เมื่อฉบับที่แล้วได้พูดถึงการวางลำโพงตามมาตรฐาน ITU(International Telecommunications Union) สำหรับSurround Sound Production ทั้งแบบ 5.1 และ7.1 พูดถึงการนำไปดัดแปลงให้เหมาะสมในห้องHome Theater โดย Consumer Electronics Association(CEA) และ Custom Electronic Design & Installation Association(CEDIA) ได้กล่าวถึงรูปแบบการวางลำโพงโดยเน้นที่ลำโพงSurround ไปบ้างแล้ว คราวนี้มาต่อในลำโพงFrontและCenterบ้าง เริ่มจากลำโพงซ้ายและขวาก่อน อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าลำโพงซ้ายและขวาเมื่อเรามองในแนวระนาบ ลำโพงควรจะต้องทำมุมประมาณ 45-60องศา กับCenter line โดยเมื่อเทียบกับขนาดของจอภาพแล้วก็ควรจะเหมาะสมกัน ไม่ควรอยู่ห่างกันเกินไป เพื่อให้Sound field มีความต่อเนื่องกันจากด้านซ้ายไปตรงกลางและไปด้านขวา ส่วนในแนวดิ่งลำโพงก็ควรจะมีระดับของตัวลำโพงขับเสียงแหลมหรือtweeter อยู่ในระดับหู หรือสูงกว่าหูเล็กน้อย ในStudio ลำโพงด้านหน้าทั้งleft center และ right channels หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า LCR ส่วนมากจะใช้ลำโพงเหมือนกัน วางไว้หลังจอที่มีรูพรุนเพื่อให้เสียงผ่านได้ (Acoustically transparent perforated screen)
แต่ในห้องHome theater ลำโพงทั้งสามก็อาจจะถูกออกแบบให้มีความเหมาะสมสามารถจัดวางโดยมีความสวยงามเข้ากับห้องHome theaterที่มีความหลากหลายมากกว่าStudio ซึ่งสำหรับจอเสียงผ่านได้พวกนี้บางคนก็มักจะบอกว่าจอพรุนเหล่านี้ภาพอาจจะdrop ลงไป และที่สำคัญจอพวกนี้ถ้าจะเอาคุณภาพดีละก็ราคาเอาเรื่องเลย ดังนั้นนักเล่นส่วนใหญ่ก็ยังใช้จอธรรมดากันมากกว่า ทำให้ต้องวางลำโพงไว้บนหรือล่างต่อจอภาพ บริษัทต่างๆจึงนิยมออกแบบให้ลำโพงCenter มีลักษณะวางแนวนอนมากกว่าตั้ง ทำให้ง่ายต่อการจัดวาง มีความสวยงามเหมาะกับห้องHome theater มากกว่า

และก็โชคดีของHome theaterที่หูของคนเรามีแค่หูด้านซ้ายและขวา ไม่มีหูบนหูล่างทำให้การlocated ตำแหน่งวัตถุในแนวตั้งทำได้ไม่ละเอียดเท่าการระบุตำแหน่งในด้านซ้ายและขวา ดังนั้นเมื่อเราวางลำโพงCenter สูงต่างจากลำโพงLeft , Right น้อยกว่า10องศา สมองของคนเราก็ยากที่จะจับความแตกต่างว่าลำโพงวางอยู่ในความสูงที่แตกต่างกัน เราจึงสามารถวางลำโพงCenter ไว้บนหรือล่างจอภาพได้ แต่ต้องระวังว่าไม่ให้ลำโพงวางต่ำเกินไปเพราะนอกจากหูเราจะจับระดับที่ต่างกันกับลำโพงLeft Right ได้แล้ว เสียงจากลำโพงก็อาจจะไม่คลอบคลุมตำแหน่งนั่งฟังทั้งหมดโดยเฉพาะถ้าตำแหน่งนั่งฟังเราเป็นแบบStep ขั้นบันได บางคนก็แนะนำให้วางไว้ด้านบนของจอเลยเสียงจะคลอบคลุมกว่าและไม่ถูกบังจากอุปกรณ์อื่นๆในห้อง แต่ปัญหาคือถ้าเป็นลำโพงCenterขนาดใหญ่จะยึดอย่างไรให้มั่นใจว่ามันไม่ตกลงมา?

ผู้รู้หลายๆท่านมักกล่าวว่าลำโพงที่สำคัญที่สุดในห้องHome theater ของเราคือลำโพงCenter ทั้งนี้เพราะว่ากว่า 85% ของเสียงพูดและเสียงspecial effects ต่างๆออกจากลำโพงCenterนี้ จากรูปจะเป็นPatternในห้องmixเสียงมาตรฐานTHX เห็นได้ว่าเสียงCenterไม่ได้มีเฉพาะเสียงพูดนะครับ มีทั้งเสียง effects, เสียงดนตรี เสียงambience ต่างๆ ลำโพงCenter channel นี่แหละนอกจากจะเป็นหลักในเสียงพูดแล้วยังเป็นลำโพงตัวสำคัญทำหน้าที่เสริมเสียงจากลำโพงคู่หน้าให้ดีขึ้น นอกจากนั้นการฟังแบบ Audiophile ที่ใช้ลำโพง 2 channel เสียงที่ดีที่สุดหรือsweet spot จะอยู่ที่ระหว่างกลางลำโพงทั้งสอง แต่เมื่อเราขยับออกจากตำแหน่งนี้เพียงเล็กน้อยเสียงที่ดีทั้งหมดก็จะเสียไปหรือcollapse ลงอย่างรวดเร็ว แต่ในห้องดูหนังเรามีหลายที่นั่งการเพิ่มCenter channel เข้าไปในระบบHome theater ก็เพื่อเพิ่มsweet spotให้กว้างขึ้น สามารถทำให้ตำแหน่งนั่งฟังทั้งหมดได้ยินsoundstage focus และsound imaging ของเสียงใกล้เคียงกับตำแหน่งนั่งตรงกลาง

ดังนั้นการวางลำโพง LCR ในHome theater จะมีผลมากต่อเสียงโดยรวม โดยเฉพาะเสียงจากลำโพงCenter ที่มีความสำคัญมากที่สุดในห้อง ต้องให้เสียงที่มีความชัดเจน ไม่ผิดเพี้ยน(distortion) ปัญหาที่มักพบบ่อยที่สุดที่ส่งผลต่อเสียงของลำโพงCenter คือเสียงจากลำโพงถูกblock จากอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆภายในห้อง

บางคนอาจคิดว่าการบังแค่บางส่วนไม่น่าจะมีปัญหา แต่ความจริงถึงแม้จะมีการblock แค่บางส่วนก็มักจะส่งผลต่อความชัดเจนของเสียง รวมถึงfocus ของเสียงก็จะเสียไปด้วยเพราะมันจะทำให้คลื่นเสียงเกิดการเลี้ยวเบนจากเดิมไป(diffraction) phaseของเสียงก็จะเปลี่ยนไป และคลื่นเสียงบางส่วนก็อาจจะสะท้อนไปกระทบกับคลื่นเสียงหลักทำให้เกิดความเพี้ยนของเสียงขึ้น ที่พบบ่อยๆเช่นชั้นวางเครื่องเสียง เครื่องเล่น ลำโพงSubwoofer อุปกรณ์พวกแอมป์(ที่ใหญ่กว่าลำโพงSubwoofer) หรือพวกเครื่องลางของขลังVoodoo ต่างๆบังลำโพงCenter บางส่วน หรือบางทีผมเห็นบังจนเกือบมิด มันทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าอาจจะเป็นเพราะว่าอุปกรณ์ต่างๆที่บังอยู่หน้าลำโพงCenter หรือลำโพงSubwooferที่บังอยู่หน้าลำโพงCenter มันมีราคาแพงกว่าลำโพงCenterมาก เลยต้องเอาลำโพงCenterหลบไปอยู่หลังๆตามลำดับราคาอุปกรณ์แต่ละตัวซะงั้น555….หรือไม่บางคนติดกับรูปแบบการวางลำโพงที่เป็น LCR arc คือลำโพงCenterต้องอยู่ลึกเข้าไปกว่าลำโพงFront Left และ Front Right เพื่อให้ระยะทางจากตำแหน่งนั่งฟังไปยังลำโพงLCR มีระยะใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งในข้อแนะนำของทั้งTHX และHAA ต่างก็บอกว่าไม่มีความจำเป็น โดยเราสามารถวางลำโพงเรียงหน้ากระดานได้เลย แล้วค่อยไปset delay timeของลำโพงแต่ละตัวที่Processor ได้อยู่แล้วที่สำคัญกว่าLCR arcก็คืออย่าให้มีละไรบังลำโพงมากกว่า

อีกอย่างที่พบบ้างก็คือเวลาวางลำโพงCenter บนชั้นวางยังมีส่วนของชั้นวางยาวเลยด้านหน้าของลำโพงCenter ซึ่งแบบนี้ก็เป็นการblock คลื่นเสียงเหมือนกัน

วิธีสังเกตุง่ายๆในการวางลำโพงCenterคือหลังจากวางลำโพงแล้วเวลาเรามองดูที่ลำโพงเราต้องเป็นส่วนด้านหน้าของลำโพงชัดเจนทั้งหมด ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งถูกบัง ทั้งนี้ถ้าเป็นความถี่ต่ำที่มีความยาวคลื่นยาวก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมันจะเคลื่อนผ่านวัตถุได้สบาย แต่อย่าลืมว่าพวกความถี่สูงที่มีความยาวคลื่นสั้นมากๆเมื่อถูกบังแม้เพียงนิดเดียวก็จะเกิดdiffraction ของคลื่นเสียงได้ง่ายส่งผลต่อคุณภาพของเสียงและเนื่องจากความถี่ที่สูงพวกนี้มันเป็นความถี่ที่หูของคนเราใช้ระบุตำแหน่งวัตถุจึงทำให้focus ของเสียงเสียไปด้วย มันก็เหมือนกับเราเอามือป้องปากเวลาพูดเสียงพูดของเราก็จะเปลี่ยนไปเป็นเสียงไม่เคลียร์ไม่ชัดเจนสดใสสมจริง ยิ่งถ้าเราเอามือทั้งสองป้องไว้ทั้งใกล้ๆริมฝีปากให้เหลือช่องให้เสียงลอดผ่านนิดเดียวเสียงก็จะอู้อี้ ฟังแทบไม่ออกว่าพูดอะไร ลักษณะอย่างนี้แหละครับที่เขาเรียกว่าเสียงไม่มีClarity เช่นเดียวกันถ้าเรามีอะไรไปบังลำโพงก็จะทำให้Clarityของเสียงเสียไปและจะส่งผลมากที่สุดในCenter channel เพราะเป็นลำโพงหลักของเสียงพูด

ในบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ลำโพงพวกfreestanding speakersทั่วไปได้ เช่น ต้องการเน้นความสวยงาม ไม่ต้องการให้(ภรรยา) เห็นลำโพงได้ชัดเจนเกินไป การใช้ลำโพงพวกยึดติดผนัง หรือที่เรียกว่า In-wall speakers ก็สามารถนำมาใช้ในห้องHome theater ได้เช่นกัน

มุม และตำแหน่งการวางลำโพงต่างๆก็ใช้ตามมาตรฐานของลำโพงทั่วไปได้

และถ้าไม่สามารถวางลำโพงIn-wall speakersได้ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการใช้ลำโพงฝังฝ้า หรือที่เรียกว่าIn-ceiling speakers แต่ถ้าจะให้ดีควรใช้ในเฉพาะSurround channels ส่วนใน LCR ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ เพราะมันจะกระทบต่อFront sound stage ทำให้Sound stage ไปอยู่ที่เพดานแทน ความสมจริงของภาพยนต์จะลดลงไปมาก

หลายคนสงสัยว่าแล้วเจ้าลำโพงฝังฝ้า เราสามารถนำมาใช้เป็นลำโพงด้านบนของระบบเสียงDolby Atmos จะได้หรือไม่ ความจริงแล้วสามารถทำได้ครับดีกว่าพวกลำโพงAtmosที่อาศัยการยิงเสียงไปยังเพดานและสะท้อนลงมา แต่คุณภาพของเสียงก็จะไม่สู้ลำโพงที่เป็นตู้แล้วนำไปยึดติดไว้บนเพดาน ทั้งนี้เนื่องจากลำโพงฝังฝ้าพวกนี้ส่วนมากแล้วเป็นลำโพงที่ออกแบบมาสำหรับงานBackground music ที่เราจะพบได้ทั่วไปตามร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ ร้านขายของไฮโซ จนไปถึงห้องน้ำโรงหนังเมเจอร์

รู้ไหมครับว่าหลักการที่สำคัญที่สุดของBackground music คืออะไร……ใช่ครับหลักการข้อแรกคือต้องไม่ทำให้มันเป็นForeground music เพราะวัตถุประสงค์ของคนที่เข้ามายังสถานที่เหล่านี้ไม่ได้ต้องการมาฟังเพลงเป็นเหตุผลหลัก เพลงจะแค่เป็นเสียงเบาๆคลอไปตามกิจกรรมหลักต่างๆ คนที่ออกแบบลำโพงพวกนี้เขาจึงมักจะroll off ความถี่สูงเพื่อไม่ให้เสียงมันเด่น ชัดเจนเกินไป เสียงความถี่ต่ำก็ไม่ต้องมากเกินไป และจะใช้เปิดในlevel ที่เบาๆ ดังนั้นการที่เรานำลำโพงเหล่านี้มาใช้ในงานhome theater เราต้องศึกษาดูให้ดีก่อนว่าลำโพงตัวนั้นได้ออกแบบมาสำหรับงานที่ต้องได้รับload สูงๆได้ เพราะบางทีเราอาจจะต้องเปิดหนังในความดังระดับreference levelที่ 105dB ซึ่งถ้าเป็นลำโพงที่ออกแบบสำหรับbackground music เอามาเปิดดังระดับนี้เสียงก็จะเกิดdistortion ได้มาก ทั้งtimbreหรือลักษณะของเสียงก็จะต่างจากลำโพงหลักทำให้การโยนเสียงไปยังchannels ต่างๆก็ไม่smoothความสมจริงของDolby Atmos ที่เป็นObject-based audio จะไม่สมจริง นึกภาพเสียงเครื่องบินjet กำลังจะบินผ่านหัวเรา ตอนมันมาจากข้างหน้าเสียงจะดังมีพลังมากพอถึงช่วงที่ต้องบินผ่านหัวเราเสียงดันกลายเป็นเครื่องบินใบพัดซะงั้น ฮ่า ฮ่า ….เหตุผลต่อมาที่ทำให้ลำโพงพวกฝังฝ้าพวกนี้มีคุณภาพเสียงที่compromise ก็เพราะลักษณะทางกายภาพของลำโพงพวกนี้ที่ต้องเจาะฝ้าและยึดติดอยู่กับฝ้า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดSpeaker Decoupling ผลที่ตามมาก็คือ พลังงานบางส่วนของลำโพงก็จะถูกถ่ายทอดไปตามฝ้าเพดาน โครงยึดฝ้าเพดานต่างๆ โดยมันจะเกิดที่ความถี่ที่มันไปresonant พอดีกับวัสดุที่มันไปยึดติดด้วย และในแต่ละห้องก็จะเกิดขึ้นในความถี่ที่ต่างกันเพราะทั้งวัสดุทำฝ้าที่ต่างกันทั้งชนิด ขนาด ความหนาแน่น ลักษณะการวางโครงที่ต่างกัน ปริมาตรของฝ้าฯลฯ ซึ่งเราจึงไม่มีทางคาดเดาได้ในแต่ละห้องว่าความถี่ไหนที่มันจะไปresonant พอดีกับฝ้าเพดาน ดังนั้นลำโพงที่ฝังฝ้าเพดานพวกนี้แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน แต่เมื่อยึดติดกับฝ้าเพดานคนละห้องกันเสียงก็จะต่างกันมาก บางห้องก็เสียงเบสมาก บางห้องก็น้อย บางห้องก็เสียงแหลมหายไป นอกจากนี้แล้วการที่คลื่นเสียงมันแผ่ไปตามโครงสร้างของฝ้า(structure-borne sound) มันก็จะส่งเสียงที่น่ารำคาญถึงห้องต่างๆที่อยู่ในบ้าน หรือถ้าเป็นแฟลต คอนโด ที่ใช้โครงสร้างร่วมกันแล้ว รับรองว่าเพื่อนร่วมชายคาเดียวกันได้สรรเสริญเราทุกครั้งที่เราดูหนังแน่นอน…… ตัวใครตัวมันละครับงานนี้
นอกจากนี้แล้วปัญหาที่เราพบบ่อยๆก็คือต้องวางลำโพงในห้องHome theater มีขนาดเล็กมาก ซึ่งDr.Floyd E. Toole ได้แนะนำการวางลำโพงในห้องHome theater ที่มีขนาดเล็กมากไว้ว่า อย่างแรกผนังด้านหลังต่อคนนั่งฟังต้องไม่เป็นผนังที่สะท้อนเสียงมากเกินไปเพราะเนื่องด้วยที่ห้องมันเล็กมาก คลื่นเสียงจากลำโพง LCR จะสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างผนังด้านหน้ากับผนังด้านหลังรุนแรงกว่าห้องที่ขนาดใหญ่ มันจะทำให้ front sound stage ของลำโพง LCR บริเวณหน้าจอเสียไป เราจึงควรใช้วัสดุ absorberวางไว้ที่ผนังหลังบริเวณตรงกันข้ามกับลำโพงLCR ซึ่งก็จะอยู่บริเวณความสูงแถวๆหูเราเพราะระดับtweeter ของลำโพงLCR ปกติก็จะอยู่บริเวณหูผู้ฟังอยู่แล้ว และเนื่องจากห้องมีขนาดเล็กตำแหน่งนั่งฟังก็มักจะไม่ห่างจากผนังเท่าไรนัก ถ้าเราจะวางลำโพงSurround ให้อยู่หลังต่อตำแหน่งนั่งฟังเหมือนตามมาตรฐาน มันก็จะทำให้ลำโพงSurround อยู่ชิดมุมพอดี ซึ่งบริเวณมุมห้องนี้เป็นตำแหน่งที่เราไม่ควรเอาลำโพงSurroundไปวางเพราะจะมีผลต่อfrequency response ที่จะไม่ค่อยsmooth โดยเฉพาะเสียงสูงและเสียงกลางมักจะได้รับผลกระทบจากการวางลำโพงชิดผนังนี้ จากปัญหานี้เราสามารถแก้ไขได้โดยขยับลำโพงSurroundมาอยู่ด้านหน้าต่อตำแหน่งนั่งฟังเพื่อให้ลำโพงขยับออกห่างจากมุมด้านหลัง วางลำโพงSurroundไว้ให้สูงกว่าปกตินอกจากจะเพื่อป้องกันLevelของเสียงที่จะมากเกินไปแล้วเพราะห้องมันเล็ก(ป้องกันGodzilla เหยียบBambi) มันก็จะทำให้ความถี่สูงที่สมองเราใช้locatedตำแหน่งจะได้พุ่งข้ามหัวคนฟังfocusของเสียงก็จะลดลงEnvelopmentก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นลักษณะsound fieldด้านหลังต่อตำแหน่งนั่งฟังในห้องHome theaterที่เราต้องการ และลำโพงก็ต้องติดให้สูงกว่าแผ่นabsorber ที่เราติดไว้ผนังด้านหลังตรงข้ามลำโพงLCR จากนั้นละผนังส่วนบนabsorberนี้ไว้ให้เกิดการสะท้อนได้เพื่อให้เสียงจากลำโพงSurround สะท้อนกับผนังด้านหลัง ทำให้เกิดspeaker mirror เสมือนว่ามีลำโพงอยู่เลยผนังห้องด้านหลังเราออกไป ช่วยทำให้เสียงมีEnvelopment ที่กว้างขึ้น

ส่วนถ้าห้องมีลักษณะยาว มีตำแหน่งนั่งฟังหลายแถว เราก็ต้องเพิ่มลำโพงSide Surrounds ให้มากขึ้นเหมือนในโรงภาพยนต์

และอีกแบบที่เจอบ่อยๆคือเป็นห้องที่มีลักษณะเป็น L-shape การวางลำโพงในห้องรูปร่างแบบนี้เราก็ต้องพยายามBalance ผนังที่หายไปโดยการใช้Absorber บุผนังด้านตรงข้ามกับด้านที่โล่งให้ลดการสะท้อนของเสียงด้านที่มีผนังลง ส่วนตำแหน่งการวางลำโพงก็ต้องพยายามให้เกิดPhysical Symmetryของลำโพง โดยไม่ต้องสนใจลักษณะที่ไม่Symmetry ของห้อง แต่ต้องระวังเรื่องเสียงเบสหน่อยเพราะเราไม่สามารถPredictable ได้เหมือนกับห้องสี่เหลี่ยมมุมฉากทั่วไป ดังนั้นคงต้องอาศัยการลองวางSubwoofer ในตำแหน่งต่างๆแล้ววัดด้วยเครื่องมือพวกSpectrum Analyzers หรือใช้การฟังเพื่อหาตำแหน่งSubwooferที่เหมาะสมอีกที แนะนำว่าควรจะต้องใช้เป็น Multi-subwoofer และต้องมีการใช้Equalizer ร่วมด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นการรวบรวมวิธีการวางลำโพงในห้องHome theater หลายๆแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็อาจจะมีเหตุผลแตกต่างหรือเหมือนกับที่เราเคยเจอเคยเห็นหรือเคยอ่านมาอันนี้ก็ต้องลองหาอ่านเพิ่มเติมแล้วลองปรับในห้องHome theaterของเราดูว่าอันไหนมันworkกับสภาพห้องของเรา ความจริงก็ยังมีอีกหลายรูปแบบที่อาจจะเหมาะสมกับห้องของเรามากกว่านี้ก็ลองศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่างๆดูได้ ของพวกนี้รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามครับผม