Article

Search

Solutions to Standing Waves

หลังจากฉบับที่แล้วผมได้ทิ้งท้ายว่าสัดส่วนห้องHome Theater ถ้าไม่เหมาะสมจะทำอย่างไร ก่อนที่จะพูดถึงการแก้ปัญหานี้เราต้องมาทำความเข้าใจต้นตอของปัญหาในเรื่องนี้ก่อน โดยปกติห้อง Home Theater ของเราที่อยู่ในบ้านมักจะเป็นห้องหนึ่งในบ้าน หรือมุมสักมุมในบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก

ดังนั้นปัญหาของเสียงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในห้องขนาดเล็กก็คือ Standing Waves หรือที่เรียกกันบ่อยๆว่า Room Modes บางครั้งก็อาจเรียกว่า Bass Modes ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ที่เสียงเดินทางสะท้อนไปมาระหว่างผนังตั้งแต่สองผนังขึ้นไป และเมื่อระยะห่างระหว่างผนังมีค่า 0.5, 1, 1.5, 2, 2.5, 3 ฯลฯ เท่าของความยาวคลื่นหนึ่งๆ

มันก็จะเกิดการเพิ่มพลังงานเสียงที่ความถี่นั้นๆขึ้นในบางตำแหน่ง และหักล้างคลื่นเสียงความถี่นั้นๆในบางตำแหน่ง เมื่อสะท้อนกลับไปมาหลายๆรอบ(resonant behavior)

เช่นเมื่อระยะห่างระหว่างผนังสองข้างมีขนาดเท่ากับ ½ ของความยาวคลื่นพลังงานที่สะท้อนไปมาก็จะเพิ่มขึ้นบริเวณใกล้ผนังทั้งสองด้านซึ่งเราเรียกว่า peak หรือ node ส่วนบริเวณตรงกลางคลื่นก็จะหักล้างกันเกิดเป็นบริเวณที่มีค่าพลังงานเสียงน้อยกว่าบริเวณอื่นเราก็จะเรียกว่า dip หรือ null หรือ anti node

เมื่อนำมาวาดเป็นรูปให้เข้าใจได้ง่ายก็จะเป็นดังรูป ตรงกลางเป็นตำแหน่ง dip ส่วนริมผนังทั้งสองข้างก็จะเป็นบริเวณที่มีพลังงานมากกว่าบริเวณอื่น แต่พลังงานทั้งสองข้างของ dip จะเป็นขั้ว(Polarities) ที่ตรงข้ามกัน โดยเราจะเรียกการเกิด resonance ที่ ½ ของความยาวคลื่นนี้ว่าเป็น First Harmonic หรือ First Mode

เช่นเดียวกันเมื่อเกิด resonance ที่ 1, 1.5, 2 เท่าของความยาวคลื่น ก็จะทำให้เกิด 2nd Harmonic, 3rd Harmonic และ 4th Harmonic ตามลำดับ

ห้องทุกห้องล้วนมี standing waves แต่จะทำให้เกิดปัญหากับเสียงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดสัดส่วนของห้องว่าทำให้เกิดการ Resonances ที่ความถี่ใดความถี่หนึ่งมากเกินความถี่อื่นๆหรือเปล่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความหนาแน่นและความแข็งของผนังอีกด้วย ผนังที่แข็งและมีหนาแน่นสูงก็จะทำให้เกิดการสะท้อนของพลังงานเสียงมากกว่าผนังที่มีความหนาแน่นต่ำกว่า เช่นผนังคอนกรีตจะทำให้พลังงานคลื่นเสียงสะท้อนออกมาได้มากกว่าไม้แท้, ไม้อัด, ยิปซัม,ผนังที่รองพื้นด้วยยาง หรือ isolation clip อย่างที่เคยอธิบายในฉบับที่แล้ว

นอกจาก room mode จะเกิดจากการ resonance ของผนังคู่ในคู่หนึ่งในห้องเช่นระหว่างผนังด้านยาว, ระหว่างผนังด้านกว้างหรือระหว่างผนังด้านสูงแล้ว(axial length, axial width, axial height mode) ก็จะเกิดการสะท้อนจากผนังสองคู่ได้เช่นกัน เช่นสะท้อนกันระหว่างผนังด้านกว้างและผนังด้านยาวทั้งสี่ด้านร่วมกัน(Tangential mode) หรือไม่ก็จะเกิดการสะท้อนของพื้นกับเพดานร่วมด้วยเป็นการสะท้อนของผนังทั้งหกด้านเลย(Oblique mode) แต่พลังงานก็จะลดลงตามจำนวนของผนังที่สะท้อน ดังนั้น axial modes จึงเป็นmode ที่มีพลังงานมากที่สุด ตามมาด้วย tangential modes และน้อยที่สุดใน oblique mode ที่มักจะไม่ค่อยพบว่าเป็นปัญหาในห้องขนาดเล็กเลย ส่วน tangential modesก็อาจพบได้บ้างถ้าผนังมีความแข็งและความหนาแน่นสูง หรือต้นกำเนิดเสียงมาจากหลายตำแหน่งและความถี่ตรงกันพอดี ดังนั้นเราจึงพูดได้ว่า axial modes เป็น modes ที่เราควรให้ความสำคัญที่สุดในห้องขนาดเล็ก

            Standing waves เป็นสาเหตุของ

  1. การสะท้อนก้องของเสียงในห้อง(Resonances)
  2. การตอบสนองของห้องต่อคลื่นเสียงในความถี่ต่างๆไม่เท่ากัน(Uneven frequency response)
  3. เสียงความถี่ต่ำไม่มีแรง(Poor bass impact)
  4. ตำแหน่งนั่งฟังแต่ละที่มีเสียงเบสที่ต่างกัน(Different bass at each seat)
  5. ปัญหาทั้งหมดมักจะอยู่ระหว่างความถี่ 30Hz – 200 Hz

Standing Waves เราไม่สามารถที่จะกำจัดให้หมดไปจากห้องได้ แต่เราสามารถควบคุมและลดความรุนแรงของมันได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. เปลี่ยนอัตราส่วนของห้องเพื่อลดการซ้อนกันของความถี่ที่เกิด modeต่างๆ(Minimizes over lapping frequencies) แต่ถ้าเป็นห้องที่เราไม่สามารถเปลี่ยนตรงนี้ได้ก็คงต้องใช้วิธีในข้อต่อๆไป
  2. เปลี่ยนตำแหน่ง subwoofer เพื่อลดพลังงานในความถี่ที่เกิด modeรุนแรง(Drive mode out-of-phase to reduce relative amplitude) หรือใช้ subwoofer หลายตัว
  3. ย้ายตำแหน่งนั่งฟังให้ห่างจากตำแหน่ง Dip และ Peak
  4. ใช้วัสดุพวกดูดซับเสียงบุผนัง (bass absorption) หรือทำผนังที่ดูดซับเสียง(absorptive walls)
  5. ใช้เทคนิคการวัดเสียงขั้นสูงtransfer-function measurements วัดเสียงลำโพงแต่ละตัวในแต่ละตำแหน่งนั่งฟัง เพื่อ optimization algorithms ต่างๆ
  6. Equalized เป็นทางเลือกสุดท้าย

ผมจะค่อยๆอธิบายในรายละเอียดในแต่ละหัวข้อไปเรื่อยๆนะครับ เริ่มจากข้อแรกก่อนเรื่องการหาอัตราส่วนห้องที่เหมาะสม โดยหลักการแล้วการเปลี่ยนความยาว(p) ความกว้าง(q) ความสูง(r) ของห้องก็เพื่อให้ resonance frequencies มี mode กระจายห่างกันมากกว่า 5% ปัญหาคือแล้วเราจะหาmodeมันอย่างไรล่ะเห็นคนอื่นๆเขาใช้โปรแกรมหาสัดส่วนห้องกันก่อน แล้วใช้เครื่องมือวัดเสียงวัดอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้นจะซื้อโปรแกรมหรือเครื่องมือมาใช้เองก็ไม่คุ้มเพราะจะใช้แต่ห้องเราห้องเดียว จะถามผู้รู้ก็ไม่รู้จักใคร อันนี้คงเป็นปัญหาของนักเล่นมือใหม่ทุกคน ผมขอเสนอวิธีคำนวณง่ายๆแต่มีประสิทธิภาพมาเสนอให้ลองใช้เบื้องต้นกันดูก่อนเพราะความจริงแล้วโปรแกรมเหล่านี้ก็ใช้หลักการจากสูตรพื้นฐานPhysics เรื่องเสียงคือ

Equation:

F = n1130/2D  (in ft)

F= n345/2D  (in m)

โดย F คือความถี่

n คือ Harmonic ที่ n

D คือ ระยะห่างระหว่างผนัง

โดยเมื่อเราได้ขนาดของห้องแล้วเราก็แทนค่าในสูตรเพื่อหา mode ในแต่ละ harmonic เพื่อหา mode ที่มีค่าใกล้เคียงกัน(น้อยกว่า 5%) เราก็จะหาตำแหน่งที่เกิดpeak หรือ dips ในแต่ละ harmonicsได้ อ่านดูอาจจะงงนะครับ ทดลองทำจริงๆตามนี้นะครับขั้นแรกเปิดโปรแกรม Microsoft Excel ขึ้นมา ใส่ข้อมูลพื้นฐานทั้งด้าน Row และ Column ดังรูป แล้วInsert Function (A3*345)/(2*B2) ลงในช่องB3 ทำการcopy Functionนี้ไปครอบคลุมทั้ง B3-D6 ดังนั้นเมื่อเราเปลี่ยนสัดส่วนความกว้างความยาวความสูงที่ B2, C2, D2 ค่าความถี่ในตารางก็จะเปลี่ยนไปดังแสดงในรูป ในที่นี้เราหาแค่ 4th harmonic ก็น่าเพียงพอ เมื่อเราได้ค่าความถี่ใน harmonic ต่างๆแล้วเราก็มาแปลผลกัน เป็นไงครับแค่นี้เราก็จะได้เครื่องมือในการหา room mode ง่ายๆแบบไม่ต้องเสียตังค์ซื้อเลย แค่เปลี่ยนตัวเลขความยาวความกว้างความสูงของห้องค่าความถี่ที่ resonance ก็จะออกมาเองไม่ต้องนั่งเสียเวลามาคำนวณทีละค่า

ยกตัวอย่างจากตารางนี้ที่เราสมมุติว่าห้องมีความยาว 6เมตร, กว้าง 4เมตร, สูง 3เมตร จะพบว่ามีความถี่ 57.5 Hz ซ้อนกันที่ 2nd length mode กับ 1st height mode เมื่อนำไปเทียบกับรูป harmonic ข้างต้นก็จะพบว่าบริเวณที่เป็นdip ของห้องนี้คือ ½ของความสูง ส่วนความยาวจะมี dip ที่ ¼ และ ¾ ของความยาวห้อง ความสูงคงไม่เป็นปัญหาเพราะตำแหน่งนั่งฟังคงไม่อยู่สูงถึงกลางห้อง แต่ต้องระวังในด้านยาวเพราะการวางตำแหน่งนั่งฟังตรงบริเวณสีฟ้าเข้มในรูปซึ่งเป็นบริเวณdip ของห้อง หรือบริเวณสีฟ้าอ่อนก็จะเป็นตำแหน่ง peak ของห้อง ส่วนmode อื่นๆเช่นที่ 86.25Hz ก็ใช้หลักการเดียวกันในการคิด

นำมาเขียนให้ดูสากลหน่อยก็จะเขียนสัญลักษณ์modeแบบนี้ได้เป็น (2,0,0) เพราะเขาจะเขียน harmonic เรียงตาม (p,q,r) และสมมุติถ้าห้องของเราได้mode ออกมาเป็น (0,1,0) ก็จะได้dip กับ peak ของ 1st wide mode ในห้องดังรูปข้างล่างนี้

ดังนั้นถ้าห้องเรามี mode เป็น (2,1,0) แสดงว่ามีทั้ง 2nd length mode และ 1st wide mode อยู่ด้วยกันรูปแบบมันก็คือนำทั้งสองภาพมาซ้อนกัน เราก็จะสามารถคาดเดาตำแหน่งที่เป็น good harmonic ในห้องได้

แต่อย่าลืมว่าการคำนวณแบบนี้ใช้ได้กับห้องที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมมุมฉากเท่านั้นนะครับ ถ้าเป็นรูปร่างอื่นๆ เราจะไม่สามารถคำนวณด้วยวิธีง่ายๆอย่างนี้ บางทีในห้องที่รูปร่างแปลกมากๆอาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมากในการคำนวณเพราะ mode ของมันจะเป็นรูปแบบที่ซับซ้อน ดังตัวอย่างข้างล่างจะเป็น mode (0,1,0) กับ mode(2,1,0) ของห้องสี่เหลียมทั่วไปเทียบกับห้องที่เป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า จากภาพเราจะเห็นว่าห้องที่มีรูปร่างไม่สมมาตร modeในห้องก็จะเป็นรูปร่างไม่แน่นอนทำให้เราคาดเดาตำแหน่ง mode ของห้องไม่ได้ การที่จะหาตำแหน่งวางลำโพง ตำแหน่งนั่งฟัง หรือแม้กระทั่งตำแหน่งการวางไมค์เพื่อทำ Auto-calibration ก็จะยากยิ่งขึ้นเนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้เราต้องเลี่ยงตำแหน่ง peak และ dip ของ modeในห้อง

วิธีการหา mode แบบ manual นี้ขอให้เครดิตกับอาจารย์ของผม John Dahl, director education and senior fellow THX Ltd.ที่ได้สอนใน THX class ให้เข้าใจหลักการพื้นฐานของการหาสัดส่วนห้องและสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์จริงๆ

ในฉบับหน้าผมจะมาต่อในเรื่องวิธีควบคุมและลดความรุนแรงของ Standing Waves ที่น่าสนใจวิธีต่อมาคือ Subwoofer Placement to Reducing Standing Waves โปรดติดตามนะครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Solutions to Standing Waves (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้