Review

Search

Stewart FireHawk G5 Review

ตั้งแต่เริ่มเล่นHometheaterมา ผมได้เปลี่ยนจอรับภาพจากโปรเจคเตอร์มาหลายตัว พอสมัยหนึ่งที่ความละเอียดสูงสุดของภาพอยู่ที่ 1080pก็มาใช้จอStewart FireHawk G3อยู่หลายปี และล่าสุดความละเอียดของภาพในปัจจุบันมาถึงระดับ 4Kกำลังจะไป8K ผมจึงได้เปลี่ยนมาใช้เป็นStewart FireHawk โดยเป็นเนื้อจอใหม่ล่าสุดของเขา ก็คือเนื้อจอแบบG5 ที่สามารถรองรับความละเอียดภาพได้ถึงระดับ 16K ทำไมผมถึงตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นเนื้อจอแบบนี้ แล้วลองใช้จริงๆคุณภาพของภาพที่ออกมาเป็นยังไงบ้าง ติดตามอ่านจากบททดสอบนี้ได้เลยครับ

จอภาพโปรเจคเตอร์ของStewart ที่อยู่ในSeries FireHawkเป็นจอที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากทั้ง THX และ ISF เรียกได้ว่าเป็นจอที่ออกแบบมาสำหรับลดแสงรบกวนรอบข้างโดยเฉพาะ(ambient light rejecting screens) ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการลดแสงรอบข้างขนาดนั้น คำตอบก็เพราะว่าสิ่งแวดล้อมในห้องhometheaterโดยทั่วไปจะไม่สามารถควบคุมแสงต่างๆเหล่านี้ได้อย่างหมดจดเหมือนในห้องสตูดิโอที่ทำมาโดยเฉพาะ เนื่องจากห้องสตูดิโอเหล่านี้ถ้าเน้นเรื่องภาพจริงๆผนังห้องรวมถึงเฟอร์นิเจอร์จะเป็นสีดำไม่สะท้อนแสง มีการควบคุมไม่ให้มีแสงเล็ดลอดจากภายนอกเข้ามาแม้แต่นิดเดียว แต่ในห้องhometheaterที่เราๆใช้กันอยู่ยังไงก็อาจจะมีการสะท้อนแสงบนผิวของพื้น ผนัง เพดานที่ไม่ได้มีสีดำทั้งหมด ในห้องก็จะมีอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่สะท้อนแสง โดยถ้ามีแสงสะท้อนหรือแสงเล็ดลอดจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เข้ามาแค่เพียงเล็กน้อยก็ทำให้ภาพบนจอถูกแสงรวบกวนกลายเป็นสีขาวจืดลง มองดูยากขึ้น ซึ่งบางคนก็แก้ไขโดยการเพิ่มbrightnessและcontrastของจอโปรเจคเตอร์มากขึ้น หรือใช้จอที่มีเกนสูงขึ้น ซึ่งการแก้ไขเหล่านี้อาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์และมีปัญหาอื่นตามมาได้ อย่างเช่นการจะเพิ่มbrightnessของโปรเจคเตอร์ให้สู้แสงได้เพียงพอนั้นต้องเร่งความเข้มของหลอดมากขึ้นทำให้อายุหลอดสั้นลง บางทีก็ทำให้เครื่องโปรเจคเตอร์มีความร้อนที่สูงขึ้น ส่วนภาพที่ได้ก็จะสูญเสียรายละเอียดในส่วนสีขาวและสีดำ(clipping and crushing) ดังนั้นการที่จะทำให้ได้ระดับสีดำ(black level)เหมือนในห้องที่มืดสนิทนั้นเป็นไปได้ยากมาก

วิธีที่น่าจะเหมาะสมในการแก้ไขแสงรบกวนจากภายนอก(ambient light) วิธีหนึ่งก็คือการเลือกใช้จอภาพให้ถูกต้อง โดยวิธีที่ใช้บ่อยๆก็คือเพิ่มความสว่างของภาพโดยใช้จอภาพที่เกนสูง(high gain screen) เพราะยิ่งจอภาพมีเกนที่สูงขึ้นก็จะสามารถสะท้อนแสงรวมมายังกึ่งกลางจอภาพได้มากขึ้น แต่ต้องระวังในเรื่องยิ่งคนดูขยับออกห่างจากแนวกึ่งกลางจอภาพภาพก็จะมืดลงอย่างรวดเร็ว หรือเวลานั่งตรงกลางก็จะมีจุดสว่างอยู่ที่กลางจอจุดเดียวบริเวณขอบจอก็จะมืด(hotspotting) ส่วนสีของภาพบางสีก็จะเพี้ยนไปด้วย ทำให้จอภาพประเภทนี้มีองศาการมองที่แคบ อีกอย่างหนึ่งของจอที่มีเกนสูงนี้ก็คือการใช้เทคนิคเคลือบจอด้วยเม็ดทรายที่เล็กมากๆ(speckle)เพื่อช่วยในการสะท้อนแสงจากโปรเจคเตอร์และลดแสงจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางทีก็จะทำให้การสะท้อนเห็นเม็ดทรายเล็กๆ(speckle effect) เนื่องจากว่าถ้าเจอแสงสว่างมากเกินไปก็จะทำให้เห็นความไม่สม่ำเสมอกันของแสงที่สะท้อนออกมาจากเม็ดเหล่านี้ แต่ส่วนมากก็จะเจอในฉากที่เป็นสีขาวสว่างมากๆเช่นฉากของหิมะเป็นต้น

นอกจากการใช้ในเรื่องของเกนจอภาพเพื่อสู้กับแสงสว่างจากสิ่งแวดล้อมแล้วอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้สีของจอภาพที่ต่างออกไป เช่น สีเทา สีเงิน หรือบางทีก็เป็นจอสีดำเลยก็มีแล้วแต่การออกแบบของแต่ละบริษัท โดยปกติยิ่งห้องมีแสงจากสิ่งแวดล้อมมากเท่าไรจอที่มีสีเข้มขึ้นก็สามารถรักษาระดับความดำของภาพ(black level)ได้ดีกว่า โดยจอสู้แสงจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะพยายามสะท้อนแสงที่มากระทบในมุมที่ไม่ได้ตั้งฉากกับจอออกไป เช่นแสงที่เข้ามาจากหน้าต่างข้างๆจอ ถ้าเป็นจอสู้แสงสีเทาที่เกนต่ำก็จะทำการดูดแสงเหล่านี้ ส่วนถ้าเป็นจอสู้แสงแบบเกนสูงก็จะสะท้อนแสงไม่ต้องการออกไปทางอื่นให้แสงจากเครื่องโปรเจคเตอร์ที่กระทบจอแบบตั้งฉากสะท้อนกลับมาหาคนดูอย่างเดียว แต่การใช้เทคนิคนี้ในการกำจัดแสงรบกวน โปรเจคเตอร์ที่ใช้ก็ควรมีพลังงานสูงหน่อยเพื่อให้ได้ความสว่างเทียบเท่ากับกับจอสีขาว โดยจอแบบนี้ก็ได้เปรียบในเรื่องของระดับความดำของภาพที่ดีกว่า

ลองมาดูจากกราฟของStewart FireHawk G5เทียบกับรุ่นเดิมที่ผมใช้คือStewart FireHawk G3 บางคนเห็นspecก็อาจจะตกใจว่าทำไมG5 มีเกนของภาพอยู่ที่ 1.1เองในขณะที่รุ่นเก่าอย่างG3ทำได้ถึง 1.25 แต่ถ้าลองพิจารณาจากกราฟให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าองศาการมองของG5 ทำได้กว้างกว่าG3 อย่างเช่นG5มีความสว่างลดลงครึ่งหนึ่ง(half gain) อยู่ที่ 35องศา ในขณะที่G3 มีhalf gainอยู่ที่30องศา ทำให้องศาการมองของG5อยู่ที่70องศาในขณะที่G3อยู่แค่ที่60องศา และถ้าดูให้ละเอียดลงไปอีกก็จะเห็นได้ว่าเนื้อจอG5จะรักษาค่าเกนได้ดีมากในช่วง 1-10องศาแรกที่พบว่าค่าเกนลดลงแค่เพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนกับG3ที่กราฟจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าถ้านั่งอยู่ในช่วงมุม10องศาความสว่างของภาพนั้นแตกต่างจากนั่งตรงกลางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภาพจำลองแสดงมุมองศาการมองของจอStewart FireHawk G5ที่กว้างอยู่ในระดับ 70องศา ทำให้ภาพที่ออกมามีความใกล้เคียงกันทั่วทั้งจอภาพ ลดความเพี้ยนของสีที่เกิดขึ้น และนอกจากนี้เนื้อจอใหม่G5ก็ได้แก้ไขปัญหาในเรื่องhot-spotting และspeckle effect ที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้วด้วย (ขอบคุณภาพจาก 4KProjectors.com ด้วยครับ)

หลังจากยกจอเดิมออกทีมงานช่างคุณภาพจากDECO2000ก็ดำเนินการเปลี่ยนจอใหม่ให้อย่างเรียบร้อย สวยงาม

สัดส่วนจอใหม่นี้เป็น2.35:1 ขนาด 150นิ้ว ในขณะที่จอเดิมของผมเป็น 1.78:1หรือที่เรียกว่า16:9 ความจริงความสูงของจอก็ขนาดใกล้เคียงกับจอเดิมที่เป็นขนาด 120นิ้ว แต่จอ2.35:1 นี้จะมีความยาวกว่าจอเดิม เหมาะกับดูภาพยนตร์ในอัตราส่วน 2.35:1 , 2.39:1, 2.40:1 เรียกว่าได้บรรยากาศเหมือนในโรงหนังดีมาก

ฉายภาพ 2.35:1 แบบเต็มจอ

สำหรับภาพแบบ 16:9 จากapple TV ก็จะมีขอบสีดำขึ้นด้านข้างไม่เหมือนกับการฉายหนัง 2.35:1 ลงบนจอ 16:9 ที่จะมีขอบสีดำขึ้นด้านบนด้านล่าง ถ้าสังเกตดูให้ดีภาพนี้ถ่ายshotเดียวขณะเปิดไฟจะเห็นได้ว่าแสงไฟดาวน์ไลท์จากด้านบนจอแทบจะไม่ส่งผลต่อภาพในจอเลย อย่างกับที่เขาว่าจอนี้เป็นจอช่วยลดแสงรบกวนรอบข้างจริงๆ

เมื่อทำการทดสอบภาพต้องบอกว่า พอเปลี่ยนจอ ฉายภาพลงไปครั้งแรกแล้วใช้โปรเจคเตอร์ตัวเดิมที่ใช้เป็นประจำก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของภาพเลย สีเมนูที่คุ้นเคยมีสีเข้มขึ้นอย่างชัดเจน ระดับความดำcontrastของภาพดีขึ้น สีขาวเป็นสีขาวที่มีการไล่ระดับได้อย่างsmooth เมื่อลองเปิดไฟทั้งห้องเพื่อดูภาพ แสงที่ปกติจะกวนคุณภาพของภาพที่จอพอสมควร ตอนนี้กลับพบว่ามีผลน้อยมากกับภาพบนจอ สำหรับเรื่องของhot spotting และความเพี้ยนของสีจากการดูด้วยตาก็ไม่พบ เมื่อนำเครื่องมือวัดค่าสีต่างๆก็ไม่เจอdelta Eหรือความเพี้ยนของสีที่เพี้ยนผิดปกติแต่อย่างไร ลองขยับที่นั่งข้างๆไปอีกสองที่จากตัวกลางก็ยังไม่พบความผิดปกติของภาพจนสายตาจับได้ ในเรื่องของspeckle effect เท่าที่ลองจับผิดดูโดยเปิดภาพที่ขาวสว่างมากลงไปพบว่ายังมีอยู่แต่ลดลงจากจอเดิมมากอาจจะเนื่องจากเป็นเนื้อจอที่ละเอียดสามารถรองรับภาพในระดับ 16Kได้ ทำให้เม็ดspeckleสะท้อนแสงมีขนาดเล็กลง ปรากฏการณ์speckle effectก็ลดลงไปด้วยโดยปริยาย

โดยสรุปแล้วจอภาพStewart FireHawk G5ถือว่าเป็นจอรับภาพโปรเจคเตอร์คุณภาพสูง ที่มีจุดเด่นในเรื่องป้องกันแสงสะท้อนจากสิ่งแวดล้อม โดยยังให้คุณภาพของภาพสูงตามมาตรฐานของStewartที่เป็นภาพในระดับอ้างอิงของวงการจอภาพ ดังนั้นถ้าใครต้องการจอภาพคุณภาพสูงเพื่อไว้ในห้องhome theaterทั่วไปที่ไม่ได้ควบคุมแสงได้แบบ 100%เหมือนในStudio หรือในเวลาดูหนังชอบมีแสงในห้องบ้างไม่ชอบห้องแบบมืดสนิท ผมขอแนะนำว่าควรจะไปดูภาพจากจอ Stewart FireHawk G5 ก่อนตัดสินใจ ทั้งยังสามารถดูภาพเพื่อเป็นภาพอ้างอิงว่าคุณภาพของภาพในระดับมาตรฐานนั้นจะออกมาในแนวไหน เพราะจอStewartก็ถือได้ว่าเป็นจอที่เป็นมาตรฐานใช้ในStudio ชั้นนำต่างๆทั่วโลกครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Stewart FireHawk G5 Review (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้