สวัสดีปีใหม่ และขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบแต่ความสุขความสมหวังตลอดปีใหม่2561นี้ด้วยนะครับ สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ก็เหมือนเดิมในทุกๆปีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านภาพในปีที่ผ่านมาพร้อมทั้งแนวโน้มในอนาคตปีนี้ว่าจะมีอะไรใหม่ที่น่าสนใจบ้าง

ในปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านภาพมีการพัฒนากันขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ภาพที่ออกมาจากจอมีความสวยงามสมจริงมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความละเอียดภาพแบบUltraHD(UHD) หรือที่เรียกกันติดปากว่า4K พร้อมกับเรื่องของHigh Dynamic Range(HDR), Wide Color Gamut(WCG) ซึ่งอย่างที่ผมเคยพูดมาตลอดว่าเรื่องความละเอียดของภาพที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น 4K หรือ8K ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการทำให้ภาพดูสวยงามสมจริง ความจริงมันยังมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญอีกเช่นWider Gamut จะบอกถึงว่าจอภาพสามารถแสดงสีได้มากขึ้นกว่าเดิม higher color bit depthsก็จะบ่งถึงจอภาพให้รายละเอียดการไล่เฉดสีที่ละเอียดมากขึ้น และhigher contrast ratiosที่แสดงว่าจอภาพนั้นสามารถแสดงภาพให้มีความกว้างระหว่างความดำมากที่สุด และความสว่างสูงสุดได้มากขึ้น

เริ่มจากเรื่องของรายละเอียดภาพหรือจำนวนของพิกเซล(Pixel)ที่จอภาพสามารถแสดงได้ หลายปีก่อนมาตรฐานHigh Definition(HD)หมายถึงจำนวนพิกเซลในแนวนอนที่1920จุด แนวตั้ง1080จุด(1920×1080)และก็เรียกกันง่ายๆว่าความละเอียดระดับ1080p ต่อมามาตรฐานความละเอียดขยับเป็น4เท่าจากเดิมคือUHDก็จะมีความละเอียดเป็นแนวนอน 3480 แนวตั้ง2160จุด(3480×2160) ซึ่งในความเป็นจริงก็จะไม่เท่ากับรายละเอียดในโรงภาพยนต์จริงๆที่ถูกกำหนดโดยDigital Cinema Initiative(DCI)หรือเรียกกันว่า 4K เพราะความละเอียดของ4Kจริงๆแล้วเป็น 4096×2160 จะเห็นได้ว่ามีความกว้างกว่า UHDที่เป็น3480×2160เล็กน้อยแต่รายละเอียดในส่วนสูงเท่ากันบางคนก็เลยเรียกแทนกันไปเลยเพื่อความสะดวกว่าเป็น4K

อย่างไรก็ตาม4Kออกมาไม่เท่าไรเทคโนโลยีจอภาพก็ไปต่ออย่างรวดเร็วด้วยความละเอียดระดับ 8K ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทSharp ได้เปิดตัวทีวีซีรีย์ใหม่AQUOS8K ความละเอียด 7,680×4,320ออกมาแล้ว โดยจะวางจำหน่ายจริงๆในปลายปีนี้ ส่วนSamsungก็วางแผนที่จะเปิดตัวทีวีขนาดใหญ่กว่า100นิ้ว ความละเอียดระดับ 8KในงานCES(Consumer Technology Association)2018 ที่Las Vegas ส่วนทางSonyและPanasonicก็ให้ความร่วมมือกับทางสถานีโทรทัศน์NHKของญี่ปุ่นในการพัฒนาและผลิตทีวี8K รวมทั้งกล้องและอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ถ่ายทอดสด 2020Tokyo Olympicsในระบบ8K ซึ่งนับว่าต่อจากนี้ไปจนถึงOlympics2020สงครามจอทีวีน่าจะมุ่งไปที่ความละเอียดระดับ 8Kกันแน่นอน

ส่วนในเรื่องความกว้างของเฉดสีที่จอภาพสามารถแสดงได้หรือที่เรียกว่าcolor spaceนั้น ปีที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาความกว้างของเฉดสีให้มากกว่าเดิม ใครสนใจในเรื่องนี้ก็คงจะพอคุ้นเคยกับมาตรฐาน ITU-R BT.2020 ที่มีความกว้างของการแสดงสีสูงถึงระดับ rec.2020(ครอบคลุมถึง 67%ที่ตามนุษย์สามารถมองเห็น) หรือความกว้างที่DCI-P3(ครอบคลุม46%ที่ตามนุษย์สามารถมองเห็น)

และเมื่อใช้ร่วมกับรายละเอียดการไล่เฉดสีในระดับ 10bitจะสามารถแสดงสีได้ถึง 1.07พันล้านสี และถ้าเป็นรายละเอียดระดับ 12bitจะสามารถแสดงสีได้ถึง 68.7พันล้านสีเลยทีเดียว โดยแต่เดิมระบบ HDTVหรือ HD Blu-rayจะใช้รายละเอียดแค่ระดับ8bitเท่านั้น ส่วนปัจจุบันภาพยนตร์ในระบบDolby Visionจะทำต้นฉบับเป็น 12-bit color depth, และระบบ HDR10 จะเป็น 10-bit color depth ส่งผลในระบบเหล่านี้ต้องใช้การขนถ่ายข้อมูลถึงระดับ 18-36Gbps(Gigabits per second) เพื่อส่งถ่ายข้อมูลอันมหาศาลเช่นระบบ UHD HDRสำหรับความถี่ของภาพระดับ 60เฟรมต่อวินาที(4K@60Hz)ที่bit depths 10bitหรือ12bit ถ้าเทียบกับมาตรฐานเดิม ITU-R BT.709หรือเรียกกันง่ายๆว่า Rec.709ที่ใช้กันมาในทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี คศ.1992 เมื่อส่งbit depthที่ 8bits ก็จะมีรายละเอียดการไล่เฉดสีพื้นฐาน(primary color)ในแต่ละสีเป็น256ระดับ ทำให้สามารถแสดงสีได้ทั้งหมดแค่ 16.8ล้านสีเท่านั้น อัตราการส่งสัญญาณข้อมูลในระดับ 10.2Gbps ก็เพียงพอแล้วสำหรับ 4K@60 ที่ 8บิทสำหรับ HD video

ดังนั้นสายHDMIที่ใช้ในระบบก็ต้องสามารถรองรับความเร็วการส่งข้อมูลในระดับนี้ซึ่งได้แก่สาย HDMI 2.0ขึ้นไป ส่วนอุปกรณ์ต่างๆก็ต้องรองรับความเร็วระดับ 18Gbpsได้เช่นเดียวกันแต่ถ้ามีอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งในระบบไม่สามารถรับความเร็วขนาดนี้ได้ก็จะทำให้ภาพที่ออกมาลดคุณภาพลงหรือบางทีก็จะไม่มีภาพออกมาเลยก็ต้องไปปรับลดความละเอียด, bit depth หรือค่าบางค่าลงให้ภาพส่งไปได้ โดยเฉพาะการส่งข้อมูลในระดับ 4:4:4 ของ 4K HDRที่ความถี่ 60Hz(frame per second)เช่นแผ่น 4K HDR ของภาพยนตร์เรื่อง Billy Lynn’s Long Halftime Walk จากผู้กำกับรางวัลออสการ์Ang Lee หนังเรื่องนี้ถูกบันทึกมาในระบบ 4K HDR 60Pเพื่อให้ภาพเคลื่อนไหวต่างๆมีความลื่นไหลเหมือนจริงมากกว่า 24frame per secondเช่นภาพยนตร์ทั่วๆไป ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงต้องใช้การถ่ายโอนข้อมูลในระดับ 18Gbpsถ้าอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งในระบบไม่รองรับความเร็วในระดับนี้ก็ไม่สามารถแสดงภาพตามต้นฉบับการบันทึกจากแผ่น4K HDRเรื่องนี้ได้ครับ



อย่างไรก็ตาม ณ.ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีทีวีหรือโปรเจคเตอร์ที่สามารถแสดงสีได้ใกล้เคียงกับมาตรฐาน Rec.2020 และคิดว่าในอีกปีสองปีข้างหน้าก็ยังยากอยู่ที่จะไปถึงมาตรฐานนี้ แต่มาตรฐานDCI P3ที่ใช้เป็นมาตรฐานในโรงภาพยนต์อยู่แล้วน่าจะดูมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งทางUHD Allianceในขณะนี้ก็ได้ตั้งความต้องการพื้นฐานของทีวีไว้ว่าต้องสามารถแสดงสีได้กว้างมากกว่า 90% ของ DCI P3 color space

การมีHDRและWCG ยิ่งเพิ่มความสวยงามของภาพเนื่องจากทำให้ภาพที่ออกมาใกล้เคียงกับภาพจริงๆที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ในธรรมชาติ UHD/HDRที่มีในปัจจุบันจะพยายามทำให้การแสดงสีมีความกว้างขึ้น มีอัตราความเปรียบต่าง(contrast ratio)สูงขึ้น สามารถไล่รายละเอียดของสีที่มากกว่าจุดที่มืดที่สุดได้ละเอียดมากขึ้นแม้ว่าภาพนั้นจะเป็นฉากที่มืดๆก็ยังสามารถไล่สีได้ดี และมีความสว่างสูงสุดที่จอจะทำได้มากขึ้น นับว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาของโปรเจคเตอร์ของhome theaterในท้องตลาดปัจจุบันที่ยังทำความสว่างได้ไม่สูงพอ ตาของมนุษย์สามารถจับความมืดของแสงได้น้อยที่สุดคือหนึ่งในล้านnit(หน่วยที่ใช้วัดความสว่างแบบหนึ่ง เมื่อเทียบกับการวัดหน่วยfoot-lambert, 1ft-Lก็จะเท่ากับ 3.426nits) จนถึงสว่างที่สุดประมาณ 100ล้านnits นับว่ายังห่างไกลจากจอภาพในปัจจุบันที่จะสามารถทำได้ขนาดนั้น

แต่แนวโน้มในอนาคตก็คงต้องพยายามให้ใกล้เคียงกับภาพธรรมชาติที่เราสามารถมองเห็นได้เพื่อให้ภาพที่ออกมาจากจอภาพมีความใกล้เคียงกับภาพจริงๆที่เราเห็นกันอยู่มากที่สุด แผ่น4K Ultra HD บลูเรย์ในปัจจุบันทำมาจากต้นฉบับที่มีความสว่างอยูที่1,000-1,200nits หรืออาจจะสว่างมากถึง4,000nits ขึ้นอยู่กับจอmonitorที่ใช้ในงานpost production สำหรับภาพยนตร์ 4K UltraHDบลูเรย์ที่พบในท้องตลาดปัจจุบันเกือบทั้งหมดทำต้นฉบับระบบ HDR10 ส่วนต้นฉบับDolby Visionจะใช้จอmonitorของเขาเองมีความสว่างสูงถึง 4,000nitsแลใช้ระบบความละเอียดระดับ 12bitที่ทำให้ภาพออกมามีคุณภาพมากกว่า 10-bit UHD/HDR แต่อย่างไรก็ตามจอภาพณ.ขณะนี้ในท้องตลาดที่เราใช้ๆกันอยู่ส่วนมากก็ยังทำความสว่างได้ไม่ถึง 2,000nitsกันอยู่เลย

ซึ่งอนาคตในช่วงสองสามปีต่อจากนี้ไปถ้าอยากให้ภาพHDRออกมามีคุณภาพสวยงามความสว่างของจอทีวีควรจะต้องสามารถแสดงความสว่างได้อย่างน้อย1,000nitsขึ้นไป ถ้าเปรียบเทียบกับระบบเสียงก็เหมือนกันกับระบบมีกำลังสำรองมากเพียงพอ อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าให้จอมีความสว่างๆมากๆตลอดนะครับมันหมายถึงทำให้มีแสงเหลือๆเพื่อแสดงภาพแบบSpecular Highlightsได้ เพราะจะทำให้คนทำหนังสามารถใส่เนื้อหารูปภาพที่มีความสว่างมากๆที่พบในชีวิตประจะวันลงไปได้เช่นภาพแสงแดดลอดมาตามแนวต้นไม้ ภาพที่สะท้อนกับความมันวาวของรถ หรืออย่างเช่นมีฉากแสงสะท้อนจากลำกล้องบนปืนไกลๆ แว้บเข้าตา มันทำให้เป็นจุดสนใจ และรู้ว่ามีอะไรสะท้อนแสงอยู่ไกลๆเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ภาพที่ปรากฏอยู่บนจอมีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติ สมจริงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้การใส่พวกSpecular Highlightsลงไปในฉาก คนทำภาพที่เก่งๆก็คงไม่ได้ใส่เยอะมากจนทำให้สว่างจนปวดแสบตา เอาแค่เสริมให้กับความสมจริงสมจังของภาพเท่านั้น เพื่อเพิ่มความสมจริงของภาพ ทั้งยังเพิ่มระดับความอิ่มตัวของสีให้สามารถทำความกว้างของเฉดสีได้มากใกล้เคียงRec.2020/DCI/P3ตามที่ UltraHD/HDR Blu-rayถูกสร้างมา

แต่ก็ถือได้ว่าในปัจจุบันนี้แผ่น 4K UltraHD Blu-rayก็ยังให้ภาพที่เหนือกว่าระบบstreaming 4K ไปตามบ้านพวกVideo on Demandต่างๆ เนื่องจากการต้องย่อข้อมูลต่างๆเพื่อให้สามารถออกอากาศส่งไปได้ง่ายดายมากขึ้น แต่ในขณะที่แผ่น4K UltraHD Blu-rayสามารถส่งข้อมูลในระดับ50Mbps ถึง 1Gbps เพื่อกำหนดค่าcontrast, luminance และcolor gamutโดยเฉพาะ ส่วนถ้าเพิ่มในเรื่องHDRเข้าไปอีกไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ว่าจะเป็น HDRแบบ 10-bit หรือ 12-bit ล้วนแต่ต้องใช้อัตราการส่งข้อมูลหรือbandwidthที่สูงขึ้นอีกเป็นอย่างมาก ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญถ้าต้องซื้อจอ 4K UltraHDเพื่อให้ได้ภาพความละเอียดระดับUltraHDให้ดีที่สุดก็คือระบบต้องรองรับHDR(contrast) และWCG(color gamut) เนื่องจากการที่มีcontrastสูงมากขึ้นก็จะทำให้ภาพทีความดูสมจริงมากขึ้นเนื่องจากภาพที่มีความกว้างของการแสดงผลจากจุดที่มืดสุดไปยังสว่างสุดมีความกว้างมากใกล้เคียงกับความกว้างของcontrastในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น(ถึงแม้จะยังอีกห่างไกล) ส่วนความกว้างของสีมากขึ้นก็ทำให้จอสามารถแสดงสีของภาพได้มากขึ้น ดังนั้นสองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาจอภาพไม่ว่าจะเป็นจอทีวีหรือจอโปรเจคเตอร์เพื่อให้ภาพที่ออกมาใกล้เคียงกับภาพจากธรรมชาติยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโปรเจคเตอร์ที่ต้องมีการฉายไปยังจอรับภาพแล้วสะท้อนแสงออกมา ซึ่งถ้าต้องการให้ได้ภาพHDRแบบคุณภาพนั้น เครื่องฉายต้องมีกำลังมากขึ้นกว่าเดิมสมัยHDธรรมดา ส่วนแสงที่สะท้อนมาจากผนังต่างๆก็จะส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพของภาพจากจอรับภาพเพราะยิ่งมีแสดงสะท้อนจากผนังออกมามากๆก็จะกระทบต่อระดับความดำหรือblack levelsทำให้contrastของภาพทำให้ลดลง ดังนั้นถ้าจะตัดสินใจเลือกใช้จอภาพแบบโปรเจคเตอร์ต้องคำนึงถึงเรื่องวัสดุที่ใช้ทำจอภาพว่าให้การสะท้อนแสงได้ดีขนาดไหน, แสงจากสิ่งแวดล้อมรอบๆว่าควบคุมได้ขนาดไหน acoustics treatmentต่างๆปิดทับด้วยวัสดุไม่สะท้อนแสงหรือเปล่า และการคำนึงถึงตำแหน่งนั่งดูเพื่อให้ได้ความสว่างของภาพมากที่สุดจากจอรับภาพ(half-gain angles)

ปีต่อไปกระแสของจอทีวีแบบ OLED (Organic Light-Emitting Diode) ยังแรงต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพของภาพที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีLEDแบบเดิม ทั้งยังสามารถทำให้บางมากอย่างเช่นทีวี OLEDของ LG W7Tที่บางเพียงแค่ 2.57มิลลิเมตร โดยตัวทีวีตัวนี้ผมได้ไปลองยกลองถือมาแล้วเรียกได้ว่างอได้โดยไม่มีปัญหาเลย นอกจากนี้การบริโภคพลังงานไฟฟ้าของOLEDก็น้อยกว่าLEDทั่วไป มุมการรับชมภาพก็กว้างกว่า แต่ราคาก็ยังสูงอยู่บ้างเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีใหม่อีกตัวที่ออกมาก็คือ QLED(Quantum dots-LED)ที่ถูกสนับสนุนโดยSamsungพี่ใหญ่ของวงการทีวี ซึ่งจะชูข้อได้เปรียบในเรื่องความสว่างที่สูงมาก ทำให้สามารถเอาไปดูในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงสว่างมากๆได้ดีกว่าOLED และไม่มีการburn-inของหน้าจอ แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพของภาพในห้องที่มืดหน่อยก็ยังเป็นรองOLEDอยู่ ซึ่งในปีนี้ก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวจะมีการพัฒนากันรูปแบบไหน อย่างไรกันบ้าง

เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง รวมถึงเทคโนโลยีระบบภาพก็เช่นเดียวกันที่ในแต่ละปีก็จะมีความก้าวหน้าใหม่ๆเกิดขึ้นมาตลอด การติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องจะทำให้เราก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอถึงแม้จะไม่ได้ตามซื้อสินค้าเหล่านี้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ แต่ถ้าเรามีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี การซื้อต่อไปในอนาคตจะได้ไม่ผิดพลาด ดังนั้นติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีด้านภาพและเสียงได้ทางนิตยสารAudiophile/Videophile หรือทางสื่อออนไลน์ของทางนิตยสารได้ตลอดครับ Stay Tuned.