Review

Search

Sony VPL-VW790ES เลเซอร์โปรเจคเตอร์สำหรับภาพ4K HDR

หลังจากที่ได้โปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดของSonyมาทดสอบได้ร่วมเดือน วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีอะไรเป็นจุดเด่นน่าสนใจและเหมาะสำหรับนักเล่นแนวไหน ใครที่สนใจโปรเจคเตอร์ตัวนี้อยู่ติดตามอ่านได้เลยครับ

ในปี ค.ศ.2020-2021นี้ทางSonyได้เปิดตัวโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ 3ตัวเพื่อรองรับตลาดโปรเจคเตอร์ภายในบ้านที่กำลังคึกคักขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่คนลดการใช้ชีวิตนอกบ้านหันมาสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ตอบสนองความต้องการให้มากที่สุด โดยในสามรุ่นนั้นได้แก่ Sony’s Premium Flagship VPL-GTZ380โดยเป็นโปรเจคเตอร์แบบเลเซอร์ที่ให้ความสว่างสูงถึง 10,000 lumen ส่วนตัวถัดมาจะเป็นตัวที่ผมทำการทดสอบในครั้งนี้คือ VPL-VW790ESราคาตั้งอยู่ที่ 579,000บาท และตัวรุ่นน้องสุดจะเป็นVPL-VW590ES ราคาตั้งไว้ที่ 299,900บาท

มาถึงคุณลักษณะเด่นทั่วไปสำหรับรุ่นที่ผมทดสอบได้แก่ เป็นโปรเจคเตอร์ความละเอียด 4K (4096×2160) ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงเป็น Z-Phosphor™ laser light source อย่างที่ทราบกันว่าถ้าเป็นแหล่งกำเนิดแสงเป็นlaserนั้น อายุการใช้งานของหลอดภาพสูงถึง 20,000ชั่วโมงแทบจะไม่ต้องมีการmaintenance เมื่อเทียบกับหลอดโปรเจคเตอร์ทั่วไปที่ใช้ไปสองถึงสามพันชั่วโมงก็จะมืดลงมากต้องมีการเปลี่ยนหลอดใหม่ สำหรับเทคโนโลยีการกำเนิดภาพก็จะเป็น4K SXRD(Silicon X-tal Reflective Display) ตัวล่าสุดของSony ที่ให้contrastของภาพได้ดีขึ้นให้ความดำจากรุ่นเดิมมากขึ้น ภาพทีความเคลื่อนไหวsmoothดีขึ้น

จุดสำคัญอีกจุดที่เป็นจุดแข็งของการใช้แหล่งกำเนิดแสงเป็นlaserก็คือมีการไล่ระดับความมืดความสว่างได้ดีขึ้นเนื่องจากว่าตัวlaserเองสามารถควบคุมความเข้มความสว่างของแสงได้ ทำให้เมื่อใช้งานร่วมกับการควบคุมแสงจากIrisของเครื่อง การไล่ความมืดความสว่างของในส่วนเงาของภาพมีความละเอียด ถูกต้อง สีดำจะไม่จมแบบไม่มีรายละเอียด ทำให้ภาพดูเนียนสมจริง

อีกส่วนหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือเครื่องโปรเจคเตอร์ VW790ESนี้ใช้ชิป X1 for Projector โดยชิปนี้จะช่วยในการควบคุมการสร้างภาพโดยเฉพาะภาพแบบ 4K HDRที่ต้องอาศัยเรื่องของtone mapping หลายคนอาจจะยังสงสัยอยู่ว่าชิปพวกนี้สำคัญอย่างไร ลองนึกถึงจอภาพแบบ OLEDที่แผงภาพOLEDในทีวีเกือบทั้งหมดในตลาดจะมาจากที่เดียวกัน แต่พอทีวีแต่ละยี่ห้อเอาไปประกอบทีวีแล้วใส่ชิปของยี่ห้อตัวเองลงไปก็จะทำให้ภาพที่ออกมาของทีวีแต่ละตัวในตลาดมีความแตกต่างกันมาก อย่างกับSonyก็จะมีชื่อในเรื่องชิปของทีวีBraviaที่ชื่อ Sony X1 โดยล่าสุดทางSonyก็ได้พัฒนาชิปตัวนี้เพื่อให้สามารถนำไปใช้กับโปรเจคเตอร์ได้และได้นำมาใส่ในโปรเจคเตอร์ของSony รุ่นล่าสุดเหล่านี้ด้วย ทำให้ภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์ที่ใช้ชิปตัวนี้จะได้รับการประมวลผลภาพแบบreal-time ในแต่ละเฟรมของภาพ เพื่อให้ภาพที่ออกมามีdynamic rangeสูง(Dynamic HDR Enhancer) มีสีสันที่สดสวย ถูกต้อง ใกล้เคียงกับสีสันจากความเป็นจริง ทั้งยังทำให้ภาพมีความเที่ยงตรงและมีรายละเอียดมากขึ้นด้วย

สำหรับรายละเอียดทั่วๆไปของโปรเจคเตอร์รุ่นล่าสุดทั้งสามรุ่นสามารถศึกษาจากตารางนี้ได้เลย

พอทราบข้อมูลรายละเอียดของเครื่องแล้ว คราวนี้มาดูบททดสอบจริงของโปรเจคเตอร์ตัวนี้กันบ้าง ผมได้รับโปรเจคเตอร์ตัวนี้โดยเป็นเครื่องแรกที่เข้ามาในประเทศไทยและเห็นว่าเป็นตัวแรกๆของภูมิภาคแถบนี้ นับว่าเป็นที่น่าดีใจว่าได้ทดสอบก่อนแต่ก็จะยากหน่อยเพราะพยายามเข้าไปหาบทความทดสอบแบบละเอียดแบบใช้งานจริงๆนั้นแทบจะไม่มีในinternetเลย

พูดถึงขนาดรูปร่างทั่วไปก็เท่าเดียวกับรุ่นก่อนหน้านี้ก็คือ Sony VW760ES เนื่องจากใช้แชสซีตัวเดียวกัน ด้านท้ายของเครื่องเว้านูนขึ้นทำให้เมื่อต้องวางเครื่องติดกับผนังด้านหลังก็ยังสามารถมีการระบายอากาศที่ดีได้ ด้านขวาของตัวเครื่องจะมีช่องต่อต่างๆได้แก่ ช่องเสียบสายLAN, ช่องHDMI 18Gbps 2ช่อง, Min Jack สำหรับTrigger 2ช่อง, IR IN 1ช่อง, REMOTE connectorใช้ต่อคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุม และช่องUSB Type A 1ช่อง

ด้านซ้ายของเครื่องก็จะมีปุ่มควบคุมหลักเช่นเดียวกับที่อยู่บนremote มีปุ่มเปิดปิดเครื่อง ปุ่มเลือกINPUT ปุ่มเมนู ปุ่มลูกศรเลื่อน และปุ่มLENS เพื่อปรับตำแหน่งภาพโดยเมื่อกดซ้ำๆกันจะเป็นการเปลี่ยนการปรับระหว่างFocus, Zoom และ Shift

เมื่อยกเครื่องขึ้นชั้นวางเรียบร้อยก็ทำการติดตั้งตามปกติ ซึ่งพบว่าหลังจากกดปุ่มเปิดใช้เวลาประมาณแค่ 22วินาที ภาพก็ปรากฏขึ้นมาบนจอ ส่วนเวลาปิดเครื่องเท่าที่ลองจับเวลาดูก็จะใช้เวลาcool downเครื่องแค่ประมาณ 12วินาที เรียกว่าคงถูกใจวัยรุ่นใจร้อนหรือคนที่ต้องทำการเปิดปิดเครื่องบ่อยๆเลย หลังจากนั้นก็ทำการปรับขนาดของภาพ ปรับPanel Alignment ปรับFocusของภาพ

ข้อดีที่ผมชอบอย่างหนึ่งในการติดตั้งของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือเครื่องจะมีปุ่มเปลี่ยนอัตราส่วนภาพอยู่ที่ตรงremote และสามารถเก็บค่าไว้ได้ อย่างในห้องผมใช้จอStewart FireHawk G5 เป็นจอที่มีอัตราส่วนภาพ 2.35:1ขนาด150นิ้ว เนื่องจากผมเน้นไปที่ดูหนังอัตราส่วนนี้เป็นหลักเพื่อจะให้ได้ภาพเต็มจอพอดี แต่เมื่อเวลาดูcontentที่เป็น 16:9 ก็จะมีขอบดำด้านข้างจอ ขั้นตอนง่ายๆก็เพียงแค่เข้าไปSaveในเมนู Picture Positionว่าจะให้ตำแหน่งภาพตอนนี้อยู่ที่ชื่อไหน เมื่อจะเรียกตำแหน่งภาพตรงนี้คืนมาก็เพียงแค่กดที่Positionบนremoteแล้วเลือกชื่อที่เราsaveเอาไว้ตามต้องการ ตำแหน่งภาพ อัตราส่วนภาพ การfocusของภาพก็จะกลับมายังตำแหน่งเดิมที่ได้เก็บไว้ ทำให้สะดวกเวลาต้องดูcontentที่มีหลายอัตราส่วน

เครื่องที่ส่งมาได้รับการใช้งานมาแล้ว50ชั่วโมง จึงดำเนินการเบิร์นเครื่องให้อยู่ในระดับ 100ชั่วโมงแล้วค่อยทำการcalibrate เพื่อให้เลนส์ อุปกรณ์ต่างๆของเครื่องอยู่ในสภาพคงตัวมากที่สุดก่อนเมื่อปรับภาพเสร็จข้อมูลจะได้ไม่แกว่งมากนัก การปรับภาพก็ใช้อุปกรณ์ที่ผมใช่เป็นมาตรฐานก็มี Murideo Six-G เป็นpattern generator เครื่องวัดภาพcolorimeterเป็นKlein K10-A ส่วนspectroradiometerจะเป็นJeti Spectraval1511

เนื่องจากการปรับภาพเครื่องโปรเจคเตอร์ที่เป็นlaser light enginesถ้าสังเกตุดูที่กราฟSpectral Power Distribution(SPD)ก็จะพบว่าการกระจายตัวของสีที่มาจากlaserจะมีการกระจายตัวไม่เหมือนSPDของLamp Baseทั่วไป โดยlaser light enginesจะมีการกระจายของสีบางสีที่แคบแลสูงกว่าสีอื่น ดังนั้นถ้าใช้meterวัดภาพที่ไม่มีความละเอียดแม่นยำเพียงพอก็จะทำให้ได้ค่าการวัดออกมาเพี้ยนได้ง่าย และควรจะต้องมีการทำprofile meterเพื่อใช้spectroradiometerเป็นตัวอ้างอิงสำหรับcolorimeter ก็จะทำให้ค่าภาพที่วัดได้จากเครื่องวัดมีความแม่นยำ สม่ำเสมอ ถูกต้องมากกว่าการใช้แค่colorimeterเป็นตัววัดเพียงตัวเดียว

สำหรับSonyVW790ESเครื่องนี้จะมีfunction Auto Calibrationเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้งานง่ายๆได้เองในการปรับภาพซึ่งก็ให้ผลที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องการให้ภาพมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นการปรับแบบManualก็จะให้ผลลัพธ์ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันได้แม่นยำมากกว่า การปรับของระบบSDR rec.709 และ HDR BT.2020ของเครื่องนี้จะใช้Itemเดียวกันแต่ค่าต่างๆจะไม่ขึ้นต่อกัน เช่นถ้าเราเลือกCinema Film1สำหรับSDR rec.709 เมื่อสัญญาณเข้าInputเป็น HDR เครื่องก็จะทำการswitchไปเป็นCinema Film1(HDR)อัตโนมัติ โดยทั้งสองItemsนี้จะสามารถตั้งค่าให้ต่างกันได้ ซึ่งการวัดค่าสีเบื้องต้นพบว่าCalibrated Presetที่ตั้งไว้ CINEMA FILM1 และ REF จะมีค่าสีขาวใกล้เคียงมาตรฐาน D65, Grayscaleมีความเพี้ยนน้อยที่สุด แต่ก็ยังติดสีฟ้าอยู่บ้าง ผมจึงเลือกเอาCINEMA FILM1เป็นItem ตั้งต้นในการปรับ โดยColor Tempผมเลือกตั้งค่าไว้ที่Custom3(มีค่าเท่ากับD65) Gain R/G/B มีค่า 7/1/-6 ส่วน Bias R/G/B = 3/-3/-2 laser light outputถ้าตั้งไว้ที่Maxจะให้ค่าสูง29.2fL ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับภาพHDR Bt.2020มากกว่า สำหรับภาพSDR rec.709เมื่อลดลงเหลือ 20%วัดค่าความสว่างได้ 17.2fL ก็ถือว่าพอเหมาะสำหรับภาพSDR, Contrast ตั้งไว้ที่ 95, Brightness 52, Color 50, Hue 50 ส่วนSharpness ตั้งไว้ที่ 25ก็พอเพียงทำให้ภาพชัดขึ้นโดยที่ไม่ชัดมากเกินไปจนขึ้นขอบ, Gamma Correctionเมื่อตั้งไว้ที่ 2.6 ส่วน Color CorrectionสำหรับHue/Saturation/Brightnessของแต่ละสีเรียงไปตามนี้ Red -2/3/0, Yellow -3/6/3, Green -10/5/3, Cyan -3/-2/4, Blue -4/0/-1, Magenta -3/1/1

ภาพHDR มีการตั้งค่าต่างจาก SDRในบางค่า ได้แก่Calibrated Preset(HDR)เป็น CINEMA FILM1 ค่าContrast=60, Brightness=55, Color=54, Hue=50 สำหรับColor Temp ตั้งไว้ D65 Gain R/G/B มีค่า 1/-2/-11 ส่วน Bias R/G/B = 3/-2/1 laser light outputถ้าตั้งไว้ที่Max สำหรับ Color Correctionค่าHue/Saturation/Brightness = Red -5/3/0, Yellow -3/0/0, Green 0/6/13, Cyan 0/0/6, Blue 0/0/0, Magenta 0/0/0ตามลำดับ ส่วนค่าReality Creationต่างๆไม่ว่าจะเป็นResolution, Noise Filtering, D.Focus Optimizer สามารถเปิดปิดหรือตั้งค่าการใช้งานเลือกได้ตามชอบ ลองตั้งดูแล้ว Test: On/Offดูว่าทำให้ภาพขึ้นขอบหรือมีartifactของภาพเข้ามาทำให้ภาพดูชัดคมเกินไปเช่นหน้าตานักแสดงมีสิวขึ้นมาเพียบหรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นแนะนำให้ลดค่าลงหรือปิดOffไปเลยก็ได้ สำหรับDynamic ControlในขณะCalibrationให้ตั้งไว้ที่Offแต่ในขณะชมภาพยนตร์จริงๆถ้าต้องการให้มีการควมคุมแสงของภาพที่ออกมาได้เต็มทีเพื่อเพิ่มcontrastของภาพก็ตั้งไว้ที่Full ส่วนDynamic HDR Enhancer ถ้าหนังHDRเรื่องไหนดูแล้วรู้สึกว่าภาพดูมืดไปก็สามารถเพิ่มความสว่างของภาพโดยรวมขึ้นได้โดยสามารถตั้งไว้ทั้ง High/Middle/Low แต่อาจจะต้องระวังสีเพี้ยนหน่อยถ้าตั้งไว้สูงเกินไป ค่าความเคลื่อนไหวของภาพสามารถตั้งที่Motionflowโดยสามารถเลือกได้ตั้งแต่ Smooth High/Smooth Low/True Cinema/Off ก็ลองเลือกเอาตามชอบได้เลย เนื่องจากบางคนก็ชอบภาพลื่นๆsmoothส่วนบางคนก็อาจจะบอกว่าภาพลื่นมากเกินไปก็จะทำให้ดูเหมือนภาพจากวิดีโอ(soap opera)ซึ่งจะเหมาะกับภาพแนวกีฬาหรือcontentที่มีการเคลื่อนไหวภาพเร็วๆมากกว่าภาพจากภาพยนตร์

เมื่อได้ทำการFully Calibrationเป็นที่เรียบร้อยก็ได้เวลามานั่งดูภาพยนตร์กันจริงๆแล้วว่าภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยฉากภาพยนตร์ที่เอามาทดสอบนี้ก็เลือกเอาฉากที่แนะนำโดยนิตยสารWhat Hi Fi อย่างที่ผมเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้เริ่มจากฉากภาพยนตร์ Spider-Man: Homecoming (2017,Chapter10) หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่จะเห็นได้บ่อยตามบูธของทีวีSonyที่มักจะเอามาฉายแสดงความสามารถของทีวี 4K HDR ซึ่งในChapterที่10 ฉากเรือFerryนี้ภาพจะให้สีสันดูธรรมชาติทั้งสีของฟ้า สีของน้ำทะเล ตามแนวถนัดของSony รายละเอียดของภาพ4Kทำได้ดีมาก สังเกตจากสีของผ้า เนื้อของผ้าบนตัวSpider-Man รวมถึงรายละเอียดของภาพในฉากมืดก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน

Casino Royale(2006, chapter2) ถึงแม้จะเป็นหนังเกือบสิบห้าปีมาแล้วแต่ก็นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำภาพได้ดีมีสีสันสวยงาม chapterนี้จะเป็นฉากการไล่ล่าที่ตื่นเต้น และนับว่าเป็นฉากไล่ล่าที่ทำได้ดีฉากหนึ่งของหนังตระกูลJames Bondเลยทีเดียว ภาพมีความsmoothต่อเนื่อง แม้จะมีการแพนกล้องเร็วๆไปมาตลอดในฉากนี้ ซึ่งถือว่าเป็นฉากที่สามารถใช้ทดสอบความsmoothของภาพได้ดีเลยทีเดียว

Deadpool(2016, chapter4) ภาพของหนังเด่นไปในเรื่องความเข้มสดดิบของสี โดยเฉพาะสีแดงของชุดDeadpool ที่ให้ความสมจริงแบบมีรายละเอียด ภาพSuper Slow-motionก็ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของภาพให้อารมณ์สนุกสนาน เพิ่มความมันของภาพยนตร์ได้ดีทีเดียว

Guardians of the Galaxy Vol.2(2017,chapter1) เป็นฉากที่ให้Dynamicของภาพได้ดีมาก มีส่วนสว่างมากๆที่เป็นSpecular Highlight มีการไล่ระดับความสว่างของสี โดยที่โปรเจคเตอร์Sony VW790ESก็ทำเรื่องของtone mappingได้ดีไม่มีอาการเพี้ยนของสีไม่มีartifact ให้ความเป็นธรรมชาติของสีสันทั้งในส่วนของท้องฟ้าตอนเย็น และหญ้าสีเขียว ส่วนMotionของภาพก็มีความsmooth ภาพรถที่กำลังแล่นก็ให้ความรู้สึกนิ่มนวลไม่มีการกระตุกของภาพแต่อย่างใด

Harry Potter and the Deathly Hallows – Part 2 (2011,chapter 12) ถ้าใครอยากทดสอบเรื่องtone mapping.ของส่วนมืดต้องฉากนี้เลยเพราะเป็นฉากมืดทั้งหมด โดยโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็ได้โชว์ให้เห็นความสามารถของชิป X1 for projector ร่วมกับการทำงานที่ประสานกันอย่างดีของการควมคุมแสงจากlaser engineและdynamic Irisที่ส่งผลทำให้ภาพในฉากมืดมีการไล่ระดับของสีดำได้อย่างนุ่มนวลต่อเนื่อง ภาพมีcontrastสูง ไม่พบอาการcrushของสีดำหรือที่เรียกว่าสีดำแบบจม เท่าที่ดูผมก็ไม่พบBandingของสีต่างๆในส่วนมืดแต่อย่างใด

สำหรับใครที่เป็นHardcore สายภาพที่ต้องการหาความสวยงามถูกต้องอย่างสูงสุดของภาพก็คงสงสัยว่าถ้าเอาเครื่องโปรเจคเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงแบบนี้ต่อเข้ากับExternal Video Processorแล้วภาพจะออกมาขนาดไหน ผมจึงได้ลองเอาโปรเจคเตอร์ Sony VW790ES ต่อเข้ากับเครื่องVideo Processorของ MadVR หลังจากนั้นก็ทำการปรับภาพและทำ3DLUT ใส่เข้าไปในตัวVideo Processorโดยทำ3DLUT แยกกันเป็นเป็นสองค่า ค่าแรกสำหรับภาพ SDR rec.709 อีกค่าสำหรับภาพ HDR DCI-P3 ซึ่งผลของการcalibrateหลังจากการทำ3D LUTก็จะทำให้ค่าdelta E และ Grayscalของภาพมีค่าความเพี้ยนลดลงไปอีก จากของเดิมที่อยู่ประมาณสามก็จะเหลือต่ำกว่าสอง สีcolor gamutก็ให้ความใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังสามารถทำให้โปรเจคเตอร์สามารถแสดงรายละเอียดของภาพในข้อมูลnitsสูงๆ ต่ำมากๆได้

เมื่อดูจากภาพจากSony VW790ES+MadVRต้องเรียกว่าภาพออกมาแบบสุดจัดปลัดบอกจริงๆ555 ภาพให้รายละเอียดในส่วนมืดส่วนสว่างเพิ่มขึ้นมาอย่างเต็มที่ ความชัดเจนของภาพที่ว่าดีอยู่แล้วก็สามารถปรับให้คมชัดขึ้นไปได้อีกโดยไม่มีartifactอื่นของภาพตามมา จุดที่สว่างมากๆพวกwhite clippingก็ดึงลงมาให้เห็นรายละเอียดในส่วนนี้มากขึ้นโดยไม่มีความเพี้ยนของสี ซึ่งถ้าใครชอบความเป็นที่สุดของภาพแนะนำให้ต้องลองใช้external video processorดูครับ รับรองจะติดใจเหมือนผม

สรุปแล้วสำหรับโปรเจคเตอร์ Sony VW790ESตัวนี้ ถือได้ว่าเป็นโปรเจคเตอร์ laser light enginesที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการชมภาพยนตร์แบบ 4K HDRภายในบ้านอย่างแท้จริง นอกเหนือจากข้อดีของการใช้laserที่ทำให้มีอายุการใช้งานมากกว่า20,000ชั่วโมงแล้ว การใช้เทคโนโลยีในเรื่องของชิปที่ทันสมัยออกแบบมาสำหรับโปรเจคเตอร์โดยเฉพาะ การทำงานร่วมกับระบบควบคุมความสว่างของlaserยังส่งผลให้การจัดการเรื่องของ tone mappingมีความเที่ยงตรงและแม่นยำของทั้งสีสัน ความมืด ความสว่างของภาพ ทำให้ภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีความสวยงาม สีสันสดใสดูเป็นธรรมชาติ การเคลื่อนไหวของภาพมีความนุ่มนวลสมจริง สามารถดูหนังได้ต่อเนื่องยาวนานโดยไม่เกิดมีอาการเมื่อยล้าของสายตาแต่อย่างใด ซึ่งใครชื่นชอบภาพแนวโปรเจคเตอร์ฉายลงบนจอเพื่อให้ได้บรรยากาศเหมือนการฉายหนังในโรงภาพยนตร์จริง ยังไงต้องหาโอกาสไปทดลองความสุดยอดของภาพจากโปรเจคเตอร์ Sony VW790ES ให้ได้ซักครั้งหนึ่ง ขอแนะนำเลยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ Sony VPL-VW790ES เลเซอร์โปรเจคเตอร์สำหรับภาพ4K HDR (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้