Review

Search

BenQ X12000H-2

DLP 4K HDR LED Projector ที่ไม่ต้องใช้Color Wheel

หลังจากปีที่แล้วผมได้ทดสอบโปรเจคเตอร์4K HDRของBenQไปในรุ่นW11000H ตอนนี้BenQได้เปิดตัวDLPโปรเจคเตอร์แบบ4K HDR Wide color Gamutรุ่นเรือธงตัวใหม่ล่าสุดออกมาในราคาเปิดตัว 199,900บาท ซึ่งทางBenQได้ส่งให้ผมได้ทดสอบจริงก่อนที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทย และหลังจากได้ทดลองใช้และทดสอบอย่างละเอียดเป็นเวลาหลายอาทิตย์ พบว่าโปรเจคเตอร์ตัวใหม่นี้มีจุดเด่นและจุดน่าสนใจหลายประการ วันนี้จึงจะเอามาเล่าให้ฟังกันว่ามีอะไรบ้าง

รูปที่1ขนาดรูปร่างหน้าตาของBenQ X12000H
รูปที่2 BenQ X12000H เมื่อเทียบกับ BenQ W11000H

พูดถึงรูปร่างหน้าตาภายนอกนั้นเหมือนกับรุ่นW11000Hที่ทดสอบไปเป๊ะ ถ้าไม่นับสีทองตรงขอบรอบเลนส์กับlogoที่ติดอยู่บนตัวเครื่องเท่านั้นที่ต่างกัน แต่ทางBenQได้กระซิบบอกมาว่าถึงแม้ข้างนอกจะดูเหมือนกันแต่ข้างในเรียกได้ว่าเปลี่ยนยกเครื่องหลายอย่าง เท่าที่ยกเครื่องขึ้นมาดูก็น่าจะจริง เพราะน้ำหนักตัวใหม่นี้หนักถึง18.5กิโลกรัม หนักกว่าตัวW11000Hถึงสี่กิโลกรัม สำหรับตำแหน่งช่องต่อ ตำแหน่งปุ่มปรับ การZoom การFocusทุกอย่างเหมือนกับรุ่นเดิม แต่สิ่งที่ต่างไปก็คือในรุ่นก่อนหน้านี้ก็คือการใช้เทคโนโลยีHDR-PRO™ ที่รองรับระบบHDR ทั้งระบบ HDR10 และHybrid Log Gamma(HLG) มีการใช้เทคโนโลยีBenQ CinematicColor ที่ครอบคลุมเสปกตรัมของสีในระดับเดียวกับโรงภาพยนตร์ดิจิตอลDCI-P3ทำให้สีที่ออกมากว้างกว่ามาตรฐานเดิมRec.709ถึง26% เมื่อเอามารวมเข้ากับเทคโนโลยีColor Spark HLD LEDทำให้ภาพที่ออกมามีความสว่างสูง ให้สีที่แม่นยำถูกต้องตามที่ผู้กำกับหรือคนทำหนังตั้งใจ นอกจากนี้ก็ยังรองรับการใช้งานร่วมกับเลนส์Panamorph Paladin Anamorphicเพื่อให้สามารถแสดงอัตราส่วนภาพ 2.4:1 เช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ทั่วไป ทำให้ได้pixelกลับมาจากการที่จะต้องไปเป็นแถบดำบนล่างของภาพอีกกว่า 2ล้านพิกเซล เพิ่มความสว่างและรายละเอียดของภาพ ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์การชมภาพยนตร์ภายในบ้านแบบเต็มจอ2.4:1 เหมือนในโรงภาพยนตร์จริงๆ

รูปที่3 ระบบCinemaMaster™ ที่จะทำให้ห้องภายในบ้านกลายเป็นโรงภาพยนตร์ระดับWorld-Class

BenQ X12000H เครื่องนี้ใช้ชิปกำเนิดภาพแบบsingle-chip XPR DLP ที่มีnative resolutionอยู่ที่ 2,716 x 1,528 แล้วใช้เทคนิคpixels shiftedเพื่อให้สามารถแสดงภาพที่ระดับความละเอียดระดับUHD 8.3ล้านพิกเซล แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นหลักก็คือเรื่องของแหล่งกำเนิดแสงที่ใช้จากหลอด LED ของPhilips ColorSpark HLD อย่างที่บางคนน่าจะพอรู้มาบ้างว่าหลอดLEDเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 20,000ชั่วโมง มีความร้อนออกมาจากเครื่องน้อยกว่าแบบหลอดทั่วไป ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยได้เอามาใช้เป็นหลอดในโปรเจคเตอร์เนื่องจากความสว่างของแสงที่น้อยกว่าหลอดไฟแบบใส้ของโปรเจคเตอร์ทั่วไป แต่จากการพัฒนาในปัจจุบันทำให้ผลิตหลอดLEDความสว่างสูงที่สามารถนำมาใช้เป็นหลอดในเครื่องโปรเจคเตอร์สำหรับHome Theaterได้สบาย อย่างในเครื่องนี้สามารถสร้างแสงสว่างได้สูงถึง 2,200Lumenกันเลย และสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดเด่นหลักของLED Light Engineก็คือการที่เครื่องที่ใช้ชิปแบบDLP ไม่จำเป็นต้องพึ่งColor Wheelอีกต่อไป เนื่องจากหลอดLEDสามารถผลิตแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงินได้จากตัวLEDได้โดยตรงก่อนส่งไปยังชิป DLPทำให้ไม่ต้องใช้แผ่นวงล้อหมุนเพื่อกำเนิดแสงสีต่างๆ จึงไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การ การรั่วของสีรุ้งที่เรียกว่าRainbow Effect หรืออาการปวดตาเมื่อดูภาพจากชิปDLPที่ใช้Color Wheel โดยอาการนี้จะพบบ้างในคนส่วนน้อยที่โชคดีซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในผู้โชคดีนั้นไปด้วย ฮ่า ฮ่า ฮ่า… จำได้ว่าในอดีตเคยชอบภาพที่มาจากDLP Chipเพราะให้ภาพที่สดใส สีสันเป็นธรรมชาติไม่หลอกตา แต่ด้วยเวลาดูภาพจากSingle Chip DLPทีไรจะดูได้ไม่นานเนื่องจากเห็นแสงรุ้งรั่ว และมีอาการปวดกระบอกตาตามมาทำให้ไม่ค่อยได้ใช้งานโปรเจคเตอร์จากเทคโนโลยีนี้เท่าไร แต่ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องนี้ไม่ว่าจะเป็นการปรับความเร็วของวงล้อColor Wheel การใช้Color Wheelที่มีสีหลายสีในวงล้อ ก็ล้วนแต่ทำให้Rainbow Effectของเครื่องDLPลดลงมาก จนทำให้ผมดูได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งมาเจอกับเครื่องที่เป็นเทคโนโลยีLEDตัวนี้ที่ไม่ต้องพึ่งColor Wheelอีก เรียกได้ว่าดูภาพจากSingle Chip DLP ได้แบบสบายตากันไปเลย

รูปที่4 BenQเป็นเจ้าแรกที่นำระบบ DLP 4K UHD LED โปรเจคเตอร์ ออกมาสู่ตลาดผู้บริโภค
รูปที่5 ระบบDLPแบบLight Bulb engineที่ต้องใช้ Color Wheelในการสร้างสี
รูปที่6 ระบบDLPแบบใช้หลอดLED ที่สามารถสร้างสีต่างๆขึ้นมาได้เอง จึงไม่มีการใช้Color Wheel

เมื่อได้เครื่องมาผมก็ได้ยกขึ้นแท่นเพื่อburnเครื่องก่อนทำการSetup &Calibration อุปกรณ์ที่ใช้ก็ได้แก่ แหล่งกำเนิดภาพจากPioneer UDP-LX800,Oppo UDP-203,Apple TV4K จอภาพใช้จอของStewart รุ่นFireHawkสัดส่วน16:9 ขนาด121นิ้ว สำหรับเครื่องมือที่ใช้วัดภาพและปรับภาพก็มี MeterหรือProbeคือKlein K10(Colorimeter) และ JETI Spectraval1511(Spectroradiometer),Pattern GeneratorของMurideo Six-G, Video Processorใช้Lumagen Radiance Pro 4K สำหรับโปรแกรมที่ใช้วัดภาพใช้อยู่ 3โปรแกรมได้แก่ LightSpace HTP, CalMAN for BusinessและChromaPure Professional แผ่นที่ใช้ทดสอบFull HD rec.709ใช้แผ่น Blu-ray THX Calibrator Disc ส่วนแผ่นที่ใช้ทดสอบ4K HDR จะใช้แผ่น HDR-10 UHD Test Patternของ Diversified Video Solution และ Spears & Munsil 4K UHD HDR Benchmark Calibration Disc

รูปที่7 ติดตั้งเครื่องพร้อมทำการSetup
รูปที่8 ทำการCalibration ก่อนทำการทดสอบ
รูปที่9 แผ่นที่ใช้ในการทดสอบบางส่วน

เมื่อทำการทดสอบด้านต่างๆและburnเครื่องจนได้ประมาณ50-60ชั่วโมงก็จึงเริ่มทำการFully Calibrationเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมในห้องที่ใช้ทดสอบอยู่ จากการวัดค่าพบว่าในภาพแบบFull-HD ระบบสีแบบrec.709 ที่เป็นSDR(Standard Dynamic Range) Picture Modeที่ใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากที่สุดจะเป็นCinema เท่าที่วัดดูทั้งค่าGray Scale, Color Gamut, GAMMAมีค่าความเพี้ยนหรือdelta Eน้อยมากเฉลี่ยไม่เกิน 2% ซึ่งโดยปกติก็ถือกันว่าถ้าค่าdelta Eไม่เกิน3%นี่ตาก็แยกแทบไม่ออกถึงความแตกต่างละ แบบนี้เรียกได้ว่าแกะกล่องโปรเจคเตอร์ออกมานี่สามารถใช้ค่าPicture Modeนี้สำหรับภาพ 1080p ได้เลย อย่างค่าBrightness Contrast Color Tint สามารถใช้ค่าที่ตั้งมาจากโรงงานได้เลยคือ 50 แต่ในสภาพห้องต่างกัน แสงต่างกัน ถ้าอยากได้ค่าที่แม่นยำกว่านี้ก็ต้องอาศัยการวัดเป็นห้องๆไป หรือจ้างมืออาชีพในการปรับภาพมาปรับให้จะก็จะมีความถูกต้องมากขึ้นและถ้าเป็นช่างที่ได้isf certifiedช่างก็ยังสามารถActivate Picture Mode isfขึ้นมาได้อีกmodeหนึ่ง แต่สำหรับในการทดสอบที่ห้องผมเลือกที่Cinema modeเพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถปรับได้เอง โดยห้องผมที่ใช้ทดสอบนั้นค่าdefaultของCinema modeที่ตั้งมาถือว่าใกล้เคียงมากสำหรับค่าพื้นฐาน Brightness Contrast Color Tint เหล่านี้ แต่ในการตั้งค่าAdvance ผมก็จะตั้งต่างไปจากค่าdefaultบ้าง เช่นค่าGamma แนะนำให้ตั้งไว้ที่ 2.2เนื่องจากว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้ไม่ได้ให้ค่าความดำแบบสุดๆเหมือนเทคโนโลยีที่ต่างไป ถ้าตั้งไว้ที่ 2.4หรือ2.6ก็จะพบการไล่ระดับสีดำบางทีจะไม่เนียนเหมือนการตั้งค่าGamma2.2, Color Temperatureเลือกที่Normalและค่าGain/Offsetไม่ต้องไปปรับอะไรก็จะได้Grayscaleที่เกือบสมบูรณ์แล้ว ส่วนค่าColor Managementนั้นที่ปรับมาจากโรงงานก็ถือว่าใกล้เคียงแต่ผมได้ทำการปรับอีกเล็กน้อยเพื่อให้ค่าDelta Eลดลงไปน้อยกว่า 1%ในสภาพห้องของผมโดยปรับค่าในแต่ละสีเรียงตามค่าHue SaturationและGainไว้ดังนี้ สีแดง 229-192-153 สีเขียว 109-172-166 สีน้ำเงิน 144-205-171 สีฟ้าอ่อน 242-136-196 สีม่วง 118-162-177 และสีเหลือง 149-170-201 สำหรับการปรับค่าในCinemaMaster ทั้งColor Enhancer, Flesh Tone, Pixel Enhancer 4K,DCTI/DLTI ตั้งไว้ที่ 0หมดได้เลย ส่วนLightmodeถ้าต้องการให้ความสว่างตามมาตรฐานของภาพFull HD rec.709ที่ประมาณ 14-16fL ก็ตั้งไว้ที่Eco mode แต่ถ้าใครชอบภาพที่สว่างมากกว่านั้นก็สามารถตั้งไว้ที่NormalแบบปกติหรือSmartEcoที่จะเป็นการปรับความสว่างของภาพอัตโนมัติตามความสว่างของภาพในฉากนั้นๆ ให้มีค่าcontrastของภาพเพิ่มมากขึ้นลักษณะคล้ายๆกับการตั้งค่าDynamic Iris ก็ได้

รูปที่10 วัดขอบเขตความกว้างของสีในการใช้งานจริงได้ 98%ของDCI-P3
รูปที่11 ค่าGrayscale, Color GamutและGammaของภาพในCinema Modeที่มีความแม่นยำดีมาก
รูปที่12 ภายหลังการปรับขอบเขตสีrec.709พบมีค่าความเพี้ยนของสีหรือDeltaEโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7%เท่านั้น

สำหรับการปรับค่าภาพ 4K HDR ที่เครื่องโปรเจคเตอร์จะswitchไปmode HDR10อัตโนมัติเมื่อตรวจพบสัญญาณ4K HDR10เข้ามา หรือmode HLGอัตโนมัติเมื่อมีสัญญาณภาพHDRแบบHybrid Log Gammaเข้ามา ซึ่งในmode HDRเหล่านี้ผมแนะนำว่าการปรับไม่ควรจะปรับค่าต่างๆให้เพี้ยนไปจากค่าที่ตั้งมาให้มากเกินไปเพราะการปรับค่าภาพในHDRมันไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับค่าTone Mappingที่อยู่ในเครื่องโปรเจคเตอร์ด้วย การปรับที่มากเกินไปทำให้Tone Mappingที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเครื่องรุ่นนั้นๆเสียไปทำให้ภาพเพี้ยนจากภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งเท่าที่ปรับดูในสภาพห้องของผมนั้นค่าBrightness, Contrastที่เหมาะสมคือ 48จากค่ากลางที่ตั้งไว้คือ50, Color Temperatureเลือกเป็นNormal แต่ก็จะพบว่าภาพติดสีฟ้าเล็กน้อยจึงลดค่าBlue Gainลงมาเป็น 97ส่วนสีแดง สีเขียว ทั้งRGB GainและRGB Offsetตั้งไว้ที่ 100/256เหมือนเดิมไม่ต้องไปปรับอะไร, ค่าHDR Brightnessถ้าเป็นภาพยนตร์ที่มีความสว่างปกติก็ตั้งไว้ที่0 แต่ถ้าดูแล้วภาพโดยรวมดูมืดหรือดูสว่างไปในหนังบางเรื่องก็สามารถปรับลด ปรับขึ้นได้ตามสภาพความสว่างของหนังแต่ละเรื่องได้เลย, Color Managementผมไม่ได้ปรับอะไร ทั้งHue, Saturation, Gainตั้งตามเดิม ส่วนColor Gamutเป็น BT.2020 สำหรับการปรับในส่วนAdvanced ในCinema Master ค่าColor Enhancerตั้งไว้ที่0, ค่าFlesh Toneปรับไว้ที่1 เพราะเท่าที่ลองดูปรับมากกว่านี้จะทำให้ผิวสีเนื้อของคนออกโทนแดงมากเกินไป, Pixel Enhanced 4Kค่าที่ตั้งมาจากโรงงานเป็น3 แต่ผมดูจากPatternมาตรฐานต่างๆแล้วถ้าตั้งไว้3รายละเอียดต่างๆมันจะขึ้นมาเยอะเกินจริงดูไม่ธรรมชาติ จึงตั้งไว้ที่1เพื่อให้ภาพดูสมจริงมากขึ้น ส่วนDCTI,DLTI ตั้งไว้ที่off ทั้งสองค่า, Light modeเลือกเป็นSmartEcoเพื่อช่วยเพิ่มContrastและความสว่างของภาพตามความสว่างของภาพแต่ละFrame

รูปที่13 กราฟของSpectral Power Distribution(SPD)แสดงการกระจายSpectrumของสีต่าง
รูปที่14 ตำแหน่งจุดสีต่างๆของการทำ 3D LUT
รูปที่15 ในHDR10 modeพบว่าGrayscaleติดสีฟ้าเล็กน้อย ส่วนค่าEOTFให้กราฟที่ดีตามมาตรฐานST.2084

ปรับค่าต่างๆเสร็จแล้วก็เริ่มทำการวัดค่าทั่วไปก่อน ความสว่างของเครื่องที่แจ้งไว้คือ 2,200 Lumen วัดค่าจริงๆในlamp mode normalที่IRE 100ได้ความสว่างสูงสุดประมาณ 90nitsคิดเป็นFoot lambertsได้ 26fL แต่ถ้าปรับlamp modeเป็นSmartEcoค่าที่ได้ก็จะน้อยหรือมากกว่านี้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับว่าฉากนั้นสว่างมากหรือน้อยขนาดไหน ซึ่งความสว่างขนาดนี้เรียกได้ว่าสามารถเปิดภาพ4K HDRได้สบายๆ ไม่มีปัญหาเรื่องความสว่างที่ไม่เพียงพอ สำหรับinput lag 4K วัดได้ 50ms. ก็ถือว่าถ้าใครจะเอาโปรเจคเตอร์ตัวนี้ไปเล่นเกมส์ การตอบสนองของภาพก็ยังได้อยู่ไม่หน่วงภาพมากเกินไป เนื่องจากเป็นหลอดLED ความร้อนจากเครื่องจึงน้อยกว่าหลอดโปรเจคเตอร์ปกติทำให้พัดลมไม่ต้องทำงานหนักมาก เสียงของเครื่องจึงเงียบผมเคยเปิดเครื่องต่อเนื่องกันมากกว่าเจ็ดชั่วโมง เสียงของพัดลมก็ไม่ได้ดังขึ้น ความร้อนจากเครื่องก็ไม่ได้มากเท่าไร และเวลาเมื่อปิดเครื่องนั้นใช้เวลาปิดเครื่องแค่ 5วินาทีเท่านั้น เหล่านี้ก็เป็นข้อดีของการใช้หลอดภาพแบบLEDนอกจากข้อดีของหลอดที่มีการเสื่อมของหลอดช้า อายุการใช้งานของหลอดมากกว่า 20,000ชั่วโมง

รูปที่16 เลนส์แก้วระดับคุณภาพสำหรับภาพ4KโดยเฉพาะของBenQ

คราวนี้มาถึงภาพที่ออกมาจริงๆหลังจากทำการCalibration & Setupแล้ว ทั้งภาพในระบบ 1080p และระบบ 4K HDRพบว่าความเที่ยงตรงของภาพ ของสีสัน ทำได้ดีมากตามแบบฉบับBenQที่เน้นเรื่องความถูกต้องของภาพและสีให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยภาพในส่วนที่สว่างทำได้สวยงามสดใสตามแนวภาพแบบชิปDLP ในส่วนมืดถึงแม้ภาพจะไม่ได้ให้ความดำของภาพสุดๆแต่ก็ถือว่ามีความดำที่มากกว่ารุ่นเดิมที่ผมเคยทดสอบไป การไล่ระดับความดำของภาพRec.709ทำได้ดีที่ค่าGamma2.2 ส่วนความsmoothของภาพทำได้ระดับดีเหมือนรุ่นก่อนแต่ในบางสถานการณ์โหดๆเช่นมีการแพนกล้องเร็วๆจากซ้ายไปขวาหรือจากบนลงล่างเร็วๆในภาพที่ละเอียดก็อาจจะเจอกับความไม่smoothบ้างในบางครั้ง สำหรับเรื่องความคมชัดของภาพต้องบอกว่าถึงแม้จะไม่ใช่ภาพที่เป็นNative 4Kแบบpixel by pixelแต่ความคมชัดทำได้ดีมาก อาจจะด้วยได้เลนส์แก้วระดับคุณภาพสำหรับภาพ4Kโดยเฉพาะและเป็นการใช้ชิปแบบSigle DLP จึงทำให้ไม่ต้องกลัวในเรื่องการเบลอของภาพจากการmisalignmentของchip และเนื่องจากต้นกำเนิดของภาพที่เกิดจากหลักการการสะท้อนของกระจกระดับNano ภาพของชิปDMD DLPจึงให้ความคมชัดสมจริง สีสันมีความแม่นยำไม่เข้มเกินไปดูสบายตา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโรงภาพยนตร์ระบบDigitalมากกว่า90%ในตลาดผู้บริโภคหรือแม้กระทั่งในโรงภาพยนตร์ระบบIMAXก็ยังใช้ชิปกำเนิดภาพแบบDMD DLPอยู่ ทั้งที่ระบบนี้มีข้อจำกัดในเรื่องcontrastของภาพ ซึ่งถ้าใครชอบในเรื่องcontrastของภาพแนวเข้มๆดำๆโปรเจคเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบDLPนี้ก็อาจจะไม่ถูกใจนัก แต่ถ้าใครชอบในเรื่องความสดใสของสีสัน ความแม่นยำความเป็นธรรมชาติของภาพ ความคมชัด ความสว่างของภาพ เทคโนโลยีDLPสามารถตอบโจทย์นี้ได้ดีทีเดียว

รูปที่17 ภาพFull HD rec.709ที่Streamจากเครื่องApple TVให้ความคมชัดของภาพและสีสันที่ดี
ภาพที่18 ภาพ4K HDR ที่ให้รายละเอียดของภาพดีเยี่ยม ส่วนความดำก็ยังให้ความสวยงามอยู่
ภาพที่19 ภาพ4K HDRที่ให้รายละเอียดในส่วนมืดของภาพได้ดี
ภาพที่20 ความละเอียดของภาพถือเป็นจุดเด่นของโปรเจคเตอร์ตัวนี้เลย
ภาพที่21 Tone mappingที่ทำงานได้ดีไม่มีความเพี้ยน
ภาพที่22 ความสวยงามจากภาพHDRแบบHybrid Log Gamma(HLG)
ภาพที่23 ภาพสีFlesh toneและการไล่ระดับความสว่างของภาพHybrid Log Gamma

สรุปแล้วสำหรับผมจุดเด่นและที่ประทับใจที่สุดของโปรเจคเตอร์ตัวนี้ก็คือการที่โปรเจคเตอร์ไม่มีการใช้color wheelในการสร้างแสงสีแดง แสงสีเขียว แสงสีน้ำเงิน เนื่องจากว่าแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นLEDนั้นสามารถสร้างแสงสีต่างๆได้ด้วยตัวของมันเองจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ยิงแสงผ่านวงล้อสีหรือcolor wheelเพื่อกำเนิดแสงสีต่างๆเข้าไปสู่ชิปDLP ผมจึงไม่เห็นการรั่วของสีรุ้ง หรือRainbow effectในโปรเจคเตอร์ตัวนี้ดังที่ได้อธิบายไว้ตอนต้น การดูภาพจากโปรเจคเตอร์ตัวนี้ผมจึงดูได้นาน ไม่ปวดตาเหมือนโปรเจคเตอร์DLPที่ใช้color wheelทั่วไป ดังนั้นใครที่ชื่นชอบสีสัน หรือภาพแนวDLPที่ให้คุณภาพของภาพสูงดูแล้วสบายตาในราคาที่ไม่ถึงสองแสนบาทผมว่าโปรเจคเตอร์BenQ X12000H เป็นโปรเจคเตอร์ที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่งในท้องตลาดขณะนี้

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ BenQ X12000H-2 (PDF)
Picture of ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้