เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับภาพในหัวข้อ THX® Professional Video Systems Calibration ที่ประเทศสิงคโปร์ เลยถือโอกาสนี้นำเอาประสบการณ์ความรู้ต่างๆที่ได้จากการเรียนมาแบ่งปันพี่ๆน้องๆชาวหนังสือAudiophile/Videophileกันนะครับ อาจารย์ที่สอนในclassนี้ก็คือ Gregg Loewen เป็นอาจารย์ที่สอนปรับภาพของทาง THX คนเดียวที่ยังทำการสอนอยู่ ส่วนผู้ที่สนับสนุนในclassนี้ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านภาพหลายท่านไม่ว่าจะเป็นStacey SpearsจากSpears & Munsilคนที่ทำแผ่นบลูเรย์ Spears & Munsil HD Benchmark and Calibration Discที่เราชอบใช้ในการปรับภาพ, Dr.Michael Rudd กับ Patrick Dunn วิศวกรด้านภาพจาก THX , John Dahl อดีตdirector of education ของ THX Ltd.อาจารย์ด้านการปรับเสียงของผมที่ผมเคยเรียนการปรับเสียงของTHX เมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าจะRetiredไปแล้ว อีกคนก็คือ Michael Chen กูรูด้านการปรับภาพที่มีเนื้อหาสอนปรับภาพแบบonline ใครสนใจลองSearchเข้าไปที่http://www.tlvexp.ca/ นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ในการปรับภาพอีกแห่งหนึ่งบนinternet ส่วนอาจารย์ที่มาสอนในคราวนี้Gregg Loewenนับว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในวงการภาพอย่างมากมาย ทำงานด้านการปรับภาพไม่ว่าจะเป็นจอProjector ,จอทีวีFlat Panel, จอโรงภาพยนต์, จอmonitorในงานProfessionalฯลฯ มากกว่า 4000Theater ทั่วโลก จากหลายสิบปีที่คลุกคลีในวงการเกี่ยวกับด้านภาพมา




ไม่น่าเชื่อปีนี้ผมไปสิงค์โปร์ถึงสามรอบด้วยกัน หลังจากไม่ได้ไปมากว่า 15ปี สมัยนั้นไปtrainเฉพาะทางอยู่หลายเดือนที่National Dental Center พอมีโอกาสได้ไปปีนี้ก็ไปทีเดียวสามครั้งภายในไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเลย555 สภาพบ้านเมืองเมื่อเทียบกับสิบห้าปีที่แล้ว ผมว่าองค์ประกอบพื้นฐานของสิงค์โปร์ก็ยังแข็งแรงมั่นคงเหมือนเดิม คนมีวินัย บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน มีต้นไม้อยู่มากมายไม่เปลี่ยนแปลง ถึงตรงนี้ขอเล่าประสบการณ์นอกเรื่องซักหน่อยเกี่ยวกับการทำงานของคนสิงคโปร์ จำได้ว่าตอนผมไปtrainเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เวลาเริ่มงานคือ 8:00น. วันแรกๆผมก็ไปถึงแปดโมงตรง หรือก่อนหน้าประมาณสองสามนาที แต่เชื่อไหมครับทุกครั้งที่ผมไปถึงที่โรงพยาบาลตอนแปดโมง เขาเริ่มงานกันแล้ว เริ่มงานคือนั่งทำงานกันเรียบร้อยเสียงเครื่องมือทำงานกันดังไปหมด ทำให้นึกถึงบ้านเราขึ้นมาทันที เวลาเริ่มงาน8:30 แต่ปรากฏว่ามันเป็นเวลาถึงที่ทำงานซะมากกว่ามาถึงก็เดินทำโน่นนี่นั่นอีก จะได้ทำงานจริงๆก็อาจจะไปถึงเก้าโมง แต่สิงคโปร์เริ่มงานแปดโมงนี่เขาทำก่อนแปดโมงอีก และเมื่อถึงสิบโมงเขาจะมีเวลาพักtea time ทุกคนก็วางเครื่องมือเดินเข้าPantry roomดื่มน้ำชา กาแฟโดยพร้อมเพรียงกัน

Classนี้มีนักเรียนทั้งหมด12คน ส่วนมากจะเป็นคนทำงานProfessionalเกี่ยวกับด้านภาพ ไม่ว่าจะเป็นInstallers & Integrators,Professional Video Calibrators, Colorists, Post Production Professionals คงมีแต่ผมมั้งที่เป็น Home theater Enthusiasts โดยนักเรียนก็มาจากหลายๆประเทศที่อยู่ในแถบนี้ไม่ว่าจะเป็นอินโดนิเซีย มาเลเซีย จากสิงคโปร์เอง หรือแม้กระทั่งColoristsจากอิหร่านก็มาเรียน ส่วนประเทศไทยมีอยู่สองคนคือผมกับพี่หมออิ๊ด สุดยอดด้านการปรับภาพและเสียงอีกคนหนึ่งของเมืองไทย หลังจากนักเรียนแต่ละคนแนะนำตัวข้อมูลหน้าที่การงาน เริ่มทำความรู้จักกันแล้วก็เริ่มเข้าสู่บทเรียน เอาเป็นว่าผมจะเลือกเขียนแต่ประเด็นที่น่าสนใจ หรือประเด็นการปรับภาพที่แตกต่างจากISF ที่ผมเคยเขียนมาแล้วเมื่อปีก่อนมาเขียนบรรยายนะครับ ไม่อย่างงั้นเนื้อหามันจะเยอะมาก ถ้าใครยังไม่เคยอ่านหาอ่านฉบับย้อนหลังได้ในFacebook Fan PageของHome Theater Pro Thailandได้ ผมได้รวบรวมเนื้อหาในฉบับเก่าๆที่เคยเขียนไว้ที่นั่นครับ

เริ่มจากคำถามพื้นฐานกันก่อนเลยว่าทำไมถึงต้องมีการcalibration ซึ่งทางTHX ก็ได้แนะนำว่าการปรับไม่ว่าจะเป็นภาพหรือเสียงให้ได้ตามมาตรฐาน ก็เพื่อว่าภาพและเสียงจากภาพยนต์ที่ได้จะเป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับหรือdirectorที่ต้องการสื่อออกมา ให้ผู้กำกับมานั่งดูแล้วบอกว่านี่แหละคือหนังของฉันที่อยากจะสื่อให้คนทั่วไปได้ดู ไม่ใช่นั่งดูแล้วและบอกว่า ทำไมภาพและเสียงมันเพี้ยนขนาดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการสื่อให้คนได้ดูได้ชมแต่อย่างไร ซึ่งมันก็คือปัญหาที่George Lucasเจอหลังจากสร้างหนัง Star Warsออกมาแล้วได้ไปนั่งดูที่โรงภาพยนต์ทั่วไป เขาตกใจมากกับภาพและเสียงที่ได้รับในโรงเหล่านี้เพราะทั้งAcousticsและระบบเสียงของโรงเหล่านี้ทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ชัดเจน และถูกต้องตามความต้องการของเขา ภาพที่ได้ก็มีความบิดเบี้ยว มืดมัว(รู้สึกว่าโรงที่George Lucasไปดูจะสว่างแค่ 8fL แทนที่จะเป็น 16flตามมาตรฐาน) เขาเลยได้คุยกับTomilson Holman ที่เป็นAudio Scientistเพื่อพัฒนาระบบภาพและเสียงในโรงภาพยนต์ให้แน่ใจว่าสามารถถ่ายทอดเสียงที่ผู้กำกับทำมาจากstudio ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมไม่มีความเพี้ยน มันจึงเป็นที่มาของมาตรฐาน THX® อย่างที่ได้รู้จักกัน

ถึงตรงนี้Greggก็ได้อธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่าทำไมถึงต้องมีการcalibrate มันก็เหมือนกับเข้าไปดูภาพของMona Lisa กว่าจะเข้าคิว กว่าจะฝ่าด่านคนมุงดู พอมาถึงตรงที่ดูภาพแล้วมีแว่นตาวางอยู่สามสี่อัน อาจจะเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีฟ้าถามว่าเราจะหยิบแว่นตาสีไหนใส่เพื่อดูภาพของMona Lisa ทุกคนก็จะตอบว่าขอไม่ใส่แว่นดู อ้าว…ทำไมไม่ใส่สีที่ตัวเองชอบล่ะ สีฟ้าก็ดีนะทำให้ภาพออกมาดูสว่าง สะอาดสะอ้าน ใหม่ ดูแล้วสบายตาดี ซึ่งถ้าเป็นผม ผมก็ยืนยันที่จะขอไม่สวมแว่นตาสีต่างๆดู(ไม่นับแว่นสายตานะ55) เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าผมต้องการดูภาพจริงที่ไม่เพี้ยนจากสีของแว่นตา ต้องการเสพงานจริงๆที่ศิลปินLeonardo da Vinciสร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้นการCalibrateไม่ว่าภาพหรือเสียงให้มีความถูกต้อง มีความเพี้ยนน้อยที่สุดก็เหมือนกัน มันเป็นการทำให้ได้เห็นภาพและได้ฟังเสียงที่ถูกต้องตามที่ผู้กำกับและทีมงานได้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้นๆขึ้นมาอย่างยากลำบากตามแนวทางของผู้กำกับ ไม่ได้เอาตามแนวทางที่ตัวเราเองชอบ สิ่งนี้คือพื้นฐานที่สำคัญของ THX®

ก็มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการปรับภาพ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าCalibration Myth อยู่บ้าง อย่างแรกที่พบบ่อยๆของCalibration Mythก็คือคิดว่าเมื่อปรับภาพเสร็จแล้วเวลามองไปที่จอภาพ ทำให้เหมือนมองออกไปนอกหน้าต่าง อันนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนเราสามารถเห็นเฉดสีมากกว่าความสามารถที่จอภาพในปัจจุบันสามารถแสดงได้ทำให้จอภาพไม่สามารถให้สีได้เหมือนกับสีในสิ่งแวดล้อมของชีวิตจริงได้100% และอีกอย่างหนึ่งจอภาพที่calibrateแล้วก็จะแสดงสีมาตรฐานตามที่ผู้กำกับต้องการบางทีก็ไม่ได้แสดงสีตามธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่ ดูง่ายๆจากหนังเรื่องMatrixที่ผู้กำกับทำหนังออกมาเป็นโทนสีเขียวทั้งเรื่องซึ่งไม่ใช่โทนสีที่จะพบในชีวิตจริงการcalibrateที่ถูกต้องไม่ได้หมายถึงต้องcalibrateให้สีของหนังเรื่องMatrixออกมาเป็นโทนสีธรรมชาติแต่อย่างใด แต่เป็นการcalibrateให้สีออกมาเขียวตามที่ผู้กำกับ หรือDirectorต้องการ มาถึงอย่างที่สองของCalibration Mythที่อาจจะเข้าใจผิดได้บ่อยๆก็คือ ความเข้าใจว่าภาพที่calibrateแล้วจะทำให้ภาพเหมือนกับที่ดูในโรงภาพยนตร์ ก็อย่างที่บอกไปครับว่าตาของมนุษย์สามารถมองเห็นสีได้มากกว่าสีที่ถูกบันทึกไว้บนแผ่นฟิล์ม แถมเฉดสีที่ถูกบันทึกมาบนแผ่นฟิล์มก็ยังมีมากกว่าเฉดสีที่ทีวี หรือprojectorทั่วไปสามารถแสดงได้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถทำให้ภาพที่ออกมาจากจอภาพในบ้านหรือในห้องhome theaterดูเหมือนเปะกับภาพที่ออกมาจากฟิล์มที่ถูกฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ การCalibrationไม่ใช่เป็นการทำให้ภาพจากจอในห้องดูของเราเหมือนกับภาพที่ออกมาจากfilm คนทำหนังทราบเรื่องนี้ดีจึงต้องมีฝ่ายที่จะเปลี่ยนภาพจากฟิล์มไปยังvideo โดยมีColoristเป็นคนจัดการเรื่องสีว่าจะทำให้สีที่อยู่บนfilmแบบนี้แต่เวลาอยู่ในvideoที่มีข้อจำกัดเรื่องการแสดงสีมากกว่าฟิล์มจะให้สีออกมาเป็นสีแบบไหน(color grading) บางทีFilm makersก็อาจจะมาตัดสินใจอีกทีว่าเขาต้องการสีแบบไหน ต้องการให้ภาพออกมาแนวไหน ซึ่งในห้องpost productionที่ทำcolor gradingโดยทั่วไปก็จะมีcolorist นั่งที่แผงcontrolsกับจอหลายๆจอที่มีcolor spaceในแต่ละจอไม่เท่ากันเพื่อจะดูความแตกต่างของสีในจอแต่ละประเภท ส่วนDirector หรือCinematographerก็จะนั่งควบคุมอยู่ด้านหลังของห้อง ดังนั้นถ้าต้องการดูหนังในแบบที่คนทำหนังต้องการในรูปแบบสื่อวิดีโอภายในบ้าน เราจึงต้องมีการcalibrationให้จอแสดงภาพได้ใกล้เคียงกับภาพของจอในห้องpost production ไม่ได้calibrateให้สีออกมาเหมือนกับที่เห็นในโรงภาพยนตร์


มาถึงตัวบ่งชี้เพื่อใช้ในการปรับภาพที่THXให้ความสำคัญมีอยู่5สิ่งดังนี้
1.Black Levelที่เหมาะสมของภาพ
2.Contrast Ratio(Dynamic Range)
3.ความถูกต้องแม่นยำของสีและGrayscale
4.รายละเอียดที่แสดงอยู่ในภาพ(Image Resolution &amount of detail present in the image)
5.คุณภาพของแหล่งข้อมูล
ก่อนหน้าจะพูดถึงการปรับในแต่ละหัวข้อคงต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่องภาพจากDigitalก่อน ระบบภาพในบ้านขณะนี้เรายังใช้ 8 bit formatกันอยู่ ดังนั้นความละเอียดของGrayscaleก็จะแบ่งได้เป็น 0-255ระดับจากดำสุดไปไล่ระดับเทาเรื่อยๆจนถึงขาวสุด(หรือบางคนอาจจะเรียก I.R.E.) ในอนาคตถ้าระบบข้อมูลและเครื่องต่างๆพัฒนาขึ้นเป็น 10bitเช่นHDR10ใน Ultra HD ก็จะแบ่งได้เป็น 0-1024 หรือถ้าเป็น 12bitเช่นในDolby Visionก็จะไล่ระดับสีเทาได้เป็น 0-4096ระดับโดยระบบ8bitของภาพที่ใช้ดูหนังในห้องhome theaterปัจจุบันที่ยังไม่เป็นHigh Dynamic Range(HDR) สีดำจะอยู่ที่ระดับ0-16 สีขาวอยู่ที่235 แต่ถ้าเป็นสัญญาณภาพจากPersonal Computer(PC)หรือเกมส์ทั่วๆไป สีดำจะเป็น0 ส่วนสีขาวจะไปถึงที่254เลย ซึ่งจะต่างจากระบบภาพในภาพยนตร์ที่เริ่มระดับสีดำที่16 การที่ในระบบภาพยนตร์มีสีดำเริ่มที่16(8bit)ข้อดีก็คือทำให้ผู้กำกับสามารถซ่อนวัตถุที่มีระดับสีดำต่ำกว่า16 เข้าไปในฉากได้เพราะเมื่อปรับGrayscaleได้ถูกต้องตามมาตรฐานแล้ววัตถุที่มีระดับสีดำต่ำกว่า 16เหล่านี้ก็จะมองไม่เห็นเนื่องจากแสดงออกมาเป็นสีดำหมดบนจอภาพ ในเรื่องนี้จะสัมพันธ์โดยตรงกับการปรับBlack Levelของภาพที่ผมกำลังจะพูดต่อไป


ในเมนูของจอภาพส่วนมากการปรับBlack Levelจะใช้คำว่าBrightnessแทนมันเลยทำให้ค่อนข้างสับสน เมื่อดูตามวัตถุประสงค์ก็น่าจะเป็นDarkness controlเสียมากกว่า คำว่าBrightnessมันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเมื่อปรับมันควรจะทำให้สว่างขึ้น แต่พอปรับจริงๆมันกลายเป็นการปรับความเข้มของสีดำแทน เอ่อ….ใครเป็นคนบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นตั้งแต่แรกนะนี่ เลยใช้แบบนี้กันหมดทำให้สับสนกันถ้าแปลความหมายตรงตามตัวอักษร ในบทความนี้ผมก็เลยตามเลยใช้คำว่าBrightnessตามประชานิยมกันไป จุดสำคัญอย่างหนึ่งในการปรับBrightnessก็คือต้องปรับให้พอดี ผมเห็นประจำส่วนมากชอบปรับให้Brightnessมีค่าน้อยเกินไปเพราะคิดว่าภาพยิ่งดำยิ่งดีภาพดูสีเข้ม ดูเป็นสามมิติดี แต่ความจริงแล้วการปรับให้ค่าBrightnessน้อยเกินไปจะทำให้เราสูญเสียรายละเอียดในส่วนมืดของภาพที่ควรจะต้องเห็น และความดำจริงๆแล้วก็ไม่ได้จะดำลึกขึ้นแต่อย่างไร ส่วนถ้าปรับให้Brightnessสูงเกินไปก็จะทำให้ภาพดูจืดๆไม่เข้มสวยงาม แถมยังได้เห็นขาไมค์สีดำบ้าง ผนังที่ทาสีดำไม่เรียบบ้างฯลฯ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ผู้กำกับได้ซ่อนไว้ไม่ต้องการให้คนดูเห็นจะทำให้เสียอรรถรสในการดูหนังไป ส่วนวิธีการปรับBrightnessก็จะใช้ PLUGE(อ่านว่าพลู้จ) patternที่อยู่ในแผ่นปรับหรือpattern generatorแบบต่างๆ ที่โดยปกติจะเป็นรูปแท่งหรือขั้นสีดำที่เป็นbelow black(ระดับ0-15) สีดำ(16) และabove black(มากกว่า 16) อยู่ในรูปpatternนั้น วิธีการก็ไม่ยากแค่ถือremoteปรับระดับ Brightnessของจอภาพเพื่อทำให้แท่งสีbelow black กลืนหายไปกับแท่งblack ส่วนแท่งที่เป็นabove black ก็ยังมองเห็นอยู่ อย่างไรก็ตามลองอ่านคู่มือในแผ่นpatternเหล่านี้ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าแท่งblackอยู่ตรงไหน แท่งbelow black,แท่งabove blackอยู่ตรงไหน เพราะในแต่ละแผ่นcalibration discก็จะใช้PLUGE pattern ที่รูปร่างต่างๆกัน จุดสำคัญอีกนิดหนึ่งที่ทางTHXได้เน้นไว้สำหรับPLUGE patternก็คือการมีAPL หรือ average picture levelอยู่ในpatternด้วย ไอ้เจ้าAPL มันก็คือส่วนที่เป็นรูปสีเทาบ้างสีขาวบ้าง อยู่ภายในpattern บางทีเราก็สงสัยว่ามีไว้ทำไมมันไม่ได้เกี่ยวกับแท่งที่ต้องใช้ดูblack levelเลยแถมยังมีแสงออกมากวนสายตาเวลาเพ่งดูแท่งblack levelต่างๆด้วย ความจริงที่ต้องมีAPLอยู่ในPLUGEก็เนื่องจากที่ว่าความไวต่อแสงของมนุษย์จะเปลี่ยนไปเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแสงที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นเวลากำลังขับรถอยู่ แล้วแสงอาทิตย์แยงตา เราก็ต้องหาอะไรมาบัง หรือใช้มือป้องไว้เพื่อไม่ให้แสงอาทิตย์เข้าตา ถึงจะพอมองเห็นสิ่งแวดล้อมในถนนที่อยู่ในส่วนที่มืดกว่าว่ามีอะไรอยู่บนถนนบ้าง เช่นเดียวกันกับการดูภาพPLUGE pattern ถ้าสภาพแสงในห้องต่างกันการรับรู้black levelก็ต่างกัน ดังนั้นการเลือกPLUGE patternในห้องที่คุมแสงได้ดี ควรจะเลือกเป็น Low APL ที่แต่ละแผ่นcalibration discก็จะเรียกต่างๆกัน เช่นแผ่นของTHXจะเรียกว่า THX Low Pluge หรือในเครื่องpattern generator ของ Accupel ก็จะเรียกว่า 25% White Window w Pluge เป็นต้น ส่วนถ้าจอภาพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แสงมาก หรือสภาพดูทีวีในตอนกลางวันPLUGE patternก็ควรเป็น Medium APL, THX Med. Pluge, 50% White Window w Pluge ยังไงต้องไปอ่านดูคู่มือแผ่นที่เราใช้Setว่ามีPLUGE patternแบบไหนบ้างและ ตัวไหนเป็นlow APL ตัวไหนเป็น medium APL


ต่อมาก็คือContrast Ratio อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในฉบับก่อนๆว่าตาของมนุษย์จะไวต่อcontrastมาก ซึ่งContrast Ratioนี้ก็คือสัดส่วนของจุดที่มืดที่สุดเทียบกับจุดที่สว่างที่สุด เช่นถ้าความสว่างที่จุดมืดสุดของจอภาพเท่ากับ 0.0001fL ส่วนที่สว่างที่สุดวัดได้ 40fL ดังนั้นContrast Ratioของจอนี้เท่ากับ 400,000:1 เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องของเสียงยังจำกันได้บ้างไหมที่ผมบอกว่าการรับรู้เสียงของคนเราในความถี่ต่างๆจะเป็นรูปแบบlogarithmicที่การรับรู้ความถี่ต่ำๆจะดีกว่าความถี่สูงในอัตราส่วนเป็นเท่า การมองเห็นของคนก็เช่นเดียวกันมีการรับรู้เป็นแบบlogarithmเหมือนกับเสียง โดยตาของคนจะsensitiveต่อการเปลี่ยนแปลงแสงน้อยๆ มากกว่าในแสงที่สว่างมากกว่า ลองสมมติดูง่ายๆถ้าห้องจุดเทียนอยู่ 100เล่ม แล้วลองเป่าให้ดับ10แท่ง ตาคนเราก็อาจจะยังไม่เห็นได้ชัดเจนเท่าไร่เมื่อลองเทียบกับจุดเทียนในห้องเล่มเดียว พอเพิ่มเล่มที่สองเข้ามาตาของมนุษย์ก็จะเห็นว่ามันจะสว่างกว่าเล่มเดียวอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่เราดูภาพที่มีContrast Ratio ระหว่าง 50:1 เทียบกับ 100:1 เราจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับ Contrast Ratioระหว่าง 9,000:1 กับ 10,000:1 ซึ่งSpecตัวเลขที่สูงเป็นแสนเป็นล้านของContrast Ratioตรงนี้น่าจะใช้ในโรงงานมากกว่าเนื่องจากค่าสูงๆตามนุษย์ก็คงแยกความแตกต่างได้ยากละ อีกอย่างหนึ่งเชื่อไหมว่าfilm contrastที่ดูในโรงภาพยนตร์ทั่วๆไปจะอยู่แค่ประมาณ 100:1 ANSIเท่านั้น การปรับContrast หรืออาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า White Level ก็คือการปรับในส่วนที่ขาวที่สุดของภาพ บางคนอาจคิดว่าการปรับให้ภาพมีความขาวสว่างมากที่สุดทำให้ภาพมีคุณภาพดี ความจริงการปรับwhite levelให้มากเกินไปมันจะไปทำให้เราไม่เห็นรายละเอียดในส่วนที่สว่างที่สุดและทำให้ความลึกของภาพ(image depth)สูญเสียไป จำไว้ว่าจุดที่สำคัญสำหรับการSet contrastมี3อย่างก็คือ
1.ต้องไม่เกิดWhite Clipping หรือเรียกง่ายๆว่าไม่ทำให้สูญเสียรายละเอียดในส่วนที่สว่างมากไป
2.สีต้องไม่เพี้ยน(Discoloration)
3.เมื่อดูภาพนานๆต้องไม่ทำให้เกิดความเมื่อยล้าของสายตาเพราะจ้องแสงที่สว่างมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน(Eye Fatigue)


วิธีปรับContrstก็ใช้Contrast Pattern, Contrast PLUGE หรือ THX Contrast Pattern หรือถ้าไม่มีก็อาจจะ21 Step Grayscaleก็ยังได้ โดยปรับให้ค่าContrastของเครื่องให้มากที่สุดโดยที่ยังสามารถแยกระดับความสว่างระดับ 235หรือมากกว่าได้(8bit)โดยที่สีขาวในส่วนสว่างมากๆไม่เพี้ยน(Discoloration) ซึ่งจอภาพมาตรฐานในปัจจุบันเราไม่ค่อยเจอDiscolorationเท่าไรที่ระดับสีขาวสูงๆ แต่ถ้าเป็นจอรุ่นเก่าๆหรือจอที่ไม่ได้มาตรฐานในระดับความสว่างๆสูงๆเมื่อเร่งcontrastมากๆจะทำให้สีขาวกลายเป็นสีอื่นๆเช่นเป็นสีแดง สีชมพู สีเหลือง หรือสีฟ้าอ่อนๆ ที่เกิดDiscolorationก็เพราะว่า สีขาวที่เห็นบนจอภาพนั้นมันเกิดจากsub pixelสีแดง สีเขียว สีน้ำเงินมาผสมกัน ดังนั้นเมื่อเราเร่งContrastเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆก็อาจจะมีบางสีที่หมดแรงก่อน หรือแรงม้าไม่ถึงทำให้เกิดclipping ที่สีนั้นๆ สีที่ยังมีแรง(แรงม้าเหลืออยู่)จึงแสดงออกมาแทน สีขาวที่ระดับcontrastสูงๆเลยเกิดการผสมสีของsub pixelเสียไปทำให้เกิดdiscoloration ก็ต้องลดค่าContrastจากจอภาพลงมาเรื่อยๆจนไม่มีdiscoloration ส่วนในเรื่องของEye FatigueทางTHXได้แนะนำการปรับcontrastหรือระดับความสว่างของจอภาพให้จอภาพมีความสว่างเหมาะสมไม่สว่างเกินไป สำหรับProjectorแนะนำความสว่างไว้ที่ 14-16fL จอทีวีพวก LCD, Plasma, OLEDควรจะอยู่ที่ 35fL สำหรับคนที่ทำงานPost productionหรือ Coloristที่ต้องทำงานกับจอProfessionนานๆหลายชั่วโมงต่อวันแนะนำให้ตั้งความสว่างไว้ที่ 28fL วิธีการวัดก็คงต้องใช้เครื่องมือมาวัดความสว่างโดยใช้ 100% Stimulus patternถ้าเป็นจอPlasma หรือ OLEDให้ใช้เป็นแค่หน้าต่างตรงกลางของจอภาพ(window pattern) แต่ถ้าเป็นจออื่นๆให้ใช้เต็มจอภาพเลย(field) เพราะว่าระบบจอภาพแบบPlasmaและOLEDเป็นระบบที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกpixelทั่วทั้งจอดังนั้นการวัดแบบfieldกับแบบwindowค่าความสว่างจะต่างกัน และเมื่อหลังจากปรับค่ำcontrastเรียบร้อยแล้ว ก็ให้กลับไปเช็คbrightnessอีกทีว่ายังถูกต้องอยู่ไหมเพราะทั้งbrightness และcontrastต่างก็ส่งผลถึงกันและกัน ปรับค่าหนึ่งก็อาจจะส่งผลถึงอีกค่าหนึ่งได้ ต้องกลับไปเช็คPLUGE patternของbrightnessดูอีกที


เขียนมาจนเมื่อยมือละยังได้แค่สองหัวข้อเองคือ Black levelและContrast ratio ยังเหลืออีกสามหัวข้อในเรื่องของ ความถูกต้องแม่นยำของสีและGrayscale,.รายละเอียดที่แสดงอยู่ในภาพ(Image Resolution & amount of detail present in the image) และคุณภาพของแหล่งข้อมูล ยังไงขอยกยอดไว้เขียนในฉบับถัดๆไปถ้ายังมีคนสนใจในเรื่องปรับภาพกันอยู่ เนื่องจากข้อมูลเนื้อหายังมีอีกเยอะ อีกทั้งการเขียนให้อ่านแล้วเข้าใจนั้นไม่ง่ายใช้พลังงานสูง ทั้งต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งคนเขียนและคนอ่านไปพร้อมกันครับ