พูดถึงทั้งเรื่องห้อง เรื่องการจัดวางลำโพง เรื่องการTreatmentในห้องมาแล้ว ฉบับนี้มาว่ากันต่อในเรื่องการปรับค่าต่างๆในA/V Receiver(ในที่นี้ขอเรียกย่อๆว่าAVRนะครับ) หรือบางคนอาจจะใช้พวกPre Processor(เรียกPre-Proละกัน) ร่วมกับ Power Amplifier ก็ใช้ได้เหมือนกัน เรื่องนี้ถ้าเป็นคนที่เล่นHome theaterมาบ้างแล้วก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่รู้ๆกันอยู่ แต่ผมว่ายังมีบางคนที่อาจจะเริ่มเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้ ยังไม่เข้าใจการปรับตั้งค่าต่างๆที่AVRมันมีอยู่มากมายเหลือเกิน บางทีSet upเสร็จเสียงก็ออกมาแปลกๆ หรือบางทีก็ไม่มีเสียงออกจากระบบเลย อ่านคู่มือก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแถมคู่มือส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วย โดยผมจะพูดถึงFunctions ในเครื่องทั่วๆไปที่มีอยู่ในตลาดนะครับ แต่ละยี่ห้อก็อาจมีชื่อเรียกFunctionต่างๆกันออกไป รายละเอียดการปรับหัวข้อปลีกย่อยต่างๆก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เอาเป็นว่าผมจะพูดถึงการตั้งค่าหลักๆที่พบในเครื่องทั่วไปละกัน นอกเหนือจากนี้ก็ค่อยไปหาอ่านเพิ่ม หรือสอบถามเพิ่มเติมเข้ามาได้ครับ
เมื่อเราพูดถึง AVR หรือ Pre-Pro เราก็จะรู้ว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่งในระบบHome theater มันจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการควบคุมอุปกรณ์ในระบบ ทั้งการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์ต้นทาง ลำโพง การแสดงผล เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่าแล้วมาเริ่มกันที่การเชื่อมต่อเส้นสายต่างๆกันก่อนเลย
ขั้นตอนแรกคือการต่อสายลำโพง โดยปกติทั่วไปเราจะต่อสายลำโพงสองเส้นที่เป็นขั้วบวก และขั้วลบจากหลังเครื่องAVR ไปยังลำโพงแต่ละตัว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงสิ่งหนึ่งก็คือGaugeของสายลำโพง หรือขนาดความใหญ่ของสายลำโพง โดยเฉพาะถ้าเราต้องการเดินสายลำโพงที่ไกลๆ หรือลำโพงมีความต้านทานต่ำ ได้มีคำแนะนำในการเลือกGaugeของสายลำโพงให้เหมาะสมกับความยาวของสายลำโพง ค่าimpedanceของลำโพงไว้ดังตาราง โดยขนาดของสายจะใช้ค่ามาตรฐาน American wire gaugeหรือตัวย่อ AWG ยิ่งค่าAWGน้อยแสดงถึงสายลำโพงที่ใหญ่ขึ้นหนาขึ้น แต่ถ้าเป็นAWGที่มีค่ามากก็แสดงถึงสายที่มีขนาดที่เล็กลง ก็เอามาให้ดูเพื่อเป็นแนวทางดูว่ายิ่งสายลำโพงที่สายตัวนำขนาดยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ก็จะทำให้มีความต้านทานในสายน้อยลงทำให้ส่งสัญญาณที่สมบูรณ์ความเพี้ยนน้อยได้ไกลมากขึ้น
ส่วนการต่อสายลำโพงแนะนำให้ใช้พวกbanana plugs เพราะสะดวกต่อการถอดเปลี่ยนสายที่ขั้วต่อด้านหลังเครื่องAVR และด้านหลังลำโพง(binding posts) ทั้งยังป้องกันวงจรที่อาจจะช๊อตถ้าเราต่อแบบสายเปลือยบริเวณbinding posts และละปลายสายทิ้งไว้ยาวๆทำให้สายที่เหลือยาวออกมาเลยbinding postsมีโอกาสที่จะแตะกันได้
แต่ถ้าจะต่อแบบปอกสายแล้วสอดสายตรงbinding postโดยไม่ต้องการใช้banana หรือขั้วต่อลำโพงแบบต่างๆก็ต้องพยายามปอกสายให้ไม่ยาวเกินไป คร่าวๆก็ไม่ควรเกิน3/4นิ้ว เพื่อไม่ให้สายเหลือยาวเกินไปเมื่อขันตรงข้อต่อbinding post ถ้าเป็นสายแบบฝอยๆก็ต้องบิดให้สายเป็นเกลียวแน่น ป้องกันไม่ให้สายฝอยเส้นเล็กๆบางเส้นโผล่หลุดออกมาแตะกับสายอีกเส้นด้วย ส่วนสายSubwoofer ก็ใช้สาย analog audio ต่อออกจากreceiverตรงช่องSubwoofer หรือ LFE outไปยังลำโพงSubwoofer
ต่อมาก็เป็นการเชื่อมต่อสายระหว่างเครื่องเล่นต่างๆไปยังAVR ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นblu-ray, DVD, เครื่องรับดาวเทียม,game consolesฯลฯ การเชื่อมต่อที่ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือการใช้สาย HDMI เพราะเป็นการเชื่อมต่อที่สามารถส่งข้อมูล high-definition audioและ video แต่ถ้าไม่ใช้HDMI การเชื่อมต่อที่ดีรองลงมาสำหรับภาพก็คือการใช้สายComponent Video(สายRCAที่มีสามเส้นสีแดง น้ำเงิน และเขียว) ส่วนเสียงก็จะเป็นการส่ง digital audio ผ่านสายdigital coax หรือ สายToslink(optical) ส่วนสายcomposite video และ analog audio ในส่วนของhome theater ถือว่าด้อยที่สุดเนื่องจากว่าเป็นการส่งข้อมูลภาพที่มีความละเอียดต่ำและส่งได้แต่สัญญาณเสียงstereoเท่านั้น นอกจากนี้ในปัจจุบันเครื่อง AVR และPre-Proยังสามารถต่อกับระบบnetworkได้ ทำให้สามารถstreaming audioผ่านAirPlay และ DLNA ซึ่งการเชื่อมต่อกับnetwork สามารถทำได้ทั้งการใช้สาย CAT5e, CAT6แบบมาตรฐาน หรือใช้การส่งแบบwireless ก็มีในบางรุ่น ที่กล่าวมาทั้งหมดก็น่าจะครอบคลุมการเชื่อมต่อเกือบๆ90%ของAVR แล้ว
นอกเหนือจากนี้ถ้าเราใช้เครื่องPre Processorเราก็ต้องใช้สายanalog audio ที่อาจจะเป็นแบบRCA หรือ แบบXLR(Balance) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างPre Processor ไปยังPower Amplifier แล้วค่อยต่อสายลำโพงไปที่ลำโพงอีกที
เครื่อง AVR หรือ Pre Proรุ่นใหญ่ๆในปัจจุบันมักจะเพิ่มเติมความสามารถในการควบคุมลำโพงในZone อื่นๆภายในบ้านเพิ่มเติมโดยอาศัยช่องสัญญาณoutput ที่ไม่ได้ใช้ เช่นในAVRระบบ7.1บางรุ่น ก็สามารถเอาช่องoutputของrear surround มาต่อออกไปยังzoneที่สองในบ้าน ส่วนในห้องhome theaterก็จะกลายเป็นระบบ5.1แทน หรือบางรุ่นก็อาจจะมีช่องสัญญาณภาพออกมาในzoneที่สองเพิ่มเติมได้ด้วย ก็ต้องดูในคู่มือของเครื่องอีกทีเพราะในแต่ละรุ่นการเชื่อมต่อพวกนี้ก็จะต่างๆกันออกไป
เมื่อเราเชื่อมต่อสายต่างๆเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อมาก็คือการกำหนดค่าต่างๆในเครื่อง AVR และCalibration ปัจจุบันมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เครื่องเหล่านี้สามารถset upได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยจะให้microphoneมาเพื่อเชื่อมต่อกับAVR หลังจากนั้นเครื่องก็จะมีคำแนะนำให้เราsetค่าต่างๆแล้วทำการauto-calibrationเองโดยอัตโนมัติ โดยเครื่องก็จะทำการส่งสัญญาณเสียงออกไปที่ลำโพงแต่ละตัวแล้วคำนวณค่า speaker’s distance, relative volume, bass management รวมทั้งการทำ equalizationสำหรับระบบhome theaterของเราโดยอัตโนมัติ แต่เพื่อความมั่นใจว่าเสียงที่ออกมาจะดีอย่างที่บริษัทเขาต้องการเราก็ต้องพยายามทำตามนำแนะนำในคู่มือของเครื่องนั้นๆอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีTipเล็กๆน้อยๆสำหรับการทำauto-calibrationในเครื่องทั่วๆไปเพื่อให้เสียงที่ออกมาดี ไม่ผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็นมากเกินไปดังนี้
- อย่างแรกคือตำแหน่งลำโพงต้องเหมาะสมอย่างที่ผมเคยพูดถึงมาในฉบับก่อนๆแล้ว และถ้าเราต้องทำการย้ายลำโพงในภายหลัง เราก็ต้องทำการauto-calibrationใหม่อีกที
- ก่อนทำการauto-calibrationต้องมั่นใจก่อนว่าsubwooferเปิดและทำงานอยู่ เพราะว่าบางทีsubwooferปิดเองอัตโนมัติถ้าไม่มีสัญญาณเข้านานๆ พอเราเริ่มauto calibrateเครื่องเริ่มส่งสัญญาณเสียงไปยังลำโพงแต่ละตัวเพื่อauto-calibrate แต่ปรากฏว่าพอถึงchannelของsubwooferเสียงจากsubwooferไม่ออก พอจะออกก็เป็นเสียงตอนท้ายๆโดยมันจะเกิดกับตำแหน่งวางไมค์ตำแหน่งแรกที่เป็นตำแหน่งนั่งฟังหลัก และเครื่องจะคำนวณให้ความสำคัญกับตำแหน่งไมค์ตำแหน่งแรกนี้มากกว่าตำแหน่งถัดๆมา ทำให้การคำนวณเสียงsubwooferของเครื่อง AVR เกิดการผิดพลาดขึ้น เสียงเบสก็มักจะเพี้ยนตามมา
- พยายามทำให้ห้องเงียบที่สุด เพราะเสียงรบกวนต่างๆทั้งจากแอร์ พัดลม เครื่องฟอกอากาศ มักทำให้การรับเสียงของไมค์ผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
- ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อทำให้ไมค์วัดอยู่ในตำแหน่งระดับหูของผู้ฟัง และไม่สั่น ขยับไปมาได้ง่ายในขณะcalibrationโดยเฉพาะพวกความถี่ต่ำๆถ้าขาตั้งไม่มั่นคงพอไมค์จะสั่นได้ง่าย
- ตำแหน่งแรกที่ใช้ไมค์วัดจะเป็นตำแหน่งหลักของการฟัง ต้องระวังว่าไม่มีอะไรมาขวางเส้นทางเดินของเสียงระหว่างลำโพงไปยังmicrophone
- ถ้าเครื่องสามารถให้เลือกได้ว่าทำการวัดได้หลายจุด พยายามทำการวัดให้ได้มากจุดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยค่อยๆขยับmicrophone ที่ใช้วัดให้ห่างจากตำแหน่งแรกประมาณ1เมตรออกไปเรื่อยๆ ไม่ควรวัดจากจุดนอกไกลๆแล้วค่อยๆขยับแต่ละจุดเข้ามาหาตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งหลักจุดแรก
เมื่อเครื่องทำการauto-calibrationเสร็จแล้วเราก็เข้าไปเช็คในหัวข้อต่างๆในเมนูว่ามีค่าอะไรที่ผิดปกติอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้บ้าง ที่พบบ่อยๆเช่นpolarityที่อาจจะเกิดจากการใส่สายลำโพงกลับขั้วกัน ระยะdistanceของลำโพงแต่ละตัวที่อาจมีค่าน้อยหรือมากกว่าความเป็นจริงมากๆ เมื่อเราพบปัญหาต่างๆเหล่านี้ก็ทำการแก้ไขและทำการauto-calibration ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็ลองเช็คเสียงจากระบบเราอีกครั้งว่ามีอะไรผิดปกติอีกหรือเปล่า
ส่วนบางคนไม่ชอบการทำแบบauto-calibrationเนื่องจากเสียงที่ออกมาบางทีไม่ถูกใจ บางทีก็มีerrorมากแต่เครื่องกลับไม่แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะการทำแบบautoมักจะให้คอมพิวเตอร์เป็นตัวคำนวณ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพห้อง สภาพอุปกรณ์แต่ละอย่าง ยังไงการใช้สติปัญญานึกคิดหรือการตัดสินของคนย่อมมีความเชื่อถือได้มากกว่าการคำนวณประมวลผลทั้งหมดจากเครื่องในขั้นตอนเดียว การcalibrateแบบ manual จึงมักได้รับความนิยมในหมู่คนที่เริ่มมีความรู้เรื่องhome theaterมากขึ้นเพราะนอกจากจะได้เสียงจากระบบที่ดีขึ้น(ถ้าปรับเป็น)ตามแบบที่เราต้องการแล้ว ยังจะได้ความสนุกสนานในการปรับแบบนี้อีกด้วย ฉบับนี้ผมจะพูดถึงการปรับmanualในเบื้องต้นง่ายๆกันก่อนนะครับ อุปกรณ์ก็มีตลับเมตรเพื่อใช้วัดdistance ของลำโพงแต่ละตัวซึ่งค่าที่ได้ก็เชื่อถือได้ในระดับหนึ่งกับลำโพงmainต่างๆแต่กับsubwooferการหาdistanceอาจจะต้องใช้การฟังและการวัดที่ละเอียดอย่างอื่นเพิ่มเต็มถ้าต้องการให้ได้ผลที่แน่นอนมากขึ้น อุปกรณ์อีกตัวคือSPL meter เพื่อใช้วัดlevelความดังของเสียงในรูปแบบเดซิเบล วิธีการวัดก็ง่ายๆคือตั้งตัวSPL meterไว้ที่ C weighted และ slow response ยึดตัวmeterเข้ากับขาตั้งที่ความสูงระดับหูที่ตำแหน่งนั่งฟังหลักของเรา ชี้ตัวmeterขึ้นข้างบนเพดาน ที่ให้ชี้ขึ้นนี้ก็เพื่อทำให้เสียงไม่พุ่งเข้ามายังmeterตรงๆ เช่นเดียวกับหูของเราที่เสียงจากด้านหน้าก็ไม่ได้พุ่งเข้าโดยตรงเข้าหูเราเพราะหูเราอยู่ด้านข้างแต่จะทำมุมฉากต่อกัน เมื่อยึดmeterเข้าตำแหน่งที่เราต้องการแล้วก็ทำการปิดแอร์ ปิดพัดลม ปิดเครื่องต่างๆที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน เปิดสัญญาณpink noise ในเครื่องA/V receiver ปรับVolumeจนมีความดังที่meter 75dB ในทุกแชลแนล ส่วนsubwoofer ก็สามารถปรับให้levelสูงมากกว่าลำโพงอื่นๆได้นิดหน่อยตามความชอบ ว่าเราชอบเสียงเบสระดับไหน
เมื่อเราได้ค่าdistances และlevelของลำโพงแต่ละตัวแล้ว เราก็ทำการป้อนค่าต่างๆลงในเครื่องAVR ต่อมาก็ทำการตั้งค่าbass management แต่ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ผมขอพูดถึงคำจำกัดความแบบง่ายๆของคำที่เรามักจะใช้ในการset bass managementกันก่อนเพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน
- Bass management คือการตั้งค่าขนาดลำโพง การตั้งค่าcrossover เพื่อให้เหมาะสมกับระบบhome theaterของเรา
- Crossover Point คือจุดที่เมื่อเราตั้งค่าลำโพงเป็นsmall ความถี่ที่ต่ำกว่าจุดนี้จะไปที่subwoofer ส่วนความถี่ที่สูงกว่าจุดนี้จะไปที่ลำโพงmainอื่นๆ
- Large speakers หมายถึงลำโพงหลักที่สามารถให้เสียงที่มีความสม่ำเสมอ ไม่มีความเพี้ยนโดยตลอดย่านความถี่20Hz – 20kHz
- Small speakers หมายถึงลำโพงไม่สามารถให้เสียงที่เที่ยงตรงตลอดทั้งย่านความถี่20Hz – 20kHz โดยเฉพาะความถี่ต่ำ จำเป็นต้องใช้subwooferช่วยในความถี่ต่ำ
พูดง่ายๆbass management ก็คือการที่AVR จะจัดการกับลำโพงmainต่างๆให้ทำงานประสานกับsubwooferได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราปรับค่าbass managementไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เสียงที่ออกมาจากระบบhome theaterของเราเพี้ยน หรือไม่ก็ฟังดูแปลกๆ ถ้าผิดมากๆก็อาจจะไม่มีเสียงออกลำโพงเลยก็เป็นได้ ดังนั้นการที่เราสามารถเข้าใจและจัดการกับbass management ได้ดีก็จะทำให้เสียงดีขึ้นอย่างมาก(โดยไม่เสียเงินอะไรเลย)
คำถามแรกคือเราจะตั้งค่าลำโพงเราเป็นอะไรดีระหว่างLarge หรือ Small ซึ่งจริงๆแล้วมันมีหลายconcept ที่พูดถึงเรื่องนี้ แม้กระทั่งในwebboardต่างประเทศก็ยังถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่เรื่อยๆ ที่พบบ่อยๆคือหลายท่านบอกว่าแม้แต่ลำโพงbookshelf เมื่อตั้งเป็นlarge และฟังด้วยหูแล้วเสียงมันจะมาดีกว่าเต็มกว่าเบสเยอะกว่าการตั้งให้ลำโพงbookshelfนั้นเป็นsmall แต่เดี๋ยวก่อน…เราเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคู่มือการติดตั้งต่างๆ หนังสือต่าง หรือแม้กระทั่งพวกบริษัทที่เกี่ยวกับด้านเสียงเช่น THX, HAA, CEDIA หรือแม้กระทั่งเจ้าพ่อเรื่องAcoustic ในห้องฟังขนาดเล็กเช่น Dr.Floyd E. Toole ถึงยังแนะนำว่าควรจะตั้งค่าลำโพงให้เป็นsmall และส่วนมากก็จะแนะนำให้ตัดความถี่crossover pointที่ 80Hz เขาคิดอะไรกันอยู่นะหรือเขาไม่ได้คิดอะไรให้คำแนะนำไว้กว้างๆโดยไม่ดูว่าลำโพงแต่ละบ้านไม่เหมือนกันขนาดเล็กใหญ่ก็ไม่เท่ากันเลยเฉลี่ยเหมาเอาแนะนำให้เป็นว่าตั้งsmallไว้ทั้งหมดเลยดีกว่า แต่ความจริงแล้วเขามีเหตุผลของเขาอยู่ผมจะเอามาเล่าให้ฟังเป็นความรู้เพิ่มเติมนะครับ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าในเมนูที่เขาเขียนว่าลำโพงเป็น small หรือ large นั้นไม่ได้เป็นการบอกถึงPhysical Sizeของลำโพงนะครับแต่เป็นการบอกถึงความสามารถของลำโพงในการตอบสนองและปล่อยเสียงในคลื่นความถี่ต่างๆออกมา ดังที่ผมได้ให้ความหมายตามคำจำกัดความข้างต้น จะเห็นว่าในAVRบางยี่ห้อได้เลี่ยงใช้คำว่าsmallหรือlarge speaker แต่ใช้คำว่าFull Bandแทนเพื่อป้องกันคนสับสนและจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น เมื่อเราตั้งลำโพงเป็นlargeหรืออีกชื่อหนึ่งfull bandก็เหมือนกับเป็นการบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้bass managementหรือbypass bass managementโดยให้ทำการส่งข้อมูลเสียงfull range 20Hz – 20kHz ของchannel นั้นไปให้ลำโพงchannelนั้นๆทั้งหมดเลย ส่วนลำโพงSubwooferให้รับข้อมูลจากLFE channelอย่างเดียว คราวนี้ลองมาทำความเข้าใจเส้นทางในการบันทึกเสียงของChannelต่างๆในห้องmixเสียงมาตรฐานของTHXดูจะได้เข้าใจมากขึ้น
จากตารางเราจะเห็นว่าในmain channelต่างๆเป็นการรวมข้อมูลจากเสียงที่บันทึกมาจากหลายแหล่ง เช่นลำโพง LCR ก็จะเป็นเสียงที่มาจากทั้งเสียงพูด เสียงเพลง เสียงeffects เสียงสิ่งแวดล้อมพวกAmbience หรือเสียง Foleyต่างๆ ส่วนสัญญาณเสียงLFEนั้นจะมาจากeffectsเท่านั้น คราวนี้สมมุติว่าเราใช้ลำโพงbookshelfที่ตอบสนองความถี่ได้ที่ 50Hz – 20kHz +/-3dBและตั้งค่าลำโพงเป็นlarge มันก็หมายความว่าข้อมูลของเสียงchannelนั้นทั้งหมดคือ20Hz-20kHzจะถูกส่งไปยังลำโพงchannelนั้นทั้งหมด แต่เมื่อข้อมูลนี้ส่งมาถึงวงจรcrossoverของลำโพงbookshelf ข้อมูลที่ต่ำกว่า50Hz ก็จะไม่ออกมาจากลำโพงเพราะตัวcrossoverของลำโพงเองจะทำการroll off และตัดความถี่ต่ำกว่า50Hzออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้ลำโพงเล่นเสียงความถี่ต่ำๆนั้นแล้วเกิดเสียงที่ผิดปกติหรือdistortionขึ้นเนื่องจากเกินความสามารถของลำโพง และข้อมูลที่ต่ำกว่า50Hz นี้ก็ไม่ได้ถูกส่งไปยังsubwooferด้วยเพราะเราได้กำหนดให้subwooferรับข้อมูลจากLFEเท่านั้น ทำให้เสียงพูด เสียงเพลง เสียงAmbience,Foleyของลำโพงmainที่ต่ำกว่า50Hzจะหายไปจากระบบ ซึ่งเสียงLFEจากตารางเราจะเห็นได้ว่ามันมาจากแค่Effects A และ Effects Bเท่านั้น บางทีจะมีข้อมูลตรงนี้น้อยมากๆ หรือหนังบางเรื่องก็แทบจะไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย ถ้าอ่านในคู่มือของAVRบางรุ่นเขาก็จะบอกในคู่มือเลยว่าถ้าคุณตั้งให้ลำโพงเป็นlarge สัญญาณที่ออกมาจากsubwooferจะน้อยมากๆนะไม่ได้ผิดปกติอะไร เพราะจะพบอยู่บ่อยๆว่าคนไม่เข้าใจแล้วคิดว่าsubwooferเสียหรือAVRเสียที่มีสัญญาณเสียงออกจากลำโพงน้อยมาก ดังนั้นถ้าเรามีลำโพงsubwooferที่ดีๆราคาสูงๆ แต่ไปbypass speaker management ก็นับว่าน่าเสียดายมากๆ คราวนี้ลองมาดูถ้าเราตั้งลำโพงไว้เป็นsmallแล้วset crossoverไว้ที่ ตำแหน่งยอดนิยม80Hz สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ลำโพงbookshelfก็จะรักเราขึ้นอีกมากเพราะว่ามันไม่ต้องทำงานหนักมากเกินหน้าที่มัน Power Amplifier ที่ใช้ขับลำโพงmainก็จะรักเรามากขึ้นอีกเช่นเดียวกันเพราะมันไม่ต้องไปขับความถี่ต่ำที่กระหายบริโภคกระแสไฟที่มาก ทำให้มันมีกำลังเหลือๆมาขับลำโพงหลักเพื่อให้ได้ dynamic, headroomที่สูงขึ้น และแน่นอนdistortionของเสียงที่ออกมาจากลำโพงหลักก็จะต่ำตามมา ส่วนลำโพงsubwooferก็จะได้รับข้อมูลความถี่ต่ำทั้งหมดมาดูแลจัดการเองตามความถนัดของมัน ไม่มีความถี่ต่ำใดๆหายไปจากระบบเพราะsubwooferสามารถเล่นเสียงที่มีความถี่ต่ำๆนี้ได้สบายมากเพราะมันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ การแก้ไขปัญหาความถี่ต่ำในห้องที่ขนาดเล็กเช่นพวกstanding waveต่างๆก็สามารถควบคุม จัดการได้อย่างเป็นเอกเทศและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันลำโพงsubwoofer ที่ใช้ในhome theaterส่วนมากจะเป็นแบบactiveที่มีpower amplifierที่มีกำลังสูงอยู่ในตัวเองอยู่แล้วจึงไม่ต้องไปแย่งกำลังจากpower amplifierของAVRอีก
ส่วนที่เรากลัวว่าการเอาความถี่ต่ำไปไว้ที่ลำโพงsubwooferทั้งหมดจะทำให้ไม่มีเสียงความถี่ต่ำไปอยู่ตามลำโพงต่างๆทำให้เสียอรรถรส เหมือนเสียงไม่ได้มาจากลำโพงchannelนั้นๆ อันนี้คงต้องอ้างถึงหลักการเรื่องการรับรู้ของเสียงของหูมนุษย์ที่เขาศึกษามาแล้วและพบว่าความถี่ที่ต่ำกว่า120Hz จะเป็นแบบไม่มีทิศทาง(non-directional) หูของคนเราไม่สามารถจับทิศทางต้นกำเนิดของเสียงได้ ดังนั้นเช่นถ้าเราตัดcrossover pointของลำโพงsurroundไว้ต่ำกว่า120Hz ความรู้สึกว่าเสียงeffectนั้นมันก็ยังให้ความรู้สึกว่าเสียงทั้งหมดมาจากลำโพงsurroundอยู่ดี อันนี้ต้องขอบคุณหลักการของpsycho acousticsที่ช่วยทำให้Home theaterมีความง่ายขึ้น ส่วนการกำหนดว่าทำไมต้องเป็นcrossover point ที่80Hzนั้น อันนี้เป็นเพราะTHX ได้มีการศึกษา และทดลองในหลายๆด้านแล้วพบว่าตำแหน่งที่ความถี่80Hz เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ไม่เสมอไปเช่นในระบบลำโพงsatellite หรือ Home theater in the box ที่มีลำโพงขนาดเล็กมากๆ เส้นผ่าศูนย์กลางdriverแค่ 3-4นิ้ว เราก็อาจจะตัดที่ความถี่ประมาณ100Hz หรือมากกว่าได้เนื่องจากว่าลำโพงขนาดเล็กอาจจะhandleความถี่ต่ำพวกนี้ไม่ไหว แต่ยังไงควรจะต้องน้อยกว่า120Hz เพราะถ้าสูงเกินนี้หูเราก็จะเริ่มจับตำแหน่งsubwooferได้แล้ว ทางที่ดีลำโพงเล็กๆพวกHome theater in the boxเหล่านี้ควรต้องดูคู่มือที่แถมมากับลำโพงว่าเขาแนะนำให้ตัดความที่crossover pointใดถึงจะเหมาะสมกับลำโพงเขามากที่สุด หรือถ้าลำโพงแต่ละchannelมีขนาดต่างกันเราก็อาจจะปรับ crossover pointแยกอิสระให้ต่างกันในแต่ละchannelได้ แต่ไม่ควรให้crossover pointเหล่านี้มีค่าต่างกันเกิน +/-20Hz เพื่อให้แน่ใจว่าsubwooferจัดการรวบรวมความถี่ต่ำเหล่านี้ง่ายขึ้นและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกอย่างคือมักจะเจอคำถามที่ว่าถ้าตั้งลำโพงbookshelf เป็นlargeแล้วเสียงเบสมันจะชัดกว่า เสียงหนักมากกว่าการset เป็นsmall อันนี้ก็อย่างที่บอกไปว่าเมื่อลำโพงbookshelfมันไม่สามารถhandleความถี่ต่ำๆได้ มันก็จะroll offทำให้ไม่มีเสียงเบสต่ำๆพวกนี้ออกมา แต่เมื่อเราวัดความดังโดยใช้เครื่องมือพวกSound level meter มันก็จะเฉลี่ยความดังที่ความถี่ต่ำต่างๆหลายๆoctave ออกมาเป็นค่าๆเดียวหยาบๆเพื่อแสดงออกมาและเอามาปรับให้เท่ากับความถี่ที่เหลืออื่นๆ ทำให้ความถี่ต่ำที่ลำโพงสามารถhandleได้มันมีค่าสูงกว่าปกติเพื่อชดเชยกับความถี่ต่ำที่ลำโพงไม่สามารถผลิตเสียงออกมาได้ เราจึงได้รับรู้ว่าความถี่ต่ำบางช่วงมันมากกว่าที่ควรจะเป็นเลยทำให้รู้สึกรับรู้ได้ว่าเสียงเบสมันมีพลังมากกขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันดังมากกว่าปกติที่แค่ช่วงความถี่หนึ่งๆเท่านั้น แต่ยังมีความถี่ที่หายไปที่มันไม่สามารถแสดงออกมาได้อีกบางช่วงด้วย ดังนั้นเสียงเบสที่ออกมาจึงกลายเป็นเสียงเบสที่ไม่มีความต่อเนื่องไม่สม่ำเสมอ และมีความเพี้ยนสูง
คราวนี้ถ้าลำโพงตั้งพื้นแล้วมีขนาดใหญ่มาก driver ขนาด 10-12นิ้วอยู่ด้านข้างๆล่ะยังต้องตั้งเป็นsmallอีกไหม?….ครับแบบนี้ก็ยังแนะนำให้ตั้งเป็นsmallเหมือนเดิมแม้ว่าลักษณะทางPhysicallyมันจะlargeก็ตาม เพราะbass managementไม่ได้ตั้งตามขนาดความใหญ่โตของลำโพงจริงๆแต่เอาตามความถี่ที่ลำโพงสามารถตอบสนองได้ แต่ถ้าลำโพงเขาบอกว่าสามารถตอบสนองได้full band 20Hz – 20kHzล่ะ อันนี้ความจริงแล้วก็สามารถsetเป็นlargeได้ ไม่มีความถี่ที่หายไปไหนแต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ถึงแม้specมันจะบอกว่ามันhandleความถี่ขนาดนี้ได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ลำโพงลงไปทำงานที่ความถี่ต่ำมากขนาดนั้น เพราะส่วนมากแล้วลำโพงที่บอกช่วงไว้กว้างขนาดนี้มักจะให้ความถี่ต่ำมากๆไม่ค่อยsmoothเมื่อเปรียบเทียบกับลำโพงsubwooferจริงๆ นอกจากนี้เราก็ต้องคำนึงถึงPower Amplifierที่จะมาขับลำโพงพวกนี้ด้วยว่าแรงจะพอขับเพื่อใช้ในงานHome theaterที่ต้องการDynamicที่กว้างและความดังซึ่งบางทีอาจจะpeakถึง105dB หรือถ้าเป็นความถี่ต่ำก็อาจจะถึง115dB ได้ เมื่อดูจากตารางของทางHAAที่ได้ศึกษาและผมเคยเอามาให้ดูเมื่อสองสามฉบับที่แล้ว จะพบว่าถ้าเอาความดังระดับ 105dBที่ห่างลำโพงหนึ่งเมตรต้องใช้Amplifierที่มีกำลังไม่ต่ำกว่า 500watt ไม่อยากคิดว่าถ้านั่งห่างลำโพงสักสามสี่เมตรต้องใช้กำลังPower Amplifierขนาดเท่าไหร่ถึงจะทำให้เสียงมันไม่เกิดdistortionที่ความดังระดับนี้ได้ ดังนั้นผมว่าปล่อยให้subwooferเขาเอาไปจัดการความถี่ต่ำพวกนี้จะดีกว่าไหม ลำโพงmailของเราจะได้มีdynamics กับ headroomที่กว้างมากขึ้น
แต่ทั้งหมดนี้ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละท่าน ไม่ใช่ว่าการปรับลำโพงเป็นlargeจะผิดหรือไม่มีข้อดีนะครับ การปรับเป็นlargeมันก็เหมือนกับเราเพิ่ม subwooferเข้าไปในระบบ การมีsubwooferมากขึ้นก็ย่อมช่วยsmooth out ความถี่ต่ำในห้องhome theaterได้ดีมากกว่าsubwooferตัวเดียว แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าลำโพงหลักของเราสามารถจัดการกับความถี่full bandได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำแหน่งของsubwooferและลำโพงmainจะต้องดีมีphaseที่สัมพันธ์กัน กำลังของPower amplifierจะต้องดีด้วยนะครับ ที่สำคัญต้องใช้การวัดที่แม่นยำและละเอียดเพียงพอไม่อย่างงั้นphase ของsubwooferหลายๆตัวตีกันตายแน่นอน
ต่อมาเราก็มาตั้งค่าInputs Assignmentว่าแหล่งข้อมูลของเรามีอะไรบ้าง และเราเสียบช่องต่อแบบไหน เข้าที่ช่องไหนของinputในAVR เสร็จแล้วเราค่อยมาเปลี่ยนชื่อInput อีกทีเพื่อป้องกันความสับสนถ้าเรามีแหล่งข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งข้อมูล ที่เหลือจากนี้ก็จะเป็นการตั้งค่ารายละเอียดต่างๆเช่น การปรับVideo Processingเพื่อปรับภาพในเครื่องที่มีพวกadvanced video processorsเพิ่มเข้ามา, การตั้งค่าBi-amping เพื่อให้เราใช้amplifier 2channel เพื่อขับลำโพงchannelเดียว ก็จะทำให้เราได้กำลังขับchannelนั้นๆเพิ่มขึ้น, ตั้งค่าImpedance Selector Switchของลำโพง โดยปกติเราจะตั้งไว้ที่ 8ohm, Listening Modes ว่าเราชอบเสียงสิ่งแวดล้อมแบบไหน เครื่องAVRก็จะไปปรับDSP ในเครื่องให้มีเสียงที่แตกต่างกันออกไปแต่เท่าที่ผมลองใช้ดูผมว่าไม่ปรับจะดีที่สุด เสียงจะได้ไม่เพี้ยนจากต้นฉบับมากนัก, การตั้งHDMI standby Pass Through เพื่อให้สัญญาณจากแหล่งต้นทางสามารถผ่านออกจากAVRได้แม้กระทั้งเวลาที่เราอยู่ในStandby mode อ๋อ..เกือบลืมอีกอย่างที่ผมมักจะเจอบ่อยๆว่าไปตั้งมันไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็คือDynamic Volume ความจริงมันเป็นตัวเดียวกับที่บางคนเรียกกันว่าnight modeนะครับ โดยมันจะไปลดdynamicของเสียงในระบบลง เพื่อให้สามารถเปิดดูได้ในเวลากลางคืนที่ไม่ต้องการรบกวนคนอื่น บางคนเปิดonไว้พอฟังเสียงก็จะบ่นว่าAVRเสียงไม่ดีเลย เบาๆไม่ค่อยมีแรง ไม่มีDynamic ยังไงลองไปเช็คดูนะครับว่าเปิดmodeนี้ไว้อยู่หรือเปล่า ถ้าเสียงมันออกมาลักษณะนี้
สรุป เราจะเห็นได้ว่าA/V receiver หรือPre-Processorเปรียบเสมือนเป็นสมองของระบบhome theaterเลยทีเดียว ดังนั้นการที่เราเสียสละเวลาเพื่อศึกษาการตั้งค่าต่างๆจากคู่มือเพื่อให้เข้าใจหน้าที่การทำงานของมัน เสร็จแล้วทำการตั้งค่าต่างๆให้ถูกต้อง ก็จะทำให้เสียงของชุดHome theaterของเราดีขึ้นอีกมากโดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกแต่อย่างใด