวกนี้คงไม่ต้องจำทั้งหมด ถ้าจะจำก็จำเฉพาะตำแหน่งสีขาวที่D65ว่า xอยู่ที่.313, yอยู่ที่.329 ซึ่งในปัจจุบันเมื่อจอภาพDigitalที่เป็น 4Kหรือ UHD ออกมา Color Gamutมาตรฐานสีก็จะเปลี่ยนไปอีกเพราะว่าจอภาพสามารถแสดงเฉดสีได้กว้างขึ้น ก็จะกลายเป็นมาตรฐานชื่อ DCI-P3ที่ใช้ในโรงภาพยนตร์Digitalทั่วไปใน และกำลังก้าวไปสู่มาตรฐานColor Gamut Rec.2020 ที่นับว่ามีความกว้างของสีที่แสดงได้เยอะขึ้นมากโดยเฉพาะสีเขียวลองดูจากdiagramจะเป็นว่าขยายขึ้นไปอยู่ที่ x.170 y.797กันเลย ส่วนอีกค่านอกจาก xกับy แล้วก็คือค่า Y(big Y) ที่จะแสดงถึงความสว่างของสีหรือที่ฝรั่งเรียกว่าluminance มันก็จะอยู่บนแนวแกนZถ้าเรามองภาพ CIE chromaticityเป็นภาพสามมิติ

ต่อมาคือคำว่าTintหรือ Hue มันก็หมายถึงตัวสีที่ทำให้แยกได้ว่ามันเป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง ลองนึกภาพง่ายๆถึงสามเหลี่ยมที่อยู่ในCIE chart การปรับTint/Hue ก็คือการไปหมุนสามเหลี่ยมข้างในโดยมีสีขาวอยู่ตรงกลาง(D65) เช่นถ้าหมุนตามเข็มนาฬิกาสีแดงก็จะออกไปทางสีม่วงมากขึ้นสีเขียวก็จะกลายเป็นโทนเหลือ สีน้ำเงินก็จะกลายเป็นฟ้าอมเขียว ในทางกลับกันถ้าหมุนทวนเข็มนาฬิกาก็จะส่งผลให้สีแดงจะออกไปทางสีแสดมากขึ้น สีเขียวก็จะกลายเป็นเขียวอมฟ้า ส่วนสีน้ำเงินก็จะออกไปทางม่วงมากขึ้น ดังนั้นการปรับTint/Hueก็คือการทำให้ตัวสีเปลี่ยนไปอย่างที่กล่าว ส่วนคำว่าSaturationแปลเป็นไทยตรงๆก็คือความเข้มของสี อย่าสับสนกับความสว่างของสีนะ ความสว่างคือluminance ส่วนความเข้มคือSaturation เช่นที่เราพูดว่าสีแดงเข้ม สีแดงอ่อน โดยHueของมันก็คือสีแดง Saturationก็คือความเข้มความอ่อน ส่วนความสว่างก็คือluminance ในเรื่องของความสว่างพูดง่ายๆก็นึกถึงภาพประมาณว่าเอาหลอดไฟนีออนใส่ไปเข้าไปข้างหลังตู้ไฟสีแดงให้สีแดงมันสว่างมากขึ้นประมาณนี้ และถ้าดูในCIE chartค่าSaturationมันจะหมายถึงระยะทางของจุดนั้นห่างจากสีขาวD65เท่าไร ถ้าจุดสีนั้นเคลื่อนเข้ามาตรงกลางสามเหลี่ยมใกล้จุดสีขาวมากขึ้นสีนั้นๆก็จะจางลงหรือมีSaturationน้อยลง แต่ถ้าเคลื่อนออกห่างจากจุดD65มากขึ้นไปเรื่อยๆความเข้มข้นของสีนั้นๆก็จะเพิ่มมากขึ้นก็คือมีColor Saturationมากขึ้นนั่นเอง


อีกคำหนึ่งที่ยังไม่ถูกพูดถึงคือคำว่า Gamma ความจริงถ้าจะพูดถึงเฉพาะคำนี้ค่าเดียว นี่ต้องว่ากันยาว เอาแบบง่ายๆเลยก็คือค่านี้แสดงถึงความสว่างของจอภาพที่ตอบสนองต่อพลังงานvoltageที่ใส่เข้าไปในจอภาพ ในอดีตยุคที่เราใช้จอภาพแบบCRT ความสว่างจะมาจากหลอดภาพหรือcathode ray tubeด้านหลังจอภาพ ซึ่งTubeตัวนี้แหละทำให้เวลาใส่พลังงานเข้าไปแสงที่ออกมามันจะไม่ได้เท่ากับพลังงานที่ใส่เข้าไป เช่นใส่พลังงานเข้าไป10% แสงที่ออกมาจะไม่ได้10%เต็ม หรือใส่เข้าไป 100%พลังงานแสงก็ไม่ได้ออกมา 100%ตามสัญญาณvoltageที่ใส่เข้าไป แต่จะออกมาไม่ถึง100%และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพลังงานที่ใส่เข้าไปแบบเส้นตรงด้วย แต่จะออกมาในรูปแบบCurveที่เรียกว่าGamma curve สมมุติถ้าความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานแสงที่ออกมาจากจอภาพมีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงเช่นใส่พลังงานเท่าไรความสว่างก็มากขึ้นตามพลังงานที่ใส่เข้าไปเป็นอัตราส่วน 1:1 ค่าgammaก็จะเท่ากับ 1.0 แต่สำหรับจอCRTโดยธรรมชาติของหลอดtubeจะไม่เป็นอย่างนั้นค่าgammaทั่วไปมันจึงอยู่ระหว่าง 2.2-2.6 ซึ่งสำหรับTHX guidelinesสำหรับจอภาพที่ใช้ในห้องควบคุมแสงได้หรือห้องที่มืดมากๆแบบที่แสงสะท้อนของผนังต่างๆสว่างไม่เกิน 1fL ค่าgammaที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 2.4 ส่วนในห้องที่มีความสว่าง หรือการดูในสภาพแสงในห้องทั่วๆไปที่มีความสว่างของสิ่งแวดล้อมประมาณ 6fL ค่าgammaที่เหมาะสมก็จะต่ำกว่า 2.4 ลงมาจนถึง 1.95 จำไว้ว่าค่ายิ่งต่ำลงมาความสว่างของจอภาพก็จะมากขึ้น แต่สิ่งที่เสียไปในค่าgammaที่ต่ำลงมาก็คือรายละเอียดในส่วนที่มืดก็จะมองได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันจอCRTถูกแทนที่ด้วยจอflat panelแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจอ LCD, Plasma, LEDฯลฯ ค่าgammaเริ่มไม่เหมาะสมกับจอเหล่านี้แล้วเพราะแหล่งกำเนิดแสงไม่ได้มาจากtubeเหมือนจอCRT แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังคงใช้ค่าgammaกันอยู่เนื่องจากใช้กันมานานจนเป็นมาตรฐานไปแล้ว ต่อมาการมาถึงของจอภาพแบบ 4K HDRค่าgamma ที่เคยใช้มายาวนานจึงไม่เหมาะสมกับจอแบบนี้แล้วเนื่องจากทั้งความสัมพันธ์ของการตอบสนองสัญญาณที่ต่างออกไปมากจากจอCRT ทั้งrangeระหว่างจุดมืดสุดถึงระดับความสว่างสุดของจอHDRที่กว้างกว่าเดิม จอในปัจจุบันก็มีความสว่างมากจากไม่กี่fLจนตอนนี้ไปหลายร้อยfLแล้ว การวัดโดยใช้ค่าgammaเลยได้เปลี่ยนใหม่เป็นการวัดเป็นอีกแบบที่เรียกว่า EOTFมาจากElectro Optical Transfer Function ในปัจจุบันEOTFจะเริ่มได้ยินกันมากขึ้นเพราะเหมาะสมกับจอภาพแบบdigital signal และได้คำนึงถึงพื้นฐานเรื่องการมองเห็นของมนุษย์ด้วย ตัวที่เด่นๆก็เช่น PQ EOTF (Perceptual Quantizer)ที่พัฒนาโดยDolbyฯลฯ ยังไงเรื่องนี้มีรายละเอียดที่สนุกอีกเยอะแต่ค่อนข้างวิชาการมากๆ เอาไว้โอกาสหน้าผมค่อยลงละเอียดลึกในเรื่องนี้อีกทีถ้ามีคนสนใจนะครับ


มาถึงการปรับColor & Tint โดยถ้าไม่มีเครื่องมือหรือmeterใดๆเลย ก็คงต้องใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือการใช้Color barไม่ว่าจะเป็นSMPTE Color Bars, Accupel Color Bars, THX Color Patternฯลฯ ร่วมกับblur filterที่แจกมาพร้อมกับแผ่นปรับภาพ วิธีการก็ไม่ยากแค่มองผ่านfilterสีน้ำเงินส่องไปยังตำแหน่งกล่องสีขาวและสีน้ำเงินหรืออาจจะเป็นตำแหน่งสีขาวและสีน้ำเงินบนpattern ปรับค่าcolorในทีวีจนสีขาวและสีน้ำเงินเป็นแถบเดียวกันหรือสีเหมือนกัน ส่วนการปรับค่าTintก็ทำเหมือนกันแต่จะใช้เป็นสีฟ้าอ่อน กับสีม่วงแทน เราก็ปรับค่าTintในทีวีจนแถบสีหรือตำแหน่งสีฟ้าอ่อนกับสีม่วงออกมาเป็นสีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่สุด แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยสำหรับการปรับค่าcolor และtint…แต่เดี๋ยวก่อนอย่าลืมว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ปรับแบบคร่าวๆเท่านั้นเพราะว่าความจริงแล้วการใช้วิธีปรับแบบส่องผ่านfilterสีน้ำเงินนี้ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับจอCRTมากกว่า จอประเภทLCD, DLP, Plasma ฯลฯ มันเลยให้ผลที่ไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไรถ้าเราเอามาใช้กับจอภาพเหล่านี้ ทั้งเจ้าตัวfilter สีน้ำเงินในแต่ละบริษัทที่ผลิตออกมาก็จะมีสีที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่บริษัทเดียวกันเองแท้ๆแต่ผลิตออกมาคนละlot ก็ยังต่างกันเลย นี่ยังไม่นับรวมว่าเมื่อทิ้งไว้นานๆเจ้าตัวblue filterนี้ก็จะซีดลงไปตามเวลาด้วย แต่ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นหรือไม่ต้องการยุ่งยากก็คิดเสียว่าดีกว่าไม่ได้ปรับอะไรเลยครับ สำหรับfilterที่เป็นสีแดง หรือสีเขียวก็สามารถนำมาใช้เพื่อหาความผิดปกติได้เช่นกัน ขอเสริมนิดหนึ่งว่าที่เขานิยมใช้สีน้ำเงินนั้นรู้ไหมว่าเพราะอะไร….ลองนึกถึงCIE 1931Diagramถ้าดูไปที่primary color สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน แต่ละสีจะกินเนื้อที่ไม่เท่ากันดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น สีที่มีเนื้องที่น้อยที่สุดคือสีน้ำเงินดังนั้นเมื่อสีน้ำเงินมีความเพี้ยนเพียงเล็กน้อยบนแกนxyZเวลามองสีน้ำเงินที่ต่างกันก็จะเห็นชัดเจนมากกว่าสีอื่นๆที่มีความเพี้ยนบนแกนxyZเท่ากัน จึงทำให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าสีอื่นๆเขาเลยใช้filterเป็นสีน้ำเงินเพื่อว่าจะได้สังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อสีมีความเพี้ยน



แต่อย่างไรก็ตามวิธีการใช้filterสีในการปรับcolorและtintของสีนี้เรียกได้ว่ายังไม่เพียงพอ ทั้งยังยังห่างจากการใช้เครื่องมือหรือmeterวัดจริงๆ แต่ถ้าไม่มีทางเลือกเมื่อใช้วิธีนี้ขอย้ำว่าให้หารูป,ภาพยนตร์ที่คุ้นเคยหรือภาพที่เคยได้เห็นภาพจากจอที่ปรับมาเป็นตัวอ้างอิง แล้วมาdouble checkดูอีกทีว่าสีมันผิดปกติไปมากจากการใช้blue filterในการปรับไหม ให้trickที่น่าสนใจนิดหนึ่งในการดูพวกreference material ว่าทางTHXได้ให้ความสำคัญกับสีแดงมากที่สุดในการสังเกตว่าสื่อที่ดูนั้นสีมีความถูกต้องมากน้อยขนาดไหน ทำไมต้องเป็นสีแดงเหตุผลนั้นก็เพราะว่า ความจำของการมองเห็นของมนุษย์จะทำได้ดีมากในสีแดงมากกว่าในสีเขียวหรือสีน้ำเงิน ดังนั้นมนุษย์จึงมีความสามารถจำสีผิวของมนุษย์(flesh tones)ได้ดีมากๆ ทั้งนี้สีที่เป็นองค์ประกอบหลักของสีผิวมนุษย์คือสีแดง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับluminanceของสีแดงเป็นมากพิเศษกว่าสีเขียว สีน้ำเงิน ว่ามีความผิดเพี้ยนหรือเปล่าเวลาดูmaterial หรือcontentต่างๆที่ใช้เป็นสิ่งอ้างอิงพูดง่ายๆก็คือให้สังเกตุสีผิวของมนุษย์นั่นเอง






มาถึงเรื่องรายละเอียดพวกSharpness และพวกEnhancementsต่างๆ สิ่งสำคัญที่คำนึงถึงก็คือจอภาพต้องแสดงภาพเป็นแบบ 1 to 1 pixel mode บางยี่ห้ออาจจะใช้พวกคำว่า dot to dot, just scanฯลฯ ซึ่งการที่ไปzoom ภาพ หรือ ขยายภาพแบบต่างๆ จะทำให้รายละเอียดต่างๆผิดเพี้ยนไปได้จึงไม่ควรใช้modeที่ทำให้มีการzoomภาพเกิดขึ้นอย่างการปรับkeystoneหรือปรับภาพให้เต็มจอเหล่านี้ควรจะเลี่ยงไว้เป็นดี ส่วนการปรับsharpness มันเป็นการเพิ่มขอบในภาพเพื่อทำให้วัตถุกดูชัดขึ้น แต่มันไม่ได้เพิ่มความละเอียดภาพในภาพแต่อย่างใด และเมื่อใส่sharpnessเยอะเกินไปมันก็จะทำให้ภาพดูหลอกๆ หรือมีสิ่งผิดปกติเพิ่มเข้ามาในภาพทำให้ดูน่ารำคาญ จำไว้ว่าถ้าเร่งภาพให้ได้เห็นอะไรที่ไม่มีอยู่จริงภายในภาพมันก็จะทำให้ไม่สามารถเห็นรายละเอียดจริงๆของภาพได้ เพราะมันจะถูกสิ่งที่เราเร่งหรือสร้างขึ้นมาบังไว้ ดังนั้นหลักง่ายๆในการsetค่าsharpnessก็คืออย่าเร่งมากเกินไปจนทำให้เกิดขอบสีขาวรอบๆเส้นสีดำหรือที่เรียกว่าhalo effect อีกอย่างทีวีบางยี่ห้อ ค่าsharpness ที่ 0อาจจะไม่ใช่เป็นค่าsharpnessที่เหมาะสมสำหรับการดูในสภาพแวดล้อมในห้องนั้นๆแต่อย่างไรเพราะบางยี่ห้อค่าเริ่มต้นที่หมายถึงไม่ได้มีการปรับsharpnessแต่อย่างไรไม่ได้เป็น0หรือไม่ได้ตั้งค่าdefaultไว้ที่0อาจจะเป็น25บ้าง 50บ้าง เราก็คงต้องใช้ภาพจากtest discs หรือ signal generatorsที่มีsharpness pattern หรือ over scan patternต่างๆ แล้วลองปรับค่าsharpness เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเห็นHalo ในภาพแล้วค่อยๆลดลงจนมองไม่เห็นHaloในภาพ อย่าลืมว่ายิ่งsharpnessเยอะมากรายละเอียดที่ถูกต้องต่างๆภาพในภาพก็จะเห็นน้อยลง แต่ถ้าเราปรับได้พอดีเมื่อดูภาพตอนแรกภาพอาจจะดูเหมือนsoftไปแต่ลองดูดีๆภาพจะมีdetailข้างในมากขึ้น และมากกว่าภาพที่ปรับsharpnessไว้สูงเกินไป




สำหรับส่วนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือเรื่องของแหล่งข้อมูล จริงๆเรื่องนี้เท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีอะไรมากนอกเหนือจากที่ผมเคยพูดไปแล้วในการset แบบisf หลักการก็เหมือนกับisfก็คือ เมื่อsetภาพจากแหล่งข้อมูลที่เป็นพวกsignal generatorแล้ว เมื่อเชื่อมต่อเครื่องเล่นที่ใช้งานจริงๆ พวกBlu-ray Disc หรือ พวกHigh Definition media playerต่างๆ เราก็ต้องมาset ค่าพื้นฐานต่างๆอีกทีเพื่อให้ภาพที่ออกมาถูกต้องเหมือนกับใช้pattern generator เช่นเมื่อปรับค่าbrightnessจากpattern generatorได้ภาพที่มีระดับความดำที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อมาดูในเครื่องเล่นที่ใช้อยู่ค่าbrightnessผิดไป เราก็ต้องไปปรับค่าbrightnessที่อยู่ในเครื่องเล่นเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง และก็ต้องดูsourcesจากหลายๆแหล่งด้วยไม่ว่าจะเป็นจากกล่องดาวเทียม กล่องเคเบิล เครื่องเล่นเกมส์ เพื่อดูว่าภาพจากแหล่งสัญญาณแบบต่างๆภาพยังคงดีอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าภาพไม่ดีเฉพาะจากแหล่งข้อมูลบางแหล่งก็ทำให้แน่ใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากจากเครื่องเล่นไม่ได้มาจากการปรับภาพที่จอภาพแต่อย่างใด



ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลการปรับภาพขั้นพื้นฐานที่ผมได้มาจากการเรียนในห้องเรียนของ THX Professional Video Systems Calibration ในส่วนที่เป็นการปรับภาพขั้นที่สูงขึ้น เช่นมีการใช้Meter ร่วมกับใช้โปรแกรมปรับภาพโดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม ChromaPure หรือ CalMAN ผมค่อยจะนำเสนอในฉบับต่อๆไปครับ