Review

Search

JVC DLA-Z1 Laser & Native 4K HDR Projector

ถ้าพูดถึงโปรเจคเตอร์ที่ใช้ในบ้าน JVCถือว่าเป็นระดับหัวแถวและมีแฟนคลับที่ชื่นชอบในคุณภาพของภาพจากโปรเจคเตอร์JVCอยู่มากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของcontrastและความดำจนมีบางคนถึงกับตั้งฉายาว่าJVCนี่เป็นOLEDในโลกโปรเจคเตอร์เลยที่เดียว ซึ่งที่ผ่านมาJVCได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นภาพแบบ4K HDRอยู่หลายรุ่น แต่ยังเป็นความละเอียด4Kแบบe-shift ทำให้มีหลายท่านต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไรที่JVCจะออกรุ่นที่มีความละเอียดแบบnative 4Kมาเสียที และในที่สุดทางJVCก็ได้ปล่อยผลิตภัณฑ์รุ่นเรือธงที่เป็นภาพระบบ 4K HDRแท้ๆแบบnative นอกจากนั้นยังเป็นรุ่นที่มีแหล่งกำเนิดแสงเป็นlaserด้วย ได้ยินแบบนี้หลายท่านคงสนใจแล้วว่าโปรเจคเตอร์รุ่นนี้มีอะไรที่เป็นจุดเด่น จุดที่น่าสนใจบ้างเพราะระดับโปรเจคเตอร์รุ่นสูงสุดของJVCคงไม่ธรรมดาแน่ ตามมาครับเดี๋ยวผมจะreviewโปรเจคเตอร์ตัวนี้ให้แบบละเอียดเลย

รูปที่1 เครื่องโปรเจคเตอร์เลเซอร์ ความละเอียดระดับnative 4K HDRของJVC รุ่น DLA-Z1

อย่างแรกที่ต้องพูดถึงก็คือเรื่องของรูปร่างและขนาด โปรเจคเตอร์ตัวนี้ทางJVCได้เอาประสบการณ์ในการออกแบบโปรเจคเตอร์อย่างยาวนานมาสร้างโปรเจคเตอร์รุ่นนี้โดยออกแบบใหม่ทั้งหมด ขนาดของเครื่องจะใหญ่กว่ารุ่นอื่นๆอยู่พอสมควรเนื่องจากเหตุผลในเรื่องระบายความร้อนของเครื่องlaser และเลนส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่ใหญ่ถึงกับว่าหาที่จัดวางในห้องhome theaterปกติได้ยาก อย่างในห้องผมเองสามารถวางไว้ด้านหลังจากตำแหน่งนั่งฟังได้สบายๆ ขนาดตัวถังของเครื่องกว้างxสูงxลึก อยู่ที่ 50×23.5×72เซ็นติเมตร แต่ตัวเครื่องจะหนักหน่อยน้ำหนักอยู่ที่ 37.5กิโลกรัมซึ่งหาที่วางไว้น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะแขวนไว้บนเพดาน ผิวของเครื่องรุ่นนี้ทางJVCออกแบบมาอย่างดี โดยพื้นผิวของเครื่องจะเป็นสีดำด้านและไม่เรียบทำให้เมื่อสัมผัสถูกนิ้วมือเวลาติดตั้งจะไม่ทิ้งรอยคราบนิ้วมือไว้ คิดว่าตรงนี้JVCคงได้ประสบการณ์จากรุ่นก่อนที่เวลาติดตั้งเสร็จต้องมานั่งเช็ดคราบรอยนิ้วมือต่างๆที่ติดบนเครื่องหลังยกขึ้นยกลงขยับไปมาตอนติดตั้งนั่นเอง

รูปที่2 เครื่องถูกออกแบบให้เป็นสีดำด้านผิวไม่เรียบทำให้ติดรอยคราบนิ้วมือได้ยาก

จุดเด่นของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นBLU-Escent laserเทคโนโลยี ใช้laser diodesสีฟ้าที่สามารถให้ความสว่างของภาพถึง 3,000lumen ความสว่างที่สูงระดับนี้จึงให้ภาพที่สวยงามบนจอที่มีขนาดใหญ่ได้ ยิ่งถ้าเอาไปดูภาพแบบ4K HDR(High Dynamic Range)ในห้องhome theaterนี้ด้วยแล้วถือว่าเหมาะมาก ระบบกำเนิดภาพlaserแบบนี้เห็นว่ามีอายุการใช้งานถึง 20,000ชั่วโมง…ใช่ครับอ่านไม่ผิดสองหมื่นชั่วโมงกันเลย คิดดูถ้าดูหนังวันละสามชั่วโมงทุกวัน เราก็สามารถใช้งานไปได้ถึง20ปี ถือว่านานมาก

รูปที่3 ระบบเลเซอร์แบบ BLU-Escent

แหล่งกำเนิดภาพที่ใช้เป็นD-ILAแบบ3ชิปที่พัฒนาใหม่ให้มีขนาดเล็กและมีระยะห่างแต่ละpixelน้อยลง น้อยจนทำให้สามารถใส่ความละเอียดระดับ4K 4096x2160pixels หรือมากกว่าแปดล้านpixelลงในชิปขนาด 0.69นิ้วลงได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชิปแบบnative 4K ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก การมีpixelที่ชิดกันมากๆร่วมกับการจัดวางอย่างดีนี้ก็ส่งผลให้ลดการฟุ้งกระจายของแสง เพิ่มcontrastของภาพ ทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด smooth มองไม่เห็นช่องระหว่างpixelแม้จะเอาไปฉายบนจอที่มีขนาดใหญ่ สำหรับเลนส์ที่ใช้ในการฉายภาพ 4K นี้JVCใช้เลนส์แก้วคุณภาพสูงที่ใช้สำหรับภาพ4Kโดยเฉพาะใช้ชิ้นเลนส์ทั้งหมด18ชิ้น หน้าเลนส์จะมีขนาดกว้างถึง 100mm เมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีขนาดเล็กกว่าทำให้ลดการบิดเบี้ยวของภาพบริเวณขอบ มีแสงสว่างและความชัดทั่วเท่ากันทั้งจอ การปรับlens shift ทั้งแนวดิ่งและแนวราบทำได้มากกว่าเดิม ถ้าใครมีความรู้เรื่องถ่ายภาพก็คงจะทราบว่าคุณภาพของภาพจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับเลนส์ของกล้องที่ใช้เป็นสำคัญ เวลาที่ซื้อเลนส์ถ่ายภาพสิ่งที่เราซื้อก็คือชิ้นแก้วที่ใช้ทำเลนส์ ตัวเลนส์จะแพงไม่แพงก็อยู่ตรงนี้ ก็เช่นเดียวกับโปรเจคเตอร์ ภาพที่ออกมาจะดีหรือไม่เลนส์นับว่ามีส่วนสำคัญมาก ซึ่งบางคนอาจจะมองข้ามความสำคัญของส่วนนี้ไป พอพูดถึงความคมชัดก็มุ่งไปสนใจแต่resolutionของpixelsเพียงอย่างเดียว ส่วนในเรื่องการควบคุมlens shift, Zoom และโฟกัส ก็ใช้ระบบมอเตอร์ควบคุมเพื่อให้ปรับเลนส์ในขั้นตอนการติดตั้งได้สะดวก แต่ที่ต่างจากตัวอื่นๆของJVCคือไม่มีการปิดหน้าเลนส์อัตโนมัติเมื่อปิดเครื่อง แต่จะใช้ฝาครอบเหมือนฝาครอบเลนส์กล้องถ่ายรูปถอดเข้าถอดออกด้วยมือแทน

รูปที่4 เลนส์ที่ใช้เป็นเลนส์แก้วแท้ๆจำนวน 18ชิ้น ออกแบบมาสำหรับภาพ 4Kโดยเฉพาะ
รูปที่5 เลนส์คุณภาพสูงของJVCมีขนาดใหญ่ถึง100mm เมื่อเทียบกับรุ่นทั่วไปของJVCที่จะมีขนาดอยู่แค่ 65mm

ด้านหลังของเครื่องจะมีHDMI portรุ่น 2.0B อยู่2ช่องต่อ สามารถรองรับต้นทางที่เป็นแหล่ง4Kในระบบ 4K/60p/4:4:4 , 4K/60p/4:2:2/36-bit และ 4K/24p/4:4:4/36bit ที่bandwidth 18 Gbpsได้ นอกจากนั้นก็ยังรองรับการเข้ารหัสHDCP รุ่น2.2 ที่มาจากแหล่งต่างๆเช่นvideo streaming หรือ UHD Blu-ray discs ทำให้สามารถเชื่อมต่อโปรเจคเตอร์กับอุปกรณ์ 4K อื่นๆได้ นอกจากนั้นก็จะมีช่องต่อ RS-232เพื่อใช้ในการต่อกับคอมพิวเตอร์และUp Firmware ส่วนช่องต่อRJ45ใช้ในการเชื่อมต่อกับnetworkเพื่อใช้ในการปรับตั้งค่าที่ละเอียดกว่าการปรับจากเมนูบนหน้าจอผ่านremote รวมถึงยังสามารถต่อคอมพิวเตอร์กับmeterวัดภาพSpyder5หรือi1 Pro2 เพื่อทำการauto calibrationปรับค่าGrayscale, Gamma, Color, Color Temperatureได้อีกด้วย

รูปที่6 ช่องต่อด้านหลังของเครื่อง

เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานที่เด่นๆของตัวโปรเจคเตอร์JVC DLA-Z1แล้วคราวนี้มาดูผลการทดสอบกันบ้าง โดยอุปกรณ์ร่วมที่ผมใช้ในการทดสอบมีดังนี้ เครื่องเล่นต้นทางที่ใช้เป็นOppo UDP-203ทดสอบทั้งต่อตรงไปยังโปรเจคเตอร์ และต่อผ่านVideo Processor Lumagenรุ่นRadiancePro Series จอภาพที่ใช้เป็นStewart FireHawk อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดและcalibrationก็มีMeterวัดภาพKlein K10-A ใช้pattern generatorของMurideo Six-G โปรแกรมในการวัดภาพใช้สามโปรแกรมคือ Chromapure Professional, Spetracal Calman Video Pro, LightSpace HTP แต่ก่อนที่จะรายงานผลการทดสอบผมต้องบอกก่อนว่า พอผมทราบว่าจะได้ทดสอบเครื่องโปรเจคเตอร์เลเซอร์ แบบ4K HDR สิ่งที่ผมตั้งข้อสงสัยก่อนที่จะได้เห็นเครื่องจริงๆเลยก็คือ เนื่องจากเป็นเครื่องแบบเลเซอร์ที่ให้แสงสว่างมาก แล้วความดำของภาพจะยังทำได้ดีเหมือนรุ่นอื่นๆของJVCหรือไม่ เนื่องจากเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ผมเคยเห็นมาถ้าสว่างมากๆความดำมักจะทำได้ไม่ดี ต่อมาก็คือเรื่องของความร้อนเนื่องจากแหล่งกำเนิดแสงเป็นเลเซอร์จะทำให้เครื่องร้อนมากกว่าปกติไหม แล้วการระบายความร้อนที่ใช้แบบพัดลมของรุ่นนี้จะทำให้เสียงดังหรือเปล่า ระยะเวลาการเปิดปิดเครื่องต้องนานด้วยไหม และอย่างสุดท้ายภาพแบบHDRที่มีมาในเครื่องนี้เป็นแค่ของแถมมาหรือเปล่า เพราะเครื่องโปรเจคเตอร์บางเครื่องนั้นภาพHDRที่มานั้นเรียกว่าได้แทบจะดูไม่ได้ สีสันสดเกินจริงไปมาก contrastของภาพไม่เนียน รอยต่อของการไล่สีดำไปขาวเป็นปื้นๆไม่เรียบ คราวนี้ลองมาดูว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้จะเป็นแบบนี้หรือเปล่า

รูปที่7 การปรับภาพโดยใช้Colorimeterในการวัดค่า

เมื่อได้เครื่องมา ผมก็ยกไว้บนตู้ที่มีความสูงเลยหัวขึ้นมานิดหน่อยทำให้โปรเจคเตอร์วางอยู่เกือบๆกลางจอพอดี ทำการปรับZoom, Shift, Focus เพื่อให้ภาพออกมาพอดีกับจอภาพซึ่งก็ทำได้ง่ายเพราะสามารถนั่งตรงเก้าอี้แล้วกดรีโมตปรับได้เลย เสร็จแล้วก็ทำการปรับPixel Adjustเพื่อให้pixelของสีแดง เขียว น้ำเงินตรงกัน วิธีก็เหมือนกันการปรับในJVCรุ่นอื่นๆ ทำการเลือกScreen Adjustเพื่อให้เลือกชนิดของจอภาพให้เข้ากับโปรเจคเตอร์โดยสามารถเลือกค่าตัวเลขจากในคู่มือว่าจอภาพของเราใช้ยี่ห้ออะไรรุ่นไหนแล้วใส่ค่าลงในเมนูScreen Adjustได้เลย การเลือกPicture Modeในระบบของห้องผมเองเมื่อวัดแล้วพบว่าถ้าเป็นภาพแบบFull HD ค่าที่ใกล้เคียงมาตรฐานมากที่สุดคือNaturalหรือTHXแต่ถ้าใครจะเอาเป็นค่าเริ่มต้นสำหรับการปรับต่อไปผมแนะนำเป็นNaturalหรือตั้งค่าเองเป็นUser1-User6, Color Profileเป็นBT.709 เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นภาพแบบ 4K HDRเมื่อมีสัญญาณHDRเข้าไปตัวเครื่องโปรเจคเตอร์จะswitch ไปที่picture modeเป็นHDRโดยอัตโนมัติ ส่วนcolor profileก็จะเป็นHDRด้วย ซึ่งตัวdefaultนี้เท่าที่วัดดูถือว่ามีความสว่างและค่าทางสีใกล้เคียงกับมาตรฐาน แต่ถ้าใครต้องการให้สีออกมาใกล้มาตรฐานมากขึ้นก็สามารถเลือกcolor profileเป็นBT.2020 แต่ว่าความสว่างของภาพก็จะลดลง อย่างที่ผมวัดนั้นถ้าเลือกcolor profileเป็นHDRความสว่างของภาพจะอยู่ที่ 125nits แต่ถ้าเปลี่ยนcolor profileเป็นBT.2020ที่มีค่าสีใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้น ความสว่างจะลดลงเหลืออยู่ที่80nitsเลย อันนี้ต้องลองเลือกและปรับเอาเองได้เลย

รูปที่8 เมนูในเครื่องJVC DLA Z-1 ก็เป็นเมนูเดียวกันกับรุ่นอื่นทำให้ผู้ใช้ที่เคยคุ้นเคยกับJVCแล้วใช้ง่ายเหมือนเดิม

หลังจากนั้นก็ได้เวลาCalibration โดยตัวโปรเจคเตอร์JVCนั้นสามาราถปรับค่าเบื้องต้นเช่น Brightness, Contrast, Color, Tintได้จากเมนูบนหน้าจอแล้วกดรีโมทได้เลย color tempก็สามารถปรับในส่วน2point white balanceในส่วนมืดและส่วนสว่าง ค่าGammaสามารถปรับได้คร่าวๆเป็นค่าPicture Tone,Dark Level,Bright Level ซึ่งผมได้ลองปรับค่าต่างๆเหล่านี้แล้ววัดค่าดูพบว่า เครื่องโปรเจคเตอร์เครื่องนี้มีการตั้งค่าในตัวเครื่องค่อนข้างตรงกับค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งมีความเป็นlinearityทำให้การปรับค่าเพียงเล็กน้อยก็ได้ค่าที่ใกล้เคียงมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับสีในCMS การปรับค่าGamma แต่ถ้าใครชอบปรับแบบละเอียดมากกว่านี้ก็สามารถทำได้โดยผ่านโปรแกรม Projector Calibration SoftwarของJVC แต่มีข้อแนะนำนิดหนึ่งว่าการปรับบนโปรแกรมตัวนี้ เวลาปรับค่าจะค่อนข้างsensitiveหน่อยบางทีปรับนิดเดียวค่าไปไกลเลย และอย่าลืมbackupค่าเริ่มต้นไว้ด้วย ปกติโปรแกรมจะdefaultไปเก็บไว้ในfolder Doctumentsเป็นไฟล์นามสกุล .cbd ยังไงลองเข้าไปตรวจสอบอีกทีว่าเครื่องได้backupเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าปรับภาพออกมาเละจะได้ไปloadตัวตั้งต้นได้เลย การที่จะไปปรับกราฟ กับค่าต่างๆให้กลับเป็นเหมือนเดิมใหม่นั้นทำได้ค่อนข้างยาก

รูปที่9 โปรแกรมที่ใช้ปรับภาพของJVC DLA Z-1 โดยต้องใช้สายLANในการต่อผ่านเครือข่าย

จากการวัดค่าพบว่าโปรเจคเตอร์JVC DLA Z-1ในสภาพสิ่งแวดล้อมห้องของผมสามารถให้ความสว่างสูงสุดถึงได้ถึง 145nitsหรือประมาณ 42fL เรียกได้ว่าสมศักดิ์ศรีเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ความกว้างของเฉดสีที่ทำได้ตั้งต้นถ้าเป็นDCI P3สามารถครอบคลุมสีได้ทั้งหมด 100% และ 80%สำหรับBT.2020 และเมื่อทำการcalibratedภาพแล้ววัดค่าดูความกว้างของDCI P3จะเป็น95% ส่วนBT.2020เป็น 75%ก็นับได้ว่าสูงมากเมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์ในท้องตลาดโดยทั่วไป

รูปที่10 เปอร์เซนต์ความกว้างของColor Spaceที่โปรเจคเตอร์ทำได้

หลังจากได้ทำการปรับในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วก็ได้ทำการปรับภาพแบบที่advanceมากขึ้น ก็คือการปรับแบบ 3D LUTS การปรับแบบนี้ถือได้ว่าเป็นgold standardของการปรับภาพ reference monitor จอภาพที่เป็นprofessional เหล่านี้จะมี3D LUTSฝังอยู่ในเครื่องอยู่แล้ว แต่ในเครื่องที่ใช้ในบ้านก็ต้องใช้เครื่องมือพวกexternal video processorมาช่วย เรื่องการปรับ3D LUTSถ้ามีคนสนใจเดี๋ยวถ้ามีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟังแบบละเอียดอีกที ซึ่งหลังจากผมได้ปรับภาพแบบ3D LUTSทั้งภาพแบบFull HDและ4K HDRแล้วก็พบว่าสีสันของภาพมีความแม่นยำถูกต้องมากขึ้น สีมีความอิ่มตัวและสวยงาม การไล่ระดับgrayscaleดีทำให้มิติของภาพดีขึ้นไปส่งผลถึงความลึกของภาพ แต่สำหรับภาพแบบHDRนั้นการทำ 3D LUTSก็ต้องแลกกับความสว่างของโปรเจคเตอร์ที่ลดลงไปบ้างอันนี้ก็ต้องเลือกเอาว่าต้องการให้ความสำคัญตรงจุดไหนมากกว่า แต่จากที่ผมได้ทดสอบดูแล้วพบว่า ถ้าเป็นcontent HDRจริงๆ การที่ภาพมีสีไม่ตรงบ้างเล็กน้อยแต่ให้แสงสว่างของภาพมากกว่า จะมีความสวยงามของภาพมากกว่าภาพที่มีสีสันถูกต้องกับมาตรฐานเป๊ะแต่ความสว่างของภาพไม่ดี แต่ในที่สุดแบบไหนจะดีกว่าก็ต้องตัดสินใจแต่ละครั้งแต่ละตอนไปเพราะยังมีปัจจัยที่มีผลเกี่ยวกับความสวยงามของภาพอื่นๆอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงในสถานการณ์เฉพาะนั้นๆด้วย

รูปที่11 ผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับภาพ Full HD แบบ SDR rec.709
รูปที่12 ผลของGrayscaleหลังจากปรับภาพ 4K HDR
รูปที่13 Color SweepsในDCI-P3ของภาพ 4K HDRหลังจากCalibrationแล้ว
รูปที่14 การCalibrateภาพ4K HDRแบบLUT 3D

และตอนนี้ผมได้คำตอบที่คาใจกับโปรเจคเตอร์เลเซอร์ 4K HDRแล้วว่าสิ่งที่เคยตั้งข้อสงสัยนั้นไม่เป็นความจริงสำหรับโปรเจคเตอร์ตัวนี้ตั้งแต่ความดำของภาพที่คิดว่ายังไงภาพสว่างขนาดนี้คงไม่สามารถให้ความดำความลึกของภาพเหมือนกับJVCรุ่นก่อนๆที่ทำมาดีมาก แต่Z1กลับยังคงให้ความดำลึกไม่แพ้รุ่นอื่นๆของJVCขณะที่ให้ความสว่างของภาพมากถึง 3000Lumen ในเรื่องความร้อนของเครื่องที่จะต้องใช้พัดลมแรงๆจนทำให้มีเสียงดังต้องบอกว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้เงียบมาก เงียบกว่ารุ่นในอดีตของJVCที่บางทีทำให้ต้องเลือกความสว่างของภาพแบบlowถ้าเลือกhigh เสียงพัดลมจะดังน่ารำคาญมาก ซึ่งพอไปดูในspecของเครื่องจริงๆZ1ตัวนี้มีความดังของเครื่องแค่ 25dBเท่านั้น และที่สร้างความประหลาดใจอีกอย่างก็คือเวลาปิดเครื่องใช้เวลาcool downแค่สิบกว่าวินาที เร็วมากเมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์ตัวอื่นบางตัวที่ผมเคยเห็นมาต้องใช้เวลาหลายนาทีเลยสำหรับการรอให้cool downจนพัดลมในเครื่องปิด และสำหรับข้อสงสัยข้อสุดท้ายของผมก็ได้รับคำตอบแล้วว่าภาพแบบ 4K HDRของโปรเจคเตอร์รุ่นนี้ไม่ใช่ของแถมครับ แต่มันคือจุดเด่นเลยของโปรเจคเตอร์JVC DLA-Z1ตัวนี้

รูปที่15 ขณะทดสอบโปรเจคเตอร์วางใกล้ขนาดนี้ เวลาเปิดโหมดHigh Brightness เสียงพัดลมก็ไม่ได้ดังมาก
รูปที่16 แผ่นที่ใช้ในการทดสอบภาพ 4K HDR
รูปที่17 การใส่ค่าตัวคูณแบบต่างๆลงไปบนกราฟEOTF ST.2084 เพื่อรองรับความสว่างที่ต่างกันของหนัง 4K HDRแต่ละเรื่อง

หลังจากปรับภาพเสร็จผมก็ได้ทดสอบภาพจริง ทั้งจากแผ่นทดสอบ แผ่นภาพยนตร์เรื่องต่างๆ สำหรับภาพต้นฉบับที่เป็น 1080pหรือต่ำกว่าเมื่อมาฉายแล้วUpscaleมาเป็น 4K ภาพที่ออกมามีความรู้สึกว่าชัดกว่าการดูแบบ1080p ส่วนเรื่องสีและความสว่างของภาพแบบFull HD SDRนั้นถือได้ว่าทำได้สบายเนื่องจากตัวโปรเจคเตอร์เองมีความกว้างของเฉดสี และความสว่างเกินมาตรฐานของภาพแบบนี้อยู่แล้ว ทำให้มีheadroomเหลือๆสำหรับการแสดงภาพแบบนี้ และท่าที่ผมดูมาก็ไม่พบมีartifactsใดๆที่แสดงถึงความผิดปกติของภาพ เช่นเดียวกับภาพแบบ4K HDR ภาพที่ออกมาหลังจากcalibrateแล้วรวมกับได้ข้อดีของเลนส์4Kแท้คุณภาพดีทำให้ทั้งความคม มิติภาพ ความสว่างและความมีพลังของภาพที่เพิ่มมากขึ้นกว่าภาพแบบSDR การไล่Grayscaleที่ถูกต้องทำให้ภาพมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงการไล่skin toneทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่างทำได้สมจริง มีรายละเอียด tone mappingที่มาในเครื่องมีความเหมาะสมส่งผลให้specular highlightในภาพไม่เกิดความผิดเพี้ยนเกิดเป็นความสว่างเจิดจรัสสวยงามดีมาก แต่ปัญหาที่พบอย่างหนึ่งของหนังแบบ 4K HDRในปัจจุบันก็คือ แต่ละแผ่นอัดความสว่างมาไม่เท่ากันถ้าสังเกตุดูบางแผ่นพอเอามาเล่นแล้วภาพสว่างจ้ามาก ขาวโพลนไปหมด ในขณะที่อีกแผ่นใช้โหมดการเล่นเดียวกัน ปรับค่าต่างๆเท่ากันภาพออกมามืดๆทึมๆ ดังนั้นในตอนนี้ผมเลยใช้วิธีการตั้งค่าpreset EOTFหรือGammaไว้สามแบบเอาไว้รับมือกับความแตกต่างของความมืดความสว่างที่แตกต่างกันในแต่ละแผ่นเหล่านี้ ซึ่งวิธีการนี้ผมได้ใช้โปรแกรมLightSpaceในการใส่ค่าตัวคูณเข้าไปในกราฟ EOTF ST.2084ให้มีความสว่างของภาพต่างกัน ตั้งแต่X2 X3 X6 โดยภาพยังคงรักษาCurveเป็นไปตามมาตรฐาน PQหรือ ST.2084อยู่ คราวนี้เวลาดูหนังซักเรื่องหนึ่งก็ค่อยเลือกเอากราฟตัวคูณที่เหมาะสมกับความสว่างของภาพนั้นๆได้ อย่างที่เคยบอกไว้ว่ามาตรฐาร 4K HDR10 ในตอนนี้ยังคงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นในตอนนี้เราคงต้องใช้วิธีแบบนี้ไปก่อนรอจนกว่ามาตรฐานของHDRมีความแน่นอนมากกว่านี้ค่อยว่ากันอีกที

รูปที่18 ถึงแม้จะให้ความสว่างถึงกว่า 40fL แต่ความดำของภาพโปรเจคเตอร์JVCยังคงทำได้ดีเช่นเดิม
รูปที่19 การไล่Skin Toneของภาพทำได้แม่นยำมาก
รูปที่20 การมีSkin toneที่ดีทำให้ภาพจากการชมภาพยนต์มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
รูปที่21 แม้แต่ในที่แสงน้อยก็ยังให้รายละเอียดภาพและไล่ระดับสีได้ดีอยู่
รูปที่22 การมีชิ้นเลนส์ที่ดีแบบ4Kแท้ ทำให้ภาพที่ออกมามีคมชัดสูง และให้มิติความลึกของภาพดีมาก
รูปที่23 ภาพแบบHDRความสว่างของภาพทำให้ภาพออกมาดูมีพลัง สมจริง

ทั้งหมดนี้ก็เป็นการทดสอบโปรเจคเตอร์JVC DLA-Z1 รุ่นที่เป็นเรือธงของJVC ซึ่งนับว่าสร้างความตื่นเต้นและน่าประทับใจมากสำหรับภาพที่ออกมาของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ ต้องบอกว่าคุณภาพของโปรเจคเตอร์ตัวนี้สมกับเป็นรุ่นเรือธงของทางJVCเลยจริงๆ โดยเฉพาะภาพแบบHDRนั้นภาพออกมาสวยกว่าภาพแบบFull HDอย่างมาก ทำให้ดูแล้วไม่อยากกลับไปดูภาพFull HD SDRแบบเดิมเลย ผมนี่ถึงกับหันไปมองดูกองแผ่นFull HDที่ซื้อมาไว้จนเต็มตู้ บางเรื่องก็ยังไม่ได้แกะดูเลยแล้วคิดว่าจะทำยังไงกับกองนี้ดีเพราะตอนนี้อยากดูหนังเหล่านี้ในรูปแบบ4Kมากกว่า ยังไงถ้าใครเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาโปรเจคเตอร์ตัวนี้ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกของโปรเจคเตอร์แบบlaser 4K HDRที่ดีที่สุดตัวหนึ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด หรือถ้าใครยังไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ ก็ต้องลองหาประสบการณ์การดูภาพจากโปรเจคเตอร์ตัวนี้ซักครั้งหนึ่ง แล้วคุณจะรู้ว่าภาพHDRที่ดีนั้นต้องมีลักษณะเป็นยังไง ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัทDECO2000ที่ได้ส่งโปรเจคเตอร์ตัวนี้มาให้ผมได้สัมผัสกับประสบการณ์พลังของภาพ4K HDRที่สุดยอดในครั้งนี้ด้วยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ JVC DLA-Z1 Laser & Native 4K HDR Projector (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้