เป็นเวลาเกือบห้าปีแล้ว JVCได้พัฒนาโปรเจคเตอร์ที่สามารถแสดงภาพความละเอียดระดับ4Kได้โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “e-shift”เพื่อทำการupscaleข้อมูลภาพขึ้นมา จนมาถึงล่าสุดเมื่องานCEDIA2015 ณ.เมืองDallas ทางJVCได้เปิดตัวโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ๆอีกสามรุ่นที่นอกจากจะสามารถรับข้อมูลความละเอียดระดับ4Kได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้ได้กับ ข้อมูลHDR(high dynamic range) ที่กำลังจะมาพร้อมกับภาพยนต์ความละเอียดแบบUHDโดยจะรองรับการส่งข้อมูลมาตรฐานแบบHDMI/HDCP2.2 ซึ่งโปรเจคเตอร์ที่ออกมาใหม่นี้จะมีอยู่สามรุ่นด้วยกันตือDLA-X9000ที่เป็นรุ่นสูงสุด ส่วนรุ่นที่รองๆลงไปก็จะเป็น DLA-X7000 และDLA-X5000ซึ่งจะเป็นตัวเล็กสุด แต่ถ้าเป็นในประเทศอื่นๆ รหัสรุ่นของเครื่องก็จะต่างกันไปเป็น DLA-X950RหรือDLA-RS600ก็จะเทียบเท่ากับรุ่นDLA-X9000รุ่นใหญ่สุดที่ขายอยู่ในบ้านเรา ส่วนรุ่นDLA-X750R หรือDLA-RS500 ก็คือรุ่นDLA-x7000 และรุ่นน้องเล็กสุด X550RหรือRS400ในบ้านเราก็จะเป็นรุ่นDLA-X5000 คราวนี้เราลองมาดูกันว่าจุดเด่นโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ของJVCมีอะไรกันบ้างที่เพิ่มจากรุ่นเดิมๆ
อย่างแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือเรื่องของความสว่าง โดยในรุ่นใหม่นี้ทำได้ถึง1900 Lumens โดยเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมจะมีความสว่างมากขึ้นถึง 46% ในขณะที่รุ่น DLA-X7000 มีความสว่างอยู่ที่1800Lumensเพิ่มขึ้นจากเดิม 38% ส่วนรุ่นเล็กสุด DLA-X5000จะมีความสว่างอยู่ที่1700Lumensเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม30% นับว่าJVC ให้ความสำคัญกับความสว่างในโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ๆมาก เนื่องจากรู้ว่าจุดด้อยอย่างหนึ่งของJVC ในรุ่นเดิมๆคือความสว่างโดยเฉพาะในรุ่นแรกๆที่ออกมา ดังนั้นการทำให้โปรเจคเตอร์สว่างมากขึ้นทำให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกมากทั้งทำให้ภาพสวย สดใส สีสันมีพลังมากขึ้น สามารถนำไปฉายในจอที่ใหญ่ได้โดยที่ไม่ได้ลดคุณภาพของภาพลงไปมากนัก หรือแม้กระทั่งนำไปฉายในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถคุมแสงได้หมด มีแสงอื่นๆเล็ดลอดเข้ามาได้บ้าง ก็ยังสามารถให้ภาพที่ดีได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของการใช้โปรเจคเตอร์ และการที่โปรเจคเตอร์ให้ความสว่างได้มากยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำให้ภาพมีHigh Dynamic Range(HDR) เพื่อให้ภาพที่เห็นมีความใกล้เคียงกับแสงจากธรรมชาติมากขึ้นทั้งความสว่างและDynamic Range(ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วยังอีกห่างไกลที่ตามนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ)
ว่ากันในเรื่องของContrastต้องยอมรับว่าตั้งแต่JVCได้ผลิตโปรเจคเตอร์ออกมาสู่ตลาด นับว่าเป็นผู้นำในด้านnative contranst ratioเสมอมา โดยในรุ่นใหม่นี้DLV-X9000สามารถทำContrast ratioได้สูงถึง 150,000:1 ที่ทำได้สูงขนาดนี้ก็เพราะว่าหลอดภาพใหม่ที่มีความสว่างมากขึ้น มีการพัฒนาอุปกรณ์ภายในร่วมกับเลนส์ และยิ่งเมื่อใช้งานร่วมกับระบบรูรับแสงที่พัฒนามากขึ้นทำให้ได้Dynamic Contrast Raioสูงถึง1,500,000:1ในรุ่น DLA-X9000 ส่วนรุ่นDLA-X7000 ก็สามารถทำDynamic Contrast Ratioได้สูง 1,200,000 และในรุ่นDLA-X5000ก็ทำได้ 400,000:1
อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับโปรเจคเตอร์ในปัจจุบันก็คือเรื่องของHigh Dynamic Range หรือมักจะพูดกันติดปากว่าHDR ซึ่งก็หมายถึงช่วงความกว้างระหว่างจุดสีขาวที่สว่างที่สุดกับส่วนสีดำที่มืดที่สุด ร่วมกับการมีความสามารถในการแสดงเฉดสีต่างๆได้อย่างละเอียด กว้างขึ้น(color gamut) โดยทางJVCได้แจ้งว่าโปรเจคเตอร์ตัวใหม่นี้สามารถให้ภาพที่มีความสว่างร่วมกับมีสีดำที่มีความดำ และสามารถเห็นรายละเอียดต่างๆในส่วนของสีดำมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ในเรื่องของHDRว่าเครื่องจะsupport มาตรฐานHDRแบบไหนได้บ้างก็ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดในเรื่องนี้ อาจจะเพราะว่าในส่วนของHDRเองมาตรฐานกลางที่จะใส่เป็นMetadataลงไปในแผ่นblu-rayหรือstreamingผ่านinternet ก็ยังไม่สามารถตกลงได้ณ.ตอนนี้(มกราคม2559) และแน่นอนว่าเพื่อให้สามารถรองรับการแสดงภาพแบบ4K ไม่ว่าจะเป็นแผ่นBlu-rayหรือstreamingโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็สามารถรองรับระบบการส่งสัญญาณมาตรฐานแบบHDMI/HDCP2.2 โดยport HDMIทั้งสองportสามารถรองรับการส่งผ่านข้อมูลได้มากถึง18Gbps ทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลnative 4Kได้เช่นที่ 4K60p 4:4:4, 4K60p 4:2:2/36bit และ 4K24p 4:4:4/36bit เป็นต้น ก็จะทำให้ภาพที่ได้มีการไล่สีต่างๆและมีโทนสีที่ดีมากขึ้น
เทคโนโลยีe-shiftของJVCหลักการก็คือการshiftแต่ละpixelในแนวทะแยงมุม 0.5pixelsเพื่อให้จำลองความละเอียดให้ได้มากขึ้น โดยในโปรเจคเตอร์ตัวใหม่นี้จะให้เทคโนโลยีรุ่นใหม่คือe-shift4 ทำให้ภาพความละเอียดระดับ 4K(3840×2160)60p ที่คมชัด และมีความสว่างมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี”Multiple Pixel Control(MPC)” โดยมีการออกแบบalgorithm(กระบวนการแก้ปัญหาที่ใช้หลักทางคณิตศาสตร์)เพื่อทำให้ภาพมีความละเอียด เหมาะสมในฉากแต่ละฉากได้ง่ายๆไม่ยุ่งยากโดยเลือกแค่ว่าต้องการให้ภาพออกมาแบบไหน สามารถเลือกได้ทั้งเป็นแบบอัตโนมัติ แบบธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งแบบ 4K
มีการพัฒนาระบบลดความเบลอที่เรียกกว่า”Clear Motion Drive” และการเพิ่มความคมชัดในขณะที่มีภาพเคลื่อนไหว”Motion Enhance” เพื่อให้เหมาะสมกับระบบD-ILAมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีความเข้ากันได้กับภาพความละเอียดขนาด4K หรือแม้กระทั่งสัญญาณภาพ 3D เพื่อทำให้ภาพเคลื่อนไหวมีความลื่นไหล แต่ยังคงไว้ซึ่งรายละเอียดของภาพอยู่
ระบบสามมิติในเครื่องรุ่น DLA-X9000 และ DLA-X7000 ได้รับการรับรองจากสถาบัน THX ว่าภาพที่ได้จะมีความสดใส สวยงาม มีรายละเอียดได้ตามมาตรฐานของTHXที่สตูดิโอทำภาพยนต์ต้องการให้เป็น นอกจากนั้นยังให้ภาพ2D ที่ดีตามมาตรฐานด้วยเช่นกัน โดยทางTHX 3D Certificationได้ทำการทดสอบทางlaboratoryกว่า400รายการ ในเรื่องเกี่ยวกับความแน่นอนและเที่ยงตรงของการแสดงผล ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของภาพ ของสี มุมมองต่างๆ เรื่องของvideo processingเป็นต้น ซึ่งจากผลการทดสอบถือว่าโปรเจคเตอร์รุ่นนี้ได้รับการรับรองว่ามี“High-Quality”และ“High-Performance”ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้สามารถสร้างความบันเทิงได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ที่ถือว่าสะดวกมากๆอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบปรับภาพเองอัตโนมัติ”Auto Calibration Function” เพื่อให้โปรเจคเตอร์สามารถแสดงภาพได้ถูกต้องเหมาะสมในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้อัตโนมัติ โดยการใช้sensorวัดภาพรุ่นที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งในรุ่นนี้จะสามารถรองรับmeter Spyder4 Elite/Pro(Datacolor)ร่วมกับคอมพิวเตอร์ในระบบปฏิบัติการMicrosoft Window8(32/64bit)หรือMicrosoft Window7(32/64bit)ที่downloadโปรแกรม JVC Projector Calibraion Softwareไว้( http://www3.jvckenwood.com/english/download/ ) โดยเพียงแค่ต่อสายLANระหว่างเครื่องโปรเจคเตอร์กับคอมพิวเตอร์ แล้วเชื่อมตัวmeter Spyder4โดยใช้สายUSBเข้ากับคอมพิวเตอร์ เปิดโปรแกรมJVC Projector Calibrationแล้วทำตามขั้นตอนในโปรแกรม หลังจากนั้นเครื่องก็จะทำการAuto Calibraitionโดยอัตโนมัติเพื่อให้โปรเจคเตอร์สามารถแสดงภาพได้ถูกต้องเหมาะสมในสภาวะแสงและสิ่งแวดล้อมขณะนั้นได้ ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อเราใช้โปรเจคเตอร์ไปนานๆแล้วความสมดุลย์ของสีในโปรเจคเตอร์เปลี่ยนไป เราก็สามารถทำการAuto Calibraionได้โดยง่ายเพื่อให้แน่ใจว่าโปรเจคเตอร์ที่เราใช้มานานแล้วยังคงสามารถแสดงภาพที่ดีอยู่
ส่วนคุณสมบัติอื่นๆที่น่าสนใจก็คือ”Real Color Imaging Technology”(DLA-X9000, DLA-X7000) ที่จะทำให้ภาพที่ออกมามีลักษณะสวยงามเหมือนภาพที่ออกมาจากแผ่นฟิล์มต้นฉบับของภาพยนต์(Film-like image) ในเรื่องเกี่ยวกับจอภาพทางJVCได้เพิ่มประเภทของจอที่สามารถเลือกได้ใน”Screen Adjust Mode” ทำให้จอภาพหลายๆแบบสามารถให้ภาพที่สีสันถูกต้องเหมือนกัน ส่วนในเรื่องการปรับภาพนั้นโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ของJVCนี้สามารถปรับแกนสีของภาพได้ถึง 6แกนสี(6 axis color management) และgamma สามารถทำได้ละเอียดถึง 12จุดเมื่อใช้ร่วมกับ JVC calibration software
เมื่อพอทราบคุณสมบัติที่น่าสนใจต่างๆของโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ของJVCแล้ว มาลองดูของจริงกันบ้างว่าจะเป็นยังไง โดยทางDECO2000ใจดีได้ส่งช่างหนุ่มหน้าตาดีสามคนมาพร้อมกับเครื่องโปรเจคเตอร์JVCรุ่นD-ILA RS600พร้อมด้วยจอ Supernovaของ dnp ตัวที่สามารถรองรับภาพ4Kได้ เพราะว่าจอตัวเก่าของผมนั้นใช้มานานแล้วตั้งแต่สมัยยังไม่มี4Kรายละเอียดของเนื้อจออาจจะหยาบเกินไปสำหรับภาพที่ละเอียดระดับ4Kในปัจจุบัน และที่สำคัญจอภาพตัวนี้มีเกรนที่ต่ำทำให้ได้ภาพที่ดำ สีสันเข้มสมจริง ไม่เสียคุณภาพของภาพไปมากเมื่อแสงในห้องของเราไม่สามารถคุมได้100% ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆผมได้ลองเปิดไฟในห้องดูภาพก็ยังดูดีสวยงาม นี่ถ้าเป็นจออื่นๆที่ผมเคยใช้มาแค่เปิดไฟนิดเดียว ภาพจะจางลงอย่างเห็นได้ชัดแทบจะดูไม่ได้กันเลยทีเดียว อย่างนี้ต้องเรียกว่าเทคโนโลยีเรื่องเนื้อจอภาพของdnp ทำได้ออกมาตอบโจทย์สำหรับห้องhome theaterที่มีสภาพแสงไม่เหมาะสมได้ดีจริงๆ เมื่อเครื่องพร้อมจอมาถึงทางช่างของDECOก็ได้ทำการยกจอตัวเดิมผมออก ทำการประกอบและจัดSupernovaจอใหม่เข้าไปแทนอย่างชำนาญ ส่วนเครื่องโปรเจคเตอร์ก็ยกตัวเดิมJVC DLA-RS56 ลงมาแล้วขันนอตที่ยึดออกและยกโปรเจคเตอร์ตัวใหม่ใส่เข้าไปแทนได้เลยเพราะรูปร่างลักษณะกายภาพของตัวRS600เหมือนกับตัวเดิมเลย ตำแหน่งนอตที่ใช้ยึดต่างๆเหมือนเดิมหมด ทำให้สะดวกมากเวลาupgradeเครื่องใหม่ แล้วช่างหนุ่มทั้งสามคน(ตกลงชื่ออะไรกันบ้าง ถามอยู่นะแต่จำไม่ได้ เรียกช่างหนุ่มละกันนะ555) ใช้เวลาไม่นานนักก็ประกอบทุกอย่างเสร็จสิ้นดูแล้วก็รู้เลยว่าช่างของDECOมีความชำนาญและปราณีตในการติดตั้งเป็นอย่างมาก เมื่อติดตั้งเสร็จช่างหนุ่มของผมก็ได้ทำการปรับตำแหน่งของภาพให้อยู่ตรงกลางจอ Zoomภาพให้ภาพพอดีกับจอ16:9ขนาด120นิ้ว Focusภาพ ตั้งค่าพื้นฐานEnvironmentต่างๆเช่นชนิดของจอ ขนาดจอ ระยะห่างของโปรเจคเตอร์ถึงจอภาพ แถมยังมีตั้งค่าสีของผนังด้วยนะว่าผนังห้องเป็นสีอ่อน หรือสีเข้ม ส่วนเรื่องการตั้งAspect ratioก็ตั้งไว้ที่ 16:9ตามสัดส่วนจอที่ใช้อยู่ ขอแนะนำนิดหนึ่งว่าการตั้งProgressive ควรจะตั้งไว้ที่ Justจะดีที่สุดเพราะมันเป็นการแสดงผลแบบpixel by pixelเลยไม่มีการzoomภาพในส่วนใดส่วนหนึ่ง จะทำให้ได้ภาพที่คมชัดและถูกต้องกว่าการตั้งเป็นแบบAuto หรือFull คล้ายๆกับการตั้งKeystoneที่เราไม่ควรเข้าไปปรับตั้งในส่วนFunctionนี้ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆเพราะมันใช้หลักการzoomภาพในบางส่วนเช่นเดียวกับการปรับProgressiveเป็นFullนั่นแหละครับ เสร็จแล้วช่างก็ทำการPixel Adjustการทำนี้ก็เพื่อให้แต่ละpixelที่แสดงออกมาทั่วทั้งจอมีการเหลื่อมล้ำของsubpixelสีแต่ละสีน้อยที่สุดทั้งในระนาบแนวดิ่งและระนาบแนวนอน โดยเฉพาะในรุ่นนี้สามารถsetแยกตำแหน่งกันได้ถึง121จุด ทั่วทั้งจอ ทำให้มั่นใจได้ว่าภาพที่ออกมามีความคมชัดสูงสุดโดยไม่มีการเบลอเนื่องจากsubpixelแต่ละสีไม่ตรงกัน
เมื่อทำการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ผมทำก็คือขอวัดค่าความสว่างให้เห็นแก่สายตาหน่อยเถอะว่าไอ้ที่บอกว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ทำความสว่างได้มากกว่าตัวเดิมถึง46%ว่าเมื่อเอามาใช้งานจริงๆแล้วมันจะทำได้จริงหรือเปล่า ผมเลยกางขาตั้งใส่meterตัวเก่ง SpectraCal C6วัดค่าLuminanceหรือความสว่าง พอค่าออกมาได้ 21.9fLเท่านั้นแหละ ผมน้ำตาจิไหลด้วยความปลื้มปิติ โปรเจคเตอร์ตัวเดิมของผมเร่งสุดๆ ยังได้ไม่ถึง14fLตามมาตรฐานเลย แล้วยิ่งพอเข้าไปปรับค่าCMS ค่า Gammaต่างๆออกมาเหลือไม่ถึงสิบเลย อ๋อลืมบอกไปมาตรฐานความสว่างของโปรเจคเตอร์เดิมเขาแนะนำไว้ที่ประมาณ 14-16fL แต่เห็นว่าในปัจจุบันทางCEDIA, CES และอีกหลายๆสถาบันได้แนะนำว่าความจริงโปรเจคเตอร์ในบ้านน่าจะมีความสว่างสูงถึง28fLโดยเฉพาะภาพ 3Dที่จะสูญเสียความสว่างไปอย่างมากจากแว่นตาActive Shutter 3D Glasses
เมื่อรู้ถึงความสว่างและContrast Ratioของเครื่องแล้ว อีกอย่างที่ผมอยากรู้คือค่าpresetที่มากับเครื่องของโปรเจคเตอร์ตัวใหม่นี้ให้ภาพที่มีค่าใกล้เคียงมาตรฐานมากกว่ารุ่นเดิมหรือเปล่า เท่าที่ผมจำได้ผมเคยวัดค่าpresetต่างๆที่มากับเครื่อโปรเจคเตอร์หลายรุ่นหลายยี่ห้อทั้งจากJVCเองในรุ่นเก่าๆ หรือจากยี่ห้ออื่นๆ เรียกได้ว่าแต่ละตัวค่าห่างจากมาตรฐานมากมาก ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะวัดออกมาทีไรมันคนละเรื่องกันเลย จนบางทีผมก็คิดว่าอันนี้แน่ใจนะว่าได้พยายามcalibratedให้ค่าใกล้เคียงD65แล้ว แต่ตัวนี้เมื่อผมวัดจาก Color Profile ที่เป็นStandard ผลออกมานับว่าน่าพอใจสำหรับค่าPresetจากโรงงานที่สามารถทำได้ใกล้ค่ามาตรฐานทั้ง RGB Balanceของgrayscale, ความสมดุลย์ของสีในCIE1931Chart ส่วนค่าGammaจะมีความsmoothที่ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับเส้นมาตรฐาน เพียงแต่ค่าอาจจะน้อยกว่า2.4ที่โปรแกรมตั้งเอาไว้เป็นค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ก็อาจจะเพราะเขาตั้งค่าpresetนี้ให้สว่างไว้นิดหน่อยเผื่อไว้ไปฉายในห้องที่แสงไม่อำนวย และเมื่อผมทำการวัดค่าPresetอื่นๆไม่ว่าจะเป็นCinema, Animation, Natural, Stage ผมพบว่าค่าตั้งต้นที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นค่าเพื่อทำการCalibrate แบบadvanceต่อไปคือPreset Standardเนื่องจากมีค่าใกล้เคียงมาตรฐานมากกว่าค่าอื่นๆ และเวลาปรับค่าต่างๆไม่ว่าจะเป็นgrayscaleหรือความสมดุลย์สี ผลลัพท์ที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบอื่นๆ บางPresetผมลองปรับดูเพื่อกดค่าสีบางค่า แต่ปัญหาคือมันกดไม่ค่อยลง หรือลดความเข้มต่างๆจนสุดก็ยังไม่ใกล้มาตรฐานอยู่ดี แต่ตัวStandardนี้ถือว่าเวลาปรับแล้วนี่เห็นผลได้ชัดเจนเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอันนี้เป็นการวัดในห้องผม ที่สิ่งแวดล้อมด้านแสงต่างๆ และคุณสมบัติของจอที่ต่างจากห้องอื่นๆ ค่าที่ได้ในห้องอื่นๆก็อาจจะต่างจากนี้บ้างแต่ก็ถือว่าเอาไว้เป็นแนวทางละกันครับ
เมื่อผมทำการไล่วัดค่าPicture Modeต่างๆพบว่าค่าที่ให้ผลลัพท์ได้ใกล้เคียงมาตรฐานที่สุดนั้นคือ THX Mode ค่าGrayscaleทำได้ใกล้เคียงเช่นเดียวกับการใช้ Color Profileที่เป็นStandard ส่วนColor Gamutจะทำได้ดีกว่า แต่ที่เห็นชัดที่สุดคือค่าGammaนี่ถือว่าทำได้ใกล้ๆกับ2.4เลยแสดงว่าค่าTHX Modeนี้เหมาะสมกับห้องHome theaterที่ควบคุมแสงได้ดีมากกว่าModeอื่นๆ พูดง่ายๆคือถ้าเราซื้อโปรเจคเตอร์ตัวนี้มา ไม่อยากยุ่งยากในการปรับหรือจ้างช่างมาปรับ เลือกไปที่THX Modeก็ถือว่าได้ภาพที่ใกล้เคียงมาตรฐานดีทีเดียว แต่ถ้าอยากให้ได้ภาพที่ดีที่สุด แน่นอนการFully Calibrationโดยช่างที่Certifiedมาย่อมให้ภาพที่ดีกว่า และควรใช้โปรเจคเตอร์ไปซัก 50ชั่วโมงให้หลอดภาพ และอุปกรณ์ต่างๆเข้าที่ก่อนแล้วค่อยจ้างช่างมาปรับน่าจะได้ผลดีมากกว่าปรับทันทีหลังจากเริ่มใช้เครื่อง ซึ่งระหว่างรอก็ใช้THX Modeก็ถือว่าโอเคในระดับหนึ่งเลยล่ะครับ
ซึ่งโปรเจคเตอร์ตัวที่ผมทดสอบนี่ก็ได้รับการใช้มาแล้วร่วมๆห้าสิบชั่วโมงเหมือนกัน เมื่อผมทำการFully Calibrationตามขั้นตอนของ ISF พบว่าค่าต่างๆที่ได้สุดยอดมาก เส้นกราฟของ Gamma และ RGB Balance มีความsmoothไปตามค่ามาตรฐาน ค่าDelta Eหรือเรียกง่ายๆคือค่าความผิดพลาดของทั้งGrayscale และ Color Checker มีค่าน้อยกว่า 3 ถือว่าดีมาก ที่บอกอย่างนี้มีเหตุผลนะครับความจริงค่าDeltaE มีค่ายิ่งน้อยยิ่งดี ซึ่งในการCalibrationที่ผมเรียนมาเมื่อได้ค่าที่น้อยกว่า3ก็พอแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องcalibrateต่อ เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วค่าต่างๆที่ได้น้อยกว่า3% สายตามนุษย์ปกติจะแยกไม่ได้แล้ว และอย่าลืมว่าเครื่องวัด Colorimeterของเรามันจะมี errorอยู่แล้วในตัวของมันเอง ยิ่งในสีดำมากๆหรือIREต่ำๆ(Institute of Radio Engineers) ยิ่งerrorมากอาจเป็นเปอร์เซนต์เลยก็ได้ ดังนั้นถ้าเราได้DeltaEน้อยกว่า1%ความจริงerrorก็อาจจะมากกว่านั้นก็ได้เพราะต้องเผื่อบวกerrorของการรับแสงของColorimeterของเราด้วย ดังนั้นค่าความผิดพลาดน้อยกว่า1%อาจจะไม่สู้ความผิดพลาดที่ 1.5%ก็เป็นไปได้ ดังนั้นเอาง่ายๆเลยคือถ้าDelta Eไม่เกิน 3%ส่วนมากก็ยอมรับได้ละครับ
ในส่วนPicture Modeมีการตั้งค่าอีกตัวที่ทำให้ภาพดูดีขึ้นก็คือ Clear Black มันคือการไปปรับในส่วนbrightness และcontrast ของภาพเพื่อทำให้รายละเอียดในส่วนมืดดูชัดเจนขึ้น โดยไม่สูญเสียคุณภาพของภาพ มีตัวเลือกให้เลือกได้ 3แบบคือ Off, Low, High เท่าที่ผมลองปรับดูปรับเป็นLowให้ผลที่น่าพอใจที่สุด ถ้าปรับเป็นHigh อาจจะเห็นnoiseได้ในบางฉาก อีกfunctionหนึ่งที่ปรับได้เพื่อให้ภาพมีcontrastดีขึ้นก็คือ Viewing High Contrast ImagesหรือLens Aperture(ในremoteจะพิมพ์สั้นๆเป็นLENS AP) ที่เป็นการปรับรูรับแสงของเลนส์เพื่อให้ได้Contrastที่เพิ่มมากขึ้นในฉากที่มืดๆ โดยเครื่องจะทำการประมวลผลalgorithmและคำนวณความสว่างที่อยู่ในภาพขณะนั้น ไปทำการปรับรูรับแสงเลนส์เพื่อให้เหมาะสม จะมีตัวเลือกให้เลือกได้สามค่าคือAuto1 Auto 2 และManual ผมได้อ่านreviewsโปรเจคเตอร์ตัวนี้หลายสำนักจากForumต่างๆของต่างประเทศ บางแห่งก็แนะนะให้ตั้งไว้ที่ Auto2จะดีที่สุด แต่เท่าที่ผมลองดูปรับเลือกManualแล้วปรับรูรับแสงให้ได้ความสว่างที่เราต้องการfixไว้จะดีที่สุด เพราะผมได้ลองดูทั้งAuto 1และ2 ปรากฏว่าสายตาของผมสามารถสังเกตเห็นแสงที่มันเปลี่ยนไปเวลารูรับแสงเปลี่ยนตามที่เครื่องคำนวณทำให้สะดุดตาบ้างผมเลยเปลี่ยนเป็นManualเลย แต่ถ้าสายตาใครไม่สามารถเห็นความผิดปกตินี้ก็สามารถปรับไว้ได้ เพราะมันจะเป็นการไปเพิ่มContrastของภาพ ทำให้ภาพดูดำสวยมากขึ้น
ในส่วนของfunctionในการปรับภาพเคลื่อนไหวให้smooth ขึ้น จะเรียกว่าFast-moving Imageในเมนูจะใช้ชื่อว่า Clear Motion Drive(C.M.D.)และ Motion Enhance ที่ผมเคยรู้มาCEDIAได้บอกว่าคุณภาพของภาพในห้องดูหนังนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5อย่างเรียงลำดับความสำคัญคือ Contrast ratio, Color depth, Frame rate, Bit rateและ Signal resolution ซึ่งแสดงว่าFrame rateหรืออัตราเปลี่ยนframeซึ่งจะเกี่ยวกับความลื่นไหลของภาพมีความสำคัญเป็นอันดับสามเลยทีเดียวโดยปกติภาพนิ่งpixelส่วนมากจะดูดีอยู่แล้ว จะมาตัดสินกันไอ้ตรงภาพเคลื่อนไหวนี่แหละ และส่วนมากในห้องhome theaterภาพที่เราดูจากภาพยนต์หรือรายการต่างๆเป็นภาพเคลื่อนไหว ดังนั้นภาพจะดูดีได้ก็ต้องอาศัยความสามารถของpixelในเรื่องการสร้าง(created) การคงอยู่(Stored)และการส่งผ่าน(Transmitted) สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพของภาพเป็นอย่างมาก เมื่อเราดูcontentที่แปลงมาจากฟิล์มลงแผ่นblu-ray ความละเอียดที่เหมาะสมที่สุดก็จะเป็น 1080i หรือ1080p@24 แต่ถ้าเป็นการเล่นวิดีโอเกมส์หรือรายการกีฬาความละเอียดที่แนะนำจะเป็น720pหรือ1080p@60Hz ดังนั้นจะเห็นได้ว่าที่24Frame per secเมื่อเราดูหนังความถี่จะค่อนข้างน้อย เจอภาพที่เคลื่อนไหวเร็วๆหรือการแพนกล้องจากซ้ายไปขวา หรือจากบนลงล่างเร็วๆ มันจะทำให้ภาพเกิดอาการกระตุกได้ง่ายไม่smoothเหมือนที่เราดูจากfilm ซึ่งfunction C.M.D.ในโปรเจคเตอร์ตัวใหม่นี้ทางบริษัทแจ้งว่าได้พัฒนาให้ดีกว่ารุ่นเดิมมากขึ้น เลยต้องจัดการลองซักหน่อยโดยใช้แผ่นSpears&Munsil 2nd Edition
มันจะอยู่ในเมนู Video Processing ในtabของ Motion
การทดสอบเรื่องmotionนี้ไม่ยากเพียงแค่เลือกความถี่ของภาพต้นฉบับไม่ว่าจะเป็น24p 30p หรือ 60i แล้วให้โปรเจคเตอร์แสดงภาพในระดับความละเอียดที่ต้องการ ดูว่าการเคลื่อนไหวของภาพมีความลื่นไหลดีไหม ซึ่งนับว่าfunctionนี้ JVCทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากโดยเฉพาะความถี่ระดับ24p ที่มักเป็นปัญหาเวลาภาพมีการเคลื่อนไหวเร็วๆหรือการแพนกล้องจากซ้ายไปขวา บนลงล่างเร็วๆ จะพบว่าภาพมันกระตุก แต่เมื่อเลือก C.M.D.เป็น Low หรือ High ภาพก็จะsmoothขึ้นตามลำดับ เรียกได้ว่าfunctionนี้เหมาะมากกับการดูพวกรายการกีฬา หรือเนื้อหาที่มีภาพเคลื่อนไหวเร็ว แต่เมื่อผมลองกับภาพยนต์โดยทั่วๆไปพบว่าภาพเคลื่อนไหวโดยทั่วไปจะsmoothคล้ายๆวิดีโอ และบางฉากก็อาจยังมีการกระตุกบ้าง ก็ต้องลองดูจากภาพจริงๆว่าเราชอบความsmoothแบบวิดีโอ และรับได้ไหมกับการกระตุกที่มีบ้างแบบนี้ถ้าดูแล้วไม่ถูกใจก็สามารถOffได้ง่ายๆจากremoteเลยไม่ยาก หลังจากผมได้ทำการCalibrationในทุกส่วนเรียบร้อยก็ได้ค่าดังนี้ แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าใครเอาค่านี้ไปใส่ในเครื่องตัวเองแล้วจะได้ภาพเหมือนกับเครื่องตัวที่ผมใช้นะครับ เพราะว่าในการปรับ สภาพห้อง สภาพแสงในห้องที่ต่างกัน จอภาพที่ใช้ต่างกัน แม้กระทั่งFirmwareของเครื่องที่ใช้ต่างกัน เหล่านี้ล้วนทำให้ภาพออกมาต่างกันได้ ก็ลองเอาไว้ดูคร่าวๆเป็นแนวทางละกันครับ
หลังจากนั้นผมก็ได้ลองดูภาพยนต์หลายเรื่อง ดูคอนเสิร์ต รายการทีวี ต่อภาพเข้ากับScalerหลายๆตัว กล่องดาวเทียม และต่อตรงเข้าคอมพิวเตอร์แบบบุคคล สิ่งที่ผมพบได้อย่างชัดเจนคือ เมื่อโปรเจคเตอร์มีความสว่างมากขึ้น ภาพที่ปรากฏบนจอจะสวยงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ความรู้สึกเริ่มใกล้เคียงกับการที่เราเปิดหน้าต่างออกไปสู่บรรยากาศข้างนอกบ้านที่มีความสว่างสดใส แสดงว่าความสว่างของโปรเจคเตอร์มีผลต่อคุณภาพของภาพมาก และยิ่งได้ความดำของโปรเจคเตอร์JVC ที่แทบจะเรียกได้ว่าความดำของภาพนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของJVCมาเสริมทำให้คุณภาพของภาพมีHigh Dynamic Rangeที่กว้างขึ้น จึงส่งผลต่อคุณภาพของภาพที่ออกมาจากโปรเจคเตอร์DLA-9000xนี้มีความโดดเด่นมาก ขนาดว่าในขณะที่ทดสอบนี้ยังไม่มีภาพยนต์เรื่องไหนที่ออกมาเป็น 4Kและมีข้อมูลHDR เลยน่าเสียดายที่ไม่ได้ลองตรงนี้ แต่แค่ภาพจากBlu-ray ที่เป็นhigh definitionธรรมดา ก็ให้ภาพดูมีDynamic Rangeที่มากกว่ารุ่นก่อนๆ เลยลบจุดด้อยที่ในสมัยก่อนเมื่อพูดถึงโปรเจคเตอร์JVCที่มักจะถูกมองว่าภาพสวยนะแต่ไม่ค่อยสว่าง ดูทึมๆไปได้อย่างหมดจดในรุ่นนี้ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโปรเจคเตอร์ตัวนี้คือ รายละเอียดของภาพ ผมเคยใช้โปรเจคเตอร์ของJVC มาหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นที่ไม่มีe-shift จนมาถึงรุ่นที่มีe-shift และในรุ่นนี้ที่เป็นgenerationที่4แล้ว นับว่าภาพที่ออกมาจากe-shift4มีความคมชัดโดดเด่นมากกว่ารุ่นก่อนๆมาก แทบที่จะหาข้อผิดพลาดหรือ artifactของภาพไม่เจอเลย ผมเลยถ่ายภาพScreen Shotมาให้ดูพอเป็นตัวอย่าง ซึ่งภาพที่ถ่ายออกมานี้จะเป็นภาพjpegจากกล้องโดยไม่มีการแต่งภาพแต่อย่างไร ก็พอให้เห็นแนวของภาพบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากขั้นตอนการพิมพ์ลงนิตยสาร สีหรือรายละเอียดต่างๆของภาพก็คงจะต่างจากภาพจริงบ้าง
มาถึงเรื่อง 3D ผมเท่าที่ผมได้ลองดูหนังสามมิติสองสามเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Walk, Everest, The Martian สรุปได้ว่าเนื่องจากความสว่างของโปรเจคเตอร์ที่มีมากขึ้น ย่อมส่งผลโดยตรงต่อภาพสามมิติที่ต้องสูญเสียความสว่างไปกับแว่นตา ดังนั้นเมื่อโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีความสว่างมากขึ้นแน่นอนว่าภาพสามมิติย่อมได้รับผลพวงจากข้อดีข้อนี้เต็มๆ ภาพที่ได้จึงเป็นภาพสามมิติที่ดูสว่างคมชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาพได้ผ่านการ3D Calibrationอย่างถูกต้องมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้calibrateจากช่างปรับภาพโดยตรงการเลือกPicture Mode เป็น 3D THXก็นับว่าให้ภาพที่ใกล้เคียงมาตรฐานมากเลยทีเดียวเพราะว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ได้รับ THX 3D Certificationมาแล้ว(ในรุ่น X9000, X7000)โดยผ่านการทดสอบในด้านภาพต่างๆกว่า 400รายการ เพื่อเป็นการรับรองให้แน่ใจว่าว่าภาพที่ได้รับชมอยู่นั้นได้คุณภาพใกล้เคียงตามความตั้งใจของfilmmakerมากที่สุด และนอกจากจะได้ THX Certificationแล้วโปรเจคเตอร์ในรุ่น DLA-RS9000,RS7000ยังได้รับ isf-certifiedดังนั้นการปรับภาพโดยช่างที่ได้รับการรับรองจากสถาบันisfว่าเป็น isf-certified trainerจะมาสามารถเข้าไปactivate isf picture modeที่อยู่ในเครื่องทำให้มี isf modeเพิ่มขึ้นมาได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถหาอ่านได้จาก http://www.imagingscience.com/ ในwebsiteของisfจะให้ความรู้เกี่ยวกับisfทั้งหมดและจะแจ้งด้วยว่าช่างคนไหนบ้างในประเทศไทยที่ได้รับcertifiedตรงนี้
ส่วนจุดด้อยเท่าที่ผมสัมผัสได้ก็คือเรื่องของเวลาในการปิดเครื่องที่จะใช้เวลานานกว่ารุ่นเดิมๆ ผมว่าอาจจะเพราะหลอดภาพที่มีความแรงมากขึ้นดังนั้นระยะเวลาในการcool downของหลอดภาพก็คงต้องใช้มากกว่าปกติ อีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงของพัดลมในHigh lamp powerมีความดังใกล้เคียงกับรุ่นเดิมดังนั้นถ้าวางโปรเจคเตอร์ใกล้กับบริเวณที่นั่งดูหนังอาจจะได้ยินบ้างถ้าปรับไปที่ High lamp power mode ส่วนเรื่องที่บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็คือโปรเจคเตอร์ตัวนี้ยังไม่ใช่native 4K แต่สำหรับผมคิดว่า ณ.เวลาที่กำลังทดสอบอยู่นี้ยังไม่ใช่ข้อด้อยที่สำคัญนักเพราะยังหาหนังที่เป็นnative 4K ยังไม่ได้เลย แต่ในอนาคตถ้ามีหนังความละเอียดระดับ4Kออกมาเยอะมากพอและกลายเป็นรายละเอียดระดับมาตรฐานที่เล่นกันโดยทั่วไป จุดนี้ก็จะกลายเป็นจุดด้อยที่สำคัญมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ผมมักจะบอกประจำว่ารายละเอียดของภาพไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินว่าภาพที่ออกมามีคุณภาพสวยไม่สวย แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่ารายละเอียดpixelของภาพก็คือContrastของภาพ เพราะสิ่งที่สายตาเราเห็นในภาพคือContrastไม่ใช่pixelของภาพ
สรุปจากการทดสอบโปรเจคเตอร์ตัวนี้ในเกือบทุกๆด้านที่จำเป็นสำหรับการรับชมภาพยนต์ รายการทีวี หรือคอนเสิร์ตต่างๆโดยทั่วไปเป็นเวลาหลายเดือน ท้ายที่สุดนี้ผมขอสรุปสั้นๆสำหรับโปรเจคเตอร์ตัวนี้เลยว่าตั้งแต่เคยเห็นภาพจากโปรเจคเตอร์มา ถ้าไม่นับโปรเจคเตอร์ 3chip DLPที่มีราคาหลักหลายล้านบาท โปรเจคเตอร์JVC DLA-X9000ตัวนี้แหละเป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้คุณภาพของภาพดีมากสมราคาที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยทีเดียว ก็ต้องขอขอบคุณทางบริษัทDECO2000 ที่ได้ส่งโปรเจคเตอร์ JVC DLA-RS600มาเพื่อการทดสอบนี้ด้วย