Review

BenQ W5700 Review

ในปี2562นี้ทางBenQได้นำเสนอโปรเจคเตอร์เพื่อให้ในงานHome Theaterอยู่มากมายหลายรุ่น หลากหลายคุณสมบัติเพื่อให้นำไปใช้ให้เข้ากับผู้ใช้แต่ละท่านในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่น W1700, W2700, W11000H, X12000, LK990 และล่าสุดนี้ทางBenQก็ได้เปิดตัวโปรเจคเตอร์สำหรับห้องHome Theaterโดยเฉพาะในราคาที่ไม่แรงมาก ได้แก่รุ่น W5700 วันนี้ลองมาดูกันว่าโปรเจคเตอร์ตัวนี้มีจุดเด่น มีข้อจำกัดตรงไหนกันบ้างเผื่อผู้อ่านบางท่านกำลังสนใจโปรเจคเตอร์ตัวนี้อยู่จะได้มีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยในการตัดสินใจ

รูปที่1 BenQ W5700 โปรเจคเตอร์สำหรับคอHome Theaterโดยเฉพาะ

BenQ W5700 เป็นโปรเจคเตอร์DLP®รองรับระบบภาพแบบ 4K HDR ในราคาประหยัดที่ทางBenQตั้งราคาไว้แค่ 69,900 ใครๆเห็นราคากับSpecที่ออกมาก็ต้องร้องโอ้โหกันเลยทีเดียว สำหรับSpecที่สำคัญมีดังนี้

รูปที่2 รูปร่างหน้าตาทั่วๆไปของโปรเจคเตอร์ตัวนี้

ใช้ระบบกำเนิดภาพแบบSingle-DMD DLP® Chip 0.47” DLPที่สามารถแสดงภาพแบบ4K UDH(3840×2160)โดยใช้วิธีการที่เรียกว่าfast switching ให้กระจกขนาดเล็กๆ4.15ล้านชิ้นสามารถแสดงภาพระดับ 3840×2160หรือ 8.3ล้านพิกเซลในภาพแต่ละเฟรมได้ ดังนั้นโดยตัวของมันจึงไม่ใช่เป็นNative 4Kที่เป็นpixel by pixel แต่ด้วยความเป็นDLP® Chipใช้หลักการสะท้อนของกระจกทำให้ภาพที่ออกมามีความละเอียด ความคมของภาพไม่แพ้ภาพ4Kจากเทคโนโลยีอื่น สำหรับขอบเขตของเฉดสีที่แสดงได้สามารถครอบคลุมได้ถึง100%ของระดับDCI-P3 ที่โหมดภาพ D.Cinema ส่วนในเรื่องของภาพHDRนั้นเครื่องสามารถรองรับระบบHDRได้ทั้งแบบ HDR10 และ HLG(Hybrid Log Gamma) ความสว่างของเครื่องฉายแจ้งมาว่าอยู่ที่ 1800ANSI Lumens มีContrast Ration เมื่อเปิดfunction Dynamic Iris จะอยู่ที่ 100,000:1 ใช้วงล้อเพื่อกำเนิดสีColor Wheel 6ส่วนแบบ RGBRGB หมุนด้วยความเร็ว 6X speedเพื่อลดการเกิดRainbow Effect แหล่งกำเนิดแสงเป็นแบบLamp Base 245W อายุหลอดแจ้งไว้ที่โหมดความสว่างNormal เป็น 4,000 ชั่วโมง Economic 10,000, SmartEco 10,000 และ LampSave 15,000ชั่วโมง ในการติดตั้งก็สามารถหาตำแหน่งแขวนได้สะดวกไม่ยากเนื่องจากว่ามีระยะฉาย และlens shift ที่กว้าง(Throw Distance) ขนาดของเครื่องก็ไม่ได้ใหญ่และหนักจนเกินไป และสิ่งที่สำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของภาพมากคือเรื่องของเลนส์ โดยเลนส์ที่ใช้ในเครื่องW5700นี้จะเลนส์แก้วแท้ขอบโลหะ11ชิ้น แบ่งเป็น 6กลุ่มเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความละเอียดในระดับ 4K มีความคมชัดสดในของภาพตั้งแต่มุมของจอภาพไปจนทั่วทั้งจอรับภาพ

รูปที่3 สามารถแสดงเฉดสี(Color space)ในระดับDCI-P3ได้100%
รูปที่4 รองรับระบบHDR ได้ทั้ง HDR10และ Hybrid Log Gamma
รูปที่5 ใช้Color Wheel 6ส่วนแบบ RGBRGB ด้วยความเร็วการหมุนที่สูง
รูปที่6 มีระยะฉาย และlens shift ที่กว้าง(Throw Distance) ทำให้สะดวกในการติดตั้ง
รูปที่7 ใช้เลนส์แก้วแท้สำหรับถ่ายทอดความละเอียดในระดับ 4K

สำหรับช่องต่อด้านหลังจะมีช่อง HDMI(2.0b & HDCP2.2)x2, USB Type A x1, USB Type mini B x1, Audio out(3.5mm Mini Jack) x1, Audio out(S/PDIF)x1, LAN(RJ45)x1, RS232(DB-9pin), DC 12V Trigger(3.5mm Jack) x1, IR Receiver x2, Wired Remote in(3.5mm Mini Jack)x1

รูปที่8 ช่องต่อด้านหลังของเครื่อง

เมื่อเทียบกับรุ่นใหญ่LK990 โดยขนาดของเครื่องอยู่ที่ 492x168x349mm น้ำหนัก 6.5kg ส่วนครีบระบายความร้อนจะเป่าลมออกจากด้านข้างซ้ายจึงไม่เหมาะที่จะวางเครื่องในชั้นวางที่ปิดด้านข้างนะครับเพราะจะทำให้ระบายความร้อนลำบาก

รูปที่9 ขนาดและรูปร่างของเครื่องBenQ W5700เมื่อเทียบกับเครื่อง BenQ LK990

เมื่อเปิดกล่องออกมาจะพบกับใบรายงานผลการทดสอบของ D65 color temperature, gamma, black level, white level, neutral grey, RGBCMY color tracking, hue, saturation, brightnessและ outputของ DCI-P3/Rec709 เพื่อเป็นการยืนยันเขาได้ทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยใช้meter Microscope CL-200X แล้วมีเฉดสีที่อยู่ในระดับ 100% Rec.709 และ DCI-P3 และมีความผิดพลาดหรือDelta Eน้อยกว่า3

รูปที่10 ใบรายงานผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการของเครื่องที่จะแนบมาในกล่องทุกกล่อง

ได้เวลาเริ่มทดสอบอุปกรณ์ที่ใช้ก็เหมือนเดิมคือ Murideo Six-G pattern generatorเครื่องสร้างpatternในการวัดค่า meterวัดค่าใช้ทั้งแบบcolorimeter และspectroradiometerได้แก่ Klein K10-A colorimeter และ Jeti Spectraval 1511ตามลำดับ ใช้โปรแกรมวัดภาพ LightSpace HTP, CalMAN for BusinessและChromaPure Professional จอภาพที่ใช้ทดสอบจะเป็นจอStewart FireHawkขนาด120นิ้ว เกรน1.25 วัดค่าความสว่างในภาพแบบSDRได้ประมาณ 40-50nits, HDRได้ 60-70nits ขึ้นอยู่กับpicture modeและcolor gamutที่เลือก

รูปที่11 ขณะกำลังใช้colorimeter และspectroradiometerเพื่อทดสอบและทำการCalibration

Picture Modeในภาพแบบ SDRมีทั้งBight,Vivid TV, Cinema(Rec.709), D.Cinema(ใช้สำหรับภาพ 4K SDR) ทั้งยังสามารถActivate ISF Night&Dayเพื่อปรับได้ด้วย

รูปที่12 Picture Mode แบบต่างๆที่มีให้เลือก
รูปที่13 ค่าก่อนและหลังการCalibration

เมื่อวัดค่าต่างๆพบว่าในภาพแบบ1080p SDRค่าที่ใกล้เคียงมาตรฐานที่สุดคือPicture Modeแบบ Cinema แต่ถ้าต้องการปรับค่าแบบManualเพื่อให้ได้ค่าใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้นผมแนะนำให้ไปทำในUser Picture Modeจะดีกว่าเผื่อว่าจะได้เอาไว้เปรียบเทียบกับPicture ModeแบบCinemaได้ โดยจากสภาพอุปกรณ์ต่างๆและในสิ่งแวดล้อมในห้องของผมค่าในUser Picture Modeที่แสดงในกราฟมีรายละเอียดดังนี้ Brightness 53, Contrast 48, Gamma 2.5, Color Temp Normal=Red Gain 100, Green Gain 99, Blue Gain 99, Red offset 255, Green offset 257, Blue offset 251 ค่าColor Management เรียงตามHue/Saturation/Gain ในแต่ละสีคือ Red=217/196/199 , Green=223/177/182, Blue=169/200/179 , Cyan=238/180/208, Magenta=289/187/214, Yellow=165/168/191, Brilliant Color On, Wide Color Gamut off ค่าอื่นๆเอาตามที่defaultมา ค่าตัวเลขต่างๆที่แจ้งมานี้ไม่ได้หมายความว่าปรับค่านี้แล้วจะให้ภาพใกล้เคียงค่ามาตรฐานเหมือนกราฟที่แสดงนะครับผมเอามาให้เป็นแนวทางว่าปรับค่าประมาณนี้กราฟจะออกมาแนวไหน เพราะค่าต่างๆเหล่านี้เมื่อสภาพห้องสภาพอุปกรณ์ต่างๆเปลี่ยนไปค่าก็จะเปลี่ยนไปบ้างครับ

ส่วนถ้าเป็นภาพแบบ4K HDRนั้น ถ้าตั้งค่าHDRไว้แบบAuto เมื่อเจอสัญญาณHDR ตัวPicture Mode ก็จะswitchไปที่ HDR10โดยอัตโนมัติ โดยค่าdefaultที่ให้มานั้นยังไม่แม่นมากเหมือนกับในภาพFull HD rec.709 SDR โดยค่าในห้องของผมที่ปรับแล้วเหมาะสมจะเป็นBrihtness 40, Contrast 90, Color 30, CinemaMaster Flesh tone -3, Brilliant Color On, Wide Color Gamut off สิ่งที่ต้องระวังนิดหนึ่งในเรื่องการปรับColorของภาพโหมด 4K HDR ก็คือค่าตั้งต้นที่ให้มาจะเป็น 50จากสเกล100 ส่วนสเกล0ไม่ได้เป็นภาพไม่เป็นสีนะครับ และพบว่าสีออกมาdefaultที่50สีจะเข้มกว่าปกติที่ควรจะเป็น อย่างกับในสภาพแวดล้อมของห้องผมเองเมื่อปรับcolorเป็น50แล้ว สีคนจะออกเหลืองเข้มมากเกินไป(ดูแล้วคล้ายๆคนเป็นดีซ่าน555) แต่เมื่อลดลงเหลือประมาณcolor 30-40แล้วภาพที่ออกมากลับดูเป็นธรรมชาติสวยงามกว่า ยังไงใครใช้โปรเจคเตอร์รุ่นนี้และไม่มีเครื่องมือหรือmeterช่วยวัด ก็ลองปรับเล่นดูได้ว่าสภาพแวดล้อมในห้องของเรา ร่วมกับสภาพการสะท้อนสีของจอในห้องที่ออกมาให้สีสันสดเกินจริงไหม เวลาปรับก็ให้ลองดูจากสีเนื้อคนจะปรับได้ง่าย โดยค่อยๆปรับลดค่าcolorลงมาจนดูสีผิวคนดูเป็นปกติ เป็นธรรมชาติ ก็ถือว่าใช้ได้แล้วในเบื้องต้น นอกจากนี้ถ้าใครต้องการให้ภาพแบบ 4K HDRมีการปรับความสว่างของภาพตาม Max CLL(Maximum Content Light Level) และ Max FALL(Maximum Frame Average Light Level) คล้ายๆกับลักษณะของDynamic Metadataก็สามารถทำได้โดยเลือกปรับfunction Dynamic Iris เป็นon และตั้งค่าความสว่างของหลอดเป็น SmartEco แต่พบว่าก็อาจะมีเสียงกวนของIrisที่ปรับตามความสว่างของภาพในแต่ละฉากอยู่บ้าง ซึ่งถ้าใครจะใช้โหมดนี้ก็ควรจะวางโปรเจคเตอร์ไว้ไกลตำแหน่งนั่งดูหนังนิดหนึ่งเสียงของการปรับIrisอัตโนมัติจะได้ไม่รบกวนมากเกินไป

รูปที่14 ความกว้างขอบเขตของเฉดสีเทียบกับมาตรฐาน DCI-P3

ส่วนข้อสงสัยที่ทุกคนถามว่าโปรเจคเตอร์ BenQ W5700นั้นครอบคลุมColor Gamutได้ 100% DCI P3หรือเปล่า ก็จากสภาพแสงภาพในห้องและอุปกรณ์ของผมก็วัดได้มากกว่า 99%ตามที่แสดงไว้ ซึ่งในห้องปฏิบัติการก็คงสามารถวัดได้ 100%จริงๆแหละ แต่จะได้100%แค่ในPicture Mode D.Cinemaเท่านั้นนะครับ ส่วนPicture Modeอื่นๆก็จะลดหลั่นกันลงมา และถ้าสังเกตดูการปรับค่าของผมจะoff ในFunction Wide Color Gamutไว้ เพราะเท่าที่ลองดูแล้วถ้าOnในWide Color Gamut ภาพที่ออกมาจะมีความสว่างลดลงเนื่องจากเครื่องต้องใส่filterให้ค่าสีกว้างขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติของโปรเจคเตอร์โดยทั่วไปที่ถ้าต้องการColor Gamutที่กว้างขึ้น ถูกต้องมากขึ้นเครื่องก็ต้องใส่filterเข้าไป ผลที่ตามมาก็คือความสว่างของภาพลดลง เท่าที่ลองดู ผมว่าในเครื่องนี้ตั้งค่าoffไว้จะให้ภาพที่สว่างสดใส และสีสันสวยงามกว่าผมจึงยอมลดความกว้างของColor Gamutลงไปเพื่อให้ภาพดีขึ้นโดยเฉพาะในภาพแบบ4K HDR แต่อย่างไรก็ตามถ้าใครมีเครื่องอยู่ลองเปิดปิดสลับกันก็ได้ครับ แล้วดูว่าสภาพห้องของเราเหมาะกับแบบไหนมากกว่า

รูปที่15 การเปรียบเทียบสีของภาพโปรเจคเตอร์ที่ออกมากับReference MonitorของBenQ รุ่นSW271

เมื่อทำการตั้งต่าต่างๆเสร็จแล้วก็ได้ทำการเปรียบเทียบภาพที่ออกมาจริงๆกับReference Monitor โดยในที่นี้ผมใช้เป็นMonitorของBenQรุ่นSW271ที่ผ่านการทำ 3D LUTและฝังLUTอยู่ในเครื่องแล้ว ที่ใช้Monitorตัวนี้ก็เนื่องจากเป็นจอที่technicolor บริษัทที่เป็นPost-ProductionของHollywoodชื่อดังได้รับรองสีที่ได้จากจอภาพนี้(Color Certified) และได้ใช้จอนี้เป็นPost-Production Monitorด้วย ทำให้มั่นใจได้ว่าภาพและสีสันของจอนี้มีความถูกต้องเที่ยงตรงแน่นอน ความจริงถ้าจะให้ดีนี่ผมอยากได้จอSony BVM-X300หรือDolby Pulsarมาเทียบเลย แต่เห็นราคาค่าตัวแต่ละเครื่องที่เกินระดับเจ็ดหลักแล้วคิดว่าคงไม่มีปัญญาครับ 555

รูปที่16 ค่าSpectral Power Distributionในจอภาพแบบต่างๆ

บางคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเอามาเทียบกับจอที่เป็นreferenceด้วยทั้งๆที่ก็วัดค่าสี ค่าความสว่าง ให้ได้ตามมาตรฐานแล้วภาพก็น่าที่จะให้สีใกล้เคียงกับภาพที่อยู่ในMastering Monitorแล้ว ความจริงปัญหามันอยู่ที่ตรงSpectral Power Distribution(SPD)ของจอภาพ เพราะเมื่อเราใส่ค่าสีตามแกน x y Z ให้ตรงกันในจอที่มีSPDต่างกัน สีที่ตามนุษย์เห็นจริงๆก็จะต่างกัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าMetamerism จึงต้องมีการชดเชยค่าสีต่างเพื่อให้ตามนุษย์มองเห็นเป็นสีเดียวกัน อย่างเช่นในจอOLEDเวลาดูสีขาวที่ D65 x=0.312 y=0.329 ก็จะไม่เหมือนกับสีขาวของจอCRTที่ D65 x=0.312 y=0.329 ดังนั้นสีขาวของOLEDจึงต้องมีการชดเชยค่าที่เรียกว่า Judd-Vos Correction หรือแม้กระทั่งสีขาวของจอOLED Sony BVM-X300ที่ใช้ในPost Production Studio ก็จะไม่เหมือนสีขาวของOLEDที่ใช้อยู่ในบ้านเพราะSony BVM-X300เป็นpure RGB แต่OLEDที่ใช้โดยทั่วไปภายในบ้านเป็นRGBW ค่าSPDของจอทั้งสองแบบเลยต่างกัน ดังนั้นการนำเอาจอmonitorที่เป็นreferenceมาเทียบจึงเปรียบเสมือนเป็นการfine tuneให้แน่ใจว่าสีที่เรามองเห็นหลังจากได้ใช้meterวัดค่าต่างๆแล้วเป็นสีเดียวกับที่อยู่ใน Mastering Monitorจริงๆ

รูปที่18 ตัวอย่างภาพของโปรเจคเตอร์ BenQ W5700

สำหรับภาพที่ออกมาจริงๆของโปรเจคเตอร์ BenQ W5700 ตัวนี้ ต้องบอกว่าภาพยังคงแนวแบบ DLP® อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องได้ใช้ชิป4K DLP®ของTexas Instruments(TI)ตัวใหม่ล่าสุดทำให้สีสันมีความสดใส สว่าง ภาพมีความคมชัดรายละเอียดดีตามแนวSingle Chip DLP® การเคลื่อนไหวของภาพมีความsmoothไม่กระตุกเหมือนในรุ่นเก่า ส่วนในเรื่องContrastที่มักจะเป็นปัญหาของChip ก็พบว่าทางTI DLP®ได้พัฒนาชิปตัวนี้ทำให้มีความดำของภาพมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด สีของภาพในระบบสีRec.709 ให้ความแม่นยำถูกต้องของสีภาพดีตั้งแต่เริ่มต้น แต่ถ้าเป็นแบบ4K HDRอาจจะต้องมีการปรับภาพให้สีถูกต้องอีกเล็กน้อยอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว เพื่อให้ Tone Mappingของเครื่องทำงานได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

สรุปต้องบอกว่า กับค่าตัวแค่หกหมื่นกว่าบาท สามารถได้โปรเจคเตอร์ที่สามารถแสดงภาพแบบ 4K HDR และได้คุณภาพของภาพออกมาขนาดนี้ต้องเรียกได้ว่าคุ้มค่ามากๆ ยิ่งกับตัวเครื่องที่ไม่ใหญ่ ไม่หนักเกินไป การจัดวางทำได้ง่าย สามารถดูภาพได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะดูทีวี ดูกีฬา ใช้เล่นเกมส์ ดูหนังจากApple TV Netflixฯลฯ ทำให้ตอบโจทย์ของนักเล่นhome theaterทั่วไปได้หรือแม้กระทั่งนักเล่นที่จริงจังกับHome Theaterได้เป็นอย่างดี สำหรับใครที่กำลังมองหาโปรเจคเตอร์ 4K HDRที่ให้ภาพดี ในราคาที่ไม่สูงเกินไป ผมขอแนะนำโปรเจคเตอร์ตัวนี้เลยครับ

Facebook
Twitter
Email
ดาวน์โหลดบทความ BenQ W5700 Review (PDF)
ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

หมอเอก หมอฟันผู้มีความหลงไหลชื่นชอบในเรื่องHometheater/Homecinema ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเสียงและภาพในห้อง Hometheater จริง ๆ แล้วควรจะเป็นอย่างไร เลยลงทุนไปเรียนหลายสถาบันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น THX, HAA, ISF, CEDIA, PVA, Meyer Sound Training, Smaart Training นอกจากนี้ก็เคยเข้าไปสัมผัสห้องสตูดิโอ และโรงภาพยนตร์ระดับมาตรฐานของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Stag theater, Kurasawa Dubbing Stage, Skywalker Sound Studio ของ Lucasfilm/ Pearson Theater,Bear’s Labของ Meyer Sound/ Dolby Cinema™ โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้มานั้นก็ได้นำมาเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร และทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เป็นเวลาหลายปี ตอนนี้ก็ได้นำบทความสื่อต่าง ๆ รวมถึงบทความใหม่ ๆ คลิปวิดีโอใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตมารวบรวมกันไว้ที่ website นี้ เพื่อให้ใครที่สนใจในเรื่องของ Hometheater เอาไว้เสริมความรู้ และเผื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะพบเจอในการเล่นเครื่องเสียงของแต่ละท่านได้