Review

Search

BenQ V7050i

เมื่อหลายเดือนก่อนผมได้รีวิวเลเซอร์โปรเจคเตอร์แบบUltra Short ThrowของBenQรุ่นV6000 ตอนนี้ทางBenQได้ออกรุ่นใหม่มาติดๆชื่อรุ่นว่า V7050i ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่ารุ่นใหม่นี้มีอะไรต่างจากรุ่นเดิมตรงไหนบ้างทำไมถึงได้ออกมาใกล้กันแบบนี้ มาติดตามกันครับ

จากกล่องที่ส่งมาให้ดูคร่าวๆก็จะเห็นว่าขนาดใกล้เคียงกับกล่องเดิม เพิ่มเติมคือมีขอบกันกระแทกตามขอบของกล่องที่ทำให้แข็งแรงขึ้น

แกะกล่องออกมาดูก็พบกับความแตกต่างอย่างแรกกับรุ่นเดิมก็คือในรุ่นใหม่นี้จะมีแท่งAndroid TV dongleหรือที่บางคนเรียกว่าAndroid Stickมาให้ด้วย

โดยตัวAndroid TV dongleจะทำให้เป็นSmart Projectorสามารถเข้าถึงcontentที่น่าสนใจต่างๆไม่ว่าจะเป็นGoogle Play Store, YouTube, เกมต่างๆมากมาย และยังสามารถติดตั้งAppsเพิ่มเติมได้หลายพันappsที่มีอยู่ นอกจากนี้ก็ยังสามารถcastหนัง เกม รายการทีวี เพลง รายการกีฬา และอีกหลายๆอย่างจากทั้งระบบ Android, iOS, Mac, ChromebookหรือChrome Browser

รีโมทมีมาให้สองตัวตัวแรกใช้ควบคุมFeatureต่างๆของโปรเจคเตอร์ ส่วนรีโมทตัวเล็กใช้ควบคุมAndroid TV สามารถใช้ควบคุมตัวโปรเจคเตอร์บางส่วน และยังสามารถเป็นVoice Search/Assistantโดยการกดปุ่มนี้ค้างไว้แล้วพูดใส่บริเวณส่วนหัวของรีโมท เพื่อใช้เสียงช่วยในการค้นหาและควบคุมAmazon Alexa และ Google Assistant

ตัวเครื่องของBenQ V7050iจะเป็นสีดำด้าน ถ้าสีขาวจะเป็นรุ่นV7000i ขนาดของเครื่องอยู่ที่ 500(W) x 388(D) x 157(H) mm น้ำหนัก 10Kg ด้านหน้าจะเป็นลำโพง 5Wx2ที่ปรับจูนVirtual surround soundโดยtreVolo

เทคโนโลยีการกำเนิดภาพใช้ชิป DMD Single Chip DLP 0.47” ให้ความละเอียดของภาพ 3840×2160 4K UHD สำหรับแหล่งกำเนิดแสงจะใช้เลเซอร์ เนื่องจากเป็นแสงที่มีCoherentสูง มีความเป็นระเบียบ ทิศทางแน่นอน ทำให้มีความเข้มของแสงสูง ป้องกันการกวนของแสงจากสิ่งแวดล้อมได้ดี จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในบ้านหันมาใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์กันเยอะมากขึ้น ที่จะมีข้อดีตามข้างต้นแล้ว หลอดเลเซอร์ก็มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลายหมื่นชั่วโมง หมดปัญหาเรื่องการดูแลรักษา และการจัดการเรื่องความร้อนก็ทำได้ดีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยความสว่างของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ทางบริษัทแจ้งไว้ที่ 2,500 ANSI Lumens

ด้านข้างจะมีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่เพื่อระบายความร้อนที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ ส่วนด้านท้ายก็มีช่องUSB Type-A อยู่2port โดยportตัวล่างใช้ต่อเพื่อควบคุมAndroid TV dongle

ด้านหลังจะมีช่องต่อHDMIสองช่อง โดยช่องที่สองสามารถใช้ต่อAudio Returnได้ นอกจากนั้นก็จะมีSB TYPE-A, RS-232 และช่องต่อสัญญาณเสียงออกแบบSPDIFอีกอย่างละช่อง

โดยทางBenQแนะนำให้เชื่อมต่อAndroid TV Dongleกับช่องHDMI1และUSB Type-Aที่ด้านข้างของเครื่องเท่านั้น ถึงแม้ด้านหลังจะมีช่องUSBอยู่เช่นเดียวกัน

จัดเครื่องเข้าที่เพื่อทำการทดสอบ โดยจอที่ใช้ในการทดสอบก็ใช้จอเดิมที่ผมใช้ประจำได้แก่ Stewart FireHawk G5 ตัวจอมีPeak Gainอยู่ที่1.1 ค่าAmbient Light Rejection Valueอยู่ที่ 73% ซึ่งถ้าจะนำไปใช้ในห้องแสงปกติทางBenQแนะนำจอกลุ่มALR(Ambient Light Rejection Screen)ที่มีค่าAmbient Light RejectionหรือAbsorption สูงๆเช่นมากกว่า 95%ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้แสงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมถูกตัดออกไปทำให้ภาพออกมามีความสว่างมากยิ่งขึ้น

ขนาดความใหญ่ของภาพขึ้นอยู่กับการวางโปรเจคเตอร์ห่างจากจอเท่าไหร่ เช่นถ้าต้องการความใหญ่ของจอภาพที่ 120นิ้ว ก็ต้องวางเครื่องโปรเจคเตอร์ห่างจากจอภาพประมาณ 13นิ้ว

การติดตั้งUltra Short Throw projectorของ BenQนั้นทำได้ง่ายดายเพียงแค่ขยับความห่างขอเครื่องออกจากจอตามขนาดจอตามที่เราต้องการ ส่วนการจัดการเกี่ยวกับKeystoneของภาพที่เป็นปัญหาของโปรเจคเตอร์เหล่านี้ก็จะถูกปรับเองแบบอัตโนมัติ เสร็จแล้วก็ปรับค่าFocusอีกเล็กน้อยเพื่อให้ภาพที่ออกมามีความคมชัดทุกตำแหน่งของภาพแค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

หลังจากเปิดดูหนัง ดูทีวี ไปประมาณ40-50ชั่วโมงก็เริ่มทำการCalibration อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดค่าต่างๆได้แก่Murideo Six-G เป็นpattern generator เครื่องวัดภาพcolorimeterเป็นKlein K10-A ส่วนspectroradiometerจะเป็นJeti Spectraval1511 ปรับภาพผ่านโปรแกรม Calman Video Pro แผ่นที่ใช้ปรับภาพHDRได้แก่แผ่น HDR-10 UHD Test Patterns จาก Diversified Video Solutions

Presetของpicture modeในโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีหลายตัวด้วยกันได้แก่ Bright, Bright Cinema, FILMMAKER MODE, DCI-P3, User ส่วนถ้าเป็นภาพแบบ4K HDRก็จะมีpicture modeให้เลือกระหว่า HDR10และFILMMAKER MODE ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถเลือกใช้picture modeได้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างในตารางที่แสดงนี้ผมปรับจาก User Modeเพื่อให้สามารถปรับค่าต่างๆได้อย่างเต็มที่ไม่ได้ถูกล็อคค่าบางอย่างไว้ รายละเอียดค่าที่ปรับก็จะอยู่ในตารางส่วนบน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าถ้าไม่ปรับอะไรมาเลยสีตั้งต้นก็จะติดสีฟ้าตั้งแต่ส่วนมืดจนถึงส่วนสว่าง แต่เมื่อทำการFully Calibrationแล้ว ค่าต่างๆก็จะใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และถ้าเป็น FILMMAKER MODE ก็จะมีความใกล้เคียงของสีกับมาตรฐานมากกว่านี้แต่ความสว่างอาจลดลงบ้างเล็กน้อยเนื่องจากถูกออกแบบให้ใช้ในการดูในห้องที่แสงรบกวนน้อยเหมือนในโรงภาพยนตร์

วัดค่าความกว้างของเฉดสีในpicture mode-DCI-P3 มีการครอบคลุมสีแบบP3อยู่ที่ 96.95 ส่วนRec 2020อยู่ที่70.89%

เมื่อปรับภาพเรียบร้อยก็เริ่มลองดูภาพจริงดูบ้าง ภาพจากcontentในYouTube ภาพที่ออกมาให้ความสว่างสดตามสไตล์DLP Laser ภาพมีความคมชัด รายละเอียดดี เมื่อลองเปิดไฟดาวน์ไลท์ในห้องของผมดูทุกดวงพบว่าภาพก็ยังสู้แสงได้ contrastของภาพยังดีไม่มีการwash-outให้เห็นแบบเด่นชัดแต่อย่างใด สำหรับAndroid TV Dongleก็ยังสามารถแสดงภาพHDRบนแอปYouTubeได้

เมื่อเทียบกับตัวเดิมBenQ V6000i ที่เคยทดสอบไว้ รุ่นใหม่BenQ V7050iจะให้ภาพที่ดำ ภาพมีcontrastที่ดี สีสันมีความเข้มอิ่มตัวมากกว่าเดิม ความถูกต้องแม่นยำของสี มิติของภาพทำได้ดีกว่า ถึงแม้ความสว่างอาจเป็นรองตัวเดิมอยู่บ้างเล็กน้อย

เดี๋ยว….เดี๋ยว…..น้อง แซ-บยอก ว่าไงนะ!

เมื่อลองยกเครื่องมาฉายในห้องที่มีแสงธรรมชาติส่องมาตรงๆจากหน้าต่าง ถึงแม้ไม่ได้ใช้จอตัดแสงสิ่งแวดล้อมแบบจอALR ภาพที่ออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ก็ยังถือว่าสู้แสงได้ดี

ในส่วนของการทดสอบดูหนังแบบ4K Ultra HD HDRผมได้ลองกับภาพยนตร์เรื่องShawshank Redemption บางคนอาจจะแปลกใจว่าไปลองภาพกับหนังเก่าทำไม ผมต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้พึ่งได้ถูกนำมาทำRemasterใหม่เป็นแบบ 4K โดยขั้นตอนการtransferจากฟิล์ม 35มม.เป็นDigitalนั้นทำได้ดีมาก ไม่มีเส้นหรือartifactต่างๆที่มักพบบ่อยๆในการtransferจากฟิล์มลงแผ่นเลย noiseของภาพน้อยมาก ภาพมีความคมชัด สีสันสวยงาม เรียกได้ว่าหนังใหม่ๆที่ถ่ายทำแบบDigitalบางเรื่องนี่อายไปเลย โดยส่วนของภาพนั้นผมว่าเป็นหนึ่งในหนังฟิล์มที่ทำการRemasterใหม่ลงแผ่นได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมาทีเดียว ใครไม่ยังไม่ได้ดูจากตัวRemasterใหม่นี้ลองหามาดูกัน ถึงแม้เรื่องของเสียงอาจจะไม่เท่าไหร่เพราะยังเป็นDTS-HD 5.1เหมือนตัวที่เป็นBlu-ray 1080p แต่ด้วยเนื้อหาของหนัง การแสดงของนักแสดง และเรื่องของภาพนี่สุดยอดจริง ขอแนะนำเลยครับ

ถ้าจำกันได้หนังเรื่องShawshank Redemption ฉายเมื่อปี พ.ศ.2537 ได้เข้าชิงรางวัลOscar 7สาขา รวมถึงสาขาBest Cinematographyด้วย เรื่องภาพของหนังเรื่องนี้จึงน่าสนใจมาก การใช้FILMMAKER MODE จึงเหมาะสมมากที่จะใช้ดูหนังประเภทนี้

สิ่งที่ทำให้BenQ V7050iเหนือกว่าโปรเจคเตอร์ตัวเดิมอย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือการมีFILMMAKER MODE ซึ่งโหมดนี้เหมาะสมที่สุดในการดูหนัง เนื่องจากจะถ่ายทอดสีสัน contrast ได้ใกล้เคียงกับที่คนสร้างหนังทำมามากที่สุด แต่แนะนำให้ดูในห้องที่สภาพแสงไม่สว่างมากนักเพื่อให้ภาพออกมาใกล้เคียงกับภาพจากโรงภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ในห้องที่มีสิ่งแวดล้อมเกือบมืดสนิท

ความคมชัด รายละเอียดต่างๆของภาพที่มาจากเครื่องโปรเจคเตอร์BenQ V7050iนั้น ทำได้โดดเด่นทีเดียว

เห็นว่าตอนนำมาทำRemasterของหนังเรื่องนี้เป็น4K HDRได้มีการgradingสีใหม่จากอันเดิมที่เคยทำไว้ในแผ่นBlu-ray 1080p ถ้าใครเคยกลับไปดูแผ่นเก่าจะเห็นว่าสีจะออกแนวสดๆ แต่ตัวใหม่นี้สีจะออกโทนเย็นๆฟ้าๆ เพื่อให้เข้ากับThemeของหนังที่จะเป็นแนวดราม่า

การไล่สีในฉากมืดFILMMAKER MODE ของBenQ V7050i ทำได้ดี มีการไล่สีที่smooth นุ่มนวลแต่ยังคงรายละเอียดของภาพไว้ได้ นอกจากนี้ผมได้ลองเปิดหนังอีกหลายเรื่องโดยใช้modeนี้เทียบกับmodeอื่นๆของโปรเจคเตอร์พบว่าmodeนี้ให้คุณภาพของภาพ contrast ความแม่นยำของสีที่น่าประทับใจกว่าmodeอื่นๆ ดังนั้นใครชอบดูหนังขอแนะนำmodeนี้เลย

หลังจากได้ลองใช้โปรเจคเตอร์แบบUltra Short Throwของ BenQ V7050i โปรเจคเตอร์ที่ล่าสุดได้รับรางวัล EISA AWARD ประเภทBest Product 2021-2022ของLaser TV Projection System ก็พบว่าโปรเจคเตอร์เลเซอร์ 4K ตัวนี้มีความคุ้มค่าดีมาก กับราคาของโปรเจคเตอร์ที่ตั้งไว้139,000บาท ทั้งมีระยะการใช้งานที่ยาวนานกว่า 20,000ชั่วโมง มีการจัดวางที่ง่ายไม่ต้องใช้เนื้อที่มาก เหมาะสมกับบ้านหรือห้องที่มีพื้นที่จำกัดแต่ต้องการจอภาพที่มีขนาดใหญ่กว่า120นิ้วโดยยังคงคุณภาพของภาพที่ออกมา นอกจากนั้นยังมีFilmmaker modeเพื่อใช้ในการดูภาพยนตร์โดยเฉพาะ ทำให้ภาพออกมาถูกต้องสวยงามเหมือนดั่งที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังต้องการให้ผู้ชมได้ดูกัน ใครสนใจโปรเจคเตอร์ตัวนี้สามารถพิสูจน์คุณภาพของภาพจากตาตัวเองได้แล้ววันนี้จากตัวแทนของBenQทั่วประเทศ ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณบริษัทBenQ ประเทศไทย ที่นำโปรเจคเตอร์ตัวนี้มาให้ทดสอบด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ BenQ V7050i (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้