JVCได้เปิดตัวโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ ที่มีชื่อว่ารุ่นNZ700 รุ่นนี้เป็นรุ่นถัดจากรุ่นใหญ่สองรุ่นคือNZ900และNZ800ที่ได้เปิดตัวก่อนเมื่อหลายเดือนที่แล้ว รุ่นนี้มีการออกแบบตัวเครื่องใหม่หมดตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกรวมไปถึงประสิทธิภาพด้านในเครื่อง วันนี้มาเจาะลึกดูว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีทีเด็ดตรงไหนบ้างตามมาดูกันครับ

คุณสมบัติพื้นฐานของโปรเจคเตอร์DLA-NZ700 นั้นเป็นโปรเจคเตอร์เลเซอร์แบบใช้ชิป3ชิป เป็นNative 4Kที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลอยู่ที่ 4096×2160 แหล่งกำเนิดแสงเป็นBlu-Escent laserเช่นเดียวกับรุ่นใหญ่ และที่สำคัญใช้ชิปD-ILAตัวใหม่ที่เป็นGen3 เช่นเดียวกับรุ่นพี่NZ800 และรุ่นNZ900อีกด้วย ความสว่างที่แจ้งไว้ที่ 2300Lumen Native contrastอยู่ที่ 80,000:1 รองรับระบบHDRทั้ง HDR10, HDR10+ , Hybrid log-gamma พร้อมทั้งมีFilmmaker ModeTM เพื่อให้ได้สัมผัสภาพทั้งภาพยนตร์และสารคดีใกล้เคียงตามmasterต้นฉบับมากที่สุด สำหรับราคาของโปรเจคเตอร์NZ700ตัวนี้ราคาตั้งอยู่ที่ 339,900บาท

แกะกล่องโปรเจคเตอร์ออกมาก็จะเจออุปกรณ์อยู่ประมาณนี้ มีสายไฟหัวแบบต่างๆ ถ่ายไฟฉาย รีโมท คู่มือการติดตั้ง

รูปร่างทั่วไปของโปรเจคเตอร์ NZ700 นั้น ถือได้ว่าทางJVCได้ออกแบบใหม่หมด ตั้งแต่โครงเครื่อง ตัวถังแบบใหม่ ซึ่งตอนนี้ถือได้ว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้เป็นโปรเจคเตอร์แบบNative 4Kที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยมีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 45×18.1×47.9เซนติเมตร น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 14.8กิโลกรัม ถ้าเทียบกับรุ่นเดิมอย่างNZ7นั้นขนาดลดลงถึง35%กันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าโปรเจคเตอร์ขนาดเล็กแบบนี้มีความยืดหยุ่นในการติดตั้งได้ดี หาที่วางได้สะดวก หรือจะแขวนไว้ก็ดูไม่แกะกะสายตา

ด้านหลังเครื่องช่องต่อก็มีเท่าที่จำเป็นได้ใช้ จะมีช่องต่อHDMI ชนิด2.1จำนวนสองช่อง, มีช่องRJ-45ต่อสายLANเพื่อควบคุมเครื่อง, ช่องUSB สำหรับอัพเดทfirmwareและbackup

ด้านหน้าของเครื่องถ้ามองเข้าไปจะเห็นพัดลมระบายความร้อนสองตัวโดยการระบายความร้อนของรุ่นนี้จะไม่เหมือนรุ่นเดิมโดยหมุนเวียนอากาศเพื่อระบายความร้อนเข้าจากด้านหน้าและระบายลมร้อนออกจากด้านหลังเครื่อง ซึ่งแบบนี้ผมชอบมากเพราะผมเห็นโปรเจคเตอร์หลายตัวที่ระบายความร้อนออกหน้าเครื่องแล้วจะทำให้ลมร้อนผ่านหน้าเลนส์ส่งผลต่อภาพบนจอทำให้เห็นภาพเป็นคลื่น โดยเฉพาะห้องที่เปิดแอร์เย็นๆ สำหรับความดังของพัดลมก็ไม่ถือว่าดังมาก การดูในโหมดปกติก็จะมีความดังอยู่ที่ 23dBเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ผมดูหนังทั่วไปเสียงพัดลมก็ไม่ได้รบกวนการดูแต่อย่างไร

เลนส์ด้านหน้าใช้เลนส์ขนาด 80มิลลิเมตร โดยจะมีชิ้นเลนส์ 15ชิ้นแบ่งเป็น11กลุ่ม โดยจะเป็นเลนส์ที่ออกแบบสำหรับnative 4Kโดยเฉพาะ เพื่อให้ภาพ4Kที่ออกมาคมชัดทั่วทั้งภาพ จากมุมถึงมุม ตัวเลนส์สามารถกดรีโมทปรับfocus, shift, zoom โดยมอเตอร์ได้เลย โดยสามารถshiftsเลนส์ได้ 70%ในแนวดิ่ง และ28%ในแนวระนาบ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีฝาปิดเลนส์เข้ามาเปิดปิดอัตโนมัติเมื่อเปิดปิดเครื่อง

ตัวเลนส์ได้ออกแบบใหม่ โดยมีเลนส์แก้วเป็นหลักและเสริมด้วยเลนส์แบบพลาสติก polymerเพื่อประโยชน์ในเรื่องของราคาและทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลงตามต้องการ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าการใช้เลนส์พลาสติกจะทำให้ความคมของภาพ และทำให้เกิดartifactต่างๆหรือเปล่า แต่ที่ผมดูคุณภาพของภาพก็ปกติ ภาพให้ความคมชัดรายละเอียดดีมาก โดยส่วนตัวผมว่าเหมาะสมเลยกับการใช้พลาสติกเป็นเลนส์ในบางตำแหน่งที่จำเป็น เพราะเทคโนโลยีของ polymerในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเดิมมาก การใช้เลนส์แบบนี้นอกจากจะลดงบตรงส่วนนี้เพื่อนำงบไปเพิ่มfeatureในส่วนอื่นแล้ว การใช้เลนส์polymerทำให้เครื่องที่ผลิตออกมามีvariationน้อยเนื่องจากควบคุมการผลิตได้ง่ายกว่า ลดdefectที่เกิดจากการเจียรเลนส์แก้ว เพราะถ้าใช้เป็นเลนส์แก้วทั้งหมดแล้วมีการควบคุมการผลิตชิ้นเลนส์แต่ละชิ้นไม่ดี โอกาสที่จะเจอเครื่องที่มีความผิดปกติของภาพจากเลนส์แก้วก็เป็นไปได้็นไปได้สูงกว่า

เมื่อทำการติดตั้งจัดวางเครื่องโปรเจคเตอร์เรียบร้อยก็ทำการต่อสายHDMI โดยในการทดสอบนี้ผมใช้สายHDMIของTHX(Pixelgen) เข้าที่ช่องต่อHDMIแบบ2.1ที่รองรับการส่งข้อมูลความเร็ว 32Gbps ทำให้สามารถส่งภาพที่มีความละเอียดระดับ 4K/60pได้

เมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์JVCรุ่นเดิมที่ยังไม่ได้เป็นNative 4K ขนาดก็ยังดูกะทัดรัดกว่า เมื่อจัดวางและเชื่อมต่อportต่างๆเรียบร้อยจึงเปิดเครื่องเพื่อทดสอบโดยยังไม่ไปเปลี่ยนค่าใดๆ ตั้งค่าเป็นAutoตามที่เครื่องตั้งไว้ สิ่งแรกที่เป็นfirst impressionของโปรเจคเตอร์Z700ตัวนี้ก็คือเรื่องรายละเอียด ความคมของภาพ ภาพดำลึก สีสวยเข้มตามSignatureของJVC ทดสอบภาพจากtest patternแบบต่างๆทั้งSDR, HDR10, HDR10+ จากsourceต่างๆทั้งเครื่องเล่นBlu-ray, เครื่องmedia player, apple TV, Android box ฯลฯ ไม่มีพลาดเลย และเมื่อทดสอบภาพเบื้องต้นจนburn inเกินสามสิบกว่าชั่วโมงแล้วผมจึงเริ่มทำการfully calibration

การcalibrationก็ใช้ตัววัดSpectrophotometerของJetiรุ่นspectraval1511 ทำprofileให้ColorimeterของKleinรุ่นK-10A ใช้Murideo Seven-G 8Kเป็นPattern Generator ฉายบนจอภาพStewart FireHawk G5 เกนภาพ1.1 ฉายในอัตราส่วนภาพ 16:9 ที่ขนาด120นิ้ว

โปรแกรมใช้Calman Video Proของportrait displaysในการcalibrateทั่วไป และใช้โปรแกรมColourSpaceของLight Illusionในการทำ 3D LUT

การCalibrationในส่วนของภาพแบบ SDR rec.709ใช้picture mode Natural, ใช้Color ProfileแบบNormal เนื่องจากprofileนี้จะไม่ได้ใส่filterเข้าไปทำให้ได้ความสว่างสูงขึ้นมา แต่ถ้าเลือกProfileเป็นWideเครื่องจะทำการใส่filterเข้าไปทำให้ color spaceกว้างขึ้น ความถูกต้องของสีก็จะใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้น แต่ต้องแลกกับความสว่างที่เสียไป JVCรุ่นใหม่ๆเดี่ยวนี้ก็ยังถือว่าไม่ได้เสียความสว่างไปมากเท่าไหร่จากการใส่filter ที่ผมวัดได้ถ้าเป็นnormalความสว่างสูงสุดจะอยู่ประมาณ 36fL เมื่อใส่เป็นwide ความสว่างจะลดลงมาเหลือ 29fL คร่าวๆก็ประมาณ 20% ผมจำได้ถ้าเป็นรุ่นเก่าของJVCนี่กินแสงไป 30-40%กันเลยสำหรับการใส่filter และดูจากความสว่างโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็ถือว่าเหลือๆสำหรับจอ 120นิ้ว นอกจากนั้นเครื่องก็ยังสามารถควบคุมความสว่างของlaserให้พอดีกับสถานการณ์ในแต่ละห้องได้ อย่างห้องผมต้องปรับความสว่างของlaserในเมนู LD powerให้เหลือแค่ 35% ความสว่างของภาพSDRถึงจะได้ 18fL ตามต้องการ ผมว่าถ้าปรับLD powerไว้ที่100%นี่ฉายจอ 200นิ้วได้สบาย แต่สำหรับภาพแบบHDR ผมแนะนำให้ตั้งไว้ที่ 100%ได้เลย เพราะภาพHDRยิ่งสว่างมากภาพยิ่งสวย และก็ดีหน่อยที่โปรเจคเตอร์สามารถตั้งค่าLD powerแยกได้ระหว่างภาพHDR และSDR ทำให้ไม่ต้องคอยมาปรับความสว่างเองทุกครั้งที่เปลี่ยนระบบภาพ

การครอบคลุมสีของDCI-P3จะอยู่ที่ 97% ในwide color profile แต่ถ้าเป็นnomal color profileจะลดลงมาอยู่ที่ 91.6% สำหรับสายเล่นเกมส์ถึงแม้เครื่องจะไม่มีGame modeมาให้ แต่ผมวัด Input lagภาพ4Kจากpicture modeปกติ วัดได้ 35ms ก็ถือว่าเล่นเกมส์ทั่วไปได้ไม่มีปัญหา

แต่ถ้าใครอยากให้ภาพมีสีสันที่แม่นยำขึ้นอีก การทำ3D LUTโดยใช้MadVR Envyก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการทำLUTผมตั้งPicture modeไว้ที่ SDR1 , Color Profileเป็น BT.2020(Normal) เพื่อไม่ต้องการให้เครื่องใส่filterเข้าไปลดแสง ซึ่งภาพที่ออกมาก็น่าประทับใจมาก








คราวนี้มาลองดูภาพที่ออกมาหลังจากได้ทำการCalibrationกันบ้าง ภาพนี้เป็นภาพแบบ4K HDR10 จากYouTube ในกล่องApple TV จากภาพต้องบอกว่าความดำของภาพจากโปรเจคเตอร์JVCนี่สุดมาก เป็นSignatureของเขาจริงๆ ยิ่งจอมีความมืดความดำเท่าไหร่ยิ่งช่วยขับสีสันของภาพให้โดดเด่น สวยงาม ส่วนรายละเอียดของภาพที่เป็นNative 4Kก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ภาพมีความคม แต่ไม่ใช่คมแบบขึ้นขอบจากการใช้โปรแกรมช่วย เป็นความคมชัดโดยพื้นฐานจากชิ้นส่วนOpticalจริง ทำให้ไม่หลอกตาดูเป็นธรรมชาติ



โปรเจคเตอร์ที่สว่างจะได้เปรียบมากในภาพยนตร์HDR เพราะความสว่างของภาพจะส่งผลให้ภาพHDRมีความสวยงาม ยิ่งถ้าได้เครื่องที่มีTone mappingดีๆภาพยิ่งให้ความสว่างความมืดได้สวยงาม สมจริงขึ้นไปอีก อย่างภาพจากหนังเรื่อง Tron: Legacy(2010) ในหนังจะมีเส้นสายของแสงสีขาว สีฟ้า สีแสด เยอะมาก การเล่นเส้นสายของแสงสีเหล่านี้ถ่ายทอดจินตนาการของผู้สร้างภาพยนตร์ว่ามีความคิดสร้างสรรค์ไปไกลขนาดไหน ได้โปรเจคเตอร์ดีๆสว่างๆ ดูหนังเรื่องนี้สนุกขึ้นไปอีกเยอะเลย



ภาพ4K HDR10+จากหนังเรื่อง 5lbs of Pressure (2024) โดยโปรเจคเตอร์JVC NZ700 รองรับภาพแบบ HDR10+ ที่มีTone mappingแบบDynamic ซึ่งเมื่อเลือกPicture Modeแบบ HDR10+ จะทำให้ไม่สามารถเลือกfunctionการปรับแต่งค่าแสง ค่าสี ในเมนูตามปกติได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภาพHDR10+ มีความมืด ความสว่าง มีสีสัน ในทุกๆฉากใกล้เคียงกับที่Directorสร้างมา ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพที่คนสร้างหนังต้องการให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงงานที่สร้างมาได้ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ใช่หนังแบบHDR10+ การเลือกใช้Picture Modeแบบ Filmmaker Modeก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน



ใครว่าภาพของโปรเจคเตอร์JVCให้สีที่เข้มเกินไป ผมว่าไม่จริงนะ มันขึ้นกับการcalibrationและcontentที่นำมาเปิดมากกว่า อย่างภาพยนตร์เรื่อง Wicked(2024) JVC NZ700 ถ่ายทอดสีของภาพที่ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก ทั้งสีผิวของคน สีของฉาก สีเครื่องแต่งกาย ต่างถูกคุมโทนตามThemeของเนื้อหาของภาพยนตร์ ซึ่งJVCก็ทำภาพออกมาสวยงาม เป็นธรรมชาติ ดูหนังแล้วมีความsmooth ได้อารมณ์คล้อยตามตามเนื้อเรื่องของภาพยนตร์

ถ้าเทียบราคากับคุณภาพแล้วโปรเจคเตอร์ JVC DLA-NZ700 ถือว่าเป็นโปรเจคเตอร์ที่หาคู่แข่งยากมากในตอนนี้ เพราะว่าเป็นโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ที่ทางJVCออกแบบใหม่เกือบหมด ได้เปรียบในเรื่องขนาดที่เล็ก สะดวกในการจัดวาง ภาพที่ออกมายังคงให้จุดเด่นแบบJVCได้อย่างครบถ้วนทั้งในเรื่องContrastของภาพ ความสว่าง ความมืด สีสันที่ถูกต้อง ความละเอียดที่คมชัดเป็นธรรมชาติ Tone mappingที่แม่นยำ ไม่ผิดพลาด ผมว่าจะเป็นรองในรุ่นเรืองธงของทาง JVCก็ในเรื่องการเคลื่อนไหวของภาพ กับชิปประมวลผลภาพเท่านั้น ส่วนในเรื่องอื่นๆ คุณภาพไม่ได้ด้อยกว่ารุ่นใหญ่ของทางJVCเลย ตอนนี้ถ้าใครมาถามผมว่ามีงบอยู่ประมาณสามแสนบาท ต้องการโปรเจคเตอร์คุณภาพสูงเอาไว้เพื่อดูหนัง ดูทีวี ดูคอนเทนท์ ผมไม่ลังเลเลยที่จะแนะนำโปรเจคเตอร์ JVC DLA-NZ700 ตัวนี้ให้ ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัทDeco2000 ที่ส่งโปรเจคเตอร์มาให้ทดสอบในครั้งนี้ด้วยครับ