A/V Receiver and Pre Processor Set Up

พูดถึงทั้งเรื่องห้อง เรื่องการจัดวางลำโพง เรื่องการTreatmentในห้องมาแล้ว ฉบับนี้มาว่ากันต่อในเรื่องการปรับค่าต่างๆในA/V Receiver(ในที่นี้ขอเรียกย่อๆว่าAVRนะครับ) หรือบางคนอาจจะใช้พวกPre Processor(เรียกPre-Proละกัน) ร่วมกับ Power Amplifier ก็ใช้ได้เหมือนกัน เรื่องนี้ถ้าเป็นคนที่เล่นHome theaterมาบ้างแล้วก็อาจจะถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่รู้ๆกันอยู่ แต่ผมว่ายังมีบางคนที่อาจจะเริ่มเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้ ยังไม่เข้าใจการปรับตั้งค่าต่างๆที่AVRมันมีอยู่มากมายเหลือเกิน บางทีSet upเสร็จเสียงก็ออกมาแปลกๆ หรือบางทีก็ไม่มีเสียงออกจากระบบเลย อ่านคู่มือก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแถมคู่มือส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วย โดยผมจะพูดถึงFunctions ในเครื่องทั่วๆไปที่มีอยู่ในตลาดนะครับ แต่ละยี่ห้อก็อาจมีชื่อเรียกFunctionต่างๆกันออกไป รายละเอียดการปรับหัวข้อปลีกย่อยต่างๆก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เอาเป็นว่าผมจะพูดถึงการตั้งค่าหลักๆที่พบในเครื่องทั่วไปละกัน นอกเหนือจากนี้ก็ค่อยไปหาอ่านเพิ่ม หรือสอบถามเพิ่มเติมเข้ามาได้ครับ เมื่อเราพูดถึง AVR หรือ Pre-Pro เราก็จะรู้ว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่งในระบบHome theater มันจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการควบคุมอุปกรณ์ในระบบ ทั้งการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์ต้นทาง ลำโพง การแสดงผล เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่าแล้วมาเริ่มกันที่การเชื่อมต่อเส้นสายต่างๆกันก่อนเลย ขั้นตอนแรกคือการต่อสายลำโพง โดยปกติทั่วไปเราจะต่อสายลำโพงสองเส้นที่เป็นขั้วบวก และขั้วลบจากหลังเครื่องAVR ไปยังลำโพงแต่ละตัว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงสิ่งหนึ่งก็คือGaugeของสายลำโพง หรือขนาดความใหญ่ของสายลำโพง โดยเฉพาะถ้าเราต้องการเดินสายลำโพงที่ไกลๆ หรือลำโพงมีความต้านทานต่ำ ได้มีคำแนะนำในการเลือกGaugeของสายลำโพงให้เหมาะสมกับความยาวของสายลำโพง ค่าimpedanceของลำโพงไว้ดังตาราง โดยขนาดของสายจะใช้ค่ามาตรฐาน American wire gaugeหรือตัวย่อ AWG ยิ่งค่าAWGน้อยแสดงถึงสายลำโพงที่ใหญ่ขึ้นหนาขึ้น แต่ถ้าเป็นAWGที่มีค่ามากก็แสดงถึงสายที่มีขนาดที่เล็กลง […]